หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

รู้เรื่อง เมืองมังกร 6---จีนภาคตะวันตก 3-"หยุนหนาน" มณฑลมหัศจรรย์(ตอนที่1)

รูปภาพของ YupSinFa2

 

ทุกท่านครับ ขอบพระคุณทุกท่านที่ได้กรุณาติดตามซีรี่ส์ รู้เรื่องเมืองมังกร ชุด "จีนปัจจุบัน" ซึ่งได้มาถึงช่วงมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน ตอน "หยุนหนาน" มณฑลมหัศจรรย์

ที่่ไหง(ผม)กล่าวว่า หยุนหนาน เป็นมณฑลมหัศจรรย์ นั้น ไม่น่าจะผิดไปจากความเป็นจริง ครับ เพราะมีเหตุ และปัจจัยที่สนับสนุน ความมหัศจรรย์ของมณฑลหยุนหนาน นี้ หลายข้อ ดังนี้ ครับ

1. มณฑลหยุนหนาน เป็นดินแดนตะวันตกเฉียงใต้สุดของประเทศจีน อันไกลโพ้นจากนครหลวงปักกิ่ง

2. มณฑลหยุนหนานในอดีตกาลนานโ้พ้น มิได้เป็นแหล่งอาศัยของชาวจีนฮั่น และชาวจีนฮั่นเพิ่งถูกส่งเข้ามาอยู่ในมณฑลหยุนหนานอย่างเป็นกิจจะลักษณะเมื่อไม่เกิน 1 พันปี ที่ผ่านมานี้เอง

3. มณฑลหยุนหนาน เป็นมณฑลที่มีชนชาติส่วนน้อยอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศจีน ถึง 26 ชนชาติ จากชนชาติส่วนน้อยทั้งหมดในประเทศจีน 55 ชนชาติ รวมชนชาติฮั่น ก็จะีเป็น ทั้งหมด 27 ชนชาติ

4. มณฑลหยุนหนาน เป็นมณฑลที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดในประเทศจีน

5. มณฑลหยุนหนาน เป็นดินแดนที่แสนสวยงามดั่งเทพนิยาย และมีสภาพพื้นที่ ครบทุกอย่าง ทั้งป่าเขตร้อนชื้น ป่าดิบ ป่าสน ภูเขาหิมะ และทุ่งหญ้าสวันนา

เมื่อทุกท่านเห็นความมหัศจรรย์ของมณฑลหยุนหนาน ที่คนไทยชอบเรียก ยูนนาน นี้แล้ว ตามไหง มาชมความงดงามและมหัศจรรย์ของมณฑลหยุนหนานกันได้เลยครับ

รูปแผนที่ของมณฑลหยุนหนาน มีความสวยงามแปลกตา ชาวจีนต่างเรียกว่า แผนที่ของมณฑลหยุนหนานเป็นรูปแม่ไก่ตัวอ้วนโดยมีหัว เท้า และหาง สังเกตดี ดี ก็พลอยคิดว่า ใช่ ไปกับเขา ไหมครับ

มณฑลหยุนหนาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้สุดของประเทศจีน

ทิศเหนือ ติดมณฑลซื่อชวน(เสฉวน) และเขตปกครองตนเองธิเบต

ทิศตะวันออก ติดมณฑลกุ้ยโจว และเขตปกครองตนเองจ้วง กว่างซี

ทิศตะวันตก ติดประเทศอินเดีย และ พม่า

ทิศใต้ ติดประเทศลาว และ เวียตนาม และ เกือบติดประเทศไทย

มณฑลหยุนหนาน ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงราย ของไทย ทางแม่น้ำโขงเพียง เกือบ 200 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย บนทางหลวงสาย คุน-มั่น กงลู่ หรือ R3a (ทางหลวงเอเชียสายคุนหมิง-กรุงเทพ) เพียง 225 กิโลเมตร เท่ากับว่า เดินทางจากประเทศไทย ไปถึงประเทศจีน ที่ชายแดนบ่อหาน เมืองล่า แคว้นสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้เวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมง (เป็นอย่างเร็ว)

มณฑลหยุนหนาน แบ่งการปกครองออกเป็น 16 เขต หรือ 16 เมือง หรือ บางเขต ก็จะเรียกว่า แคว้น แล้วแต่จะเรียก ซึ่งในอดีต จะเรียกแต่ละเขต แต่ละเมืองไม่เหมือนกัน ฟังแล้วสับสนวุ่นวาย เช่น แคว้นปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา แคว้นปกครองตนเองชนชาติไตเต๋อหง เขตนครคุนหมิง เมืองจาวทง ฯลฯ

แต่ละเขต แต่ละแคว้น ก็จะแบ่งออกไปเป็นอำเภอ เป็นอำเภอระดับเมือง เป็นอำเภอปกครองตนเอง ตำบลปกครองตนเอง หมู่บ้านปกครองตนเองชนชาติ........

แต่ในปัจจุบัน ตามการพัฒนาและสภาพทางการเมือง ทุกวันนี้ การแบ่งเขตปกครอง ได้มีความทันสมัยในการเรียกชื่อ จึงเรียกง่าย ๆ ว่า เขต หรือ เมือง และแคว้น ซึ่งถ้าจะพูดง่าย ๆ ก็คือ แบ่งเป็นจังหวัดต่าง ๆ นั่นเอง แต่ในความแตกต่างในประเทศจีน ที่ไม่เหมือนเมืองไทย ก็คือ ในเขตต่าง ๆ นั้น อาจจะมีเมืองใหญ่ ๆ ที่มีความเจริญ ซ้อนอยู่ในตัวเขต หรือตัวจังหวัด ทำให้คนที่ไม่เข้าใจ อาจจะคิดว่า เมืองใหญ่ในแต่ละเขตนั้น แยกออกจากกันเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน อย่างนี้ไม่ใช่ครับ คือพูดง่าย ๆ คล้ายกับว่า ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดใหญ่ ที่มีความเจริญ จึงมีอำเภอที่มีความเจริญ และแต่ละอำเภอ เป็น เทศบาลเมือง เทศบาลนคร คล้ายกันอย่างนี้ ครับ

มณฑลหยุนหนาน เ็ป็นดินแดนแผ่นดินจีน ที่ไหง ไปมา บ่อยมากที่สุด และมีสำนักงานอยู่ที่นั่น เนื่องเพราะอยู่ใกล้กับเชียงราย เชียงใหม่ บ้านของไหง่ บางครั้ง ในวันเดียว เดินทางจากเชียงราย ไป แล้วก็กลับ จนเดี๋ยวนี้ มีความคิดว่า ไปมณฑลหยุนหนาน เหมือนกับเดินทางไปต่างจังหวัด อย่างไงยังงั้นเลยละครับ

เช่นเดียวกัน จากเชียงใหม่ ไปคุนหมิง ก็มีความคิดเหมือนกับว่า ออกเชียงใหม่ ไปกรุงเทพ เช่นกันครับ

ดังนั้น มณฑลหยุนหนาน จึงเป็นมณฑลที่ไหงคุ้นเคย และไปมาเกือบทั่วทั้งมณฑล ขาดเพียงไม่กี่เขต เท่านั้น ที่ยังไปไม่ถึง เรียกได้ว่า นั่งรถจากใต้สุดของมณฑล ไปยังเหนือสุดของมณฑล ติดกับเสฉวน ไป-กลับ ไป-กลับ เลยละครับ

16 เขต ของมณฑลหยุนหนาน มีดังนี้

1. เขตนครคุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑล

2. เขตจาวทง มีเมืองจาวทง เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของมณฑล ติดกับ มณฑลซื่อชวน โดยมีแม่น้ำจินซาเจียง(แม่น้ำฉางเจียง)กั้นอยู่ และจุดนี้ เป็นจุดแรกในประเทศจีน ที่เ่ีรียกแม่น้ำจินซาเจียงว่า แม่น้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง)

แม่น้ำฉางเจียงที่อยู่ในเขตมณฑลหยุนหนานชาวจีนเรียกว่าแม่น้ำจินซาเจียง แปลว่า "แม่น้ำทรายทอง" เหตุเป็นเพราะว่าสีของแม่น้ำเป็นสีทอง เมื่อไหลเข้าเขตมณฑลซื่อชวน สีของแม่น้ำจึงเปลี่ยนเป็นสีเขียว

3. เขตจงเตี้ยนหรือเขตเต๋อชิ่ง มีเมืองสวรรค์ "เชียงเก๋อหลี่ล่า" หรือแชงกรีล่า เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของมณฑล

4. เขตนู่เจียง มีเมืองฮู่สุ่ย เป็นเมืองเอก นู่เจียงอยู่ตะวันตกสุดของมณฑลหยุนหนาน ติดกับประเทศพม่า นู่เจียง คือแม่น้ำสาละวินนั่นเอง

5. เขตลี่เจียง มีเมืองลี่เจียง เป็นเมืองเอก

6. เขตเป่าซาน มีเมืองเป่าซาน เป็นเมืองเอก เป่าซานอยู่ติดกับประเทศพม่าเช่นกัน

7. เขตเต๋อหง มีเมืองหมังซื่อ เป็นเมืองเอก เต๋อหง ในอดีต ใช้ชื่อว่าแคว้นปกครองตนเองชนชาติไต เต๋อหง หรือไต้คง ปัจจุบันเรียก เขตเต๋อหง ที่นี่มีพี่น้องชาวไทใหญ่ อาศัยอยู่ เป็นคนละไต กับสิบสองปันนา ซึ่งที่นั่นเป็นพี่น้องไทลื้อ เต๋อหง อยู่ติดกับรัฐฉานเหนือ ของพม่า

8. เขตต้าหลี่ มีเมืองต้าหลี่ เป็นเมืองเอก ต้าหลี่ อดีตเรียกว่า แคว้นปกครองตนเองชนชาติไป๋ แห่งต้าหลี่ ปัจจุบันตัดคำเยิ่นเย้อไม่จำเป็นออกไปเหมือนแคว้นอื่น ๆ จึงเรียกเพียง เขตต้าหลี่ แต่อย่างเดียว เหมือน เต๋อหง และ จิ่งหง(สิบสองปันนา)

9. เขตจิ่งหง มีเมืองจิ่งหง เป็นเมืองเอก อดีตเรียกว่า แคว้นปกครองตนเองชนชาติไต แห่งซีซวงป่านน่า (สิบสองปันนา) เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองและการเรียกที่ง่าย ปัจจุบัน จึีงเรียกว่า เขตจิ่งหง อย่างเป็นทางการ อยู่ทิศใต้สุดของมณฑลติดประเทศพม่าและลาว

10. เขตผูเอ่อร์ มีเมืองผูเอ่อร์ เป็นเมืองเอก เขตนี้ ในอดีตเรียกว่า เขตซือเหมา แต่เปลี่ยนชื่อเป็นเขตผูเอ่อร์ เนื่องจากผลิตชา ชื่อ ชาผูเอ่อร์จนโด่งดังไปทั่วประเทศจีนและทั่วโลก จึงเปลี่ยนชื่อเขตจาก ซือเหมา มาเป็นเขตผูเอ่อร์ไปเสียเลย (ทั้ง ๆ ที่จุดกำเนิดของชาผูเอ่อร์ อยู่ในเมืองฮาย เขตจิ่งหง สิบสองปันนา แต่ไปผลิตมากที่สุดที่ ซือเหมา)

11. เขตอวี้ซี มีเมืองอวี้ซี เป็นเมืองเอก

12. เขตหลินชาง มีเมืองหลินชาง เป็นเมืองเอก

13. เขตฉู่สง มีเมืองฉู่สง เป็นเมืองเอก เขตนี้เคยเป็นถิ่นอาศัยที่มากมายของบรรดาไดโนเสาร์ ในยุคจูราสสิค มากที่สุดในประเทศจีน

14. เขตเหวินซาน มีเมืองเหวินซาน เป็นเมืองเอก เขตนี้อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑล ติดกับประเทศเวียตนาม และกว่างซี

15. เขตฉวี่จิ้ง มีเมืองฉวี่จิ้ง เป็นเมืองเอก เขตนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของมณฑล อยู่ติดกับมณฑลกุ้ยโจว

16. เขตหงเหอ มีเมืองหงเหอ เป็นเมืองเอก เขตนี้อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑล ติดกับประเทศลาวและเวียตนาม

มณฑลหยุนหนาน เป็นมณฑลที่อยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุดของประเทศจีน เป็น 1 ใน 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยมี ประเทศ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียตนาม โดยหยุนหนานเป็นตัวแทนของประเทศจีน เพราะเป็นจุดแรกที่แม่น้ำโขงไหลผ่านมาจากชิงไห่-ธิเบต แล้วเข้าหยุนหนานซึ่งเป็นมณฑลที่ติดกับอาเซี่ยน (ความคิดเห็นส่วนตัว ของไหง่ ดีไม่ดี หากมณฑลหยุนหนาน ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลปักกิ่ง หรือได้รับการยกระดับให้เป็นเขตปกครองพิเศษ จากคุณสมบัตินี้ มณฑลหยุนหนาน สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนได้ ทันที)

สาเหตุที่ไหงให้ข้อมูลของมณฑลหยุนหนานแก่พวกเรามากที่สุด เป็นเพราะว่า

1. มณฑลหยุนหนาน อยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด เราจึงควรรู้เรื่องมณฑลหยุนหนานมากที่สุด

2. มณฑลหยุนหนาน เป็นมณฑลที่มีพี่น้องชนชาติในกลุ่มไท-ไต ซึ่งเป็นญาติสนิทของเรา สามารถพูด-ฟัง ภาษากันรู้เรื่อง อาศัยอยู่หลายกลุ่ม ไต เราจึงควรรู้เรื่องมณฑลหยุนหนานมากที่สุด

3. มณฑลหยุนหนานเป็นมณฑลที่มีความสำคัญทางด้านการท่องเที่ยว และเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยในด้านการท่องเที่ยวมากที่สุด แต่ยังถือว่า เรารู้จักสถานที่ท่องเที่ยวในมณฑลหยุนหนานเพียงไม่ีกี่แห่ง จากแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวที่มีทั่วทั้งมณฑล ดังนั้น เราจึงควรรู้เรื่องมณฑลหยุนหนานมากที่สุด

4. มณฑลหยุนหนาน อยู่ใกล้ไทยมากที่สุด มีความเกี่ยวดองด้านการค้าขาย และเป็นเส้นทางผ่านไปยังมณฑลต่าง ๆ ทางภาคตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การค้าขายของประเทศไทย ไปสู่จีนตะวันตก ดังนั้น เราจึงควรรู้เรื่องมณฑลหยุนหนานมากที่สุด และ

5.ไหงมีความใกล้ชิดสนิทสนมและคุ้นเคยไป-มา หยุนหนานบ่อยที่สุดและรู้เรื่องหยุนหนานมากที่สุด (ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้า เครือข่ายธุรกิจ ฯลฯ) ไหงจึง นำเสนอมณฑลหยุนหนาน ได้ละเอียดที่สุด อิอิอิ.

 

จุดท่องเที่ยวที่สำคัญระดับท้อปของมณฑลหยุนหนาน จะเห็นว่ามีแชงกรีล่า เมืองโบราณลี่เจียง เมืองโบราณต้าหลี่ ป่าหินแห่งนครคุนหมิง และเมืองจิ่งหง สิบสองปันนา แต่่ช้าก่อนครับ ท่านทั้งหลาย เดี๋ยวไหงจะพาทุกท่านไปเข้าถึงแหล่งสวยงามตามธรรมชาติ และวัฒนธรรม ที่ทุกท่านยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ตามไหง่มากันเลยครับ

 

เริ่มต้นจากนครคุนหมิงก่อนเลยนะครับ ในภาพเป็นแผนที่แสดงเขตเมืองคุนหมิง และพื้นที่ในการปกครองทั้งหมด นครคุนหมิง ตั้งอยู่บนที่ราบสูงท่ามกลางภูเขาสูงล้อมรอบทั้งสี่ทิศ ความสูงของนครคุนหมิง อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลสองพันกว่าเมตร หรือ พอ ๆ กับยอดดอยอินทนนท์ ของบ้านเรา

คุนหมิง ยังตั้งอยู่ติดกับทะเลสาบเตียนฉือ อันเป็นทะเลสาบธรรมชาติ ขนาดใหญ่ หนึ่ง ใน สอง ของมณฑลหยุนหนาน อีกแห่งหนึ่ง คือ ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ แห่งแคว้นต้าหลี่ ซึ่งทะเลสาบทั้งสองมีขนาดพอ ๆ กัน

ภาพนี้แสดงเส้นทางจากนครคุนหมิงไปยังเมืองต่าง ๆ ภายในมณฑลหยุนหนาน

ตรงกลางจุดที่เป็นดาวสีแดงคือนครคุนหมิง ภาพนี้เป็นการแสดงเส้นทางหลวงเชื่อมไปยังภาคต่าง ๆ ของหยุนหนาน

ชานนครคุนหมิง ภาพนี้เป็นถนนที่เดินทางไปยังท่าอากาศยานนครคุนหมิง เดิม เวลานี้ นครคุนหมิงเพิ่งเปิดทำการท่าอากาศยานนานาชาติคุนหมิง แห่งใหม่ เมื่อ วันที่ 28 มิถุนายน 2555 ไม่กี่วันมานี้เอง สนามบินคุนหมิง มีเครื่้องบินขึ้น-ลง ทุกนาที เหมือนท่าอากาศสุวรรณภูมิของเรา ในภาพ ด้านขวามือสังเกตให้ดีจะเห็นเป็นอาคารแบบไทยเรา นั่นคือโรงแรมและภัตตาคารอาหารไทย ในคุนหมิง

ประตูเมืองเก่าคุนหมิง ย่านจินหม่าปี้จื้อฝ่าง ซึ่งปัจจุบัน กลายเป็นย่านเศรษฐกิจศูนย์การค้าใหญ่ ใจกลางนครคุนหมิง เหมือนกับย่้านราชประสงค์ของบ้านเรา

ประตูจินหม่า หรือม้าทอง แลนด์มาร์คกลางใจเมืองคุนหมิง

เปรียบเทียบกับในสมัยโบราณ

จตุรัสจินปี้ "จินปี้กว๋างฉ่าง"

 

นครคุนหมิง มีฉายาว่า เมืองแห่งสวนดอกไม้ และ เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากคุนหมิง เต็มไปด้วยสวนดอกไม้ และมีอากาศอบอุ่นตลอดปี ฝนตกชุกในฤดูฝน อากาศร้อนในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม นอกนั้น อากาศเย็นสบาย และหนาวจัด ราว ๆ 2-10 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาว คือไม่ถึงกับมีหิมะตก

คุนหมิงเป็นเมืองที่ไหง่ชื่นชอบมากที่สุดในประเทศจีน เพราะการจราจรไม่หนาแน่น เมืองไม่แออัด ค่าครองชีพถูก รถไม่ติด เมืองสวยงาม น่าอยู่ ตัวนคุนหมิงมีขนาดราว ๆ 1 ใน 3 ของกรุงเทพมหานคร

ภายในปี 2012 นี้ นครคุนหมิง จะมีรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส(เรียกให้เห็นภาพ-หรือเรียกรถไฟลอยฟ้า?) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมไปยังนครเฉิงตู-มหานครฉงชิ่ง นครกว่างโจว และไปถึงกรุงปักกิ่ง โดยขณะนี้ ได้นำร่องเปิดท่าอากาศยานนานาชาติ นครคุนหมิง แห่งใหม่ ไปเรียบร้อยแล้ว

ภาพสนามบินแห่งชาตินครคุนหมิง แห่งใหม่ สด ๆ ซิง ๆ

มีชื่อว่าท่าอากาศยานนานาชาติคุนหมิงฉางสุ่ยกว๋อจี้ จีฉาง

เพิ่งมีพิธีเปิด ไป เมื่อ วันที่ 28 มิถุนายน 2012 นี้

 

รัฐบาลปักกิ่ง มีนโยบายพัฒนานครคุนหมิง ให้มีการคมนาคมที่สะดวก เพื่อเชื่อมภาคเหนือ ภาคตะวันออก เข้าสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้สุดของจีน ที่หยุนหนาน ที่สำคัญ คือ ต้องการให้นครคุนหมิง เป็นประตูสู่อาเซียน ผ่านมาทางประเทศลาว พม่า และไทย เพื่อออกทะเลที่ทวาย หลังจากที่รัีฐบาลปักกิ่ง ได้พัฒนานครหนานหนิง ของเขตปกครองจ้วง กว่างซี ให้เป็นประตูสู่อาเซียน ผ่านเข้าเวียตนาม เวียงจันทร์ เข้าหนองคาย สู่กรุงเทพ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

เรียกว่าจีน นั้น มองเห็นประเทศไทย เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนอย่างแท้จริง แต่น่าเสียดายที่ตลอดระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา เรามีปัญหาทางการเมืองจึงไม่ได้พัฒนาประเทศ รองรับการคมนาคม หรือทางรถไฟความเร็วสูงที่จีนอุตส่าห์สร้างมารอเรา ที่กว่างซี และหยุนหนาน ไว้ตั้งนานแล้ว

ปลายปีนี้ หากท่านใดไปนครคุนหมิง ท่านก็จะสามารถเชื่อมต่อไปยังเมือง มณฑลหรือนครต่าง ๆ ในประเทศจีนได้อย่างง่ายแสนง่าย เหมือนกับที่ไหงเดินทางเข้า-ออก หยุนหนาน เป็นว่าเล่น อย่างทุกวันนี้

(ทุกวันนี้ มีรถบัสนอนปรับอากาศชั้น 1 จากเมืองห้วยทราย สปป.ลาว ฝั่งตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เดินทางไป-กลับ ห้วยทราย-คุนหมิง ทุกวัน และไหง ก็เป็นตัวแทนขายตั๋ว อยู่ในประเทศไทย ที่เชียงใหม่ เชื่อไหมครับ ว่า ไหงเคาะราคาโดยสาร เชียงใหม่-คุนหมิง ไว้ที่ 3,250.-บาท มีค่าโดยสารจากเชียงใหม่-เชียงของ ค่านอนโรงแรมที่เชียงของ 1 คืน รวมค่าเรือข้ามฟากแม่น้ำโขง-ค่าผ่านด่านเข้าประเทศลาว ค่าโดยสารห้วยทราย-คุนหมิง ทั้งหมดนี้ แค่ 3,250.-บาท หรือหากว่ามาจากกรุงเทพ ก็จะเป็น ราคาประมาณ 3,150.-โดยหักค่าโดยสารเชียงใหม่-เชียงของ และค่าที่พักเชียงของออกไป บวกค่าโดยสารกรุงเทพ-เชียงของ ซึ่งจะถึงตอนเช้าพอดีไม่ต้องนอนพักที่เชียงของ อะเมซิ่งไหมครับท่านผู้ชม)

ต่อไปนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ในนครคุนหมิง

วัดหยวนทง วัดใหญ่ประจำนครคุนหมิง เป็นวัดที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนานิกายมหายานในประเทศจีนภาคตะวันตก ว่ากันว่า ใครมาไหว้พระที่วัดนี้ จะได้กลับมาคุนหมิง ไหงไปทีไร ก็ไปนมัสการพระศรีศากยมุณี ไหงถึงต้องไป-ไป มา-มา คุนหมิงจนจะมีบ้านอยู่ที่นั่นอีกห้องหนึ่งแล้ว

ที่วัดหยวนทงนี้ เมื่อสี่สิบปีก่้อน ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีไทย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ตอนท่านกำลังจะลงเล่นการเมือง ท่านได้มานมัสการพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดหยวนทงแห่งนี้ ท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า "หากแม้นว่าเกล้ากระผมสอบได้เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย เกล้ากระผมจะนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิของไทยมาประดิษฐาน" แล้วท่านก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจนึก ท่านจึงอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองมาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้ มาจนถึงทุกวันนี้ โดยสร้างเป็นศาลาประดิษฐานไว้หลังพระวิหารใหญ่ เรียกมาจนทุกวันนี้ว่า "ศาลาไทย"

บริเวณประตูหน้าวัดริมถนน เรียกย่านนี้ว่า ย่านหยวนทงเจ

บ่อน้ำแห่งนี้ เป็นบ่อน้ำธรรมชาติที่มีน้ำผุดออกมาจากปล่องผา ไม่มีวันเหือดแห้งตลอดปีตลอดชาติ และน้ำใสอยู่ตลอดเวลา ปากบ่อไม่กว้างมากนัก ราว ๆ 7-8 เมตร ตรงกลางบ่อ จะมีหินโผล่ขึ้นมาปริ่ม ๆ น้ำ ให้คณะศรัทธาสาธุชนได้โยนเหรียญเสี่ยงทายให้ตกลงกลางปล่องหินซึ่งกว้างประมาณ ครึ่งฟุต ไหงโยนทีไรฟลุ๊คทุกที ให้ตายสิ ไท้ก๋าหยิ่น

วิหารกลางสระน้ำที่ประดิษฐานพระศรีศากยะมุณีพันกร ศักดิ์สิทธิ์

ที่วัดนี้ ไปทีไร พบคนไทยทุกครั้ง

ดอกเหมย(บ๊วย)ที่สวยงามภายในวัด

วัดหยวนทง

ศาลาไทย ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง

พระพุทธชินราชจำลอง ของท่านเกรียงศักดิ์

พระศรีศากยะมุณีพันมือ พระประธานวัดหยวนทง

ภาพด้านล่างนี้เป็น ภูเขาซีซาน และประตูมังกร ริมทะเลสาบเตียนฉือทางทิศตะวันตกของนครคุนหมิง

บนเขาซีซานมีกำแพงเมืองจีนจำลองด้่วยมองผิวเผินนึกว่ากำแพงเมืองจีนของจริงเลยนะครับภาพนี้

ประตูมังกร สัญลักษณ์ของนครคุนหมิง และเป็นโบราณสถานที่สำคัญ

นั่งกระเช้าขนาดนี้ขึ้นไปบนเขาแบบพาโนรามาและโอเพ่นแอร์ แต่ไม่หวาดเสียวครับ เพราะความสูงแค่ปลายยอดไม้ จึีงมองไม่เห็นด้านล่างของภูเขา ถึงตกลงมาก็คงแค่ถลอกปอกเปิก หมดสวยแค่นั้นเองครับ

อันนี้เป็นกระเช้าที่ต้องนั่งข้ามฝั่งมาจากฝั่งตัวเมือง ระยะทางเดินกระเช้าราว 2 กิโลเมตร ต้องข้ามทะเลสาบเตียนฉือแล้วมาขึ้นเขาอีกต่อหนึ่ง น่าสนุกไปอีกแบบ ครับ ไหงนั่งมาทั้งสองแบบแล้ว คุ้มจริง ๆ ครับท่านผู้ชม

ภาพนี้เป็นเพื่อนชาวจีนของเราที่ถ่ายบนยอดเขาซีซาน มองเห็นตัวเมืองคุนหมิงอยู่ไกล ๆ

โบราณสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาซีซานเป็นแบบลัทธิเต๋าหรือนักพรตเต๋ามีศิลปทางแบบจีนตะวันตกเฉียงใต้ที่สดใสสวยงาม

 

ส่วนหนึ่งของสวนดอกไม้ในนครคุันหมิงและในงานมหกรรมสวนดอกไม้โลก ภาพต้นไทรที่เห็นเป็นต้นไทรที่ขุดมาจากเขตสิบสองปันนา

ภาพด้านล่างต่อไปนี้เป็น "ป่าหิน" ชานนครคุนหมิง ที่คนไทยรู้จักกันดี

อุทยานป่าหิน อยู่ในเขตนครคุนหมิง ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ราว 90 กิโลเมตร ลักษณะเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนบริเวณนี้เป็นก้นทะเลและมีโขดหินขึ้นอยู่หนาทึบภายใต้ท้องทะเล แล้วระยะเวลาผ่านมาอีกหลายล้านปี หลังยุคจูราสสิค ผิวโลกบริเวณนี้เริ่มโผล่สูงขึ้นจากผืนน้ำ แต่ยังคงมีกระแสน้ำไหลอยู่ นานเข้า นานเข้า กระแสน้ำก็ไหลกัดเซาะหินให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ เมื่อเปลือกโลกยกสูงขึ้น พร้อมกับกระแสน้ำที่ลดลง ทีละน้อย ทีละน้อย หินที่คงอยู่ จึงเกิดเป็นรูปร่าง ต่าง ๆ ตามที่เราเห็นในภาพ เช่นเป็นรูปเหมือนชายชาวจีนยืนร่ำสุรา รูปอูฐ รูปช้าง รูปต้นไม้ทรงต่าง ๆ ตามแต่จะมีผู้จินตนาการหรือมันเห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ครับท่าน

ใครจะเถียงว่าหินก้อนนี้ไม่เหมือนช้างน้่อยบ้าง?

เต๊ะท่าพัทกอล์ฟท่ามกลางสิงห์โตหรือลิงสามตัวนั่งมองอยู่

เหมือนจับมาวางไหมครับ

ต่อไปนี้เป็นภาพทะเลสาบเตียนฉือ ริมนครคุนหมิง

ปัญหาของทะเลสาบเตียนฉือที่หนักอกรัฐบาลมณฑลหยุนหนานคือมีตะไคร่น้ำในปริมาณสูงมาก จึงต้องมีเขตกักกันตะไคร่น้ำ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกติดกับภูเขาซีซาน ถึงกับต้องมีเครื่องกำจัดตะไคร่ และ กังหันน้ำเพื่อสร้างอ๊อกซิเจน และมีตาข่ายกั้นไม่ให้ตะไคร่ล่องลอยไปยังแหล่งอื่น ๆ

เขตกักกันตะไคร่น้ำมองจากบนเขาซีซานลงมาจะเห็นอย่างชัดเจน

เขียวปี๋เลยใช่ไหมครับ

สาบานได้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบเตียนฉือ (ตามที่ต้นฉบับบรรยายนะครับ-หวังว่าไม่ใช่อันดามันบ้านเรา)

แผนผังและภาพถ่ายดาวเทียมแสดงรูปร่างของทะเลสาบเตียนฉือเหมือนกระเพาะหมูไหมครับ

ความสวยงามของเตียนฉือ

ตัดกับความน่าหนักใจของเตียนฉือ

  เอามาพาสเจอร์ไรส์เป็นน้ำคลอโรฟิลไปเลยน่าจะดีไหมครับ ท่านที่เรียนฟู๊ดไซน์ทั้งหลาย อย่างนี้สามารถทำได้หรือไม่?

แถมท้ายความสวยงามก็แล้วกัน

ต่อไปจะเป็นการแสดงภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแยกตามเขตต่าง ๆ ไปเลยนะครับ เริ่มจาก เขตจาวทง ก่อนเป็นอันดับถัดไปจากนครคุนหมิง

โปรดติดตาม "หยุนหนาน-มณฑลมหัศจรรย์ ตอนที่ 2" ซึ่งจะเขียนในสถานที่จริง เพราะช่วงที่เขียน วันที่ 4 - 10 กรกฎาคม 2555 ไหงจะอยู่ในหยุนหนาน ครับ

หมายเหตุ-ตอนหยุนหนานนี้ คิดว่าจะเขียนให้ละเอียด จึงต้องใช้เวลามาก จึงขอแบ่งเป็นตอน ๆ จะดีกว่าเพื่อใช้เวลาเขียนจนไม่มีเวลาแล้วก็จบตอน เขียนไปเรื่อย ๆ จนจบไปในวันใดวันหนึ่ง แล้วก็ต่อบท อื่น ๆ ต่อไป คือ เขตปกครองตนเองชนชาติส่วนน้อยของจีน 5 เขต / มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง 4 มหานคร /เขตปกครองพิเศษของจีน 3 เขต / และบทสรุป สุดท้า่ย เป็นการจบซีรี่ส์ยาวชุด "จีนปัจจุบัน" ครับ ท่านทั้งหลาย

Yubsinfa - Klit.Y

 

 

 

 

 


 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal