หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

กว่าจะมาเป็น....."เกียรติ วัธนเวคิน"

รูปภาพของ YupSinFa

           ถ้านับถึงปูชนียบุคคลชาวไทยเชื้อสายฮากกา ในประเทศไทย โดยวัดจาก "นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ" ของ สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย ที่มีอาวุโสสูงสุดในปัจจุบันนี้ ต้องยกให้ อากุง  "เกียรติ วัฒธนเวคิน"  นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย สมัยปัจจุบัน ซึ่งท่านครองตำแหน่งนี้มานานหลายสิบปีแล้ว นับตั้งแต่ นายกสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย และตำแหน่งสูงสุดในปัจจุบัน ก็คือ นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย

          จะไม่ให้ท่านเป็นผู้อาวุโสสุงสุดได้ยังไงเล่าครับ ไท้ก๋าหยิ่น เพราะในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 ปีนี้ อากุงเกียรติ จะมีอายุครบ กิ้วซิ๊บกิ้ว เก้าสิบเก้าปี ครับพี่น้อง หรือถ้านับตามแบบจีนก็ ครบหนึ่งร้อยปี บริบูรณ์ คงจะต้องมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ที่สมาคมฮากกา หรือ โรงแรมแกรนไฮแอทเอราวัณ หรือ ที่บ้านนเรศของอากุงท่าน

          อากุงเกียรติ วัฒธนเวคิน นอกจากเป็นผู้นำของชาวฮากกาในประเทศไทยแล้ว ท่านยังเป็นผู้นำของไท่กว๋อหวาเฉียว หรือ ผู้นำของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยทั้งหมดด้วย โดยเห็นได้จากภาพถ่ายต่าง ๆ ที่ท่านไปเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน กระทบไหล่กับท่านโจวเอินไหลจ๋งหลี่ ท่านผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง และผู้นำจีนใหม่ในระดับต่าง ๆ อันนี้ไหงเห็นด้วยตาตัวเองจากหนังสือที่ระลึกครบรอบ 80 ขวบปีของท่าน ในหอสมุดรัชมังคลาภิเษกเชียงใหม่

          ชีวิตท่านเป็นมาอย่างไร กว่าจะมาเป็น จั๋วซาน หรือเจ้าสัวเกียรติ ผู้ยิ่งใหญ่ จนถึงทุกวันนี้.....เรามาติดตามกันเลยครับ......

          "นักธุรกิจรุ่นใหม่ในยุคสมัยนี้ มักจะไม่ค่อยรู้จักตำนานแห่งชีวิต และการต่อสู้อันยาวนานนับเดือน นับปี และหลายสิบปี เพื่อไปให้ถึง วันแห่งความสำเร็จ แต่สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนในยุคก่อน เมื่อเอ่ยนามของ "เกียรติ วัธนเวคิน" หรือ "คิวแซ่เกี้ยน" น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก

          ท่านเป็นเจ้าของตำนานแห่งการต่อสู้สุดชีวิตพลิกชะตา ที่ทรหดอดทนอย่างยิ่ง กว่าจะสร้างอาณาจักร "วัธนเวคิน" สืบสานให้จนถึงลูกหลานในวันนี้ คนทั่วไปต่างยอมรับถึงความดีงามและความมีคุณธรรม การทำงาน ด้วยความขยัน อดทน จากจุดแรกที่เริ่มต้นจนถึงจุดแห่งความสำเร็จกลายมาเป็นความทรงจำในวันที่นายเกียรติ วัธนเวคิน ในวัยปลายแห่งอายุ 99 ปี ซึ่งทุกวันนี้ท่านยังคงเฝ้ามอง ความเป็นไปของธุรกิจรุ่นที่ทายาทได้เข้ามารับช่วงหลังจากที่ท่านวางมือ มีหลายสิ่งหลายอย่างในอดีตที่ผ่านมาของ นายเกียรติ วัธนเวคิน อันเป็นสิ่งที่ทรงค่าควรแก่การขุดค้นเพื่อเรียนรู้......

"ชีวิตนี้คือการต่อสู้...อดีตของผมไม่เหมือนกับคนเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันเขาเรียน และศึกษากันสูง ๆ จึงสามารถตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ล่วงหน้าได้ แต่ชีวิตผมเมื่อก่อนมันไม่มีอะไรเลย มีแต่ต้องสู้อย่างเดียว......."

เจ้าสัวเกียรติ วัธนเวคิน เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2454 ที่กลางหมู่บ้านจีนฮากกา ในมณฑลกว่างตง เมืองเหมยโจว ประเทศจีน บิดาชื่อ คิวฮักปิง เสียชีวิตที่เมืองจีน คงเหลือเพียงแม่ คือ นางหลู่กิมเต๊ก มารดาใจเด็ดที่ตัดสินใจหอบหิ้วลูกชายน้อย ๆ 2 คน หนีสภาพอันเลวร้ายของจีนแผ่นดินใหญ่ในสมัยนั้นสู่แผ่นดินสยาม...

จุดหมายแรกที่ก้าวเท้าลงบนผืนแผ่นดินไทย คือเมืองแปดริ้ว แม่พาลูกชายสองคนไปอาศัยอยู่กับคนที่เคยรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเมื่ออยู่เมืองจีน อาศัยแรงงาน ปลูกผักปลูกหญ้าขายไปตามประสาจนยาก ต้องปากกัดตีนถีบทำมาหากิน เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด

นายเกียรติได้เข้าเรียนที่โรงเรียนหวาหมิงกงลี่หักเหา(น่าจะเป็นฮกเกา-สินฝ่า) ด้วยการเรียนไปด้วย ทำงานช่วยแม่ไปด้วย ในตอนเช้่าก่อนไปโรงเรียนก็จะไปรับจ้างขายของพักหนึ่ง และในตอนเย็นหลักเลิกเรียนก็เช่นกัน แต่ถึงจะต้องกัดฟันเรียนหนังสืออย่างทุลักทุเลเพียงใดก็ตาม ในที่สุดก็สามารถเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ชีวิตในเมืองแปดริ้วไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย นอกจากการมีชีวิตรอดอยู่ได้ นางหลู่กิมเต๊ก มารดาพาลูกเข้าสู่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร มาปักหลักตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ที่หนองจอก โดยเปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ ที่ตำบลเจียรดับ กิจการดำเนินไปด้วยดีพอสมควร นอกจากจะช่วยมารดาขายของหน้าร้านแล้ว อากุงเกียรติ ยังมีหน้าที่นำสินค้าในร้านออกไปเร่ขายในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย ธุรกิจขายของเร่ของท่านสามารถเปิดตลาดเข้ามาจนถึงเขตมีนบุรี สินค้าที่ขายก็มีสารพัด ได้แก่ พริก เกลือ ข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ขี้ไต้ ไม้ขีดไฟ ฯลฯ นับเป็นความสำเร็จ ทางการค้าก้าวแรกซึ่งอากุงเกียรติ บอกว่า

"การค้าขายที่ตำบลเจียรดับ จะบอกว่าสำเร็จก็ยากเหมือนกัน อยู่ที่เราจะมองผลของความสำเร็จกันแค่ไหน แต่ตอนนั้นที่ไปค้าของชำ พูดได้ว่าในสมัยนั้นก็เป็นผู้สำเร็จคนหนึ่ง มีชื่อแถบหนองจอก มีนบุรี ย่านนั้น"

อากุงเกียรติได้มีโอกาสเข้าเรียนภาคค่ำที่โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์จนจบหลักสูตรมัธยมต้น และได้สมัครเรียนบัญชีทางไปรษณีย์จนสำเร็จประกาศนียบัตรบัญชี(มิน่าเล่าท่านถึงได้ตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคินขึ้นมาได้-สินฝ่า) ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับเด็กชายที่เข้่ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุสิบขวบโดยไม่เคยรู้ภาษาไทยมาก่อนเลย ทั้งยังต้องดิ้นรนช่วยครอบครัวทำมาหากินสารพัด แต่เพราะความใฝ่ดีขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวจึงประสบความสำเร็จในเรื่องการศึกษาได้ระดับหนึ่ง

อาเกียรติกุง ใช้ชีวิตการเป็นพ่อค้าอยู่ที่หนองจอกเกือบยี่สิบปี จนถึงปี 2475 - 2476 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยเหตุการณ์บ้านเมืองและสถานการณ์โลกเกิดผันผวนเปลี่ยนแปลงรุนแรง ทำให้ร้านค้าของชำ และกิจการเล็ก ๆ ของอากุงเกียรติต้องปิดตัวเองลง เมืองบางกอกเป็นความหวังอันสูงสุดของอากุงเกียรติที่จะเข้ามาเผชิญโชคเพื่อชีวิตที่ก้าวหน้าต่อไป

แต่การตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ของอากุง ในขณะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะบ้านเืมืองอยู่ในสภาพที่เศรษฐกิจตกต่ำ ราคาข้าวก็ถูกแสนถูกจนชาวนาต้องส่งข้าวเปลือกมาขายให้เป็นเชื้อเพลิงที่การไฟฟ้าวัดเลียบ ชาวนาชาวไร่พากัน ยากจนค่นแค้นถ้วนหน้า ผลผลิตที่ทำได้ก็มีราคาตกต่ำ แม้แต่ธุรกิจการค้าขนาดใหญ่ ๆ ก็ยังพากันล้มระเนระนาดเพราะกำลังซื้อที่ตกต่ำ

แต่อากุงเกียรติก็เข้าสู่กรุงเทพฯ เพราะแรงชักชวนจากเพื่อน ๆ ความตั้งใจในขณะนั้นก็คือ จะหาลู่ทางทำเลเปิดร้านกาแฟสักแห่งหนึ่ง ด้วยความคิดที่ว่า การเปิดร้านกาแฟในโลเกชั่นที่เหมาะ ๆ (ใช้ศัพท์การตลาดเสียด้วย-โลเกชั่น-ทำเล-สินฝ่า) น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้น ทุนรอนที่เก็บสะสมไว้ก็พอที่จะทำให้ความใฝ่ฝันเป็นจริงขึ้นมาได้

ที่กรุงเทพฯ อากุงเกียรติตระเวนหาที่จะตั้งร้านขายกาแฟในย่านยศเสแต่ผลปรากฏว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด ค่าเช่าร้านเดือนหนึ่งเป็นเงิน 3 ถึง 5 บาท แต่กาแฟแก้วหนึ่งไม่ถึง 3 สตางค์ เรื่องเปิดร้านขายกาแฟเป็นอันพักไว้ก่อนและเพื่อความอยู่้รอดจึงต้องหันกลับมาหาอาชีพเดิมที่ถนัดอีกครั้งหนึ่ง คือการเป็นพ่อค้ารถเข็น ค่อย ๆ พัฒนาสภาพและจำนวนสินค้าขึ้นไปตามเงินทุนที่สะสมได้ ตื่นเช้าก็เข็นรถออกไปรอบ ๆ ยศเส ตรงถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษมตัดกับถนนบำรุงเมือง เขตปทุมวันในปัจจุบัน และบริเวณย่านต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ร้องตะโกนขายสินค้าไปเรื่อย ๆ ต้องเดินวันละหลาย ๆ กิโลเมตร ย่ำอยู่กับที่เป็นเวลานานหลายปี

อากุงท่านสะสมบทเรียนของความหิว ที่ทำให้กระเพาะเดือดพล่านด้วยพิษของน้ำย่อย ความปวดเมื่อย เท้าทั้งสองข้างที่อยู่้ในรองเท้าสานยางรถยนต์ย่ำไปเรื่อย ๆ โดยมองไม่เห็นอนาคตที่จะดีกว่านี้เลย จากยศเส ย้ายมาบรรทัดทองเจริญผล เงินทองก็ร่อยหรอลงทุกที จนบางช่วงต้องไปรับจ้างทำงานพิเศษในโรงแรมจิ้งหรีด เป็นพ่อค้าขายน้ำแข็งใส ขายเต้าหู้ทอด ขายก๋วยเตี๋ยว ตระเวนขายอาหารตามงานวัด คนชื่อนายเกียรติ วัธนเวคิน เคยผ่านมาแล้วทั้งสิ้นช่วงนี้ทำให้พอจะมีเงินทุนขึ้นมาบ้าง

แต่ก็ยังไม่พ้นวิบากกรรม เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นขึ้นบกวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งตรงกับงานรัฐธรรมนูญพอดี อากุงเกียรติเตรียมนำอาหารสดมากมายสำหรับไปขายในร้านที่เช่าไว้ทั้งที่สวนอัมพรและสนามหลวง ทางราชการประกาศงดงานอย่างกะทันหัน ทำให้สินค้าที่ซื้อมาเตรียมไว้นั้นเน่าเสีย กลายเป็นหนี้สินกองโตที่ต้องชำระ

สมัยญี่ปุ่นขึ้น อากุงเกียรติเคยไปรับจ้างทำเหล้าให้ญี่ปุ่นที่ประตูน้ำใกล้ ๆ สถานฑูตญี่ปุ่น นับเป็นบทเรียนแรกที่อากุงเกียรติได้รู้จักวิธีการทำเหล้า

ปี 2483 - 2484 อากุงเกียรติได้พาครอบครัวไปอยู่ที่ปากคลองตลาดเซ้งแผงขายไอศครีมอยู่ในโรงเรียนอำนวยศิลป์ ตามความรู้่และประสบการณ์ที่จดจำมาจากมารดา แต่อยู่ได้เพียงปีเศษก็ต้องอพยพหนีภัยสงครามไปอยู่แถว ๆ บางบัวทอง ปิดฉากการเป็นพ่อค้าไอศครีมลง

ในยุคสมัยนั้นโรงยาฝิ่นยังเป็นสิ่งเสพติดที่ถูกกฏหมาย ผู้คนติดฝิ่นกันงอมแงม เพราะมีสถานบริการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลมากมาย อากุงเกียรติได้เช่าที่หน้าโรงยาฝิ่นเปิดร้านขายกาแฟและรับจ้างเถ้าแก่โรงยาฝิ่นทำงานทั่วไปโดยเฉพาะบัญชี 5 เล่มอย่างง่าย ที่ท่านร่ำเรียนทางไปรษณีย์จนได้ประกาศนียบัตรมาแล้วนั่นเอง ด้วยความซื่อสัตย์ เอาอกเอาใจคนเก่ง และเจียมเนื้อเจียมตัวทำให้ลูกค้าประจำของโรงยาฝิ่นหลายคนชื่นชอบอัธยาศัยของท่าน เถ้าแก่ชุนคี้ หรือนายชุณห์ จิระวิชิตชัย เจ้าของโรงยาฝิ่นเจ้านายคนแรกในชีวิตของอากุงเกียรติ วัธนเวคิน และกลายมาเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้อากุงเกียรติในโอกาสต่อมา.....

ในระหว่างที่ทำงานอยู่ในโรงยาฝิ่น อาเกียรติกุง มีโอกาสรู้จักสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ได้เรียนรู้เรื่องการผลิตและจำหน่ายสุรามากพอสมควรดังนั้นเมื่อกรมสรรพสามิตเปิดประมูลโรงเหล้า อากุงเกียรติจึงหารือกับเถ้าแก่ชุนคี้ชวนลงทุนประมูลโรงงานสุราของราชการ ซึ่งเปิดประมูลพร้อมกันถึงห้าโรง อากุงเกียรติประมูนในนามของเถ้าแก่ชุ้นคี้ เจ้าของโรงยาฝิ่น ได้มา 1 โรง เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ สะพานเหล็ก อากุงเกียรติเป็นลูกจ้างทำงานในโรงเหล้าแห่งนี้ทำให้ท่านมีโอกาสเรียนรู้เรื่องธุรกิจสุราอย่างแท้จริง

พอเรียนรู้และสะสมประสบการณ์มากพอ อากุงเกียรติก็ลาออกมาทำของตนเอง โดยการรวมหุ้นลงขันกับเพื่อน ๆ ประมูลโรงงานผลิตสุรา แต่ด้วยเหตุที่เงินทุนน้อยกว่าเพื่อนคนอื่น ๆ อากุงเกียรติจึงต้องลงแรงมากกว่า ทำให้ท่านกลายเป็นผู้ชำนาญการกว่าเพื่อน ๆ และเริ่มพัฒนาอาชีพขึ้นเรื่อย ๆ มาเสร็จสมบูรณ์ที่โรงงานสุราสุพรรณบุรี

ณ ที่นั้นทำให้ทำเนียบของพ่อค้าเหล้าทั่วประเทศรับทราบว่า นายเกียรติ วัธนเวคิน เ็ป็นชื่อของนักธุรกิจสุรามีระดับของเมืองไทยคนหนึ่ง ฐานในโรงงานสุราของอากุงเกียรติเริ่มพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

สมัยก่อนนั้นการประมูลโรงเหล้าแต่ละแห่ง จะมีอายุสัมปทาน 3 ปี ต่อครั้ง พอครบ 3 ปีก็ประมูลต่อไปเรื่อย ๆ ท่านเคยสร้างผลงานการควบคุมโรงเหล้าถึง 7 โรงพร้อมกันทั่วประเทศ รวมถึงร้านค้าส่งอีก 13 แห่ง

หากเราจะมองธุรกิจสุราของเมืองไทยในขณะนั้นเปรียบเทียบกัน ในช่วงนั้นเป็นยุคของแม่โขงสุรามหาคุณ กลุ่มก้อนของนายสหัท มหาคุณ แต่เกียรติ วัธนเวคิน แอบเติบโตแบบไกลปืนเที่ยง ดักตีหัวคอสุราที่บริโภคเหล้าขาวฐานใหญ่ในตลาดภูธร(ตลาดสุราของประเทศไทย สุราขาวครองส่วนแบ่งตลาดสุราโดยรวมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มาจนถึงปัจจุบันนี้-สินฝ่า) จวบจนแม่โขงมาทำภายใต้ยี่ห้อของสุรามหาราฎร์ นำทีมโดย อาก๋งอุเทน เตชะไพบูลย์ มาเป็นแชมป์ระดับเมืองกรุงแทนกลุ่มเดิม แต่เกียรติ วัธนเวคินยังคงเป็นเจ้ายุทธจักรในวงการเหล้าขายในตลาดภูธรอย่างมั่นคงยาวนานตลอดสามสิบปี

จนเมื่อท่านประมูลโรงเหล้าที่ชลบุรี อากุงเกียรติมีปัญหาเรื่องกากน้ำตาลเพราะการผลิตเหล้านั้นต้องใช้โมลาสหรือกากน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสำคัญ เป็นจังหวะที่โรงงานน้ำตาลที่ไต้หวันต้องการขาย อากุงท่านเลยซื้อโรงงานน้ำตาลจากไต้หวันนำมาประกอบในเมืองไทย ตั้งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายชื่อ บริษัท น้ำตาลตะวันออก เป็นการเริ่มต้นธุรกิจน้ำตาลของนายเกียรติ วัธนเวคิน จากนั้นจึงถึงวาระของการเกิด บริษัท สากลสถาปัตย์ จำกัด ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบอย่างสูงของอากุงเกียรติท่าน

ในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจ อากุงเกียรติได้ช่วยค้ำประกันทางการเงินให้แก่เพื่อนคนหนึ่งที่ไปประมูลการก่อสร้างค่ายธนะรัชต์ที่อำเภอปรานบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มูลค่าของโครงการประมาณหกสิบล้านบาท อากุงเกียรตินำเครดิตของท่านเองเกือบทั้งหมดไปค้ำประกัน แต่เมื่อผลการประมูลได้ คนประมูลกลับไม่สามารถทำงานไ้ด้ ทำให้อากุงเกียรติต้องวิ่งเต้นหาเงินทุน เพื่อดำเนินงานต่อจนสำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรับงานก่อสร้างมาก่อนเลย อันนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของอากุงท่าน

ครั้งนั้น คุณป้าจรรย์สมร วัธนเวคิน ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของอากุงท่านเป็นกำลังสำคัญที่ลงมาลุยเป็นทัพหน้าในเรื่องงานก่อสร้างและกลายเป็นกำลังสำคัญของงานรับเหมาก่อสร้างของบริษัท สากลสถาปัตย์ จำกัด ในเวลาต่อมาด้วย

ช่วงเวลาที่อากุงเกียรติ วัธนเวคิน ทำโรงงานสุรานั้น ได้มีการระดมเงินทุนจากเพื่อนฝูงมิตรสหายหลายกลุ่ม เช่นกลุ่ม นายง้วย เนื่องจำนงค์ หรือที่มีฉายา นามว่า "นักเลงโตบ้านบึง" อาของนายหยด เนื่องจำนงค์ และกลุ่ม (เวิ้ง) นครเกษม ซึ่งเป็นญาติ ๆ ของเถ้าแก่ชุนคี้ คนทั้งหมดนี้นำมาตั้งเป็นกลุ่มใหม่เรียกชื่อว่า "กลุ่มหลีง้วน" ตั้งบริษัทอยู่แถว ๆ วัดเทพศิรินทร์ถนนกรุงเกษม เมื่อหมดสัมปทานในเวลาสองปี ก็ถูกสั่งให้เลิกสุราปรุงพิเศษตั้งแต่นั้นมา

อากุงเกียรติเริ่มสะสมทุนเป็นของตนเอง โดยไม่ใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคาร และตั้งบริษัทใหม่ของตนเองชื่อ "ชลาพรรณ" ประมูลโรงเหล้าได้ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตอนนั้นเหล้า "แม่น้ำสุพรรณ" โด่งดังมากใคร ๆ ก็รู้จัก ท่านสามารถทำให้ตลาดกว้างขวางมากยิ่งขึ้น การขายสุราในขณะนั้นต้องส่งเงินมาก่อนแล้วส่งของไปทีหลัง คนต้องเอาเงินมาสุราถึงจะส่งไปให้ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาธนาคาร เมื่อจบสัมปทาน 3 ปี ก็ไปประมูลใหม่ แต่คราวนี้ประมูลไม่ได้ การประมูลที่อื่น ๆ ก็พลอยหมดไปด้วย

จังหวะนี้เองที่อากุงเกียรติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจธนาคาร เพราะจะต้องไปประกันสัญญา ประกันอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง มีการใช้เงินในจำนวนที่สูงขึ้น อากุงเกียรติเริ่มต้นใช้เครดิตธนาคารเมื่อรู้จักกับนายเลื่อน บัวสุวรรณ หรือ โพ่วเล้ง แซ่เฮง ซึ่งถือเป็นสหายในวงการสุราเดียวกัน นายเลื่อนทำโรงงานสุราไทยทำและมีความผูกพันรักใคร่กับอากุงเกียรติเป็นอย่างดี

สมัยนั้นธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นของหลุยส์ พนมยงค์ น้องชายนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็ย่อมมีผลกระทบมาถึงน้องชายคือนายเลื่อน พนมยงค์ ด้วยการที่ถูกธนาคารชาติสั่้งให้เลิกกิจการ มังกร สามเสน และ นิวัติ เบญจกาญจน์ ได้ไปขอฟื้นตัวใหม่จากแบงค์ชาติ โดยวิธีชักชวนเพื่อนพ้อง และผู้ที่ฝากเงินแล้วไม่ไ้ด้คืนให้เป็นผู้ถือหุ้นของธนาคาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจึงเปิดตัวได้อีกครั้งหนึ่ง

ตอนนั้นฐานของนายเลื่อนไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ จึงต้องไปหยิบยืมจากอากุงเกียรติบ่อยครั้งประกอบกับขณะนั้นอากุงเกียรติมีปัญหาเรื่องการค้ำประกันการประมูลโรงเหล้า ซึ่งขณะนั้นโอนไปขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรมเงินเงินหลายสิบล้าน เมื่อประมูลได้แล้วจะเอาธนาคารกรุงศรีอยุธยาไปค้ำประกันปลัดกระทรวงบอกไม่ได้ การจะค้ำประกันนั้นต้องใช้ธนาคารมณฑลกับธนาคารไทยพาณิชย์เพียงสองแห่งเท่านั้น อากุงเกียรติต้องเข้าไปเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จนกระทั่งได้รับการอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์ของเอกชนมีสิทธิในการค้ำประกันการประมูลเหล้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อากุงเกียรติได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทประกันภัยศรีอยุธยาและประกันชีวิตศรีอยุธยา ทั้งสองบริษัท โดยทนเสียงอ้อนวอนของนายเลื่อนไม่ได้ แต่ก็เป็นอยู่เพียงปีเดียว ในปี พ.ศ.2500 ธุรกิจของอากุงท่านก็ค่อย ๆ แผ่ขยายอาณาจักรมากขึ้น เส้นทางหนึ่งของอาณาจักรนี้คือการสู่เส้นทางของนักบริหารการเงินธนาคารไทยพัฒนา หรือชื่อที่เรียกในเวลาต่อมาว่า ธนาคารมหานคร(ปัจจุบันน่าจะถูกรวมกับธนาคารนครหลวงไทย-และเมื่อ2เดือนที่แล้ว ธนาคารนครหลวงไทยได้ขายกิจการทั้งหมดให้กับธนาคารธนชาติ-ในราคา 32,000 ล้านบาทถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว-ประมาณ 1 ปีต่อจากนี้ไปจึงค่อย ๆ เข้าสู่กระบวนการยุบรวมกิจการอย่างค่อยเป็นค่อยไป-สินฝ่า) ซึ่งเดิมเป็นของครอบครัวตันเปงชุน แต่เกิดความวุ่นวายกิจการขาดทุน มีหนี้สินติดท้ายอยู่ถึง 27 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามากโขในยุคสมัยนั้น จึงมีกลุ่มคน 12 คน ร่วมทุนกันไปเซ้งกิจการของธนาคารไทยพัฒนามาทำโดยรวมทุนไ้ด้ 12 ล้านบาท

ช่วงนี้เอง ที่อากุงเกียรติ วัธนเวคิน ถูกขอร้องให้เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุด ในฐานะที่เป็นผู้อาวุโสและรู้เรื่องการธนาคารมากที่สุด อาเกียรติกุง เริ่มบทบาทการธนาคารอย่างลือลั่นสนั่นหวั่นไหว ด้วยการขยายสาขาของธนาคารไทยพัฒนา ทั่วประเทศ ถึง 44 สาขา ภายในเวลาเพียงสามเดือน ขณะที่กำลังมีข่าวว่าธนาคารชาติ จะออกกฎหมายไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ขยายสาขา ต่อมาเมื่อนายคุน คุนผลิน เข้ามารับตำแหน่งอากุงเกียรติก็ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการขอเป็นเพียงกรรมการเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า "ไหงเป็นคนทำสังคมและใครมากู้ไหง่ให้เขาไม่ได้ ก็ขัดใจกัน ถ้าให้ไปก็เก็บไม่คืน เพราะฉะนั้นไหงจึงไม่ค่อยอยากเป็น"

การดำเนินกิจการธนาคาร นอกจากความมีหน้ามีตา มีคนเชื่อถือในสังคม จะช่วยได้มากแล้ว ก็ต้องมีบารมีคอยหนุนด้วยเช่นกัน เพราะเหตุนี้ อากุงเกียรติ จึงไปเชิญพลเอกกฤษณ์ ศรีวรา มาเป็นประธานของธนาคารไทยพัฒนาอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งทำให้ธนาคารอยู่้ได้ไม่มีหนี้สินรุงรังที่เกี่ยวกับเงินเลยในสมัยนั้น ไม่มีลูกหนี้ ประเภทมีอิทธิพล หรือผู้แทนประเภทรีดไถ แล้วยังเชิญพลโทประยูร หนุนภักดี คุณโชติ หิรัญฐิติ มาเป็นกรรมการบ้าง เป็นที่ปรึกษาบ้าง ก็ทำให้กิจการราบรื่นไปด้วยดีไม่มีอะไรหนักใจ

อากุงเกียรติ วัธนเวคิน เป็นสุภาพบุรุษนักธุรกิจที่เป็นแบบฉบับอย่างแท้จริง ด้านคุณธรรมและรักษาสัจวาจา ซึ่งท่านปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้เองเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสำเร็จในชีวิตของเจ้าสัวเกียรติ วัธนเวคิน ตลอดมา จากคนทีมีเพียงสองมือไม่มีสิ่งใดติดตัวมาเลย กลายเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ พลิกชะตาตนเองได้สำเร็จ ก็ด้วยการถือมั่นต่อสัจจะและความมีมานะอดทนเป็นเลิศ จากดินแดนถ่องซาน ที่มีอาแมหนึ่งคนที่โอบประคองลูกน้อยทั้งสองฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตมาถึงแผ่นดินเสียมหลอ หวังเพียงเพื่อให้วันนี้ดีกว่าวันที่ผ่านมา ความฝันของลูกชายก็เพียงมีโอกาสเป็นเจ้าของร้านกาแฟเล็ก ๆ สักร้านหนึ่งในชีวิต วันนี้ท่านข้ามทะเลแห่งความฝันมายาวไกลจนเกินฝัน หากย้อนอดีตไปได้ อากุงเกียรติบอกว่า "ไหงยังคิดถึงการเป็นเจ้าของร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่มีความสุขดังเดิม....."

แต่บัดนี้อาณาจักรของ "วัธนเวคิน" กว้างใหญ่เกินกว่าที่จะย้อนกลับไปสู่วันคืนที่ผ่านมาได้อีก แต่นายเกียรติ วัธนเวคิน หรือเจ้าสัวเกียรติ ผู้่สร้างอาณาจักรธุรกิจอันยิ่งใหญ่ระดับแนวหน้าจนมั่นคงถึงทุกวันนี้ กลับมีความสุขกับชีวิตเรียบง่ายและการดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเป็นภาระกับผู้ใด เจ้าสัวจะบอกกับลูกหลานทุกคนที่ไปเยี่ยมเยือนเสมอว่า

"ถ้าอยากจะอายุยืน ก็ต้องดูแลตนเอง รักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย และทำตามคำสั่งหมออย่างเคร่งครัด......."

จากหนังสือ "เจ้าสัวสยาม" สำนักพิมพ์ดอกหญ้าวิชาการ พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน 2550 ผู้เขียน คุณวรางคณา สุเมธวัน (ผู้เขียนบล๊อกขอดัดแปลงข้อความบางตัว-เืพื่ออรรถรสในการอ่านในสำเนียงฮากกา-ขอขอบพระคุณคุณวรางคณา สุเมธวันและสำนักพิมพ์ดอกหญ้าวิชาการไว้ ณ ที่นี้)

"ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต      ทั้งการเรียนและการทำงาน

ย่อมต้องเริ่มจากความวิริยะ อุตสาหะ          ในการศึกษาหาความรู้

และฟันฝ่าอุปสรรคสานัปการ   "เจ้าสัวสยาม" จะเป็นตัวอย่างความสำเร็จ

ที่น่าศึกษา และนำไปเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง     ในการดำเนินชีวิตเพื่อความก้าวหน้า

และนำพาสู่ความสำเร็จ......ดั่ง.....เจ้าสัวสยาม"

หมายเหตุ-จากยับสินฝ่า-ในปี 2553 นี้ อากุงเกียรติ วัธนเวคิน จะมีสิริอายุครบ 99 ปี หรือ 100 ปีบริบูรณ์ตามแบบจีนคติ ปัจจุบันท่านพักผ่อนอย่างสงบสุขกับภริยาท่านอาเม จรรย์สมร วัธนเวคิน ซึ่งอ่อนวัยกว่าท่านสิบกว่าปี กับลูก ๆ หลาน ๆ ที่บ้านนเรศ ท่านมีบุตรเขยเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของเมืองไทยคือ คุณสนั่น อังอุบลกุล เจ้าของศรีไทยซุปเปอร์แวร์ สามีคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล และอีกท่านหนึ่งคือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตผู้พิพากษาและอดีตรัฐมนตรี  ปัจจุบัน ธุรกิจในเครือของท่าน ประกอบด้วย(เท่าที่ทราบ) คือ ธนาคารเกียรตินาคิน (อดีตเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน-ที่ขาวสะอาดและปราศจากปัญหาในยุค พ.ศ.2540 ที่รัฐบาลสั่้งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งของไทยและต่างชาติในไทยถึง 40 กว่าบริษัทกับ อีก 1 ธนาคารคือกรุงเทพฯพาณิชย์การ-ถึงปี 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกกฏระเบียบว่าด้วยบริษัทเงินทุนและธนาคารพาณิชย์ใหม่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้หลายรูปแบบเช่นสามารถขายเงินฝากประกันชีวิตได้ สามารถจัดลิสซิ่งรถยนต์ได้ ฯลฯ และเปิดโอกาสให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกิจการเป็นธนาคารพาณิชย์ได้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จึงเปลี่ยนเป็นธนาคารเกียรตินาคิน ในปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นผู้นำของตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในธนาคารพาณิชย์)-กิจการโรงงานน้ำตาลของอากุงยังคงดำเนินอยู่-และตระกูลของท่านปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงแรมห้าดาวย่านราชประสงค์คือแกรนด์ ไฮแิอท เอราวัณ - ส่วนกิจการโรงงานสุราเข้าใจว่าเลิกประกอบการไปนานแล้่ว และ ลูก ๆ ของท่านบางคนก็รับช่วงกิจการต่อ บางคนก็มีกิจการของตนเอง-สินฝ่า

----อากุงเกียรติ วัธนเวคิน ท่านเป็นบุคคลที่เคารพรักอาแม หรือ แม่ของท่านเป็นอย่างยิ่ง ความกตัญญูของท่านที่มีต่ออาแม เป็นที่ประจักษ์แก่ลูกหลานเหลน ท่านถือว่า อาแมของท่านเป็นคนใจเด็ด หอบท่านกับน้องชายมาตายเอาดาบหน้าที่เมืองไทย เลี้ยงดูท่านจนเติบใหญ่และประสบพบกับความสำเร็จสูงสุดในชีวิต -- ท่านได้หล่อรูปอนุสาวรีย์อาแมของท่านเป็นรูปทองเหลือง ตั้งเด่นเป็นสง่าภายในอาคารที่พักของท่าน ถ้าแขกคนใดไปเยือน สิ่งแรกที่เขาจะประสบพบเห็น คืออนุสาวรีย์ของอาผอไท้ แม่ของอากุงเกียรติ ซึ่งท่านเซ่นไหว้ของท่านอยู่ทุกวันมิได้ขาด-นับเป็นตัวอย่างของลูกที่มีความกตัญญูต่อบุพการีอย่างมากล้น

-------เรื่องของอากุงไท้ เกียรติ วัธนเวคิน นี้ อยากให้เยาวชนฮากกาในชุมชนของเรา อ่านไว้เป็นตัวอย่าง

 


รูปภาพของ ฉินเทียน

1 ศตวรรษ เกียรติ วัธนเวคิน 丘細見

ศตวรรษความดี มีคุณธรรม ย้ำความกตัญญู รู้ใจใส่ใฝ่ศึกษา มานะพยายาม นามชื่อฝากไว้ในแผ่นดิน ถิ่นบรรพชน 

 

ขอชี้แจง

ไหงได้รับหนังสือจากงานวันพิธีฝังศพ คิวเส้เกี้ยน ที่อุทยานปิยะมาตานุสรณ์ รู้สึกมีข้อมูลคลาดเคลื่อนกันเล็กน้อย ลองตรวจสอบดู

คิวเส้เกี้ยนเกิด 17 พฤศจิกายน 2451 ณ เมืองฮงสุน มณฑลกว่างตุง ประเทศจีน มาเมืองไทยปี  2457 อาปาชื่อ คิวฮักปิง อาเม้ชื่อ โล้วกิมเต็ก

และในปีที่มีอายุครบร้อยปีได้สร้างอุทยานปิยะมาตานุสรณ์เมื่อปี พ.ศ.2551 ให้กับอาเม้ที่เสียชีวิตที่เมืองไทยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม2516 ส่วนคิวเส้เกี้ยน คุณเกียรติ วัธนเวคิน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2556 อายุ 105 ปี

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal