หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

บทที่2. เทศกาลชิงหมิง(清明)

บทที่2. เทศกาลชิงหมิง(清明)

清明 [唐] 杜牧
清明時節雨紛紛,路上行人欲斷魂;
借問酒家何處有,牧童遙指杏花村。
หยาดฝนโปรยปรายยามชิงหมิง
คนเดินทางหัวใจแทบขาดรอน
วอนถามร้านสุรามีอยู่ที่ใด
หนุ่มโคบาลชี้ไปซิ่งฮวาชุน

บทกวีอันลือชื่อของตู้มู่(杜牧)นักกวีในสมัยราชวงศ์ถัง(唐)สำหรับบทกวีนี้ตู้มู่แต่งขึ้นในวันเทศกาลชิงหมิง(清明)ขณะที่ตนเองนั่งอยู่บนหลังควายเดินโขยกเขยกไปตามทางท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมา มีชายผู้หนึ่งเดินทางมาอย่างรีบเร่ง แล้วถามขึ้นว่ามีร้านขายเหล้าอยู่ที่ไหน ตู้มู่มองเห็นป้ายร้านขายเหล้าที่หมู่บ้านซิ่งฮวาชุน(杏花村)ปรากฏเด่นขึ้นข้างหน้าท่ามกลางอากาศที่ขมุกขมัว จึงร่ายโศลกออกมาเป็นบทกวีนี้ กาลเวลาผ่านไปร่วม 1000 ปี บทกวีนี้นอกจากจะเป็นบทกวีประจำเทศกาลวัน(清明)แล้ว ยังถูกนำไปดัดแปลงใช้กับเทศกาลอื่นๆอีกมากมาย แม้ในยามที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติทางสังคม ก็ยังมีคนนำไปดัดแปลงให้เข้ากับแต่ละยุคสมัย
ในช่วงรอยต่อระหว่างราชวงศ์หมิง明และ清ไฟสงครามลุกทั่วทุกหัวระแหง ผู้คนต่างหลบหนีภัยสงคราม โรงเรียนต่างรกร้างเพราะไม่มีนักเรียนไปโรงเรียนกัน บรรดาครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่งได้ดัดแปลงบทกวีนี้เป็น

清明時節亂紛紛,城裏先生欲斷魂。
借問主人何處去,館童遙指在鄉村。
ไฟสงครามท่วมทั่วยามชิงหมิง
ครูในโรงเรียนหัวใจแทบขาดรอน
วอนถามผู้คนหายไปไหน
ภารโรงชี้มือไปท้องทุ่ง

เมื่อครั้งเกิดกรณีปราบปรามผู้ชุมนุมกรณีเทียนอานเหมิน(天安門)ในปีค.ศ. 1976 ก็มีคนนำบทกวีนี้มาดัดแปลงว่า

清明时节泪纷纷,八亿人民恸断魂。
借问怨从何处起?红墙里面出妖精。
เทศกาลชิงหมิงน้ำตานอง
800ล้านคนหัวใจสลาย
วอนถามแค้นนี้มาจากไหน
ปีศาจร้ายเกิดในกำแพงแดง


หรือในเวลาที่ชาวบ้านรู้สึกเจ็บแค้นเนื่องจากการถูกข้าราชการรีดไถ ก็นำเอาบทกวีนี้มาดัดแปลงในแง่ประชดประชันเป็น

官车队队出纷纷,鸡鸭猪羊吓断魂。
红面关公在何处?百姓遥指杏花村。
ขบวนขุนนางไหลหลั่งไม่ขาดสาย
เหล่าหมูเห็ดเป็ดไก่ล้วนขวัญผวา
วอนถามเทพกวนอูอยู่ที่ไหน
ผู้คนต่างชี้ไปซิ่งฮวาชุน[1](P40)


[1] 王建设.修辞学[D].泉州:华侨大学,2008.

เทศกาลชิงหมิง วันท่องธรรมชาติ(清明踏青)
เทศกาลชิงหมิง(清明)หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเทศกาลเดือน3(三月節)ตรงกับช่วงต้นเดือนเมษายนของไทยเรา คนไทยเรียกวันนี้ว่าวัน เช็งเม้ง เป็นช่วงที่บรรยากาศเข้าสู่ช่วงความอบอุ่นอย่างแท้จริง ท้องฟ้าสดใสดอกไม้บานสะพรั่ง ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี พืชพันธุ์ที่เริ่มไถปลูกเมื่อต้นปีกำลังงอกงาม ดังที่คำโบราณกล่าวว่า สรรพสิ่งงอกงามในยามนี้ ล้วนสดใสสว่างไสว จึงเรียกขานว่าชิงหมิง(万物生长此时,皆清洁而明净。故谓之清明)และนี่คือที่มาของคำว่าชิงหมิง คำว่าชิงหมิง(清明)มีหมายความว่าผืนฟ้าสดใสแผ่นดินงดงาม [1](P59)เป็นช่วงเปลี่ยนภูมิอากาศช่วงที่ 5 ใน 24 ช่วง ดังนั้นเทศกาลชิงหมิงจึงเป็นเทศกาลเดียวที่เป็นทั้งเทศกาลและเป็นช่วงเปลี่ยนภูมิอากาศใน 24 ช่วงของปีปฏิทินการเกษตรของจีน
หลังจากที่ทนอยู่กับความหนาวเหน็บและอุดอู้มานาน ผ่านการทำงานหนักในฤดูเพาะปลูก จนมาถึงช่วงที่ท้องฟ้าสดใสพืชพันธุ์งอกงามดอกไม้บานสะพรั่ง เหมาะแก่การท่องเที่ยวชมธรรมชาติเขียนรูปร่ายโศลกบทกวี เป็นวันเวลาของบัณฑิตและนักกวี รวมทั้งคนหนุ่มสาว ในการเดินทางท่องเที่ยวชมธรรมชาติเขียนภาพและเขียนบทกวี จึงเป็นที่มาของประเพณีท่องธรรมชาติในวันชิงหมิง ดั่งนักกวีอู๋เหวยซิ่น(吴惟信) ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้เขียนบทกวีไว้ว่า

梨花风起正清明,游子寻春半出城。
日暮笙歌收拾去,万株杨柳属流莺。
ลมสะบัดพัดหลีฮวายามชิงหมิง
คนเดินทางท่องเที่ยวกันมากหลาย
เสียงขลุ่ยยามเย็นจางหายไป
แว่วเสียงวิหคร้องก้องป่าหลิว

[1] 乐麒麟.中国传统节日择吉大通书[M].北京:气象出版社,2001.


นอกจากนั้นวันนี้วันชิงหมิงยังเป็นฤดูกาลในการเล่นว่าว โล้ชิงช้า ชนไก่และเล่นชู่จวี๋ (蹴鞠) (ชู่จวี๋ คือกีฬาเตะลูกหนัง แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่ายคล้ายๆฟุตบอล) เนื่องจากกิจกรรมในวันนี้มีการละเล่นค่อนข้างมาก จึงมีชื่อว่าวันเทศกาลกีฬาอีกชื่อหนึ่ง[1](P61)


[1] 乐麒麟.中国传统节日择吉大通书[M].北京:气象出版社,2001.


 

หานสือชำหลิวงดฟืนไฟกินอาหารเย็น เจี้ยจื่อทุยเผากายที่เหมียนซาน (寒食插柳禁火 賈子推焚身棉山)

การงดฟืนไฟกินอาหารเย็นหมายถึงงดการติดไฟทำอาหาร จึงต้องกินอาหารที่ทำไว้ก่อนหรืออาหารที่ไม่ต้องหุงต้ม เรียกว่าเทศกาลหานสือ(寒食)เทศกาลหานสือจะอยู่ถัดจากเทศกาลตงจีเย๋(冬節)ไป 105วัน ก็จะตกอยู่ก่อนหน้าเทศกาลชิงหมิง 1 หรือ 2 วัน ตั้งแต่ยุคก่อนสมัยฉิน(秦)จนถึงยุคหนานเป่ย(南北朝)จะมีการฉลองเทศกาลนี้อย่างเอิกเกริก และค่อยๆลดความสำคัญลงในสมัยถัง(唐)ความเป็นมาของเทศกาลนี้มีหลายตำนาน เรื่องหนึ่งที่สืบขานในหมู่ชนชาวจีนมาจนถึงปัจจุบันคือ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความจงรักษ์ภัคดีของขุนนางแห่งแคว้นจิ้นเจี้ยจื่อทุย(介子推)

ในยุคสมัยชุนชิว(春秋)ปลายสมัยราชวงศ์โจว องค์รัชทายาทแห่งแคว้นจิ้นฉงเอ่อ(重耳) ต้องหลบหนีการตามล่าของฮองเฮาหลีจี(骊姬)ออกเร่ร่อนระหกระเหินเป็นเวลานานถึง 19 ปี เหล่าขุนนางและผู้ติดตามต่างก็ล้มตายหนีหายไปเหลือเพียง5ทหารเสือผู้ภัคดี มีอยู่ครั้งหนึ่งฉงเอ่อ ถูกไล่ล่าไปป่วยอยู่ในที่ๆกันดารแห่งหนึ่งไม่มีอาหาร ขุนนางผู้ซื่อสัตย์เจี้ยจื่อทุย จึงเฉือนเนื้อที่ขาตนเองต้มเป็นน้ำซุบให้ฉงเอ่อกิน เมื่อฉงเอ่อหายแล้วเห็นเจี้ยจื่อทุย เอาผ้าพันขาเอาไว้และมีเลือดไหลซึม จึงถามว่า ขาของท่านไปโดนอะไรมา เจี้ยจื่อทุย จึงบอกตามความจริง ฉงเอ่อ รู้สึกตื้นตันใจกล่าวทั้งน้ำตาว่า วันหลังถ้าเราได้แผ่นดินคืนมาจะต้องตอบแทนความดีของท่านอย่างหนัก ต่อมาฉงเอ่อ ได้รับความช่วยเหลือจากอ๋องฉินมู่กง ยึดเอาแผ่นดินจิ้นคืนมาได้สถาปนาตนเองเป็นอ๋องจิ้นเหวินกง(晋文公)และได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองจนเข้มแข็งเป็น 1 ใน 5 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชุนชิว(春秋五霸)ในเวลาต่อมา จิ้นเหวินกง ได้ตอบแทนขุนนางที่มีความดีความชอบกันทั่วหน้า แม้แต่ผู้ที่เคยหลบหนีหายไปในยามลำบากยากเข็ญก็ได้รับบำเน็จเช่นกัน แต่กลับลืมเจี้ยจื่อทุยเสียสนิท จนมีขุนนางที่รักใคร่เจี้ยจื่อทุยเขียนบทกลอนติดไว้ที่หน้าพระราชวังว่า

有龙矫矫,顷失期所。五蛇从之,周遍天下。
龙饥无食,一蛇割腹。龙返其渊,安其壤土。
四蛇入穴,皆有处所。一蛇无穴,号于中野。
ลูกมังกรเยาว์วัยสูญเสียบัลลังก์ทอง    ห้าเสือสู้ติดตามไปทั่วหล้า    
มังกรยามหิวโหยหนึ่งเสือสู้เฉือนเนื้อ    มังกรคืนถ้ำยึดครองบัลลังก์ทอง    
สี่เสือล้วนมีวังสิงสถิตย์ทั่ว               หนึ่งเสือไร้รังหวนคืนสู่ป่าเขา  

จิ้นเหวินกง เห็นเข้าจึงนึกได้ว่าในหลายปีมานี้ตนเองลืมเจี้ยจื่อทุยเสียสนิท จึงส่งคนไปตามเจี้ยจื่อทุย กลับมา แต่เจี้ยจื่อทุย ไม่ยอมให้พบกลับพามารดาหลบหนีไปอยู่ที่เขาเหมียนซาน มีคนแนะนำว่าถ้าจุดไฟเผาเหมียนซาน เจี้ยจื่อทุยคงต้องพามารดาหนีออกจากป่าเขา แต่หลังจากที่จุดไฟเผาเหมียนซานอยู่ 3 วัน 3 คืนก็ไม่เห็นเจี้ยจื่อทุย ออกมา พอไฟดับมอดแล้วจึงพบว่าเจี้ยจื่อทุย และมารดาถูกไฟครอกตายที่โคนต้นหลิวต้นหนึ่ง โดยที่เจี้ยจื่อทุยเอาหลังยันปิดรูโพลงโคนต้นหลิวไว้ ภายในโพลงมีเศษผ้าผืนหนึ่ง บนผ้าผืนนั้นมีข้อความที่เขียนด้วยเลือดว่า

割肉奉君盡丹心,但願主公常自明。
柳下做鬼終不見,強似伴君做諫臣。
倘若主公心有我,憶我之時常自省。
臣在九泉心無愧,勤政清明復清明。
เฉือนเนื้อมอบถวายสุดใจภัคดิ์      เพียงหวังเจ้าเหนือหัวใจเห็นธรรม
เป็นผีเฝ้าโคนหลิวไม่พบหน้า        ดีกว่าคอยขัดคออยู่ข้างกาย
หากใจเหนือหัวยังมีข้าประชาชี     ยามหวนคิดควรมีจิตสำนึก
แม้นอยู่ในปรโลกไม่เสียใจ          มุ่งสร้างสังคมใหม่ให้รุ่งเรือง

จิ้นเหวินกง เศร้าโศกเสียใจยิ่งนักจึงประกาศให้งดติดไฟทำการใดๆในวันนี้ของทุกๆปีเป็นเวลา 3 วัน เรียกว่าวันเทศกาลหานสือ และเปลี่ยนชื่อเหมียนซานเป็นเจี้ยซาน วันที่เจี้ยจื่อทุยถูกไฟครอกตายคือวันก่อนหน้าเทศกาลชิงหมิงหนึ่งวัน จึงกลายเป็นวันเทศกาลหานสือ งดไฟกินอาหารเย็นสืบมา ปีต่อมาจิ้นเหวินกง เดินทางไปไว้อาลัยเจี้ยจื่อทุยอีก เห็นต้นหลิวที่เจี้ยจื่อทุย แม่ลูกถูกไฟครอกตาย กลับงอกงามแตก กิ่งก้านสาขา จึงหักกิ่งหลิวมาขดเป็นวงสวมที่หัว เหล่าขุนนางเห็นเข้าจึงทำตามบ้าง บางคนก็เอากิ่งหลิวเสียบที่อกเสื้อ กลายเป็นประเพณีใส่มงกุฏหลิว เสียบกิ่งหลิวในวันนี้[1](P59-60) ต่อมามีคนเอากิ่งหลิวเสียบที่ประตูบ้าน และปักชำบนพื้นดิน ต้นหลิวเป็นไม้ที่ขึ้นง่ายชำที่ไหนก็งอกงามที่นั่น ไม้หลิวถือเป็นหนึ่งในไม้มงคล เจ้าแม่กวนอิม ก็ใช้กิ่งหลิวในแจกันทิพย์พรมน้ำทิพย์ สามารถขับไล่ภูตผีปีศาจ ขจัดทุกข์ คนจีนจึงนิยมเสียบกิ่งหลิวและชำกิ่งหลิวกันในวันนี้

[1] 乐麒麟.中国传统节日择吉大通书[M].北京:气象出版社,2001.

 

ชิงหมิง บูรณะสุสานบูชาบรรพบุรุษ(清明扫墓祭祖)

จีนเป็นชนชาติที่มีความพิถีพิถันเรื่องการหราบไหว้บูชาบรรพบุรุษมาตั้งแต่สมัยโบราน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลไหนๆก็ต้องมีการกราบไหว้บรรพบุรุษอยู่เสมอ คนที่มีฐานะทางสังคมหรือมีฐานะร่ำรวย มักนิยมสร้างสุสานบรรพบุรุษ หรือจัดพิธีบูชาบรรพบุรุษอย่างใหญ่โตหรูหรา โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ลูกหลาน เจริญรุ่งเรืองร่ำรวยยิ่งๆขึ้น พูดถึงวันชิงหมิง อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นว่าเป็นช่วงที่บรรยากาศเข้าสู่ช่วงความอบอุ่นอย่างแท้จริง ท้องฟ้าสดใสดอกไม้บานสะพรั่ง ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี เหมาะแก่การท่องเที่ยวเขียนรูปเขียนบทกวี แล้วประเพณีบูรนะสุสานบูชาบรรพบุรุษในวันชิงหมิงนั้นมีความเป็นมาอย่างไร เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยปลายราชวงศ์ฉิน ราชสำนักอ่อนแอหัวเมืองน้อยใหญ่ต่างตั้งตัวเป็นใหญ่ หลิวปาง(ฮั่นอ๋อง) ได้รวบรวมคนดีมีฝีมือทำสงครามแย่งชิงแผ่นดินกับ เซี่ยงยวี่(ฉู่อ๋อง) ที่คนไทยเรารู้จักกันในนาม ฉ้อปาอ๋อง มาเป็นเวลายาวนาน จนในที่สุดหลิวปาง สามารถได้รับชัยชนะในสงคราม สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮั่นเกาจู่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น หลังจากนั้นได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิด และไปกราบไหว้สุสานบรรพบุรุษซึ่งตรงกับวันชิงหมิงพอดี แต่เนื่องจากภัยสงครามทำให้สุสานถูกปล่อยให้รกร้าง หลิวปางไม่สามารถจำแนกสุสานบรรพบุรุษของตนเอง จึงเอากระดาษฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อธิษฐานว่า ขอให้วิญญาณของบรรพบุรุษบนสรวงสวรรค์ ดลบันดาลให้เศษกระดาษเหล่านี้หล่นลงบนที่ตั้งสุสานบรรพบุรุษของตนเอง แล้วโปรยเศษกระดาษเหล่านั้นให้ลอยไปตามกระแสลม เศษกระดาษเหล่านั้นต่างปลิวกระจัดกระจาย แต่มีอยู่ชิ้นหนึ่งตกลงที่ป้ายสุสานแห่งหนึ่งโดยไม่เคลื่อนไปไหน เมื่อหลิวปางเข้าไปค้นดูก็พบป้ายชื่อของบิดามารดา จึงสั่งให้ลิ่วล้อเร่งทำการบูรณะสุสานแล้วทำพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษ หลังจากนั้นชาวบ้านต่างก็ทำการบูรณะสุสานกราบไหว้บรรพบุรุษในวันชิงหมิง จึงกลายเป็นประเพณีบูรณะสุสานบูชาบรรพบุรุษในวันเทศกาลชิงหมิงสืบต่อมา[1](P69) และเนื่องจากวันเทศกาลหานสือ อยู่ก่อนหน้าหนึ่งวัน และการงดไฟกินอาหารเย็นก็ทำติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งก็เลยมาถึงวันชิงหมิงอยู่แล้ว จึงรวมเป็นเทศกาลเดียวกันในเวลาต่อมา
พูดถึงเทศกาลชิงหมิง และหานสือโดยเนื้อหาแล้วอาจไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกันนัก แต่การรวมสองเทศกาลนี้เข้าด้วยกัน นอกจากจะมีวันเวลาที่ต่อเนื่องกันแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทั้งสองเทศกาลล้วนเป็นการรำลึกถึงบุคคลผู้ล่วงลับ เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ยังมีชีวิตอยู่พึงกระทำแต่โบราณมา

[1] 刘刚,李辉.节日的故事[M].北京:中国旅游出版社,2004.


 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal