หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

ท่ามกงเยี้ย ยุวเทพที่เป็นชาวฮากกา (จบ)

รูปภาพของ จ๊องหยิ่นฮยุ๋ง
จากเมืองจีนสู่เมืองไทย

นับจากอดีตเมื่อปีพุทธศักราช 2428 ในท้องถิ่นหุ้ยโจว มณฑลกวางตุ้ง มีชาวจีนผู้หนึ่งแซ่เจ็ง (จง) ไม่ปรากฏนามชัดเจน บ้านของท่านอยู่ไม่ไกลจากวัดเก้ามังกรนัก คตินิยมในสมัยนั้นชายหนุ่มในหมู่บ้านต่างลงเรืออพยพเพื่อหนีความยากจนแร้นแค้น ท่านจึงอยากไปบ้าง โดยที่ยังไม่มีเป้าหมายว่าจะไปที่แห่งใด เพียงขอให้พ้นจากความยากลำบากก็เพียงพอ การรอนแรมจากถิ่นฐานเดิมนั้นต้องล่องเรือออกกลางทะเล ไม่ทราบเป็นตายร้ายดี จะมีชีวิตรอดพ้นจากคลื่นลม หรือเรือล่มกลางทะเลหรือไม่

เนื่องจากท่านอยู่ใกล้วัดเก้ามังกร ท่านจึงอธิษฐานจิต หากแม้นว่ามีชีวิตรอดปลอดภัย เรือเข้าถึงฝั่งใดก็จะตั้งรกรากทำมาหากินที่นั้น โดยท่านได้ขอให้องค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านท้องถิ่นนั้น ให้คุ้มครองป้องภัยตลอดการเดินทาง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ สิ่งที่ท่านนำพกติดตัวมาด้วยในเวลานั้น คือยันต์พระและเถ้าธูปขององค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ย

ในที่สุดลำเรือของท่านมาขึ้นฝั่งที่เมืองไทยโดยรอดปลอดภัย ท่านก็หางานทำไปเรื่อยๆจนมาถึงเมืองตรัง บริเวณที่ท่านลงหลักปักฐานครั้งแรกคือ ตำแหน่งศาลเจ้าในปัจจุบันนั่นเอง

ท่านสร้างกระท่อมมุงจากเล็กๆ ปลูกผักขาย พร้อมจัดหาโต๊ะบูชาขึ้นมาพร้อมกระถางธูป เพื่อบูชาสักการะผืนยันต์และเถ้าธูปขององค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยที่ได้นำมา ท่านบูชาทุกวันมิได้ขาด เป็นตามปกติและไม่มีสิ่งพิเศษใดๆ ปรากฏ ต่อมามีชาวบ้านมาร่วมขอสักการะบูชาด้วย และจากจุดนี้จึงเป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าผู้คนมาบูชาขอความช่วยเหลือใดๆ ล้วนประสบความสำเร็จ รักษาโรคภัยให้หายเจ็บ

ต่อมา ชาวบ้านใกล้ไกลเมื่อทราบข่าว ได้หลั่งไหลมาบูชามากขึ้น จนต้องขยับขยายกระท่อมให้ใหญ่กว่าเดิม แต่ก็ไม่เพียงพอ กระท่อมต้องขยับขยายถึงสามครั้ง แล้วจึงก่อสร้างเป็นตึกถาวรดังปัจจุบัน สร้างในปีพุทธศักราช 2496 ช่วงที่มีการขยับขยายนั้น องค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยจึงได้เริ่มเข้ามาประทับทรงครั้งแรก ท่านได้ชี้แนะการจัดวางโต๊ะหมู่บูชาด้วยตนเอง ให้ถูกต้องตามคติดั้งเดิมเหมือนวัดเก้ามังกร ซึ่งขณะนั้นการก่อสร้างอยู่ภายใต้การดำเนินการของนายสิน แซ่บู้ จนกระทั่งสำเร็จ

แต่ยังต้องขยับขยายสร้างห้องเสมียนและคลังเก็บของ เงินทองที่ใช้ก่อสร้างก็มีไม่เพียงพอ แต่องค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยท่านได้สั่งให้ดำเนินก่อสร้างต่อไป ท่านกล่าวว่าต่อไปเงินเพิ่มขึ้นเอง พร้อมขยายสร้างห้องรักษาผู้ป่วยและโรงทาน

พร้อมขุดสระน้ำขนาดใหญ่ 2 สระ สระหนึ่งสำหรับปล่อยปลา อีกสระหนึ่งสำหรับปล่อยเต่าและตะพาบน้ำ ปัจจุบัน สระเต่าและตะพาบน้ำได้ถูกยกเลิกไป เพราะมักมีคนมาแอบขโมยจับกิน และทำความสะอาดลำบาก จึงเป็นสระน้ำที่ไม่มีเต่าและตะพาบน้ำ

ระยะเวลาที่องค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยถูกอัญเชิญมาจากเมืองจีน จนถึงเมืองตรังจากช่วงแรกที่ไม่ปรากฏเหตุการณ์ใดๆ เป็นเวลา 68 ปี อีกประมาณ 50 ปีต่อมา ท่านได้แสดงบุญญาภินิหาร นับรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 120 ปีที่ท่านสถิตย์เป็นมิ่งขวัญเป็นศูนย์รวมจิตใจของพีน้องชาวตรัง ทั้งจังหวัดใกล้ไกลทั่วไทยและต่างแดน

เทศกาลสำคัญขององค์ยุวเทพฯ

ปัจจุบัน ศาลเจ้าท่ามกงเยี้ยได้จดทะเบียนเป็น มูลนิธิธรรมคง โดยถูกต้องตามกฎหมาย วัตถุประสงค์เพื่อกิจการสาธารณะ เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและให้ทุนการศึกษาแก่บุตรธิดา เป็นต้น

ศาลเจ้าท่ามกงเยี้ยหรือชาวบ้านเรียกว่า โรงพระท่ามกงเยี้ย นับเป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องชาวตรังอย่างแท้จริง นับตั้งแต่แรกเกิดจากครรภ์มารดา เมื่ออายุครบเดือนบิดามารดาจะพามาไหว้เพื่อขอให้องค์ยุวเทพท่ามกงกงเยี้ยรับไว้เป็นบุตร โดยการบอกวันเดือนปีเกิดให้เจ้าหน้าที่ศาลเลือกชื่อให้โดยสมควร แล้วจึงเสี่ยงโพยถามพระ โดยมากบุตรของท่านทุกคนจะมีชื่อกลางเดียวกันว่า ท่าม

ไม่ว่าชาวบ้านจะมีทุกข์โศกโรคภัย วาระดิถี งานเทศกาลหรือประสบความสำเร็จใดๆ ก็จะมีลูกหลานมากราบไหว้สักการะบูชาสม่ำเสมอ กล่าวว่าเซียมซีของท่านแม่นยำ ผู้คนมักนิยมบนท่านด้วยหมูย่างทั้งตัวหรือย่อมลงมาตามกำลังศรัทธาและทุนทรัพย์ หรือความเกี่ยวข้องและสำเร็จในกิจการนั้นๆ โดยเฉพาะวันหยุดหรือช่วงเทศกาลสำคัญ ลูกหลานพร้อมใจกันมาสักการะบูชาท่านอย่างเนืองแน่น ถึงแม้ว่าองค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยท่านไม่ลงประทับทรงเลย หลังจากนายเหล่าซาม ชาวย่านตาขาว ร่างทรงได้ถึงแก่กรรมเมื่อปีพุทธศักราช 2516 นับจนปัจจุบันเป็นนานกว่า 30 ปี

ทางศาลเจ้าจังหวัดตรังกำหนดงานฉลองประจำปีขององค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยดังนี้

1.) วัน 8 ค่ำ เดือน 4 (จันทรคติจีน) ซึ่งถือเป็นวันคล้ายวันประสูติท่าน ในวันนี้จะเป็นวันที่ท่านถือศีลกินผัก ผู้คนเป็นจำนวนมากจากทั่วประเทศจะหลั่งไหลมาสักการะบูชาท่าน เชื่อว่าหากได้มาสักการะและร่วมรับประทานบะหมี่เจของท่านในวันนี้ จะเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง จนมักประสบปัญหาบะหมี่เจไม่เพียงพอเป็นประจำ เนื่องจากผู้มีจิตศรัทธาซึ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นนั่นเอง ผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองตรังจึงมักนิยมตื่นแต่เช้าเพื่อไปสักการะท่านในยามเช้าตรู่

2.) วัน 26 ค่ำ เดือน 6 จีน ทางศาลเจ้าถือเป็นวันคล้ายวันละสังขาร สำเร็จธรรมเต๋า

3.) วัน 29 ค่ำ เดือน 11 จีน เป็นวันสักการะตอบแทนคุณหรือแก้บน ซึ่งกำหนดไว้ 3 วัน ในเดือนเล็ก คือ 29 ค่ำ เดือน 11 และวัน 1- 2 ค่ำ เดือน 12 จีน ในเดือนใหญ่ คือ 30 ค่ำ เดือน 11 และวัน 1- 3 ค่ำ เดือน 12 จีน

อย่างไรก็ตาม วันกำหนดดังกล่าวมีความไม่ตรงกันกับวัดเก้ามังกรในประเทศจีน ซึ่งกำหนดดังนี้

•    วัน 5 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันคล้ายวันละสังขาร สำเร็จธรรมเต๋า
•    วัน 8 ค่ำ เดือน 4 เป็นวันเกษตรพืชมงคล
•    วัน 26 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันประสูติท่าน

โดยกล่าวว่าฤกษ์ที่ถือกันมาในเมืองจีนอาจไม่ได้สะท้อนความจริง ดังปรากฏว่า ทั้งเกาะฮ่องกงและมาเก๊าที่จัดงานสมโภชน์วันคล้ายวันประสูติขององค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยเป็นงานสำคัญระดับประเทศ ที่เชิญชวนผู้คนจากทั่วโลกไปร่วมงานนั้น ต่างกำหนดเป็นวัน 8 ค่ำ เดือน 4 จีน เช่นเดียวกับชาวตรังทั้งสิ้น สาเหตุอาจเนื่องจากที่เมืองจีนกำหนดโดยถือเอาความสะดวกและปลอดช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเป็นสำคัญ ตลอดจนในเมืองจีนนั้นได้ผ่านการทำลายล้างวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างรุนแรงและกำหนดการประเพณีของชาวตรังมีมานาน จนยากเกินกว่าเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ต้องกันกับเมืองจีนในภาวะกาลปัจจุบัน

ขอขอบคุณ

ประวัติศาลเจ้าดังกล่าวได้บันทึกไว้เนื่องจาก เมื่อปีพุทธศักราช 2537 คุณสมเกียรติ แซ่ตั้ง (เฉินเถียะหลิน) คุณสิน แซ่บู้ (ฟู่ถานซิ่น) และคุณสายน้ำ เรืองชัยปราการ (เหลียงเจิ้นหนาน) ได้เข้าพบคุณลุงท่ามหว่า แซ่เจ็ง (จงถานหวา) อายุกว่า 90 ปี ที่บ้านพักของท่านแถวกะพังสุรินทร์ ครั้งนั้น ท่านได้เล่าประวัติกำเนิดศาลเจ้าองค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยให้ลูกหลานได้รับทราบ จึงขอกราบขอขอบคุณท่านทั้งหลายมา ณ ที่นี้ ให้มั่นใจว่าลูกหลานจะช่วยกันถ่ายทอดประวัติและเผยแพร่เกียรติคุณแห่งองค์ท่ามกงเยี้ย ให้ขจรขจายกว้างไกลอันประมาณมิได้ สืบไปชั่วกาลนาน

เรียบเรียงโดย บุนเต้หลาง (ตรัง)
27 มกราคม 2550

ที่มา: http://www.tewaracha.com/history-tamKongy.shtml

ปกติเมื่อ

ปกติเมื่อลูกหลานชาวตรังได้กำเนิดครบ 1 เดือนพ่อแม่จะนำลูกหลานไปกราบไหว้ขอพรและตั้งชื่อตามวันเดือนปีเกิด โดยนำชื่อขององค์เทพเจ้าเป็นชื่อกลาง คือ "ท่าม" เช่นชื่อลูกชายผมแซ่หม่า ชื่ออู๋ จะใช้ชื่อเต็มว่า หม่าท่ามอู๋ และวันที่ไปกราบไหว้ขอพรและตั้งชื่อนั้นจะนิยมนำหมูย่างเมืองตรังไปไหว้องค์ท่ามกงเยี้ยด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วชาวแคะในจังหวัดจะให้ความเคารพนับถือมาก คุณลุงท่ามหว่า แซ่เจ็ง (จงถานหวา) ก้เป็นปั้นซานฮักด้วย เนื่องจากผมรู้จักตอนสมัยผมเด็กๆเพราะเป็นญาติกับทางอาแมผมครับ

องค์ท่ามกงเยี้ย

องค์ท่ามกงเยี้ย

รูปภาพของ Mr.Xiong

ท่ามกุงหย่า

ไม่ทราบว่า  จะเข้าใจตรงกันมั้ย  ภาษาฮากกาเรา จะเรียกว่า ท่ามกุงหย่า

ส่วนท่ามกงเยี้ีย และ ท่ามกงเอี้ย น่าจะเป็น ภาษาฮกเกี้ยน และแต้จิ๋ว รบกวนคุณจ๊องหยิ่นฮยุ่ง ช่วยไขความสงสัยด้วยครับ

ขออนุญาตบอกเล่า

ขออนุญาติบอกเล่า ตั้งแต่จำความได้บ้านผมอยู่ไม่ไกลจากโรงพระท่ามกงเยี้ยมากนัก โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนที่เป็นชาวแคะโดยเฉพาะแถวบ้าน (ถนนรักษ์จันทร์และกะพังสุรินทร์) จะเรียกท่านว่าท่ามกุงหย่า แต่ด้านหน้าโต้ะพระเขียนเป็นท่ามก๋งเยีย ก็ยังงงๆนะครับ ตามรูป

รูปภาพของ จ๊องหยิ่นฮยุ๋ง

ตอบ คุณ Mr.Xiong

譚公爺 / 谭公爷 (ตัวเต็ม/ตัวย่อ) ภาษาฮากกา เรียกว่า ท่ามกุงหย่า หรือ ท่ามกุ๊งหยา (คำหลังเป็น ปั้นซั้นขัก) ส่วนแต้จิ๋ว เรียกว่า ท่ามกงเยี้ย หรือ ท่ามกงเอี๊ย

คำว่า หย่า / หยา แปลว่า พ่อ, ปู่ ครับ.

รูปภาพของ ฉินเทียน

潭公爷=譚公爺=谭公爷

潭公爷 = 譚公爺 =谭公爷=( Tán gōng ye)

农历四月初八日 庆祝潭公仙圣(潭公爷) 圣诞

 惠州市(官方音译:Huizhou,传统外文:Fuichiu)广东省 , 中国

https://www.facebook.com/pages/谭公仙聖谭公爷旨峰阁/255065151197902

http://zh.wikipedia.org/wiki/惠州市

http://hzmx.huizhou.gov.cn/show.asp?id=896

http://jieyang.city8.com/chuxingfuwu/2776020_GBIB.html

ขอเชิญร่วมงานเทวสมภพ องค์ยุวเทพท่ามกุงเซียนเซิน ทุกวันที่ 8 เดือน 4ตามปฏิทินจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2557

ณ มูลนิธิศิริธรรม (เต็กเซียนถ่อง) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

คณะทำงานThanasit Rujiprapakorn Wattana Tammabancha Chanwit Tammabancha เหรียญทอง รักในหลวง Techatorn Tanrattanapong with TonSon Lee and Chalat Ict.

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=779345778757209&set=a.456593387699118.103704.100000453837937&type=1&theater 

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal