หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

อวสานอาณาจักรไท่ผิง-หงซิ่วฉวนสิ้นพระชนม์ (4)

รูปภาพของ YupSinFa

          (จากหนังสือประวัติศาสตร์จีนโดยทวีป วรดิลก ตอนสงครามฝิ่นและกบฏไท่ผิง หน้า 599)

          เมื่อกองทัพไท่ผิงทั้งสองกองทัพต้องถอยออกไปทางด้านตะวันออกแล้ว กองทัพหูหนานก็ฉวยจังหวะนี้รุกคืบหน้ามา ในปีค.ศ. 1860 เจิงกว๋อฟานผู้ก่อตั้งกองทัพหูหนานก็ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากราชสำนักแมนจูเป็นพิเศษ โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลเจียงซู, เจียงซี และอานฮุย แล้วต่อมายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงใหญ่ฝ่ายทหารมีอำนาจบังคับบัญชากำลังทหารทั้งหมดในบริเวณเหนือและใต้แม่น้ำฉางเจียง แผนยุทธศาสตร์ตอนนี้ของเจิงอยู่ที่ว่า จะต้องยึดอานชิ่งให้จงได้ เพราะอานชิ่งเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญที่สุดของไท่ผิง ถ้ากองทัพรัฐบาลยึดอานชิ่งได้ก็จะทำให้การบุกหนานจิงเมืองหลวงของไท่ผิงเป็นไปโดยสะดวก ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายไท่ผิงเมื่อแผนเดิมล้มเหลวลงแล้วก็ไม่มีทางอื่นให้เลือก นอกจากจะต่อสู้ป้องกันอานชิ่งไว้จนสุดชีวิต ศึกชิงอานชิ่งซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1861 ดำเนิดไปอย่างดุเดือดโหดร้ายตลอดเวลา 4 เดือนเต็ม ๆ ภายในเมืองถึงขนาดอดอาหารกัน ทหารไท่ผิงประจำเมืองนี้ซึ่งมีทั้งสิ้น 16,000 คน ยืนหยัดสู้ตายร่วมกับแม่ทัพ ไม่มีใครยอมแพ้แก่ศัตรูแม้แต่คนเดียว ความจริง ถ้าหลี่ซิ่วเฉิงยกทัพเข้าโจมตีอู่ชางทหารของเจิงกว๋อฟานก็ยังไม่อาจบุกเข้าถล่มอานชิ่งจนถึงแตกได้ เพราะจำเป็นต้องส่งกำลังไปช่วยอู่ชาง ภายหลังเมื่อหลี่ซิ่วเฉิงถูกจับเป็นแล้วให้การเมื่อถูกทหารรัฐบาลสอบสวนก็ยอมรับว่า ตนเองคิดผิดไป "อาจเป็นด้วยเจตจำนงของฟ้าก็เป็นได้" หลี่ซิ่วเฉิงเขียนไว้เป็นหลักฐานชัดเจน

          ส่วนกองทัพของเฉินอี๊เฉิงที่ยกมาช่วยในตอนเดือนเมษายนก็ไม่อาจโจมตีกองทัพหูหนานให้แตกพ่ายไปได้ ครั้นเมื่ออานชิ่งแตก กองทหารฝ่ายรัฐบาลก็ยกกำลังออกไล่ล่าทหารไท่ผิงทั่วไปทุกหนทุกแห่ง เมื่อหงซิ่วฉวน "กษัตริย์สวรรค์" ทราบข่าวนี้เข้าก็พิโรธ สั่งปลดหงเหรินกันกับเฉินอี๊เฉิงออก แล้วตั้งหงเหรินฟะกับหงเหรินต๊ะพี่ชายของตนเข้าบริหารไท่ผิงเทียนกว๋อแทน นับว่า เป็นการเร่งการอวสานของอาณาจักรไท่ผิงและตนเองให้เร็วยิ่งขึ้น แต่การปลดหรือแต่งตั้งในตอนหลัง ๆ นี้ไม่มีความสำคัญอะไร เพราะเพียง 2 -3 ปี หงซิ่วฉวนก็แต่งตั้งผู้คนให้เป็นเจ้าหรือหวางกันถึงกว่า 200 คน ยังผลให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในบรรดาแม่ทัพนายกองไท่ผิงทั้งหลาย จะอย่างไรก็ตามทั้ง ๆ ที่รู้ชะตากรรมของตนดี ไท่ผิงก็ยังคงต่อต้านทหารรัฐบาลอย่างทรหดและเหี้ยมหาญ โดยสามารถสู้รบกับกำลังทหารรัฐบาลต่อมาได้อีก 2 ปี อาจกล่าวได้ว่า เป็นเพราะในประการแรกไท่ผิงได้รับความสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ในมณฑลเจียงซูและเจ๋อเจียง เพราะไท่ผิงไม่ปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณอย่างทหารรัฐบาลซึ่งมักสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ประชาชนที่ยากจนจะต้องเข้าข้างไท่ผิง และในประการที่สอง ประชาชนก็มักจะหวาดเกรงกันอยู่ว่า ถ้าทหารฝ่ายรัฐบาลกลับมาปกครองอีก ย่อมหมายถึงปฏิบัติการแก้แค้นได้แก่การปล้นและฆ่าผู้คนพลเมืองที่ตนสงสัยว่าเป็นฝ่ายไท่ผิงอย่างทารุณโหดร้าย

          นโยบายหลักในการปราบปรามไท่ผิงของเจิงกว๋อฟานนั้น อยู่ที่การกวาดล้างไท่ผิงให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินซึ่งก็รวมตลอดไปถึงบรรดาผู้คนพลเมืองที่สันนิษฐานเอาเองว่าเข้าข้างฝ่ายไท่ผิง เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกไท่ผิงก็ย่อมรู้ชะตากรรมของตนดีว่า ถ้ายังมีชีวิตอยู่ อย่าหวังเลยว่า จะได้รับความเมตตาชีวิต ถ้าตนยอมแพ้โดยดี ปัญหาคงมีแต่เพียงว่า จะได้ตายไปโดยดีหรือไม่หรือจะยังถูกทรมาณอย่างหนักหนาสาหัสก่อนตาย ด้วยเหตุนี้ ไท่ผิงจึงต่อสู้กับทหารรัฐบาลอย่างไม่คิดชีวิตถือว่าสู้ก็ตายไม่สู้ก็ตาย ไม่มีทางเลือกทางอื่นอีก ขอสู้ตายดีกว่า

          อนึ่ง ในระหว่างที่กองทัพไท่ผิงยึดหางโจวได้ในตอนปลายปีค.ศ. 1861 นั้น ได้ระดมกำลังจากหางโจวและซูโจวบุกเซี่ยงไฮ้ 5 ทางด้วยกัน กองกำลังปืนเล็กยาวของวอร์ดถูกไท่ผิงโจมตีที่ฟงเสี้ยนจนแตกพ่ายในเดือนมกราคม ค.ศ. 1862 แล้วกองทัพไท่ผิงก็เข้าล้อมเซี่ยงไฮ้ไว้ ระหว่างนี้ พ่อค้าชาวต่างประเทศกับชาวจีนก็ได้ก่อตั้งพันธมิตรจีน-ต่างประเทศป้องกันร่วมกันขึ้น โดยมีกองทหารบริติชและฝรั่งเศสเป็นกำลังต่อต้าน กองทัพไท่ผิงกับกองทหารต่างชาติสู้รบกันอย่างดุเดือดตามบริเวณรอบนอกของเซี่ยงไฮ้ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม เนื่องจากกองทหารต่างชาติมีปืนใหญ่ไท่ผิงจึงต้องสูญเสียอย่างหนัก วอร์ดมีความสำคัญขึ้นมาจากศึกชิงเซี่ยงไฮ้คราวนี้เอง ถือว่าเป็นผลสำเร็จของกองกำลังปืนเล็กยาวของวอร์ด ทางราชสำนักแมนจูก็ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า "กองทัพชนะตลอดกาล" การรู้รบระหว่างกองทัพไท่ผิงกับกองทหารบริติช, ฝรั่งเศสและกองทัพชนะตลอดกาลของวอร์ดดำเนินไปอย่างดุเดือดตามบริเวณรอบนอกเซี่ยงไฮ้ต่อมาจนถึงเดือนเมษายนและพฤษภาคม กองทัพไท่ผิงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ มีผู้บาดเจ็บล้มตายมาก

          ระหว่างนั้น กองทัพอานฮุยภายใต้การบังคับบัญชาของหลี่หงจางก็ได้ยกมาถึงเซี่ยงไฮ้ หลี่หงจาง  (ค.ศ.1823-1901) เป็นผู้นำคนสำคัญของฝ่ายรัฐบาล ในการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์กอบกู้ดินแดนที่เคยถูกไท่ผิงยึดครอง หลี่หงจางเป็นชาวเหอเฟยในมณฑลอานฮุย เกิดในครอบครัวเซิงซื่อที่มั่งคั่ง ยกย่องเจิงกว๋อฟานเป็นอาจารย์ และก็ได้รับราชการภายใต้เจิงกว๋อฟานในกองทัพมาโดยตลอด ในฤดูหนาวปี ค.ศ. 1861 ขุนนางและพ่อค้าชาวจีนได้ขอร้องเจิงกว๋อฟานให้ช่วยส่งกำลังทหารมาป้องกันเซี่ยงไฮ้ด้วย เจิงจึงส่งหลี่หงจางให้กลับไปอานฮุยบ้านเกิดเพื่อจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครต่อต้านไท่ผิงตามแบบที่ตนจัดตั้งขึ้นที่หูหนาน หลี่หงจางก็ได้ก่อตั้งกองทัพอานฮุยขึ้น ในชั้นต้น มีกำลังคน 7,000 ทั้งนายและพล ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1862 พันธมิตรจีน-ต่างประเทศต้องการร่วมกันในเซี่ยงไฮ้ก็ได้เช่าเรือกลไฟบริติช 7 ลำให้ทำหน้าที่บรรทุกทหารกองทัพอานฮุย 7,000 คนนี้ล่องมาตามแม่น้ำฉางเจียงจนถึงเซี่ยงไฮ้ น่าสังเกตด้วยว่า เรือกลไฟ 7 ลำที่บรรทุกทหารซึ่งมีน่าที่ต่อต้านไท่ผิงก็ได้แล่นผ่านหนานจิงเมืองหลวงสวรรค์ของไท่ผิงบนฝั่งแม่น้ำฉางเจียงมาโดยปลอดภัย และไท่ผิงก็ไม่รู้ตัวเลยด้วย ข้างฝ่ายหลี่หงจาง หลังจากมาถึงเซี่ยงไฮ้ได้เดือนเศษ โดยการเสนอแนะของเจิงกว๋อฟาน ราชสำนักแมนจูก็ได้แต่งตั้งให้หลี่เป็นผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซูระหว่างนั้น ศึกชิงเซี่ยงไฮ้ระหว่างไท่ผิงกับกองทหารบริติชและฝรั่งเศสกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด ทหารไท่ผิงยึดชิงปู้ได้ วอร์ดกับนายทหารบริติชรีบรุดนำกองทหารออกจากซ่งเจียงมาช่วยแต่ก็ถูกต่อต้านจนต้องหลบหนีไป ทหารไท่ผิงจับเอดวาร์ด ฟอเรสเตอร์นายทหารรับจ้างชาวอเมริกันซึ่งเป็นรองแม่ทัพกองทัพชนะตลอดกาลไว้ได้

          ขุนนางจีนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนของเจิงกว๋อฟานเช่นเดียวกับหลี่หงจางคือ จ่อจงถาง (ค.ศ.1812-1885) ก็ได้กล่าวว่า "จากการสู้รบกัน 2 ครั้ง (ระหว่างไท่ผิงกับกองทัพชนะตลอดกาล) นี้แสดงว่า ชาวต่างประเทศก็กลัวพวกกบฏผมยาวมากเท่า ๆ กับพวกเราเหมือนกัน " จ่อจงถางเป็นชาวเซียงยินมณฑลหูหนาน เกิดในครอบครัวเจ้าที่ดินที่เป็นนักศึกษา-บัณฑิต รับราชการในกองทัพรัฐบาลโดยเป็นนายทหารคนสนิทของเจิงกว๋อฟานมาก่อน ในปีค.ศ. 1861 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพของกองทัพรัฐบาลในมณฑลเจ๋อเจียง จ่อจงถางต่อสู้กับกองทัพไท่ผิง ในเจ๋อเจียงอย่างยืดเยื้อทั้ง ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งอาวุธและกำลังคนจากชาวต่างประเทศ จนในที่สุดก็สามารถกอบกู้ดินแดนส่วนใหญ่ของเจ๋อเจียงคืนมาจากไท่ผิงได้และก็ยึดหางโจวได้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1864 นอกจากเจิงกว๋อฟานแล้ว ทั้งหลี่หงจางและจ่อจงถางเป็นขุนนางจีนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการต่อต้านและปราบปรามไท่ผิงยิ่งกว่าขุนนางคนใดในราชสำนักแมนจู หลังจากนี้ หลี่หงจางก็ได้เป็นขุนนางจีนที่มีความสำคัญสูงสุดในราชสำนักแมนจูเป็นเวลาถึง 35 ปี ส่วนจ่อจงถางยังทำหน้าที่ปราบกบฏอื่น ๆ หลังจากพิชิตไท่ผิงแล้วและก็มีชื่อเสียงในฐานะแม่ทัพผู้ปราบกบฏอย่างโหดร้ายทารุณเป็นที่เลื่องลือ

          หลังจากยึดชิงปู้ได้ ทหารไท่ผิง 50,000 - 60,000 คนก็ได้ล้อมเซี่ยงไฮ้เพื่อจะบุกเข้าพิชิต ระหว่างพยายามรุกคืบหน้าอยู่นั้น พอดีหงซิ่วฉวนมีคำสั่งมาถึงให้กองทัพไท่ผิงรีบยกกลับไปเมืองหลวงโดยด่วน เนื่องจากกองทัพหูหนานกดดันหนานจิงอย่างหนักเพื่อที่จะเผด็จศึกให้ได้กองทัพไท่ผิงจึงต้องรีบรุดกลับหนานจิง เป็นอันว่า ภัยคุกคามเซี่ยงไฮ้จากกองทัพไท่ผิงเป็นอันยุติลง ส่วนกองทัพชนะตลอดกาลที่มีชื่อเสียงขึ้นมาจากการสู้รบกับไท่ผิงในศึกชิงเซี่ยงไฮ้ครั้งนี้ถูกย้ายไปแนวรบด้านตะวันออกของมณฑลเจ๋อเจียง แต่ในการสู้รบกับทหารไท่ผิงใกล้ ๆ หนิงปอ นั้นเองวอร์ดก็ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต ยังผลให้กองทัพชนะตลอดกาลต้องถอนตัวกลับเซี่ยงไฮ้ เฮนรี่ เบอร์จีไวน์ ทหารรับจ้างชาวอเมริกันอีกคนหนึ่งได้เป็นแม่ทัพแทนวอร์ด แต่เป็นได้ไม่นานก็ถูกหลี่หงจางปลดออกจากตำแหน่งเพราะขัดแย้งกับหลี่มาก ต่อมาตำแหน่งแม่ทัพกองทัพชนะตลอดกาลได้แก่พันตรียอร์ช ชาร์ลส์ กอร์ดอน นายทหารช่างบริติช (ค.ศ. 1833-1885) กอร์ดอนนำกองทหารเข้ายึดซูโจวได้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1862 แต่มาเกิดขัดแย้งกับหลี่หงจางเมืองหลี่ประหารชีวิตพวกผู้นำไท่ผิงทั้ง ๆ ที่กอร์ดอนรับรองความปลอดภ้ยให้แล้ว

          เมื่อสิ้นปีค.ศ. 1863 หลังจากไท่ผิงต้องสูญเสียเจ๋อเจียงกับเจียงซูแล้ว ทั้งผู้นำลงมาจนถึงพลทหารของไท่ผิงก็รู้ชะตากรรมของตนดีว่า อวสานของอาณาจักรไท่ผิงกำลังจะมาถึง จะอย่างไรก็ตาม หงซิ่วฉวน "กษัตริย์สวรรค์" ไม่ยอมทิ้งหนานจิงหรือเทียนจิง "เมืองหลวงสวรรค์" เพื่อไปตั้งหลักใหม่อีกทางใต้ตามข้อเสนอของหลี่ซิ่วเฉิง หงซิ่วฉวนคงเชื่อมั่นในภารกิจศักดิ์สิทธ์ที่ตนได้รับมอบหมายจากพระบิดาสวรรค์ ครั้นเมื่อที่มั่นสำคัญของไท่ผิงในบริเวณเทือกเขาจงซานนอกเมืองหนานจิงแตก เมื่อวันทื่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1864 ทหารรัฐบาลก็บุกเข้าโจมตีประตูเมืองทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ นับแต่นั้น วงล้อมของทหารรัฐบาลก็หดแคบเข้าทุกที ภายในตัวเมืองก็ขาดแคลนอาหาร หงซิ่วฉวนยังคงเชื่อมั่นอยู่ว่า พลเมืองไท่ผิงทุกคนจะสู้จนตัวตาย จึงมีคำสั่งให้ชาวเมืองกินหญ้าแทนข้าวกันโดยตนเองเริ่มกินก่อน เนื่องจากหงมีอาการป่วยอยู่แล้ว เมื่อกินหญาเข้าไป อาการป่วยก็ทรุดหนักลง ประกอบกับไม่มียารักษา หลังจากป่วยหนักอยู่ 20 กว่าวันก็เสียชีวิตในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1864 หงเทียนกุ้ยฟุ บุตรชายของหงซิ่วฉวนอายุ 16 ปี ได้ดำรงตำแหน่งเทียนหวางแทนพ่อ แต่เมื่อทหารรัฐบาลบุกเข้ามาใกล้ หลี่ซิ่วเฉิงหรือจงหวาง "เจ้าผู้ภักดี" ก็พาบุตรชายของนายหนีออกไปจากเมือง ภายหลังถูกทหารรัฐบาลจับได้ จึงถูกประหารชีวิตทั้งสองคน

          แม้ว่าเทียนหวางจะสิ้นชีวิตไปแล้ว ชาวเมืองไท่ผิงก็ยังต่อต้านอย่างทรหดจนแทบไม่น่าเชื่อ ทหารรัฐบาลรุกคืบหน้าเข้ามาด้วยความยากลำบาก ในวันที่ 4 กรกฎาคม เจิงกว๋อชวนน้องชายของเจิงกว๋อฟานสั่งทหารบุกโจมตีทั้งวันทั้งคืนผลัดเปลี่ยนกันโดยไม่ยอมหยุด แต่ไท่ผิงก็ยังคงปักหลักสู้ตายไม่ยอมแพ้ แม้แต่เจิงกว๋อฟานแม่ทัพผู้ผ่านสมรภูมิมามารก็ยังไม่เคยเผชิญกับการต่อสู้เยี่ยงนักรบไท่ผิงมากก่อน ปรากฏจากข้อความในหนังสือทูลจักรพรรดิ์แมนจู ดังนี้

          "มีความยากลำบากอยู่มากในการเข้าโจมตีเมือง (หนานจิง) และการสู้รบก็รุนแรง" "แม้แต่นักรบที่ผ่านการสู้รบมาอย่างโชคโชนก็ยังไม่เคยได้ประสบพบเห็นกันมาก่อนเลย..." "เราพยายามคิดค้นทุกวิถีทางร้อยแปดพันประการ หาจุดอ่อนเพื่อชิงเอาเปรียบให้จงได้" ฯลฯ "ถ้าการสู้รบยังดำเนินต่อไป อาจมีอะไรเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น และมันน่าสยดสยองเพียงไหน" ผลที่สุดปรากฏว่า

          "ไม่มีใครเลยสักคนในบรรดากบฏ หนึ่งแสนคนในหนานจิง จะยอมแพ้โดยดีในเมื่อเมืองถูกยึดได้แล้ว มีหลาย ๆ รายที่รวมตัวเข้าด้วยกันเอง แล้วจุดไฟครอกตนเองจนตายไปอย่างไม่มีความเสียใจหรืออาลัยอาวรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น พวกกบฏที่น่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ ยากนักหนาที่จะได้พบเห็นกันนับตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน..."

          อาณาจักรไท่ผิงเทียนกว๋อถึงกาลอวสานลงด้วยทะเลเลือด ดินแดนส่วนใหญ่ของอาณาจักรจีนตอนกลางมีแต่ความสิ้นหวัง เมืองนับร้อย ๆ มีแต่ซากปรักหักพัง ชีวิตที่ต้องสูญเสียประมาณว่า ระหว่าง 15 - 20 ล้าน พลพรรคไท่ผิงที่รอดชีวิตจากการปราบปรามอย่างโหดร้ายหนีซอกซอนไปตามมณฑลต่าง ๆ ทางใต้จำนวนมาก เมื่อปราศจากผู้นำแล้วก็ยังพยายามต่อสู้อย่างสิ้นหวังกันต่อไปถึงสิ้นปีค.ศ. 1866 กำลังรบไท่ผิงเป็นหน่วย ๆ ถูกกวาดล้างจนหมด มาตรการปราบปรามกบฏไท่ผิงก็เช่นเดียวกับมาตรการปราบปรามกบฏของรัฐบาลจักรพรรดิ์ทุกราชวงศ์ที่ผ่านมา ในเมื่อหัวหน้ากบฏแซ่หง ทุกคนที่แซ่หง ไม่ว่าจะอยู่ในท้องที่ใดมณฑลไหนถือว่า มีความผิดต้องถูกประหารชีวิตทั้งสิ้น ผู้ที่ต้องการรอดชีวิตอยู่ต้องเปลี่ยนชื่อแซ่ มิฉะนั้นก็ต้องหลบหนีออกนอกอาณาจักร ชาวจีนาจากกว่างตงและกว่างซีทางใต้ พากันอพยพหลบภัยมายังดินแดนต่าง ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ อินโดจีน, สยาม, มาลายา, อินโดนีเซีย ฯลฯ ชาวจีนเหล่านี้พกความเจ็บแค้นจักรพรรดิ์ราชวงศ์ชิงชาวแมนจูมาด้วย ภายหลังไม่กี่ทศวรรษก็พร้อมใจกันสนับสนุนนักปฏิวัติรุ่นใหม่ที่พยายามโค่นล้มราชวงศ์ชิงด้วยกำลังอาวุธ โดยเฉพาะในระหว่างตอนปลายศัตวรรษที่ 19 - ต้นศัตวรรษที่ 20

          นักประวัติศาสตร์จีนที่มีทัศนะกลาง ๆ ไม่เอียงซ้ายหรือขวา เห็นว่า กบฏไท่ผิงมีลักษณะเฉพาะตนและเป้าหมายของตนที่ผิดแผกแตกต่างไปจากกบฏชาวนาที่แล้ว ๆ มาในขั้นมูลฐานทีเดียวกบฏไท่ผิงไม่เพียงแต่โจมตีราชวงศ์กษัตริย์ที่ปกครอง (จีน) อยู่เท่านั้น หากแต่ยังโจมตีแบบแผนของสังคมที่สืบต่อกันมาเป็นประเพณีด้วย จากการโจมตีที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้กบฏไท่ผิงมีลักษณะผิดแผกแตกต่างไปจากขบวนการกบฏต่าง ๆ ในอดีตโดยสิ้นเชิง ปฏิกิริยาของขุนนางผู้เคร่งในคำสอนขงจื้ออย่างเจิงกว๋อฟาน ที่เกลียดชังกบฏไท่ผิงอย่างแรงกล้า จะเห็นได้จากข้อความบางตอนในคำประกาศเมื่อตอนจัดตั้งกองทัพหูหนานของเจิงกว๋อฟาน ดังนี้

          "ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น บรรดานักปราชญ์ผู้รู้ก็ได้ยึดมั่นในหลักลัทธิอันนี้ซึ่งมีอรรถาธิบายให้เห็นถึงรูปแบบแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์เรา ระหว่างเจ้ากับข้า พ่อกับลูก สูงกับต่ำ ผู้มีเกียรติกับผู้ต่ำต้อยด้อยเกียรติ เพื่อไม่ให้มีการกลับตาลปัตรตำแหน่งกันอย่างหมวกกับเกือก...ฯลฯ...เนื่องจากตำราซือจิงกับซูจิงของเราซึ่งเป็นเครื่องชี้นำความประพฤติและศีลธรรมของเราถูกกวาดลงไปอยู่กับพื้นเสียแล้ว นี่เป็นการกบฏ ไม่เฉพาะต่อราชบัลลังก์เท่านั้น หากแต่กบฏต่อหลักลัทธิของนักปราชญ์ผู้รู้ด้วย..." มูลค่าในการปราบกบฏครั้งนี้ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 250 - 300 ล้านตำลึง

                           อวสาน 

  

          หมายเหตุท้ายเรื่อง

        * การตายของหงซิ่วฉวนนี้ หนังสือประวัติศาสตร์จีนของนักวิชาการตะวันตกส่วนใหญ่กล่าวไว้ไม่ตรงกัน บ้างก็ว่าฆ่าตัวตาย บ้างก็ว่าป่วยจนตาย ฯลฯ ผู้เรียบเรียง(ทวีป วรดิลก) ได้มีโอกาสพบคุณหานผิ่งจิ้นนักประวัติศาสตร์จีนประจำหอพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ไท่ผิงเทียนกว๋อ (ไท่ผิงเทียนกว๋อลี่สื่อป้ออู๋ก่วน) ที่ถนนจงหวางลู่ในหนานจิงเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2522 นักประวัติศาสตร์จีนท่านนี้ ยืนยันกับผู้เรียบเรียงว่า แต่เดิมเจิงกว๋อฟานเป็นผู้อ้างว่า หงซิ่วฉวนฆ่าตัวตาย แต่ภายหลังในปีพ.ศ.2505 มีหลักฐานที่เพิ่งพบใหม่ จากคำให้การของหลี่ซิ่วเฉิงที่เขียนด้วยลายมือตนเองว่า หงซิ่วฉวนกินหญ้าหลังจากอดอาหารกันทั้งเมืองแล้วและได้บอกให้ชาวเมืองกินหญ้ากัน หลังจากนั้นก็ป่วยหนักจนตายไป.

           

 


 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal