หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

มาดูข้อมูลที่น่าสนใจ ของประเทศจีนกัน

รูปภาพของ YupSinFa

ประเทศจีน อันเป็นถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษของพวกเรา ปัจจุบันเป็นประเทศมหาอำนาจ 1 ใน 3 ของโลก เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แล้วกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 อีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เป็นประเทศที่มีเงินตราต่างประเทศ(ดอลล่าสหรัฐ) เป็นอันดับ 1 ของโลก ในฐานะที่พวกเราเป็นลูกหลานของชาวจีนฮั่น ดังนั้น เรามาดูข้อมูลต่าง ๆ ของจีนกันเถอะ

          1. ประเทศจีน มีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า "จงหวาเหรินหมินก้งเหอกว๋อ" "สาธารณรัฐประชาชนจีน"

          2. เมืองหลวงในปัจจุบันอันเป็นที่ตั้งของที่ทำการพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐสภา รัฐบาลกลาง คือ "เป่ยจิง" หรือ ปักกิ่ง

          3.ลำดับราชวงศ์กษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรจีน เรียงตามลับดับตั้งแต่ตอนเป็นตำนาน และบันทึกเป็นประวัติศาสตร์  ได้แก่ เซี่ย (ตำนาน) ซัง ซีโจว (โจวตะวันตก) ตงโจว (โจวตะวันออก)  ยุคชุนชิว (ใบไม้ผลิ-ใบไม้ร่วง) ยุคจ้านกว๋อ (รณรัฐ-สงครามระหว่างรัฐ)  ฉิน ซีฮั่น (ฮั่นตะวันตก) ตงฮั่น (ฮั่นตะวันออก) สามอาณาจักร (สามก๊ก) เว่ย สู่ อู ซีจิ้น(จิ้นตะวันตก) ตงจิ้น (จิ้นตะวันออก) หนานเป่ยเฉา (ราชวงศ์ใต้กับเหนือ) ราชวงศ์ใต้ (ตามลำดับ) 1.ซ่ง (หลิว) 2.ฉี 3.เหลียง 4.เฉิน ราชวงศ์เหนือ (ตามลำดับ) 1.เป่ยเว่ย (เว่ยเหนือ) ตงเว่ย(เว่ยตะวันออก) 3.ซีเว่ย(เว่ยตะวันตก) 4.เป่ยฉี (ฉีเหนือ) 5.เป่ยโจว (โจวเหนือ) ต่อไปเป็นราชวงศ์ สุย ถัง อู่ไต้ (ยุคห้าราชวงศ์) ตามลำดับคือ 1. โฮ่วเหลียง (เหลียงหลัง) 2.โฮ่วถัง (ถังหลัง) 3.โฮ่วจิ้น (จิ้นหลัง) 4.โฮ่วฮั่น (ฮั่นหลัง) 5.โฮ้วโจว(โจวหลัง)

          ยุคของราชวงศ์เหล่านี้ บางยุคบางราชวงศ์อยู่ร่วมสมัยกัน บางยุคบางราชวงศ์ก็เหลื่อมล้ำกันไม่ได้เรียงลงมาตามลำดับ ต่อมาเป็นยุคใกล้ คือตั้งแต่ 500 ปีลงมา มีราชวงศ์ต่าง ๆ ดังนี้ 1. เป่ยซ่ง (ซ่งเหนือ) 2.หนานซ่ง(ซ่งใต้)3.ราชวงศ์หยวน(มองโกล) 4.ราชวงศ์หมิง และ 5. ราชวงศ์ชิง (แมนจู) และ 6. ยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่ ปี คศ.1911 ถึง 1949 รวม 38 ปี 7.ยุคสาธารณรัฐประชาชน เพิ่งก่อตั้งเมื่อ 1 ตุลาคม คศ.1949 มีอายุครบ 60 ปี

          4.พื้นที่และอาณาเขต จีนมีพื้นที่รวมทั้งหมด ประมาณ 9,600,000 กว่า ตารางกิโลเมตร ซึ่งพอจะเท่า ๆ กับทวีปยุโรปทั้งทวีป (คิดง่าย ๆ ว่า ประเทศไทยทั้งประเทศรวมกัน 22 ครั้ง รวมกัน จึงจะเท่ากับประเทศจีน)  ความยาวตั้งแต่ตะวันออกสุดถึงตะวันตกสุด มีความยาวราว ๆ 5,000 กิโลเมตร จากเหนือสุดถึงใต้สุดมีความยาวราว 5,500 กิโลเมตร  ทิศเหนือติดประเทศมองโกเลีย(ซึ่งในอดีตเป็นของจีนแต่แพ้สงครามกับรัสเซียจึงถูกรัสเซียยึดไป) ติดแคว้นไซบีเรียของรัสเซีย ทิศตะวันออกติดประเทศเกาหลีเหนือ และทะเลจีนตะวันออก ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดรัสเซีย ทาจิกิสถาน คาซักสถาน ทิศตะวันตกติดเนปาล ปากีสถาน และภูฏาน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดอินเดีย ทิศใต้ติดพม่า ลาว และเวียตนาม ซึ่งเกือบจะใกล้ไทยมากเพียงมีลาวกับพม่ากั้นอยู่ ระยะทางจากแม่สายเชียงแสนถึงด่านกวนเหล่ยของเชียงรุ้ง ห่างเพียง 200 กว่ากิโลเมตร

          5.การปกครอง ปัจจุบันประเทศจีนยังคงปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยม มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน หรือ "จงกว๋อก้งฉานต่าง" ปกครองอยู่เพียงพรรคเดียว จีน แบ่งการปกครองออกเป็นมณฑลและเขตแคว้น แต่ละมณฑลจะปกครองตนเอง โดยมี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จากรัฐบาลกลางเข้าไปบริหาร เรียกว่า เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลควบคุมดูแลด้านนโยบาย และมีผู้ว่าการมณฑล ซึ่งเป็นบุคคลของมณฑลนั้น ๆ ดูแลด้านการบริหาร แต่ละมณฑลจะมีเมืองเอก และเมืองสำคัญ จังหวัด อำเภอ ตำบล เขตปกครองตนเอง หมู่บ้าน แยกย่อยออกไปแต่ละแห่งคล้าย ๆ กัน และแตกต่างกันบ้างตามสภาพของประชาชนซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อย

          ประเทศจีน มี มณฑลต่าง ๆ 23 มณฑล คือ 1.เหอเป่ย มีปักกิ่งเป็นเมืองเอกและเมืองหลวงของประเทศ 2. ซานซี มีไท่หยวน เป็นเมืองเอก สองมณฑลนี้อยู่ทิศเหนือ 3.เหลียวหนิง มีเสิ่นหยางเป็นเมืองเอก 4.จี๋หลิน มีฉางชุนเป็นเมืองเอก 5.เฮยหลงเจียง มี ฮาร์เอ๋อร์บิ๋น (ฮาร์บิน) เป็นเมืองเอก สามมณฑลนี้เป็นภาคอีสานของจีน มีอากาศหนาวจัดในฤดูหนาวมีหิมะหนา อุณหภูมิ ตั้งแต่ ลบ 20 ถึง ลบ 40 กว่าองศาเซนเซียส 6.ส่านซี มีเมือง ซีอาน เป็นเมื่องเอก 7.กานสู มีเมือง หลานโจว เป็นเมืองเอก 8.ชิงไห่ มีเมือง ซีหนิง เป็นเมืองเอก สามมณฑ่ลนี้อยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 9.ซานตง มีเมืองจี๋หนาน เป็นเมืองเอก 10.เจียงซู มีเมือง หนานจิง เป็นเมืองเอก 11.เจ๋อเจียง มีเมือง หางโจว เป็นเมืองเอก 12. อานฮุย มีเมือง เหอเฝย เป็นเมืองเอก 13.เจียงซี มีเมือง หนานชาง เป็นเมืองเอก ห้ามณฑลนี้อยู่ในภาคกลางตะวันออก เป็นดินแดนที่ชาวจีนเรียกกันว่า เจียงหนาน ซึ่งถือกันว่าเป็นดินแดนที่มีความสวยสดงดงามของบรรยากาศแม่น้ำ ทะเลสาบ อากาศและภูเขา สตรีสวยงาม วัฒนธรรมอ่อนช้อย 14.ฝูเจี้ยน มีเมือง ฝูโจว เป็นเมืองเอก 15.ไถวาน หรือ ไต้หวัน มีเมือง ไถเป่ยหรือไทเป เป็นเมืองเอก (ประเทศจีนถือว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน) สองมณฑลนี้อยู่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ 16.ซื่อชวน (เสฉวน) มีเมือง เฉิงตูเป็นเมืองเอก 17.กุ้ยโจว มีเมือง กุ้ยหยาง เป็นเมืองเอก 18.หยุนหนาน (ยูนนาน) มีเมือง คุณหมิง เป็นเมืองเอก สามมณฑลนี้อยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ 19.เหอหนาน มีเมือง เจิ้งโจว เป็นเมืองเอก 20. หูเป่ย มีเมือง อู่ฮั่น เป็นเมืองเอก 21. หูหนาน มีเมือง ฉางซา เป็นเมืองเอก สามมณฑลนี้อยู่ในภาคกลางใต้ 22.กว่างตง (กวางตุ้ง) มีเมือง กว่าโจว เป็นเมืองเอก และ 23. ไห่หนาน (ใหหนำ) มีเมืองไหโข่ว เป็นเมืองเอก  สองมณฑลนี้อยู่ในภาคใต้ ส่วนไห่หนานเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีนรองจากไต้หวัน

ถัดจากมณฑล ประเทศจีนยังมีเขตแคว้นปกครองตนเอง (ระดับมณฑลหรือในอดีตมีสถานะเป็นมณฑล) อยู่ 5 เขตแค้วน คือ 1.เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มีเมือง ฮูเหอเห่าเท่อ (ฮูฮอด) เป็นเมืองเอก 2. เขตปกครองตนเองชนชาตหุยแห่งหนิงเซี่ย (ในอดีตเรียกว่ามณฑลหนิ่งเซี่ย) มี หยินชวน เป็นเมืองเอก มณฑลนี้ ประชากรเป็นชาวจีนฮั่น แท้ ๆ แต่นับถือศาสนาอิสลาม จึงเหมารวมเรียกว่าเป็นชาว หุย (อิสลาม) ชาวหุยในประเทศจีนจึงหมายถึงชาวจีนฮั่นที่นับถืออิสลาม มิได้มีที่หนิงเซี่ยเพียงที่เดียว ปักกิ่ง ก็มี ซีอาน ก็มี ฮกเกี้ยน ก็มี หยุนหนาน ก็มีมาก และอีกนัยความหมายหนึ่งชาวหุย คือ ชาวจีน่ที่มีเชื้อชาติผสมผสานระหว่างฮั่นกับเติร์ก แล้วออกลูกหลานมาเป็นชนชาติหุย มีหน้าตาขาวผุดผ่อง นัยตาสีน้ำตาล ผมออกสีทองแดง ไหงอยู่เชียงใหม่เชียงราย มีเพื่อนเป็นชาวหุย (จีนหยุนหนาน-จีนฮ่อ) อยู่หลายคน หน้าตาของพวกเธอคมคายสวยงามขาวผุดผ่อ่งเชียวแหละ (เกือบได้เป็นเขยของชาวหุยอยู่แล้วนา-ถ้าไม่ติดตรงที่ศาสนาป่านนี้คงมีฮากกาผสมหุยอยู่ในประเทศไทยซะแล้ว) สองเขตนี้อยู่ในภาคเหนือของจีนนะครับ 3.เขตปกครองตนเองชนชาติอุ้ยเอ๋อร์จู๋ซินเจียง (อุยกูร์ซินเกียง) เขตปกครองนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก ชนชาติส่วนใหญ่มีชาวอุ้ยเอ๋อร์จู๋ (อุยกูร์) และชนชาต คาซัก เขตปกครองนี้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อ้อ เขตปกครองนี้มีเมือง อูรูมู่ฉี (อุรุมชี) เป็นเมืองเอก 4.เขตปกครองตนเองชนชาติซีจ้าง (ธิเบต) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเมือง ลาซ่า เป็นเมืองเอก

          ขอเล่าเกร็ดประวัติศาตร์ระหว่างธิเบตกับจีนให้อ่านพอสังเขปและเท่าที่ไหงพอจะทราบ ในอดีต นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ธิเบตเป็นอาณาจักรอิสระ บางยุคก็เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรจีน ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่ราชสำนักจีน ในยุคของราชวงศ์ถัง ธิเบตกับจีนเป็นมิตรประเทศกัน ในยุคนั้น ธิเบตปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ พระลามะยังไม่มีบทบาทในการปกครอง กษัตริย์ธิเบตคือพระเจ้า ซรอง จาน กัม โป ได้ขอเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ถัง มาเป็นพระมเหสี เจ้าหญิงองค์นั้นทรงพระนามว่า องค์หญิงเหวินเฉิง เกร็ดประวัติศาสตร์ตอนนี้ได้ถูกนำมาแต่งเป็นนิยายและภาพยนต์หลายครั้ง หลังจากนั้นมา ธิเบตได้เลิกล้มระบบกษัตริย์ พระลามะได้เข้ามามีบทบาทในการปกครองประเทศ เป็นผู้นำทางการปกครอง และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ลามะสูงสุดคือ ทะไลลามะ และมีลามะองค์รองลงมา คือ ปันเชนลามะ

          ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ (นับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมลงมา) เมื่อสมัยตอนต้นของราชวงศ์แมนจู ซึ่งจีนยังเข้มแข้งและเจริญรุ่งเรือง ธิเบต เป็นประเทศราชของจีน บ้าง เป็นอิสระบ้าง และเป็นดินแดนลี้ลับ อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินจีน มีเทือกเขาหิมาลัยขวางกั้นอยู่ ทางด้านทิศตะวันตก และทางด้านทิศเหนือมีเทือกเขาคุนหลุน ขวางกั้นระหว่างซินเกียงกับธิเบต พวกฝรั่งนักล่าเมืองขึ้นจึงไม่สามารถเข้าถึงธิเบตได้ มาในยุคสาธารณรัฐจีน เกิดสงครามกลางเมือง ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคกว๋อหมินต่าง และสงครามจีน-ญี่ปุ่น ในช่วงนั้น ธิเบตค่อนข้างจะเป็นอิสระ แต่แล้ว เมื่อประธานเหมานำพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้กับเจี่ยงเจี้ยสือ(เจียงไคเช็ค) จนชนะ และประกาศสถาปนาประเทศจีนใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 แล้ว หลังจากนั้นไม่กี่ปี กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ได้ยาตราทัพเข้าธิเบต เพื่อปลดปล่อยประชาชน(ตามคำศัพท์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) เมื่อสำเร็จแล้ว จึงผนวกเอาธิเบตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน แรก ๆ องค์ทะไลลามะยังอยู่ในลาซ่า แต่ต่อมาภายหลังได้ออกจากธิเบตมาอยู่ที่เมืองธรรมศาลาของอินเดียจนถึงปัจจุบันนี้

         ประเทศจีนจึงแต่งตั้งให้องค์ปันเชนลามะขึ้นมาเป็นผู้นำทางจิตวิญญานสูงสุดแทนทะไลลามะ ซึ่งองค์ปันเชนลามะพระองค์นี้มีความภักดีต่อรัฐบาลปักกิ่ง แต่ท่านมีอายุสั้น ได้มรณภาพไปเมื่อประมาณสัก ยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ขณะมีอายุได้ประมาณ 50 ปี และในปัจจุบัน ได้มีการสืบทอดองค์ปันเชนลามะตามความเชื่อของชาวธิเบต จนถึงขณะนี้ องค์ปันเชนลามะได้เป็นละมะหนุ่ม อายุ 20 กว่าปี เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลปักกิ่ง ให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการเมืองของจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง

          5.เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงแห่งกว่างซี เมื่อก่อนในสมัยประเทศจีนเก่า เป็นมณฑลกว่างซี ประชาชนชาติฮั่นที่อยู่ในมณฑลนี้ เป็นชาวกวางตุ้ง พูดภาษาจีนสำเนียงกวางตุ้งหรือกวางโจว แต่ประชากรส่วนใหญ่ในมณฑลนี้เป็นชนชาติจ้วง ซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศจีน รัฐบาลประเทศจีนใหม่ จึงให้มณฑลกว่างซีเดิม เป็นเขตปกครองตนเองชาติจ้วงกว่างซี

          ชนชาติจ้วง ในปัจจุบันนี้นักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์เอเชีย หรือนักวิชาการไทย-จีนศึกษา ได้สรุปว่า ชาวจ้วงเป็นชาวไท กลุ่มหนึ่ง (นับว่าเป็นญาติกับชนชาติไทย) แต่ไม่ได้เรียกตัวเองว่า ไต หรือ ไท ตามคนไท กลุ่มอื่น ๆ ไหงเคยรู้จักกับคนจ้วงกว่างซีคนหนึ่ง ได้พบกันที่จังหวัดเชียงราย ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนภาษากัน ปรากฏว่า คำศัพท์ต่าง ๆ ตรงกับภาษาไทยกลางไทยล้านนามากมายหลายคำ เพียงแต่ว่าพูดเป็นประโยคแล้วเราฟังไม่เข้าใจ คำศัพท์ที่ตรงกันเช่น เหมิง(มึง-คุณ) เกิ๋ว-เก๋า(กู-ฉัน) หนำ (น้ำ) เขา(ข้าว) เมอ(ไป-คำคำนี้ภาษาล้านนาเชียงใหม่ออกเสียงว่า เมือ แปลว่าไปเช่นกัน) ศึกษาดูแล้วนับว่าน่าสนุกดี

          นอกจากนี้จีนยังมีอีก 2 เขตปกครองพิเศษ ได้แก่ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเขตปกครองพิเศษมาเก๊า(อ้าวเหมิน) จากเขตปกครองพิเศษแล้วยังมี 4 มหานครที่มีอำนาจปกครองตนเองขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน(เทียนสิน) อยู่ในมณฑลเหอเป่ย ซั่งไห่หรือเซี่ยงไฮ้ อยู่ในมณฑลเจียงซูและเจ๋อเจียง เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่เจริญที่สุดในประเทศจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และน้องใหม่ล่าสุดคือ มหานครฉงชิ่ง(จุงกิง) แยกออกมาจากมณฑลซื่อชวน(เสฉวน ) ฉงชิ่งเป็นมหานครที่มีพื้นที่มากที่สุด ใหญ่กว่าบางมณฑ่ลเสียอีก และมีประชากรมากที่สุดคือ 30 ล้านคน

          จีนยังมีเมืองพิเศษที่ได้จัดตั้งในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง คือเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับนักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเลและรองรับการกลับมาของฮ่องกงและมาเก๊า เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน คือ 1.เซินเจิ้น ติดกับฮ่องกง 2.จูไห่ ติดกับมาเก๊า 3.ซ่านโถวหรือซัวเถา 3 เขตนี้อยู่ในมณฑลกว่างตง ในอดีตเซินเจิ้นกับจูไห่เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ เท่านั้น และซัวเถาก็เป็นเพียงอำเภอหนึ่งในเมืองแต้จิ๋ว แต่ปัจจุบันทั้ง 3 เมืองนี้เป็นเมืองที่มีความเจริญและทันสมัยของจีนในอันดับต้น ๆ 4.เขตเศรษฐกิจพิเศษเซี่ยเหมิน ในมณฑลฝูเจี้ยน อยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวันพอดี และ 5.เขตเศรษฐกิจพิเศษไห่หนาน ครอบคลุมทั่วทั้งเกาะและเป็นมณฑลน้องใหม่ล่าสุดของจีนแยกออกมาจากกว่างตง

          ประชากรจีน

          ในบรรดาชาวจีนทั้งหมด 1300 ล้านคน เป็นชาวฮั่นส่วนใหญ่ 92 เปอร์เซ็นต์ และใน 92 เปอร์เซ็นต์นี้ ชาวเสฉวนมีประชากรมากที่สุด (120 ล้านเศษ) กล่าวกันว่า ถ้ามีคนจีนนั่งอยู่ด้วยกัน 4 คน จะเป็นชาวเสฉวน(ซื่อชวน) เสีย 1 คน ดินแดนที่มีพลเมืองน้อยที่สุดทั้ง ๆ ที่มีแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล คือ ธิเบต 2 ล้านกว่าคน  ที่เหลืออีก 18 เปอร์เซ็นต์เป็นชนชาติส่วนน้อย  ซึ่งมีทั้งหมด 55 ชนชาติด้วยกัน (และในแต่ละชนชาติยังแยกย่อยออกไปได้อีกหลายเผ่า) ได้แก่ชนชาติฮั่น หุย แมนจู(ปัจจุบันถูกกลืนชาติเป็นฮั่นหมดแล้วไม่เหลือคนที่พูดแมนจูได้แม้แต่คนเดียว) เกาหลี มองโกล ธิเบต อุยกูร คาซัก ทาจิก รัสเซีย(มีจริง ๆ) ม้ง เย้า หลี่ซู่ มูเซอร์ อ้อ ลืมไป ชนชาติที่มีพลเมือง เกิน 1 ล้านคนขึ้นไป เช่น จ้วง มี 13 ล้านคนเศษ หุย อุยกูร์ หยี (ชนชาติส่วนน้อยที่มีมากที่สุดในหยุนหนานและมีแยกออกไปอีกหลายเผ่า) ม้ง ถู่เจีย ปู้ยี เกาหลี ต้ง เย้า ไป๋ และฮานี (ในไทยเรียกอาข่า) ชนชาติส่วนน้อยที่มีอยู่ในภาคเหนือ 21 ชนชาติ ในภาคใต้ 34 ชนชาติ มณฑลที่มีชนชาติส่วนน้อยมากที่สุดคือ หยุนหนาน ซึ่งเป็นมณฑลที่ชาวไทยภูเขาในประเทศไทยอพยพมาจากมณฑลหยุนหนานทั้งสิ้น ในมณฑลหยุนหนาน ยังมีชาวไทกลุ่มหนึ่ง เรียกว่าชนชาติ ไต ซึ่งเป็นญาติสนิทของคนไทยในประเทศไทยเรา ไหงได้พูดคุยกับคนไตในหยุนหนาน เขาพูดเป็นภาษาไต ไหงพูดเป็นภาษาล้านนา ปรากฏว่าพูดคุยกันรู้เรื่อง 99 เปอร์เซ็นต์

          คนไตในหยุนหนานแยกออกไปได้หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มล้วนมีอาศัยอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด เช่น ไตลื้อ (ในไทยมีที่เชียงราย เชียงใหม่ น่าน และพะเยา) ไตเหนอ (หรือไตโหลง-ซึ่งก็คือไทใหญ่) เป็นคนไตที่พูดภาษาไทใหญ่ในประเทศไทยมีที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ไตหย่า ในประเทศไทยมีที่จังหวัดเชียงราย คนไตหรือไทเหล่านี้พูดภาษาไตหรือไท ในสำเนียงของตนเอง ชาวไทยล้านนาฟังรู้เรื่องและเข้าใจทั้งหมด เพราะคำศัพท์เป็นคำเดียวกันต่างกันที่สำเนียงเท่านั้น และอย่างบางคำเป็นคำไทโบราณ ที่พวกเราในประเทศไทยเลิกใช้แล้วแต่ยังเข้าใจความหมายอยู่เพราะทางบ้านนอกของเชียงรายเชียงใหม่ยังใช้กันอยู่

          ในหยุนหนานจึงมีแคว้นปกครองตนเอง อำเภอปกครองตนเองของแต่ละชนชาติอยู่มากมาย เช่น แคว้นปกครองตนเองชนชาตไตซีซวงป่านน่า (สิบสองปันนา-ไตลื้อ) มีเมือง จิ่งหง หรือเชียงรุ่ง เป็นเมืองเอก แคว้นปกครองตนเองชนชาติไตเต่อหง (ไตเหนือ) มีเมืองยุ่ยลี่เป็นเมืองเอก แคว้นปกครองตนเองชนชาติไป๋แห่งต้าหลี่ มีเมืองต้าหลี่เป็นเมืองเอก เป็นต้น

          เมืองสำคัญ เมืองท่องเที่ยว และเมืองที่มีความเจริญมากที่สุดของจีน

          ในปัจจุบันประเทศจีนมีความเจริญรุดหน้าไปมาก เมืองต่าง ๆ ของจีน มีทั้งเมืองเก่า เมืองประวัติศาสตร์ และเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่ละเมืองมีการก่อสร้างและพัฒนามาโดยตลอด ทำให้แต่ละเมืองมีความเจริญมาก เมืองสำคัญต่าง ๆ ของจีน ได้แก่ ปักกิ่ง หนานจิง (นานกิง) ซีอาน(ฉางอาน) คายเฟิง (ไคฟง เมืองหลวงเก่าของราชวงศ์ซ่งใต้ เมืองของท่านเปาชิงเทียนหรือเปาเหวินจิ้น-เปาบุ้นจิ้นนั่นแหละครับ) เฉิงตู ฉงชิ่ง เมืองเหล่านี้เป็นเมืองหลวงเก่าของจีน ในยุคต่าง ๆ เมืองที่มีความเจริญมาก ๆ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เที่ยนสิน(เทียนจิน) เสิ่นหยาง  ต้าเหลียน ชิงต่าว หางโจว อู่ฮั่น หนานชาง ฉางซา ฝูโจว เซียะเหมิน ซัวเถา เซินเจิ้น จูไห่ กว่างโจว คุณหมิง กุ้ยหลิน เป็นต้น

          แม่น้ำที่สำคัญ ประเทศจีนมีแม่น้ำและลำคลองมากมายนับไม่ถ้วน แม่น้ำที่สำคัญมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก เช่น 1.แม่น้ำฉางเจียง แปลตรงตัวว่าแม่น้ำยาว เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของจีน ต้นน้ำอยู่ทางทิศเหนือของมณฑลหยุนหนาน ตอนต้นน้ำเรียกว่าแม่น้ำจินซาเจียงหรือแม่น้ำทรายทอง ไหลเลี้ยวลดคดเคี้ยวไปตามมณฑลต่าง ๆ จากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกไปจนออกทะเลที่ซ่างไห่บริเวณปากน้ำหวงผู่ ที่เซี่ยงไฮ้ 2. แม่น้ำหวงเหอ หรือแม่น้ำเหลือง ในอดีตเรียกว่าแม่น้ำวิปโยค เพราะทำให้เกิดอุทกภัยมากมายหลายครั้งทำเอาชาวจีนในภาคเหนือล้มตายไปเป็นอันมาก แม่น้ำเหลืองมีต้นกำเนิดอยู่ในที่ราบสูงชิงไห่ แล้วไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านชิงไห่ เสฉวน กานสู หนิงเซี่ย เข้าไปยังมองโกเลียใน วกกลับมาผ่านส่านซีและซานซีเข้ามณฑลเหอหนานไปออกทะเลที่มณฑลซานตงบริเวณอ่าวโป๋ไห่ 3.แม่น้ำนู่เจียง หรือแม่น้ำสาละวิน มีต้นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยในธิเบตไหลลงใต้มาทางหยุนหนานเข้าพม่า มาไทย แล้วไปออกทะเลที่พม่า 4.แม่น้ำหลานชางเจียง หรือแม่น้ำล้านช้าง หรือแม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดบริเวณเดียวกันกับแม่น้ำฉางเจียง ไหลเข้ามณฑลหยุนหนาน ผ่านเขตชาวไตสิบสองปันนา ผ่านเมืองเชียงรุ่ง ผ่านพม่าและลาว เข้าประเทศไทยที่สามเหลี่ยมทองคำ ไหลเข้าลาวอีกทีที่อำเภอเวียงแก่นจังหวัดเชียงรายเข้าไทยอีกทีที่จังหวัดเลยและยาวไปจนถึงอุบลราชธานีเข้าไปในลาวผ่านกัมพูชาไปออกทะเลที่นั่น 4. แม่น้ำจูเจียง หรือแม่น้ำไข่มุก เป็นเส้นเลือดหลักของมณฑ่ลกว่างตง ในอดีตมีเรือรบของฝรั่งนักล่าเมืองขึ้นและเข้ามาขายฝิ่น จากท้องทะเลเข้าสู่เมืองกว่างโจวทางแม่น้ำสายนี้ เกิดการสู้รบกันหลายครั้ง นับว่าเป็นแม่น้ำประวัติศาสตร์ของจีนสายหนึ่ง 5. แม่น้ำหานเจียง เป็นแม่น้ำที่อยู่ในมณฑ่ลกว่างตงอีกสายหนึ่ง ไหลออกทะเลที่ซัวเถา มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือชาวจีนจากกว่างตุ้ง ทั้งฮากกาและแต้จิ๋วได้อาศัยล่องเรือจากบ้านเรือนของตนเอง อพยพออกสู่ทะเลมายังดินแดนสยามและเอเชียอาคเนย์

          บุคคลสำคัญ

          ประเทศจีนมีบุคคลสำคัญในยุคประวัติศาตร์นับตั้งแต่สมัยฉินลงมาจนถึงปัจจุบัน จะเอ่ยเพียงคร่าว ๆ ในยุคก่อน ๆ และแสดงรายละเอียดในยุคใกล้ ๆ

          กษัตริย์ที่สำคัญ หวงตี้ ถือว่าเป็นบิดาของชาวจีน ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ฉินสื่อหวง (จิ๋นซีฮ่องเต้) ผู้รวบรวมจีนให้เป็นหนึ่งเดียว รวบรวมอักษรจีนเหลือเพียงแบบเดียว อดีตถือว่าเป็นฮ่องเต้ที่เลวร้าย ปัจจุบันได้ชำระประวัติศาสตร์แล้วว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลของประชาชาติจีน ในราชวงศ์ฮั่น ไม่ค่อยมีกษัตริย์ที่โดดเด่น เอายุคสามก๊กก็แล้วกันซึ่งอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เช่น เฉาเชา(โจโฉ) หลิวเป้ย(เล่าปี่) ซุนหวี่(ซุนกวน) ราชวงศ์ถัง ได้แก่ หลี่ซื่อหมิน หรือถังไท่จงฮ่องเต้เป็นยุคทองของราชวงศ์ถังและประเทศจีน โด่งดังจนกระทั่งมีฝรั่งชื่อมาร์โคโปโลเดินทางดั้นด้นมาจนถึงฉางอันเมืองหลวงของถังจนได้ มาร์โคโปโลได้บันทึกรายละเอียดการเดินทางและความเจริญรุ่งเรืองของกรุงฉางอันไว้อย่างพิสดาร อีกองค์หนึ่งของราชวงศ์ถังคือฮ่องเต้หญิงหนึ่งเดียวของจีนคือ อู๋เจ๋อเทียน หรือพระนางบูเช็คเทียน ในยุคต่อมาไม่ค่อยมีฮ่องเต้ที่โด่งดังจนมาถึง ยุคมองโกล กุบไลข่านลูกของเจงกิสข่าน ได้ยึดปักกิ่งได้และสถาปนาอาณาจักรจีนภายใต้การปกครองของมองโกลเรียกว่าราชวงศ์หยวน แต่อยู่ได้ไม่นาน ก็มีชาวนาจีนหน้าตาอัปลักษณ์แต่มีมันสมองดี มีฝีมือเยี่ยมปฏิวัติโค่นล้มมองโกลแล้วสถาปนาราชวงศ์หมิง อันแปลว่าสว่าง ได้ เขาคือ จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์หมิง ซึ่งอยู่มาได้ 400 กว่าปี จึงถูกชนเผ่าแมนจูยึดครองได้ นำโดย ลูกของนู่เอ๋อร์ฮาร์ชี ที่ชื่อว่า ซุ่นจื้อเป็นฮ่องเต้องค์แรกของราชวงศ์ชิง ต่อมาเป็นยุคของ ฮ่องเต้คังซี หย่งเจิ้ง และ เฉียนหลง 4 รัชกาลนี้ เป็นยุคทองของอาณาจักรชิง ในยุคของเฉียนหลงจักรพรรดิ์เป็นยุคที่ชิง เจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด

         อีกคนหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้คือ พระนางฉือซีไท่โฮ่ว (ไทเฮาตะวันตก-ซูสีไทเฮา) นางไม่ได้มีคุณุปการอันใดในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายเลย แต่นางเป็นผู้สร้างสีสันให้กับประวัติศาสตร์จีนในช่วงนี้ นางเป็นอย่างไรเชื่อว่าหลายท่านคงท่ราบดี อีกองค์หนึ่งคือฮ่องเต้หุ่นของพระนางซูสี คือ ฮ่องเต้กวางสูผู้อาภัพ ซึ่งนับว่ามีความคิดปฏิรูป อยากให้จีนในสมัยนั้นมีความเจริญมีการปกครองเหมือนอารยประเทศ แต่พระองค์ถูกซูสีไทเฮากักบริเวณ จนกระทั่งถูกบังคับให้ดื่มยาพิษตาย

         (โปรดติดตามอ่านในภาคต่อไป) 

         


รูปภาพของ อาฉี

ข้อมูลเยี่ยมครับ

ข้อมูลเยี่ยมครับ

อย่างนี้ต้องปูเสื่อรอ

รูปภาพของ webmaster

ขึ้นชั้นหนังสือไว้รอ

เนื่องจาก เห็นว่าเป็นบทความที่มีสาระดี และมีแนวโน้มว่าจะมีหลายตอน

จึงได้เตรียมชั้นหนังสือไว้รอ เพื่อให้เนื้อหาที่เขียนแต่ละครั้ง สามารถนำมารวมเป็นเล่มเดียวกัน โดยมี Link ข้างล่างบทความ เพื่อชี้นำไปหน้าถัดไปได้

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal