หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

ชีวิตของ "พระนางฉือซีไท่โฮ่ว" (ฉบับสมบูรณ์-จบ)-ภาพถ่ายเพียบอ่านได้อย่างจุใจและชวนติดตาม

รูปภาพของ YupSinFa

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2553) เป็นวันสำคัญของโลกวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาของเรา ได้ตื่นเช้า ปฏิบัติบูชา ไหว้พระสวดมนต์ สาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยบทสวดพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แผ่เมตตา แล้วปฏิบัติภารกิจประจำวันตามปกติ พอถึงตอนนี้ มีความเครียดนิดหน่อย อย่ากระนั้นเลย ขอถือโอกาสระบายความเครียดของตัวเองด้วยการ เขียนเรื่องราว ของ สตรีจีนในประวัติศาสตร์ ท่านหนึ่งของอาณาจักร จงกว๋อ ที่ยิ่งใหญ่ เธอผู้นี้ มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติจีน แถมยังเป็นสุภาพสตรีเสียด้วย แต่เธอหาได้สร้างคุณูปการให้กับ ราชอาณาจักร จีน ในยุคสมัยของเธอนั้น แต่อย่างใด คงสร้างบทบาทแต่เพียงสร้างสีสันให้กับประวัติศาสตร์ จีน คงเพียงเท่านั้น แต่ก็นับว่า ฝีไม้ลายมือในการพิชิตชายอกสามศอก ข้ามเขาเหล่านั้นขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ในแผ่นดิน นับว่า แยบยลและเต็มไปด้วยกุศโลบายทั้งเล่ห์เพทุบายต่าง ๆ นานา สีสันของราชอาณาจักรจีนในช่วงของนางจะเป็นเช่นไร โปรดติดตามได้ ณ บัดนี้...........

ภาพพระนางซูสีในช่วงวัยทองแห่งชีวิต

(หมายเหตุ-ผู้เขียน-ได้เขียนบทความนี้ในเชิงเรื่องสั้น อิงจากประวัติศาสตร์และความทรงจำจากหนังสือชีวประวัติของท่านผู้นี้ ที่ได้อ่านจาก สามเล่ม ที่มีผู้แต่งเป็นนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ คือ เรื่อง ซูสีไทเฮา ของ อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และ เรื่องซูสีไทเฮา ของนักเขียนนิรนามท่านหนึ่ง (ต้องกราบขออภัยเจ้าของผลงานเล่มนี้ซึ่งเป็นสำนวนที่ผู้เขียนชื่นชอบมาก ที่ผู้เขียนได้ทำหนังสือเล่มนี้ของท่านหายไป จึงลืมไปแล้วว่าเป็นผลงานของท่านผู้ใดและหนังสือเรื่องซูสีไทเฮาเล่มนี้มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเรื่องที่ท่านอาจารย์หม่อมฯ เขียนมากที่สุดเพียงแต่ละเอียดกว่าพิสดารพันลึกกว่า แต่สำนวนของอาจารย์หม่อมฯ เป็นสำนวนที่สวยงามมากกว่าเพราะเป็นปรมาจารย์) และอีกเล่มหนึ่งคือ "ประวัติศาสตร์จีน" ซึ่งกล่าวถึงเธอในด้านวิชาการ

จึงขอออกตัวก่อนว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้ เขียนเป็นเชิงบันทึกความทรงจำโดยไม่ได้อ้างอิงจากหนังสือวิชาการทางประวัติศาสตร์ หากมีข้อผิดพลาดประการใด จึงขออภัยต่อท่านผู้อ่านด้วย-สินฝ่า)

เรื่องราวของสตรีท่านนี้ เกิดขึ้นในช่วงปลายของราชอาณาจักร ต้าชิง 大清国  หรือราชวงศ์แมนจูทีปกครองจีน เธอมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในชั้นสูงสุดว่า "ฉือซีไท่โฮ่ว" หรือ ที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม ซูสีไทเฮา ซึ่งมีความหมายถึง พระนางไทเฮา(วัง)ตะวันตก  ในสมัยของเธอ ยังมี "ฉืออันไท่โฮ่ว" หรือ พระนางไทเฮาตะวันออก......

ผู้แสดงเป็นพระนางฉืออันไท่โฮ่ว ของทีวีรัฐบาลจีนซึ่งไหงติดตามจนจบเรื่อง เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เป็นการสร้างที่เป็นกลางไม่มีการใส่ร้ายพระนางซูสีเกินความเป็นจริงและสงวนความโหดร้ายไม่ให้ออกในฉากมากเกินไปด้วย เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความสามารถมากกว่า นอกจากนั้นเป็นเรื่องที่ให้คนดูใช้วิจารณญานเอาเอง

ซูสีไทเฮา หรือ ที่ไหงชอบเรียกท่านว่า พระนางชูศรี ตามอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ เธอเป็นเด็กสาวสามัญชน ลูกสาวคนหัวปี ของ ทหารชั้นผู้น้อยสังกัดกองทัพ หนึ่ง ในกองทัพแปดธง ของอาณาจักรชิง มีน้องชายและน้องสาวอีกอย่างละคน ซึ่งต่อไปภายหน้าน้องชายน้องสาวของนาง ก็จะมีบทบาทร่วมในประวัติศาสตร์จีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลูกสาวของทหารชั้นผู้น้อยในกองทหารแปดธงนี้ เธอมี แซ่ ว่า "เย่เหอนาลา" มีนามว่า อี้หลาน อี้หลานเป็นเด็กหญิงสาวแมนจูที่มีหน้าตาขาวสวยสดหมดจดงดงามคนหนึ่ง ตอนเป็นสาวแรกรุ่น เธอคบหากับชายหนุ่มรูปหล่ออยู่คนหนึ่ง ชื่อของเขามีนามว่า "หยงลุ" และประวัติศาสตร์ หรือ นิยายที่มีผู้แต่งถึงเรื่องราวของเธอก็ได้เอาชายผู้นี้มาผูกไว้กับชีวิตเธอในช่วงรุ่งเรืองสูงสุด.......

ภาพวาดเสมือนจริงของพระนางฉืออันไท่โฮ่ว

นางสาวเย่เหอนาลาอี้หลาน เป็นหญิงสาวผู้ฉลาดปราดเปรื่อง พูดจาฉะฉาน มีความทะเยอทะยานและความใฝ่ฝันอย่างสูง ที่แม่และแฟนของเธอก็คาดไม่ถึง อ้อลืมบอกท่านผู้อ่านไปว่า เธอกำพร้าพ่อตั้งแต่ยังแรกรุ่น สิ่งที่เธอใฝ่ฝันและปราถนาอย่างแรงกล้า ที่จะฟันฝ่าเข้าไปให้ถึงให้ได้ นั่นก็คือ การได้รับการคัดเลือกให้ผ่านเข้าไปในวังเพื่อเป็นนางสนมของฮ่องเต้หนุ่ม ซึ่งมีพระนามรัชกาลว่า "เสียนเฟิง"  ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า เธอน้อยใจในชะตาชีวิตที่อับเฉาเศร้าโศกที่ขาดผู้นำครอบครัวและที่สำคัญคือความยากจนข้นแค้นและเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่อาศัยอยู่ชานกรุงปักกิ่งแค่นั้นเอง

ความคิดคาดปราถนาของนางสาวอี้หลานต่างก็มีผู้ใดสงสัยก็หาแต่อย่างใดไม่ จนกาลกล่าวมาบรรจบครบถึงเวลาที่สำนักพระราชวัง ประกาศรับสมัครหญิงสาวบริสุทธิ์ทั่วทั้งกรุงปักกิ่งและหัวเมืองใกล้เคียง โดยมีเลซูเม่เพียงสองอย่างว่า หญิงสาวผู้นั้นจะต้องเป็นชนชาติแมนจูแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และต้องเป็นลูกหลานข้าราชการทั้งฝ่ายบุ๋นหรือบู๊ ก็ได้ ที่สำคัญ ต้องเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์???

เมื่อเรื่องราวการรับสมัครเข้าประกวดมิสแมนจูเอ้ย นางสนมเข้ามาถึงหูของหลานเอ๋อร์หรืออี้หลาน เธอได้เข้าสมัครอย่างไม่รีรอ สร้างความตกตะลึงและเสียอกเสียใจให้กับแฟนหนุ่มที่มีชื่อว่า หยงลุ เป็นอย่างยิ่ง อันนี้นี่เองที่ทำให้เขาเข้าใจแล้วว่า ทำไม่เธอถึงไม่ยอมให้เขาเจาะไข่สักทีทั้งที่เป็นแฟนกันมาก็หลายปี.....

วันคัดเลือกสาวงามที่สมัครเข้ารับการแข่งขันก็มาถึง หญิงสาวทุกคนจะถูกให้สวมเสื้อคลุมในแบบเดียวกันทั้งหมดเข้าใจว่า เป็นเสื้อฉีผาวแขนยาวไม่รัดรูป คลุมยาวถึงข้อเท้า ด้วยแบบและสีเดียวกันหมดทุกคน ถ้าจำไม่ผิดเคยดูในหนังทีวี ว่าเป็นชุดสีเทาอมฟ้า  ทุกคนจะถูกจัดให้เรียงแถวตามหมายเลขผู้สมัครซึ่งมีประมาณ น่าจะร้อยกว่าสองร้อยคนเพื่อให้คณะกรรมการทำการคัดเลือก.........เมื่อถึงเวลาที่ทุกนางรอคอย แต่ละนาง ก็จะถูกผ่านด่านแรก คือ เข้าไปยังภายในห้องที่มิดชิด ทำการเปลื้องผ้าที่คลุมกายนั้นออกลงมากองกับพื้น แล้วเหลือเพียงกายขาวสวยหมวยสะอาดอย่างล่อนจ้อน เพื่อให้เหล่าขันทีทั้งหลาย ตรวจร่างกาย เพื่อดูว่า มีจุดอับเฉาหรือตำหนิอย่างใดอย่างหนึ่งบนร่างกายหรือไม่ ถ้ามี ไม่ว่าจะเป็นแผลเป็น ก็ตาม ปานดำปานแดงก็ตาม ฝี ไฝ สิวเสี้ยนกลากเกลื้อนอะไรต่าง ๆ ก็ตาม ก็จะถูกคัดออกทันที  ที่สำคัญที่สุด สำคัญที่สุด ทุกนาง จะถูกทำการตรวจภายใน ว่า เยื่อพรมจรรย์ยังคงอยู่หรือไม่ เท่านี้ ถ้าคนใดมีครบองค์ประกอบ คือ ร่างกายขาวสวยหมวยงาม และ ไม่เสียพรมจรรย์ ก็จะผ่านเข้ารอบไป ชิงตำแหน่งในรอบที่สำคัญที่สุด ในชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งจะชีวัดอนาคตของหญิงคนนั้นว่า จะได้มีอิสรเสรีอย่างสามัญชนหรือว่าจะได้เข้าไปเป็นนางสนมกำนัลอยู่ภายในวังหลวงซึ่งเท่ากับว่า จะถูกตัดออกจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง??????(ถ้าสาวนางนั้นไม่มีตำแหน่งเช่นได้เป็นพระสนม-ก็จะคงเป็นนางสนมหรือนางกำนัลธรรมดา ๆ ไม่มีสิทธิที่จะติดต่อกับภายนอกได้).............................

เมื่อเวลาสำคัญที่สุดในชีวิตของอี้หลานมาถึง ซึ่งได้ผ่านรอบแรกเข้าไปอย่างสบาย ๆ พอถึงรอบนี้สิ เป็นรอบที่ชี้เป็นชี้ตายให้เธอเลยว่า จะได้มีชีวิตอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ เธอถูกส่งเข้าไปในท้องพระโรงของพระที่นั่งแห่งใดแห่งหนึ่งในวังต้องห้าม ที่มี ไทเฮา ทรงนั่งเป็นประธาน มีฮ่องเต้หนุ่มเสียนเฟิง นั่งอยู่ภายหน้า เคียงข้างกับ ฮองเฮาของเสียนเฟิง  หญิงสาวถูกเรียกให้เข้าไปต่อหน้าองค์ฮ่องเต้ ทีละ ห้าคน เรียงแถวหน้ากระดาน โดยเข้าไปนั่งคุกเข่าใกล้กับฮ่องเต้ให้มากที่สุดเพื่อเงยหน้าให้ฮ่องเต้ดู  องค์เสียนเฟิงฮ่องเต้ก็มองดูใบหน้าหญิงสาวแต่ละคนว่า จะทรงปิ๊งกับคนใดเข้า เมื่อตัดสินพระทัยแล้ว จึงทรงหยิบภู่กัน แต้มลงบนแผ่นไม้ ที่เป็นชื่อของหญิงสาวแต่ละนาง แล้วส่งให้เจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการต่อไป......

เมื่อหมดเวลาคัดเลือกเสร็จเรียบร้อยแล้ว หญิงสาวแต่ละนางต่างก็รอคอยด้วยใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ผลการคัดเลือกออกมาแล้ว ปรากฏว่า อี้หลาน เป็นหนึ่งในสาวงามที่ถูกได้รับคัดเลือกเข้าไปเป็น(ว่าที่) นางสนมในวังต่อไป อี้หลานจึงได้เข้าไปพำนักภายในวังต้องห้ามอย่างสมใจนึกบางลำภู แต่ว่า หนทางที่จะได้เข้าเฝ้าองค์ฮ่องเต้เพื่อถวายการรับใช้ ยังอีกยาวไกล ว่ากันว่า ตลอดชีวิตของนางสนมบางคน ไม่เคยได้เข้าเฝ้าฮ่องเต้เพื่อถวายของบางอย่างเลยแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต ดังนี้น ท่านลองนึกภาพดู ว่า ภายในวังที่กว้างใหญ่ไพศาลนั้น ที่มีห้อง ถึง 99,999 ห้อง จะมีสตรีอาศัยอยู่มากมายเพียงใด บางคนก็เป็นนางสนม และ หรือ สนมเอก มเหสี อัครมเหสี(ฮองเฮา) ของอดีตฮ่องเต้องค์ต่าง ๆ ที่แก่หงำเหงือก อยู่มากมายหลายคน ด้วยเหตุที่ว่า ฮ่องเต้ จะต้องมีรัชทายาทที่ต้องเป็นชายเท่านั้น ตามความคิดและธรรมเนียมของราชวงศ์ในสมัยโบราณ ฮ่องเต้จึงจำเป็นที่จะต้องมีนางสนมหลายร้อยหลายพันนาง ดังนั้น ตามความเป็นจริง ฮ่องเต้จะมีปฏิสัมพัทธ์ กับ นางเหล่านั้นได้ครบทุกนางได้อย่างไรจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพบกับนางสนมของฮ่องเต้ทุกนาง ดังนี้น นางเหล่านี้ หลาย ๆ คน จึงเป็นเพียงนางสนมแต่เพียงในนาม บางคน จึงแก่และตายคาตำแหน่ง บางคน โชคดี ได้เป็นพระสนม มีทายาท เป็นองค์ชายองค์หญิง ก็ดีไป มีที่พึ่งพา บางคนโชคดีสุดยอด ได้องค์ชายและองค์ชายของนางได้เป็นรัชทายาทและสุดท้ายได้เป็นฮ่องเต้ นางผู้นั้นก็จะกลายเป็น พระแม่เจ้าหรือไทเฮาไปในทันที.....ส่วนนางต่าง ๆ ที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับฮ่องเต้ ตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อถูกจำกัดอยู่แต่ภายในห้องหับไปวัน ๆ หนึ่ง จึงต้องหาที่ยึดเหนี่ยว ว่ากันว่า ก็บรรดานายทหาร องครักษ์ เอย ขุนนางหนุ่ม ๆ หรือแก่ ๆ เอย เมื่อมั่นใจว่า นางใดไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฮ่องเต้แล้ว ต่างคนต่างก็ฉลองศรัทธาให้กับนางเหล่านี้ผู้โหยหาผู้ชายสุขสมอารมณ์หมายกันไปทั้งสองฝ่าย.......(ต้องขอประทานโทษนะครับไม่ได้หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์-อันนี้คือเรื่องราวความเป็นจริงของประวัติศาสตร์จีนทุกราชวงศ์มีอย่างนี้ทั้งนั้นครับ-เป็นธรรมชาติของมนุษย์นะครับอย่าคิดมาก)

ภาพวาดเสมือนจริงของจักรพรรดิเสียนเฟิง

นางสาวอี้หลานก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้เป็นนางสนมแล้ว ก็ได้แต่เฝ้ารอคอยโอกาสว่า วันที่เธอจะได้ถวายตัวกับฮ่องเต้นั้นจะมีโอกาสไหม ด้วยความที่นางเป็นคนทะเยอทะยานและมีความฉลาดหลักแหลม คิดการณ์สิ่งใด ต้องให้ได้สำเร็จ นางจึง มีกุศโลบาย เข้าหาขันทีเด็ก ๆ เพื่อติดสินบนให้มาเป็นพวก ทีละนิด ทีละนิด เพื่อที่จะได้สืบถามว่าองค์ฮ่องเต้จะมีความเคลื่อนไหวไปไหนบ้างในแต่ละวัน และเพื่อจะได้ไปนำเสนอตัวเองให้ฮ่องเต้เห็นหรือบางที่ขันทีน้อยเหล่านั้นที่ได้รับใช้องค์ฮ่องเต้จะได้เพ็ดทูลอะไรที่เป็นประโยชน์ กับเธอบ้าง.....

ในที่สุด เธอก็ได้ขันทีมาเป็นพวกจนได้ ขันทีน้อยผู้นั้น มีชื่อว่า "อานเต๋อไห่" ขันทีคนนี้ ประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นขันทีคู่ใจของนางในช่วงต้น ๆ ของความรุ่งเรือง แล้วประวัติศาสตร์ก็ได้เขียนไว้อย่างพิสดารเกี่ยวกับขันทีผู้นี้ซึ่งคงจะได้เอ่ยถึงในช่วงต่อไป

อานเต๋อไห่ ขันทีน้อยได้รับอามิสสินบน จาก นางสนมอี้หลาน ก็ได้ใจ คอยช่วยเหลือบอกข่าวแก่นางสาวอี้หลานอย่างเต็มใจ และได้ผลเสียด้วย เขาจัดคิว ให้ อี้หลาน ให้ฮ่องเต้เสียนเฟิง ทรงเข้ามาพบอย่างบังเอิญ(ของเสียนเฟิง)และอย่างตั้งใจของ อี้หลาน หนังสือบอกต่อไปว่า พลันที่เสียนเฟิงฮ่องเต้ ทรงสบพระภักดิ์กับนางสาวอี้หลานถึงกับทรงอึ้ง ไปชั่วขณะ ด้วยอัธยาศัยที่ฝึกฝนตนเองมาอย่างดี เรียกว่าทำการบ้านมาอย่างดีว่างั้นเถอะ นางสาวอี้หลานได้ถวายบังคมอย่างนอบน้อม และได้มีโอกาสได้เพ็ดทูลกับเสียนฟงฮ่องเต้หนุ่มตามลำพังอยู่พักใหญ่แล้วฮ่องเต้ก็ทรงจากไป........

นับจากวันที่พบเจอกับฮ่องเต้แล้ว นางก็ได้แต่รอคอยว่าคืนไหนจะมีบัญชาให้ทรงเฝ้าฯ แต่รอแล้วรอเล่าเฝ้าแต่รอ องค์เสียนเฟิงก็ไม่มีหมายเรียกสักที นางจึงต้องพยายามเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ ถึงสำเร็จ เพราะว่าครั้งแรกเสียนเฟิงทรงลืม แต่เมื่อได้มาบรรจบพบกันอีกเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้นางจึงได้ใช้มารยาอย่างเต็มที่ และแล้ว......ในคืนนั้นเองขณะที่ฮ่องเต้กำลังจะเข้าสู่ที่บรรทม....ขันทีข้างกาย ก็ถือถาดที่มีรายชื่อของนางสนมทุกนาง เดินเข้าไปถวายข้างพระแท่นบรรทม ฮ่องเต้จึงเลือกหยิบชื่อนางสาวเย่เหอนาลาอี้หลานขึ้นมาแล้วโยนให้ขันทีผู้นั้น เป็นอันรับทราบว่า คืนนี้นางที่จะเข้ารับสนองพระเดชพระคุณก็เป็นนางสาวอี้หลานนั่นเอง.....

ฝ่ายอี้หลานคืนนี้นอนไม่หลับกระสับกระส่าย...ว่าคืนนี้ไหมหนอที่จะได้เฝ้ารับใช้เสียทีเวลาช่างผ่านไปช้าเสียเหลือเกิน และแล้ว กระทั่ง มีขันทีเข้ามาแจ้ง ถึงราชโองการว่าเวรเฝ้าในวันนี้คือนาง พลันนางก็เลือดไหลพล่านไปทั่วสพางค์กาย ยินดีปรีดาเป็นยิ่งนักจึงรีบเปลื้องผ้าออกเปลือยตัวล่อนจ้อนลงนอนบนผ้านวมเพื่อให้ขันทีม้วนห่อกายนางแบกใส่บ่าเข้าไปเฝ้าเสียนเฟิง.........

(หมายเหตุ-ในสมัยชิง หรือสมัยราชวงศ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสมัยหมิง ซึ่งใกล้เคียงกัน มีธรรมเนียมหรือกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยองค์ฮ่องเต้ และชีวิตความเป็นอยู่ภายในวังในยามวิกาล นอกจากองค์ฮ่องเต้เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นชายซึ่งสามารถอยู่ได้ในพระราชวัง นอกนั้น ขุนนางฝ่ายหน้าหรือผู้ชายรวมทั้งราชองค์รักษ์ต่าง ๆ จะต้องออกจากวังไปจนหมดปราศจากผู้ชาย คงเหลือเพียงนางสนม นางกำนัล ไทเฮา ฮองเฮา และ มเหสี ต่าง ๆ เท่านั้น มีเพียงขันที ที่ถูก "เจี๋ยน"แล้ว เป็นผู้รับใช้องค์ฮ่องเต้ที่มีสิทธิ์อยู่ภายในวังได้เพราะไม่ถือว่าเป็นชายแล้ว-นี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า "วังต้องห้าม"  ส่วน องค์ฮ่องเต้ จะมีห้องบรรทม ในตำหนักใหญ่ ซึ่งอยู่ คนละตำหนักกับ ฮองเฮา ซึ่งก็คือ อัครมเหสี คืนไหน ฮ่องเต้มีความประสงค์จะไปอยู่กับฮองเฮา ก็เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย แต่ถ้าคืนไหน ฮ่องเต้จะประทับอยู่ในตำหนักของพระองค์เอง ก็เป็นที่รู้กันว่า ขันทีใกล้ชิดประจำตำหนัก จะต้องนำถาดรายชื่อนางสนม เข้าไปให้เลือก ส่วนนางใดถ้าได้เลื่อนเป็นพระสนมแล้ว ก็เป็นอัธยาศัยของฮ่องเต้ ซึ่งจะไปหานางถึงห้องก็ได้ หรืออาจบอกขันทีให้นำนางมาส่งก็ได้ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย อีกอย่าง สาเหตุที่ต้องให้นางสนม เปลื้องผ้าเหลือเพียงแต่ตัว แม้แต่ผม ก็ต้องปล่อยห้ามมีสิ่งประดับใด ๆ ติดตัวไป เนื่องจาก อดีตฮ่องเต้หลายพระองค์ ถูกนางสนมเหล่านี้ ลอบปลงพระชนม์ ด้วยการเอาปิ่นปักผมทิ่มแทงไปยังองค์ฮ่องเต้ อันนี้ จึงเป็นที่มาของกฏที่จะต้องให้นางสนมเปลื้องผ้าและเครื่องประดับก่อนที่จะให้ขันทีห่อผ้าห่มแบกเข้าไปถวายตัวต่อฮ่องเต้...)

เวอร์ชั่นนี้แหละครับ เรื่องซูสีไทเฮา โดยเจน จำรัสศิลป์ ที่เป็นสำนวนที่ไหงชื่นชอบมากที่สุดนอกเหนือจากของอาจารย์หม่อม ซึ่งเนื้อหาวิจิตรพิสดารพันลึกกว่ามาก ไหงอ่านตั้ง 3 รอบ(ฉบับพิมพ์ปัจจุบัน)

นางสาวอี้หลานได้ถวายตัวสมใจอยาก หนังสือ หรือประวัติศาสตร์ได้แต่เติมบอกว่า เธอได้พยายามสร้างความประทับใจให้กับเสียนเฟิงอย่างเต็มกำลังความสามารถเท่าที่มีอยู่เพื่อให้เสียนเฟิงประทับใจนางให้จงได้ และนับจากวันนั้น นางก็มีโอกาสใกล้ชิดกับเสียนเฟิงมากขึ้น วันเวลาผ่านไป ได้เข้าเฝ้าหลาย ๆ รอบ และแล้ว นางก็ตั้งครรภ์ขึ้นมา จึงทำให้นางได้เลื่อนขึ้นมาเป็น พระสนม (นางสนมนี้เทียบเท่ากับคนธรรมดาสามัญข้าราชบริพารหรือขันทีไม่ต้องแสดงความคารวะ) ส่วนพระสนม ได้เป็นบรรดาศักดิ์ขั้นแรก จึงต้องมีการ บังคม ในเบื้องต้น ถือว่าเป็นการเลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นขั้นแรก

แต่แล้ว ความฝันของพระสนมอี้หลานก็พลันสลาย เมื่อครบรอบวันกำเนิดทารก ซึ่งเป็นเพศหญิง ได้เสียชีวิตในวันคลอดนั่นเอง ทำให้นางผิดหวังและเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่า ทารกจะไม่เสียชีวิต ก็ไม่ต่างอะไรไปจากมีชีวิตอยู่ เพราะการได้ ลูกสาว หาได้เกิดผลแต่อย่างใดต่อนางไม่ นางจึงต้องตัดใจและเริ่มต้นบทเรียนใหม่ทำร่างกายให้เข้ารูปเข้ารอยและฟื้นให้คืนมางดงามดังเดิม แล้วบทการนำเสนอตัวเอง ก็ก้าวเข้ามาเริ่มนับหนึ่งใหม่รวบรัดตัดตอนไปเลยว่า คราวนี้ นางได้ให้กำเนิด พระโอรส ยังความปีติยินดีแก่เสียนเฟิงฮ่องเต้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเสียนเฟิง ไม่มีโอรสกับสนมนางใดเลย ไม่พอ พระนางฉืออันฮองเฮาก็ทรงเป็นหมัน ดังนั้น โอรสของพระองค์ที่เกิดแก่พระสนมอี้หลานจึงเป็นโอรสองค์แรกและองค์เดียวของเสียนเฟิง ทีนี้เอง แววแห่งความรุ่งโรจน์ของอี้หลานก็เริ่มเปล่งรัศมีขึ้น นางได้เลื่อนขึ้นมาเป็นตำแหน่งพระสนมเอกโดยทันที ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นรองแต่เพียง พระนางฉืออันฮองเฮา เท่านั้น.......

ถึงตอนนี้ พระสนมเอกอี้หลานได้เริ่มตั้งตัวได้แล้ว เริ่มสะสมข้าราชบริภารเก็บไว้เป็นพรรคพวกเพิ่มขึ้น โดยมีอันเต๋อไห่ เป็นยอดขันทีคู่พระทัย นางได้รับความเมตตาจากเสียนเฟิงมาก และด้วยความเป็นตำแหน่งพระสนมเอก นางจึงมีสิทธิออกนอกวังได้ นางได้ถือโอกาสทูลลาเพื่อไปเยี่ยมมารดาและน้องชายน้องสาวที่บ้านนอกกรุงปักกิ่ง ถึงเวลาที่นางได้เดินทาง นับว่าเป็นการสมพระเกียรติยศของพระมารดาของราชโอรสของฮ่องเต้ ขบวนเกี้ยวของนางจึงไม่ธรรมดา มีเครื่องยศ นำหน้าด้วยนายทหารราชองค์รักษ์ และ กองทหาร ตามด้วยเกี้ยวของพระนาง และขบวนแห่ปี่กลองฉิ่งฉาบปี่แตร และลูกหาบเครื่องคาวข้าวของต่าง ๆ ที่พระนางนำไปเป็นของกำนัลแก่มารดาของพระนาง ขบวนแห่ของพระสนมเอกอี้หลานออกจากประตูวังไป มุ่งหน้าสู่ ตำบลหมู่บ้านของนาง ผ่านชุมชนบ้านเรือนซื่อเหอย่วน(บ้านเรือนแบบปักกิ่ง เรียกว่า "บ้านทรงซื่อเหอย่วน" ปัจจุบันยังมีอยู่รายรอบเมืองเก่าในกรุงปักกิ่ง เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวปักกิ่งที่สืบทอดกันมา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและอาคารโบราณที่ทางการปักกิ่งอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี) จนไปถึงหมู่บ้านของพระนาง ซึ่งตอนนี้ จากเด็กสาวธรรมดา ๆ นางได้กลับมาอย่างนางราชสีห์ ชาวบ้านทุกคนไม่ว่าหนุ่มแหน่แก่เฒ่าเด็ก ๆ เล็กแดง ไม่เว้นแม้กระทั่งมารดาและน้องสาวน้องชายต่างต้องแสดงความคำนับ ตามประเพณีให้กับพระสนมเอก......เมื่อนางได้เข้าสู่ภายในบ้าน อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาระหว่างมารดาน้องสาวน้องชายแล้ว พิธีการต่าง ๆ ก็ยกทิ้งไป สามสี่แม่ลูกเข้ากอดกันกลม ร้องห่มร้องไห้ปลาบปลื้มปีติยินดี ปรีดาเป็นอย่างยิ่ง ก่อนกลับนางได้มอบสิ่งของมีค่าทั้งของกินของใช้แก้วแหวนเงินทอง ให้กับ มารดาและน้องสาวน้องชาย พลางให้คำมั่นสัญญาว่า หากได้เป็นใหญ่กว่านี้ ในวันหน้า จะต้องรับ ทั้งสามคนเข้าไปอยู่ร่วมกันในวังให้จงได้......ซึ่งก็เป็นจริงของนาง ต่อไปภายหน้า น้องชายและน้องสาวของนางจะมีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์จีนในทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...........................

ภาพถ่ายพระนางฉือซีไท่โฮ่วในช่วงที่เรืองอำนาจสูงสุดปราศจากอุปสรรคขวากหนาม

(ขออนุญาตจบตอนก่อน-แล้วจะกลับมาเขียนต่อ-เพราะตอนต่อไป จะต้องเปิดตำราเพื่อความถูกต้องก่อน.)-ตอเซี้ย

ครับ วันนี้ วันที่ 29 พฤษภาคม 2553 เป็นวันเสาร์สนุกสุดสัปดาห์มาว่ากันต่อถึงเรื่องพระนางชูศรี กันเลยนะครับ ต่อจากนี้ไปเป็นเนื้อหาที่ต้องใช้ตำราประวัติศาสตร์จีนเข้ามาช่วยเพื่อความถูกต้องครับ เชิญติดตามอ่านได้เลยครับ..........

ขอกลับขึ้นไปถึงเรื่องของฮ่องเต้เสียนเฟิง พระสวามีของพระนางซูสีไทเฮา  ในปี ค.ศ.1850 (พ.ศ.2393-อันตรงกับรัชกาลที่ 5 พระปิยะมหาราชของไทยเรา) จักรพรรดิเต้ากวง ซึ่งเป็นพระราชบิดา ของเสียนเฟิง สิ้นพระชนม์ ราชโอรส ซึ่งเป็นรัชทายาท มีนามว่า เหวินจง จึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา มีชื่อรัชกาลว่า "เสียนเฟิง" (คศ.1850-1861 สิ้นพระชนม์) จะเห็นได้ว่า ฮ่องเต้เสียนเฟิง ทรงมีเป็นจักรพรรดิ์ที่มีอายุรัชกาล สั้น เสียจริง ๆ มาเข้าเรื่องกันเลยครับ

ในช่วงที่ เสียนเฟิง ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา คือจักพรรติ์เต้ากวง ราชอาณาจักรแมนจู หรือ ชิง ในยุคนั้น เป็นช่วงที่เกิดสงครามระหว่างราชสำนัก กับ กบฏไท่ผิงของท่านหงซิ่วฉวนของเรา การต่อสู้เป็นไปอย่างเข้มข้นเมื่อท่านหงซิ่วฉวนรุกคืบขึ้นมาตั้งเมืองหลวงได้ถึง กรุงหนานจิง(นานกิง) ในขณะที่คณะขุนนางที่ทำการต่อสู้ในสมัยของฮ่องเต้เต้ากวง ก็ได้ทำการรู้รบกับไท่ผิงเทียนกว๋ออย่างหนัก และรุกฆาต จนกระทั่งสามารถปราบราชอาณาจักรไท่ผิงเทียนกว๋อได้อย่างราบคาบ ซึ่งส่วนหนึ่งในความสำเร็จอยู่ที่ความอ่อนแอไม่เป็นระบบขาดประสบการณ์ของขุนศึกต่าง ๆ ของไท่ผิง รวมถึงตัวหงซิ่วฉวนเอง ถ้าเหตุการณ์ไม่ลงเอยในรูปแบบนี้ ประเทศจีนทุกวันนี้อาจจะมีภาษาฮากกาเป็นภาษาราชการ แทนภาษาปักกิ่ง ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า "ผู่ทงฮว่า"

อีกไม่นานต่อมา ก็ได้เกิดการบุกเข้ามายังกรุงปักกิ่ง ของกองทัพอังกฤษกับฝรั่งเศส ในเดือนกันยายน ค.ศ.1960 ฮ่องเต้เสียนเฟิงจึงจำต้องหลบหนีลี้ภัยไปยังพระราชวังฤดูร้อนที่ เย่อเหอ (เย่อเหอเป็นเมืองคู่แฝดกับกรุงปักกิ่ง อยู่ทางทิศเหนือของกรุงปักกิ่งขึ้นไป ประมาณสัก ร้อยกว่าสองร้อยกว่ากิโลเมตร โดยราชสำนักชิงได้มาสร้างวังฤดูร้อนขึ้นที่นี่ เพื่อให้ฮ่องเต้และเหล่ามเหสีนางสนมกำนัลใช้เป็นที่พักผ่อนหลบร้อนจากกรุงปักกิ่งและทรงกีฬา ล่า กวาง ด้วย ปัจจุบัน เย่อเหอ ถูกประเทศจีนใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น "เฉิงเต๋อ" เป็นเมืองสำคัญที่ถูกบรรจุในโปรแกรมทัวร์ปักกิ่งจากบริษัททัวร์ต่าง ๆ และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไปด้วย)  โดยหอบหิ้วเอาฮองเฮาและพระสนมเอกอี้หลาน ข้าราชบริพารต่าง ๆ และได้มอบหมายให้ "เจ้าชายกง" ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมอุทรเดียวกัน ทรงรักษากรุงปักกิ่ง เจ้าชายกงนี้ ต่อมาจะเป็นเสาหลักสำคัญในการร่วมกับพระนางฉือซี ไท่โฮ่ว ปฏิวัติได้สำเร็จหลังจากที่เสียนเฟิงสิ้นพระชนม์ที่เย่อเหอ จะเป็นอย่างไร มาตามกันต่อ  ฮ่องเต้เสียนเฟิง หลบภัยไปเย่อเหอ ได้มีเจ้านายในราชวงศ์แมนจูที่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยและเชื่อถืออย่างที่สุดติดตามไปด้วย ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นละครตัวเอกในเรื่องซูสีไทเฮาตอนต้นกันทั้งนั้น บุคคลเหล่านี้คือ ซู่ซุ่น ไช่หยวน และ ตวนหัว ซึ่งสององค์หลังเป็นเจ้าราชวงศ์ที่สนิทไว้วางใจของเสียนเฟิงส่วนซุ่ซุ่นเป็นขุนนางสามัญชนแต่เป็นหัวหน้าคณะองคมนตรี ซึ่งเป็นที่โปรดปรานยิ่งกว่าขุนนางองคมนตรีองค์ใดของเสียนเฟิง เมื่อไปถึง เย่อเหอ อิทธิพลของ ซุ่ซุ่นยิ่งได้ใหญ่โตมีความสำคัญสูงยิ่งขึ้นไปอีก ประวัติศาสตร์จีนกล่าวว่า  "อิทธิพลของซุ่ซุ่นกับพวกยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะยิ่งใกล้ชิดกับองค์จักรพรรดิ์ซึ่งตามปกติก็ทรงเป็นคนอ่อนแออยู่แล้ว  ถึงขนาดสามารถปลุกปั่นให้จักรพรรดิ์มีพระบรมราชโองการตามความประสงค์ของตนได้ตามชอบใจ ซู่ซุ่นผู้นี้ ทั้งเจ้านายและขุนนางแมนจูพากันชิงชังรังเกียจยิ่งนักเพราะเป็นผู้สนับสนุนให้แต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งขุนนางเชื้อชาติฮั่น(จีน) หลายต่อหลายคนและก็ขึ้นชื่อลือชาว่า เป็นคนโหดร้ายใจอำมหิตด้วย"(ประวัติศาสตร์จีน-ทวีป วรดิลก หน้า 635)

ลอร์ด ชาร็เด็น พาวเวล์ ผู้สำเร็จราชการอินเดีย ผู้นำกองทัพบริทิชและฝรั่งเศสเข้าสู่กรุงปักกิ่ง และ เผาพระราชวังหยวนหมิงหยวนซึ่งถือว่าสวยงามที่สุดในยุคราชวงศ์ชิงปัจจุบัน โลกทั้งโลกต่างสุดแสนเสียดาย พระราชวังหยวนหมิงหยวน ซึ่งสร้างในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ซึ่งวิจิตรพิสดารมาก มีการจำลองสวนแบบบาบิโลเนียและ เสาอาคารแบบกรีกและโรมัน ว่ากันว่า ไฟโหมลุกไหม้ ตั้ง 7 วัน 7 คืนจึงจะสงบ ส่งผลให้พระสติของเสียนเฟิงทรงเครียดจัด และหันไปพึ่งน้ำเมา(น้ำจันทร์) และฝิ่น จนร่างกายทนไม่ไหวตรอมใจตายไปเสียก่อน (ว่ากันว่าไฟที่ลุกไหม้พระราชวังหยวนหมิงหยวนที่ปักกิ่งมองเห็นได้จากเย่อเหอซึ่งห่างไกลไปเกือบ 200 กิโลเมตรเลยทีเดียว เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก ปัจจุบัน องค์การยูเนสโก ได้ประนามการกระทำดังกล่าว และหยวนหมิงหยวนคงเหลือแต่เสาแบบโรมันและกรีกให้ดูต่างหน้าเท่านั้น

ในระหว่างที่อยู่เย่อเหอนี้ พระสนมเอกอี้หลาน ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นมเหสีตะวันตก เรียบร้อยแล้ว เพราะมีฐานะเป็นพระราชมารดาของราชโอรสของเสียนเฟิงฮ่องเต้......

ศึกชิงอำนาจระหว่างสองไทเฮากับ คณะผู้สำเร็จราชการ ซู่ซุ่น

กลับมาอ่านกันต่อนะครับ ตั้งแต่ตอนต่อนี้ไป ไหงจะร่ายยาวออกมาเป็นสำนวนของไหงเอง โดยอาศัยความจำทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า อาจจะนำไปใช้อ้างอิงได้ ไม่เต็มที่ แต่จะไม่ต่อเติมเสริมแต่งหรือแสดงความคิดเห็นส่วนตัวอย่างเป็นทางการนะครับ ถือว่า เป็นเรื่องที่อ่านกันเอาสนุกสนานก็แล้วกันนะครับ

ที่เย่อเหอ ฮ่องเต้เสียนเฟิง ได้อาศัยคณะองคมนตรีคือกลุ่มของซู่ซุ่น และ บรรดาเจ้าราชวงศ์ทั้งหลาย ในตอนนี้ ขออธิบายว่า ซุ่ซุ่น นั้น เป็นข้าราชการสามัญชนชาวแมนจู ส่วน คณะของเขา เป็นเจ้าราชวงศ์ชิงทุกองค์ แต่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของซุ่ซุ่น และ ซุ่ซุ่น ก็มีอำนาจและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของจักรพรรดิเสียนเฟิงมาก ดังนั้น จึงถือได้ว่า ที่พระราชวังฤดูร้อนที่เย่อเหอที่เสียนเฟิงหลบภัยมาพำนักอยู่นี้ มีคณะของซุ่ซุ่นที่คอยเป็นที่ปรึกษา คนสำคัญ ส่วนทางปักกิ่ง ก็มีเจ้าชาย กง พระอนุชา คอยรับหน้า 2 กองทัพต่างชาติฝรั่งเศสกับอังกฤษที่บุกเข้ามายังปักกิ่ง

ระหว่างที่ประทับอยู่เย่อเหอ เสียนเฟิง มีพระอาการไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก และมีอาการทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น สาเหตุเหล่านี้ สืบเนื่องมาจาก การที่ต้องทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาคือฮ่องเต้เต้ากวง ซึ่งยังมีภาระกิจปราบปราม กบฏไท่ผิง อันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติจีน และองค์เสียนเฟิงเองก็ต้องมารับช่วงต่อ ในการปราบปรามกองทัพของไท่ผิง จนในที่สุด ขุนศึกแมนจูก็สามารถปราบกบฏไท่ผิง ได้สำเร็จ โดย ความผิดพลาดของขุนศึก สือต๊ะไค มือขวา ของ ฮ่องเต้หงซิ่วฉวน ซึ่งทั้งสองท่านนี้ เป็นชาวฮากกา แต่พอเสร็จศึกกบฏไท่ผิง และ สงครามฝิ่นแล้ว ก็กลับมาเจอการบุกของกองทัพ 2 ชาติขึ้นมาอีก จึงทำให้ทรงต้องลี้ภัยขึ้นไปอยู่ที่เย่อเหอ

บ่อยครั้ง ที่คณะที่ปรึกษานำโดยซู่ซุ่น ถวายราชการงานเมืองกับเสียนเฟิง พระนางอี้หลานมเหสีตะวันตก ได้ผลีผลามเข้ามาแสดงความคิดเห็น และ เสนอแนะหาทางออกได้อย่างแยบยล จนสุดที่เสียนเฟิงและพวกซู่ซุ่น จนปัญญาที่จะไม่รับฟังได้ เพราะเป็นความเห็นที่เฉียบแหลม และ ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เกินกว่าที่สตรีคนหนึ่ง จะมีความคิดอันเฉลียวฉลาดและแยบยลอย่างพระนางได้ เหตุการณ์นี้ ทรงทำให้เสียนเฟิง มีใจระแวงระวังพระนางอี้หลาน รวมทั้งซุ่ซุ่นและพวก ต่างก็เกิดความระแวงและชิงชังพระนางอี้หลานเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน ในขณะที่เหตุการณ์กำลังดำเนินไปอย่างเข้าด้ายเข้าเข็ม ทางปักกิ่งก็ยังไม่เรียบร้อย เจ้าชายกง ก็อยู่ในระหว่างเจรจากับคณะผู้แทนกองทัพ 8 ชาติอยู่ ในระหว่างนั้นเอง เสียนเฟิง ทรงมีพระสุขภาพแย่ลงเรื่อย ๆ ทรงป่วยด้วยอาการหอบหืด เหนื่อย หอบ ไอ และมีไข้สูง พระมเหสีทั้งสอง ก็มีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ไม่แพ้พวกของซู่ซุ่น เช่นกัน ต่างปริวิตกต่อพระอาการของเสียนเฟิง ในหนังสือเรื่องซูสีไทเฮา และภาพยนต์ทีวีที่รัฐบาลจีนสร้าง ได้เล่าเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า พระนางอี้หลานได้ปรุงยาถวาย ทำให้พระอาการทุเลาและกระปรี้กระเปร่าขึ้น จึงมีความยินดีและนึกขอบใจในพระนางอี้หลานมเหสีตะวันตก แต่เรื่องราวในหนังสือได้บอกว่า นาง แอบใช้ "ฝิ่น" เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรุงที่ต้มถวายให้เสียนฟงดื่ม เพื่อให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า และ ตื่นตัว แต่เป็นการบ่อนทำลายร่างกายของเสียนเฟิงไปในตัวด้วย

อาการของเสียนเฟิง ที่ได้เสวยโอสถที่พระมเหสีตะวันตกปรุงถวายได้ดีขึ้นเพียงไม่นาน อาการกลับทรุดลงมาก ด้วยสามัญสำนึกและสัมผัสที่หกที่ทรงระแวงมเหสีอี้หลาน จึงได้ทรงปรึกษาหารือกันกับคณะซู่ซุ่น ถึงความฉลาดหลักแหลมเกินตัวของพระนางอี้หลาน ทรงเกรงว่า นาง จะคิดการณ์ใหญ่ จึงทรงตัดไฟแต่ต้นลม มีบรมราชโองการให้ซู่ซุ่น เป็นหัวหน้าคณะผู้สำเร็จราชการแทนฮ่องเต้องค์ใหม่ หลังจากที่พระองค์ไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว เพราะทรงรู้ตัวเองดี ถึงแม้ว่า จะทรงเขียนบรมราชโองการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์ แต่.........

ในที่สุด เสียนฟง ก็ทนสู้กับพระโรคไม่ไหว จึงสวรรคตไป ในขณะที่มีอายุได้เพียง สามสิบกว่าปี อีกทั้งทางปักกิ่ง ก็ได้เจรจากับกองทัพ 2 ชาติเรียบร้อยพอดี เกี่ยวกับการป่วยของเสียนเฟิงฮ่องเต้นั้น ประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกว่าท่านป่วยเป็นโรคอะไร แต่เพียงอนุมานว่า พระองค์ทรงป่วยเป็น วัณโรค ซึ่งไหงเข้าใจเอาเองว่า คงไม่ใช่แน่นอน ถ้าทรงเป็นวัณโรค ในตอนนั้น บุคคลแวดล้อมต่างมิต้องติดพระโรคนี้กันไปหมดหรือ?  (อันนี้ขออนุญาตแสดงความเห็นเป็นการส่วนตัวว่า พระองค์ทรงมีร่างกายที่อ่อนแอ และมาเจอกับความเครียด จึงทำให้อาการกำเริบ ซึ่งอาการโรคของเสียนเฟิง ไหงว่า น่าจะเป็น "โรคหอบหืด" มากกว่า แต่ด้วยวิทยาการแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่เจริญ-หมายถึงการแพทย์แผนใหม่ของจีน-แต่การแพทย์แผนจีนก็ดีมาก เพียงแต่ว่า ทรงอยู่ในภาวะที่ คับขันมิคสัญญี และอาจถูกวางยาได้ จึงทนไม่ไหว เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน)

ภาพวาดเสมือนจริงของจักรพรรดิถงจื้อ

ถึงช่วงนี้ ก็เกิดความมันส์แล้วละครับ พี่น้อง ทางวังฤดูร้อนที่เย่อเหอก็ได้จัดการพระศพของเสียนเฟิง โดย ซู่ซุ่น และ คณะผู้สำเร็จราชการ ได้แสดงตัวแล้วว่า มีบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตนเอง และคณะองค์มนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ยุวกษัตริย์ คือ โอรสของเสียนเฟิงกับอี้หลานมเหสีตะวันตก ซู่ซุ่นยังได้ประกาศห้ามมิให้เจ้าชายกง เสด็จเดินทางมาที่เย่อเหอเพื่อคำนับพระศพตามราชประเพณี โดยอ้างความปลอดภัยของพระราชวังหลวงที่ปักกิ่ง เหตุการณ์นี้ ว่ากันว่า เป็นการลดทอนอำนาจและบทบาทของเจ้าชายกง ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมบิดามารดาเดียวกันกับฮ่องเต้เสียนเฟิง แต่คณะซู่ซุ่นหารู้ไม่ว่า พระนางอี้หลานฉลาดล้ำลึกเกินกว่าที่พวกตนจะนึกคิดได้ พระนางอี้หลาน ซึ่งบัดนี้ ได้เลื่อนพระอิสิริยยศเป็น พระนางฉือซี ไท่โฮ่ว ซึ่งแปลว่า ไทเฮาตะวันตก ส่วนพระอัครมเหสีตะวันออก ได้พระราชทินนามว่า พระนางฉืออัน ไท่โฮ่ว ซึ่งก็หมายความว่า ไทเฮาผู้เมตตา ร่มเย็น ทำนองนี้  พระนางฉือซีไท่โฮ่ว (คำว่า ไท่โฮ่ว-น่าจะหมายความว่า ผู้เป็นใหญ่เบื้องหลัง(ฮ่องเต้) ซึ่งก็คือพระมารดาของฮ่องเต้ หรือตรงกับของไทยเราก็คือ พระบรมราชชนนี-พันปีหลวง) พระนางฉือซีไท่โฮ่ว ซึ่งต่อไปไหงจะเรียกว่า พระนางซูสีไทเฮาตามที่บ้านเราคุ้นเคย หรือพระนางชูศรี ตามที่ไหงชอบเรียก

พระนางซูสีไทเฮาทรงฉลาดล้ำลึกมาก ทรงแอบเก็บตราลัญจกร หรือตราหยกประจำพระองค์ฮ่องเต้เสียนเฟิงไว้กับตัวเองอย่างมิดชิดโดยที่หามีผู้ใดล่วงรู้ไม่ ในตอนนี้ พระนางชูศรี กับพวกของซู่ซุ่น ต่างชิงไหวชิงพริบกันอย่างถึงพริกถึงขิง ซึ่งตามกฏมณเฑียรบาล องค์ไทเฮา จะไม่มีสิทธิสำเร็จราชการแทนยุวฮ่องเต้ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เคยมีในประวัติศาสตร์จีนก่อนราชวงศ์ชิงเลย ในสมัยราชวงศ์หมิง ยังมีการที่ไทเฮาเคยเป็นใหญ่ในแผ่นดิน รักษาราชการแทนฮ่องเต้ที่ยังทรงพระเยาว์ ได้ พระนางซูสี ได้ยกข้อนี้ขึ้นมาอ้าง ทั้งยังได้รับการเห็นด้วยจากพระนางฉืออันไท่โฮ่วเสียด้วย แต่พวกซู่ซุ่นไม่ยอม โดยอ้างว่า พวกตนได้รับการแต่งตั้งจากองค์เสียนเฟิงให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนฮ่องเต้องค์น้อย ในชั้นนี้ พระนางซูสีไทเฮาจึงทำเป็นยินยอม แต่ซู่ซุ่นและพวกหารู้ไม่ว่า พระนางได้แอบปลอมราชโองการให้ประหารซู่ซุ่นและคณะ โดยประทับตราลัญจกรของเสียนเฟิงอย่างถูกต้องเสียด้วย โดยพระนาง แอบให้อานเต๋อไห่ ขันทีคนสนิท ลักลอบเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อมอบให้กับเจ้าชายกง พระเจ้าอา โดยทั้งสองได้ลอบส่งจดหมายนัดแนะกันเรียบร้อยแล้ว...

พระนางชูศรีในเครื่องทรงเต็มยศ

ตามกฏมณเฑียรบาลของราชวงศ์ชิง หากองค์จักรพรรดิ์ไปเสด็จสวรรคตยังต่างเมือง ห้ามมิให้พระมเหสี เสด็จตามขบวนพระศพกลับเมืองหลวงไปด้วย โดยจะต้องเสด็จเดินทางไปก่อนขบวนพระศพ ดังนี้ พวกของซู่ซุ่น ได้คิดวางแผนไว้แล้วว่า จะลอบสังหารไทเฮาทั้งสององค์ในระหว่างทาง พอถึงปักกิ่ง ก็จะนำกำลังทหารของตนทั้งหมด ยึดกุมอำนาจและประหารเจ้าชายกงเสีย

เมื่อต่างฝ่ายต่างวางแผนการณ์ไว้แล้ว ซู่ซุ่นก็ได้แต่กระหยิ่มยิ้มใจว่าอำนาจอันยิ่งใหญ่คงไม่หลุดลอยไปจากมือของตนอย่างแน่นอน....เมื่อหมายกำหนดการเดินทางของสองไทเฮา มาถึง ทั้งสองพระนาง จึงได้ออกเดินทางล่วงหน้าพระศพไปยังกรุงปักกิ่ง และระหว่างทาง นั้น ทหารที่นำขบวนไป ก็ได้รับมอบหมายให้ "สำเร็จโทษ" สองพระนางนั้นเสียทันที........

เหมือนกับฟ้าได้ลิขิตไว้......มิเพียงแต่สองพระนางไทเฮาจะปลอดภัย เพราะหัวหน้าทหารผู้นำขบวนเสด็จของพระนางทั้งสอง เป็นนายกองหนุ่ม ซึ่งมีชื่อว่า  หยงลุ???  ช่างเป็นเรื่องที่น่าบังเอิญเสียจริง ๆ ว่า อดีตคนรักของพระนางซูสีไทเฮา จะได้เดินมาตามเส้นทางการทหารจนไต่เต้าขึ้นมาและได้มีโอกาสถวายงานให้กับอดีตคนรักในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับชีวิตเสียด้วย อันนี้ หนังสือและไหง ไม่ได้แต่งเพิ่มเติมเองนะครับ ประวัติศาสตร์จีนเขียนไว้อย่างนี้จริง ๆ ในเมื่อ หยงลุ นายกองหนุ่ม ผู้นำขบวนอารักขาสองพระนางไทเฮา นอกจากจะทรงปลอดภัยแล้ว พระนางซูสีถึงกับสบายอกสบายใจ ที่ทำไมโอกาสของพระนางช่างสดใสไร้อุปสรรคเสียจริง

ส่วนขบวนพระศพที่เคลื่อนมาตามหลังพระมเหสีทั้งสองพระองค์ โดยมี ซู่ซุ่นและคณะ เป็นผู้นำขบวนพระศพ เคลื่อนสู่กรุงปักกิ่ง โดยหารู้ไม่ว่า พวกตน กำลังเดินทางไปสู่ยมฑูต ที่รอรับอยู่หน้าประตูเมืองด้านทิศเหนือ ไหงได้มีโอกาสดูภาพยนต์ทีวีในตอนนี้ รู้สึกสนุกสนานตื่นเต้นมาก เมื่อขบวนพระศพไปถึง ซู่ซุ่นถึงกับตาเหลือก ว่า เจ้าชายกง ทรงยืนเด่นเป็นสง่า รอรับพระศพพระเชษฐา พร้อมทั้งกองทหารมากมายหลายพันนาย โดยเฉพาะ ปะรำรับเสด็จพระศพของเสียนเฟิง ยังมีไทเฮาทั้งสองพระองค์ ประทับนั่งเด่นเป็นสง่า เพื่อรอรับพระศพ  ซู่ซุ่นเห็นดังนั้น จึงทำใจดีสู้เสือ ชู แผ่นพระบรมราชโองการฯ ที่เสียนเฟิง ประกาศให้ตนเป็นหัวหน้าผู้สำเร็จราชการ ผู้ใดขัดขืน ประหารชีวิตสถานเดียว แล้วออกคำสั่งให้ เจ้าชายกง ทำการถวายการคำนับ แต่เจ้าชายกง หาได้แสดงท่าทีที่ยำเกรงไม่....เจ้าชายกง ได้ชูแผ่นบรมราชโองการ แต่งตั้งให้ พระนางไทเฮาสองพระองค์ เป็นผู้ว่าราชการหลังม่าน ขององค์ฮ่องเต้ โดยมีเจ้าชายกง เป็นอัครมหาเสนาบดี และบรมราชโองการที่มีอยู่ในมือของเจ้าชายกง กลับมีตราประทับหยก หรือราชลัญจกรของเสียนเฟิงฮ่องเต้เสียด้วย เท่านี้แหละพี่น้อง ซู่ซุ่นกับพวก ก็หน้าถอดสี ถูกทหารเข้าล้อมตัว จับกุมนำเข้าเรือนจำเพื่อรอวันประหาร.......

เมื่อเสร็จพระราชพิธีพระศพของเสียนเฟิงฮ่องเต้แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการสถาปนาฮ่องเต้องค์ใหม่ โดยที่พระนางซูสีไทเฮา ทรงกำหนดให้ สองไทเฮา ว่าราชการในระหว่างที่องค์ฮ่องเต้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยนั่งว่าราชการอยู่หลังม่านโปร่งใส เพื่อเป็นพิธีและให้ได้ยินเสียงและมองเห็นหลังราชบัลลังก์ของฮ่องเต้องค์น้อย โดยมีชื่อรัชการนี้ ว่า "ถงจื้อ" แปลว่า "ร่วมกันปกครอง"

ในสมัยของฮ่องเต้ถงจื้อนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นไปอย่างที่พระนางซูสีไทเฮาทรงกำหนดเองหมดทุกอย่างนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป โดยมีเจ้าชายกง น้องสามี เป็นเสนาบดีคู่พระทัย ซึ่งทั้งสององค์ ต่างใส่หน้ากากต่อกันและต่างก็ให้เกียรติกันและกัน เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่า หากขาดคนใดคนหนึ่ง อำนาจของทั้งสองคน ก็จะสั่นคลอน โดยเฉพาะเจ้าชายกง ซึ่งจำเป็นต้องไปตามน้ำ เพราะหากฝืนทำอะไรบู่มบ่ามหรือลุแก่อำนาจ ก็จะต้องโทษ สู้ยอมเป็นพวกของพระนางซูสีเสียจะดีกว่า แต่ด้วยความเป็นพระเจ้าอา และพระนางซูสีไทเฮาก็ได้ให้เกียรติ เจ้าชายกง จึงทะนงตนบ้าง แต่เจ้าชายกงพระองค์นี้ ก็ได้เป็นเสาหลักค้ำบัลลังก์ให้กับพระนางซูสีในระยะแรกแห่งชีวิตไทเฮา   

ในช่วงแรกแห่งรัชกาลถงจื้อนี้ พระนางซูสี ได้แสดงอำนาจและบทบาทขึ้นเรื่อย ๆ ครั้งหนึ่ง (ประวัติศาสตร์ว่าไว้) เจ้าชายกง ได้เข้าขอเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ มีอยู่สองเรื่อง เรื่องหนึง เจ้าชายกง ไม่นั่งคุกเข่ารอระหว่างเสด็จออก ตามกฏมณเฑียรบาล คงประทับยืนเดินไปเดินมา พอพระนางชูศรีเสด็จออก จึงคุกเข่าถวายบังคม ยังความขุ่นเคืองพระทัยของพระนางซูสี  และ อีกครั้งหนึ่ง ในการเข้าเฝ้า พูดคุยกัน ระหว่างพระนางชูศรี กับ เจ้าชายกง โดยพระนางประทับอยู่หลังม่าน ท่ามกลางองครักษ์และขันที จู่จู่ พระนางก็ทรงกรีดร้องกรี๊ด ขึ้นมา โดยหาเหตุที่มาที่ไปไม่ได้ ทำให้เจ้าชายกง เสียศูนย์ไปเลย เหตุการณ์ นี้ จึงเป็นการส่งเสียงเตือนให้เจ้าชายกง ทรงต้องอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระนางซูสีไทเฮาไปโดยปริยายและไม่กร่างอีกเลย เรื่องของเจ้าชายกงประวัติศาสตร์ได้เขียนยกย่องให้ว่าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนเสียนเฟิงที่ปักกิ่งและได้ทรงเซ็นสัญญาต่าง ๆ ที่ ฝรั่ง 8 ชาติ เขียนขึ้นมา อย่างเรียบร้อยและได้เป็นเสาหลักค้ำบัลลังก์ของพระนางชูศรีในช่วงระยะแรกของชีวิตการปกครองของพระนางจวบจนกระทั่งเจ้าชายกงสิ้นพระชนม์ไปเมื่อเข้าสู่วัยชรา

มาพูดถึงเรื่องราวส่วนตัวของพระนางชูศรีตามที่หนังสือเขาเขียนไว้กันต่อ ระหว่างนี้ พระนางชูศรี ได้กำหนดกฏเกณฑ์ให้ฮ่องเต้ ทำตามที่พระนางกำหนดแทบทุกอย่าง ถึงกับสั่งให้พระอาจารย์ถวายอักษร ไม่ต้องเข้มงวดมากนัก (ซึ่งก็คงจะกลัวว่าฮ่องเต้จะทรงเก่งกาจฉลาดเฉลียวเกินกว่าพระนาง) ทรงดุดันเข้มงวดกับพระราชโอรสมาก ถงจื้อฮ่องเต้ จึงทรงกลัวพระราชมารดามาก แต่ในทางกลับกัน ถงจื้อ กลับทรงรักและเคารพต่อพระนางฉืออันไทเฮาเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระนางฉืออัน ทรงเป็นสุภาพสตรีที่มีความเมตตาอารี อ่อนน้อม จิตใจอ่อนโยนสวยงาม และไม่ทะเยอทะยาน แถมยังทรงฝักใฝ่ในธรรม ด้วย ทำให้ถงจื้อฮ่องเต้หนุ่ม ทรงรักและเคารพพระนางฉืออันไทเฮา มากกว่า พระนางซูสีไทเฮาซึ่งเป็นพระราชมารดาแท้ ๆ เรื่องนี้ ทำให้พระนางชูศรีของไหง รู้สึกขุ่นเคืองใจเป็นอย่างมากแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

เมื่อถึงกำหนดที่ฮ่องเต้จะทรงมีพระมเหสีหรือพระสนม พระนางชูศรี ได้บังคับข่มขู่ให้ทรงเลือกนางกำนัลที่พระนางเลือกให้เพราะเป็นคนของพระนาง แต่บังเอิญฮ่องเต้ถงจื้อกลับไม่ชอบสตรีที่พระมารดาเลือกให้ กลับทรงชอบนางกำนัลที่พระนางฉืออันแนะนำ อันนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้ชูศรีไทเฮา ทรงขุ่นเคืองใจเป็นอย่างยิ่ง

พระนางชูศรีไทเฮา ทรงกดดันถงจื้อพระราชโอรสมากเป็นอย่างมาก เอ เป็นอันว่า เมื่อฮ่องเต้ทรงมีพระสนม และมีอายุเกือบที่จะบรรลุนิติภาวะ พระนางยิ่งกดดันพระโอรสเป็นอย่างมาก โดยยกเอาคำสอนของขงจื้อมาอ้าง ว่า บุตร ต้องเคารพรักและเชื่อฟังอีกทั้งต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ ฮ่องเต้ถงจื้อ ถูกกดดันหนัก จึงหันไปกิน ดื่ม เที่ยว โดย มี พระพี่เลี้ยงตัวแสบ แอบพาไปเที่ยวตามซ่องโสเภณีในเมืองปักกิ่ง ทำให้ทรงหลงไหลติดใจในอบายมุขมากขึ้น และทรงป่วย โดยไม่ได้รับการแยแสจากพระมารดาแม้แต่เพียงนิดเดียว ขอสรุปเลยก็แล้วกันว่า พระองค์ทรงป่วยหนักจนถึงแก่สิ้นพระชนม์ ในวัยหนุ่ม ประวัติศาสตร์จีนในตอนต้นบอกว่า พระองค์ทรงเที่ยวโสเภณีจนต้องโรคซิฟิลิส และถึงแก่สิ้นพระชนม์ ต่อมา ประวัติศาสตร์จีนได้ชำระใหม่ว่า ผู้ที่เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคของฮ่องเต้ถงจื้อ ซึ่งก็คือจักรพรรดิผู่อี้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของอาณาจักรต้าชิง ได้ยืนยันว่า จักรพรรดิถงจื้อประชวรด้วยไข้ทรพิษไม่ใช่โรคผู้หญิงอย่างที่ลือกันแล้วเขียนเป็นประวัติศาสตร์ แต่โรคกำเริบจนสิ้นพระชนม์เพราะพระนางซูสีตบตีมเหสีของพระองค์ต่อหน้าจนพระอาการกำเริบถึงสิ้นพระสติ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1875 พระนางชูศรีก็ประนามมเหสีว่าเป็นตัวการทำให้โอรสของนางสิ้นพระชนม์ จึงสั่งกักขังไว้และให้อดอาหารและน้ำนางอยู่มาได้สองเดือนเศษจึงสิ้นพระชนม์ตามพระสวามีไป ยังมีเรื่องราวของฮ่องเต้หรือจักรพรรดิชิงอีกสองพระองค์ซึ่งก็มีพระอาการอาภัพเหมือนกันซึ่งจะได้กล่าวถึงในช่วงถัดไป...

มาว่ากันถึงเรื่องราวอันพิสดารของพระนางชูศรีกันต่อ เป็นที่ทราบว่า พระนางมีขันทีคู่พระทัยคือ อานเต๋อไห่ ซึ่งก่อนนี้เป็นขันทีน้อย ที่คอยปรนนิบัติและทำตามคำสั่งของพระนางซูสีไทเฮาอย่างเคร่งครัด บัดนี้ อานเต๋อไห่ กลับยิ่งใหญ่อยู่ภายในวังหลวงหรือวังต้องห้ามแห่งนี้ เป็นที่เกลียดชังและหมั่นไส้ของขุนนางต่าง ๆ รวมถึงเจ้าชายกงด้วย (ในตอนนี้ หนังสือได้เขียนไว้อย่างพิสดารว่า อานเต๋อไห่ ที่แท้เป็นขันทีปลอม หาได้ถูก "เจี๋ยน" ไม่ เอาไปเอามา จากการปรนนิบัติพระนางชูศรี ทำการนวดสปา สปาไปสปามา หญิงแท้ชายแท้ ก็รู้กัน ทั้งสอง จึงได้กลายมาเป็นคู่นอนกันอย่างที่ไม่มีผู้ใดสงสัยเลย เนียนมาก ๆ เพราะว่า อานเต๋อไห่ เป็นขันที???---ในเรื่องนี้ หนังสือยังแต่งต่อไปอีกว่า อานเต๋อไห่ เป็นที่โปรดปรานของบรรดา อดีตนางสนม และนางกำนัลสาวใหญ่สาวน้อยภายในวังหลวง ทำให้อานเต๋อไห่ นอกจากต้องถวาย สปา แก่พระนางชูศรีแล้ว อานเต๋อไห่ ยังต้องเจียดเวลา ไปให้ นางสนมกำนัลต่าง ๆ สปาให้กับเขาอีก เรื่องนี้ไหนเลยที่พระนางชูศรีไม่อาจจะล่วงรู้ได้ ว่ากันว่า ทรงหึงหวงอย่างหนัก จนนางสนมกำนัลแต่ละนาง ทยอยหายหน้าหายตาไปจากโลก ทีละคนสองคน????---เรื่องนี้ประวัติศาสตร์ไม่ได้เขียนไว้นะครับ โปรดใช้วิจารณญานในการอ่านและให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลในประวัติศาสตร์ด้วย)

เรื่องจริง เกี่ยวกับ อานเต๋อไห่ ที่ประวัติศาสตร์จีนเขียนไว้ ก็คือ เขา ได้ถูกพระนางซูสีไทเฮา ขอร้องให้เดินทางไปยังแดนใต้ (อาจจะเป็น ฮกเกี้ยน เจียงซู หรือ กวางตุ้ง) โดยให้ลักลอบเดินทางไปทางเรือผ่านลำคลองต้ายุ่นเหอ อันนี้ กฏมณเฑียรบาลของราชวงศ์ชิง เขียนไว้อย่างชัดเจนและก็ศักดิ์สิทธิ์มากด้วย ว่า ห้าม ขันที ออกจากเมืองหลวงโดยลำพัง นอกจากติดตามเสด็จฮ่องเต้ แต่เพียงเท่านั้น ถ้าปรากฏว่า ขันที ออกนอกเมืองหลวงโดยลำพัง จะถูกประหารชีวิตทันทีไม่มีอุทรณ์ ฏีกา ทั้งสิ้น

อันที่จริง ถ้าอานเต๋อไห่ แอบเดินทางไปเงียบ ๆ ก็คงไม่มีผู้ใดจับได้ อ้อ ไหงลืมบอกไปว่า ภารกิจที่อานเต๋อไห่ถูกใช้ให้ไป ก็คือ ไปหาซื้อผ้าแพรไหม อย่างดี ทางใต้ของจีน อานเต๋อไห่ หยิ่งผยองลำพองใจมาก จัดขบวนเรือ อย่างยิ่งใหญ่ มีทหารองครักษ์ติดตาม มีนางสนมกำนัลร่วมเดินทางไปปรนนิบัติพัดวีพร้อมทั้งนวดสปาให้บนเรืออย่างอิ่มหนำสำราญใจ ที่สำคัญไปกว่านี้ คือ อานเต๋อไห่ บังอาจ นำธงฮ่องเต้สีเหลือง ปักไว้หน้าเรือด้วย ถ้านั่งเครื่องย้อนเวลากลับไปเมื่อ เกือบสองร้อยปีก่อน ในตอนกลางคืนบนคลองต้ายุ่นเหอ จะมองเห็นเรือสำราญล่องไปตามลำคลองสว่างไสวท่ามกลางความมืดยามรัตติกาล... 

เมื่ออานเต๋อไห่เดินทางไปถึงมณฑลซานตง ด้วยความเอิกเกริกเกรียงไกรของขบวนเรือของอานเต๋อไห่ ข้าหลวงใหญ่แห่งซานตง จึงรีบรายงานมายังเจ้าชายกง เป็นจังหวะดีของเจ้าชายกงซึ่งจะได้แก้เผ็ดพระนางชูศรีและอานเต๋อไห่ เจ้าชายกงจึงรีบเข้าไปถวายรายงานต่อพระนางฉืออันไทเฮา ด้วยกฏมณเฑียรบาลระบุชัด พระนางฉืออันไทเฮาย่อมไม่อาจไม่ปฏิบัติตามกฏได้ จึงจำต้องมีพระบรมราชโองการให้ประหารอานเต๋อไห่ ทันที ที่ซานตง จังหวะนั้น พอดีพระนางซูสีไทเฮา ได้ทรงผ่อนคลายกับการชมงิ้วปักกิ่งซึ่งเป็นที่โปรดปราณเป็นอย่างยิ่งของพระนาง มิหนำซ้ำ ยังสั่งให้ ห้ามผู้ใดทั้งสิ้น เข้ามารบกวน ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม........

ผลปรากฏว่า เมื่อข่าวการประหารอานเต๋อไห่มาถึงหูของพระนาง พระนางจึงทั้งแค้นทั้งเสียใจและอับอายแต่ก็ทำอย่างไรไม่ได้ เพราะเป็นกฏมณเฑียรบาล มิหนำซ้ำ หนังสือยังแต่งต่อไปอีกว่า เมื่ออานเต๋อไห่ ถูกประหาร ความลับเรื่องขันทีปลอมก็ถูกเปิดเผยไปโดยปริยาย ดังนั้น ในฐานะที่อานเต๋อไห่ เป็นขันที ที่อยู่เฝ้าปรนนิบัติพระนางยามค่ำคืนทุกวันคืน เหตุการณ์จะเป็นอย่างใด ทุกคนย่อมคาดเดาได้ดี เรื่องนี้ เจ้าชายกง นำมาถวายรายงานแก่พระนางชูศรี ทำให้พระนางทั้งเจ็บทั้งอาย แต่ก็ยังทรงฝืนทนแสดงเฉยเมยได้อย่าง เข้มแข็ง-เป็นเรื่องจากหนังสือนะครับ ส่วนประวัติศาสตร์จีนกล่าวเพียงว่า อานเต๋อไห่เดินทางด้วยเรือ อย่างเอิกเกริก และไปถูกจับ และประหารชีวิตที่ซานตง เป็นอันจบเรื่องราวของอานเต๋อไห่ มหาขันที คนนี้ ซึ่งต่อไป จะเป็นขันที ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งซึ่งก้าวเข้ามาแทน ท่านผู้นี้ ประวัติศาสตร์จีนว่า ไว้ ว่า ท่านเป็นขันทีแท้ ๆ ที่มีผิวหนังขาวสะอาดหมดจดงดงามดุจดั่งสตรีที่มีผิวขาวเนียน ประวัติศาสตร์จีนว่าไว้อย่างนี้จริง ๆ ครับ มหาขันทีท่านนี้ ได้มาเป็นขันทีคู่พระทัย ของพระนางชูศรี ในครึ่งหลังของชีวิต และท่านผู้นี้เป็นขันที ที่เป็นขันทีจริง ๆ ไม่มีบทบาทโดดเด่นในด้านการเมืองหรือความก้าวร้าวเลย คือความชั่วไม่มีความดีปรากฏว่าเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ น่ะครับ ท่านผู้นี้มีชื่อว่า "หลี่เหลียนอิง" ขันทีผู้โด่งดังที่สุดในประวัติศาตสร์ราชวงศ์ชิงยุคสุดท้าย    

มหาขันทีหลี่เหลียนอิงคู่พระทัยพระนางซูสียืนหน้าขวาสุด

ภาพนี้เป็นภาพที่พระนางชูศรีแต่งเป็นพระแม่กวนอิม มีหลี่เหลียนอิงเป็นอัครสาวก ภาพนี้ พูดตามชาวล้านนาว่า "คึ" มาก ๆ หมายถึงอลังการณ์ ออกเว่อร์ ๆ น่ะครับ คำว่า "คึ" เนี้ย คล้าย ๆ กับว่า มันแปลกไปจากคนธรรมดาเขาทำกันอะไรทำนองนั้น

กลับมาเรื่อง สปา สปา ของพระนางซูสีกันต่อนะครับ หนังสือเรื่องซูสีไทเฮาที่มีผู้เขียนกันนั้น ได้เล่าต่อไปว่า ทีนี้ เมื่อหยงลุ ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจนเป็นนายทหารใหญ่ ในวังหลวง จึงมีโอกาสได้ถวายการอารักขาและเป็นขุนศึกคู่บัลลังก์ของพระนาง เมื่อถ่านไฟเก่ากับถ่านไฟเก่าใกล้กัน ถ่านไฟก็จึงแดงขึ้นมาอีก ทีนี้หยงลุก็จึงเป็นทั้งขุนศึกคู่บัลลังก์และคู่เตียงนอนของพระนาง ว่ากันว่า (ในหนังสือนะครับมิใช่ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นทางการ) หยงลุกับพระนางซูสี คบหากันอยู่นานจนกระทั่งพระนาง ตั้งครรภ์ขึ้นมา ทีนี้ก็เป็นเรื่องสิครับ (ในหนังสือเล่าว่าคราวกับอานเต๋อไห่ก็เกิดท้องขึ้นแต่ตอนนั้นพระนางกำจัดออกไปได้) แต่คราวของหยงลุนี้สิ หนังสือเขียนว่า พระนางเกรงว่าร่างกายของพระนางจะกระเทือน อีกอย่างหนึ่ง ลืมบอกไปครับว่าพอพระนางเป็นใหญ่แล้วก็ได้รับแม่กับน้องสาวเข้าวังด้วยส่วนน้องชายก็ให้เป็นนายทหาร น้อง ๆ หยงลุนี่แหละครับ ส่วนน้องสาวจับแต่งงานกับเจ้าชายจุน ซึ่งต่อมาบุคคลผู้นี้จะมีความสำคัญในประวัติศาสตร์จีนยุคสุดท้ายแห่งราชอาณาจักรต้าชิง  เมื่อพระนางท้องกับหยงลุ พระนางได้คิดแผนการณ์อันแยบยล โดยบงการให้น้องสาวของพระนาง ปล่อยข่าวว่าทรงครรภ์กับเจ้าชายจุน แล้วพระนางทรงดีอกดีใจสั่งให้น้องสาวเข้ามาอาศัยอยู่ภายในตำหนักของพระนาง เพื่อดูแลเอาใจใส่ ในช่วงนั้น พระนางก็เก็บตัวอยู่แต่ในตำหนัก เพื่อดูแลปรนนิบัติน้องสาว คราวนั้น ผู้คนภายในวัง ก็พากันยกย่องชมเชยพระนางว่า สองพี่น้องนี้มีความรักใคร่กันดี เมื่อถึงคราวกำหนดคลอด มเหสีของเจ้าชายจุน ก็คลอดลูกออกมาเป็นองค์ชาย ซึ่งต่อมาองค์ชายองค์นี้ ก็จะมีบทบาทในประวัติศาสตร์จีนอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถม ดี และ ดัง อีกด้วย แต่ สุดแสนจะอาภัพนัก......

ภาพวาดเสมือนจริงของจักรพรรดิกวางสู

ตัดมาที่ เรื่องราวเกี่ยวกับสปาของพระนางซูสีอีกครั้งนะครับ รับรองว่า ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ซึ่งประวัติศาสตร์ไม่ได้เขียนบันทึกอย่างเป็นทางการ แต่หนังสือที่มีผู้เขียนถึงเรื่องของพระนาง เขียนไว้ว่า พระนางซูสีไทเฮาทรงโปรดปราน "งิ้วปักกิ่ง" อย่างเป็นชีวิตจิตใจ (เหมือนไหง-ชอบมาก ๆ ) ทุก ๆ ปี เมื่อถึงเทศกาลสำคัญต่าง ๆของจีน พระนางจะโปรดให้ คณะงิ้วปักกิ่ง จากนอกวัง เข้ามาแสดง ภายในวัง ติดต่อกัน เจ็ดวันเจ็ดคืน เรื่องราวของงิ้วเป็นเรื่อง ๆ ที่นิยมกัน และหลาย ๆ เรื่อง เป็นเนื้อเรื่องแบบชาวบ้าน ๆ ที่มีภาษาสัปดนมาก ๆ มิสมควรที่จะนำมาเล่นแสดงภายในวังหลวง แต่พระนางกับชื่นชอบเป็นพิเศษ ว่ากันว่า ยิ่งดึกดื่นเที่ยงคืนเท่าใด ความลามกสัปดนก็มากขึ้นไปเรื่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องการแสดงงิ้วปักกิ่งนี้ ในหนังสือซูสีไทเฮาเขียนว่า พระนาง ทรงมีความสำพันธ์ด้าน สปา กับ พระเอกงิ้ว ชาวบ้าน ๆ อยู่คนหนึ่ง ซึ่งมีร่างกายกำยำล่ำสัน จนกระทั่ง.......คืนหนึ่ง พระนางฉืออันผู้ฝักใฝ่ในธรรม นึกคิดถึงพระนางซูสี จึงได้เดินมายังตำหนักของพระนางซูสี อย่างเงียบ ๆ ธรรมดา พอหลี่เหลียนอิง ขันทีคู่พระทัยเห็นเข้าก็มิทันกาลเสียแล้ว จึงจำเป็นต้องถวายการคำนับ แล้วปล่อยให้พระนางฉืออันเดินเข้าไปในห้องบรรทม สิ่งที่พระนางฉืออันเห็นนั้น พระนางถึงกับตกตะลึง????  ที่เห็นภาพชายหนุ่มเปลือยกายล่อนจ้อนนอนกระเซ้ากับพระนางชูศรีซึ่งมีสภาพไม่ต่างกัน เมื่อทั้งคู่เห็น ถึงกับตาถลน ฝ่ายชายถูกพระนางฉืออันสั่งนำไปตัดหัวทันที.....ส่วนพระนางชูศรี ได้แต่นั่งปิดหน้าปิดตาร้องห่มร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร.....พระนางฉืออันตั้งสติได้ จึงได้ปลอบประโลมพระนางชูศรีไปว่า......."พี่ไม่โทษโกรธน้องหรอก ในเมื่อเรื่องมันก็ผ่านไปแล้ว ต่อไป พี่หวังว่า น้องคงจะไม่ทำการเยี่ยงนี้อีก....ว่ากันตามจริง พี่ก็นึกอยากมีความสุข สนุกแบบนี้บ้าง....แต่เมื่อถ้าพี่ตายไป พี่จะมองหน้าอดีตฮ่องเต้ได้อย่างไร? เรื่องมันแล้วไปแล้วต่อไปขอให้น้องลืมมันซะ แล้วอย่าทำแบบนี้อีก.....แล้วพระนางฉืออันก็เดินจากไป........

การพูดปลอบใจของพระนางฉืออันแม้จะออกมาจากใจจริง แต่ ประโยคที่ว่า เมื่อตายไป พี่จะมองหน้าอดีตฮ่องเต้ได้อย่างไร? กลับทิ่มแทงหัวใจของพระนางชูศรีเป็นอย่างยิ่ง......ขอรวบรัดตัดตอน เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มาของจุดจบของพระนางฉืออัน หนังสือเรื่องซูสีไทเฮา เขียนต่อไปว่า พระนางซูสีไทเฮาทรงกลัดกลุ้มพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และได้คิดวางแผนกำจัดเสี้ยนหนาม ที่พระนางไม่คิดว่า ชีวิตของพระนางจะต้องมากำจัดฉืออันไทเฮา ซึ่งไม่มีพิษสงแต่อย่างใดต่อพระนาง ในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่พระนางทำใจไม่ได้ ที่บุคคลที่ถือว่า สูงศักดิ์เทียบเท่าพระนางได้กุมความลับอันน่าอับอายของพระนางไว้ เมื่อนึกได้แล้ว หลายเดือนต่อมา พระนางจึงวางแผนโดยการให้ หลี่เหลี่ยอิง ขันทีคู่พระทัย นำกล่องขนมเปี๊ยะ ที่มียาพิษอย่างแรง นำไปถวาย หลี่เหลียนอิงก็ตาเหลือกสิครับ แต่พระนางปลอบใจว่า ชิ้นข้างบน นั้นปลอดภัย ส่วนชิ้นที่มียาพิษนั้น อยู่ด้านล่าง ๆ ถึงอย่างไร หลี่เหลียนอิงก็ทนใจเสียไม่ได้ แต่จำยอมต้องทำตามคำสั่งของเจ้านาย พระนางชูศรีเองก็เช่นเดียวกัน นั่งไม่ติดที่ ทั้งวันทั้งคืน เมื่อทราบว่า หลี่เหลียนอิงถูกพระนางฉืออันทดสอบโดยให้ลองชิมให้ดู ว่า ขนมอร่อยไหม (พิธีชิมอาหาร มีจริงในประวัติศาสตร์จีน คือ ก่อนที่พระกระยาหารจานต่าง ๆ จะขึ้นโต๊ะเสวย จะมีพนักงานชิมอาหาร อยู่ข้าง ๆ โต๊ะ ถือตะเกียบอยู่คู่หนึ่ง เมื่ออาหารเข้ามาแล้วเจ้าพนักงานชิม จะคีบอาหารใส่ปาก เมื่อ ผ่านไปสัก 5 นาที เจ้าพนักงานยังเป็นปกติ อาหารก็ถูกนำขึ้นโต๊ะเสวย-ฉากนี้เคยดูในหนังภาพยนต์เรื่อง ปูยี จักรพรรดิ์องค์สุดท้าย) ปรากฏว่าหลี่เหลียนอิงกินไป 1 ชิ้น ไม่เป็นอะไร พระนางฉืออันก็ฝากขอบใจ พระนางชูศรี แต่ ผ่านไป 2 วัน 2 คืน ข่าวร้ายที่ตำหนักตะวันออกก็เงียบฉี่ พระนางซูสี ดั่งเสือติดจั่น นั่งนอนไม่ติดที่ จิตใจร้อนเร่า เกรงว่า เกิดการผิดพลาดขึ้นมา ปรากฏว่า มีนางสนมกำนัลที่พระนางฉืออันโปรดเมตตาให้ร่วมชิมขนม เกิดตายขึ้นมา เรื่องนี้ อาญาโทษ ก็ไม่อาจพ้นพระนางไปได้ ถึงแม้ว่าพระนางจะเป็นไทเฮาที่ยิ่งใหญ่มีสมุนบริวารมากมายแค่ไหน แต่เรื่องอย่างนี้ ถ้าจำนนด้วยหลักฐาน พระนางก็ไม่อาจอยู่รอดไปได้ เรื่องนี้ ถ้าพูดกันในเรื่องของดวงชะตาราศี ตามโหราศาสตร์ไทย พูดได้ว่า พระนางซูสีไทเฮาผู้นี้ เป็นผู้ที่มี "ดวง" แข็ง จริง ๆ ทรงหลุดพ้นและชนะในเรื่องทุก ๆ อย่าง ในราชอาณาจักรของพระนาง ยกเว้น เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือ ความตาย....  

และแล้ว.....วันที่พระนางซูสีไทเฮาผู้ยิ่งใหญ่รอคอยก็มาถึง เกิดเสียงเอะอะโวยวายกู่ร้องตกอกตกใจผู้คนวิ่งพลุกพล่านไปทั่ววังตะวันออกอันเป็นตำหนักของพระนางฉืออันไทเฮา พระนางฯ ได้กลั้นใจ เดินไปดูเหตุการณ์ที่ตำหนักตะวันออกเช่นเดียวกับเหล่าขุนนางอำมาตย์ภายในพระราชวังหลวง และเมื่อไปถึง ภาพที่ทรงเห็นคือพระนางฉืออันไทเฮา ทรงมีพระเนตรเบิกค้าง วรกายหดเกร็ง ลิ้นแข็ง ตรัสสิ่งใดไม่ได้เลย มีนางกำนัลและหมอหลวงห้อมล้อมเมื่อพระนางชูศรีไทเฮาทรงเข้าไปถึงทำเป็นลุกลี้ลุกลนร้องไห้ตกใจ เข้าไปเฝ้าดุจดั่งทรงห่วงใยและเสียใจ พระนางฉืออันไทเฮาได้แต่ทรงจ้องมองพระนางซูสีไทเฮา อย่างคาดเดาไม่ถูก แต่ก็สายเกินกาล......พระนางฉืออันไทเฮา ทรงสิ้นพระชนม์ภายใต้พระหัตถ์ของพระนางซูสีไทเฮานั่นเอง.......มาถึงตอนนี้ ประวัติศาสตร์จีนได้เขียนไว้ว่า..."ในปี ค.ศ.1884 ฉืออันไท่โฮ่ว ผู้สำเร็จราชการคู่กับพระนางฉือซีก็สิ้นพระชนม์ลงอย่างลึกลับ ตามหลักฐานของนักประวัติศาสตร์จีนยืนยันว่า พระนางฉือซีเองเป็นผู้วางยาพิษฉืออันไท่โฮ่ว ต่อมา ในปี ค.ศ. 1884 เจ้าชายกงก็ถูกถอดออกจากตำแหน่ง พระนางไม่เคยลืมเลยว่า อานเต๋อไห่ ขันทีคนโปรดถูกประหารชีวิตด้วยฝีมือของเจ้าชายกง ทั้ง ๆ ที่เจ้าชายกงเป็นเจ้าในราชวงศ์ชิงองค์เดียวที่ผู้แทนมหาอำนาจตะวันตกเชื่อถือและพอใจที่จะเจรจาทำความตกลงด้วย"-ประวัติศาสตร์จีน-ทวีป วรดิลก หน้า 642

มาถึงตอนนี้ พระนางซูสีไทเฮา ก็คงความยิ่งใหญ่ภายในราชอาณาจักรต้าชิงเพียงพระองค์เดียว เสี้ยนหนามต่าง ๆ ที่ทรงเกรงว่า จะมาตำเท้าพระนาง ถูกกำจัดถอดถอนออกไปอย่างไม่เหลือ พระนางมีราชองค์รักษ์คู่บัลลังก์ของพระนาง กองกำลังปกป้องพระนคร ซึ่งนำโดย ขุนพลหยงลุ เทพบุตรข้างวรกายของพระนาง ด้านบรรดาขุนนางอำมาตย์นั้นเล่า ก็ล้วนเก่งกาจและห้าวหาญปกครองราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ของพระนางอย่างมั่นคง หนึ่งในบรรดา ขุนนางมหาอำมาตย์ผู้มีบทบาทสำคัญของประวัติศาสตร์จีน ในช่วง สมัยของพระนางฉือซีไท่โฮ่วหรือ ซูสีไทเฮานั้น ได้แก่ เจิงกว๋อฟาน หลี่หงจาง มหาอำมาตย์เอกดุจดังนายกรัฐมนตรี ที่ ประเทศตะวันตกให้เกียรติยกย่อง และ จ๋อจงถาง ซึ่งขุนนางทั้งสาม มีผลงานที่สำคัญคือ การปราบกบฏไท่ผิง กบฏเนี่ยน และอิสลาม  ทั้งสามท่านนี้ต่างเป็นเสาหลักค้ำบัลลังก์ของพระนางซูสีไทเฮา

หลี่หงจาง มหาเสนาบดีของราชอาณาจักรชิง ที่ฝรั่้งให้ความเชื่อถือมาก เคยเดินทางไปบริทิช พบกับนายยกรัฐมนตรี วิลเลียมส์ เกลสโตน ผู้โด่งดัง เป็นบุคคลสำคัญผู้ค้ำบัลลังก์ให้กับพระนางซูสี

จว๋อจงถาง อัครมหาเสนาบดีอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็๋นเสาหลักของพระนางซูสี

พระนางชูศรีขณะกำลังนั่งชมงิ้วปักกิ่ง

กลับมาเล่าเรื่องถึงที่ตอนจักพรรดิ์ถงจื้อสิ้นพระชนม์กันต่อ ก่อนที่จะคิดว่าองค์เองจะสิ้นพระชนม์ ฮ่องเต้ถงจื้อ ได้เห็นควรให้เจ้าชายไซ่ซู พระญาติรุ่นหลังของถงจื้อรุ่นหนึ่งเป็นฮ่องเต้องค์ต่อมา ซึ่งตามกฏมณเฑียรบาลของราชวงศ์ชิงนั้น จะตั้งรัชทายาทหรือฮ่องเต้ที่เป็นรุ่นเดียวกันกับฮ่องเต้ไม่ได้  แต่พระนางซูสีไทเฮาไม่ยินยอม  พระนางเรียกประชุมเจ้าราชวงศ์และมหาอำมาตย์ใหญ่ เสนาบดี ฝ่ายต่าง ๆ โดยมีหยงลุควบคุมกองกำลังและศาสตราวุธรายล้อมที่ประชุม พระนางเสนอให้ ตั้งบุตรของ เจ้าชายจุน (น้องเขยของพระนางเอง) ซึ่งมี อายุเพียง 3 ขวบ (เกร็ดประวัติศาสตร์ว่าไว้คือบุตรของพระนางนั่นเอง) ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระนางต้องการกุมอำนาจโดยดำรงค์ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก ไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า บรรดาเจ้าราชวงศ์และขุนนางอำมาตย์ในที่ประชุม จะมีมติเห็นชอบตามที่พระนางเสนอ นับแต่นี้ต่อไป พระนางซูสีไทเฮาก็ทรงอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักรต้าชิง เพียงองค์เดียวอย่างไม่มีผู้ใดเทียมทาน

ในช่วงที่พระนางยิ่งใหญ่อยู่นี้ ผลงานที่โดดเด่น เพียงอย่างเดียวในประวัติศาสตร์ชีวิตของพระนางซูสีไทเฮาต่อราชอาณาจักรจีนอันยิ่งใหญ่ มีเพียง การสร้าง พระราชวังฤดูร้อน "อี้เหอหยวน" ชานกรุงปักกิ่ง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแลนด์มาร์คของปักกิ่งและสวนสาธารณสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อันดับ ต้น ๆ ของปักกิ่ง เอกลักษณ์ของอี้เหอหยวนคือมีภูเขาเล็ก ๆ ที่เกิดจากการขุดสระน้ำขนาดใหญ่เทียบทะเลสาบ มีเจดีย์ทรงมองโกล สีขาวโดดเด่น อยู่บนยอดเขา มีเรือบกที่แกะสลักจากหิน ที่สวยงาม มีระเบียงทางเดินทอดยาวมีภาพเขียนแบบจีนยาวเรียงไปตามทางเดิน แต่พระราชวังฤดูร้อนอี้เหอหยวนนี้ ได้สร้างบนความทุกข์ยากลำบากของประชากรในสมัยนั้น ด้วยการ นำงบของกองทัพเรือ ซึ่งควรจะต้องนำไปสร้างแสนยานุภาพทางทะเล ไว้ใช้ปกป้องอธิปไตยและกระแสการรุกรานของชาติตะวันตกในการล่าเมืองขึ้น  ถึงตอนนี้ ไหง ขอแก้ไข ตอนที่เขียนต้น ๆ เรื่อง ว่า กองทัพ 8 ชาติรุกรานปักกิ่งจนเสียนเฟิงได้ลี้ภัยไปอยู่เย่อเหอ นั้น ขอแก้เป็น กองทัพ 2 ชาติ คือ บริทิช(อังกฤษ) กับ ฝรั่งเศส

ภาพถ่ายมุมสูงของพระราชวังฤดูร้อนอี้เหอหยวนอันสร้างจากงบกองทัพเรือ หมดเงินไปถึง 26 ล้านตำลึงทอง???

อีกมุมหนึ่งที่สวยงามของอี้เหอหยวนพระราชวังฤดูร้อน

รวบรัดตัดตอน ต่อมา ในช่วงที่พระนางออกจากวัยกลางคน เริ่มเข้าสู่วัยชรา เหตุการณ์ภายนอกพระราชวังหลวง ต่างมีนักคิด นักปฏิรูป และนักปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ ของประเทศสาธารณรัฐจีน และ สาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนใหม่ เช่น ถานซื่อถง คังโหย่วเหวย และ เหลียงฉีเชา ซึ่ง สามท่านนี้ เป็นนักคิดนักปฏิรูป 3 คนสำคัญ ซึ่งนำโดย คังโหย่วเหวย โดย 3 ท่านนี้ เป็นผู้ใกล้ชิดและถวายคำแนะนำปรึกษาให้กับ ฮ่องเต้กวางสู (โอรสของเจ้าชายจุนน้องเขยของพระนางชูศรีที่ทรงแต่งตั้งเป็นฮ่องเต้ต่อจากถงจื้อ ชื่อรัชกาลว่า "กวางสู") ซึ่งฮ่องเต้กวางสู เมื่อเติบโตขึ้นมาแม้ว่าจะบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เพราะถูกสมเด็จป้า กุมอำนาจไว้ กวางสู เป็นฮ่องเต้ที่มีแนวความคิดแบบสมัยใหม่ ยอมรับการปกครองตามแบบของตะวันตก คือ เป็นประเทศประชาธิปไตย โดยมี กษัตริย์เป็นเพียงพระประมุข และ มีนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะบริหารประเทศ ทั้ง 1 องค์กับ 3 ท่าน มีการติดต่อกันอย่างลับ ๆ สุดท้าย ก็ถูกจับได้ ถานซื่อถง ได้สละชีพเพื่ออุดมการณ์ปฏิรูป ส่วนอีกสองท่านนั้นรอดไปได้ และฮ่องเต้กวางสูนับตั้งแต่นั้นมา ก็ถูกกักบริเวณอยู่แต่ภายในพระตำหนักโดยมี สองนางสนมพี่น้องสองคน เป็นสองสนมคู่พระทัยอยู่ข้างกายตลอดเวลา....

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติจีนในสมัยปลายราชวงศ์ชิง ซึ่งต่อมาอีกไม่นานก็จะล่มสลาย คือ ท่านด๊อกเตอร์ซุนจงซาน  ท่านหวงซิง นักปฏิรูปชาวหูหนานภายหลังได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนแรกของรัฐบาท ด๊อกเตอร์ซุน หลี่ต้าจาว ผู้นำแนวทางลักธิมาร์ค-เลนิน เข้ามาสู่ประเทศจีน เหมาเจ๋อตง ครูประชาบาลและศิษย์เอกรวมทั้งเป็นลูกเขยของหลี่ต้าจาว ในตอนนั้นทำหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุด (ต่อไปคงจะได้เขียนเรื่องการปฏิวัติจีนใหม่) หลู่ซิ่น นักคิดนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ในยุคต้นสาธารณรัฐ (ผลงานชิ้นเอกของท่านคือนวนิยายเรื่อง "เรื่องราวของอาQ) ไช่หยวนเผย นักวิชาการชั้นเอก อดีตอธิการบดีเป่ยต้า หรือมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้คิดโครงการ กึ่งเรียนกึ่งทำงานของเยาวชนจีนในฝรั่งเศส ปัจจุบัน มีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ที่หน้าอาคารอำนวยการของเป่ยต้า บุคคลสำคัญที่เกิดจากหน่อของโครงการท่านศาสตราจารย์ไช่หยวนเผย คือ ท่านโจวเอินไหล นักเรียนรุ่นแรก และ เติ้งเสี่ยวผิง นักเรียนที่อายุน้อยที่สุดในโครงการ ซึ่งต่อไปท่านเหล่านี้ จะเป็นบุคคลสำคัญ ในยุคสาธารณรัฐ และ ยุค ประเทศจีนใหม่ดังที่พวกเราทราบกันดี

ท่านซุนจงซานและท่านซ่งชิ่งหลิง สองสามีภรรยา ผู้ดำเนินการเผยแพร่อุดมการณ์ปฏิวัติ ยกเลิกระบบกษัตริย์ ภายนอกวังหลวง

รวบรัดตัดตอนมาถึง ช่วงสำคัญ เป็นที่ทราบกันดีว่า พระนางซูสีไทเฮา ทรงมีคตินึกคิดว่า ตนเองปกครองราชอาณาจักรต้าชิง ที่ยิ่งใหญ่ เป็น จงกว๋อ คือ ประเทศใหญ่ศูนย์กลางของโลก และทรงไม่ยอมรับวิทยาการและวัฒนธรรมของชาติตะวันตก พระนางเกลียดชาวฝรั่งผิวขาวผมแดงมาก ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้น ฝรั่ง ต่าง ๆ ได้เข้ามาอยู่เต็มไปหมดในกรุงปักกิ่ง และ ซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) ฮ่องกง กว่างโจว และเมืองท่าต่าง ๆ ช่วงต่อจากนั้นมา ไหงไม่ขอเล่ารายละเอียด แต่จะเล่าเหตุการณ์ก็แล้วกัน ว่า กองทัพ 8 ชาติ ได้บุกเข้าโจมตีปักกิ่ง แต่ไม่ได้บุกเข้ามาทำลายสู้รบ เป็นการบุกเข้ามาเพื่อกดดันรัฐบาลชิงของพระนาง ให้ทำตามความต้องการของชาติของตน กองทัพแปดชาติบุกล้อมกรุงปักกิ่งและพระราชวังต้องห้าม ในตอนนี้ พระนางต้องตาลีตาเหลือก อพยพหนีตาย ด้วยการปลอมตัวเป็นหญิงชาวบ้านธรรมดา และพาฮ่องเต้กวางสูและพระสนมสองนางไปด้วย นางออกไปทางประตูตะวันตก พร้อมกับ ขบวนทหารองครักษ์และนางกำนัล มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่มณฑลกานสู.........

ทางพระราชวัง และกรุงปักกิ่ง เป็นหน้าที่ของเจ้าชายจุน และ หลี่หงจาง และมหาเสนาอำมาตย์ต่าง ๆ ที่เอ่ยนามในข้างต้น ไหงจำไม่ได้ว่า รายละเอียดของประวัติศาสตร์ในช่วงนี้กล่าวไว้ว่าอย่างไร และขอประทานอภัยด้วยที่ไม่ยอมเปิดตำรา เพราะอยากให้จบเร็ว ๆ เอาเป็นว่า ติดหนี้ตอนนี้ไว้ แล้วค่อยเขียนเป็นความเห็นในทีหลังก็แล้วกันนะครับ

เมื่อเหตุการณ์ทางปักกิ่ง สงบสุขและเจรจาต่อรองตกลงในสนธิสัญญาต่าง ๆ ได้เรียบร้อยแล้ว ครานี้ก็เป็นข่าวดี พระนางซูสีไทเฮา ทรงตรากตรำลำบากจากการเดินทางไปไกลแสนไกลและอยู่ในดินแดนที่ธุรกันดารของกานสู เมื่อได้รับข่าวดี พระนางจึงดีใจมาก จัดขบวนเสด็จนิวัติพระนครอย่างยิ่งใหญ่ โดยทางรถไฟ เมื่อถึงเวลาที่ราชรถไฟไอน้ำกำลังจะออก ได้มีโบกี้คันหนึ่ง ถูกลากเข้ามาฉึกฉักฉึกฉัก ต่อขบวนรถไฟของพระนาง พระนางได้ตรัสถามว่ารถของใคร ขันที ทูลตอบว่า ของขุนพล หยวนซื่อไข่ พอฮ่องเต้กวางสูได้ยินเข้า ก็ขุ่นเคืองพระทัย ไม่ยอมให้เจ้าหยวนซื่อไข่คนนี้ ร่วมเดินทางไปด้วย ด้วยพระอารมณ์ดีของพระนางชูศรี จึงทรงตามใจฮ่องเต้กวางสู สั่งตัดโบกี้ของหยวนซื่อไข่ออกไป หยวนซื่อไข่ ผู้นี้ เป็นผู้ที่จักพรรดิ์กวางสู ทรงมีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะได้ช่วยพระองค์ให้ได้รับความสำเร็จในการปฏิรูปการปกครองแต่ เขา ก็ได้ทรยศต่อพระองค์ นำความไปทูลต่อ พระนางซูสี จึงเป็นสาเหตุให้ฮ่องเต้กวางสูถูกกักบริเวณ หยวนซื่อไข่ผู้นี้ ถือกันว่า เป็นบิดาของลัทธิขุนศึกในประเทศสาธารณรัฐจีน และเป็นบุคคลที่เป็นตัวแปรสำคัญ ในยุคสาธารณรัฐ เป็นตัวแสบของประวัติศาสตร์จีนยุคสาธารณรัฐ มันทรยศต่อทุกคน ยกเว้นตัวเอง มันยังได้สร้างความวุ่นวายใจให้กับท่านด๊อกเตอร์ซุนจงซานของพวกเราอย่างมาก โชคดีของสาธารณรัฐจีนที่ หยวนซื่อไข่แก่และป่วยตายไปเสียก่อนที่จะได้เป็นฮ่องเต้ในราชวงศ์ใหม่ เพราะขี้กลากกินกบาล

ขบวนของพระนางชูศรีและฮ่องเต้กวางสูเข้าสู่กรุงปักกิ่ง และขบวนรถยนต์รับเสด็จนำมุ่งเข้าสู่พระราชวังหลวง ถึงตอนนี้ หนังสือเรื่องซูสีไทเฮาบรรยายว่า พอถึงช่วงกลับสู่พระราชวังหลวงในครั้งนี้ พระนางกลับมาอย่างผู้ที่องอาจ สง่างาม ทรงเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อฝรั่ง (ถึงแม้ว่ารัฐบาลของพระนางจะเสียค่าปฏิกรรมสงครามและสนธิสัญญาที่เสียเปรียบต่าง ๆ มากมายและเสียซานตงให้เยอรมันไปทั้งมณฑลก็ตาม-สินฝ่า) พระนางได้มีความปีติยินดี ว่าพวกฝรั่งนี้ก็เป็นมิตร ในตอนนั้น ขณะที่พระนางเสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่ง มีบรรดาฝรั่งทั้งแหม่มต่าง ๆ และ มิสเตอร์ทั้งหลายต่างมามุงดู "พระแม่เจ้า" ของราชอาณาจักรต้าชิง กันยกใหญ่ ดุจดั่งนั่งชมละครปาหี่ ก็มิปาน (สำนวนของไหง-สินฝ่า) พระนาง ได้ น้อมศรีษะเล็กน้อยให้บรรดาแหม่มทั้งหลาย ที่ได้มองเห็นภาพของเจ้านายชั้นสูง ในเครื่องแต่งกายเต็มยศแบบราชวงศ์ชิง ที่พวกฝรั่งเห็นเป็นสิ่งแปลกตา.......และนับตั้งแต่นั้นมา.....พระราชวังหลวงของพระนางซูสีไทเฮา ก็ได้กลายมาเป็นสถานที่พบปะของสังคมชั้นสูงของแหม่มทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง ในการดินเนอร์ร่วมกันกับพระนางซูสีไทเฮา........

เรือหินอ่อนที่ประทับอิริยาบถของพระนางชูศรีไทเฮา เหตุที่ทรงสร้างเรือนี้เพราะว่าพระนางกลัวจมน้ำเวลานั่งเรือจริงจนขึ้นสมอง

พระนางซูสีท่ามกลางหิมะตกในฤดูหนาว

ย่อหน้านี้ ขอเล่าเรื่องเกร็ดต่าง ๆ เกี่ยวกับความพระสำอางค์ของพระนางซูสี พระแม่เจ้า หรือพระนางซูสี มีผู้เล่ากันมากมายว่า แต่ละวัน พระนางทรงใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับการคงความ "สาว" และ ผิวพรรณต่าง ๆ ให้สดใสเต่งตึงงดงามอยู่เสมอ กล่าวกันว่า หากนางกำนัลนางใด หวีเกศาของพระนาง ขาดหรือหลุดออก นางกำนัลผู้น่าสงสารนั้นจะถูกโบยทันที แต่เวลาที่พระนางทรงอารมย์ดี พระนางก็จะเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลทะนุถนอมผิวพรรณของพระนาง นางเล่าให้นางกำนัลและมหาขันที "หลี่เหลียนอิง" และ แหม่ม คนหนึ่ง ซึ่งได้เข้าวังบ่อย ๆ เพื่อถวายการบำรุงพระเกศา แหม่มคนนี้เป็นชาวฝรั่งเศส จึงได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ด้านการย้อมเส้นพระเกศาด้วยน้ำยาเคมีย้อมผมจากฝรั่งเศส เดี่ยวค่อยว่ากัน........พระนางกล่าวตรัสว่า ผิว ต้องใช้ผงไข่มุก บดละเอียด นำมาผสมกับสมุนไพรบางอย่าง แล้วประทินผิวด้วยผงไข่มุกนี้ (อันนี้เรื่องจริงครับ) ส่วนเรื่องการทำให้ดูอ่อนวัย จะเสวยน้ำนมคน โดยแต่ละวัน จะมีแม่นม เข้ามาถวาย "น้ำนม" จากถัน ให้พระนางเสวย??? อยู่เป็นประจำ (นี่ก็ได้รับการยืนยันจากนักเขียน) ยังมีอีกบางอย่าง ที่ไหง จำไม่ได้ ส่วนเรื่องย้อมเส้นพระเกศานั้น แหม่มฝรั่งเศส ผู้ซึ่งได้ถวายการแนะนำเกี่ยวกับการบำรุงเส้นพระเกศาให้ดำเงางาม พระนางตรัสกับแหม่มว่า เส้นผมของฉันนั้น ฉันทั้งรักมากที่สุด และเกลียดมากที่สุดในเวลาที่มันเป็นสีขาว ฉันทำใจไม่ได้ที่จะยอมให้มันดูขาวอยู่บนหัวของฉันนี้ ช่างน่าเกลียดจริง ๆ ปัญหาของฉันก็คือ เวลาที่ฉันย้อมเส้นผมของฉันให้มันมีสีดำสนิทนั้น หนังศรีษะ ของฉันมันก็ดำตามไปด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ฉันลำบากใจมาก......แหม่มผู้นั้น จึงถวายรายงานว่า ประเทศฝรั่งเศสของนาง เป็นผู้นำด้านการย้อมผมในยุโรป มีผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้ย้อมผมอย่างดี ไม่ทำให้พระศรีษะทรงดำ แต่จะดำเฉพาะเส้นพระเกศาเท่านั้น เราสามารถสั่งซื้อได้ทางไปรษณีย์ได้นะเพคะ......พระนางดีใจมาก จัดแจงให้เจ้าหน้าที่ทำการสั่งซื้อสินค้าชนิดนั้นทันที (น่าจะเป็น รอรีอัล เนาะ) เวลาผ่านไปเกือบ 3 เดือน สินค้าตัวนั้นก็มาถึง คุณนังแหม่มและพระนางชูศรี ต่างดีใจ ที่จะได้ทดลอง "ของเล่นใหม่" ให้พระนาง วันนั้นเกือบทั้งวัน เหล่านางกำนัลในพระตำหนักตะวันตกของพระนางชูศรี ต่างสาละวนเตรียมสิ่งของอุปกรณ์การย้อมเกศาให้พระนาง คุณนังแหม่มผู้นั้น ก็ได้อ่าน คู่มือการใช้ถวายให้พระนางฟัง เมื่อนางอ่านไปว่า คำแนะนำ พระนางซึ่งทรงชาตินิยม ถือตัวว่ายิ่งใหญ่ ได้ฟังผิดหู แย้งขึ้นมาทันทีว่า "ทำไมต้องเชื่อฟังคำแนะนำของฝรั่งด้วย" ทำเอานางแหม่มผู้นั้นเสียวสันหลังวาบใหญ่ รีบเปลี่ยนศัพท์ใหม่เป็นว่า "ข้อเสนอของเจ้าของผลิตภัณฑ์" หรือวิธีใช้ จึงทำให้หลุดรอดสถานการณ์หลังลายไปได้หวุดหวิด ซึ่งพระนางก็เห็นด้วย ว่า เจ้าของผลิตภัณฑ์ย่อมรู้ว่า จะต้องใช้ของ ของเขาอย่างไร.......ทีนี้มาถึงขั้นตอนการเตรียมย้อมเส้นพระเกศา เมื่อเปิดฝาขวดกระปุกน้ำยาย้อมผมออด๊าสเอ้ย น้ำยาย้อมผมของฝรั่งเศสกระปุกนั้น.....นางแหม่มถึงกับเสียวสันหลังวาบบบบ......พลันคิดถึงศรีษะของตนเองว่าจะหลุดออกจากร่างไปหรือปล่าว???เพราะน้ำยาย้อมผมให้เป็นสีดำ กลับเป็นครีมสีขาวสนิท??? นางแหม่มสั่นไปชั่วครู่แต่ทำใจดีสู้เสือ ทำตามขั้นตอนของการย้อมผมตามวิธีการใช้ที่แนบมา ผลปรากฏว่า???   เส้นพระเกศาของพระนางชูศรี มีสีดำเงางามสนิท---ที่สำคัญ หนังศรีษะของพระนางกลับเป็นสีเนื้อธรรมชาติไม่เป็นสีดำอย่างน้ำยาย้อมผมดำที่เคยใช้...พระนางพึงพอใจมาก ว่ากันว่า นางแหม่มคนนั้น กระเป๋าตุงไปตั้งหลายเดือน?????

ภาพถ่ายพระนางซูสีถ่ายกับคุณนังแหม่มที่เข้าใจว่าถวายการย้อมผมด้วยผลิตภัณฑ์รอลีอัลของปารีส

นอกจากเรื่องความสวยความงามเหล่านี้ พระนางยังทรงยอมรับ วิทยาการต่าง ๆ ที่ชาติตะวันตกนำเข้ามา เช่น เทคนิคการถ่ายภาพนิ่ง จากกล้องถ่ายภาพในสมัยนั้น และพระนาง ยังโปรดปรานการถ่ายภาพมากเสียด้วย ทำให้ทุกวันนี้ มีภาพถ่ายของพระนางให้เราได้เห็นพระใบหน้าของพระนางในวัยกลางคน พระนางยังโปรดของเล่นไขลานที่ฝรั่งนำเข้ามาขาย เรื่องราวเหล่านี้เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในพระราชวังต้องห้ามของพระนาง ซึ่งพระนางหารู้ได้ไม่ว่า บรรยากาศภายนอกวังหลวง ทั่วประเทศจีนทางฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะภาคใต้ทาง กว่างตง ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้นั้น มีกลิ่นอายของการปฏิรูป ปฏิวัติ คุกรุ่นเกิดขึ้นในดินแดนราชอาณาจักรของพระนางแล้ว.......

ทีนี้มาถึงตอนจบ ของบทความเรื่องนี้กันเสียที  ในบั้นปลายชีวิตของพระนาง พระนางก็คงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังหลวง โดยที่พระนางกักบริเวณฮ่องเต้กวางสูผู้อาภัพอยู่แต่ในตำหนัก วันดีคืนดี ก็ไปดู และทำร้ายตบตีพระสนมขององค์กวางสู ฮ่องเต้กวางสูก็คงเหมือนกับ เสียนเฟิง ถงจื้อ ที่มีร่างกายอ่อนแอ ประกอบกับถูกกักบริเวณ เหมือนขังคุกอย่างนั้น สุขภาพจิตจึงย่ำแย่ลงเป็นอย่างยิ่ง คนสามคนอยู่ภายในตำหนักหลังเล็ก ๆ คือ องค์จักรพรรดิ์ของราชอาณาจักรต้าชิงที่ยิ่งใหญ่ กับ พระสนมอีกสองนาง ล้วนเงียบเหงาวังเวง ยิ่งนัก ทุกวัน จะมีเพียงพระกระยาหารสามมื้อ เข้ามาส่ง และห้ามผู้ใดติดต่อเข้า-ออก ตำหนักของกวางสู เป็นที่น่าเอน็จอนาถเวทนาต่อจักรพรรดิ์องค์นี้ยิ่งนักไหงว่า กวางสู เป็นฮ่องเต้ที่ทรงฉลาด มีวิสัยทัศน์ แต่พระองค์ มาเกิดผิดที่ ผิดสมัย จึงทรงอาภัพเป็นอย่างยิ่ง เป็นฮ่องเต้แต่เพียงในนาม ไม่มีอำนาจ ไม่มีข้าทาส ไม่มีบริวาร ไม่มีขันที ไม่มีผู้คนห้อมล้อมอำนวยความสะดวกต่าง ๆ คงมีแต่พระสนมสองพี่น้องคู่พระทัยที่คงอยู่เคียงข้างพระองค์จนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต....

จอมพลเจี่ยเจี้ยสือ(เจี่ยงไก้เส็ก-เจียงไคเช็ค-ผู้ที่ประวัติศาสตร์ทุกเล่มยืนยันตรงกันว่า มีขุนศึกซุนเตี้ยนอิง ได้นำกองทหารบุกปล้นพระฮวงซุ้ยของซูสีไทเฮา กวาดเอาทรัพย์สมบัติไปหมด และเปิดหีบพระศพ งัีดพระโอษฐ์ออกมาเพื่อเอาไข่มุกเม็ดใหญ่ไปมอบให้เจ้านายของตน คือ จอมพลเจี่ยงเจี้ยสือ เล่ากันว่า ท่านจอมพล นำไข่มุกเม็ดเป้งจากโอษฐ์ของพระศพพระนางซูสี ไปประดับรองเท้าให้ซ่งเหม่ยหลิง ภริยา เป็นเลื่องเล่าลือกันจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่หาหลักฐานไม่ได้ ปัจจุบันมุกเม็ดนี้ อาจจะตกแก่ทายาทของท่านซ่งเหม่ยหลิง....ส่วนพระศพของพระนาง ไม่มีใครสนใจใยดี จนหายสาบสูญไป ถ้าพูดถึงเรื่องเวรกรรมตามหลักศาสนาพุทธ พระนางถูกกระทำเยี่ยงนี้่ คงน่าจะคาดเดาได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด แม้ตายไปแล้วยังไม่มีความสงบสุข และ ร่างก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย....

ถึงคราวที่พระนางซูสีไทเฮาทรงป่วยหนักด้วยโรคชรา "ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.1908 หลังจากปกครองอาณาจักรจีนมาด้วยความโหดร้ายทารุณเป็นเวลาถึงร่วมครึ่งศตวรรษ พระนางฉือซีหรือทรราชหญิงก็ตายไปท่ามกลางเสียงสาปแช่งของประชาชนจีน มีเรื่องเล่ากันในราชสำนักว่า ก่อนตาย พระนางฉือซียังประกอบอาชญากรรมเป็นครั้งสุดท้าย โดยสั่งให้คนของพระนางไปวางยาพิษให้จักรพรรดิกวางสูสิ้นพระชนม์เสียก่อนทั้ง ๆ ที่ทรงมีสุขภาพสมบูรณ์และแข็งแรง จักรพรรดิกวางสูจึงได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนพระนางฉือซีเพียงวันเดียว ราชบัลลังก์ในยุคใกล้ถึงกาลอวสานของราชวงศ์ชิงชาวแมนจูมาเป็นของจักรพรรดิ์ผู่อี้ซึ่งมีพระชันษาเพียง 3 ขวบ เป็นโอรสของเจ้าชายจุนหรือไจ้เฟิงซึ่งเป็นพระอนุชาของจักรพรรดิเสียนเฟิง การเลือกทารกวัย 3 ขวบขึ้นเป็นจักรพรรดิของพระนางฉือซี แสดงว่า พระนางคงจะเชื่อมั่นว่า ตนเองจะอยู่ค้ำฟ้า ไม่เจ็บไข้และก็ไม่ตายด้วย โดยพระนางหวังว่าจะใช้พระนามจักรพรรดิซึ่งยังอยู่ในวัยทารกบังหน้า แล้วตนเองกุมอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองอาณาจักรจีนต่อไปชั่วนิรันดร แต่ในที่สุด พระนางฉือซีก็ต้องสิ้นชีวิตไปก่อนหน้าราชวงศ์ชิงจะดับสูญเพียงไม่ถึง 3 ปี เจ้าชายจุนพระราชบิดาของจักรพรรดิผู่อี้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลของจักรพรรดิผู่อี้นี้มีชื่อว่า ซวนถ่ง (ค.ศ.1908 - 1911) และก็เป็นรัชกาลสุดท้ายของจักรพรรดิราชวงศ์ชิงด้วย."........ประวัติศาสตร์จีน-ทวีป วรดิลก หน้า 736-737

จักรพรรดิผู่อี้ หรือ ชื่อรัชกาลว่า ซวนถ่ง ในวัยแตกเนื้อหนุ่ม

จักรพรรดิผู่อี้ หลังจากถูกขุนศึกเฝิงอวี้เสียงสมญานายพลคริสเตียนผู้รักชาติ ได้ขับไล่ออกจากวังหลวง และได้ไปดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิหุ่นให้ญี่ปุ่นในประเทศแมนจูกวัว ก่อนที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงครามโลก และท่านได้เป็นอาญากรสงครามติดคุกของประเทศจีนใหม่อยู่ร่วม10 กว่าปีจนพ้นโทษและได้อาชีพเป็นคนดูแลสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ก่อนสิ้นชีวิต ได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองของรัฐสภาจีน(วุฒิสมาชิก) ท่านสิ้นชีวิตในช่วงก่อนปฏิวัติวัฒนธรรม ไม่เช่นนั้นคงต้องถูกเยาวชนเรดการ์ดทรมาณอย่างหนัก

ภาพนี้มายังไงและจากที่ไหนไม่ทราบ แต่ไหงชอบใจตรงที่ว่ามีรูปภาพท่านบิดาประเทศจีนอยู่เหนือราชบัลลังก์ของฮ่องเต้ผู่อี้ตัวน้อยที่เป็นตุ๊กตานั่งอยู่บนบัลลังก์ทอง สื่อความหมายได้ชัดเจนมากว่า บิดาประเทศจีน มีความสำคัญกว่า ฮ่องเต้นอกเผ่าพันธุ์ฮั่น สื่อความหมายได้ดีจริง ๆ

เป็นอันว่าเรื่องเล่าของพระนางชูศรีหรือซูสีไทเฮา ซึ่งผู่ทงฮว่าออกเสียงว่า ฉือซีไท่โฮ่ว ก็ได้จบลงแต่เพียงเท่านี้ พบกันใหม่ในเรื่องราวของประวัติศาสตร์จีน ในยุคต่อไป ครับ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของ เหมาเจ๋อตง หรือ ท่านโจวเอินไหล บ้าง ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามจนจบ ส่วนจะมีสิ่งใดที่ขาดตกหล่นไป ไหงจะนำมาลงเป็นความเห็นต่อจากนี้ไปครับ และท่านใดที่มีคำถาม สามารถแสดงความเห็น หรือคำถามเข้ามาได้ครับ - ตอเซี้ย - ยับสินฝ่า


รูปภาพของ YupSinFa

เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มเติมของพระนางซูสี

              พระนางซูสีไทเฮามีนามเดิมว่า นางสาว เย่เหอนาลา อี้หลาน หนังสือต่าง ๆ ที่เขียนเกี่ยวกับ เธอ มักเรียกเธอว่า หลานเอ๋อร์ ซึ่งหมายถึง ลูกสาวชื่อหลาน ตามวัฒนธรรมการเรียกลูก ๆ ว่า เอ๋อร์ เช่น อาชิงเอ๋อร์ เ็ป็นต้น

              เธอเกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1834 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวของเรา ตายเมื่อ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1907 ก่อนกาลล่มสลายของราชอาณาจักรต้าชิงที่ยิ่งใหญ่มาสองร้อยกว่าปี เพียง 3 ปีกว่า

              บิดาของเธอมีชื่อว่า ฮุ่ยเจิง 惠 征 เป็นนายทหารประจำกองธงสีฟ้า 1 ใน 8 กองธงของแมนจู รักษาการณ์ประจำชายแดนมณฑลซานซี แซ่ของเธอมีนามเรียกว่า เย่เหอนาลา 叶 赫 那 拉 ตอนไหงเด็ก ไหงเข้าใจว่าซูสีไทเฮา ทำไม่มีแซ่เหมือนเราเลย แซ่เย่ ชื่อเหอนาลาอี้หลาน ชื่อชาวแมนจูช่างยาวเสียจริง พอโตมาเป็นผู้ใหญ่ ถึงทราบว่า แซ่เธอคือ เย่เหอนาลา บังเอิญใช้อักษรเหมือนแซ่ไหงเท่านั้นเอง

             เมื่อเธอได้รับการสถาปนาเป็นพระนางไทเฮาหรือบรมราชชนนีพันปีหลวง มีชื่อบรรดาศักดิ์ ว่า 慈 禧 太 后 อันมีความหมายถึง "พระแม่เจ้าผู้ถึงพร้อมด้วยมาตุคุณ"  ส่วนพระนางฉืออัน หรือนามเดิมว่า พระมเหสี อาหลู่เท่อ ได้รับบรรดาศักด์ว่า 慈 安 太 后 มีความหมายว่า พระแม่เจ้าผู้พร้อมด้วยพระเมตตาและความสุขสงบ 

            ในสมัยรัชกาลเสียนเฟิง ที่ไหงบอกว่า กองทัพ 8 ชาติบุกปักกิ่งนั้น ไหงได้แก้ไขแล้ว ว่า เพียง 2 ชาติเท่านั้น คือ บริทิช และ ฝรั่งเศส 2 ชาตินี้ ได้กระทำการอันสุดแสนจะเลวร้ายในประวัติศาสตร์มนุษยชาติของโลก กล่าวคือ ได้บุกเข้าไปทำลายเผา พระราชวังฤดูร้อน "หยวนหมิงหยวน" ที่จักรพรรดิเฉียนหลงทรงสร้าง พระราชวังหยวนหมิงหยวนนี้ กล่าวกันในสมัยนั้นว่า เป็นพระราชวังและสวนหย่อมที่มีความสวยสดงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า พระเพลิงได้เผลาผลาญหยวนหมิงหยวนอย่างโชติช่วงและ แดงฉานไปกว่า 7 วัน 7 คืน แม้แต่เสียนเฟิง ซึ่งอยู่ เย่อเหอ ซึ่งไกลปักกิ่งไปทางเหนือ ร่วมร้อยกว่ากิโลเมตร ยังมองเห็นแสงสว่างจากเปลวไฟ การกระทำเยี่ยงนี้ สมควรที่ยูเนสโก ควรประนาม หากมีชาติใดที่แข็งแรงกว่า อังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยนั้น ไปเผาพระราชวังวินเซอร์ หรือ พระราชวังแวร์ซายด์ บ้าง สองชาตินี้ จะว่าอย่างไร?

                หยวนหมิงหยวนปัจจุบันเหลือเพียงแต่เสาแบบกรีก ให้เห็นเพียง2-3 เสาเท่านั้น จีนใหม่ ได้บูรณะเพื่อเตือนใจลูกหลานและประชากร เมื่อมีแขกอังกฤษหรือฝรั่งเศส มาเยือนอย่างเป็นทางการ ก็จะจัดโปรแกรมไปเยี่ยมชม หยวนหมิงหยวน ให้ลูกหลานอังกฤษฝรั่งเศสกระอักกระอ่วนใจ

               การเผาหยวนหมิงหยวน ทำให้เจ้าชายกง จึงต้องยอมทุกสิ่งทุกอย่างที่สองชาตินี้ ต้องการ....

               ขอแก้ไขว่า กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส บุกปักกิ่งเพื่อตอบโต้กรณีสงครามฝิ่น เหตุการณ์นี้ จึงส่งผลให้ เสียนเฟิง ทรงเครียดจัด และ ดื่มน้ำจันทน์ และฝิ่น จึงเกิดโรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม อีกทั้งยังดื่มแต่เหล้าและเสพย์ฝิ่น ด้วยองค์เอง หาได้เป็นอย่างที่ไหงเขียนไว้ว่าซูสีไทเฮาจัดปรุงยาฝิ่นถวายไม่ จึงเป็นเหตุที่ทำให้เสียนเฟิงตรอมใจตาย

               กรรมเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แม้อาจจะไม่เกิดในชาตินี้ก็ต้องเกิดในชาติหน้า ซูสีไทเฮาได้สั่งทำสุสานของตัวเองอย่างยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าจะกลัวตาย ก็ตาม โดยร่างของนาง ถูกนำไปฝังเคียงข้างกับเสียนเฟิงและ ฉืออันไทเฮา ณ สุสานหลวงของราชวงศ์ชิงฝ่ายตะวันออกห่างจากปักกิ่งไปทางตะวันออก 125 กิโลเมตร 

               ในปี ค.ศ. 1928 ขุนศึก "ซุนเตี้ยนอิง" 孙 殿 英 แห่งกว๋อหมินตั่ง ได้บุกเข้าปล้นทำลายฮวงซุ้ยของพระนางซูสีไทเฮา สั่งทหารเก็บเอาของมีค่าไปทั้งหมด เปิดหีบศพงัดปากเอาไข่มุกเม็ดเป้ง ออกมาแล้วเขวี้ยงพระศพทิ้งไป จนปัจจุบันยังหาพระศพไม่เจอ แต่รัฐบาลจีนใหม่ได้บูรณให้เหมือนเดิมและสวยงามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของปักกิ่ง

               สำหรับไข่มุกเม็ดเป้งที่ประเมินค่าไม่ได้นั้น ซุนเตี้ยนอิง นำไปให้เจ้านายของตนคือจอมพลเจี่ยงเจี้ยสือ หนังสือประวัีติศาสตร์ทุกเล่ม เขียนกันว่า จอมพลเจี่ยงนำมุกเม็ดนี้เป็นของขวัญให้ภรรยาซ่งเหม่ยหลิงแล้วเธอเอาไปประดับที่รองเท้่า ทุกเล่มเขียนอย่างนี้จริง ๆ แต่ไม่มีใครพิสูจน์ได้นอกจากเจี่ยง และซ่งเหม่ยหลิง รวมถึงผู้ใกล้ชิด ไหงว่าคงเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

              เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 คณะรัฐมนตรีจีนมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการทางการแพทย์เพื่อทำการผ่าพระศพจักรพรรดิกวางสู ในระบบนิติวิทยาศาสตร์ สำนักข่าวซินหวา และ หนังสือพิมพ์เหรินหมินยึเป้าหรือพีเพิลไชน่าเดลี่ ได้รายงานสรุปผลว่า พระองค์(กวางสู) ทรงต้องสารหนูในพระศพ ในปริมาณมากถึง 2 พันเท่า ไชน่าเดลี่รายงานเพิ่มเติมว่า ศาสตราจารย์ไต้อี้ นักประวัติศาสตร์จีนยุคปัจจุบัน  ได้ สรุป และชำระประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการว่า การที่ฮ่องเต้กวางสู ถูกซูสีไทเฮาวางยานั้น เป็นเรื่องจริงที่มิอาจเป็นอื่นไปได้

             ในสมัย 30 กว่าปีก่อน เมื่ออาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น พร้อมกับท่านพลเอกชาติชาย ชุนหะวันณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเปิดความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยจึงมีคณะต่าง ๆ รับเชิญจากรัฐบาลจีนไปเยือนอย่างเป็นทางการ

             ไหงเคยอ่านข้อเขียนเกี่ยวกับคณะนักเขียนไทย ไปเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการ เมื่อเข้าไปชมพระราชวังต้องห้าม ไกด์สาวชาวจีนที่พูดไทยได้ ได้บรรยายห้องหับต่าง ๆ ถึงความเป็นมาอย่างไร ไกด์สาวท่านนั้น กล่าวถึง พระนางซูสี ว่า "มัน" เป็นที่แปลกใจและแสลงหูนักเขียนไทยมาก เพราะยังไม่เข้าใจว่า ประวัติศาสตร์จีนเกี่ยวกับพระนางซูสี เป็นมหาทรราชย์หญิงเพียงหนึ่งเดียวและร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติจีนเลยทีเดียว

            ด้วยความที่เราเป็นประเทศที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด จึงเกิดความผิดหูและแปลกใจว่า ทำไม คอมมิวนิสต์ ถึงไม่ยกย่องอดีตกษัตริย์หรือพระราชชนนี นำมาเขียนวิเคราะห์กันอย่างแปลกใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวของซูสีไทเฮาได้เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลกอย่างกว้างขวางรวมถึงในประเทศไทยด้วย ดังนี้ จึงเป็นที่เข้าใจ ท่านไกด์สาวท่านนั้นซึ่งปัจจุบันคง เป็นคุณยายไปแล้ว ที่พูดถึงสูสีไทเฮาอย่างเหยียดหยาม ได้เป็นอย่างดี

รูปภาพของ เฉินซิ่วเชง

สนุกมากๆเจ้า(*0*)

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=makapom&month=01-2008&date=18&group=10&gblog=3 

เที่ยวพระราชวังฤดูร้อน”อวีเหอหยวน”

ประจักษ์พยานความฟุ้งเฟ้อของซูสีไทเฮา และไปศูนย์วิจัยทางการแพทย์
ได้ไปชมพระราชวังฤดูร้อน “ อวี้เหอหยวน” ของพระนางซูสีไทเฮา อุทยานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ภายในนั้นมีสิ่งก่อสร้างที่เป็นประจักษ์พยานความฟุ้งเฟ้อของพระนางซูสีไทเฮา เช่น เรือหินอ่อน สะพาน 17 ช่อง เสาอาคารที่มีภาพวาดไม่ซ้ำกันถึง 5,000 ภาพ ฯลฯ




รูปตัวจริงของพระนางซูสีไทเฮา
(ภาพทางซ้าย) รูปที่มี 3 คน ทางซ้ายคือฮองเฮาในกว่างสูฮ่องเต้(หลานสะใภ้) ตรงกลางคือพระนางซูสีไทเฮา ทางขวาคือหลี่กงกง
ที่เป็นทั้งชู้ลับ (ไกด์จีนเราเรียกว่า "กิ๊ก" ล่ะ) และควบตำแหน่งที่ปรึกษาด้วย
(ภาพทางขวา) นี่ไงภาพตัวจริง ของพระนางซูสีไทเฮา



ตำหนักกว่างสูฮ่องเต้
ฮ่องเต้พระองค์นี้เป็นหลานของพระนางซูสีไทเฮา
ที่ถูกควบคุมโดยพระนางฯ ภายหลังขัดแย้งกันและ
ถูกขังไว้ที่ตำหนักนี้จนสิ้นพระชนม์
 และที่นี่ต่อมาใช้เป็นที่เก็บสมบัติในวังและถูกลักลอบขนออกไปก็เยอะ



หินอายุยืน
ที่เชื่อว่าเมื่อได้ลูบแล้วจะอายุยืน มีการกั้นคอกไว้กันคนมาลูบจนสึก



ต้นอี้หลาน(จำปา)
อี้หลานเป็นชื่อเล่นของพระนางซูสีไทเฮา ไกด์บอกว่า
ในเดือนเมษายน ดอกจะบานสะพรั่งสวยงามมาก



พระราชวังฤดูร้อน “อวี้เหอหยวน”
อุทยานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีนและยูเนสโกได้จัดให้เป็นมรดกโลกด้วย
(ภาพกว้าง ๆ ส่วนหนึ่งของอุทยานฯ บริเวณทะเลสาบ)



ทะเลสาบคุนหมิง
เป็นทะเลสาบที่พระนางซูสีไทเฮา ใช้คนขุดถึง 10 ล้านคน ใช้เวลาขุดถึง 10 ปี และสะพานที่เห็นคือสะพาน17 ช่อง จำลองจากสะพานมาโคโปโล ยาว 150 ม. (น้ำเป็นน้ำแข็ง เลยไม่ได้นั่งเรือเก๋งมังกงล่องทะเลสาบเลย)



เรือหินอ่อน
เรือสำราญที่พระนางซูสีไทเฮา ให้สร้างเพื่อเป็นที่นั่งจิบน้ำชาชมละอองฝน
 ใช้งบก่อสร้างถึง 10 ล้านตำลึง ซึ่งเป็นภาษีจากราษฎร
เพื่อใช้ซื้ออาวุธป้องกันประเทศ ภาพที่เห็นเป็นซากเรือที่
ถูกต่างชาติบุกเข้ามาเผาทำลาย (ของดั้งเดิมคงสวยงามมากเลย น่าเสียดาย)



เก๋งวัดพระหอม
เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่กวนอิมในปัจจุบัน
เล่ากันว่า ในสมัยบั้นปลายของพระนางซูสีไทเฮา
ได้ไปอยู่ในนั้นและให้คนมากราบไหว้โดยคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าแม่กวนอิม




กิจกรรมว่างยามเย็น
คนที่นี่มีอิสระในการร้อง รำ เขียนกลอน เล่นไพ่ (อย่างเปิดเผย)
 ทุกเย็นจะมีคนมาพักผ่อนจับกลุ่มกันแบบนี้



ห่มต้นไม้
ที่นี่อากาศหนาวมาก จนต้องห่มผ้าให้ต้นไม้ ถ้าเป็นต้นสูง
ก็พันแบบมัมมี่อย่างนี้ ถ้าเป็นไม้พุ่มก็ห่มปิดทั้งหมด

โปรแกรมต่อไป ไปนวด(เท้า) แก้เมื่อย



ศูนย์วิจัยทางการแพทย์แผนโบราณ
(ภาพซ้าย) หมอนวด(เท้า) คนนี้มือหนักชะมัด แต่เก่งนวดจนเจอจุดที่ป่วยอยู่ แล้วก็ส่งต่อให้หมอแมะตรวจ เจอไปหลายโรคเลย
(ภาพขวา) ระหว่างนวดจับเส้นอยู่ จะมีแพทย์จีนโบราณ มาแมะตรวจโรค และก็มีล่ามคอยแปล ล่ามที่นี่พูดไทยได้หลายคนเลย เขาใช้เวลา 2 ปี เรียนพูด อ่าน เขียนภาษาไทย และบอกว่าที่เป็นเร็วเพราะลูกค้าไทยสอนสะกดคำ
และคุยด้วยจึงเป็นเร็ว

รูปภาพของ YupSinFa

เสียดายที่ภาพความสวยของระเบียงขึ้นให้ชมไม่ได้

                    ตอนที่ไหงเขียนเรื่องพระนางชูศรีจบ ไหงได้ค้นรูปภาพเกี่ยวกับเธอได้ตั้งมากมาย แต่เสียดายว่า รูปภาพระเบียงทางเดินที่ยาวเหยียดและมีภาพวาดที่วิจิตรสวยงามนั้น ไม่สามารถนำขึ้นเว็ปได้อาจจะคนละไฟล์หรือ ถูกบล๊อค และอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพที่สองนางสนมคู่พระทัย ฮ่องเต้กวางสู มาตลอดชีวิตคือโดนกักขังด้วยกัน พอกวางสูถูกสั่งให้ดื่มเหล้าที่ผสมสารหนู สิ้นพระชนม์ สองนางสนมนั้น ถูกจับโยนลงบ่อน้ำข้างพระตำหนักนั้นเอง บ่อน้ำนี้ เป็นจุดที่ไกด์และนักท่องเที่ยวนิยมเข้าไปชมภายในพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง

                รูปภาพบ่อน้ำนี้ก็เช่นกัน ไม่สามารถขึ้นเวปเราได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงรูปบ่อน้ำธรรมดา ที่อยู่ข้างพระตำหนัก แต่มันเป็นสัญญลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุนผิดมนุษย์ของพระนางซูสี และ ได้ดูเพื่อปลง อนิจจังและ อธิษฐานให้วิญญานของสองนางสนมที่แสนดีนั้น ได้ไปสู่สุขคติ 

                นางซูสีไทเฮา ทรงใช้งบของกองทัพเรือ หมดเงินไปถึง 26 ล้านตำลึงทอง ในการสร้างพระราชวังฤดูร้อนอี้เหอหยวนแห่งนี้ ท่ามกลางการมองด้วยตาปริบ ๆ ของบรรดาเสนาอำมาตย์ที่รักชาติ ด้วยความเสียดายงบ แต่ทุกคนไม่มีพลังอำนาจใด ๆ ที่จะทูลค้ดค้านพระนางได้ 

 

 

รูปภาพของ webmaster

ไม่ได้บล๊อกครับ

ขอแก้ไขว่าไม่เคยบล๊อกใครครับ

ทุกคนที่เป็นสมาชิกในระดับเดียวกัน ได้รับสิทธิการใช้งานเท่านเทียมกัน และสามารถบริหารจัดเนื้อที่ของตนเอง ตามขนาดพื้นที่ที่ได้รับเท่ากัน

เว้นแต่การใช้งานบางอย่างที่ไม่ถูกเงื่อนไข เมื่อระบบจะไม่สามารถรับได้ ระบบจะแจ้งผลให้ทราบ

หากเป็นบักของระบบ กรุณาแจ้งคำอธิบายที่ระบบตอบกลับ หรือทำแล้วติดขัดตรงไหน กรุณาบอกเป็นจุดที่เกิดปัญหา เพื่อผู้ดูแลระบบจะได้หาทางแก้ไขให้ท่านได้ถูกต้อง และเป้นข้อมูลในการปรับปรุงเว็บให้ปัญหาน้อยลงด้วย

เช่น

บางท่าน ส่งรูปไม่ได้บอกแต่ส่งไม่ได้ๆ ก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาให้ได้อย่างไร ในเมื่อผู้อื่นยังส่งได้  แต่ถ้าบอกว่า ได้ลองทำตาม การใส่รูปภาพ ถึงขั้นตอนที่ 2 คลิกที่ แล้ว ไม่ขึ้นรูปที่ 3 (ถ้าเป็นคนช่างสังเกต จะเห็นแถบเหลืองข้างบน browser ว่า "Pop-up blocked. Tosee this pop-up or addtion option click hear..." ) ก็จะแนะนำให้ไปดู ปัญหาการใส่รูปที่พบบ่อย เป็นต้น

รูปภาพของ YupSinFa

ความหมายของไหงเข้าใจว่าบล๊อกจากต้นทางน่ะครับ

                     เรียน เว็ปมาสเตอร์ครับ ภาพทั้งหมดมันอยู่ในชุดเดียวกัน ที่ไหงคัดมาจากอินเตอร์เน็ต และมันมีอยู่ ประมาณ 2-3 ภาพ ที่เอาเข้ามาในเว็ปเราไม่ได้ ดังนั้น ด้วยความรู้น้อยเท่าหางอึ่งในเรื่องคอมพิวเตอร์ของไหง ไหงจึงเข้าใจว่า 2-3 ภาพนั้น ที่เอามาลงไม่ได้ ภาพนั้นมันคงไม่รองรับไฟล์หรือว่า ถูกบล๊อกมาจากต้นทาง หาได้หมายความว่า ถูกเว็ปของเราบล๊อคแต่อย่างใดไม่

                    เข้าใจคลาดเคลื่อนกันครับ เดี๋ยวไหงจะลองทำดูอีกทีครับ

รูปภาพของ อิชยา

สวัสดีค่ะ

สวัสดีค่ะอาโก๊

ไม่รู้ว่าอาโก๊ลองทำวิธีนี้หรือยัง  รูปที่อาโก๊บอกว่าอยู่ในเว็บแล้วเอามาลงไม่ได้   อาโก๊ลองเปิดภาพนั้นแล้ว  กดปุ่มที่แป้นคีย์บอร์ด  ตรงปุ่มที่มีคำว่า Prtsc  (ปุ่มปริ้นท์สกีน)   กดปุ่มนี้แล้ว  ก็ไปเปิดโปรแกรม paint  ที่มีอยู่ในเครื่องคอมอยู่แล้ว   พอโปรแกรมมันแสดงหน้าจอแล้ว   คลิกที่ปุ่ม paste  หรือ วาง   รูปที่อาโก๊ทำการก๊อปปี้มาเมือกี้จะแสดงขึ้นมา   แต่รูปมันจะติดมาทั้งหน้าเว็บ  ก็ทำการ crop​ มันให้เหลือเท่าที่ต้องการ   จากนั้นก็เก็บไว้ในเครื่อง  แล้วก็จัดการไปตามประสงค์ต่อไป

 ถ้าอาโก๊ลองทำแล้วไม่ได้ผล  ก็ขอโทษด้วยที่มาบอกซ้ำ 

ประวัติศาสตร์ ล้วน ล้วน ครับ

ประวัติศาสตร์   วัฒนธรรม  ความรู้
รูปภาพของ 曾绍华

เยี่ยมไปเลย

เยี่ยมไปเลย โกซินฝ่าบรรยายได้ละเอียดยิบ   พูดถึงระบอบกษัตริย์ในจีนนั้น เราจะไปต่อว่าเค้าไปเทิดทูลคงไม่ได้นะ  หงีก็รู้หัวคิดของคอมมูนิสต์นั้น ต่อต้านระบบคิงแค่ไหน  ความจริงยุคประชาธิปไตยสมัยท่านซุน ชาวจีนค่อยๆเริ่มพัฒนาขึ้นตามแบบตะวันตก(ฝรั่ง) ยุคประชาธิปไตยรุ่นหนุ่มสาวจีนเค้ามองเห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมมาก  จึงไม่ส่งเสริมอีกครับ  

หลังท่านซุน  ต่อสมัยท่านเจียงที่เป็นระบอบใหม่ หากไม่คอรับชั่นกัน  ท่านเหมาคงทำไม่สำเร็จ  และคนจีนทุกวันนี้ในแผ่นดินใหญ่ต่างคนต่างก็ขุดทองกันมากกว่าที่จะหันกลับไปส่งเสริมระบอบเดิมๆอีกไม่ว่าจะเรื่องศาสนาความเชื่อจนไปถึงเรื่องจักรๆวงศ์ๆ

 

รูปภาพของ วี่ฟัด

มิจฉาทิษฐิ

                       ในประวัติศาสตร์ชาติจีนนั้นเราต้องไม่ลืมว่าราชวงศ์ชิงคือพวกม่านจู๋คือผู้รุกรานแผ่นดินฮั้นโดบอู๋ซันกุ้ยเปิดด่านซานไห่กวนเพื่อให้มาปราบกบฏชาวนาที่ล้มราชวงศ์หมิงซึ่งตามเกล็ดประวัติศาสตร์เขาว่ากันว่ากบฏชาวนาทำสำเร็จแล้วแต่ดันไปสถาปนาเมียน้อยของอู๋ซานกุ้ยมาเป็นฮองเฮา ทำให้อู๋ซานกุ้ยโกรธมากจึงไปเชิญพวกม่านจู้ที่อยู่นอกด่านให้เข้ามาปราบกบฏแต่พอปราบกบฏสำเร็จพวกม่านจู๋ไม่ยอมออกสถาปนาราลวงศ์ชิงครองจีนอยู่อีกเกือบสี่ร้อยปี

                  ในช่วงแรกๆที่พวกม่านจู๋เข้ามาชาวฮั้นก็มีการต่อต้านราชวงศ์ชิงอยู่ตลอดในลักษณะ " ต้านชิงฟื้นฟูหมิง " แต่พอนานๆเข้าเชื้อสายกษัตริย์ราลวงศ์หมิงแก่ๆกันหมดจนสูญรุ่นไปหมดจึงได้มีการต่อต้านราชวงศ์ชิงในฐานะผู้รุกรานในลักษณะเป็นเอกเทศการน่อต้านราชวงศ์ชิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติจีนก็คือหงซิ่วเฉวียน ชาวฮากกาของเราไงครับ

                 ดังนั่นพอสรุปได้ว่าการต่อน้านราชวงศ์ชิงของคนจีนนั้นเป็นการต่อต้านในลักษณะการกอบกู้บ้านเมืองจากผู้รุกรานยึดครองมิใช่แบบแนวประชาธิปไตยโลกสวยแต่อย่างใด ( เขาเข้าใจว่าตัวเองจะสื่ออะไร ) 

รูปภาพของ วี่ฟัด

บริบทแห่งประวัติศาสตร์

                     การศึกษาประวัติืศาสตร์ต้องเข้าใจบริบทของยุคสมัยด้วยจึงจะรู้กระจ่างเพราะถ้าไม่เข้าใจบริบทแล้วไซร้เราจะติดหล่มประวัติศาสตร์ทำให้เกิดความไขว้เขวไปคำว่าบริบทเป็นคำใหม่ที่เขานิยมใช้กันในสมัยนี้ซึ่งอาจจะหมายถึง " สภาวะแวดล้อมนั้นนั้น "

                     ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ชิงนั้น เขาถือว่าราชวงศ์ชิงเป็นผู้รุกรานเข้ามายึดครองประเทศจีน ชาวฮั้นซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของประเทศจีนที่แท้จึงถือว่าชาวแมนจูคืออริราชศัตรูที่จะต้องกำจัดให้สิ้นทรากโดยมิได้คำนึงว่าการล้มล้างราชวงศืชิงคือการล้มล้างระบอบกษัตริย์แบบที่มีกลุ่มคนที่ไม่ค่อยหวังดีต่อประเทศชาติพยายามนำประเด็นนี้มาจุดให้เป็นประเด็นแต่อย่างใดเลย 

                       แต่ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่าการบริหารจัดการเพื่อความคงอยู่ในการยึดครองประเทศจีนมาเกือบสี่ร้อยปีได้นั้นถือว่าเป็นความเก่งกาจอันหนึ่งทีเดียว ที่แมนจูสามารถยึดครองจีนมาได้อย่างยืนยาวนั้นเขาว่ากันว่าเพราะพวกแมนจูถูกอารยธรรมจีนกลืนเสียอยู่หมัดและเป็นความจงใจของแมนจูเองด้วยที่มีความประสงค์ที่จะเรียนรู้ซึมซับวัฒนธรรมจีนซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แข็งกว่าวัฒนธรรมแบบแมนจูซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนนอกด่านที่ยังป่าเถื่อนไร้อารยธรรมอยู่ ซึ่งการคล้อยตามวัฒนธรรมจีนและการเรียนรู้กลมกลืนต่อวัฒนธรรมจีนนี่เองที่ทำให้ระบอบแมนจูจึงสามารถครอบครองประเทศจีนได้ในระยะยางทีเดียว 

 
[email protected]    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal