หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

เรื่องราวของ "โกสิ่ว" (ควรค่าน่าอ่าน)

รูปภาพของ YupSinFa

พักนี้มีเรื่องเซ็ง ๆ เกี่ยวกับ คนเฒ่าเหลาเหย่ ไม่มีสาระแก่นสาร เที่ยวติคนโน้น เตือนคนนี้ โดยไม่คิดว่าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิ ในความคิดของเขา ทั้ง ๆ ที่ตัวเอง ไม่มีผลงานการเขียนเนื้อหาความรู้ให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้อ่านอย่างมีสาระ มีแต่ เก๊กเอี้ย เก็กอัน อะไรไม่รู้ ไม่เกี่ยวกับ ฮากกาสักกะหน่อย เกะกะหน้าจอเสียปล่าว ๆ ดังนั้น

วันนี้ ไหงจึงอยากแนะนำเรื่องราว ของ ผู้เฒ่า อาวุโส ที่เป็นความภาคภูมิใจ ของชาวฮากกาเชียงใหม่ และเป็นความภูมิใจ ของชาวไทยฮากกาที่ได้อ่านเนื้อเรื่องนี้ ทุก ๆ คน

 

                ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อเรื่อง ข้าพระพุทธเจ้า นายยับ สินฝ่า ขอถวายพระพรองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช อันเป็นที่รักเทิดทูนเคารพยิ่ง ของชาวไทยเชื้อสายต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ชนม์มายุยืน หมื่น ๆ ปี ว้านเซ้ ว้านเซ้ ว้านว้านเซ้

                ถ้าหากคนไทยเรา จะนึกคิดว่า องค์พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงนำพันธุ์สตอเบอรี่ เข้ามาให้เกษตรกรไทย ได้ทดลองปลูก เป็นครั้งแรก ประมาณ 35 ปีที่แล้ว ทรงเป็นพระราชบิดาแห่งสตอเบอรี่ไทย เกษตรกรธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกา ซึ่งมีชื่อว่า "นายหยี่สิ่ว แซ่โก" ก็คงจะนับว่า เป็น ครูใหญ่ด้านสตอเบอรี่ของประเทศไทยก็นับว่าไม่เกินความจริง...

                เมื่อ ประมาณ 35 หรือ 38 ปีก่อน ในหลวง อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา ได้ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกล ทรงช่วยเหลือรัฐบาลไทย ในการลดพื้นที่การปลูกฝิ่น ทรงนำผลไม้เมืองหนาว จากทวีปยุโรปบ้าง ทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย เช่น จีน และ ญี่ปุ่น บ้าง เข้ามาให้ชาวไทยภูเขา ทดลองปลูก จนกระทั่ง ผลไม้เหล่านั้น ได้กลายมาเป็นผลไม้ท้องถิ่นของประเทศไทยในภาคเหนือ เช่น ลูกท้อ สาลี่ พลับ บ๊วย ลูกไหน ลูกแพร ซึ่งผลไม้เหล่านี้ เป็นผลไม้มาจากประเทศจีนและญี่ปุ่น

                ส่วนสตอเบอรี่ เป็นผลไม้สัญชาติยุโรป ด้วยความที่พระองค์ท่าน เคยทรงดำรงชนม์ชีพอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไหงเข้าใจว่า ทรงรู้จักสตอเบอรี่ เป็นอย่างดี พระองค์ท่าน จึงทรงนำต้นกล้าสตอเบอรี่ มาให้เกษตรกร ทดลองปลูก ในประเทศไทย โดยนำมาพระราชทานให้ หมู่บ้านในตำบลช้างเผือกชานเมืองเชียงใหม่ คือ หมู่ 1 บ้านช่างเคี่ยน และ หมู่ 2 บ้านเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง เชียงใหม่

               ในอดีต หมู่บ้านช่างเคี่ยน และ หมู่บ้านเจ็ดยอด ซึ่งอยู่ติดกัน เป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรป้อนตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกสวนผัก นานาชนิด ก่อนที่ชาวไทยภูเขาจะนำไปปลูกเสียอีกนับว่าพื้นที่สองหมู่บ้านนี้ เป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรที่สำคัญของอำเภอเมืองเชียงใหม่

                แรกเริ่มเดิมที ที่เกษตรกรสองหมู่บ้านนี้ ได้รับพระราชทานต้นกล้า พันธุ์สตอเบอรี่มาทดลองปลูก สองหมู่บ้าน รวม ๆ ประมาณ 150 ครัวเรือน หนึ่งในนั้น มีชาวไทยเชื้อสายฮากกา ชื่อ หยี่สิ่ว รวมอยู่ด้วย ผลปรากฏว่า สตอเบอรี่ เกษตรกร 150 ครัวเรือน ทั้งสองหมู่บ้าน ทดลองปลูก ปรากฏว่า ล้มเหลวไปกว่า 149 ครอบครัว คงได้ผลผลิต ที่งดงาม แต่เฉพาะ ของนาย หยี่สิ่ว แซ่โก เพียงคนเดียวเท่านั้น???

                ขอย้อนมาเล่าถึงประวัติ ของ นาย หยี่สิ่ว แซ่โก ว่า เป็นมาอย่างไร ทำไมชาวบ้านถึงเรียกแกว่า "โกสิ่ว" มาติดตามกันต่อไปเลยครับ

                โกสิ่ว ปัจจุบัน คนในวัยไหง ต้องเรียกว่า อาปักสิ่ว หรือ อาสิ่วปัก และรุ่นลูก ๆ ของพวกเรา ก็ต้องเรียกว่า อาสิ่วกุง ได้เล่าประวัติ ของกี๋ ให้ไหงฟัง อย่างคร่าว ๆ ว่า (มีพี่สาวของกี๋ร่วมแจมด้วย) "ไหงเกิดที่พิษณุโลก ที่หมู่บ้าน วัดสะนิกโกลัก(ชื่อหมู่บ้านตามชื่อวัดคาทอลิก-สะกดผิดก็ขออภัย-สินฝ่า) เมื่อปี พ.ศ. 2479 มีพี่น้อง ทั้งหมด รวม 6 คน เป็น ชาย 2 หญิง 3 เมื่อก่อน เตี่ยไหงมาเมืองไทยก่อน แล้วถึงกลับไปรับอาแม มาอยู่ด้วยกัน พวกไหงพี่น้อง ได้กลับไปที่เมืองจีนและโชคดีก่อนที่คอมมิวนิสต์จะยึดจีนได้ ไหง กับ อาแจ๋ อาม่วย ได้มีโอกาสหนีกลับมาก่อน 4 คน โดยลงเรือเที่ยวสุดท้ายที่จะมาเสียมหลอพอดี แต่น้องชาย กับน้องสาว อีก อย่างละ คน กลับมาไม่ได้ ตอนนี้ก็จึงมีลูกหลานอยู่ที่นั่น และไม่นานมานี้ก็ได้กลับมาเยี่ยมประเทศไทยกันแล้ว...อาปักเม พี่สาวของ อาโกสิ่ว เล่าต่อว่า  พวกไหง เป็น ป้านซานขัก บ้านเกิดอยู่ที่ กอ วุ่ก ไฉ่ อำเภอฮงสุน พวกเราเป็นคาทอลิกทั้งหมด เนื่องจากสมัยก่อน พวกทหารฝรั่งเข้ามาเมืองจีนหรือพวกมิชชันนารี ได้เข้ามาเผยแพร่ บรรพบุรุษของพวกไหง ได้รับเอาคำสอนของคาทอลิกพวกไหงจึงนับถือคริสต์คาทอลิกกัน"

                ปัจจุบัน โกสิ่ว มีอายุได้ 74 ปี มีอาการเส้นเลือดตีบ ทำให้ เสียการทรงตัว และเป็นอัมพฤกษ์กลาย ๆ แต่ยังเดินเหินได้ ด้วยอาศัยไม้เท้า โกสิ่ว อาศัยอยู่กัน 3 คนพี่น้อง คือ พี่สาว โกสิ่ว และน้องสาว ซามเก้จี้ม้วย โดยที่ทั้ง 3 ท่าน เป็นโสดกันทุกคน ไม่มีครอบครัวและลูกหลานเลย??? เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไหงได้เคยสอบถามบรรดาชาวบ้านช่างเคี่ยน เกี่ยวกับทรัพย์สินของโกสิ่ว ถ้าตีมูลค่าเป็นตัวเลข ก็คงหลักหลายล้าน ชาวบ้านบอกว่า พวกเขา (หมายถึงโกสิ่วและพี่น้อง) ยังมีญาติ และหลาน ๆ ที่เกิดจากลูกพี่ลูกน้อง ที่อยู่พิษณุโลก ยังมีอยู่ ญาติเขาเหล่านั้น คงจะได้สืบทอดมรดกของโกสิ่วต่อไป

                ต่อไปนี้เป็นข้อเขียน ที่ไหงคัดลอกมาจากหนังสือนิตยสาร "สายใจ" ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 เดือน มีนาคม 2522 ความว่า....

               "เขาเป็นคนจีนเกิดในเมืองไทย ที่รักเมืองไทยเป็นบ้านเกิดเมืองนอน เชื้อชาติ ไม่ใช่สิ่งสำคัญหรือเป็นความเหลื่อมล้ำแตกต่างสำหรับเขา เท่ากับการทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมแผ่นดิน...นี่คือปณิธานของชายร่างสันทัด ผิวคล้ำ(ที่จริงโกสิ่วขาวแบบคนจีนเรานี่แหละแต่ผิวคล้ำเพราะตากแดดทำสวน-สินฝ่า)วุฒิน้อยแต่เรียนรู้มาก ผู้มีนามว่า หยี่สิ่ว แซ่โก"

               "เขาเริ่มทำการรวมกลุ่มเกษตรกรย่านหมู่บ้านช่างเคี่ยนมาร่วมห้าปี(ในสมัยนั้น-สินฝ่า)พยายามแก้ปัญหาเรื่องการตลาดมิให้ตกเป็นเครื่องมือคนกลางมากนักและช่วยในด้านการลงทุนให้แก่ลูกสวนสมาชิกในกลุ่ม นอกจากนั้นยังได้ทดลองแปรสภาพผลผลิตของสตอเบอรี่ที่เหลือจากการขาย หรือไม่ได้คุณภาพให้เป็นสตอเบอรี่แห้ง และน้ำสตอเบอรี่ออกสู่ตลาด(ต้นตำรับOtopเลยนะเนี่ย-สินฝ่า)"

"เขาคิดเครื่องอบสตอเบอรี่ขึ้นเอง ทำเอง ออกแบบเอง พิมพ์กล่อง และบรรจุกล่องเอง กลั่นน้ำสตอเบอรี่เอง ... ใครก็ตามเมื่อเข้าไปในบริเวณสวนโกสิ่ว เห็นต้นสตอเบอรี่ เป็นทิวแถวเขียวชอุ่มดอกและผลสตอเบอรี่สีแดงสดย้อยเรี่ยลงดินตัดกันกับใบสีเขียวสด เมื่อมองไปยังบ้านหลังเล็ก ๆ แบบง่าย ๆ ในบริเวณสวนนั้นก็จะเห็นเตาอบสตอเบอรี่ปรากฏอยู่ด้วย.........."

                โกสิ่ว หรือ อาสิ่วปัก ได้เล่าให้ไหงฟังว่า ไหงมาอยู่เชียงใหม่ ประมาณปี 2500 จำแน่นอนไม่ได้ แรก ๆ มาอยู่กับกับเพื่อนบริเวณตลาดบุญอยู่ (หลังโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยหรือตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์หรือด้านหลังตลาดสมเพชร-สินฝ่า) โดยเย็บผ้าด้วยกันกับเพื่อน และรับซ่อมนาฬิกาบ้าง ต่อมาไปรับจ้างเป็นช่างก่อสร้างให้กับ บริษัท ทิพเนตรก่อสร้าง (ปัจจุบันอาจจจะยังอยู่หรือเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทอื่น-สินฝ่า) เจ้าของตลาดทิพเนตร ต่อมา เมื่อมีการก่อสร้างถนนห้วยแก้ว ตอนตัดผ่านทางเข้าหมู่บ้านช่างเคี่ยน ไหงเห็นเป็นพื้นที่รกร้างเหมาะแก่การทำสวน ไหงจึงเข้าไปแผ้วถางจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่ก่อนที่กระทรวงมหาดไทยจะออกโฉนดให้ในภายหลัง ต่อจากนั้น ไหงจึง ชวนน้องสาว และพี่สาว ที่เหลือ 2 คน จากพิษณุโลก ให้มาทำสวนอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่ แรกเริ่มเดิมทีก็ปลูกผักต่างๆ  พวกเซอเรอรี่ นี่ได้ผลดีมาก(ไหงไม่รู้จักเซอเรอรี่-ใครรู้บ้าง?-สินฝ่า) ต่อมาเมื่อได้รับพระราชทานพันธุ์สตอเบอรี่ ก็เลยทำสวนสตอฯ โดยเมื่อเริ่มปลูกกันใหม่ ๆ  ต่างคนต่างปลูก แบบลองผิดลองถูก ผลปรากฏว่า ทุกคน ตายหมด คงมีแต่ของไหง คนเดียว ที่มีดอกออกผล ต่อจากนั้น ไหงจึงต้องเป็นผู้นำกลุ่ม คอยแนะนำเทคนิค วิธีการดูแลเอาใจใส่ให้กับสมาชิกภายในกลุ่มจากสองหมู่บ้านนี้ จนพบกับความสำเร็จกันทุกครอบครัว

                 ไหงขอเพิ่มเติมว่า ในสมัยนั้น โกสิ่ว ดังมาก ไหงอายุ ประมาณ 12 - 15 ปี ก็ได้ยินชื่อสวนโกสิ่วแล้ว ตอนนั้น บ้านช่างเคี่ยน ช่างไกลจากตัวเมืองเสียจริง ๆ ดังนั้น คนเชียงใหม่ ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป คงไม่มีใครไม่รู้จัก โกสิ่ว เลย โกสิ่ว นอกจากสอนลูกสวนในหมู่บ้านของกี๋แล้ว กี๋ยังบุกป่าฝ่าดง ขึ้นไปสอนพวกชาวม้ง ให้รู้จักวิธีการปลูกสตอเบอรี่นี้ด้วย โดยไม่หวงวิชา ไม่กลัวว่า ผลผลิตจะล้นตลาด ท่านคิดของท่านอยู่อย่างเดียวว่า สตอเบอรี่ มิใช่สมบัติส่วนตัวของท่านหรือของชาวบ้านที่ช้างเผือกสองหมู่บ้านนี้แต่อย่างใดไม่ ท่านคิดว่า มันเป็นสมบัติที่มีค่า ที่ในหลวงทรงมีพระเมตตาพระราชทานมาให้ จึงสมควรที่ท่านจะต้องนำสิ่งล้ำค่านี้ ไปสอนให้กับ ชาวไทยบนพื้นที่สูงในสมัยนั้น ซึ่งทุรกันดารมาก ๆ ท่านไปทั้งอำเภอแม่ริม และ อำเภอสะเมิง สอน สอน และ สอน จนกระทั่ง ปัจจุบันนี้ พื้นที่ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิงได้กลายมาเป็นแหล่งปลูกสตอเบอรี่ที่สำคัญที่สุด อันดับ 1 ของประเทศไทย ไม่มีใครในท้องที่นี้ ที่ไม่รู้จักโกสิ่ว อำเภอสะเมิง เป็นอำเภอที่อยู่หลังดอยสุเทพ มีพื้นที่สวยสดงดงามมาก เป็นบ้านเล็กในป่าใหญ่ ไหงไปสะเมิงบ่อยมาก ๆ ไปทั่วทุกตำบลทั่วพื้นที่ของอำเภอสะเมิงเลยทีเดียว ธรรมชาติ ป่าเขา ผู้คน ไม่ว่าคนล้านนา หรือ ชนเผ่า ต่างมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีงามและเยือกเย็นเป็นมิตร เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร......

                 ออกนอกเรื่องไปหน่อย โกสิ่วบอกว่า ที่มาของชื่อสวน "โกสิ่ว" นี้ ได้คิดจาก ตัวเอง ชื่อ สิ่ว แล้วแซ่ โก (ตามสำเนียงป้าน-สินฝ่า) จึงได้ใช้ชื่อส่วน ว่า "โกสิ่ว" แล้วชาวบ้านก็เลยเรียก ตัวเอง ว่า โกสิ่ว โกสิ่ว กันทั้งเมือง (ตอนไหงเป็นเด็กรู้จักแต่ชื่อโกสิ่ว-ไหงยังคิดว่าน่าจะเป็นฮากกาหรือไม่ก็ไหหนำเพราะเรียกพี่ชายว่า โก เหมือนกัน ต่อมา เมื่อ สองปีที่ผ่านมา ไหงก็เข้าใจถูก คือมีโอกาสได้รู้จักโกสิ่ว ด้วยความบังเอิญ กี๋ก็มองหน้าไหง ไหงก็ก้มคารวะกี๋ ไหงจึงลองถามเป็นภาษาฮากกาสำเนียงฉิ่ม ของไหงว่า "หงีเฮ้อาโก๋สิ่วเฮ่หม่อ?" กี๋ก็ตอบไหงว่า เฮ่ ไหงโกสิ่ว เฮ้ หงีเฮ้หักหยิ่นนี่นา...........และแล้วความสัมพันธ์ก็บังเกิด กี๋พาไหงเข้าไปในบ้าน พูดคุยเรื่องราวดังกับสนิทสนมใกล้ชิดกันมานาน นี้คือสายเลือดเดียวกันที่มีความผูกพันธ์อย่างประหลาด แววตาแห่งความสุขของชายชราคนหนึ่ง ได้เล่าเรื่องราวแห่งความภาคภูมิใจในชีวิตของตัวเองอย่างมีความสุข......

                โกสิ่ว หรือ อาสิ่วปัก ได้พูดให้ไหงฟังถึงคำถามของไหงว่า หงีได้เคยเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวครั้งแรกเมื่อไหร่ ทันใดความทรงจำดั่งเครื่อง cpu ก็ค่อย ๆ ถ่ายทอดออกมา ว่า ไหงได้เริ่มเข้าเฝ้าครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2520 เพื่อถวายผลงานสตอเบอรี่สด แด่พระองค์ท่าน รวมถึง ผลิตภัณฑ์สตอเบอรี่อบแห้งด้วย ในหลวงตรัสถามว่า "คิดเองหรือ" โกสิ่ว ก็บอกอย่างภาคภูมิใจว่า ครับคิดเอง ท่านก็ดีใจ ได้ยินท่านรับสั่งว่า สตอเบอรี่ปลูกยาก แต่ก็อย่าปลูกมาก เพราะหากผลผลิตล้นตลาด ราคาก็จะตก แต่โกสิ่ว แปรรูปผลผลิต จึงสามารถขายได้ โกสิ่วบอกไหงอีกว่า หลังจากนั้น ในหลวงท่านเสด็จมาเชียงใหม่ ทุกปี ท่านก็จะได้เข้าเฝ้าในหลวงเพื่อถวายรายงาน ทุก ๆ ปี โกสิ่วเล่าว่า "มีครั้งหนี่ง พระราชินีเคยได้ยินแต่ชื่อ โกสิ่ว ๆ พอท่านเสด็จมาพร้อมกันทั้งสองพระองค์ ในหลวงได้ตรัสกับพระราชินีว่า ราชินี นี่ยังไงล่ะ โกสิ่ว" ประโยคนี้เป็นประโยคทอง ที่ทำให้ชายชราผู้นี้ มีความสุขทุกครั้ง ที่ได้เอ่ยถึง

                ปัจจุบัน โกสิ่ว ได้เลิกประกอบอาชีพการเกษตรแล้ว หลังจากที่ไม่สบายเพราะเป็นอัมพฤกษ์ และ แก่ตัวลง อีกอย่าง ความเจริญ ทางวัตถุ ก็ได้เข้ามาแทนที่สวนผักที่ลดลง ลดลง ไปทุกที จนกระทั่งปัจจุบันนี้ หมู่บ้านช่างเคี่ยน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเขตเทศบาลตำบลช้างเผือก แต่คนทั่วไป หรือแม้กระทั่งคนเชียงใหม่ก็แยกไม่ออกหรอกว่าบ้านช่างเคี่ยนกับบ้านเจ็ดยอดไม่ได้อยู่ในเมืองเชียงใหม่อย่างไร

               ทุกวันนี้ โกสิ่ว หรือ อาสิ่วปัก ได้อาศัยอยู่กับ พี่สาว ซึ่งเป็นโสด ตัวอาสิ่วปัก ก็เป็นโสด น้องสาวก็เป็นโสด ในสวนโกสิ่วเก่าแห่งนี้ จึงมี ซามเก้เหล่าหยิ่นกา อาศัยอยู่ อย่างสงบสุข และ อยู่อย่างพอเพียงสมถะ อาศัยด้านหน้าที่ดินทำเป็นล๊อค ๆ แบ่งให้พ่อค้าแม่ค้า เช่า ในราคาถูก เนื่องจากสวนโกสิ่วอยู่ด้านประตูหลังของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพอดี จึงเป็นแหล่งพลุกพล่านไปด้วยนักศึกษา บ้านหรือห้องว่าง หลังสวน(ที่เดี๋ยวนี้ไม่เหลือความเป็นสวนให้เห็นอีก) ก็แบ่งให้นักศึกษาเช่าเป็นรายเดือน ที่ว่างในสวน ก็ได้ให้ ทรูมูฟ เช่าตั้งเสาส่งสัญญาณ เรียกได้ว่า ถึงแม้ไม่มีลูกหลาน แต่ ซามเก้เล่าหยิ่นกา ก็ได้อาศัยรายได้ ที่แน่นอนจากการให้เช่า ที่ มีกินมีใช้อย่างสม่ำเสมอ และไม่พอ ทุกวันนี้ ยังมีพวกนักศึกษา อยู่เป็นเพื่อน อาศัยเส้นทางที่ของโกสิ่ว ขับมอเตอร์ไซด์ผ่าน ไป ผ่าน มา ไม่เหงา โกสิ่วเล่าว่า ในอดีต หัวกระไดสวนกี๋แทบไม่ห่างผู้คน มีชาวม้ง จากดอยต่าง ๆ มาเรียนรู้วิธีปลูกสตอเบอรี่ มีผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตรจากประเทศจีน มาเยี่ยมเยียนดูงานบ่อย ๆ ทุกวันนี้ เล่าหยิ่นกาผู้นี้ มีความสุข อยู่กับข้อมูลข่าวสาร ที่สื่อต่าง ๆ เคยนำเรื่องของแกไปลง แกจะตัดเก็บไว้ ทุกชิ้น ทุกสื่อ แขกไปใครมา แกก็จะนำมาเล่าให้ฟัง อย่างมีความสุข หากไม่มีใครมา แกก็จะเดินเล่น ไปดูเหล่านักศึกษานั่งกินข้าว ที่ห้องแถวเช่าของแกบ้าง พูดคุยคนโน้นที คนนี้ที จนเป็นที่คุ้นตา ของเด็ก ๆ นักศึกษา ราชมงคล แต่จะมีสักกี่คน ที่จะรู้ว่า ชายชราท่านนี้ ในอดีต มีความยิ่งใหญ่เพียงใด???  

                   ทุกวันนี้ ไหงยังพอทราบว่า บรรดาชาวไทยฮากกาในเชียงใหม่ ที่รู้จักมักคุ้นกับกี๋ ต่างได้แวะเวียนไปเยี่ยมเยียนกี๋อยู่ไม่ขาด แต่กี๋ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฮากกาเชียงใหม่ เพราะกี๋เป็นคาทอลิก ที่เคร่งครัด จึงเป็นสมาชิกของพวกคาทอลิกเชียงใหม่ไป เหตุผลที่สำคัญคือ (ลับสุดยอด) ไหงว่า กี๋เป็นต้นตำรับ ผู้ผลิต ไวน์ เป็นคน แรก ๆ ของประเทศไทย ในสมัยที่กฏหมายห้ามเอกชน หรือ ชาวบ้านผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องนี้ กี๋เล่าให้ไหงฟัง ถึงเรื่องราวการต่อสู้กับสรรพสามิต ถูกจับอยู่บ่อย ๆ แต่กี๋ไม่ได้กร่างหรือใช้ความเป็นราษฏรที่ใกล้ชิดฯ อวดเบ่งเลย ตรงกันข้าม กี๋ได้ต่อสู้ และใช้เหตุผล ในการที่มีความจำเป็นที่จะต้องนำผลผลิตที่เหลือ มาแปรรูป ไหงว่า อาสิ่วปักคนนี้แหละ เป็นต้นกำเนิด โอทอป ของไทยอย่างแท้จริง ที่สำคัญ(เผยความลับ) ไวน์สตอเบอรี่ของกี๋ รสชาติดีมาก ๆ ขอย้ำ มาก ๆ โดยเฉพาะตอนนี้ กี๋หมดสภาพทางด้านร่างกาย ไวน์ที่กี๋ผลิต จึงมีค้างเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ๆ และด้วยความเก่าเก็บนี้เอง ทำให้ รสชาติของไวน์ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไวน์ของกี๋ จึงดังอยู่อย่างเงียบ ๆ ไหง บังเอิญไปเห็นเว็ปชุมชน ของเชียงใหม่ถึงกับมีข้อความโพสต์ ถามกัน ถึงเรื่องราวของไวน์ โกสิ่ว ถามหาที่ซื้อถึงในเว็ป นี้คือคำเฉลย ของความลับที่บรรดาชาวฮากกาเชียงใหม่ แวะเวียนมาหากี๋ เพื่อซื้อไวน์ ชั้นเลิศ ราคาเหมือนแทบได้เปล่า เมื่อครั้งแรก ที่ไหงรู้จักโกสิ่ว ไหงตอนนั้น ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ได้มีโอกาสชิม จึงรู้ว่า ยอดเยี่ยมเพียงใด เป็นเพราะความเป็นฮากกา และการพูดคุยถูกชะตา ไหงจึงส้มหล่น ได้รับไวน์จากกี๋มาฟรี ๆ ตั้ง 4 ขวด ตอนนั้นเลยซึมไปตลอดเดือน(ฮา)

                   กระทั่งวันนี้ วันที่ไหงกลับไปสัมภาษณ์กี๋เพิ่มเติม ยังได้ของติดมือกลับมาบ้าน เป็นเส้นหมี่ซั่วจากพิษณุโลกเจ้าดังมาก เข้าใจว่าเป็นญาติของกี๋

                  บทส่งท้าย---ตอนแรก ไหงตั้งใจจะเขียนหัวข้อว่า "โกสิ่ว-ชาวไทยเชื้อสายฮากกาที่ใกล้ชิดในหลวงมากที่สุดในประเทศไทย"---ไหงคิดอีกที เกรงจะมิบังควร จึงเปลี่ยนเป็น "เรื่องราวของโกสิ่ว" ก็ถือว่า กี๋เป็นความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็น ตัวแทนของชาวไทยเชื้อสายฮากกา ที่ได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและได้มีโอกาสถวายงานสนองพระเดชพระคุณ ทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด เพื่อในหลวง โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ แม้แต่น้อย สมดังคำสอนของในหลวงทุกสิ่งทุกอย่าง ปัจจุบันนี้ ไหงคิดว่า อาสิ่วปัก เป็นบุคคลตัวอย่าง ที่มีความดีงาม มีความประหยัด มัธยัทธ์ ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีแต่ช่วยเหลือสังคม (ในอดีตโกสิ่วมีบุคลิคภาพเป็นชายฉกรรจ์ กำยำล่ำสัน น่าเสียดาย ที่ไม่มีแฟ้มภาพเก่าให้ไท้กาดู)

                 สิ่งที่เป็นมงคลสูงสุดในชีวิต ของ ชายที่ชื่อ โกสิ่ว หรือ นายหยี่สิ่ว แซ่โก  (高易寿)  คือได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อไทย และนามสกุลไทย ว่า

                                      (พระปรมาภิไธย)

                          ขอให้ชื่อ  และ  ชื่อสกุล   นายหยี่สิ่ว  แซ่โก   ตามที่ขอมานั้น ว่า

                          ชื่อ               "อุดมสิทธิ์"

                          ชื่อสกุล         "โกมลพงศ์ภักดี" เขียนเป็นอักษรโรมัน ว่า

                                              Komolbongsebhaakdi

                                       ขอจงมีความสุขความเจริญเทอญ ฯ

                                       พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

                                 วันที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๐

นอกจากนี้ โกสิ่ว หรือ คุณอุดมสิทธิ์ ได้ใช้ใบราชโองการฯ นี้ ย่อเป็นนามบัตร ข้างหน้า เป็นประกาศฯ ข้างหลัง พิมพ์ว่า            ชื่อ  อุดมสิทธิ์      =      มีความสำเร็จอย่างดีเลิศ

                              ชื่อสกุล    โกมลพงศ์ภักดี    =   สกุลที่งามด้วยความจงรักภักดี

                        สวนสตอเบอรี่โกสิ่ว 105/10 หมู่ 1 ซอยบ้านช่างเคี่ยน ถ.ห้วยแก้ว ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่   โทร.085-5294823   ตรงข้ามปากซอยจะมี ธ.กรุงไทย ถ.ห้วยแก้ว ข้างซ้ายมือ ปากซอยมีเซเว่น-อีเลฟเว่น ในซอยมีแม่ค้าขายของ เข้าไปทางวัดช่างเคี่ยน ถึงสามแยกจะมีจินดาเฮ้าส์ ไปอีกจะมีโรงแรมซาบีน่า ต่อไปจะเป็นป่าช้า มีรั้วเหล็ก สุดรั้วจะมีซอยแยก ซ้ายมือเป็นรั้วอิฐบล๊อก สุดรั้วมีห้วยข้ามสะพาน ขวามือมีตึกเทคโนฯ ซายมือมีต้นไม้ผลไม้มีรั้วเลี้ยวเข้าไปจะมีต้นสักแล้วจอดรถ ขวามือมีบ้านเลขที่ 105/1 หากต้องการซื้อน้ำผลไม้ (กี๋หมายถึงไวน์) ก็เดิน ผ่านเข้าไปจะเห็นมีบ้านหลังหนึ่งจะมีหมาออกมาต้อนรับ ไม่ต้องกลัวมันไม่ทำอะไร มันเห่าให้เจ้าของบ้านรู้ว่ามีแขกมาหาเท่านั้น(กี๋พิมพ์แบบนี้จริง ๆ)

     น้องชิงชิง กับ อาสิ่วกุง ที่หน้าบ้านสวน


รูปภาพของ YupSinFa

ใครมาเชียงใหม่ไปเยี่ยมโกสิ่วได้

             ท่านใดมีโอกาสมาเที่ยวเชียงใหม่ และเป็นคนชื่นชอบในรสชาติของไวน์ สตอเบอรี่ ไหงสามารถพาไป เยี่ยม อาสิ่วปัก ที่บ้านสวนกี๋ได้ ไวน์ยังมีขายอยู่ ทุกวันนี้ กี๋ จะมีนามบัตรที่ถ่ายย่อจากพระบรมราชโองการตั้งชื่อ ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง เคลือบบัตรอย่างดี ติดกระเป๋าเสื้อ ไว้ รวมถึง ภาพของสมเด็จย่า กี๋ว่า เป็นภาพมหาจตุคามรามเทพ เคลือบบัตรอย่างดี ติดกระเป๋าเสื้อไว้ รวมทั้งภาพ ในหลวง ราชินี เคลือบบัตรอย่างดี ติดกระเป๋าเสื้อไว้ สำหรับแจกแขกไปใครมา ให้รู้ว่า คนไทยเรา จะต้องเคารพรัก สถาบัน อันเป็นที่รักยิ่งของเรา

            ไหงจึงรู้ว่า ชีวิตของอาสิ่วปักนี้ สิ่งที่ท่านเคารพนับถือ คือพระเจ้า พระเยซูคริสต์ พระแม่มารีอา ตามศาสนาของท่าน และ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ที่ชาวไทยฮากกาครอบครัวหนึ่ง ได้ตระหนักถึง พระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ วันนี้ ถ้าไม่มีในหลวง ไม่มีโกสิ่ว คนไทย คงไม่ได้ลิ้มรสชาติของสตอเบอรี่ ที่ลูกโต สีแดงสด รสหวานฉ่ำ ที่สำคัญ ตอนนี้ ราคาสตอเบอรี่ไม่มีตกเลย เกรด A ราคาตลาดสดเชียงใหม่ กิโลกรัมละ 200 บาท ขึ้นไป

            เรียน webmaster ครับ มีรูปภาพ แต่ใส่รูปไม่ได้ โปรแกรมมันบังคับให้แนบไฟล์อย่างเดียว หรือว่าไหงทำไม่ถูกขั้นตอน?

รูปภาพของ จ๊องหยิ่นฮยุ๋ง

วัดเซนต์นิโคลาส

วัดสะนิกโกลัก => วัดเซนต์นิโคลาส (มีวัดนี้อยู่ในพิษณุโลกจริงๆ)

เซอเลอรี่ (celery) เป็นผักชนิดหนึ่งที่นิยมนำไปทำสลัด  ผักคึ่นช่ายของเราก็เป็นเซอเลอรี่ชนิดหนึ่งเหมือนกันครับ.

รูปภาพของ YupSinFa

ความน่ารักของคนแก่

                    ไหงพบปะพูดคุยกับอาสิ่วปัก ฟังกี๋พูดได้อย่างไม่รู้เบื่อ บรรดาแม้ค้าขายอาหารให้นักศึกษาราชมงคลที่เช่าร้านห้องแถวของกี๋ เห็นกี๋คุยกับไหง หน่วงเหนี่ยวไว้ ไม่ให้จากไปได้ง่าย ๆ พวกแม่ค้าพากันอมยิ้มไปตาม ๆ กัน (เหยื่อหลงมาเข้าปากแล้วยากที่จะให้หลุดไปง่าย ๆฮิฮิ)

                    นี้คือความน่ารักของคนแก่ ภาพของโกสิ่วในอดีต ยังจดจำติดตาไหงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แม้แต่ในบ้านของกี๋ มีรูปในตอนอายุ ช่วง 50 ปี กำยำแข็งแรง ไว้ผมรองทรง เส้นผมดำสนิท คล้ายกับหงาเก้อาปา มาก ๆ ปัจจุบัน ภาพชายวัยกลางคนที่แข็งแรงคนนั้น ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา เหลือเพียงชายแก่ผมหงอก ท่าทางใจดี มีเมตตา ถือไม้เท้าและเป็นอัมพฤกษ์ บุคลิกคล้ายกับอาปาของไหงมาก ดีแต่ว่า อาปาไหง ยังไม่ถึงกับหมดสภาพเหมือนอาสิ่วปัก

                   สำเนียงไทยกลางที่กี๋พูด หมู่บ้านวัด เซนต์นิโคลาส ชื่อนี้ เป็นชื่อทั่ว ๆ ไปของพวกคาทอลิกเขา เราก็ได้ยินบ่อย ๆ แต่ไหงได้ยินกี๋พูดออกมาว่า สะนิกโกลัก จริง ๆ ซึ่งก็ถูกของท่าน เราคนฟังต่างหาก ที่เขียนไปตามที่ท่านพูด คิดดูแล้ว น่ารักจริง ๆ (ไหงชอบคนแก่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อันที่จริง คนปัจจุบัน 70-80 ถ้ามีสุขภาพดีมาก ๆ จะดูไม่แก่เลย) แต่ภาพของอาสิ่วปัก ในตอนนี้ น่าเห็นใจเดินเหิร ก็ลำบาก เป็นธรรมดาของโลก

                   ต้องขอตอเซี้ย อาฮยุ่งโก มากจริง ๆ ที่ทำให้ไหงมีความรู้เพิ่ม ว่า เซอเรอรี่นี้ หน้าตามันเป็นอย่างนี้นี่เอง อันที่จริง ก็รู้จักอยู่หรอก เอามาต้มจืดก็บ่อย เพียงแต่ไม่รู้จักชื่อเท่านั้นเอง แถมไม่รู้ด้วยว่า เป็นชื่อเรียกของคื่นช่ายอีกอย่างหนึ่ง เปรียบเปรยว่าอย่างไรดี ใกล้เกลือกินด่างถูกไหม คงไม่ถูกเท่าไหร่เนาะ ขอยกย่องว่า อาฮยุ่งโกนี้ความรู้รอบตัวมากกว่าไหงจริง ๆ (เหนือกระดาษยังมีซาลาเปา-ฮา) ข้าน้อยขอคารวะ

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal