หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

รู้เรื่องเมืองมังกร 19 ประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ 3 "ราชวงศ์โจว กับ ชุน-ชิว และ จ้านกว๋อ"

รูปภาพของ YupSinFa

 

มาต่อกันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน ตอน ที่ 3 กันเลยนะครับ เมื่อพอมีเวลา ก็จะต้องรีบเขียน เพื่อให้ท่านที่ติดตามงานเขียนของไหง่เป็นประจำ ได้อ่านอย่างไม่ขาดตอนเป็นเวลานานเกินไป...พูดถึงแฟน ๆ ที่ติดตามงานเขียนของไหง ไหงแทบจะคิดไม่ถึงเลยว่า มีชาวไทยเชื้อสายฮากกาอย่างพวกเรา จากบ้านจากเมืองไทย ไปดำรงชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ไกลถึงยุโรป ที่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งเธอได้ส่งข้อความเข้ามาหาไหง่ทางเฟซบุ๊คเป็นประจำ และมีอยู่ 2 ท่าน โดยทั้งสองเป็นเพื่อนกัน และติดตามเรื่องราวของพวกเราทางหน้าเว็ปนี่แหละครับ 

เธอกรุณาบอกกับไหงว่า ติดตามงานเขียนของไหง่ ตลอด และติดตามอยู่ทุกบล๊อก แต่ไม่ได้ล๊อคอินเข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้ง 2 ท่าน ดังนี้ ไหงจึงขอเรียนให้พวกเราทราบว่า เรายังมีสมาชิกที่อยู่แดนไกล เฝ้าติดตามเรื่องราวที่พวกเราเขียน อย่างมีความสุข และคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน ก็คือประเทศไทย และยังรำลึกนึกถึงดินแดนบรรพบุรุษคืออำเภอเหมยเสี้ยน อีกด้วย

ไหงจึงเรียนแก่ทุกท่านว่า เวลานี้ ชุมชนของเรา งานเขียนของท่านต่าง ๆ เรามีชาวไทยเชื้อสายฮากกาของเรา ที่อยู่แดนไกล คอยติดตามความเคลื่อนไหว สาระ และบันเทิง จากพวกเราอยู่ ไหงจึงอยากให้ บรรดาท่านอาวุโส ผู้รู้ สมาชิกแต่ละท่าน ร่ายฝีมือให้เต็มที่ เพื่อที่จะได้ช่วยให้ แฟนานุแฟน ของเรา ได้ติดตาม และทำให้เพื่อนของเราที่อยู่แดนไกลไม่เหงา นะครับ วี่ฟัดโก อาโกอาคม จองกว๊านหมิ่นโก จองหยิ่นฮยุ๋งโก อาโกวีรพนธ์ อาจี้เฉินซิ่วเชง(รายนี้กำลังยุ่งอยู่กับการก่อร่างสร้างตัวของมหาวิทยาลัยเนชั่นลำปางอยู่พักนี้จึงไม่ค่อยมีผลงานดี ๆ มาให้พวกเราได้รับชมกัน) น้องต้นกล้า ป้าจี้ คุณอิชยา ฯลฯ ที่ไม่ได้เอ่ยนา มาร่วมด้วยช่วยกัน นะจ๊ะ.

ความเป็นมาของราชวงศ์โจว

ในยุคสมัยนั้น ความเป็นชนชาติฮั่น ยังไม่มีใครรู้จัก ชาวจีนในสมัยนั้น ต่างเรียกกลุ่มชนที่อยู่ต่างท้องที่ต่างถิ่นฐานกัน ว่า เผ่านั้น เผ่านี้ ตามคำเรียกของตนเอง หรือชื่อสถานที่ที่กลุ่มชนนั้น ๆ ลงหลักปักฐานอาศัยอยู่ โจว ก็เช่นเดียวกัน เราจะเรียกได้ว่า เป็นชนเผ่า (ที่หล่อหลอมรวมกันเป็นชนชาติฮั่นในทุกวันนี้) หนึ่ง ในบรรดาหลาย ๆ เผ่า ที่จะกลายมาเป็นฮั่นในภายหลัง ชนเผ่าโจว เป็นชนชาติที่เก่าแก่หนึ่ง ในหลาย ๆ เผ่า บนที่ราบสูงดินเหลือง (อยู่ทางเหนือของมณฑลส่านซี หนิงเซี่ย กานซูู่ และมองโกเลียใน-ตามที่ไหงได้ร่ายไปแล้ว) พวกโจว มีหลักปักฐานอยู่ทางตอนกลางของแม่น้ำเว่ยสุ่ย ปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของนครซีอาน มณฑลส่านซี

บรรพบุรุษของพวก โจว ที่บรรดาประชาชนเผ่าโจว ยกย่องให้เป็นผู้นำประจำเผ่าของตน คือ "กู่กงต่านฟู่" ว่าให้เป็นปฐมบรมฮ่องเต้ ของชนเผ่าโจว และฮ่องเต้โจวองค์ต่อมาจากกู่กงต่านฟู่ คือ กู่กงจิ๊ลี่ ต่อจากจิ๊ลี่ ก็เป็น กู่กงชาง มีพระนามในรัชกาลว่า เหวินหวางแห่งราชวงศ์โจว หรือ "โจวเหวินหวาง" 

ภาพเขียนโบราณ และที่เขียนใหม่ในสมัยปัจจุบัน รวมถึงรูปปั้น ของโจวเหวินหวาง ที่ชาวแต้จิ๋วออกเสียงว่า "จิวบุ่นอ๋อง" ซึ่งคนเซี้ยงโจว ถือกันว่าเป็นบรรพบุรุษของพวกตน

โจวเหวินหวางองค์นี้เอง ที่เป็นผู้ปราบฮ่องเต้โจ้วตี้ซิน ของราชวงศ์ซาง ได้อย่างสำเร็จและราบคาบ แล้วสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้นมาแทน โจวเหวินหวาง จึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว มีฐานที่มั่นหรือเมืองหลวงอยู่ที่ เฟิงอี้ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเฟิง ในมณฑลส่านซี 

อาณาบริเวณพื้นที่เขตอิทธิพลของราชวงศ์โจว

 

ถึงแม้ว่าโจวเหวินหวาง จะเป็นปฐมกษัตริย์ ของราชวงศ์โจว และปราบซางตี้ซิน ฮ่องเต้ของพวกซาง ลงได้ แต่บรรดาอ๋อง หรือ ขุนนางของราชวงศ์ซาง ยังมีอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปรายรอบอาณาจักรโจวที่สถาปนาขึ้นมาแทนที่ แต่อย่างไรก็ตาม หลานปู่ของเหวินหวาง มีพระนามว่า อู่หวาง ได้เป็นผู้พิชิตพวกเจ้าราชวงศ์ซาง และขุนนางซางที่เก่งกล้าสามารถจนหมดลงได้ไม่เหลือหรอ และเมื่อพิชิตพวกซางได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว อู่หวาง จึงได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ และสถาปนาราชวงศ์โจว ขึ้นมาได้อย่างเป็นทางการ มีพระนามว่า โจวอู่หวาง แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่กรำศึกมาอย่างหนัก ทำให้โจวอู่หวาง สิ้นพระชนม์ลงหลังจากปราบดาภิเษกได้เพียง 2 ปี

  โจวอู่หวาง

ประวัติศาสตร์จีน บันทึกไว้ว่า อาณัติสวรรค์ ที่ผู้ชนะสามารถปราบผู้พ่ายแพ้ได้อย่างราบคาบ แล้วตั้งตนหรือราชวงศ์ของตัวเองขึ้นมาแทนที่ เรียกว่าอาณัติสวรรค์ ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า "เทียนมิ่ง" การอ้างอาณัติของสวรรค์ หรือ เทียนมิ่ง นี้เอง กษัตริย์ราชวงศ์โจว คือโจวอู่หวาง เป็นผู้คิดคำคำนี้ขึ้นมาก่อนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติจีน และก็ได้ยึดถือสืบต่อกันมาจนถึงสมัยใหม่ 

การกำจัดผู้นำที่เป็นทรราชย์ หรือฮ่องเต้ในราชวงศ์ก่อน แล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาแทน จะถือว่าเป็นการชอบธรรมของผู้ที่กำจัด โดยผู้ชนะจะอ้างว่า ที่ตนชนะได้นั้น เป็นเพราะได้รับอำนาจจากฟ้า หรือบัญชาจากสวรรค์ แม้ในตอนสมัยสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดยประธานเหมาเจ๋อตง  กับ กองทัพรัฐบาลของจอมพลเจี่ยงเจี้ยสือ (เจียงไคเช็ค)  และเจี่ยงเจี้ยสือพ่ายแพ้ให้แก่เหมาเจ๋อตง ประชาชนชาวจีนในสมัยนั้นต่างพูดกันว่า "เป็นเพราะ ฟ้าได้ถอนอาณัติหรือเทียนมิ่งจากจอมพลเจี่ยง แล้วเอามามอบให้แก่เหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนแทน"

การสืบทอดราชบัลลังก์ของกษัตริย์โจว

ภายหลังจากที่โจวอู่หวางสิ้นพระชนม์ โจวกง (เป็นชื่อบรรดาศักดิ์-พระอนุชา หรือ วังหน้า) อนุชาของอู่หวางเป็นผู้สำเร็จราชการแทนเฉิงหวาง ราชโอรสของอู่หวาง โดยโจวกง สำเร็จราชการแทนนัดดาอยู่ 7 ปี แต่ระยะเวลา 7 ปีของการปกครองอาณาจักรโจว ของโจวกง นับเป็นยุคทองของราชวงศ์โจว และโจวกงเองนั้น ได้รับการยกย่องว่า เป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ถึงขนาดเป็นตัวอย่างของบรรดาผู้นำจีนยุคต่อมาจนถึงยุคสมัยใหม่เลยทีเดียว

เครื่องแต่งกายสตรีและบุรุษ รวมถึงชุดฮ่องเต้ ในสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กับการแต่งกายในยุคสมัยถัดมา จนถึงราชวงศ์ฉิน

 

โบราณวัตถุและเครื่องสัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์โจวที่ขุดได้

ศิลปะ-โบราณวัตถุ สมัยราชวงศ์โจว

ยุค ชุน - ชิว (ใบไม้ผลิ - ใบไม้ร่วง)

ในสมัยของ โจวผิงหวาง ฮ่องเต้องค์ที่ 13 ของราชวงศ์โจว ได้ย้ายเมืองหลวงจากเฮ่าจิง (ทางตะวันตกของมณฑลส่านซี) มายัง ลั่วอี้ ทางทิศตะวันออก ในปีที่ 770 ก่อนคริสตศักราชจะเกิดขึ้น ในยุคนี้ ประวัติศาสตร์จีน เรียกว่า ยุคโจวตะวันออก (ในขณะที่แต่เดิมเป็นยุคโจวตะวันตก)  ในยุคโจวตะวันออกนี้ยังจะมีกษัตริย์ปกครองกันต่อมาอีกเป็นจำนวน 25 องค์ รวมเป็นระยะเวลา 514 ปี จนถึงปีที่ 256 ก่อนคริสตศักราช 

ในยุคนี้แหละครับ ท่านทั้งหลายไท้ก๋าหยิ่น เป็นยุคที่อำนาจกษัตริย์ของราชวงศ์โจวไม่มีความหมายในอาณาจักร รวมถึงประเทศราชอาณารัฐ ทั้งหลายที่อยู่รายรอบ ความเป็นฮ่องเต้หรือกษัตริย์ของโจว เป็นเพียงแต่ในนามเท่านั้น ในยุคโจวตะวันออก ยังแบ่งออกเป็น 2 ยุคที่สำคัญในประวัติศาสตร์จีน คือ ยุคชุนชิว (ฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูใบไม้ร่วง) ซึ่งอยู่ในระหว่างปีที่ 722 ถึงปีที่ 481 ก่อนการเกิดของคริสตศักราชพระเยซู นับเป็นจำนวนปี ได้ 241 ปี และถัดจากยุคชุน-ชิว ก็จะเป็นยุค จ้านกว๋อ 战国 - หรือยุครณรัฐ (สงครามระหว่างรัฐ) ในระหว่างปีที่ 480 ก่อนคริสตศักราช จนถึงปีที่ 221 ก่อนคริสตราชพระเยซู นับได้ 259 ปี

เกี่ยวกับอำนาจราชศักดิ์ของราชวงศ์ตั้งแต่ยุค เซี่ย มาถึง ซาง นั้น ยังพอทำเนาว่า อำนาจของราชสำนักยังมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับเขตหรือรัฐต่างที่อยู่รายรอบหรืออยู่ในการปกครองของตัวเองได้ แต่มาถึงยุคราชวงศ์โจว โจวตะวันตกยังพอมีอำนาจรัฐอยู่บ้าง แต่มาถึงยุคราชวงศ์โจวตะวันออก ในแต่เดิมนั้นความเป็นกษัตริย์หรือความเป็นประมุขผู้นำพาอาณาจักรสูงสุดอยู่ที่ฮ่องเต้ ในเมืองหลวง แต่บรรดาข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ เป็นเชื้อพระวงศ์หรืออำมาตย์ จะกินหัวเมือง และมีอำนาจอยู่ในอาณาบริเวณที่ตนเองถือครองอยู่ ภายใต้ปรมาภิไธยของฮ่องเต้ ขุนนางและเจ้าราชวงศ์นี้ จะมีอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ในเขต-แคว้นของตัวเอง มีฐานะคล้ายกับเจ้าผู้ครองนครรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐใหญ่ หรือรัฐเล็ก ก็ตาม ในภายนอกรัฐ เจ้าเหล่านี้ก็ได้ยกย่องและยอมรับความเป็นประมุขของราชวงศ์โจว ว่าเป็นประมุขสูงสุด

ยุคของราชวงศ์โจว มีนคร หรือรัฐ รวมทั้งหมดถึง 1,763 นครรัฐ (จากประวัติศาสตร์จีน-ทวีป วรดิลก) แล้วเมื่อกาลเวลาล่วงผ่านพ้นไปเป็นปี สิบปี ร้อยปี บางนครรัฐก็ใหญ่ขึ้น บางนครรัฐก็เล็กลง บางนครรัฐก็สูญสลายหายไปเลย เนื่องจากเกิดการทำสงครามจากรัฐใหญ่ กลืน รัฐเล็ก หรือแม้กระทั่งรัฐเล็ก ยอมสลายความเป็นรัฐ เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่ด้วยความสมัครใจ แล้วเมื่อถึง 700 ปี ก่อนคริสตศักราช รัฐต่าง ๆ จาก 1,763 รัฐ ก็เหลือเพียง 200 กว่ารัฐ

อาณาบริเวณของยุคชุน-ชิว และ จ้านกว๋อ

อำนาจรัฐของราชสำนักโจว ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ อันเนื่องจากรัฐต่าง ๆ ไม่ยอมรับ เพียงแต่เคารพแต่ในนามถึงความเป็นกษัตริย์โจวเท่านั้น ถ้านับเอาช่วงตั้งแต่การย้ายเมืองหลวงจากเฮ่าจิง ทางตะวันตก มาเป็นเมืองลั่วหยาง ทางทิศตะวันออก นครรัฐต่าง ๆ ที่เข้มแข็งก็แสดงตัวออกห่างมากยิ่งขึ้น การต่อสู้ของรัฐต่าง ๆ เพื่อชิงความเป็นใหญ่ระหว่างรัฐที่แข็งแรงก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ นครรัฐเหล่านี้ยกย่องราชวงศ์โจวว่าเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ แต่เพียงในนามเท่านั้นครับ ไท้ก๋าหยิ่น ความเป็นราชวงศ์หรือความเป็นฮ่องเต้ที่ยังดำรงอยู่เป็นเพราะเขตแดนของราชวงศ์เป็นไข่แดงอยู่กึ่งกลางระหว่างรัฐต่าง ๆ ซึ่งในเวลานี้ก็หดเข้ามาเหลือเพียงไม่กี่รัฐ ในบรรดารัฐที่เข้มแข็งเกรียงไกรเป็นมหาอำนาจเหนือกว่ารัฐทั้งหลายรวมถึงราชสำนักโจวด้วย เช่น รัฐฉี รัฐฉู่ รัฐฉิน รัฐจิ้น

รัฐต่าง ๆ ทั้ง 5 ที่เป็นมหาอำนาจ รายล้อมราชสำนักโจว

บรรดารัฐทั้ง 5 นี้ รัฐฉี เป็นรัฐที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจความอุดมสมบูรณ์จนถึงมีความเข้มแข็งทางการทหารมากที่สุด โดยรัฐฉีตั้งอยู่บริเวณที่เป็นมณฑลซานตงในปัจจุบัน(ติดทะเลโป๋ไห่เสียด้วย)  ส่วนรัฐจิ้นนั้น ครองพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเฟินซึ่งอยู่ในมณฑลซานซี ของปัจจุบัน มีการเกษตรกรรมที่ก้าวหน้า จึงเป็นอีกหนึ่งรัฐที่มีความมั่งคั่งทางการค้า แต่ว่าภายในรัฐจิ้นนั้น ต่อไปจะแตกออกเป็น อีก 3 รัฐ เพราะมีตระกูลเจ้านายที่มีอำนาจพอ ๆ กันอยู่ 3 ตระกูล ในเมื่อเสือสามตัวอยู่ด้วยกันไม่ได้จึงต้องแยกออกจากกัน รัฐฉู่ อยู่ทางตอนใต้ของรัฐอื่น ๆ แต่ว่าความเจริญทางวัฒนธรรมของประชาชนในรัฐยังไม่เป็นอารยะ(ความเจริญทางวัฒนธรรม) แต่ว่า รัฐฉู่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่ารัฐอื่น ๆ ถ้านับแล้วเป็นถึงครึ่งหนึ่งของอาณาจักรราชวงศ์โจวเลยละครับ

รัฐฉิน ซึ่งจะเป็นรัฐผู้พิชิตในคราวต่อมา เป็นรัฐที่อยู่ทางด้านตะวันตก เป็นรัฐหนึ่งในยุคสมัยนั้นที่มีความเข้มแข็งมาก มีพื้นที่กว้างใหญ่จากความดีความชอบในการช่วยราชสำนักโจวโจมตีชนเผ่าหรง ที่เข้ารุกราน จึงได้รับการแบ่งพื้นที่ปกครองจากกษัตริย์โจวมาก รวมถึงเจ้าผู้ครองรัฐฉินมีนโยบายการปกครองด้วยการเสริมสร้างกองทัพและกำลังทหาร รัฐฉินจึงเป็นรัฐมหาอำนาจอีกรัฐหนึ่ง ที่จะบ่อนทำลายราชสำนักโจวต่อไปในอนาคต

เมื่อกี้ไหวไดเกริ่นไว้ว่า รัฐจิ้นจะต้องแยกออกเป็นรัฐอีก 3 รัฐ คือในปี 403 ก่อนคริสตศักราช จิ้นได้แบ่งแยกตัวเองออกเป็น 3 รัฐเนื่องจากตระกูลขุนนาง 3 ตระกูลแซ่ คือ หาน เว่ย และ จ้าว 3 ตระกูลนี้แยกออกมาจากรัฐจิ้น จึงตั้งรัฐขึ้นมาตามตระกูลแซ่ของตน คือ รัฐหาน รัฐเว่ย และรัฐจ้าว ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในช่วงตอนของ สงครามระหว่างรัฐ

การเกิดขึ้นของปรัชญาการเมือง 100 สำนัก

ความคิดในทางปรัชญา อันก่อกำเนิดเป็นลัทธิความเชื่อและคำสอน การเมืองการปกครองและการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์ ทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรมจนตกมาถึงสมัยนี้ได้ก่อกำเนิดขึ้นมาในสมัย ราชวงศ์โจวตะวันออกนี้เอง จนเป็นที่ยกย่องในหมู่นักประวัติศาสตร์จีนว่า โจวตะวันออกเป็นยุคทองของปรัชญาการเมือง 294 ปี ของยุคนี้ (ชุน-ชิว) เกิดขึ้นในระหว่างช่วงปีที่ 770 ปี ก่อนคริสตศักราช ถึงปีที่ 476 ก่อนคริสตศักราช นอกจากการเกิดขึ้นของสำนักปรัชญาลัทธิคำสอนต่าง ๆ มากมายกว่า 100 สำนัก ด้านการเมืองนั้นเล่า ได้เกิดสงครามขึ้นมาทั้งใหญ่ และเล็ก รวมกันเป็นจำนวนถึง 276 การสงคราม เท่ากับว่า ปีกว่า ๆ เกิดสงครามขึ้นมา 1 ครั้ง ส่งผลให้รัฐต่าง ๆ จำนวน 200 กว่ารัฐ ลดปริมาณลง และการขยายใหญ่ของรัฐผู้พิชิต จนเหลือเพียง อภิพญามหาอำนาจรัฐใหญ่ เพียง 7 รัฐ ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้น ครับ ท่านผู้อ่านที่รัก

เรียกได้ว่า ยุคชุน-ชิว กับยุคจ้านกว๋อ เป็นยุคที่คาบเกี่ยวเนื่องกันในด้านระยะเวลา

การเกิดขึ้นของความคิดเชิงปรัชญาในยุคนี้เรียกว่าเป็นความมั่งคั่งหลากหลายของแนวคิดทางปรัชญาลัทธิ แนวขนบธรรมเนียมประเพณีจีนจนถึงใกล้กับเป็นศาสนาในแนวคำสอนของนักปราชญ์เจ้าลัทธิ จนมีบรมครูนักประวัติศาสตร์จีนท่านหนึ่ง คือ อาจารย์อุดม สีสุวรรณ (เกิด พ.ศ. 2463 มรณะกรรม พ.ศ. 2537) เจ้าของนามปากกาว่า พ.เมืองชมพู และ บรรจง บรรเจิดศิลป์ ซึ่งอาจารย์ทวีป วรดิลก นำมาลงในหนังสือประวัติศาสตร์จีนของท่าน ว่า อาจารย์อุดม สีสุวรรณ ได้เรียกยุคนี้ ของจีน ว่า "ร้อยสำนักประชันปัญญา ร้อยบุพผาประชันโฉม" ไหงขอคารวะบรมครูด้านประวัติศาสตร์จีน ของประเทศไทยทั้งสองท่านไว้ ณ ที่นี้

     ภาพหนังสือที่มีใบหน้าของท่านอุดม สีสุวรรณ   หนังสือที่ระลึกการพระราชทานเพลิงศพท่านอาจารย์ทวีป วรดิลก

ร้อยสำนักประชันปัญญา ร้อยบุพผาประชันโฉม หมายความถึงว่าในยุคนี้มีการเกิดขึ้นมาของสำนัก นักคิดเป็นจำนวนมาก ในระหว่างยุคใบไม้ผลิ ใบไม้ร่วง และ ยุคสงครามระหว่างรัฐนี้ มีสำนักปรัชญาหลัก อยู่ 4 สำนักด้วยกันที่ได้ก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาเป็นหลักปรัชญาของชาวจีนจนถึงปัจจุบันนี้(แม้ว่าจะถูกจิ๋นซีฮ่องเต้สั่งเผาตำราในภายหลัง) คือ 1. ลัทธิขงจื่่อ(ขงจื้อ) 2. ลัทธิเต้า (เต๋า) 3. ลัทธิม่อ และ 4. ลัทธิฝ่า (กฎหมาย)

การก่อกำเนิดเกิดขึ้นของเจ้าลัทธิต่าง ๆ จนออกมาเป็นแนวความคิดเชิงปรัชญาทั้ง 4 สำนัก ข้างต้นแล้ว มีวิวัฒนาการหรือความจำเป็นทางสังคมการเมืองในสมัยนั้น คือว่า ระบบการเมืองการปกครองและการต่อสู้แย่งชิงกันระหว่างรัฐ มีความยุ่งยากสับสนซับซ้อน และวุ่นวาย นักปรัชญาเหล่านี้จึงได้ระเหเร่ร่อนไปยังที่ต่าง ๆ จากรัฐหนึ่ง ไปอีกรัฐหนึ่ง เข้าไปเผยแพร่แนวความคิดและถึงกับเสนอตัวเข้ารับใช้เจ้าผู้ครองรัฐที่รู้คุณค่าในปรัชญาของนักคิดเหล่านี้ นักคิดนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะได้รับความสำเร็จหรือไม่ในการคิดหลักปรัชญา แต่ว่าผลของมันคือมีลูกศิษย์ลูกหาได้นำมาเผยแพร่ในภายหลัง จนแพร่หลายเป็นลัทธิที่มีคนยอมรับเชื่อถือติดต่อกันมาในวงกว้าง

ขงจื่อ ปรมาจารย์เจ้าลัทธิที่ไม่มีวันตาย

ขงจื้อ ชื่อที่คนไทยรู้จักกันดีนี้ ในสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า ขง จื่อ ท่านมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยนั้น มีชื่อตัวว่า ชิว มีแซ่หรือเซี้ยงว่า ข่ง และคำว่า ขงจื่อ เป็นคำยกย่องที่คนจีนเรียกทั่วไป หมายถึง "อาจารย์ข่ง" ท่านเกิดเมื่อ ปีที่ 551 ก่อนคริสตศักราช อาปาของท่านเป็นชาวรัฐซ่ง ที่อพยพมาอยู่ที่รัฐหลู่ (ในมณฑลซานตงปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อท่านมีอายุได้ 3 ขวบ บิดาของท่านก็เสียชีวิตไป ทิ้งให้มารดาของท่านซึ่งเป็นคนที่มีจิตใจสัตย์ซื่อถือคุณธรรม เลี้ยงดูท่านมาด้วยความเข้มงวดกวดขันเพื่อที่จะให้ท่านเป็นบุคคลที่มีความรู้มีคุณธรรม ท่านขงจื่อมีใจรักและสนใจในการศึกษาหาความรู้ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ในยุคสมัยนั้น เมื่อเติบใหญ่หลังจากการได้ทำงานกับคหบดีแล้ว ท่านได้มีโอกาสเข้ารับราชการเริ่มต้นเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยก่อน ภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นข้าหลวงฝ่ายยุติธรรม(น่าจะเป็นฝ่ายตัดสินคดีความหรืออัยการประมาณนี้) แต่ว่าท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่นี้เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น ก็จำต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากความวุ่นวายสับสนทางการเมือง

ภายหลังจากที่ท่านได้พ้นจากตำแหน่งข้าหลวงยุติธรรมแล้ว(ต้นฉบับไม่ได้บอกว่าเป็นรัฐไหน) ท่านได้ร่อนเร่พเนจรไปทั่วราชอาณาจักร เผยแพร่ลัทธิปรัชญาต่าง ๆ ตามความเชื่อหรืออุดมการณ์ของท่าน จนถึงเมื่อมีอายุได้ 60 ปี ท่านจึงเดินทางกลับรัฐบ้านเกิด ทำหน้าที่ในการสอนหนังสือแก่ลูกศิษย์ที่สนใจสมัครเข้ามาเรียนรู้ปรัชญา นับว่าท่านขงจื่อเป็น นักการศึกษาและครูคนแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาของจีนที่เปิดสถาบันการศึกษาขึ้น

ปรมาจารย์ขงจื่อ 

ศาลเจ้าขงจื่อ ในที่ต่าง ๆ ทั้ง ปักกิ่ง ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี และญี่ปุ่น

หลักสูตรของขงจื่อ ที่่ท่านเปิดสอน ประกอบด้วย รัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง (เก่าแก่มากนะครับว่าไหม?) การดนตรี ยิงธนู ขับรถศึก การเขียนลายมือ และคณิตศาสตร์ นักประวัติศาสตร์จีนจึงยกย่องขงจื่อว่า เป็น ผู้มีอาชีพครูคนแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาของจีนที่เรียกเก็บค่าศึกษาเล่าเรียนจากลูกศิษย์ ไหงว่า ดีไม่ดี อาจจะเรียกได้ว่าสถาบันของท่าน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของจีน หรือของโลกก็ได้ ใช่ไหมครับไท้ก๋าหยิ่น

และก็ปรากฏว่าในปัจจุบัน (แค่ในประเทศไทย) ก็มีสถาบันขงจื่อ ไม่รู้กี่แห่งต่อกี่แห่ง ใช่ไหมครับ

ขงจื่อ ถึงแก่อนิจกรรมในปีที่ 478 ก่อนคริสตศักราช สิริอายุได้ 73 ปี

ในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านปรมาจารย์ขงจื่อ จำนวน 3 พันกว่าคน ที่มีความรู้ปราดเปรื่องและคุณธรรมสูงส่ง มีอยู่ 70 คน และในบรรดา 70 คนนี้ นับเป็นตำราสำคัญที่ได้ช่วยบันทึกหลักปรัชญาคำสอนของขงจื่อ ที่ได้ตกทอดมาสู่คนจีนยุคหลัง เนื่องจากศิษย์ 70 คนนี้ เป็นผู้บันทึกหลักปรัชญาคำสอนของขงจื่อไว้เป็นตำรา (คงเปรียบได้กับที่พระกัสปมหาเถระร่วมกับพระอานนท์ได้ชำระพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาภายหลังการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว)

จากการประมวลและเรียบเรียงหลักคำสอนของขงจื่อของศิษยานุศิษย์ 70 ตนของขงจื่อนี้เอง ได้เกิดเป็นหนังสือ ชื่อว่า "หลุนอวี่" และในช่วงปลายของชีวิตของขงจื่อ ท่านก็ได้เรียบเรียงบันทึกพงศาวดารและปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น เป็นหนังสือ 5 เล่ม มีชื่อว่า  1."ชุน-ชิว" หมายถึง ใบไม้ผลิ - ใบไม้ร่วง อันเป็นที่มาของชื่อยุค ยุคนี้ ในประวัติศาสตร์จีนนั่นเองครับท่านทั้งหลาย นอกจากนี้ ขงจื่อ ยังได้รวบรวม-เรียบเรียงหนังสือตำราที่สำคัญในยุคก่อนหน้าและในยุคของท่านอีก  4  ตำรา และได้เป็นที่ยกย่องกันในภายหลัง ว่า "อู่จิง" หรือ ตำราทั้ง 5 คือ 2.ซูจิง(ตำราว่าด้วยประวัติศาสตร์) 3.ซือจิง(ตำราว่าด้วยลำนำร้อยกรองหรือบทกวี) 4.อี้จิง(ตาราว่าด้วยการดนตรี-ซึ่งตำรานี้ได้หายสาบสูญไปไม่ได้ตกทอดมาถึงสมัยปัจจุบัน) 5.ตำราหลี่จี้(ว่าด้วยพิธีกรรม)

หนังสือ 5 เล่มนี้ ภายหลังเรียกกันว่า ขงจื่อเตออู่จิง - คัมภีร์ทั้ง 5 ของขงจื่อ

ตำรา อู่จิง ของท่านขงจื่อ ที่ตกทอดมาในยุคปัจจุบัน

แนวความคิดเชิงปรัชญาของขงจื่อ

ขงจื่อเผยแผ่แนวความคิดเกี่ยวกับหน้าที่ของมนุษย์และการดำรงชีวิตอยู่ ไว้ว่า "คนทุกคนจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้สมกับการที่ได้เกิดมาเป็นคน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว และ สังคม" อีกส่วนหนึ่งของแนวความคิดของขงจื่อ ที่ชาวจีนมักนำมาอ้างอิงและยึดถือปฏิบัติ คือ "ผู้ปกครอง จะต้องเป็นผู้ปกครองที่ดี ผู้อยู่ภายใต้การปกครอง ก็ต้องเป็นผู้อยู่ภายใต้การปกครองที่ดี พ่อต้องเป็นพ่อที่ดี บุตร ก็ต้องเป็นบุตรที่ดี" แนวคิดนี้ของขงจื่อ นี้ เรียกว่า "เจิ้งหมิง" 正明 ซึ่งหมายความว่า "การทำตัวให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่(นาม)" หลักดังว่านี้เอง เป็นแบบอย่างที่ชาวจีนยึดถือกันมานานว่า บุตรต้องเชื่อฟังบิดา ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี มารดาผู้ชรา ต้องเปิดโอกาสให้บุตรชายปกครองครอบครัว-ไหงอยากจะเลี่ยงว่าแม่ต้องเชื่อฟังลูกชาย

ขงจื่อ ได้แสดงเหตุผลหรือตรรกะของท่าน ไว้ว่า ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จะต้องลดหลั่นลงมาตามลำดับระหว่างผู้ที่อยู่เหนือกว่า(กษัตริย์หรือผู้ปกครอง หัวหน้าครอบครัวถึงคนในครอบครัว) กับผู้ต่ำต้อยกว่า พ่อแม่ย่อมเหนือกว่าลูก ๆ ผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง ผู้ปกครองอยู่เหนือผู้ใต้การปกครอง บุคคล ย่อมมีหน้าที่ตามภาระหน้าที่ของตน โดยรวม สังคมจะต้องให้สมาชิกแต่ละระดับทำหน้าที่ตามบทบาทหรือตำแหน่งของตนตามแบบแผนที่กำหนดไว้ ดังนี้

ขงจื่อ เน้น การถือคุณธรรม เป็นภาระหน้าที่หลัก ของปัจเจกบุคคล

บุคคลในอุดมคติของขงจื่อ คือ ซุนจื่อ ชื่อนี้ เป็นนามธรรม หมายถึงผู้ที่มีคุณธรรมเป็นสมบัติประจำตัว

ในบรรดาคุณธรรมต่าง ๆ นั้น ขงจื่อ มีความเห็นว่า "ความเมตตาธรรม" เป็นคุณธรรมสูงสุด เมตตาธรรม จึงเป็นแก่นของคำสอนของขงจื่อ เป็นอุดมคติที่จะให้คนในสังคมจีนมีความประพฤติที่ดีงาม บุตรมีหน้าที่รักเคารพและกตัญญูต่อบุพการี ผู้น้อยจะต้องเคารพยกย่องผู้อาวุโส คนทั่วไปจะต้องมีความเมตตากรุณาต่อกันและกัน โอบอ้อมอารีต่อกัน มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน คนในสังคม จะต้องเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น ไม่ทำร้ายคนอื่น เหมือนกับที่ไม่อยากให้คนอื่นทำร้ายตัวเอง 

ปรัชญาจริยธรรมของขงจื่อได้กลายมาเป็นต้นแบบแห่งปรัชญาจีนในปัจจุบัน (หลักอันนี้ พระนางซูสีไทเฮา มักจะเอามาทรงอ้างว่า ลูกต้องเชื่อฟังแม่ ฮ่องเต้จะต้องเชื่อฟังไทเฮา อย่างนี้เพียงเพื่อพระนางจะได้อยู่เหนือฮ่องเต้ตลอดไป)

ขงจื่อ ลาจากโลกไปเมื่อ 479 ปี ก่อนคริสตศักราช โดยมีศิษย์คนสำคัญ 2 คน ที่มีบทบาทในการเผยแผ่หลักปรัชญาคำสอนของขงจื่อต่อไป ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนในสังคมจีนยุคนั้น สมัยนั้น ศิษย์สำคัญของขงจื่อ 2 คน คือ 1. เมิ่งจื่อ (เม่งจื้อ- มีชีวิตอยู่ประมาณ 372 ถึง 289 ปี ก่อนคริสตศักราช) และ 2. สวินจื่อ (ระหว่าง 320 ถึง 235 ปี ก่อนคริสตศักราช) จากการเผยแพร่ของศิษย์สองคนนี้ แนวคิดของขงจื่อจึงได้แพร่หลายออกไปในวงกว้าง และได้มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมจีนเป็นเวลาสองพันกว่าปีในด้านพัฒนาการของอารยธรรมจีน และจุดเริ่มต้นอารยธรรมปรัชญาของขงจื่อนี้เองที่ได้มีอิทธิพลต่อการสถาปนาอำนาจการปกครองของราชวงศ์ฮั่น อันเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน จนคนจีนเรียกตัวเองว่า "ชนชาติฮั่น"

ลัทธิเต๋า - แนวทางแห่งธรรมชาติ

ในขณะที่ลัทธิปรัชญาตามคำสอนของขงจื่อ ได้แพร่หลายในยุคนั้น ยุคเดียวกันนี่เอง ก็มีกระแสลัทธิอีกอย่างหนึ่ง ก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาพร้อมกัน และเป็นลัทธิที่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของชาวจีนมาจนถึงปัจจุบันเหมือนกัน หลักการสำคัญของลัทธิเต๋า เน้นการปลีกวิเวกออกมาจากสังคม ค่อนไปในทางปฏิบัติธรรม อย่างสันโดษ ยึดมั่นในหลักการวางเฉย (อุเบกขา) อยู่เหนือความขัดแย้งวุ่นวายในสังคม และถือว่าในชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์แต่ละคนเกิดขึ้น และดับไป(คล้ายกับคำสอนของศาสนาพุทธ แต่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น-สินฝ่า) ชีวิตมนุษย์แต่ละคนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ไม่มีความสำคัญใด ๆ ต่อจักรวาล

ปรมาจารย์ด้านลัทธิเต๋า ที่พวกเราคุ้นหู้รู้จักดี คือ เล่าจื้อ ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า "เหลาจื่อ" ซึ่งแปลอย่างตรงตัวว่า อาจารย์ใหญ่ หรืออาจารย์ผู้เฒ่า ชื่อของท่านคือ หลี่เอ้อ ท่านเป็นคนในยุคเดียวกับขงจื่อ แต่อาวุโสกว่ามาก เป็นคนในมณฑลเหอหนานปัจจุบัน เคยได้รับราชการในราชสำนักของราชวงศ์โจวที่เมืองลั่วหยาง ในตำแหน่งบรรณารักษ์ประจำหอพระสมุด ขงจื่อเองก็ยังเคยไปเยี่ยมเล่าจื้อยังที่แห่งนี้ด้วย

เล่าจื่อ ศาสดาแห่งลัทธิเต๋า ภาพขวาสุดเป็นภาพพิมพ์โบราณ แสดงการเคารพระหว่างเหล่าจื่อ (เล่าจื้อ) ที่มีต่อ ขงจื่อ (ขงจื้อ)

ในภายหลัง เหลาจื่อเกิดความเบื่อหน่ายต่อความเสื่อมทรามของสังคมจึงได้ออกจาริกไปทั่วทิศอย่างไร้จุดหมาย แล้วหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์นับแต่นั้น แต่ในระหว่างที่จะหายสาบสูญไป เหลาจื่อได้พบกับ "อินซี" ซึ่งเป็นนายด่านรักษาประตูเมืองลั่วหยาง อินซีซึ่งรู้ทราบถึงกิตติศัพท์ด้านปัญญาของเหลาจื่อเป็นอย่างดี จึงถือโอกาสขอให้เหลาจื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาเกี่ยวกับคุณธรรมต่าง ๆ เหลาจื่อจึงได้สนองศรัทธาด้วยการเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มีความยาวตัวอักษร อยู่ 5 พันคำ ชื่อว่า "เต้าเต๋อจิง" (คัมภีร์ว่าด้วยแนวทางแห่งการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ-คล้ายกับมรรคมีองค์ 8 ของศาสนาพุทธเราอีกแล้วครับท่าน)

เต้าเต๋อจิง จึงได้กลายเป็นคัมภีร์หลักของลัทธิเต๋านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลักใหญ่ใจความของเต้าเต๋อจิง นี้ ว่าด้วย สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นอยู่ ก็ต้องปล่อยให้สิ่งนั้นเป็นอยู่ และดับไปตามธรรมชาติ และ ธรรมชาติ คือหัวใจของลัทธิเต๋า

ต้าวเต๋อจิง คัมภีร์ของลัทธิเต๋า

หลักของการปฏิบัติในลัทธิเต๋านั้น ถือหลักของอุเบกขา (วางเฉย) เพื่อที่มนุษย์จะได้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร(คล้ายกับคำสอนของพระพุทธศาสนาอีกแล้วครับท่าน) เต้า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ "มรรค" อันแปลว่าหนทาง โดยปล่อยให้ธรรมชาติมันเดินไปตามวิถีของมันเอง ดังนั้น เมื่อจะหลุดพ้นจากธรรมชาติ (เหมือนกับพระพุทธศาสนาคือ หลุดจาก ขันท์ 5 คือ ทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ-สุดท้ายก็ถึงนิพพาน คือไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ดับสูญสลายไป-สินฝ่า) และหลักของการปฏิบัติตามธรรมชาติของเต๋า ก็คือ ถือสันโดษ บำเพ็ญสมาธิ นั่งกรรมฐาน ทำโยคะ ดังนี้ นักปรัชญาในโลกปัจจุบัน จึงสรุปว่า เต๋า เป็นศาสนา ไม่ใช่ลัทธิ หรือปรัชญา มีความมุ่งหมายที่จะรักษาและเพิ่มพูนพลังแห่งชีวิต ก่อนที่จะดับสูญ 

หลัการของเต๋า หรือหนทางแห่งเต๋า(มรรค) คือการดำรงอยู่ซึ่งความเป็นสากลแห่งจักรวาล ของธรรมชาติ เพื่อที่จะให้หลุดพ้นจากการเกิดและดับ ต่างจากพุทธศาสนาคือเต๋าจะคงไว้ซึ่งความเป็นนิรันดร์ หรืออมตะ ไม่พานพบกับความยุ่งเหยิงอีกต่อไป ความยุ่งเหยิงในหลักการของเต๋า ที่เราคุ้นหูกันดี คือ ยิน กับ หยาง โดยที่ยิน เป็นช่วงกลางคืน เป็นความเย็น เป็นน้ำ และ หยาง เป็นกลางวัน เป็นความร้อน เป็นไฟ การดำรงคงร่วมกันระหว่างยิน กับ หยาง จึงเป็นสิ่งสมดุลทางธรรมชาติ ตามหลักการของเต๋า

ม่อเจีย สำนักแห่งความรักความเมตตา

หลักปรัชญาของสำนักม่อเจีย คือ "ความรักแด่มวลมนุษยชาติ" ลัทธิม่อเจียนี้ เป็นของ ม่อจื่อ ซึ่งมีชีวิตในรุ่นหลังของขงจื่อ และเมิ่งจื่อ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 470 - 391 ปี ก่อนคริสตศักราชพระเยซู ท่านผู้นี้มีชื่อเดิมว่า ตี้ เป็นชาวรัฐหลู่ เคยรับราชการอยู่ในรัฐหลู่นี้ด้วย เคยรับเอาหลักการคำสอนของขงจื่อไว้ด้วย แต่ภายหลังได้นำหลักการของขงจื่อมาดัดแปลงแก้ไข เป็นลัทธิใหม่ ซึ่งก็คือม่อเจีย หลักใหญ่ใจความของม่อเจีย สรุปเพียงสั้น ๆ ว่า จงรักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง อันนี้ ศาสตราจารย์ฟิตซเจอรัลด์ นักประวัติศาสตร์จีนผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกา มีความเห็นว่า คำสอนของม่อเจียช่างตรงกับหลักธรรมของพระเยซูคริสต์ ทั้ง ๆ ที่ คำสอนของม่อจื่อ เกิดขึ้นเมื่อ 500 ปีก่อน ที่พระเยซูจะประสูติเสียอีก

ปรมาจาย์โม่จื่อ และคัมภีร์แห่งความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์

คำสอนของสำนักม่อเจียของม่อจื่อ เป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นสำนักทางความคิดและปรัชญา แต่ก็นับว่า เป็นสำนักที่ไม่มีบทบาทแต่อย่างใดในวิถีชีวิตทางสังคมจีนแต่อย่างใด

ฝ่าเจีย สำนักกฎหมาย

สำนักว่าด้วยหลักการปกครองบ้านเมือง ซึ่งก็คือกฎหมายนี้ ได้อุบัติขึ้ันมาหลังสุดของสำนักปรัชญาทั้งหลาย โดยเกิดจากการไม่เห็นด้วยในคำสอนของขงจื่อและเมิ่งจื่อ คนที่ออกมาต้านความคิดนี้ คือ สวินจื่อ ได้กล่าวว่า "ธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ได้มีความดีงามกันไปทุกคนอย่างที่เมิ่งจื่อว่าไว้ หากแต่มนุษย์ล้วนมีความเห็นแก่ตัว โลภ โกรธ หลง จึงเป็นที่มาของการกระทำความผิดต่อสังคม ทำความชั่วร้ายต่าง ๆ นา ๆ ในเมื่อมนุษย์มีความเห็นแก่ตัว และทำผิด จึงจำเป็นที่จะต้องมีบทบัญญัติบังคับไม่ให้มนุษย์กระทำความชั่ว หาก มนุษย์ในสังคมนั้น ๆ ทำความชั่วแล้ว สังคมจะต้องมีบทลงโทษให้ผู้ทำผิดได้เข็ดหลาบ ไม่กลับมาทำความชั่วอีกต่อไป หลักการอันนี้เองครับพี่น้อง ที่ไปโดนใจเข้าอย่างจัง ให้กับ อ๋องหนุ่มแห่งรัฐฉิน ที่มีนามว่า "อิ๋งเจิ้ง" ซึ่งต่อไปจะได้กลายเป็นมหาจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชอาณาจักรจงกว๋ออันยิ่งใหญ่ รวมถึง หลี่ซือ ที่ปรึกษาคนสำคัญของอิ๋งเจิ้งหรือจิ๋นซีฮ่องเต้ ก็เป็นลูกศิษย์คนสำคัญของ สวินจื่อ เรียกได้ว่าสำนักฝ่าเจีย เป็นสำนักแรกที่เป็นรากฐานของการร่างกฎหมายการปกครองของจีนในยุคของราชวงศ์ต่อ ๆ มา

  สวินจื่อ บิดาแห่งวิชาการกฎหมายของจีน

ร้อยสำนักปรัชญา

นอกจากปรัชญาของสำนักต่าง ๆ ที่สำคัญที่สุดที่ได้รับใช้ไปในตอนต้นแล้ว ในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุค "ร้อยสำนักประชันปัญญา ร้อยบุพผาประชันโฉม" ยังมีปรัชญาจากสำนักต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ สำนักหยินหยางเจีย หรือ สำนักธรรมชาตินิยม ซึ่งกล่าวถึงหลักการทางธรรมชาติ (คล้ายกับลัทธิเต๋า) สำนักอื่น ๆ เช่น สำนักฮุยซึ (ประมาณว่าเกิดในปีที่ 380 ถึง 300 ปี ก่อนคริสตศักราช) สำนักกงซุนหลง (ปีที่ 302 ถึง 250 ก่อนคริสตศักราช)

สำนักปรัชญาการทหาร "ซุนหวู่"

"รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" หรือ "รู้เขา รู้เรา ร้อยศึก บ่พ่าย" สองประโยคนี้ไหงเข้าใจว่าทุกท่านคงรู้จักหรือได้ยินกันมาเป็นอย่างดี ในยุคเกิดของสำนักปรัชญา อันเป็นยุคที่รัฐต่าง ๆ ทำสงครามระหว่างรัฐกัน ย่อมจะต้องมีผู้เสาะหาปรัชญาทาการทหารการสู้รบกัน และก็ไม่ผิดหวัง เมื่อได้เกิดนักการทหารที่มีชื่อเสียงโด่งดังคับโลกปัจจุบัน คือ "ซุนหวู่" หรือ ซูนจื่อ ซึ่งเกิดในรัฐฉี ได้เป็นผู้ศึกษาเกี่ยวกับประมวลวิธีและประสบการณ์ทางการทำสงครามอย่างเป็นระบบ โดยเรียบเรียงเป็นตำราทางการทหาร ที่มีชื่อว่า "ศิลปการทำสงคราม" หรือ ยุทธพิชัยสงครามของซุนหวู่ ซึ่งประมาณกันว่า เกิดขึ้นในระหว่าง 400 ปี ก่อนการเกิดคริสตศักราช ศิลปการทำสงครามเล่มนี้มีอิทธิพลต่อแนวทางการทหารของจีนมาตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์จีน แม้แต่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังต้องนำมาใช้ ยุทธวิธีในการทำสงครามจรยุทธของจูเต๋อและเหมาเจ๋อตง ก็ได้อาศัยหลักการของตำราทางการทำสงครามของซุนหวู่นี้เป็นหลัก ซึ่งซุนหวู่เน้นถึงความสำคัญของการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะทำการรบ อย่างถี่ถ้วนระมัดระวัง จากฝ่ายตรงข้าม ดั่งวลีเด็ดที่ว่า "รู้จักศัตรู รู้จักตัวเอง รบร้อยครั้ง ไม่มีวันพ่ายแพ้แม้แต่ครั้งเดียว" ดังที่ได้มีคนนำมาปรับแต่ข้อความให้กระชับ ตามที่ไหงขึ้นไว้ตอนต้นหัวข้อนี้

ซุนหวู่ หรือ ซุนอู่ บิดาแห่งพิชัยสงครามของจีน

ตำราพิชัยยุทธซุนหวู่นี้ ปัจจุบันมีผู้สนใจศึกษาไปทั่วโลก และได้นำไปใช้แม้แต่ในการแข่งขันกันทางธุรกิจ เป็นตำราเก่าแก่ที่คลาสิคที่สุด

กวีเอกต้นตำนานเทศกาลขนมจ้าง แห่งยุค จ้านกว๋อ

ในบรรดากวีเอกของจีน ซึ่งเป็นที่ยกย่องกันมากว่า มีผลงานด้านกวีนิพนธ์ชั้นยอด เป็นเพชรน้ำหนึ่ง ในบรรดาวรรณคดีจีนโบราณ และมีชื่อเสียงเกียรติคุณเก่าแก่ที่สุดกว่าสองพันปี และอยู่ในยุคสมัยนี้ คือ "สวีหยวน" (มีชีวิตอยู่ในระหว่างปีที่ 340 - 278 ปี ก่อนคริสตศักราช) ซูหยวน เกิดในตระกูลขุนนางแห่งรัฐฉู่ เข้ารับราชการเป็นถึงเสนาบดีฝ่ายซ้าย มีอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะสร้างรัฐฉู่ที่กำลังเสื่อมทรามให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่ได้พ่ายแพ้ให้แก่ความเหลวแหลกในราชสำนักฉู่ ในเวลานั้น รัฐฉู่กำลังถูกคุกคามจากรัฐฉิน แต่ว่า ฮ่องเต้รัฐฉู่หลงเชื่อคำประจบของขุนนางชั่ว และโดยบังเอิญ ซูหยวน ได้เสนอให้รัฐฉู่สร้างพันธมิตรทางทหารกับรัฐฉี เพื่อทานอำนาจกับรัฐฉิน แต่จากการสอพลอของขุนนางชั่วนี่เอง ทำให้กษัตริย์รัฐฉู่ ไม่เชื่อถือคำเสนอของสวีหยวน กลับไปเชื่อขุนนางชั่วที่อิจฉาริษยาสวีหยวน จนต้องถึงกับเนรเทศซูหยวนออกไปเสียจากเมืองหลวงรัฐฉู่

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่สวีหยวนต้องระหกระเหินทนทุกข์ทรมาณโดยตลอด จึงได้เขียนกวีนิพนธ์ในระหว่าง 20 ปี่ของการถูกเนรเทศ เมื่อซูหยวนอายุได้ 62 ปี เมืองหลวงของรัฐฉู่ก็ถูกกองทัพของรัฐฉินนำโดยไป๋ฉี เป็นแม่ทัพบุกเข้าบดขยี้จนย่อยยับ สวีหยวนรู้สึกขมขื่นสิ้นหวัง มองไม่เห็นทางที่บ้านเมืองของตนจะฟื้นคืนมาได้ดังเดิม จนตัดสินใจกระโดดน้ำตายที่แม่น้ำไม่โหลเจียงในมณฑลหูหนาน ในปัจจุบัน

บรมกวีสวีหยวน

จากมรณกรรมอันน่ารันทดสลดใจของสวีหยวน ชาวบ้านในบริเวณนั้นเกรงว่า ปลาและมังกรในแม่น้ำจะพากันรุมกินซากศพของสวีหยวน จึงพร้อมใจกันโยนขนมพื้นบ้านของท้องถิ่นตนลงไปในน้ำนัยว่าเพื่อให้ปลากับมังกรในแม่น้ำได้กินแทนร่างของสวีหยวน โดยที่สวีหยวนกระโดดน้ำตาย ในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ต่อมา เมื่อถึงวันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปี อันเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของสวีหยวน ประชาชนชาวรัฐฉู่และชาวจีนทัังหลาย ก็ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันร่วมกันเฉลิมฉลอง ให้กับสวีหยวน จึงถือเป็นวันเทศกาลสารทขนมจ้าง (หรือบ๊ะจ่าง) และก็มีการแข่งเรือมังกรด้วย ประเพณีนี้ยังคงมีปฏิบัติสืบต่อกันมาในวันที่ 5 เดือน 5 ของทุก ๆ ปี ตลอดระยะเวลา สองพันกว่าปีมานี้ และก็ได้แพร่หลายเข้าไปในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น เวียตนาม มลายู รวมถึงดินแดนสุวรรณภูมิด้วย. (ดัดแปลงจาก ประวัติศาสตร์จีน ของ ทวีป วรดิลก)

                                    กวีนิพนธ์ ชิ้นสำคัญของสวีหยวน ได้แก่ "หลีเซา" (กำศรวล) กับ "เทียนเวิ่น" (ปริศนา) ท่าน กว๋อโม่โร่ กวีชั้นนำยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (ต้นประเทศจีนใหม่-ชาวฮากกาเหมยเสี้ยน) ยกย่องว่า "รูปแบบกวีนิพนธ์ต่าง ๆ ของสวีหยวน นั้น ส่วนใหญ่ได้มาจากกาพย์กลอนพื้นบ้าน ถ้อยคำที่ใช้ก็เป็นถ้อยคำของประชาชนสามัญสวีหยวนริเริ่มการปฏิวัติขึ้นในกวีนิพนธ์จีนสมัยบรรพกาล และอิทธิพลกวีนิพนธ์ของสวีหยวนก็ยังเป็นที่รู้สึกกันได้ตลอดเวลาสองพันปีมานี้ ประชาชนยังรักกวีนิพนธ์ของสวีหยวน แม้ว่าจะมีชีวิตเมื่อสองพันปีก่อน ภาษาก็แตกต่างไปมากจากทุกวันนี้ แต่กวีนิพนธ์ดังกล่าวยังสามารถทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจเมื่อมีการถ่ายทอดเป็นภาษาจีนสมัยใหม่ หรือแม้แต่ในภาษาต่างประเทศ" และ

"สวีหยวนมีชีวิตอยู่ในยุคทองของอารยธรรมจีน อัจฉริยภาพและฐานะของท่านทำให้เป็นการง่ายสำหรับท่านในอันที่จะซึมซับกระแสความคิดที่แพร่สะพัดอยู่รวบตัวท่านขณะนั้น และก็ได้พัฒนาออกไปในหลาย ๆ ทิศทาง แต่อัจริยภาพของท่านมีความเด่นเป็นเลิศทางด้านกวี ความจริงมีกวีน้อยคนนักที่จะสามารถแข่งขันกับท่านได้ในพลังแห่งจินตนาการและความจริง ในความมั่งคั่งแห่งภาพพจน์ คุณค่าแห่งความเป็นลำนำ ตลอดจนความหลากหลายของรูปแบบกวีนิพนธ์ของท่าน" (จากประวัติศาสตร์จีน ของ ทวีป วรดิลก อ้างจากหนังสือคำกล่าวของท่านกว๋อโม่โร่เกี่ยวกับสวีหยวน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ค.ศ. 1955 ) 

 

ยับสินฝ่า

สถาบันภาษาและวัฒนธรรมจีน เชียงใหม่ บริการแปลเอกสารไทย-จีน จีน-ไทย ล่ามจีน-ไทย ไทย-จีน 

โทรศัพท์ 082-1937339 / 082-1939904 แฟกซ์ 053-326197

อีเมล thaichinese.cm@gmail.com

 

 

 

 


 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal