หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

สิบสุดยอดชาจีน-สุดยอดชาจีน

รูปภาพของ YupSinFa

ทุกท่านครับ ยับสินฝ่าเคยเขียนเรื่อง 10 ยอดชาจีน ไว้ เมื่อสองปีก่อนมาวันนี้รู้สึกว่าอยากเขียนเพิ่มเติมเพื่อขยับเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์และทันสมัยมากขึ้น จึงได้จรดนิ้วทั้งห้ามารับใช้ทุกท่านอีกเหมือนเคย สุดยอดของสุดยอดชาจีนในตอนนี้จะเป็นอย่้างไร ขอเรียนเชิญทุกท่านมาติดตามพร้อมกันได้เลยครับ

ตามที่เราทั้งหลายทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศจีน นั้น เป็นบ้านเกิดของใบชา ชาจีน อยู่คู่กับชนชาติืฮั่น และชนชาติจีนทั้งหลาย มายาวนานหลายพันปี เรียกได้ว่าน้ำชาจีน เป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดเกิดมาคู่กันกับประชาชาติจีน ดินแดนแผ่นดินจีน ที่มีการเพาะปลูกต้นชาจีนนั้น มีมากมายแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำฉางเจียง(ที่คนไทยเรียกว่าแม่น้ำแยงซีเกียง) ทางตอนกลางด้านตะวันออกสุดของประเทศจีน ดินแดนแถบนี้ คนจีนเรียกว่า "เจียงหนาน" อันหมายถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำทางใต้ของแถบจงหยวน...

ถิ่นเจียงหนาน นี้ เป็นดินแดนที่มีภูสวย-น้ำใส สภาพอากาศดี วัฒนธรรมเด่น สตรีสวยสด รสชาติอาหารอร่อย และที่สำคัญ มีชาดีอยู่ในแถบนี้ด้วย

ชาจีนที่ขึ้นชื่อลือชามากที่สุดในประเทศจีน ล้วนมีถิ่นกำเนิดอยู่ในดินแดนเจียงหนานนี้เป็นส่วนใหญ่ ทะเลสาบซีหูที่สวยสดงดงามดั่งสวรค์ ก็มีชาเขียวหลงจิ่งที่สดใส ดื่มด่ำแล้วชวนให้หลงใหลและสดชื่น ชาเหมาเฟิง เหมาเจียน ลิ่วอานกวาเพี่ยน ปี้หลัวชุน อูหลง เถียะกวนยิน ล้วนมีแหล่งกำเนิดอยู่ในแถบเจียงหนาน-ภาคใต้ของจีนแทบทั้งสิ้น

ดินแดนเจียงหนานอันแสนงาม

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมา นอกจากแดนดินถิ่นเจียงหนานที่มีการปลูกต้นชาและผลิตใบชาออกมาอย่างมากมาย แล้ว ในแผ่นดินจีนแถบถิ่นด้านทิศตะวันตก ก็ได้มีการนำต้นชาเข้าไปปลูกอย่างแพร่หลาย อาทิทางมณฑลเสฉวน หยุนหนาน กุ้ยโจว กว่างซี ทางใต้แพร่หลายมาในมณฑลหูหนาน เจียงซี และกวางตุ้ง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาจีนก็ได้แพร่หลายในประเทศจีน และกลายเป็นเครื่องดื่มคู่กับชนชาติจีนตลอดมา

วิวัฒนาการของการดื่มน้ำชาในหมู่คนจีน ได้มีการปรัีึบปรุงคิดค้น และดัดแปลงการอบ-คั่วใบชาให้ออกมามีกลิ่นหอมจรุงใจได้รสชาติที่หอมหวลกลมกล่อมออกมามากมายหลายแบบ น้ำชาจีนทุกชนิดสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด 5 สี ตามน้ำชาที่ชงออกมา คือ

ชาขาว

ชาเขียว

ชาเหลือง

ชาแดง

ชาดำ

ใบชาขาว ใช้ยอดชาที่ยังไม่เบ่งบาน และใบชาขาวอบแห้งแล้ว รวมถึงน้ำชาขาวจะมีสีขาวใส และภาพล่างเป็นดอกชาสีขาว ซึ่งเป็นไม้ประดับ ไม่ได้นำมาทำเป็นใบชาขาวแต่อย่างใด

 

ใบชาเขียว ใช้ยอดชาที่เบ่งบานมาผลิตเป็นชาเขียว น้ำชาจะเป็นสีเขียวมรกต

ชาเหลือง ใช้ยอดชามาทำการนวดกระตุ้น หมักเพียงครู่เดีียวแล้วอบ-คั่ว น้ำชาที่ได้จะมีสีเหลืองอำพัน สวยงามและมีกลิ่นหอมมากที่สุด

ชาแดง ชาวจีนจะนำใบชามาหมักอย่างเต็มที่ แล้วนำมาอบคั่ว น้ำชาที่ได้จึงมีสีแดงดั่งเลือดนก

ชาดำ เป็นการนำใบชาอัสสัมมาหมักบ่มไว้นานปี แล้วนำมาอัดเป็นก้อน ทำให้แห้งสนิท เก็บไว้นานเป็นปี ๆ น้ำชาที่ได้จึงมีสีดำอมน้ำตาล รสชาตินุ่มนวลกลมกล่อม

ชาจีนทั้ง 5 ชนิด นี้ ทุกชนิดทุกประเภทสี ล้วนมีชาที่เป็นสุดยอดของสุดยอดชาจีน อยู่ทั้ง 5 ชนิด 5 สี หากนับว่าชาสุดยอดชาจีน ที่เป็นสุดยอดชาจีน ไว้ 10 ชนิด 10 อย่าง 10 สุดยอดชาจีน จะได้สุดยอดชาจีน จาก 5 ชนิดสี นี้ โดยแบ่งเป็นชาขาว อยู่ 3 ชาเขียว 2 ชาเหลือง 2 ชาแดง 2 และ ชาดำ 1 รวมเป็นสิบชนิด สิบสุดยอดชาจีน 10 สุดยอดชาจีน มีชาอะไรบ้าง มาชมกันครับ

1. ไป๋หาวหยินเจิน 白豪银针茶

ไป๋หาวหยินเจิน เป็นสิบสุดยอดชาจีน ตัวแรก เป็นชาขาว ที่มาของชื่อชา "ไป๋หาวหยินเจิน" เปรียบเปรยจากสี่สุดยอดหญิงงามแผ่นดินจีนในประวัติศาสตร์คือ หวางเจาจวิน ไซซี เตียวเสี้ยน และ หยางกุ้ยเฟย

ใบชาไป๋หาวหยินเจินจะมีขนขาว ๆ คล้ายกำมะหยี่ เหมือนกับเครื่องเงินใบชาที่อบแห้งแล้วมีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ เหมือนเข็มเย็บผ้า

ชาไป๋หาวหยินเจินเป็นชาขาวที่ติดทำเนียบสิบสุดยอดชาจีนมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ชาขาวไป๋หาวหยินเจินเป็นสุดยอดชาขาวที่มีค่ามีราคาค่อนข้างสูง ไป๋หาวหยินเจิน เป็นชาที่มีถิ่นกำเนิดและผลิตอยู่ที่อำเภอฝูติ่ง เมืองฝูเจิ้ง มณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน

เกษตรกรผู้ปลูกและผลิตชาไป๋หาวหยินเจินที่อำเภอฝูติ่ง จะเด็ดยอดชาที่ยังไม่ผลิบานออกเป็นใบ คือยังมีลักษณะเป็นแท่งแหลม ๆ อยู่ นั่นแหละครับ ชาวฝูติ่งจะเด็ดยอดแหลมหรือเรียกว่าหน่อใบชา เอามาอบคั่ว ดังนั้น ใบชาไป๋หาวหยินเจินจึงมีลักษณะเงาแวววาวเหมือนเงิน แหลมเหมือนเข็มเย็บผ้า สีเงินวาว ความยาวาของใบชาไป๋หาวหยินเจิน ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร เมื่อเรานำมาชงดื่มจะมีกลิ่นหอม รสหวานกลมกล่อม ชุ่มคอ น้ำชาจะมีความใสวาว เหมือนน้ำปล่าว

ในสมัยของจักรพรรดิ์เฉียนหลงจอมราชันย์แห่งราชวงศ์ชิง พระองค์ได้เสด็จประพาสต้นมาถึงอำเภอฝูติ่ง มณฑลฮกเกี้ยนแห่งนี้ ทรงได้รับการถวายน้ำชาไป๋หาวหยินเจินจากชาวฝูติ่ง เมื่อได้เสวยแล้ว ทรงติดอกติดใจ จึงมีพระบัญชาให้มณฑลฮกเกี้ยนจัดใบชาไป๋หาวหยินเจินให้เข้าราชสำนักเป็นบรรณาการจิ้มก้องเป็นประจำทุกปี

จักรพรรดิเฉียนหลง

ชา "ไป๋หาวหยินเจิน" มีความหมายว่า "ขาวสดใสดั่งวาวเงิน"

 

2. ชา "จวินซานหยินเจิน"

จวินซานหยินเจิน นี้ เ็ป็นสุดยอดชาจีนที่เป็นชาขาว มีต้นกำเนิดขึ้นมาในสมัยราชวงศ์ถังที่รุ่งเรือง ถูกจัดให้เป็นเครื่องราชบรรณาการ มาตั้งแต่้สมัยนั้นแล้วยืนยาวมีชื่อเสียงโด่งดังและส่งเป็นจิ้มก้อง(เครื่องบรรณาการแก่ราชสำนัก)มาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง

ชาขาวจวินซานหยินเจิน มีแหล่งผลิตอยู่ในบริเวณ "ทะเลสาบตังถิง" อำเภอเยว่หยาง มณฑลหูหนาน ภาคกลางของจีน ตังถิง เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของประเทศจีน ตั้งอยู่ีติดกับนครฉางซา เมืองเอกของมณฑลหูหนาน เกาะที่อยู่ในทะเลสาบตังถิงมีคุณสมบัติที่เหมาะแก่การปลูกต้นชามาก เพราะมีดินดำ-น้ำดี อากาศแจ่มใสทำให้ต้นชาเจริญงอกงามให้ใบชาที่สวยสด อุณหภูมิในบริเวณทะเลสาบตังถิงตลอดปีเฉลี่ยอยู่ที่ 16-17 องศาเซนเซียส จึงส่งผลให้ใบชาออกมาสวยงาม

ใบชาจวินซานหยินเจิน ขาวแวววาวดั่งเครื่องเงิน

ใบชาจวินซานหยินเจิน นั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือยอดชาอ่อนที่ยังไม่แตกใบ และ ใบชาเปลือกขน ซึ่งจะมีขนสีขาว ๆ คล้ายกับกำมะหยี่ขึ้นอยู่รอบใบชา ซึ่งเป็นใบชาที่เก็บอยู่ในช่วง 3 วันก่อนถึงวันเชงเม้ง ว่ากันว่าชาที่เก็บก่อนวันเชงเม้งสามวันนั้น จะได้ใบชาที่เป็นขนขาวกำมะหยี่ที่สวยงาม


สวนชาจวินซานหยินเจินบนทะเลสาบตังถิง

 

มีตำนานเกี่ยวกับเรื่องของชาจวินซานหยินเจินที่เล่าต่อ ๆ กันมา ว่า ......ในอดีตนานมากแล้วเมื่อสมัยราชวงศ์ถัง มีเจ้าหญิงแสนสวยองค์หนึ่งได้นำเอาเมล็ดชาอะไรก็ไม่รู้ เข้ามาเพาะปลูกภายในตำหนักของพระองค์ เมื่อเมล็ดชานั้นแตกกิ่งก้านสาขาผลิใบจนสามารถเด็ดมาทำใบชาแห้งเพื่อชงดื่มได้แล้ว พระองค์จึงทรงนำใบชาแห้งนั้น ชงเป็นน้ำสุธารส ถวายพระราชบิดาของพระองค์ คือ "ฮ่องเต้ถังหมิงจง" (หลี่ซื่อหยวน-โอรสหลี่ซื่อหมิน หรือ ถังไท่จงฮ่องเต้)


อาคารทรงจีนโบราณที่ตั้งอยู่บนเกาะในทะเลสาบตังถิง ซึ่งเป็นสถานที่ปลูกชาจวินซานหยินเจิน

ถัีงหมิงจงฮ่องเต้เมื่อรับถ้วยชาจากพระหัตถ์ของพระราชธิดาแล้ว ในขณะที่กำลังจะเปิดฝาถ้วยชาเพื่อทรงเสวย เมื่อเปิดฝาถ้วยชาแล้ว...ไอของน้ำชาร้อนที่ระเหยขึ้นมาจากถ้วยชา ได้กลายเป็นนกกระเรียนขาว แล้วผงกหัวเป็นการถวายบังคมฮ่องเต้ถ้งหมิงจง แล้วจึงบินผาดโผนไป

ถังหมิงจงฮ่องเต้จึงรู้สึกปราบปลื้มปีติยิ่งนัก และเมื่อทรงมองลงไปในถ้วยชา ทอดพระเนตรเห็นใบชาที่บานอยู่ในถ้วย น้ำชามีสีขาวใสดั่งวาวแววของเครื่องเงิน จึงทรงพระราชทานชื่อน้ำชาของพระราชธิดาองค์นี้ว่า "น้ำชาจวินซานหยินเจิน" อันมีความหมายว่า "ชาวาวเงินที่สวยงามจากภูเขา"

3. ชา "ลิ่วอันกวาเพี่ยน"

ลิ่วอันกวาเพี่ยนเป็นชาที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชานี้เรียกย่อ ๆ ว่า "เพี่ยนฉา" ซึ่งมาจากชื่อท้ายคือ เพี่ยน นั่นเอง ลิ่วอันกวาเพี่ยน เป็นชาขาวสุดยอดของจีน อีกชนิดหนึ่ง ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 สุดยอดชาจีน เรียกได้ว่าเป็นชาชนิดพิเศษ เพราะใบชามีกลีบเหมือนดอกทานตะวัน ลิ่วอันกวาเพี่ยน เป็นสุดยอดชาจีนที่ถูกจัดให้เป็นเครื่องจิ้มก้องส่งไปยังราชสำนัก หรือเครื่องราชบรรณาการ ไปยังวังต้องห้ามในสมัยราชวงศ์ชิง ณ กรุงปักกิ่ง ว่ากันว่า พระนางซูสีไทเฮา ทรงโปรดปราณชาลิ่วอันกวาเพี่ยนนี้เป็นพิเศษ

ข้อแตกต่างของชาลิ่วอันกวาเพี่ยน กับ ไป๋หาวหยินเจิน และจวินซานหยินเจิน ซึ่งเ็ป็นชาขาว เหมือน กัน แต่ที่ไม่เหมือนกันก็คือ ชาลิ่วอันกวาเพี่ยน ใบชาจะเป็นสีเขียว และไม่มีวาวเงินสีขาว หรือขนขาว เหมือนไป๋หาวหยินเจิน และ จวินซานหยินเจิน แต่น้ำชาที่ได้เป็นน้ำชาขาวใสเหมือนกัน

ชาลิ่วอันกวาเพี่ยน มีแหล่งเพาะปลูกและผลิตที่ภูเขา "ต้าเปียซาน" มณฑลอานฮุย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีอากาศดี ในอดีตสมัยสงครามกลางเมือง ประธานเหมาเจ๋อตง ได้นำทัพไปตั้งศูนย์การนำที่ ภูเขาต้าเปียซานนี้ จึงได้มีโอกาสลิ้มรสชาติชาลิ่วอันกวาเพี่ยน เมื่อสามารถยึดประเทศจีนได้จากรัฐบาลของจอมพลเจียงไคเช็ค สถาปนาประเทศจีนใหม่แล้ว จึงสั่งชา ลิ่วอันกวาเพี่ยนของภูเขาต้าเปียซาน มณฑลอานฮุย เข้าไปดื่มในทำเนียบจงหนานไห่ ว่ากันว่า ท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล อันเป็นที่รักยิ่งของชาวจีน และประธานเหมาเจ๋อตง ชื่นชอบและหลงไหลในรสชาติของชาลิ่วอันกวาเพี่ยนเป็นพิเศษ เพราะเป็นชาที่ดื่มในระหว่างการสู้รบ เมื่อเข้าไปบริหารประเทศในทำเนียบจงหนานไห่ แล้ว จึงดื่มชาลิ่วอันกวาเพี่ยนเป็นประจำ

4. ชา "หลงจิ่ง"

ชาหลงจิ่ง ชาวไทยรู้จักและคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ว่าเป็นชาเขียว หลงจิ่ง และหลงจิ่ง ก็คือชาเขียว

ชาหลงจิ่ง ตั้งชื่อตามบ่อน้ำหลงจิ่ง หรือ "บ่อมังกร" แห่งทะเลสาบซีหู นครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ภาคกลางของจีน ชาหลงจิ่งเป็นชาเขียวที่ถือว่ามีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประเทศจีนและในโลกถ้าพูดกันถึงเรื่องชาเขียว ก็ต้องยกให้ชาเขียวหลงจิ่ง มาเป็นอันดับ 1

 

ชาเขียวหลงจิ่งนี้ มีประวัติที่ยาวนานกว่า 1 พัน 2 ร้อย ปี มีกลิ่นหอมหวลชวนดื่มมาก สีของน้ำชาหลงจิ่งมีสีเขียวมรกต ชาหลงจิ่งหรือบ่อมังกร หรือ สระมังกร นั้น ว่ากันว่า มีอยู่ 3 บ่อ ด้วยกัน คือ

  1. ซีหูหลงจิ่ง หรือบ่อมังกรแห่งทะเลสาบซีหู
  2. เฉียนถางหลงจิ่ง คือบ่อมังกรแห่งหมู่บ้านเฉียนถาง และ
  3. ยวี้โจว หลงจิ่ง หรือบ่อมังกรแห่งเมืองยวี้โจว

บ่อมังกรทั้ง 3 บ่อนี้ ตั้งอยู่รายรอบทะเลสาบซีหู แห่งนครหางโจว ดินแดนแผ่นดินที่สุดแสนสวยงามแห่งเจียงหนาน ของประเทศจีน ชาเขียวหลงจิ่งนี้ จึงเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชาจีนมาเป็นเวลานาน ในสมัยราชวงศ์หมิง ชาเขียวหลงจิ่งถูกจัดให้เป็นเครื่องราชบรรณาการแด่ราชสำนักในกรุงปักกิ่ง

ความเป็นมาของชาเขียวหลงจิ่ง กำเนิดมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง การเก็บใบชามาทำชาเขียวหลงจิ่ง ชาวเมืองหางโจวนิยมเก็บยอดใบชาในช่วงก่อนเทศกาลชิงหมิง(เชงเม้ง) ชารุ่นนี้จะถูกเรียกว่าชาก่อนเชงเม้ง จะได้ชาหลงจิ่งที่ถือว่าเป็นชาที่ดีมาก ๆ

อีกครั้งหนึ่งของการเก็บในรอบปี คือ เก็บในช่วงก่อนเทศกาล "กู๋หยวี่" (เทศกาลกู๋หยวี่คือช่วงที่มีการทำพิธีกรรมบูชาฟ้าดินเพื่อการเตรียมตัวเพาะปลูกของชาวไร่ชาวนาจีน เปรียบเหมือนกับของไทยคือพิธีแรกนาขวัญนั่นเอง)

ขอบอกเล่าเรื่องราวของความเป็นมาของบ่อมังกรหรือสระมังกรแห่งทะเลสาบซีหูเมืองหางโจวสักเล็กน้อย สระมังกร หรือหลงจิ่ง ถูกขุดสร้างในสมัยราชวงศ์โฮ่วฮั่น หรือฮั่นหลัง 949 ปี ก่อนคริสตศักราช และคงอยู่ยืนยาวมาจนถึงกระทั่งในปัจจุบันนี้ รวมแล้วประมาณกาลได้ 2 พัน 9 ร้อย กว่าปี

5. ชา "ปี้หลัวชุน"

ปี้หลัวชุน เป็นหนึ่งในสิบสุดยอดชาจีน อีกชนิดหนึ่งครับ ที่เป็นชาเขียว

ชาปี้หลัวชุน มีถิ่นกำเนิดและผลิตในแถบภูเขา "ต้งถิง" เมืองไท่หู มณฑลเจียงซู ดินแดนเจียงหนาน ภาคกลางของจีน ที่ซึ่งมีอากาศและสภาพดินที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของต้นชา ชาปี้หลัวชุนเป็นชาที่ถูกปลูกร่วมกับต้นไม้ผลชนิดต่าง ๆ ของจีน ได้แก่ต้นสาลี่ ท้อ บ๊วย พลับ ส้มจีน ไป๋กว๋อ และทับทิม ดังนั้น ชาปี้หลัวชุน จึงมีกลิ่นหอมหวลของดอกไม้ผลเหล่านั้นติดมากับใบชาด้วย นับว่าเป็นความโดดเด่นของชาปี้หลัวชุน

ชาปี้หลัวชุนมีประวัติยาวนานมากว่า 1 พันปี มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย ถัง และ ซ่ง ในสมัยราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน จักรพรรดิ์คังซี จึงทรงตั้งชื่อชานี้ว่า "ปี้หลัวชุน"อันมีความหมายว่า "ชาเขียวรูปก้นหอยแห่งฤดูใบไม้ผลิ" เป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิ์คังซีมาก ใบชาปี้หลัวชุนมีสีเขียวสด กลิ่นหอม รูปร่างของใบชามีความสวยงามม้วนเหมือนกับก้นหอย รสชาติหวานหอม ถือกันว่าช่วยแก้ร้อนในได้ดีนัก


จักรพรรดิ์คังซี ฮ่องเต้จอมราชันย์ที่ปรีชาสามารถองค์หนึ่งในสมัยราชวงศ์ชิง

เช่นเดียวกันกับสุดยอดชาจีนชนิดอื่น ๆ ชาปี้หลัวชุนนี้ ก็ต้องถูกจัดเป็นเครื่องราชบรรณาการที่ขุนนางของเจียงซูจะต้องส่งเข้าไปในพระราชวังหลวงทุกปี

6. อู่อี๋หยานฉา หรือ อูหลงฉา

อู่อี๋หยานฉา เรารู้จักกันในชื่อ "อูหลงฉา" หรือชาอูหลง

ชาอูหลง หรือมังกรดำ เป็นอีกชาหนึ่ง ที่เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชาจีน ที่ปลูกและผลิตในมณฑลฮกเกี้ยนหรือฝูเจี้ยน บริเวณภูเขาอู่อี๋ซาน ทางตอนเหนือของมณฑลฮกเกี้ยน

ชาอูหลง จัดเป็นชาเหลือง น้ำชาเป็นสีเหลืองอำพัน เพราะเป็นชาที่ใช้กระบวนการหมักแบบไม่เต็มสูตร น้ำชาที่ได้จึงมีสีเหลือง ขั้นตอนของการผลิตชาอูหลง ชาวจีนที่ภูเขาอู่อี๋ซาน จะเด็ดยอดชามาผึ่งลมไว้หนึ่งวัน หลังจากนั้น นำมานวด ให้ใบชาเกิดอาการที่เรียกว่า "ช้ำ" ใบชาจะห่อตัว เมื่อนวดใบชาแล้ว ก็นำใบชาที่นวดนั้น มาห่อด้วยผ้าขาวบางแต่มีความเหนียว แล้วเข้าเครื่องคลึง ให้ใบชานั้นเป็นก้อนกลม แล้วจึงนำมาอบ-คั่ว ก็จะได้ชาอูหลง ที่มีน้ำชาสีเหลืองสวย

สรุปว่า กรรมวิธีการผลิตชาอูหลงนี้มีถึง 5 ขั้นตอน คือ เก็บชา ตากชา นวดชา หมักชา และคั่วชาชาอูหลงเป็นชาที่คิดค้นและผลิตขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิ์หย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิง ชาอูหลงนี้เมื่อดื่มแล้วจะมีกลิ่นหอมติดปากติดคอ


ชาอูหลงบรรจุขวดพร้อมดื่มแบบเดียวกับโออิชิบ้านเรา

ชาอูหลงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีมากในบรรดาชาวจีนโพ้นทะเล เนื่องจากมีชาวฮกเกี้ยน อพยพโยกย้ายออกไปอาศัยยังเกาะไต้หวัน จึงนำเอาวิธีการผลิตชาอูหลงไปทำที่ไต้หวันด้วย รวมถึงชาวฮกเกี้ยนที่อพยพไปยังประเทศต่าง ๆ ทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น จึงมีการนำชาอูหลงออกไปจำหน่ายยังประเทศเหล่านั้น ในประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน ชาอูหลงเป็นที่รู้จักของคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีชาวไทยเชื้อสายฮกเกี้ยนและชาวจีนหยุนหนานในประเทศไทยที่ได้รับกรรมวิธีการผลิตชาอูหลงชั้นเยี่ยมมาจากไต้หวัน

ชาอูหลงสามารถจัดแบ่งออกไปได้อีกหลายอย่าง ตามขั้นตอนของวิธีการผลิต จะมีอูหลงรสเข้มข้น รสหอมหวานกลมกล่อม เช่นอูหลงก้านอ่อน จะได้น้ำชาสีเหลืองอมเขียว รสชาติหอมชื่อนคอชื่อนใจ อูหลงเบอร์ 12 เป็นอูหลงที่มีรสชาติเข้มข้น หอมติดปากติดคอ และชาอูหลงแต่ละอย่าง ยังแบ่งออกเป็นใบชาที่เก็บเกี่ยวในเวลา และฤดูกาลต่าง ๆ เช่น อูหลงหยาดน้ำค้าง จะเก็บใบชาในตอนที่ฟ้าเริ่มสาง ในฤดูหนาว ขณะที่ยังมีหมอกมีน้ำค้างติดอยู่ที่ใบชา จะได้รสชาติของชาในอีกแบบหนึ่ง และชาอูหลงที่เก็บเพียงครั้งเดียวในฤดูใบไม้ผลิ จะให้รสชาติของน้ำชาในอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า "อูหลงสี่ฤดู"


การเก็บใบชาอูหลงที่ภูเขาอู่อี๋ซานมณฑลฮกเกี้ยน

ที่พิเศษกว่าในประเทศจีน ชาอูหลงที่ผลิตในประเทศไทยบริเวณดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนยูนนาน ได้ผลิตชาอูหลงออกมาอีกหลายรูปแบบ เช่น อูหลงผสมโสม อูหลงดอกมะลิ อูหลงก้านอ่อน อูหลงกังฟูหรืออูหลงเบอร์ 12 ซึ่งมีรสเ้ข้มข้น อูหลงหมื่นลี้ที่ผสมดอกหอมหมื่นลี้หรือดอกกุ้ยฮวาที่มีราคาแพงมาก

ลักษณะของชาอูหลงผสมโสม เม็ดผงของโสมจะถูกเคลือบอยู่ที่ใบชา ชาอูหลงโสมไม่ได้มีรสขมเลย กลับมีรสชาติที่หวานหอมชุ่มคอ และยังได้ประโยชน์จากโสมอีกด้วย

ชาอูหลงผสมโสม หรือ ชาโสมอูหลง มีจำหน่ายมากมายในบ้านเราที่ไหง่เองก็มีขาย


สวนชาอูหลงบริเวณภูเขาอู่อี๋ซาน

7. เถียะกวนยินฉา หรือ ชาเทียะกวนอิม

ชาเถียะกวนยิน หรือเทียะกวนอิม อันมีความหมายว่า "กวนอิมเหล็ก" เหตุที่ชื่อของชาชนิดนี้หมายความถึงกวนอิมเหล็กเป็นเพราะว่าจักรพรรดิ์เฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ได้พระราชทานชื่อนี้เนื่องจากทรงติดใจในรสชาติเพราะน้ำชาชนิดนี้มีความหอมนุ่มและเข้มข้น เปรียบเสมือนความนุ่มนวลอ่อนโยนของพระโพธิสัตว์กวนอิม และความแข็งเข้มของเหล็ก จึงเป็นที่มาของการประทานชื่อชานี้ว่า "กวนอิมเหล็ก"


ข้อแตกต่างของใบชาเทียะกวนอิม กับ ใบชาอูหลง ท่านต้องดูให้ดีนะครับ เพราะเป็นชาชนิดเดียวกัน แตกต่างกันที่ ใบชาอูหลงจะเป็นเม็ดกลมเพราะถูกผ่านการห่อผ้าแล้วนวดจนเป็นก้อนกลม แต่ชาเทียะกวนอิม จะเป็นลักษณะแค่ห่อตัวจับกันเป็นก้อน ไม่ได้มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบบชาอูหลง

เถียะกวนยิน หรือเที้ยะกวนอิม เป็นชากึ่งหมักกรรมวิธีการผลิตคล้ายกับชาอูหลง น้ำชาที่ได้จึงมีสีเหลืองอำพัน ซึ่งอยู่ในระหว่างชาแดงและชาเขียวคุณลักษณะของใบชาเที้ยะกวนอิมนี้ใบชามีความหนา เรียว รี ก้านใบแข็ง ปริมาณการเก็บได้ในแต่ละปีมีจำนวนน้อยมาก ชาวจีนว่ากันต่อ ๆ มาว่า ถ้าจะดื่มชา จะต้องดื่มชากังฟู(ชาที่มีรสชาติเข้มข้น) และถ้าจะดื่มชากังฟู ก็ต้องดื่มชา เที้ยะกวนอิม และชาเที้ยะกวนอิม ก็จะต้องเป็นชาของอำเภอ "อานซี" มณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน

ความเป็นมาของชาเที้ยะกวนอิม ว่ากันว่าในยุคปลาย คริสตศัตวรรษที่ 18 ในหมู่บ้านหนานเหยียน อำเภออานซี มณฑลฮกเกี้ยน มีบัณฑิตของตระกูลหวาง คนหนึ่ง ที่บังเอิญได้พบกับต้นชาที่มีลักษณะแปลกตาอยู่ต้นหนึ่งบนภูเขา จึงรู้สึกประหลาดใจจนต้องย้ายเอาต้นชานั้นมาปลูกที่หลังบ้านของตัวเอง ทำการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี

เมื่อบัณฑิตคนนั้นเก็บใบอ่อนชามาทำเป็นชาชงดื่มแล้ว พบว่ามีกลิ่นหอมชื่นใจ ต่อมาบัณฑิตหวางผู้นั้นได้มีโอกาสนำชานี้ขึ้นถวายจักรพรรดิ์เฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง เมื่อเฉียนหลงทรงดื่มชานี้แล้ว ทรงชื่นชอบยิ่งนัก ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าลักษณะชาที่มีสีดำมันเงาหนักแน่นดังราวกับเหล็ก (เถี่ย-เที้ยะ) และมีรสชาติหอมกรุ่นนุ่มนวลราวกับ "พระโพธิสัตว์กวนอิม" จึงทรงพระราชทานนามของชานี้ว่า "เที้ยะกวนอิม"-กวนอิมเหล็ก ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

 

ปัจจุบัน อำเภออานซี ซึ่งได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นเมืองอานซีแล้ว มีสมญาที่ชาวเมืองเองตั้งสมญานามของเมืองอานซีของตัวเองว่า "อานซีนั้น คือแดนสวรรค์ ของคนรักชา"

ชาเทียะกวนอิิม และ ชาอูหลง ได้รับการยกย่องกันในประเทศจีน ว่า เป็น "สองไข่มุกเม็ดงามแห่งมณฑลฮกเกี้ยน"

8. ฉีเหมินฉา หรือ ชาฉีเหมิน

ชาฉีเหมินเป็นชาแดง มีแหล่งผลิตหรือต้นกำเนิดที่เมือง "ฉีเหมิน"มณฑลอานฮุย ดินแดนแผ่นดินถิ่นเจียงหนาน อันสวยงามของประเทศจีน


ลักษณะของใบชาฉีเหมิน จะเป็นเส้นไม่ม้วนหรือห่อตัวเป็นวงกลมเหมือนกับชาอูหลง และ ชาเทียะกวนอิม น้ำชาฉีเหมินจะมีสีแดงเลือดนก ซึ่งชาแดงฉีเหมินช่วยดับกลิ่นคาวและแก้เลี่ยนได้ดี

เจียงหนาน เป็นดินแดนแถบตะวันออกทางตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียง ชาวจีนถือกันว่า เจียงหนานนั้นเป็นดินแดนแสนงาม วัฒนธรรมสง่า สตรีสวยสด ธรรมชาติ บ้านเรือน สวยงาม เจียงหนานประกอบด้วยมณฑล อานฮุย เจียงซู เจ้อเจียง และส่วนหนึ่งของมณฑลหูหนาน กับ ฮกเกี้ยน

ไร่ชาสวนชาในเมืองฉีเหมิน มณฑลอานฮุย

 

ชาฉีเหมินนี้ เป็นชาแดงที่ชาวปักกิ่งเมืองหลวงชื่นชอบกันหนักหนา อาหารจีนภาคเหนือจืดชืด และมัน ชาฉีเหมินซึ่งเป็นชาแดงจึงช่วยขจัดความมันเลี่ยนของอาหารได้ดี ว่ากันว่า เวลาดื่มชาฉีเหมินนี้แล้วจะทำให้รู้สึกสดชื่น กระชุ่มกระชวย แก้ง่วงเหงาสัปงก บำรุงสมอง ลดอาการความจำเสื่อม ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยขับเหงื่อขับปัสสาวะ ล้างและขับไล่สารพิษในร่างกาย

ชาฉีเหมินจึงโดดเด่นในเรื่องที่ว่า เป็นชาแดง ที่มีสีแดงสวยงามดั่งเลือดนก และมีคุณสมบัติทางสมุนไพรช่วยบำรุงอวัยวะภายในร่างกายนั่นเอง จึงถูกจัดเป็น1 ใน 10 สุดยอดชาจีนเสมอมา.

9. เหมาเฟิ่งฉา หรือ ชาเหมาเฟิ่ง

ชาเหมาเฟิ่ง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชาเหมาเจียน ชาเหมาเฟิ่งเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชาจีนที่มีชื่อเสียงสุดยอดของมณฑลอันฮุย ซึ่งมีแหล่งเพาะปลูกแลผลิตอยู่บริเวณภูเขาหวงซาน

ภูเขาหวงซาน มณฑลอันฮุย แหล่งผลิตชาเหมาเฟิ่ง

ชาเหมาเฟิ่งโด่งดังเป็นพลุแตกทั่วทั้งราชอาณาจักรจงกว๋อ หรือประเทศจีนและยังโด่งดังไปไกลถึงดินแดนแผ่นดินที่ชาวจีนโพ้นทะเลออกไปตั้งถิ่นพำนักพักอาศัยยังต่างประเทศ

ลักษณะของชาเหมาเฟิ่งจะเป็นเส้นเล็ก ๆ ฝอย ๆ มีกลิ่นหอมและรสชาตินุ่มนวลกลมกล่อมตามแบบของชาเขียว ใบชาเหมาเฟิงนี้มี 2 ชนิด คือ แบบใบใหญ่ และ แบบใบเล็กซึ่งจะมีสีเขียวอ่อนส่วนใบใหญ่จะมีความหนา มีสีเขียวเข้มออกเหลือง

ชาเหมาเฟิ่งที่เป็นแบบสีเขียวอ่อนใบเล็กถือกันว่าเป็นเหมาเฟิงชนิดดีเยี่ยมยอด ส่วนแบบใบใหญ่สีเขียวเข้มออกเหลืองนั้นจัดว่าเป็นระดับรองลงมา กลิ่น สี และรสชาติของชาเหมาเฟิงมีความหอม ดื่มแล้วสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า

ชาเหมาเฟิ่งจัดเป็นชาเขียวอีกชนิดหนึ่งของจีน คุณสมบัติของชาเหมาเฟิ่งที่นอกเหนือจากชาชนิดอื่น ๆ คือมีโปรตีนสูง วิตะมินและเกลือแร่มีสูงมากกว่าชาชนิดอื่น ๆ อันทำให้ชาเหมาเฟิงเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชาจีน ชาวจีนที่ต้องการบำรุงร่างกายด้วยน้ำชาจีนจึงมักจะนิยมดื่มชาเหมาเฟิ่งกัน ซึ่งว่ากันว่าชาเหมาเฟิ่งมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายถึง 3 ร้อยกว่าชนิด.(ตามต้นฉบับนะครับ แต่ว่าไหงก็ยังไม่เห็นว่าสามร้อยกว่าชนิดมีรายละเอียดอะไรบ้าง ต้นฉบับเดิมอาจจะโม้นิดหน่อยก็เป็นได้)

10. ผูเอ่อร์ฉา หรือ ชาผูเอ่อร์

ชาผูเอ่อร์ ถูกจัดเป็นชาดำ เพราะเป็นชาที่ต้องใช้กระบวนการหมัก อย่างเข้มข้น ซึ่งในอดีตใช้ใบชาอัสสัมในการผลิต แต่ปัจจุบันได้ใช้ใบชาสายพันธุ์จีนในการผลิต โดยมีการหมักอย่างยาวนาน ใส่ไว้ในตะกร้าหรือชะลอมที่สานด้วยไม้ไผ่ แล้วใช้ใบตองรอง มัดไว้ แล้วถึงจะนำมาทำสู่กระบวนการอบแห้ง

ชาผูเอ่อร์เป็นชาจีนเพียงชนิดเดียว ที่จัดเป็นชาดำ มีแหล่งผลิตอยู่ในมณฑลหยุนหนาน หรือยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในแถบแคว้นสิบสองปันนา ที่อำเภอเมืองไฮ หรือเมิ่งไห่ ของแคว้นสิบสองปันนา

ก่อนจะมาเป็นชาผูเอ่อร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุด ๆ ในประเทศจีนและขจรไปไกลทั่วโลก เกิดขึ้นจาก ในสมัยโบราณ การนำใบชาแห้งออกจากมณฑลยูนนานไปขายยังที่ต่าง ๆ ในประเทศจีน ทางด้านตะวันออก ทางทิศเหนือ และส่งไปขายต่างประเทศ ทางใต้ ลงมาในดินแดนล้านนาไทย ไปสุโขทัย อยุธยา ทางตะวันตกเฉียงใต้ไปพม่า ทางตะวันตกเข้าไปในทิเบต เข้าอินเดีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือไปในเขตซินเกีั้ยง แล้วเข้าไปในเอเชียกลาง

เส้นทางลำเลียงใบชาจากมณฑลยูนนานนี้ ต้องใช้ม้าต่างใบชา เนื่องด้วยระยะทางยาวไกลเป็นพัน ๆ กิโลเมตร การบรรทุกใบชาจะต้องนำชามาอัดเป็นก้อน หรือเป็นแท่ง ๆ เพื่อให้ได้ปริมาณชาสำเร็จรูปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะได้ปริมาณที่เพียงพอต่อการขาย

เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผ่านไป ผู้ที่ดื่มชาอัดแท่งจากยูนนาน มีความรู้สึกว่า ชาก้อน หรือชาแท่ง ที่อัดแน่นนั้น ระยะเวลาที่ผ่านไปเป็นปี ๆ หรือกระทั้งหลายสิบปี ชาอัดก้อน นั้น ยิ่งมีรสชาติหวานละมุน ชุ่มคอ ชื่นใจ จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่า ชาอัดก้อน นั้น มีคุณค่าขึ้นมาจากระยะเวลายาวนานเก่าเก็บ จึงจะมีรสชาติที่ดีขึ้นมาก

นับตั้งแต่บัดนั้น...ชาอัดก้อนที่ไร้ค่าจากดินแดนสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ได้กลายมาเป็นสิ่งมีค่า สูง ที่เศรษฐีชาวจีน ตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน พากันเก็บสะสมไว้ โดยมีค่านิยมกันว่า ชาอัดก้อน ยิ่งยาวนานเท่าไหร่ รสชาติก็ยิ่งดีมาก และราคาก็จะสูงมาก ๆ ตามไปด้วย


การหมักบ่มชาผูเอ่อร์ในปัจจุบัน


เส้นทางม้าต่างชาโบราณ หรือ "ฉาหมากู่ต้าว" อันเปรียบเสมือนเส้นทางสายแพรไหม ที่เกี่ยวกับใบชา

เส้นทางม้าต่างชา โบราณ "ฉาหมากู่ต้าว"

ชาผูเอ่อร์ จึงถูกกล่าวขานกันว่า เป็นชาที่ผลิตในรุ่นของปู่ แล้วนำออกขายได้ในรุ่นของหลาน และ "ของโบราณที่กินได้"

ชาผูเอ่อร์ นี้ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ไม่มีชาจีนในมณฑลไหนเหมือน และไม่เหมือนชาของมณฑลอื่น กล่าวคือเป็นชาจีนเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่ผลิตโดย "ชนชาติส่วนน้อย" ในมณฑลยูนนาน ทั้งชาวไตลื้อ ไตใหญ่ ชาวล่าหู่ ชาวอาข่า และชาวอี๋ อันเป็นชนชาติส่วนน้อยของประเทศจีน 1 ใน 56 ชนชาติ


การเก็บใบชาผูเอ่อร์ของชนชาติส่วนน้อยในแคว้นสิบสองปันนา และ เมืองผูเอ่อร์ ในมณฑลยูนนาน

ชาผูเอ่อร์ที่มีจุดกำเนิดในอำเภอเมืองไฮ แคว้นสิบสองปันนา และปัจจุบันมีแหล่งผลิตใหญ่ี อยู่ที่เมืองซือเหมา มณฑลยูนนาน และโด่งดังจนกระทั่งเมืองซือเหมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองผูเอ่อร์ ในปัจจุบัน

ชาผูเอ่อร์เป็นชาที่ถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการหมัก แล้วนำมาอัดเป็นก้อนกลมๆ เป็นแผ่นวงกลม และเป็นเส้น ๆ ชาผูเอ่อร์จึงมี 3 แบบด้วยกัน คือ แบบก้อนกลมเล็ก ๆ หรือใหญ่เท่าลูกฟักทอง แบบแผ่นวงกลมหรือแบบสี่เหลี่ยม และแบบเป็นเส้นฝอย

สีของน้ำชาผูเอ่อร์นี้จะเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ เนื่องจากผ่านกระบวนการหมักบ่มมาอย่างยาวนาน กลิ่นของชาผูเอ่อร์นี้จะหอมนวล ว่ากันว่า ผู้ใดได้ดื่มชาผูเอ่อร์เป็นครั้งแรก จะไม่ค่อยรู้สึกเท่าใดว่ามีรสชาติ แต่เมื่อได้ลองลิ้มรสที่ละเมียดละไมเข้าไปเป็นครั้งที่สองแล้ว เมื่อนั้น จะหลงไหลในเสน่ห์และรสชาติที่หอมหวานติดปากติดคอของชาผูเอ่อร์ให้จนได้ในที่สุด

รสชาติของชาผูเอ่อร์จะนุ่มนวลกลมกล่อมและออกอมหวานนิด ๆ ชาผูเอ่อร์ยิ่งเก่ามากเท่าใด มูลค่าและราคาของชาจะสูงมากเท่านั้น จนถูกเรียกว่าเป็นชาที่มีราคาแพงดุจดั่งทองคำ เพราะชาผูเอ่อร์อายุ ห้าสิบปี ร้อยปี มีราคากว่าสองแสนถึงห้าแสนหยวนเลยทีเดียว

10 ยอดชาจีน ก็มีชื่อตามที่ได้เขียนบรรยายให้ท่านได้อ่านตามข้างต้นครับ ชื่อเสียงของสุดยอดชาจีน ในขณะนี้ ก็เป็นเหมือนกับที่ได้ยกย่องกันไว้ตั้งแต่สมัยโบราณแล้วล่ะครับ ส่วนชาจีนใหม่ ๆ ที่ผลิตได้ ถึงแม้ว่าจะมีราคาแพง แต่ก็ไม่ได้จัดเป็นหนึ่งในสิบ สุดยอดชาจีน ซึ่งชาจีนสุดยอดสิบชนิด มีเพียงที่ไหงนำมาเขียนให้ทุกท่านได้อ่านกันในที่นี้นั่นแหละครับ

บทสรุปของ สิบ ยอดชาจีน ซึ่งชาจีนที่เป็นสุดยอด ทั้งสิบ มีชนิดของชาทั้ง ชาขาว ชาเขียว ชาเหลืิอง ชาแดง และ ชาดำ โดย...

ชาขาว มี 3 ชา คือ ไป๋หาวหยินเจิน จวินซานหยินเจิน และ ลิ่วอันกวาเพี่ยน

ชาเขียว มี 3 ชา คือ หลงจิ่ง ปิ้หลัวชุน และ เหมาเฟิ่ง

ชาเหลือง มี 2 ชา คือ อูหลง และ เถียะกวนยิน(เทียะกวนอิม-กวนอิมเหล็ก)

ชาแดง มี 1 ชา คือ ฉีเหมิน

ชาดำ มี 1 ชา คือ ผูเอ่อร์

ถิ่นเพาะปลูกชา และมีสุดยอดชาจีนอยู่มากที่สุด คือ ดินแดนเจียงหนาน ทางภาคกลางของประเทศจีน ลุ่มแม่น้ำฉางเจียง หรือ แยงซีเกียง คือมณฑลเจียงซู มณฑลอันฮุย มณฑลเจ้อเจียง มณฑลหูหนาน และมณฑลฮกเกี้ยน

มณฑลที่มีสุดยอดชาจีน มา่กที่สุด คือ ฮกเกี้ยน มี 3 ชา คือ ไป๋หาวหยินเจิน อูหลง และ เถียะกวนยิน และ

อันฮุย มี 3 ชนิดชา คือ ลิ่วอันกวาเพี่ยน ฉีเหมิน และ เหมาเฟิ่ง

มณฑลที่มีสุดยอดชาจีน อยู่อย่างละ 1 ชา คือ หูหนาน-จวินซานหยินเจิน เจ้อเจียง-หลงจิ่ง เจียงซู-ปี้หลัวชุน หยุนหนาน 1 ชา คือ ผูเอ่อร์

สุดยอดชาจีน สิบ ชนิดนี้ ถ้าจะนับว่าเป็นของแท้ ก็จะต้องเป็นชนิดที่ผลิตอยู่ในแหล่งกำเนิดหรือถิ่นที่ผลิตเท่านั้นครับ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นของแท้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ชาชนิดนั้น ๆ ที่ผลิตในที่อื่น ๆ ซึ่งทำให้เป็นชาชนิดต่าง ๆ นั้น จะไม่ใช่ชาของจริงนะครับ เพียงแต่ว่า ไม่ได้ผลิตอยู่ที่แหล่งต้นกำเนิดเท่านั้นเอง

ปัจจุับันนี้ นอกจากไหงจะัทำธุรกิจท่องเที่ยวกับประเทศจีน การค้าขายไทยจีน ซึ่งไหงจะต้องเข้า-ออกเมืองจีนบ่อย ๆ แล้ว ไหงได้หันมาจำหน่ายใบชาด้วย ซึ่งชาที่ไหงมีอยู่ เป็นชาจีนจากประเทศจีน ที่นำมาจากแหล่งผลิตโดยตรง เช่นชาผูเอ่อร์ จากเมืองไฮ และ เมืองผูเอ่อร์ของมณฑลยูนนาน ชาอูหลงจากอู่อี๋ซาน ชาเทียะกวนอิม จากฮกเกี้ยน และสุดยอดชาไทยจากเชียงราย

ท่านที่เป็นคอชา สามารถเข้ามาพูดคุยกันได้ ครับ

 

ขอบพระคุณครับ

Yubsinfa - Klit.Y


รูปภาพของ อิชยา

ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณกับสาระดีดี ที่อาโก๊นำมาให้ในที่นี้ ....
ขอชูจั๊กแร้เชียร์อีก 5 เรื่อง และเรื่องต่อ ๆ ไป
รวมทั้งขออนุญาตเก็บบันทึกไว้ส่วนตัว ...
หากมีโอกาสเหมาะ จะนำไปโพสต์ลงใน เว็บบล๊อกอื่นต่อไป

รูปภาพของ YupSinFa

อาจี้อิชยา ครับ

 

         ขอบพระคุณใน คำติ-ชม ครับ สิ่งเล็กน้อยแค่นี้เองครับ ที่เป็นกำลังใจให้คนชอบเขียนอย่างไหง มีกำลัีงใจที่จะทำงานเขียนตลอดไปจนกว่าไม่มีแรงเขียน ครับ อาจี้อิชยา

         非常感谢

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal