หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

รู้เรื่องเมืองมังกร 21 ประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ 4 "ราชอาณาจักรต้าฉิน กับ จิ๋นซีฮ่องเต้ "

รูปภาพของ YupSinFa

 

ไท้ก๋าหยิ่น ที่เป็นสมาชิกของชุมชนฮากกา และผู้อ่านทุกท่านครับ รู้เรื่องเมืองมังกร ชุดประวัติศาสตร์จีน ได้เดินทางมาถึงสมัยที่ราชอาณาจักร "จงกว๋อ" ก่อกำเนิดขึ้นมาเป็นราชอาณาจักรที่มีศูนย์รวมการปกครองอยู่ในนครหลวง ไม่มีการแบ่งแยกออกเป็นรัฐต่าง ๆ อีกต่อไป บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติจีนองค์หนึ่ง ซึ่งก็คือ ฉินสื่อหวงตี้ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ "จิ๋นซีฮ่องเต้" เป็นผู้รวบรวมรัฐจีนที่มีอยู่มากมายหลายรัฐ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติจีน

นับตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป คอลัมน์รู้เรื่องเมืองมังกร ชุด ประวัติศาสตร์จีน นี้ จะมีความเข้มข้นชวนอ่านชวนติดตาม สำหรับคอประวัติศาสตร์จีน ไหงจะนำเรื่องราวที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์จีน มาเรียบเรียงและเล่าให้ท่านผู้อ่าน ได้อ่านอย่างมีอรรถรส สอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ และเสริมความเห็นส่วนตัว บ้าง แต่จะพยายามไม่บิดเบือนเนื้อหาที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ เพราะว่า บุคคลในประวัติศาสตร์ทุกท่าน ท่านไม่สามารถลุกขึ้นมาชี้แจง ได้ หากว่าเราบิดเบือนประวัติศาสตร์

มาติดตามเรื่องราวที่เข้มข้น ของประวัติศาสตร์จีน ในช่วงราชอาณาจักรต้าฉิน และเรื่องราวของจิ๋นซีฮ่องเต้ กันเลยครับ

 

 

 

ราชอาณาจักรต้าฉิน

ผู้อ่านทุกท่านครับ ในปีที่ 221 ก่อนคริสตศักราชกองทัพอันเกรียงไกรของรัฐฉินได้เข้าพิชิตรัฐฉีซึ่งเป็นรัฐสุดท้ายของรัฐที่ยังเหลืออยู่ 6 รัฐ ในช่วงที่อ๋องอิ๋งเจิ้งยุวกษัตริย์ส้มหล่นแห่งรัฐฉินครองเมืองภายใต้การสำเร็จราชการของ“ลวี่ปู้เหว่ย” อัครมหาเสนาบดีอดีตพ่อค้าผู้มั่งคั่งซึ่งมีวิสัยทัศน์กว้างไกลเป็นที่สุด ลวี่ปู้เหว่ยผู้นี้เป็นคนรัฐจ้าว เขาได้เดินทางค้าขายไปทั่วอาณาจักรของราชวงศ์โจว และได้พบกับ“เจ้าชายจื่อฉู” โอรสของ “เจ้าชายอันกว๋อ” โดยที่เจ้าชายอันกว๋อผู้นี้เป็นราชโอรสปลายแถวผู้ไม่มีสิทธิในราชสมบัติของ “ฉินเจาหวาง” อ๋องผู้ครองรัฐฉินในขณะนั้น


ภาพดาราภาพยนต์จีน ที่แสดงเป็นตัวเจ้าชายอันกว๋อ ในภาพยนต์เรื่องจิ๋นซีฮ่องเต้ นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประเทศจีน และฮ่องกง ได้สร้างภาพยนต์เรื่องจิ๋นซีฮ่องเต้ออกมามากมายหลายเวอร์ชั่น ซึ่งแต่ละเวอร์ชั่น แต่ละสมัย ก็มีเนื้อหาส่วนใหญ่ไปในทางเดียวกัน คล้าย ๆ กัน และบางเรื่องก็มีการแต่งแต้มใส่ไข่ใส่สีสันเข้าไป ตามแบบฉบับของภาพยนต์จอแก้ว จอเงิน


นี่ก็เจ้าชายอันกว๋อ หรือ อันกว๋อกงจื้อ อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง


เจ้าชายอันกว๋อตามภาพเขียนในประวัติศาสตร์ช่างสมจริงสมจังตามเนื้อความในประวัติศาสตร์ ต่างกับในภาพยนต์ที่จะต้องแต่งเติมให้ดูดี ไม่อย่างนั้นคงจะไม่เป็นภาพยนต์ที่ชวนให้คนดูติดตาม ท่านผู้อ่านว่าจริงไหม?

เจ้าชายอันกว๋อเป็นโอรสหนึ่งในยี่สิบกว่าองค์ของฉินเจาหวางซึ่งเป็นองค์รองที่เกิดจากนางสนมของฉินเจาหวางดังนี้เจ้าชายอันกว๋อยิ่งไม่มีสิทธิอันดับใด ๆ ในการสืบราชสมบัติต่อจากพระบิดาเลยแต่ด้วยการ "ขุน" ของเจ้าสัวลวี่ปู้เหว่ยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และทุ่มอย่างหมดหน้าตัก ในที่สุดได้ทำให้เจ้าชายอันกว๋อได้ขึ้นสืบสมบัติจากพระราชบิดาจนได้ แล้วก็ได้ส่งผลให้ชะตาชีวิตของเจ้าชายจื่อฉู(โอรสของเจ้าชายอันกว๋อ)ผู้นี้ได้พลิกผันจากเจ้าชายต๊อกต๋อยซึ่งถูกส่งเป็นตัวประกันไว้ในรัฐจ้าวตามธรรมเนียมของรัฐต่าง ๆ ในสมัยนั้นที่แลกเปลี่ยนโอรสกันในระหว่างรัฐเพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในอันที่จะไม่เข้ารุกรานกัน

ลวี่ปู้เหว่ยมองดูเจ้าชายจื่อฉูด้วยสายตาที่บาดลึกไปถึงข้างในของเจ้าชายผู้นี้เขามองเห็นจื่อฉูเป็นสินค้าอันมีค่าที่เขาพึงจะต้องลงทุนและเห็นผลกำไรอย่างมหาศาลสุดที่จะประมาณค่าได้ในอนาคต ลวี่ปู้เหว่ยถึงกับออกปากว่า “สินค้าอันนี้หายากยิ่งนักแถมยังมีราคาสูงลิบลิ่ว แต่นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสมควรแก่การลงทุน?”


ภาพเขียนในประวัติศาสตร์ เป็นรูปภาพของลวี่ปู้เหว่ย ภาพนี้ดูท่าจะล้อเลียนถึงรูปร่างลักษณะของตัวลวี่ปู้เหว่ย ไม่ทราบว่าภาพนี้วาดขึ้นมาตรงกับสมัยใด


ภาพนี้พระบิดาบุญธรรมลวี่ปู้เหว่ย ค่อยดูดีขึ้นมาบ้าง


ภาพในภาพยนต์นะครับ เป็นตัวฉินไท่โฮ่ว หรือภรรยาน้อยของลวี่ปู้เหว่ยที่ยกให้กับเจ้าชายจื่อฉู จนให้กำเนิดเจ้าชายอิ๋งเจิ้งและได้กลายมาเป็นจอมจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์แรกของจีน


ภาพนี้ของลวี่ปู้เหว่ย ดูดีสมกับเป็นบุรุษพ่อค้ามหาเศรษฐี ในสมัยนั้น

 


ลวี่ปู้เหว่ย จิ๋นไทเฮา และจิ๋นซี ในภาพยนต์


จิ๋นไทเฮาในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

ลวี่ปู้เหว่ยได้ช่วยเหลือเกื้อหนุนเจ้าชายจื่อฉูองค์นี้อย่างเต็มกำลังความสามารถครับไท้ก๋าหยิ่นตั้งแต่การติดสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐจ้าวที่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเจ้าชายจื่อฉูมอบเงินทองให้จื่อฉูได้ใช้สอยอย่างสบายมืออย่างสมกับฐานะของเจ้าชายที่สำคัญที่สุดครับพี่น้องลวี่ปู้เหว่ยถึงกับลงทุนหมดหน้าตักด้วยการยกภรรยาน้อยของตนเองให้เป็นสนมของจื่อฉูจนถึงกับมีลูกด้วยกันคนนึงเป็นชาย คือ “เจ้าชายอิ๋งเจิ้ง”ซึ่งต่อไปจะเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรต้าฉินที่ยิ่งใหญ่นั่นแหละครับท่านทั้งหลาย

พ่อค้าลวี่ปู้เหว่ยมีความสามารถในการเข้านอกออกในวิ่งเต้นลอบบี้เรื่องต่าง ๆ ภายในราชสำนักจ้าวการให้สินบาดคาดสินบนนี้มีมาคู่กับโลกนี้อย่างยาวนานจริง ๆว่าไหมครับไท้ก๋าหยิ่นครับลวี่ปู้เหว่ยให้สินบนเจ้าหน้าที่ราชสำนักด้วยสิ่งของมีค่าและราคาแพงแล้วในที่สุดชายาของเจ้าชายอันกว๋อผู้ซึ่งเจ้าชายอันกว๋อโปรดปรานที่สุดแต่ไม่มีโอรสธิดาด้วยกัน ได้รับเอาเจ้าชายจื่อฉูมาเป็นบุตรของนาง ต่อมาไม่นานเจ้าชายอันกว๋อเกิดส้มหล่นได้เป็นรัชทายาทเหตุเพราะพี่ชายที่เป็นรัชทายาทมาด่วนสิ้นพระชนม์ลงโดยกระทันหันอันนี้ถ้าพูดถึงเรื่องการเมืองแล้ว เราอาจคาดเดาไปได้หลายอย่างแต่ด้วยความเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เมื่อไม่มีการระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้วละก็ผู้เล่าประวัติศาสตร์ก็ย่อมไม่สามารถนั่งเทียนเขียนวิเคราะห์ได้อย่างเป็นตุเป็นตะหาได้ไม่เอาเป็นว่า สวรรค์ได้ให้อาณัติหรือ “เทียนมิ่ง” แก่หลานปู่ของเจ้าชายอันกว๋อที่ชื่อว่าอิ๋งเจิ้งเข้าให้แล้ว

เจ้าชายอันกว๋อเมื่อได้เป็นรัชทายาทแล้วก็สามารถดำรงตนจนขึ้นเป็นอ๋องหรือกษัตริย์แห่งรัฐฉินได้ มีพระนามว่า“เสี่ยวเหวินหวาง” หรืออ๋องเสี่ยวเหวิน และเมื่อพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ลงไป ในปีที่250 ก่อนคริสตศักราชพระเยซูเจ้าชายจื่อฉูบิดาของอิ๋งเจิ้งก็ได้ขึ้นครองบัลลังก์แห่งรัฐฉินเป็นองค์ต่อไป


นี่ครับ เจ้าชายจื่อฉู ในภาพนี้ได้เป็น จวงเซียงหวาง เป็นกษัตริย์ของรัฐฉินได้สำเร็จสมเจตนารมย์ของพ่อค้ามหาเศรษฐี ลวี่ปู้เหว่ย

เจ้าชายจื่อฉูเมื่อขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า “จวงเซียงหวาง” ลวี่ปู้เหว่ยพ่อค้าผู้มีสายตายาวไกลไม่สิ้นสุดก็ได้รับการแต่ตั้งให้เป็น“สมุหนายก” อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของคนธรรมดาสามัญเรียกได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐฉินก็ไม่ผิดนัก และแล้วการลงทุนในสินค้าที่หายากและมีค่าของลวี่ปู้เหว่ยซึ่งก็คือตัวเจ้าชายจื่อฉูได้ให้ผลตอบแทนเกินค่าแก่ตัวลวี่ปู้เหว่ยเกินสุดที่จะประเมินได้ เพราะว่าในบัดนี้รัฐฉินทั้งรัฐเรียกได้ว่าไม่มีใครจะยิ่งใหญ่คับฟ้าไปกว่าลวี่ปู้เหว่ยได้เลย

ที่สำคัญรัฐฉินกำลังกลายเป็นรัฐมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารอย่างที่ไม่มีรัฐใด ๆเทียบเคียงได้ แล้วนโยบายการรวบรวมรัฐต่าง ๆ ทั้งสหราชอาณาจักร เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐฉินก็ได้คืบคลานเข้ามาใกล้เพียงแค่เอื้อมมือหยิบถึงเลยทีเดียว...

อาณาเขตของรัฐฉิน ก่อนที่จะทำการยึด 6 รัฐที่เหลือ แล้วรวมกันเป็นราชอาณาจักร์ต้าฉิน มหาอาณาจักร แรก ของจีน

อาณาจักรต้าฉิน หรือ "จงกว๋อ" ถือว่าราชอาณาจักรของตนเป็นศูนย์กลางแห่งโลก จง คือ ตรงกลาง ความหมายของทุกราชวงศ์จีน ถือว่าประเทศจีนเป็นศูนย์กลางของโลกมนุษย์ ที่มีรัฐ-ประเทศและเขตแคว้น มีอาณาบริเวณรายล้อมรอบ จงกว๋อ หรือราชอาณาจักรจีนในราชวงศ์ต่าง ๆ นับแต่ราชวงศ์ฉิน ลงมาจนถึง ราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน

 

ในปีที่247 ก่อนคริสตศักราชพระเยซูจวงเซียงหวางสิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหันอีกแล้วครับท่าน เจ้าชายอิ๋งเจิ้งในฐานะรัชทายาทก็ได้สืบบัลลังก์ทรงพระนามว่า หวางเจิ้ง หรือเจิ้งอ๋อง ในขณะที่มีอายุเพียง 13 ชันษาอำนาจทั้งหมดในรัฐฉิน จึงตกอยู่ที่ตัวลวี่ปู้เหว่ยเพียงคนเดียวเท่านั้นลวี่ปู้เหว่ยมีฐานะที่ยิ่งใหญ่คับฟ้าเนื่องด้วยลวี่ปู้เหว่ยได้รับเอาภรรยาของตนที่ยกให้กับเสี่ยวเหวินหวางในตอนที่เป็นเจ้าชายจื่อฉูกลับมาเป็นภรรยาของตน จนผู้คนในรัฐฉินต้องขนานนามสร้อยของลวี่ปู้เหว่ยว่า “จงฟู่”อันมีความหมายว่าพระราชบิดาบุญธรรม (ในตอนนี้ เกร็ดประวัติศาสตร์จีนบอกไว้ว่าอิ๋งเจิ้งที่แท้ก็คือบุตรชายของลวี่ปู้เหว่ยกับภรรยาซึ่งตั้งครรภ์ได้อ่อน ๆก่อนที่จะถูกยกให้เป็นชายาของเจ้าชายจื่อฉู และภาพยนต์ทั้งจอแก้วและจอเงินเรื่องจิ๋นซีฮ่องเต้ในเวอร์ชั่นต่างๆก็ได้สร้างบทไว้ว่าอิ๋งเจิ้งเป็นลูกชายของลวี่ปู้เหว่ยกับภรรยาที่ได้ยกให้จื่อฉูจริงๆ และในเมื่อประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จึงไม่สามารถที่จะนำมาถ่ายทอดว่าเป็นเรื่องราวที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ได้เพียงแต่อ้างได้ว่าเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์เท่านั้น –นักประวัติศาสตร์หรือผู้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไม่สมควรที่จะตัดสินบุคคลในประวัติศาสตร์ได้ว่าคนไหน เป็นอย่างไร เพราะความสำคัญอยู่ที่ว่า “บุคคลในประวัติศาสตร์” นั้นท่านไม่สามารถลุกขึ้นมาชี้แจงได้ด้วยตัวท่านเองอีกต่อไป)

แม้นว่าประวัติศาสตร์จีนช่วงการกำเนิดและเติบใหญ่ของอิ๋งเจิ้งก็มีสีสันเกินกว่าที่อ๋องหรือกษัตริย์ธรรมดาจะมีความชืดจืดไร้รสชาติหาได้ไม่ครับพี่น้องเรื่องราวของอิ๋งเจิ้ง หรือเจิ้งหวางนี้ มีความไม่ธรรมดาเลย ก็แน่นอนสิครับว่ามหาบุรุษผู้ซึ่งจะเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตและเป็นผู้กำหนดให้ประวัติศาสตร์ในช่วงชีวิตแห่งการดำรงอยู่ของพระองค์ให้เป็นไปในแนวทางใด

ประวัติศาสตร์จีนเขียนไว้ว่า...

ในวันที่หวางเจิ้งจะทำการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกด้วยทรงบรรลุนิติภาวะอายุได้ 20 ชันษา ที่หยงโจว เมืองหลวงเก่าของรัฐฉินได้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นมาอย่างที่หวางอิ๋งเจิ้งและพระราชบิดาบุญธรรม ลวี่ปู้เหว่ยคาดไม่ถึง เหตุการณ์นั้นคือ “เล่าไอ่” ชู้รักของไทเฮา พระราชมารดาของหวางเจิ้ง (ประวัติศาสตร์ว่าไว้อย่างนี้จริงๆ ครับ) ได้ก่อการกบฏขึ้นในราชสำนัก โดยวางแผนที่จะให้บุตรชายของตัวเองที่เกิดกับพระราชมารดาหวางเจิ้งให้เป็นกษัตริย์ เหตุการณ์นี้หวางเจิ้งก็ได้ใช้สติปัญญาและความสามารถทำการปราบปรามได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทันทีทันใดโดยสั่งให้กองทหารยกกำลังเข้าปราบปรามพรรคพวกของเล่าไอ่ที่บุกเข้ามาได้จนแตกญย่ายพ่ายจแจ๋ตัวเล่าไอ่หลบหนีไปได้ แต่หวางเจิ้งประกาศให้รางวัลนำจับตัวเล่าไอ่หากใครจับเป็นจะได้รับรางวัล 1 ล้านอีแปะ ใครจับตาย ได้รับ 5 แสนอีแปะ

ค้นภาพเขียนโบราณของเล่าไอ่ไม่พบครับ พบแต่รูปในภาพยนต์ของดาราที่แสดงเป็นตัวเล่าไอ่ ดังในภาพนี้

ในที่สุดทั่วทั้งอาณาจักรต่างก็มีคนออกตามตัวเล่าไอ่กันอย่างจ้าละหวั่นด้วยหวังจะได้กลายเป็นเศรษฐีกันถ้วนหน้าสุดท้าย เล่าไอ่ก็ไม่สามารถหลีกลี้หนี้ไปได้ถูกจับตัวและนำไปประหารชีวิตด้วยม้าแยกร่าง(ม้าแยกร่างเป็นการลงโทษขั้นสูงสุดในสมัยนั้น กล่าวคือ เพชฆาตจะนำตัวนักโทษผูกไว้กับม้า ทั้ง 5 ส่วนของร่างกาย คือ ศรีษะ แขน 2 ข้าง ขา 2 ข้างแล้วบังคับให้ม้าทั้ง 5 ตัววิ่งออกไปพร้อมกันคนละทิศคนละทางเท่านี้ร่างของนักโทษก็จะถูกแยกขาดออกจากกันเป็น 5 ส่วนสยดสยองไม่น่าชมเลยนะครับท่านทั้งหลาย) เท่านี้ยังไม่พอครับ ญาติพี่น้องของเล่าไอ่อีก 3 ชั่วอายุคนก็ล้วนแต่ถูกประหารชีวิตไปด้วยและพระราชมารดาซึ่งเป็นพระพันปีหรือองค์ไทเฮา หวางเจิ้งเนรเทศออกไปจากวังหลวงในเสี้ยนหยางต่อมามีขุนนางเก่าแก่ที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีทูลขอร้องให้พระองค์อภัยโทษพระราชมารดาหวางเจิ้งจึงโปรดให้กลับมาอยู่ในวังหลวงตามเดิม

สำหรับอัครมหาเสนาบดีสมเด็จพระบิดาบุญธรรมลวี่ปู้เหว่ยถูกถอดออกจากตำแหน่ง เนื่องเพราะมีความผิด ฐานเป็นผู้ชักนำเล่าไอ่เข้ามาเพื่อถวายตัวรับใช้องค์ไทเฮาโดยที่ลวี่ปู้เหว่ยหาได้รู้ไม่ว่า เล่าไอ่นั้น เป็นขันทีปลอม มิได้ “เจี๋ยน”ของสงวนเช่นเดียวกับขันทีทั้งหลายไม่ ตัวเล่าไอ่นี้เมื่อได้เป็นขันทีคนสนิทรับใช้ใกล้ชิดกับพระพันปี เข้านอกออกในพระราชวังหลวงได้อย่างสะดวกโยธินเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเล่าไอ่ พระพันปี และลวี่ปู้เหว่ย พันกันไปมานัวเนียซี่งลวี่ปู้เหว่ยเอง อาจจะไม่ล่วงรู้ถึงความเป็นขันทีปลอมของเล่าไอ่หรือแม้กระทั่งลวี่ปู้เหว่ย เองด้วยซ้ำไป ที่เป็นตัวเจ้ากี้เจ้าการจัดนำเล่าไอ่เข้ามาถวายตัวรับใช้ไทเฮา โดยที่รู้ทั้งรู้ว่าเล่าไอ่เป็นขันทีปลอม พูดง่าย ๆ ว่าเรื่องของเล่าไอ่ นั้น เป็นแผนการของลวี่ปู้เหว่ย ที่สร้างขึ้นเพื่อที่จะรวบอำนาจการปกครองแผ่นดิน จากสองแม่ลูก คือฉินเจิ้งหวาง และฉินไท่โฮ่ว(จิ๋นไทเฮา)

ประวัติศาสตร์จีนเองก็ไม่ได้ระบุชัดอย่างฟันธงในเหตุการณ์นี้ซึ่งนักประวัติศาสตร์จีนก็ได้สรุปเหตุการณ์ออกไปเป็นสองกรณีดังกล่าวครับท่านทั้งหลาย

ฉินหวางเจิ้งเองก็รู้สึกได้ว่าเหตุการณ์นี้มีลับลมคมในจึงรู้สึกระแวงระวังทั้งลวี่ปู้เหว่ย กับขันทีปลอมเล่าไอ่ ไม่ทรงไว้วางใจได้อีกต่อไปชั่วแต่ว่าหวางเจิ้งเองก็ยังไม่ทำอะไรบุ่มบ่าม ทำตัวเป็นเหมือนกับเด็กวัยรุ่นคนนึงที่ว่านอนสอนง่าย ปล่อยให้เกมการเมืองของลวี่ปู้เหว่ยและเล่าไอ่ดำเนินของมันไปข้างลวี่ปู้เหว่ยเองก็เบาใจ เพราะคิดว่ายุวกษัตริย์องค์นี้อยู่ในกำมือของตน จะสั่งซ้ายหันไปทางไหนขวางหันไปอย่างไร อ่องวัยละอ่อนองค์นี้ก็สั่งได้ดั่งลูกแมวเชื่อง ๆ ตัวหนึ่ง ทว่าลวี่ปู้เหว่ย คาดการณ์ตัวฉินหวางเจิ้งผิดมหันต์ ครับท่านผู้ชม

ฉินหวางเจิ้งเมื่อรู้สึกว่าไม่ไว้วางใจลวี่ปู้เหว่ยได้อีกต่อไป ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 18ชันษา หวางเจิ้ง ยังคงอดทนต่อไปร่วม ๆสองปีเพื่อนให้พระองค์เองทรงบรรลุนิติภาวะเสียก่อนแล้วค่อยรวบหัวรวบหางเผด็จศึกทั้งพ่อเลี้ยงทั้งสองคนของพระองค์

และแล้ว...วันเวลาที่หวางอิ๋งเจิ้งคิดว่าเหมาะสมก็ได้เดินทางมาถึงจึงได้มีโองการไปถึงลวี่ปู้เหว่ย ว่า...”อันตัวท่านทำความดีความชอบสิ่งใดไว้ให้กับรัฐฉินถึงได้ครอบครองที่ดินศักดินาทางใต้ของแม่น้ำหวงเหออันมีอาณาประชาราษฎร์อยู่ในเขตแดนท่านถึง 100,000 ครอบครัวแล้วท่านมีความสัมพันธ์อันใดกับรัฐฉิน...ถึงได้รับสมญาว่า “บิดาบุญธรรม”เราขอสั่งให้ท่านจงอพยพครอบครัวและบริวารออกไปให้พ้นจากรัฐฉินให้ท่านไปอยู่เสียที่แคว้นสู่ (สู่ และ ปาเป็นดินแดนที่เป็นมณฑลเสฉวนในปัจจุบันครับไท้ก๋าหยิ่น) เสียทั้งหมดเถิด”

 

ข้างลวี่ปู้เหว่ยเมื่อเจอไม้นี้เข้า ย่อมไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นถ้าขัดขืนพระบรมราชโองการก็มีโทษเพียงสถานเดียวคือ “ประหารชีวิต” และหากยอมรับการเนรเทศออกไปก็ไม่แน่ว่า หวางเจิ้งจะกำจัดตนเมื่อใดอีกหนทางเดินของลวี่ปู้เหว่ยมีแต่ตายกับตายเท่านั้นจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาพิษ ดีกว่าจะมีชีวิตอยู่เพื่อรอความตายไปวัน ๆ

อัครมหาเสนาบดี หลี่ซือ เสนาบดีคู่พระทัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ ท่านผู้นี้เป็นมหาบุรุษผู้ปิดทองหลังพระ ในประวัติศาสตร์จีน ความสำคัญของท่านหรือคุณูปการของท่านที่มีต่อความเป็นประชาชาติจีน คือท่านเป็นผู้วางรากฐานการเมืองการปกครองของราชอาณาจักรต้าฉิน ซึ่งภายหลังได้เป็นแบบอย่างทางการปกครอง ของราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีน จวบจนถึงราชวงศ์ชิง อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน.

มาถึงตอนนี้ขอเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการประวัติศาสตร์จีน(มาถึงตอนนี้ที่ปักกิ่งเขาคงสรุปไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้วหละครับ)คงเป็นปัญหาที่บรรดานักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีนในช่วงนี้มีความข้องใจกันอยู่ทั่วไป เพราะบางตำนานก็เล่าว่าหวางเจิ้งเป็นลูกติดของลวี่ปู้เหว่ย การที่ลวี่ปู้เหว่ยยกแม่ของหวางเจิ้งให้เจ้าชายจื่อฉูไป ก็เพราะต้องการให้ลูกของตนเองเป็นกษัตริย์แต่ก็มีผู้สันนิษฐานไปอีกอย่างหนึ่งว่า...เรื่องนี้เป็นการแต่งเติมขึ้นในภายหลังเพราะว่าใน “สื่อจี้” คงมีข้อความกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้เพียงว่า“ฉินสื่อหวงเป็นโอรสของกษัตริย์จวงเซียงของรัฐฉิน เมื่อจวงเซียงยังเป็นเจ้าชายอยู่ถูกส่งตัวไปเป็นตัวประกันในรัฐจ้าวครั้นได้พบกับเมียน้อยของลวี่ปู้เหว่ยก็ชอบพอผูกใจรักใคร่นางและก็ได้นางมาเป็นภรรยา มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคนเป็นผู้ชายชื่อว่า อิ๋งเจิ้งซึ่งต่อมาก็คือฉินสื่อหวงตี้” ไม่มีข้อความตกแต่งแต้มเติมใด ๆที่ต่างไปจากเรื่องธรรมดา ๆ ส่วนข้อที่ว่าลวี่ปู้เหว่ยเป็นบิดาของฉินสื่อหวงก็ไม่มีข้อความปรากฏในประวัติศาสตร์จีนไม่ว่าจะเป็นเล่มใด ๆบทบันทึกประวัติศาสตร์จีนสมัยสงครามระหว่างรัฐ หรือ “จ้านกว๋อเฌ่อ”ก็บรรยายแต่เพียงว่า ลวี่ปู้เหว่ยได้ทุ่มเทความมั่งคั่งทางการเงินของตนลงไปในการรณรงค์เพื่อยกฐานะของเจ้าชายจื่อฉูตัวประกันขึ้นเป็นรัฐทายาทเท่านั้นผลประโยชน์ส่วนตัวของลวี่ปู้เหว่ยนั้นคือรสชาติของการที่จะได้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองเรียกได้ว่าเป็นพ่อค้าธรรมดาอยากยกระดับขึ้นมาเป็นอำมาตย์ เหตุการณ์แบบนี้ชักคุ้นๆ ยังไงชอบกลแฮะ ก็แต่นั่นแหละครับตัวลวี่ปู้เหว่ยได้พูดกับบรรดาพ่อค้าวาณิชด้วยกันว่า“อันตัวข้าแม้นว่าได้สร้างประเทศ โดยนำเอาบุคคลผู้หนึ่ง มาเป็นผู้ปกครองตัวข้าก็คงจะมีความมั่งคั่งเพียงพอที่จะมีทรัพย์สินที่ดินบ้านเรือนใหญ่โตพอจะเป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลานต่อไปได้ไม่มีหมด”(จากประวัติศาสตร์จีน-ทวีป วรดิลก)ไม่มีการเอ่ยถึงการยกเมียหลวงเมียน้อยแต่อย่างใด ดังนั้น จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าชีวประวัติบุคคลสำคัญที่ท่านซือหม่าเชียนเรียบเรียงไว้จะถูกปลอมแปลงแก้ไขขึ้นในภายหลังโดยมีมือที่มองไม่เห็นมาตกแต่งแต้มเติมเล่าเรื่องที่น่าชิงชังรังเกียจเพื่อสร้างความโสมมมัวหมองให้แก่พระนามของฉินสื่อหวงตี้เรารู้ถึงแผนการก่อกบฏของเล่าไอ่และการถูกถอดยศถอดตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของลวี่ปู้เหว่ยที่อุบัติขึ้นแม้ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะยังไม่เป็นที่แน่นอนเมียน้อยที่ตั้งครรภ์กับอวัยวะเพศ(ของเล่าไอ่)ที่ผิดธรรมดาต้องเป็นเรื่องที่คิดประดิษฐ์ขึ้นแท้ ๆ ” (สื่จี้-ซือหม่าเชียน เผยแพร่โดย คณะประวัติศาสตร์และโบราณคดี มหาวิทยาลัยปักกิ่ง)

เกี่ยวกับเรื่องลวี่ปู้เหว่ยภรรยาน้อย (ฉินไทเฮา) เจ้าชายจื่อฉู และฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้)นี้นะครับท่านผู้อ่าน หนังสือประวัติศาสตร์จีน ของท่านอาจารย์ทวีปวรดิลกผู้ล่วงลับ ได้เขียนไว้ว่า...

“ข้อที่น่าสังเกตก็คือพฤติกรรมที่น่าชิงชังรังเกียจของพ่อค้าคนหนึ่งที่มีความทะเยอทะยานถึงขนาดยกเมียน้อยของตนที่กำลังตั้งท้องให้กับคนอื่นทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าท้องกับตน ข้างเมียน้อยในสังคมศักดินา ก็ยังเต็มใจและดูเหมือนจะยินดีเอาด้วยที่ได้ผัวใหม่ทั้ง ๆ ที่ตนเองตั้งท้องกับผัวเก่าอยู่แล้วพฤติการณ์ที่ชั่วช้าเลวทรามอย่างยากที่จะหาได้โดยเฉพาะในสังคมอุดมคติที่ยกย่องคำสอนของขงจื้อ และการ “เผาหนังสือ” – “ฝังผู้รู้”ของฉินสื่อหวงก็เป็นความชั่วช้าเลวทรามทรราชที่สาวกลัทธิขงจื้อไม่เคยให้อภัยเลยตลอดเวลากว่าสองพันปีมานี้ในเมื่อเรื่องราวที่ชั่วช้าสามานย์ของชายหญิงคู่หนึ่งมาเกิดขึ้นในสังคมที่ยกย่องบูชาบรรพบุรุษแล้วบุตรชายของชายหญิงคู่นี้ ถึงแม้จะเป็นฉินสื่อหวงที่สามารถรวบรวมอาณาจักรเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ก็ย่อมน่าชิงชังรังเกียจ จนเกินกว่าที่จะนำมายกย่องกันไม่ว่าจะมีคุณงามความดีเช่นไรบ้าง”

ภาพเขียนโบราณ เขียนเป็นภาพของฉินสื่อหวงตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ในเวอร์ชั่นต่าง ๆ 

“ตามพระราชประวัติฉินสื่อหวงทรงสนพระทัยศึกษาหาความรู้ ซึ่งตามหลักฐานได้ศึกษาบทนิพนธ์ปรัชญาการเมืองของหันเฟยจื่อเมธีคนสำคัญของสำนักกฎหมาย และก็ชื่นชมมากถึงขนาดรับสั่งว่า “ถ้าได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้เขียนถึงจะตายก็ไม่เสียดาย”เรื่องนี้เป็นไปได้ในเมื่อปรัชญาการเมืองของหันเฟยจื่อเรียกร้องให้กษัตริย์ทรงอำนาจสิทธิ์ขาดและนโยบายพัฒนาประเทศก็ถือหลักสร้างความมั่งคั่งทางเกษตรกรรมและความเข้มแข็งทางทหารอันเป็นนโยบายที่ผู้ปกครองรัฐฉินทุกองค์พยายามดำเนินสืบต่อกันมาจึนถึงฉินสื่อหวงจะเห็นได้ว่า ฉินสื่อหวงขณะเป็นหวางเจิ้งนั้นทรงตระหนักดีอยู่แล้วในภาระกิจทางประวัติศาสตร์ของพระองค์และนโยบายที่มาจากมันสมองของหลี่ซือ (อัครมหาเสนาบดีคู่พระทัยซึ่งมีส่วนร่วมในการวางแผนระบบการปกครองให้กับจิ๋นซีฮ่องเต้-ยับสินฝ่า)ฉินสื่อหวงก็เห็นด้วยและนำมาปฏิบัติอย่างแข็งขันโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อรวมอาณาจักรได้แล้วและหวางเจิ้งก็ทรงใช้คำว่า“หวงตี้” 皇帝 สำหรับพระองค์แล้วเมื่อมาถึงระบอบการปกครอง ก็ปรากฏว่าขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะหวนกลับไปใช้ระบอบการปกครองของกษัตริย์ต้นราชวงศ์โจวโดยแต่งตั้งโอรส อนุชาและสมาชิกราชตระกูล ให้ออกไป “กินเมือง” อย่างในสมัยศักดินาของต้นราชวงศ์โจวกล่าวคือ โอรส อนุชาและสมาชิกราชตระกูลแต่ละองค์ล้วนได้ไปมีอำนาจครอบครองที่ดินที่กษัตริย์พระราชทาน เท่ากับเป็นอาณาจักรของตนที่เรียกว่า“ฟงกั๋ว”---”

โปรดติดตามตอนต่อไป "การปกครองของราชอาณาจักรต้าฉิน."




Yubsinfa (Klit.Y)


 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal