หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

เทศกาลตรุษจีน

รูปภาพของ salyae

เรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน

เก็บบทความมาจาก สถานีวิทยุ C.R.I. ปักกิ่ง ภาคภาษาไทย http://thai.cri.cn

วันตรุษจีนนับเป็นเทศกาลที่สำคัญ และอึกทึกครึกโครมที่สุดในรอบหนึ่งปีของชาวจีน เฉกเช่นเทศกาลวันคริสต์มาสซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญที่สุด สำหรับชาวประเทศตะวันตกหรือว่าเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทย ถึงแม้นว่า พร้อมๆไปกับการพัฒนาแห่งยุคสมัย เนื้อหาและรูปแบบของการเฉลิมฉลองตรุษจีน ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วก็ตาม แต่เทศกาลตรุษจีน ก็ยังคงมีความสำคัญที่มิอาจมีอะไรมาทดแทนได้ในชีวิต และจิตสำนึกของชาวจีนทั้งหลาย รายการ"วัฒนธรรมจีน"วันนี้ ผมขอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีนนะครับ

เล่ากันว่า เทศกาลตรุษจีนมีประวัติมายาวนานร่วม ๔ พันปีแล้ว ตามวิถีชีวิตของชาวจีนทั่วไป เทศกาลตรุษจีนตามความหมายกว้างๆนั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๓ หรือวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติ รวมเวลานานประมาณสามสัปดาห์ และในระหว่างนี้ คืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับ"วันชิวอิด"นั้นนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและเอิกเกริกที่สุด

ตามท้องที่ต่างๆของจีนมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ในการฉลองตรุษจีน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน และขาดเสียมิได้ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนภาคใต้หรือชาวจีนภาคเหนือ นั่นก็คือ สมาชิกครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน เพื่อร่วมรับประทานอาหารมื้อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในคืนสุดท้ายของปีเก่า ส่วนทางภาคใต้ของจีน อาหารมื้อนี้ของแต่ละครอบครัวมักจะมีกับข้าวต่างๆมากถึง ๑๐ กว่าอย่าง และในจำนวนนี้ กับข้าวที่จำเป็นต้องมีเสมอในมื้อสำคัญนี้ก็คือ เต้าหู้ และปลา เพราะในภาษาจีนนั้น ทั้งสองคำดังกล่าวนี้ ต่างมีเสียงพ้องกับคำที่มีความหมายว่า"ร่ำรวย"นั่นเอง ส่วนชาวจีนในภาคเหนือนั้น มักจะเลือก"เจี่ยวจือ"หรือ"เกี๊ยว"เป็นอาหารส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ท่านผู้ฟังอาจจะถามว่า "เจี่ยวจือ"ที่เป็นอาหารจานโปรดของชาวจีนภาคเหนือนั้นทำอย่างไร? คำตอบง่ายๆก็คือ เอาแผ่นแป้งข้าวสาลีบางๆ รูปทรงกลมมาห่อใส้เนื้อสัตว์ หรือผักที่ปรุงรสต่างๆตามชอบ แล้วนำไปต้มในน้ำเดือดจนสุก จากนั้นก็ตักขึ้นมารับประทานร่วมกับน้ำจิ้ม ซึ่งทำจากน้ำส้มสายชูได้เลย

อาหารที่มีมาแต่ดั้งเดิมในช่วงตรุษจีนนั้นยังมีอีกหลายอย่าง เช่น "เหนียนเกา"หรือ"ขนมเข่ง"ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ขนม"ทังหยวน"และ"หยวนเซียว"ซึ่งต่างก็มีลักษณะคล้ายกับ"ขนมอี้"ของไทย?อาหารเหล่านี้ต่างมีความหมายแฝงว่า การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นทุกๆปี และความเป็นอยู่พร้อมหน้ากันของสมาชิกทั้งครอบครัวและความผาสุข เป็นต้น

การอยู่รวมญาติร่วมกันโต้รุ่งตลอดคืนส่งท้ายปีเก่านั้น ก็เป็นกิจกรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิมของเทศกาลตรุษจีนเช่นกัน ในอดีต ก่อนวันตรุษจีนมาถึง ผู้คนทั้งหลายมักจะจุดประทัดกันเพื่อฉลองตรุษจีน แต่ทุกวันนี้ เนื่องจากปัจจัยด้านความปลอดภัยและมลภาวะต่างๆ ในเขตเมืองปักกิ่ง และเมืองใหญ่อื่นๆอีกหลายเมืองของจีน ได้ใช้นโยบายห้ามจุดประทัดกันเสียแล้ว เมื่อถึงวันชิวอิด สมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กเล็ก ต่างก็จะสวมใส่เสื้อใหม่กันเพื่อต้อนรับการมาเยือนของญาติมิตร หรืออกไปเยี่ยมเยียนและกล่าวสวัสดีปีใหม่กับญาติมิตร ถ้าในรอบปีที่ผ่านมา เคยเกิดความขัดแย้งบางประการระหว่างกัน แต่ขอให้ได้กล่าวอวยพรปีใหม่ต่อกันในช่วงตรุษจีน ก็จะถือกันว่า ทุกฝ่ายต่างได้ให้อภัยซึ่งกันและกัน แล้วพร้อมๆกับปีใหม่ที่มาเยือน

กิจกรรมในช่วงตรุษจีนยังมีอีกหลากหลาย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เมื่อผ่านพ้นวันขึ้นปีใหม่ตามคริสต์ศักราชไปแล้ว ภาพยนตร์ต้อนรับปีใหม่ ก็จะเริ่มถูกนำออกฉายประชันกันในทั่วประเทศจีน ส่วนในเขตชนบทนั้น ก็จะเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศแห่งความร่าเริงหรรษาโดยทั่วหน้ากัน ด้วยงานแสดงและกิจกรรมต่างๆนานา เช่น การแสดงงิ้วพื้นเมือง การเชิดสิงโต การเต้นรำ"ยางเกอ" การเล่นเดินไม้ต่อขาและเที่ยวงานวัด เป็นต้น การชมรายการบันเทิงต่างๆทางโทรทัศน์ ก็นับเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนจำนวนมากเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว การปิดคำขวัญคู่และภาพปิดในช่วงตรุษจีนตามบานประตูและจุดโคมไฟ เป็นต้นก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ในการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ในขณะเดียวกัน ที่ชาวจีนยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมของเทศกาลตรุษจีนนั้น ผู้คนทั้งหลาย ยังได้คิดสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยในช่วงตรุษจีน เช่น เล่นสกี ร่วมเล่นเกมส์อินเตอร์เน็ตกับเพื่อนฝูงเป็นต้น นอกจากนี้ การเดินทางไปท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ได้กลายเป็นกระแสนิยมใหม่อย่างหนึ่งของชาวจีนไปแล้วเช่นกัน

 


หมายเหตุ (การเปิดไฟล์เสียง จากคุณท้ายแถว)
เสียงอ่าน ถ้าไม่ดังให้ลงโปรแกรม realplay หรือใช้โปรแกรมเล่นเสียงอื่นๆ เปิด rtsp://audio.chinabroadcast.cn/spread/smil/thai/2005/02/thai_20050208CultureChina_20050208.smil ก็ได้นะ)


รูปภาพของ salyae

ภาพเขียนที่ใช้ปิด ในช่วงตรุษจีน(1)

คัดลอกมาจาก สถานีวิทยุ C.R.I. ปักกิ่ง ภาคภาษาไทย http://thai.cri.cn

โดยคุณยงเกียรติ ลู่ ในรายการ วัฒนธรรมจีน

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ ทุกวันอังคาร พบกับผม ยงเกียรติ ลู่ในรายการวัฒนธรรมจีนเช่นเคยนะครับ ท่านผู้ฟังครับ "ภาพปิด"ในช่วงตรุษจีน ซึ่งเป็นศิลปะพื้นเมือง ที่มีเฉพาะของจีนนั้นมีประวัติมาช้านานแล้ว และมีอิทธิพลที่กว้างไกลและลึกซึ้งต่อประชาชนจีน สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอันดีงาม ของประชาชาติจีนด้วยภาพการ์ตูนพื้นเมือง จึงได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนจีนเป็นอย่างมาก และได้กลายเป็นภาพเขียนที่ครองความนิยม ของผู้ชมชาวจีนมากที่สุดอย่างหนึ่งทั่วโลก รายการวัฒนธรรมจีนวันนี้ ผมขอเสนอเรื่องเกี่ยวกับภาพเขียนที่ใช้ปิดในช่วงตรุษจีนชนิดนี้ต่อท่านผู้ฟังครับ

 


ชาวจีนเรียกประเพณีการต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่มีมาแต่ดั้งเดิมว่า "กั้วเหนียน"ซึ่งแปลเป็นไทยว่า"ฉลองปีใหม่"นั่นเอง เมื่อถึงยามเฉลิมฉลองปีใหม่ทีไร ชาวจีนมักนิยมปิดภาพประดับไว้บนบานประตูและห้องโถง เพื่อความเป็นสิริมงคลและความผาสุกในรอบปีใหม่ไว้บน เนื่องจากภาพชนิดนี้จะปิดกันในช่วงเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น และหลังจากปิดภาพดังกล่าวแล้ว ก็จะทิ้งไว้อย่างนั้นเป็นเวลาหนึ่งปี กว่าจะเปลี่ยนมาเป็นภาพใหม่ ก็ต่อเมื่อถึงเวลาเทศกาลตรุษจีนในปีถัดไป ด้วยเหตุนี้ ภาพนี้จึงได้รับการขนานกันว่า "เหนียนฮว่า" ซึ่งมีความหมายว่า "ภาพปิดในช่วงตรุษจีน" นั่นเอง ภาพเขียนชนิดนี้มีสีสันที่สดใส เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศที่ครึกครื้นร่าเริงหรรษา มีเนื้อหาสำคัญส่วนใหญ่ที่เน้นเกี่ยวกับความเป็นสิริมงคล ความชื่นมื่นจากการเฉลิมฉลอง ความร่าเริงแจ่มใส และความดีงามต่างๆ มีทั้งลักษณะที่เน้นเป็นเรื่องราว เน้นเป็นเครื่องประดับ และให้ความสนุกน่าเพลิดเพลิน ทั้งนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของผู้คนทั้งหลาย อย่างตรงไปตรงมา รูปแบบ"เหนียนฮว่า" ที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไปนั้นมี ภาพ "ซื่อซินถู" และ "ซงเฮ่อเหยียนเหนียน" ที่อวยพรให้มีอายุยืนยาว ภาพ "ชุนเหนียวถู" และ "อู๋กู่เฟิงเติน" ที่อวยพรให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ส่วนภาพ "อู๋ฝูหลินเหมิน" ที่เป็นสัญญลักษณ์แห่งความผาสุกนั้น ได้วาดค้างคาว ๕ ตัวเพื่อแสดงความหมายแห่งความผาสุก เพราะว่า ในภาษาจีนนั้น คำว่า "ฝู" ที่แปลว่าความผาสุกนั้น มีเสียงพ้องกับคำที่แปลว่า นกค้างคาว ภาพ "หนูอ้วนอุ้มปลาลี๋ฮื่อ "เป็นอีกหนึ่งภาพของ"เหนียนฮว่า" ที่ชาวบ้านจีนนิยมชมชอบกันมากที่สุดภาพหนึ่ง เพราะมีความหมายตามเสียงพ้องว่า " เหลือกินเหลือใช้ทุกๆปี"นั่นเองครับ

ประวัติของ "เหนียนฮว่า" จีนนั้น สามารถย้อนหลังไปได้ถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อกว่าสองพันปีก่อนโน้น จากการบันทึกของหนังสือโบราณ เล่ากันว่า เมื่อสมัยโบราณ มีพี่น้องสองคนที่มีชื่อว่า "เสินถู" และ " ยี่เหลย" ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม ของบรรดาภูตผีปีศาจโดยเฉพาะ เมื่อพบว่าผีตนใดได้ก่อภัยพิบัติขึ้น ก็จะมัดตัวผีด้วยเชือก แล้วนำไปเป็นอาหารของเสือ เพื่อป้องกันภูตผีปีศาจ ผู้คนทั้งหลายจึงนิยมวาดรูปของ "เสินถู" และ "ยี่เหลย" ไว้บนบานประตูเพื่อปราบผี ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ถังเมื่อศตวรรษที่ ๗ จักรพรรดิหลี่ซื่อหมิน ทรงมีฝันร้ายอย่างต่อเนื่อง และมักได้ยินเสียงตะโกนของผีจนตกพระทัย จนไม่สามารถบรรทมได้ นายฉิน ซูเป่ากับนายเว่ย ฉือกง ซึ่งเป็นสองนายพลใหญ่ ของจักรพรรดิหลี่ซื่อหมิน จึงต้องไปถวายการเฝ้าคุ้มครองนอกห้องบรรทมตลอดทั้งคืน และช่วยจักรพรรดิหลี่ซื่อหมิน ให้สามารถบรรทมได้อย่างสงบสุขดังเดิม ต่อมาภายหลัง จักรพรรดิหลี่ซื่อหมินทรงมีพระบรมราชโองการให้ช่างเขียนรูปที่ทรงพลัง ของสองนายพลดังกล่าวขึ้น แล้วนำไปปิดไว้บริเวณเหนือประตู และตั้งชื่อให้ว่า "เหมินเสิน" หลังจากนั้น วิธีการนี้ได้ค่อยๆ แพร่หลายไปยังหมู่ชาวบ้านทั่วไป และได้ปรากฏภาพปิดประตู ที่มีเนื้อหาที่ต่างกันมากขึ้น ซึ่งก็คือเค้าเดิมของ "เหนียนฮว่า" นั่นเอง ในปัจจุบัน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง เทคนิคการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้เริ่มถูกนำมาใช้ผลิต "เหนียนฮว่า" ทำให้สามารถผลิต และจำหน่าย "เหนียนฮว่า" ได้เป็นจำนวนมาก และได้วิวัฒนาการมาอย่างคึกคักยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา


ท่านผู้ฟังครับ เวลาของรายการวัฒนธรรมจีนสำหรับวันนี้ใกล้หมดลงแล้ว ผมจะขอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ "เหนียนฮว่า" ต่อในวันอังคารหน้า โปรดติดตามรับฟังนะครับ

การส่ิงเจ้าขึ้นสวรรค์ฺ

ก่อนประมาณ 7 วัน ปีนี้วันที่ 17 มกราคม เราจะต้องทำการส่งเจ้ากลับสู่สรวงสรรค์ โดยจะต้องเปลี่ยนผ้าแดงที่กระถางธูปใหม่ โดยให้ดึงออกก่อน (วันปีใหม่ วันที่ 4 จึงจะปิดกลับคืน) หรือประเพณีไหว้เจ้าเตาไฟเดิมที่เรียกกัน พร้อมทั้งต้องเอา กิมฮวย(ภาษาแต้จิว) ออก จากกระถางธูปพร้อมกันด้วย กิมฮวยหรือขนนก จะต้องมีเด็ก 2 คน ชาย-หญิง เพื่อเป็นเด็กรับใช้เจ้าที่ ปัจจุบันเริ่มไม่มีเด็กรับใช้แล้ว ก่อนซื้อเลือกให้มีนะครับ

รูปภาพของ salyae

ภาพเขียนที่ใช้ปิด ในช่วงตรุษจีน(จบ)

คัดลอกมาจาก สถานีวิทยุ C.R.I. ปักกิ่ง ภาคภาษาไทย http://thai.cri.cn
โดยคุณยงเกียรติ ลู่ ในรายการ วัฒนธรรมจีน

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ ทุกวันคาร พบกับผม ยงเกียรติ ลู่ในรายการ วัฒนธรรมจีน ในรายการวัฒนธรรมครั้งที่แล้ว ผมได้แนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับภาพปิดในช่วงตรุษจีน หรือที่ชาวจีนทั่วไปเรียกกันว่า "เหนียนฮว่า" ค้างไว้ วันนี้ขอเล่าเรื่องนี้ต่อนะครับ

ในสมัยราชวงศ์ซ่งของจีน นอกจาก "เหนียนฮว่า" จะมีการผลิต และจำหน่ายเป็นปริมาณมากแล้ว ในด้านเนื้อหาของ "เหนียนฮว่า" นั้นก็ได้ขยายจากเนื้อหาเกี่ยวกับการสักการะบูชาธรรมชาติ กับเทวดาต่างๆ มาเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการขอพรให้ตัวเอง หรือญาติมิตรมีความสุข ความเป็นสิริมงคลและความร่าเริงหรรษา ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึก และความหวังของประชาชน ในระหว่างศตวรรษที่ ๑๔ ถึงศตวรรษที่ ๑๙ "เหนียนฮว่า" ของจีนได้พัฒนาไปถึงจุดสูงสุดของการผลิต "เหนียนฮว่า" ด้วยแม่พิมพ์ไม้

 

ได้เกิดรูปแบบที่แน่นอนขึ้น นั่นก็คือ วาดภาพ ขีดเส้น แกะสลักไม้ ทำแม่พิมพ์ ทำการพิมพ์ ใส่สีด้วยแรงคนและติดภาพ "เหนียนฮว่า" ยังได้ปรากฏรูปแบบอื่นอีกมากมาย เช่น ภาพ "เหมินเสิน" ที่แปลว่าเทพเจ้าเฝ้าประตูนั้น ก็แบ่งย่อยออกไปเป็นภาพที่ปิดประตูหน้าบ้าน ประตูใหญ่และประตูหลัง ส่วนเนื้อหาในการเล่าเรื่องหรือในภาพ "เหนียนฮว่า" นั้นก็ยิ่งมีหลากหลายมากขึ้น อาทิ นิทานประวัติศาสตร์ เทพนิยาย สุภาษิต พจนะ ที่อ้างอิงจากหนังสือประวัติศาสตร์และภูเขา แม่น้ำลำธาร ดอกไม้และหมู่วิหค เป็นต้น ซึ่งต่างก็นำมาใช้เสนอผ่านเนื้อหาของ "เหนียนฮว่า" ได้ ขณะเดียวกัน

 

ในจีนยังได้ปรากฏแหล่งผลิต "เหนียนฮว่า" พื้นเมืองด้วยแม่พิมพ์ไม้ขึ้นสี่แห่ง ซึ่งก็คือ หยางหลิ่วชินในเมืองเทียนสิน ทางภาคเหนือ หยางเจียปู้ในอำเภอเหวยมณฑลซานตุง ทางภาคตะวันออก เถาฮวาอูในเมืองซูโจว ทางภาคใต้ และจูเซียนเจิ้งในมณทลเหอหนาน ทางภาคกลางของจีน "เหนียนฮว่า" ที่ผลิตขึ้นในแหล่งผลิตทั้งสี่แห่งดังกล่าว

ซึ่งต่างก็มีเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ที่โดดเด่น อาทิ "เหนียนฮว่า" ของหยางหลิ่วชิน ซึ่งแลดูงามประณีตวิจิตรตระการตา "เหนียนฮว่า" ของเถาฮวาอูซึ่งแลดูโอ่อ่ารโหฐาน "เหนียนฮว่า" ของหยางเจียปู้ ซึ่งมีลวดลายที่มีลักษณะทรงพลัง และมีท่วงทำนองที่เรียบง่าย ในขณะเดียวกัน "เหนียนฮว่า" ของจูเซียนเจิ้ง มีสีสันที่เข้มข้น และเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของท้องถิ่น เป็นต้น

 

พร้อมๆกับการพัฒนาแห่งยุคสมัย ความเชื่อและความหมายที่งมงาย ที่เคยดำรงอยู่ในสมัยเริ่มแรกของ "เหนียนฮว่า" นั้นได้ค่อยๆหายไป นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา บรรดาศิลปิน "เหนียนฮว่า" ของจีนได้ประดิษฐ์คิดสร้างรูปแบบใหม่ของ "เหนียนฮว่า" และได้ถูกนำมาใช้สะท้อนชีวิตความเป็นจริง และเผยแพร่วิชาความรู้ อาทิ "เหนียนฮว่า" ชื่อ "กูซูรู๋ฮว่า" ที่แปลว่า "เมืองซูโจวงามดั่งภาพเขียน" ซึ่งได้รับรางวัล ในงานนิทรรศการภาพเขียนทั่วประเทศครั้งที่ 10 ของจีนนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพการผลิต และการดำรงชีวิตที่สงบสุขของเมืองซูโจว เมืองที่ได้สมญานามว่า

"แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำทางภาคใต้ของจีน" ส่วน "เหนียนฮว่า" ที่ชื่อ "ชุนหนวนเหรินเจีย" ที่แปลว่า "ฤดูใบไม้ผลิ นำความอบอุ่นใจมายังครอบครัวชาวนา" นั้นได้พรรณนาถึงเรื่องที่นายเติ้ง เสี่ยวผิง นักสร้างสรรค์ด้านการปฏิรูป และการเปิดประเทศของจีน ไปเป็นแขกของครอบครัวชาวนา และได้อุ้มเด็กอ้วนๆ ในชนบทขึ้นในอ้อมอกด้วยความเมตตาปราณี ซึ่ง "เหนียนฮว่า" ภาพนี้เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศอันร่าเริงสดใส และได้แสดงให้เห็นถึงจิตใจของบรรดาเกษตรกร จีนที่รู้สึกซาบซึ้งใจและขอบคุณนายเติ้งเสี่ยวผิง ผู้ที่นำวสันตฤดู แห่งการปฏิรูปมาให้แก่ชาวนาจีน

 

 

ท่านผู้ฟังครับ ทุกวันนี้ การพิมพ์และผลิต "เหนียนฮว่า" ของจีนได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ปริมาณการพิมพ์และจำหน่าย จึงมีมากมายมหาศาล กล่าวได้ว่า ตราบเท่าปัจจุบัน ยังไม่มีภาพเขียนชนิดใด ที่มีปริมาณการพิมพ์ออกจำหน่ายมากเทียบเท่า "เหนียนฮว่า" ได้ อีกทั้ง "เหนียนฮว่า" ยังได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ทำเป็นปฏิทินภาพแขวน และที่คั่นหนังสือ เป็นต้น เนื่องด้วย "เหนียนฮว่า" เป็นภาพล้อหรือการ์ตูนพื้นเมืองจีน ที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ จึงได้รับความนิยมชมชอบจากชาวโลกมากยิ่งขึ้นทุกวัน "เหนียนฮว่า" แม่พิมพ์ไม้จากแหล่งผลิตทั้งสี่แห่งของจีน ได้จำหน่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก มีปริมาณการผลิตต่อปีเกินกว่า ๑๐ ล้านภาพ


ท่านผู้ฟังครับ ที่จบลงคือบทแนะนำ "เหนียนฮว่า" ภาพปิดในช่วงตรุษจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปะพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของจีน ตอนจบ ผม ยงเกียรติ ลู่ดำเนินรายการ ต่อไปขอเชิญท่านฟังข่าววัฒนธรรมที่จัดเสนอโดยคุณมนตรี เหลยครับ

รูปภาพของ salyae

สิ่งตกแต่งตรุษจีน

 สิ่งตกแต่งฉลองตรุษจีน

คัดลอกมาจาก สถานีวิทยุ C.R.I. ปักกิ่ง ภาคภาษาไทย http://thai.cri.cn

ยังคงอยู่ในระหว่างช่วงแห่งเทศกาลตรุษจีนที่ยังคงมีบรรยากาศแห่งความเป็นสิริมงคลและความสนุกสนานครึกครื้นนะคะ ตามบ้านเรือนต่างๆ ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้านล้วนเต็มไปด้วยสิ่งตกแต่งฉลองตรุษจีนที่เป็นสีแดงสดซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในเทศกาลตรุษจีน รายการวันนี้ดิฉันขอเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งตกแต่งฉลองตรุษจีนให้ทราบค่ะ

ท่านผู้ฟังคะ ที่ประเทศจีน พอถึงเทศกาลตรุษจีน คนจีนมักจะตกแต่งฉลองด้วยการแขวนโคมไฟตัวใหญ่สีแดงสดหน้าประตูบ้าน หรือภายในอาคาร ปิดตัวหนังสือ "ฮก" ไว้บนบานประตู ปิดภาพทวารบาล ปิดโคลงคู่ตามกรอบประตูบ้าน และปิดภาพวาดฉลองตรุษจีนในห้องรับแขก นอกจากนี้ ยังมีการปิดกระดาษตัด และกระดาษแก้วตัดประดับหน้าต่าง เป็นต้น ประเพณีดังกล่าวมีความเป็นมาตามการเล่าขานกันดังนี้


เล่ากันว่า แถบทะเลตงไห่มีภูเขาแสนสวยงามลูกหนึ่งเรียกว่า ภูเขาเมืองท้อ บนภูเขาแห่งนี้มีต้นท้อต้นใหญ่ต้นหนึ่ง กิ่งก้านของต้นท้อที่ห้อยลงมาดูเหมือนเป็นประตูบานใหญ่ ภูตผีปีศาจต่างๆ ที่อยู่บนภูเขาดังกล่าวเวลาลงจากภูเขา ก็ต้องผ่านประตูดังกล่าว แต่ก็ผ่านยาก เพราะว่ามีนักรบเทพยดาสององค์ เป็นยามเฝ้าประตูอยู่เพื่อ ไม่ให้ภูตผีปีศาจเล็ดลอดออกไปก่อกวนโลกมนุษย์ นักรบเทพยดาสององค์ดังกล่าวมีพระนามว่า "เซินซู" และ "ยวี่ลวี่" หากผีตนใดตนหนึ่งถูกนักรบเทพยดาสจับได้ ก็จะถูกมัดตัวส่งไปให้เป็นอาหารอันโอชะของเสือ ฉะนั้น ภูตผีปีศาจทั้งหลาย จึงล้วนมีความหวาดกลัวนักรบเทพยดาสององค์นี้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนจึงวาดภาพ หรือเขียนพระนามของนักรบเทพยดาสององค์ดังกล่าว บนแผ่นป้ายที่ทำด้วยไม้ต้นท้อสองแผ่น แล้วนำไปแขวนไว้สองข้างประตู เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากบ้านไป แผ่นป้ายที่ทำด้วยไม้ท้อสองแผ่นนี้เรียกว่าเป็น "ยันต์ท้อ"

 


 

 

 ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ถางเมื่อศตวรรษที่ 7 นักรบเทพยดาสององค์บนยันต์ท้อ ถูกเปลี่ยนมาเป็นขุนศึกสองนายในโลกมนุษย์ ได้แก่ ฉินซูเป่าและเว่ยฉือก้ง เรื่องมีว่า กษัตริย์ถางไท่จงเคยทรงพระสุบินว่ามีปีศาจร้องโฮๆ อยู่นอกพระราชวังบ่อยๆ พระองค์จึงบรรทมไม่ค่อยหลับ ฉินซูเป่าและเว่ยฉือก้งซึ่งเป็นพระราชองครักษ์ จึงไปเฝ้าประตูพระราชวังให้กับกษัตริย์ถางไท่จง โดยถืออาวุธในมือเพื่อขับไล่ปีศาจ หลังจากนั้น ปรากฏว่า กษัตริย์ถางไท่จง สามารถเข้าบรรทมได้อย่างสงบ อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่อยากให้พระราชองครักษ์สองนายดังกล่าวต้องถวายการเฝ้าประตูทุกคืน จึงสั่งการให้วาดภาพอันองอาจกล้าหาญ ขององครักษ์สองนายดังกล่าว แล้วนำไปปิดที่ประตูพระราชวังเพื่อสยบภูตผีปีศาจต่างๆ เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยออกไป ชาวบ้านก็เอาเยี่ยงอย่างโดยนำภาพวาดของฉินซูเป่า และเว่ยฉือก้ง ไปปิดไว้ที่ประตูเช่นกัน และเรียกสองคนดังกล่าวว่าเป็น "ทวารบาล"

 


 

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ซุ่ง ก็มีภาพวาดฉลองตรุษจีนปรากฏขึ้นมา คือ พอถึงเทศกาลตรุษจีนก็จะนำภาพวาดฉลองตรุษจีนนั้นไปปิดไว้บนบานประตูหรือในห้อง โดยจะไม่เปลี่ยนจนกว่าตรุษจีนครั้งต่อไป คือ เปลี่ยนกันปีละครั้ง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ภาพวาดแห่งปี" ประเด็นของภาพวาดฉลองตรุษจีนนั้น ส่วนใหญ่จะสื่อในทางสิริมงคล ตัวอย่างเช่น ภาพไตรเทพยดา "ฮก ลก ซิ่ว" ซึ่งเป็นภาพที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากเทพยดาสามองค์ดังกล่าว เป็นสัญลักษณ์แห่งบุญวาสนา ความมั่งคั่งและอายุยืน นอกจากนี้ ยังมีภาพที่ชาวจีนนิยมกันมากที่สุดอีกภาพหนึ่งคือ "เด็กจ้ำม้ำอุ้มปลาหลีฮื้อ" เนื่องจากคำว่าปลาในภาษาจีนพ้องจองกับคำว่า "เหลือ" ภาพนี้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่ง "การเหลือกินเหลือใช้ทุกๆ ปี"

 



ครั้นถึงราวศตวรรษที่ 10 "ยันต์ท้อ" ซึ่งประกอบด้วยแผ่นป้ายที่ทำด้วยไม้ท้อสองแผ่น ก็ได้พัฒนามาเป็นโคลงคู่ตรุษจีน โคลงคู่ตรุษจีน จะเป็นกาพย์กลอนประเภทคำอวยพร และความปรารถนาดีๆ ในรอบปีใหม่

 


ท่านผู้ฟังคะ ที่กล่าวมานั้นเป็นสิ่งตกแต่งต่างๆ ที่ใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน สิ่งที่น่าสนใจคือ ของตกแต่งเหล่านี้ล้วนเป็นสีแดงสด ที่แสดงถึงความร้อนแรง และความครึกครื้น ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นถึง "ความร้อนดั่งไฟ" "ความเป็นสิริมงคล" และ "ความผาสุข" ที่ชาวจีนนิยมกันมานับร้อยนับพันปี
 


 

รูปภาพของ มงคล

การปัดกวาดก่อนตรุษจีน

หลังจากพิธีไหว้ส่งเจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์แล้ว จึงจะเริ่มเตรียมตัวต้อนรับปีใหม่ ชาวจีนเรียกช่วงเวลาตั้งแต่ วันที่ 23 เดือน 12 จนถึงวันสิ้นปีตามปฏิทินจันทรคติว่า ‘วันแห่งการต้อนรับปีใหม่’ หรือ ‘วันแห่งการปัดกวาด’ ซึ่งถือเป็นการทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ทางเหนือของจีนเรียกว่า 扫房(ส่าวฝัง) ทางใต้เรียกว่า 掸尘 (ตั่นเฉิน) การปัดกวาดก่อนวันตรุษจีนเป็นประเพณีนิยมอย่างหนึ่งของชาวจีน ก่อนวันตรุษ จีนของทุกปี ทุกบ้านทุกครอบครัวจะทำความสะอาดบริเวณบ้านของตนเอง ขัดล้างข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซักล้างที่หลับที่นอน เก็บกวาดเช็ดถูทุกกระเบียดนิ้วในบ้าน ปัดฝุ่นกวาดหยากไย่ ขุดลอกคูคลองต่างๆ ทั่วทุกหนแห่งเต็มไปด้วยบรรยากาศการต้อนรับปีใหม่ที่สนุกสนานชื่นบาน


สมัยก่อนมีนิทานแปลกๆเกี่ยวกับการปัดกวาดอยู่เรื่องหนึ่ง เล่าว่าคนโบราณเชื่อว่าตามร่างกายของคนเรามีเทพอาศัยอยู่ เรียกว่า เทพซานซือ (三尸神) เป็นเทพสามองค์ องค์หนึ่งอยู่ที่หัว องค์หนึ่งอยู่ที่ท้อง อีกองค์อยู่ที่เท้า เทพสามองค์นี้เป็นเหมือนเงาตามตัวของมนุษย์ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่สามารถสลัดหลุดได้ เทพซานซือเป็นเทพที่ขี้ประจบประแจง แต่มักนินทาว่าร้ายมนุษย์อยู่เป็นนิจ เพ็ดทูลแต่เรื่องร้ายๆของมนุษย์ต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ นานวันเข้าจนเง็กเซียนฮ่องเต้หลงเชื่อว่า โลกของพวกมนุษย์เต็มไปด้วยความสกปรกโสมมอย่างมาก

มีครั้งหนึ่ง เทพซานซือได้เพ็ดทูลว่า มนุษย์นั้นสาปแช่งพระองค์อยู่ และมีแผนล้มล้างบัลลังก์สวรรค์อย่างลับๆ เง็กเซียนฮ่องเต้โกรธมาก สั่งให้ตรวจสอบเรื่องราวการกระทำผิดของมนุษย์ดังกล่าวให้ชัดเจนโดยเร็ว โดยให้แมงมุมชักใยเป็นเครื่องหมายไว้ที่ใต้หลังคาบ้านของมนุษย์ที่โกรธแค้นหรือไม่เคารพเหล่าทวยเทพ และยังมอบหมายให้เทพหวังหลิงกวาน (王灵官)มายังโลกมนุษย์ในคืนสิ้นปี หากพบเจอสัญลักษณ์ที่บ้านของใคร ก็ให้ประหารคนในบ้านทั้งหมด

เทพซานซือเห็นว่าแผนการดูจะเป็นไปตามที่คิด จึงรีบฉวยโอกาสลงมายังโลกมนุษย์ ทำใยแมงมุมปกคลุมที่มุมบ้านทุกหลัง ไม่ว่าจะทำผิดหรือไม่ก็ตาม เพื่อที่จะได้ถูกเทพหวังหลิงกวานประหารไปเสียให้สิ้นซาก เจ้าเตาไฟรู้ถึงแผนการชั่วนี้ จึงรีบหาทางรับมือ ได้มาวิธีหนึ่งก็คือ ในช่วงเวลาที่เจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์ไปเข้าเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ (ตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 จนถึงวันสิ้นปีตามปฏิทินจันทรคติ)จนถึงก่อนเจ้าเตาไฟจะกลับมา มนุษย์ทุกคนต้องปัดกวาดบ้านช่องให้สะอาด ไม่ให้มีแม้แต่ฝุ่น ไม่อย่างนั้นเจ้าเตาไฟจะไม่เข้าบ้านเด็ดขาด มนุษย์ทุกคนทำตามคำของเจ้าเตาไฟอย่างดี ทำความสะอาดบ้านจนใหม่เอี่ยม

พอถึงเวลาที่เทพหวังหลิงกวานลงมาตรวจสอบ ก็พบบ้านช่องของมนุษย์ล้วนสะอาดสะอ้านสวยงาม ผู้คนต่างยิ้มแย้มมีความสุข และไม่พบเครื่องหมายที่แสดงถึงพฤติกรรมอันชั่วร้ายเลย จึงรีบกลับสวรรค์ นำเรื่องที่มนุษย์พร่ำภาวนาให้ปีใหม่มีแต่ความสุขความเจริญ ขึ้นไปรายงานต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ เมื่อพระองค์ทราบเรื่องก็โกรธเทพซานซือจนตัวสั่น สั่งให้จับตัวมาลงโทษและส่งไปขังไว้ที่คุกสวรรค์ตลอดกาล เคราะห์ร้ายของมนุษย์ครั้งนี้ ดีที่มีเจ้าเตาไฟช่วยไว้จึงรอดพ้นมาได้ เพื่อตอบแทนบุญคุณนี้ หลังจากส่งเจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์ ผู้คนจึงเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือนของตนจวบจนถึงคืนวันสิ้นปี

ในคัมภีร์หลี่ซื่อชุนชิวบันทึกไว้ว่า ธรรมเนียมการปัดกวาดนี้ มีมาตั้งแต่ยุคเจ้าซุ่นเจ้าเหยา(เจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามในตำนานโบราณของจีน)แล้ว ถือเป็นการปัดกวาดโชคร้าย เคราะห์ภัยต่างๆ ออกจากบ้านไป เพราะคำว่า 尘 (เฉิน)ที่แปลว่าฝุ่นผงนั้น มีเสียงอ่านตรงกันกับ 陈ที่แปลว่าเก่า จึงมีนัยยะของการ “ขจัดสิ่งเก่าๆ และทดแทนด้วยสิ่งใหม่”.

คัดลอกมาจากhttp://www.manager.co.th/China/
รูปภาพของ ท้ายแถว

เทศกาลตรุษจีน

เทศกาลตรุษจีนกล่าวกันว่า เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคนั้นมีสัตว์ร้ายชื่อว่า “เหนียน” 年 nián ซึ่งจะปรากฏตัวปีละครั้งในคืนสิ้นสุดฤดูหนาว เพื่อโจมตีชาวบ้าน และทำลายพืชผลการเกษตร ต่อมาชาวบ้านได้ค้นพบว่า เจ้าสัตว์ร้ายตัวนี้กลัวเสียงดัง แสงสว่าง และสีแดง พวกเขาจึงประดับประดาบ้านของตนด้วยดวงไฟจนสว่างไสว ทาสีสิ่งของต่างๆ เป็นสีแดง ตีกลองและฆ้อง จุดประทัด และเชิดสิงโต "เหนียน" จึงถูกพิชิตลงได้ ประเพณีเฉลิมฉลองนี้จึงถูกเรียกกันว่า “กั้ว เหนียน” 过年 guò nián ซึ่งนอกจากจะหมายถึง การก้าวข้ามสู่ปีใหม่แล้วยังมีนัยถึง การพิชิตเหนียนลงได้

งานฉลองตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่ วันก่อนปีใหม่หนึ่งวัน และกินเวลายาวนานถึง 15 วัน (ราชการจีนหยุด 7 วัน) เทศกาลนี้นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ถือเคล็ดกันว่า ทุกสิ่งในชีวิตควรจะเป็นของใหม่ทั้งหมด เพื่อนำพาโชคลาภ และต้อนรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิต เช่น ตัดผมใหม่ สวมเสื้อผ้าใหม่ ผู้คนจะซื้อของขวัญเพื่อไปเยี่ยมเยียนญาติมิตร

ก่อนวันปีใหม่ชาวจีนจะทำความสะอาดบ้านเรือน และตกแต่งบ้านให้สวยงาม ด้วยผลไม้และสิ่งของที่เป็นศิริมงคล และแปะคำกลอนคู่และภาพมงคล ที่ทำจากกระดาษแดง ที่หมายถึงความสุข ความเจริญรุ่งเรืองและชีวิตที่ยืนยาว     

ธรรมเนียมหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การรับประทานอาหารด้วยกันทั้งครอบครัวในคืนส่งท้ายปีเก่า ซึ่งประเพณีของภาคใต้ จะมีกับข้าวมงคลคือเต้าหู้และปลา เพราะว่า “เต้าหู้” และ “ปลา” นั้นออกเสียงพ้องเสียงกับคำว่า “ฟู่ยู่” 富裕 fùyù ซึ่งมีความหมายว่ามั่งคั่งร่ำรวย  ส่วนทางภาคเหนือ ในคืนส่งท้ายปีเก่า ทุกคนในครอบครัวจะห่อเกี๊ยว แล้วทานด้วยกันตอนเที่ยงคืนวันสิ้นปี อันถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านสู่ปีใหม่อันเป็นมงคล

คนหนุ่มสาวและเด็กๆ จะได้รับ “ยา สุ้ย เฉียน” 压岁钱 yā shuì qián หรือ “หงเปา” 红包 hóngbāo หรือเงินแต๊ะเอียที่เรารู้จักกันดีจากญาติผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการอวยพรให้โชคดี มีความสุข

ในวันปีใหม่ ทุกคนจะพูดแต่สิ่งดีๆ ที่เป็นศิริมงคล จะพากันไปอวยพรผู้ใหญ่ที่ตนเคารพ เจอหน้าใครก็จะอวยพรให้มีความสุขด้วยคำว่า “กงสี่ กงสี่” 恭喜 gōng xǐ แต่ละบ้านจะต้อนรับแขกด้วยขนมและของหวาน โดยเฉพาะขนมถ้วยฟู หรือ “เหนียน เกา” 年糕 nián gāo ซึ่งมีความหมายเป็นมงคล โดยหมายถึง “โตขึ้น” และ “เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน”

 

คัดลอกมาจาก http://www.nanmee.com/th/tell_03_detail.php?id=85 

รูปภาพของ ฉินเทียน

春节大扫除! spring-cleaning

 春节大扫除! spring-cleaning    除尘 chú chén  
“Dust” is homophonic with “chen”(尘)in Chinese, which means old and past. In this way, “sweeping the dust” before   the Spring Festival means a thorough cleaning of houses to sweep away bad luck in the past year. This custom shows a good wish of putting away old things to welcome a new life. In a word, just before the Spring Festival comes, every household will give a thorough cleaning to bid farewell to the old year and usher in the new.TouchChinese

 

 
[email protected]    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal