หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

นั่งรถราง

ช้อเถี่ยนช้า

เขาว่าคนที่ชอบเขียนเรื่องเก่าเล่าความหลังนี่ ทายไว้ได้ก่อนเลยร้อยทั้งร้อยแก่เลี้ยวแหง ๆ เพราะถ้ายังอยู่ในวัยสะรุ่นหรือหนุ่มสาว จะเขียนแต่เรื่องปัจจุบันหรือไม่ก็อนาคตกัน แต่ก็อาจจะมีข้อแม้เช่นกันครับ คือผู้ที่ไม่ยอมแก่ ยังชอบที่จะเขียนเรื่องปัจจุบันหรือไม่ก็อนาคต ทั้ง ๆ ที่ความจริงงอหมดแล้ว

เมื่อวานนี้ช่วงค่ำ ๆ ก็มีล่อแท้ ล่อม่อย กับอาซ่อ รวมสามท่านหลังจากไปงานห้วยกระบอกแล้วขากลับก็ยังได้แวะไปเยี่ยมเยือนกันที่บ้านอีกก็ขอขอบคุณคุณอาคม คุณอิชยา และอาซ่อเจี๊ยบในน้ำใจไว้ในโอกาสนี้เป็นอย่างมากครับ

สองวันก่อนเข้าไลน์ไปฟังเพลงเก่า ๆ เพลงนั่งรถรางของท่านเวปมาสเตอร์(สงสัยน่าจะไม่หนุ่มแล้ว เอาเพลงเก่าซะขนาดนั้นมาเปิด)ก็ได้คุยกับทั้งสามท่านในเรื่องรถรางด้วย เลยทำให้นึกถึงตัวเองเมื่อสมัยเป็นเด็กซะประมาณปี 06-07 อายุสัก 9 -10 ขวบ เห็นจะได้ ช่วงนั้นไหงจะชอบนั่งเรือหางยาว (ฉองมุ้ยสอน) หรือเรือแท้กซี่ (ฟ่อสอนจื้อ)หรือบ่อยครั้งที่ช้อฟ่อช้า นั่งรถไฟตามอาหยาอาแม้ไหงไปเมวี่ยงกอกเหลี่ยว เที่ยวกรุงเทพฯกัน

แต่อันที่จริงพวกกื๋อไม่ได้ว่างขนาดว่าไป เหลี่ยวเมวี่ยงกอกกันหรอก เพราะบ้านไหงทำสวนผัก คงไม่มีเวลาว่างขนาดนั้น แต่ที่พวกกื๋อต้องพาไหงไปตลุยบางกอกก็เป็นเพราะต้องไปตามทวงเก็บเงินค่าผักที่ขายไปให้กับคนเหมาผักไปขายที่ตลาดปากคลองตลาด (ปักคองตัดลั้ด)แล้วยังติดค้างค่าผักชำระไม่ครบ เลยต้องไปตามตุ๊ยท่อเฉียน ไหงก็เลยได้โอกาสติดตามไปเที่ยวด้วย

ซึ่งท่าเรือที่ขึ้นก็จะมีอยู่ 2ท่า คือท่าเรือท่าพระจันทร์ ที่ติดธรรมศาสตร์ และก็ท่าช้างวังหลวง ที่ติดสทร มุมวัดพระแก้ว พอขึ้นจากเรือแล้วก็จะเดินมาขึ้นรถเมล์ หรือไม่ก็รถราง ส่วนสามล้อ แท้กซี่ ลืมไปได้เลย เพราะมันเปลืองสตางค์ แค่ขึ้นรถเมล์รถรางไม่ต้องเดินย่ำเท้าไปก็นับว่าสบายโขแล้ว

มีอยู่ไม่น่าจะเกิน3ครั้งที่พวกกื๋อพาไหงนั่งรถราง เถี่ยนช้า จากท่าพระจันทร์ หรือไม่ก็ท่าช้างไปตลาดปากคลองตลาด ซึ่งอันนี้ก็ต้องแล้วแต่ว่ากุ๊งหลู่ช้า รถเมล์ หรือเถี่ยนช้ารถรางใครจะมาก่อนก็จะขึ้นก่อนเลย ไม่ได้กะเกณฑ์ว่าต้องเป็นรถอะไร ขอให้ไปปักคองตัดลั้ดก็แล้วกัน เจ้างูใหญ่รถรางเวลามา ก็จะส่งเสียงดังมาแต่ไกล เสียงระฆังจากสารถีคนขับจะสั่นดังเก๊ง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ นำทางมาก่อนเป็นการบอกให้ผู้โดยสารที่จะอาศัยรถรางรู้ และก็บอกให้รถต่าง ๆ รู้ว่ารถรางมาแล้วอย่าจอดเกะกะราง ให้ขับหลบออกไป ซึ่งรถรางนอกจากส่งสัญญานด้วยเสียงระฆังแล้วพวกแตรรถไม่ปรากฏว่ามี เพราะฉะนั้นสารถีก็เลยต้องทนเมื่อยมือหน่อย


สารถีรถรางจะแต่งตัวด้วยชุดสีกากีสรวมรองเท้าใส่หมวกผ้าแบบแขก แต่เป็นสีกากีสีเดียวกับชุด เวลาขับรถรางก็จะยืนอย่างเดียว มือก็จะโยกคันโยกอยู่หน้ารถให้ล้อเลื่อนไปตามราง ยืนขับมันอย่างนี้ทั้งวันน่าจะเมื่อยพอดู

ขึ้นรถรางแล้วถ้าจะให้เปรียบก็เปรียบได้กับรถสองแถวสมัยนี้ คือจะมีที่นั่งสองข้างหันหน้าเข้าหากัน(รัฐสภาสมัยหน้าน่าจะจัดที่นั่งสองฝ่ายนั่งกันแบบนี้มั่ง) ตรงกลางจะเป็นที่ว่างสำหรับเดินและก็ยืนแต่จะต่างกับรถสองแถวก็คือ รถรางจะแบ่งรถออกเป็นสองส่วน โดยใช้ไม้ระแนงหรือม่านสูงจากที่นั่งประมาณสัก1เมตรเห็นจะได้ความกว้างเสมอที่นั่ง ที่ต้องแบ่งเป็นสองส่วนเพราะที่นั่งส่วนหน้าจะเป็นที่นั่งเบาะนุ่ม ๆ ส่วนด้านหลังของตู้รถจะเป็นที่นั่งไม้ระแนงขัดเงาไม่นุ่มนิ่ม ก็แบ่งเกรดแบ่งโซนกัน แล้วก็เรียกเก็บค่าโดยสารต่างกัน คือใครขึ้นด้านหน้าเบาะนิ่ม ๆ ก็จะเก็บ50สตางค์ ส่วนด้านหลังที่นั่งไม้แข็ง ๆ ก็จะเก็บ25สตางค์ ไม่ว่าจะต้องยืนโหนหรือไม่ก็เก็บเท่ากัน แต่ส่วนใหญ่แล้วด้านหน้าจะนั่งไม่เต็ม เพราะแพงกว่าเท่าตัว ส่วนด้านหลังโหนเกาะยันกระไดก็มีบ่อยซึ่งค่าโดยสารจะราคาเดียวตลอดสายหรือเก็บเป็นระยะไหงก็ไม่รู้ เพราะฟังเพลงจากท่านเวปมาสเตอร์แล้วเห็นร้องว่า จากหลักเมืองถึงเอสเอบี30สตางค์ ไม่รู้ว่าจะเป็นคนละยุคหรือเปล่า แต่ยุคที่ไหงขึ้นจากท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ไปปากคลองตลาด ส่วนหน้า50สตางค์ ส่วนหลัง25สตางค์ จากปีที่ไหงเคยนั่งเมื่อปี 06-07 พอถึงเดือนตุลาคม 2511 กิจการรถรางก็เลิกกิจการไป


รูปภาพของ วี่ฟัด

ยังพอทันได้เห็น

ถึงไหง่จะถือกำเหนิดเป็นเด็กบ้านนอกคอกนาจากจังหวัดราชบุรี แต่ตอนยังเซ้ๆมักๆ ที่ยังพอจำความได้ ( ก่อนเข้าโรงเรียน ) ไท้ปักของไหง่เคยพาไหง่มาเหยียบอ่างกะปิที่กรุงเทพแล้ว ไหง่จึงยังพอทันเห็นรถราง  ( แต่ไม่เคยขึ้นไปนั่งนะ ) ไหง่จึงมองด้วยความตื่นตาตืานใจด้วยเด็กวัยนั้น ยังจำได้ว่ายังมาที่ห้างใต้ฟ้ามาหาอาโกคนโต ยังจำได้ว่าเคยมายืนเกาะตู้โชว์สินค้าของห้างใต้ฟ้า เลยโก

รถราง-รถไฟ

ว่าอันที่จริงแล้วฝั่งธนบุรีบ้านเกิดไหงสมัยเมื่อก่อนปี2515ก่อนที่รัฐมนตรีมหาดไทย พิชัย รัตตกุลจะยกฐานะจังหวัดธนบุรีเข้าไปรวมกับกรุงเทพฯ.เป็นนครหลวงกรุงเทพฯธนบุรีนั้น ธนบุรีก็คือจังหวัดหนึ่งซึ่งแม้ว่าจะเคยเป็นราชธานีเก่ามาก่อนในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ตามที แต่ถ้าใครได้เคยเห็นพวกภาพเก่า ๆ ของธนบุรีโดยเฉพาะยิ่งเป็นภาพจากมุมสูงด้วยแล้ว จะเห็นว่าเมืองธนบุรีก็คือซันป๊าดี ๆ นี่เอง

ซึ่งสำหรับไหงแล้วอธิบายได้ว่า นอกจากจะเป็นซันป๊าแล้ว ยังเป็น ซั้นเหยน ช่อยเหยน และเถียนป๊าอีกด้วย เพราะสวนผักบ้านไหงตรงปัจจุบันที่ไหงอยู่ ก่อนถึงบ้านไหงก็จะเป็นสวนผลไม้พวกทุเรียน,ส้ม,ฝรั่ง,ชมพู่ฯลฯ. ปลายขนัดสวนที่บ้านไหงทำ ก็เป็นท้องนาปลูกข้าวแล้ว

ยีงจำได้ดีตอนหน้านา ท้องทุ่งนาจะแห้งจนแตกระแหง ใช้เป็นสนามว่าวตอนหน้าแล้ง หรือแม้แต่เก็บข้าวตก หลังจากชาวนาเกี่ยวข้าวแล้ว ก็จะเหลือฟางข้าวกับรวงข้าวที่เกี่ยวหลงไว้ พวกเด็ก ๆ อย่างไหงก็จะนำถุงแป้งที่เป็นผ้าสีขาว ไปเก็บข้าวตกนำมาเลี้ยงไก่ หรือไม่ก็ขาย ก็ได้สตางค์มาสักปีบละสิบบาท สิบห้าบาทก็ดีใจแย่แล้ว

ยามกระหายน้ำที่กลางทุ่งที่ร้อนจ้าขนาดมดยังไม่ยอมเดินออกจากรังเพราะร้อนตีนมันนั้น น้ำคลักจากรอยตีนควาย จะรู้ว่าชื่นใจขนาดไหน ว่ากันว่าก่อนจะวักขึ้นมาดื่มกินให้ถ่มน้ำลายลงไปก่อนก็จะกินได้ ก็คิดหนักเหมือนกันว่า ถ้าไอ้เพื่อนคนไหนมาเจอก่อนแล้วทำอย่างที่ว่าซะแล้วจะเป็นอย่างไร? คิดได้ดังนี้แล้ว ก็หลับหูหลับตาหลับจมูก ไม่ต้องไปคิดมันละนะ ซดเลยดีกว่า หิวน้ำจะแย่แล้ว

คนตลิ่งชันตรงจุดบ้านไหงจะดีอยู่อย่างหนึ่ง คือถ้าจะเข้าบางกอกซื้อสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนต่าง ๆ หรือแม้แต่พวกพันธุ์ผักพันธุ์พืชเช่นเมล็ดผัก พันธุ์หอมแบ่งจาไต้หวันแล้วละก็ หากไม่ลงเรือแท้กซี่ค่าโดยสารคนละบาท หรือเรือหางยาวค่าโดยสารคนละสองบาท สำหรับเด็ก ๆ เก็บครึ่งราคาแล้ว หากขยันหน่อยก็เดินไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน มาลงที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยค่าโดยสารคนละ50สตางค์ แล้วลงเรือข้ามฟากของสุภัทราเดินเรือ มาที่ท่าพระจันทร์อีก25สตางค์(ไม่น่าจะถึง)ประหยัดกว่าเรือแท้กซี่ 25 สตางค์ เรือหางยาว 1.25 บาท แต่เด็ก ๆ วัยขนาดไหงแล้ว เรือแท้กซี่ประหยัดที่สุดคือ 50สตางค์เอง ไม่ต้องเดินกันจนเมื่อยด้วย ก็จากริมคลองบ้านไหงถึงสถานีรถไฟเดินกันร่วมสองกิโลได้ ก็ไกลพอจะทำให้ไม่อยากเดินแหละ แต่ถ้านาน ๆ ครั้งเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศความจำเจก็ดีเหมือนกัน

รถไฟสมัยก่อนยังไม่ได้ใช้หัวจักรดีเซล แต่เป็นหัวจักรไอน้ำ อย่างที่เรียกกันสมัยนี้ว่าคลาสสิก แต่ในความคลาสสิกนั้น เหนืออื่นใดก็คือความทุลักทุเลนั้นแล เพราะหัวรถจักรต้องเติมน้ำจากแท้งค์น้ำให้เต็มพอ แล้วเตรียมดุ้นฟืนไว้ต้มน้ำ ก็ต้องเผาฟืนต้มน้ำให้ร้อน วอร์มอัพซะก่อน ก่อนจะเคลื่อนหัวรถจักรได้ ถ้าต้มร้อนไม่ทั้นก็ยังออกไม่ได้ ก็ต้องเสียเวลาต้มให้เดือดเป็นไอก่อน ไม่งั้นจะไม่เป็นรถจักรไอน้ำ แล้วการเผาฟืนนั้น เวลาฟืนซาก็ต้องกระทุ้งแหย่ฟืนไปด้วย ขี้เถ้าลูกไฟก็ปลิวกันว่อน ถ้าโดนคนใส่ผ้าเทโตรอนก็โหว่แหละ

ก็ยังจำได้เด็ก ๆ เคยร้องเล่นเกี่ยวกับรถไฟไว้ เช่น รถไฟจะไปโคราช ตดดังจ้าดถึงราชบุรี (ตดอีกทีถึงบ้านใครก็ใส่กันลงไปเอง)

อีกบทหนึ่งก็ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง อันเป็นการบอกกล่าวกันว่า ขึ้นรถไฟต้องใจเย็น ๆ ถ้าอยากไปเร็วกว่านี้ก็ลงไปเดินเอาเองแล้วกัน ดังวีรกรรมที่ชาวสุพรรณฯ.เคยสร้างไว้แล้วนั่นแหละ"รถไฟจอด จอด จอด จอด ข้าฯ.จะรีบเดินไป"

หรืออีกบทหนึ่งก็ รถไฟเสียเวลา หางปลาไม่กระดก ซึ่งบทนี้ไหงว่ามันต้องมีอะไรเข้าใจสับสนกันบ้าง ที่ว่ารถไฟเสียเวลาเพราะมาช้าเกินไปจนคนยกหางปลาหลับไปแล้ว หรือว่ารถไฟมาเร็วเกินไป ยังต้องรอคันสวนมาเข้าสถานีก่อนหรือเปล่า อันนี้น่างึด

เอ๊ะ! โอ้โฮ!!!???

เอ๊ะ! โอ้โฮเฮ้ย!!!???

คำแรกเป็นคำอุทาน คำที่สองเป็นคำตกใจ ทำไมหรือครับ?

เมื่อตอนเย็นหลังทำธุระเสร็จก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูไลน์ฮักกาเอ๊ะทำไมไม่มีใครเล่นเลยหว่า ก็เลยหาเรื่องขำ ๆ มาลง พอลงไปเสร็จสรรพ เอ๊ะ!ทำไมเสียงดึ๊งตั๊ง ๆ ดังยาวเลยหว่า ไม่ยอมหยุดง่ายๆ ด้วย พอหยุดลง ตัวเลขรันไปที่ 48 โอ้โฮเฮ้ย!! แล้วทำไมเพิ่งมาโชว์ตอนนี้เล่าตอนส่งไลน์ไปอับอายขายหน้าแล้ว เพราะไลน์เขากำลังเล่นกันอยู่ดี ๆ อย่างออกรสชาติอยู่ ๆ ก็เหมือนมีการไปนิวแซนกันขึ้นมาดื้อ ๆ เฮ้อ เลิกเล่นเหอะว้าเอ็ง ตั้งแต่เข้าไลน์มาไม่เป็นสรรพรสเล้ย

คัดลอกประวัติรถรางมาลงดีกว่า

“รถราง”TRAMWAY มีกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2430 เป็นประเทศแรกในเอเชีย

จาก พ.ศ. 2431 จนถึง พ.ศ. 2511 ร้อยกว่าปีที่เริ่มมีและสามสิบกว่าปีที่หมดไป..สำหรับยานที่มีวิ่งเป็นประเทศแรกในเอเชีย

“รถราง” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Tramway”มีกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 จากการก่อตั้งของ “ชาวเดนมาร์ค” จัดเดินรถรางขึ้นใน “เมืองบางกอก” ตามการเรียกขานในสมัยนั้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2430 เปิดเดิน

“รถราง” คันแรกนี้ยังไม่ได้แล่นได้ด้วยตัวของมันเองแต่จะเคลื่อนที่ไปด้วยการใช้ “ม้าลาก” ซึ่งได้เทียมม้าไว้ด้านหน้ารถจากนั้นได้มีการเปิดดำเนินกิจการ “รถรางไฟฟ้า” ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 หลังจากที่สิ้นสุด “สงครามโลกครั้งที่สอง”ได้แค่สี่ห้าปี สัมปทานการเดินรถก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31ธันวาคม พ.ศ. 2492 รัฐบาลก็เข้ามาดำเนินกิจการต่อในนามของบริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด ในสังกัดของ “กรมโยธาเทศบาลและกระทรวงมหาดไทย”ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493

หลังจากที่มีการพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่เกิดขึ้นในสมัย “จอมพลผ้าคะม้าแดง”พร้อมๆ กับนโยบายที่จะให้ “เลิกเดินรถรางและรถสามล้อถีบ” ในเขต “พระนคร-ธนบุรี” การเดินรถจึงค่อยๆลดบทบาทลงโดยการเลิกวิ่งจบสิ้นเด็ดขาดในเขตเมืองหลวงไปเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ที่ได้มี “รถราง”ใช้อยู่ร่วม “80 ปี” พอดี

รถราง แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ

  1. ที่เป็นตัวถึงไม้เปิดโล่งและผืนผ้าใบที่ม้วนเก็บห้อยไว้กับขอบบนทั้งสองข้างสำหรับกันแดดกันฝุ่น
  2. จะเป็นรุ่นที่นิยมเรียกกันว่า “ไอ้โม่ง” ตามรูปทรงของหลังคาที่มีความโค้งอยู่มากและยังจะสร้างตัวถึงด้วยโครงเหล็ก ซึ่งนับว่าทันสมัยมากในยุคนั้น

รถรางในสมัยก่อนเรียกว่า "รถไอ" เมื่อ พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) ได้มีการสัมปทานการเดินรถรางจากหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุงจนถึงถนนตก และใช้ม้าลาก ลากกันแบบช้าต่อมาบริษัทรถรางได้หยุดวิ่งรถราง เพราะค่าโดยสารแพงสำหรับในสมัยนั้น ประมาณ 5สตางค์ขาดทุนและขายกิจการต่อให้กับบริษัทของประเทศอังกฤษแต่ก็ขาดทุนอีกและสุดท้ายก็ขายกิจการให้กับบริษทของประเทศเดนมาร์กในสมัยนั้นมีการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นแล้วและได้มีการเปลี่ยนจากลากรถมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ที่เห็นก็คือเสาไฟฟ้าเป็นระยะ ๆและมีคานเหล็กยื่นออกมาสำหรับติดสายไฟฟ้าสำหรับในเขตสัมพันธวงศ์รถรางวิ่งผ่านสะพานเหล็กบนตามถนนเจริญกรุงมาถึงสะพานเหล็กล่าง

เส้นทางเดินรถในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ในถนนเจริญกรุง ในสมัยรัชกาลที่5

บริษัทรถรางไทย ท.จ.ก. ในสมัยนั้นตัวย่อคนไม่ค่อยรู้จักแปลกันไปและพูดกันเล่น ๆ ว่า "ท่าจะเก่ง" "ทีจะโก้""ไทยจะโกง" แปลกันไปต่าง ๆ นานา คำแท้จริงคือ"ทุนจำกัด" หรือ LIMITEDย่อว่า LTD. รถราง จะเป็นสีแดงทั้งคันรถรางที่วิ่งในถนนเจริญกรุงมีเสาไฟฟ้าของรถรางเป็นระยะในเวลานั้นมีการสร้างรางให้รถรางวิ่งอยู่หลายสายหนึ่งในนั้นก็วิ่งผ่านถนนเจริญกรุงการเก็บค่าโดยสารเก็บเป็นระยะทางเช่น จากหลักเมืองถึงสามยอด (สถานีในสมัยนั้น)จะก็ค่าโดยสาร 3 อัฐ มีการทำกิจการรถรางอยู่ 2 บริษัท ของคนไทยและของฝรั่ง

สำหรับของต่างประเทศก็มีแต่เป็นรถรางสีเหลืองทั้งคันเป็น ของชาวเดนมาร์คเรียกว่ารถไอ ซึ่งวิ่งผ่านถนนเจริญกรุงและ ผ่านหน้าปากทางเข้าสำนักงานเขตสัมพันธ์วงศ์(ในขณะนั้น สำนักงานเขตยังไม่จัดตั้งมีแต่ ป้อมปัจจนึกในสมัยนั้น)ทุกเช้าประมาณตีห้า จะได้ยินเสียงทำความสะอาดรางโดยใช้เหล็กรูปโค้งพอดีกับรางมาเดินแซะรางเพราะถนนสมัยนั้นจะโรยด้วยอิฐก้อนเล็ก ๆ จำเป็นต้องแซะรางทุก ๆ เช้าจะได้ยินเสียงดัง แกรก ๆ และจะมีรถรางที่บรรทุกน้ำมารดน้ำบริเวณถนนเพื่อป้องกันฝุ่นซึ่งกระทำกันเป็นประจำทุกๆเช้าในถนนที่มีรถราง

เส้นทางรถราง

รถรางเริ่มเดินเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๔๘ เลิกเดินเมื่อตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๑เป็นการเลิกสายสุดท้ายโดยเด็ดขาด ทีแรกค่อยๆ เลิกไปทีละสายสองสายสายสุดท้ายคือสายรอบเมือง คือรอบกำแพงเมืองด้านใน หรือรอบเกาะรัตนโกสินทร์

ตั้งต้นตรงหลีกบางลำพูฟากตลาดนานาสมัยโน้นตลาดนี้มีวิกลิเกชื่อเสียงโด่งดัง รถรางสายนี้แล่นไปตามถนนพระสุเมรุผ่านวัดราชนัดดา สามยอด สะพานหัน เลาะถนนจักรเพชร เข้าถนนมหาราช ผ่านท่าเตียนท่าราชวรดิฐ ท่าพระจันทร์ จนกระทั่งข้ามคลองหลอดเข้าถนนพระอาทิตย์ ถึงเชิงสะพานนรรัตน์ พอสุดทางก็กลับลูกรอก เอาท้ายรถเป็นหน้ารถ หน้ารถกลับเป็นท้ายรถคือรถคันเดียวกันนั่นแหละขับได้ทั้งหน้าหลังพอสุดทางก็เปลี่ยนไปขับท้ายเอาเป็นหน้ารถ ยกลูกกรงไม้ ซึ่งขามากั้นชั้นที่ ๑(มีเบาะยาวๆ หุ้มผ้าขาวรองนั่งพิเศษ ค่าตั๋วโดยสารแพงกว่าชั้นที่ ๒ เท่าตัว)ยกมาจากหน้ารถขามาซึ่งขาไปจะกลายเป็นท้ายรถแล้วยกเบาะขาวดังกล่าวมาโยนโครมสองฟากม้านั่ง เพราะชั้นที่ ๑ นั้นต้องอยู่ตอนหน้าคันรถ เท่านี้ท้ายก็กลายเป็นหน้า ขับกะเด๊งๆ ย้อนกลับไปได้ ‘กะเด๊ง’ คือเสียงกระดิ่งรถราง ซึ่งอยู่ใต้เท้าคนขับ

คนขับรถรางสมัยก่อนแกยืนขับ สองมือขับ เท้าก็เหยียบกระดิ่ง หรือจริงๆ แล้วกระแทกเท้าลงไป เพราะถ้าไม่กระแทกมันก็ไม่ดัง คนขับคะนองๆ บางคนแกสนุกแกก็จะเหยียบตลอดเวลา คล้ายคนที่ชอบกดแตรรถสมัยนี้

ที่เล่ารถรางรอบเมืองมายืดยาว ก็เพราะรถรางสายนี้ข้ามคลองหลอดซึ่งที่จริงแล้ว คือคลองคูเมืองเก่าสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์โปรดฯให้ขุดคลองรอบกรุงรัตนโกสินทร์ คือคลองบางลำพู หรือคลองโอ่งอ่างเป็นคลองรอบกรุงใหม่ แล้วโปรดฯให้ขุดคลองหลอด ๒ คลองจากคลองคูเมืองเก่าทะลุออกคลองคูเมืองใหม่ คือ คลองที่ ๑ จากวัดราชบพิธมาออกตรงเหนือประตูสามยอด (เวลานี้ไม่มีแล้ว) และคลองที่ ๒จากเหนือวัดมหรรณพารามมาออกเหนือวัดเทพธิดา คลองนี้ยังคงเหลือเป็นคูแคบๆ อยู่คลองทั้งสองนี้แหละคือคลองหลอดตัวจริง ทว่าไปๆ มาๆ คลองหลอดที่ ๑กลายเป็นเรียกว่าคลองวัดราชบพิธบ้าง คลองสะพานถ่านก็เรียกกัน ส่วนคลองที่ ๒เรียกว่าคลองวัดเทพธิดา แล้วเลยเรียกคลองคูเมืองเก่าว่า ‘คลองหลอด’จนทุกวันนี้ (เมื่อขุดคลองหลอดนั้น วัดราชบพิธ วัดมหรรณฯ วัดเทพธิดายังไม่ได้สร้าง)

เท่าที่จำได้รถรางสายรอบเมืองดูเหมือนจะไม่ได้ข้ามสะพานเสี้ยวมีสะพานข้ามคลองโดยเฉพาะเข้าถนนพระอาทิตย์เลย รถรางที่แล่นข้ามสะพานเสี้ยวคือรถรางสายสามเสน ซึ่งมีเส้นทางระหว่างท่าเขียวไข่กา บางกระบือ ถนนสามเสน เทเวศร์บางลำพู ข้ามคลองบางลำพูด้วยสะพานรถรางที่ขนานกับสะพานนรรัตน์ (สะพานบางลำพู)เข้าถนนจักรพงศ์ มาข้ามสะพานเสี้ยว แล้วเลี้ยวซ้ายเลียบคลองหลอดผ่านหลังกระทรวงกลาโหม ข้ามคลอง เข้าถนนพาหุรัด สะพานหัน สามแยก หัวลำโพงไปตามถนนพระราม ๔ สะพานเหลือง สามย่าน ศาลาแดง ถึงปลายถนนวิทยุตัดกับถนนสาทรเป็นสุดทาง รถรางสายนี้ยาวที่สุด

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=480015

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal