หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

ต้นแบบของ " ขักหงิ่น " เต็ม 100(1)

             เมื่อวันที่ 14 ก.ค.55 ไหง่มีโอกาสไปเที่ยวไต้หวัน 10 วัน ในวันต้นๆ ผู้อาวุโสไต้หวันนําเที่ยวที่ไทเปอันเป็นเมืองหลวง ที่จัดผังเมืองได้ดีมากๆ ตึกรามบ้านเรือนสร้างเป็นระเบียบ ได้มาตรฐานสากล ทั้งสะอาดสะอ้าน ในตัวเมืองหลวงนี้ มีตึกดังระดับโลกที่เรียกง่ายๆว่า ตึก 101 คือเท่าชั้นของตึก ใครอยากขึ้นไปชมวิวบนยอดตึกเสีย " 450 บาท " ต่อคน

              เขาพาไปเที่ยวตึกนี้เหมือนกัน และได้กินอาหารที่ชั้นล่างของตึก แต่ไม่ได้ขึ้นชมวิว เพราะแพงเกินไปสําหรับไหง่ หลังกินอาหารในตึกที่เคยได้ชื่อว่าสูงที่สุดในโลกแล้ว เขาก็พาเที่ยวชมอนุสรณ์สถานแห่งชาติ หรือจะบอกว่าเป็นอนุสาวรีย์ก็ไม่ผิด เพียง..

             เพียงรูปปั้นอนุสาวรีย์นี้ ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ภายในตึกที่เป็นห้องโถงขนาดสนามฟุตบอล ที่โล่งกว้าง ไม่มีเสาเกะกะตาสักต้น เรียกว่าเมื่อเข้ามาในห้องโถงนี้แล้ว เห็นสิ่งเด่นตระหง่านสง่างามที่สุดประการเดียว คือ " รูปปั้นสีดําขนาดใหญ่ ของ ดร.ซุนจุงซันซินซาง " ที่ถือเป็นบิดาแห่งจีนยุคใหม่ (เกว็ดฟู่) แต่ในตึกนี้ทําไม...

              มองไปทางไหนรอบรูปปั้น เต็มไปด้วยผู้คนยืนตลอดแนว นี่ถ้าไม่มีเชือกกั้น คงล้นไปถึงหน้ารูปปั้นที่นั่งแบบ ปธ.ลินคอน ของอเมริกา แล้วทําไมมุงดูมากอย่างนั้น?

             มองไปทางซ้ายของรูปปั้น จึงได้เห็นหุ่นทหารถือปืนยืนอารักษ์ขา ทางขวาก็เช่นกัน หุ่นนั้นเหมือนคนจริงมาก มิน่า ผู้คนถึงให้ความสนใจ แต่ก็ไม่น่ามากมายหลายร้อยเช่นนี้...

             ขณะกําลังมอง เออนั่น หุ่นขยับปืนได้ด้วย " นั่นเป็นทหารยาม ที่คอยอารักษ์ขาให้สมเกียติท่าน ปธ.ดร.ซุน เขาเป็นทหารจริงๆ " ผู้อาวุโสที่เป็นไกด์บอก กะเหรี่ยงไทยอย่างไหง่จึงค่อยหายโง่ด้วยความอยากรู้จึงถามต่อ..

              " ยืนนิ่งเป็นหุ่นอย่างนั้น ทั้งวันไม่เมื่อยตาหรือ? " ไกด์ยิ้มก่อนตอบ..

              " ยืนนิ่งเป็นหุ่นคนไม่สนใจมุงดูมากอย่างนี้หรอก! ทหารยามเกียรติยศผลัดเวรทุก 1 ชม. และตอนผลัดเวรนี่แหละที่คนสนใจ นั่นๆพิธีเริ่มแล้ว " ไหง่เห็นคนจํานวนมาก หันไปมองทางด้านขวามือของดร.ซุน มีทหารหมวดหนึ่ง ในชุดขาวที่งามสง่าด้วยวัยหนุ่ม เดินด้วยลีลาองอาจเข้มแข็ง ตรงมาที่หน้าแท่นอนุสาวรีย์ แล้วทําความเคารพ ตอนผลัดเปลี่ยนส่งมอบหน้าที่ มีการควงปืนยาวและกระทืบเท้าเสียงดัง เป็นภาพที่ไม่บรรยายไม่ถูก รู้แต่ว่าจริงจังน่าประทับใจ

             หลังเสร็จพิธีผลัดทหารรักษาการเกียรติยศแล้ว ผู้คนจึงค่อยๆทยอยออกจากตึก แล้วคนกลุ่มใหม่ ซึ่งมีทั้งชาวไต้หวันและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากจีนแผ่นดินใหญ่ จะทยอยกันเข้ามาดูทุกรอบตลอด 12 ชม. จวบปิดตึกอนุสรณ์ฯ

             คุณความดีของซุนจุงซันซินซาง เชื้อสายขักกาหงิ่น ผู้เป็นต้นคิดหลักการปกครองประชาธิปไตยแบบ " ไตรราษฎร์ " (ซานหมินจู้อี่) 1.หมินจู๋(ประชาชาติ ชนเผ่าต่างๆในจีน) 2.หมิ่นเฉวียน(ประชาสิทธิ์ สิทธิในทรัพย์สินต่างๆของชาติ) 3.หมิ่นซาง(ประชาชีพ สวัสดิการที่ดีของประชาชน) หลักการปกครองนี้ แม้ไม่ได้ใช้ที่จีนแผ่นดินใหญ่เมืองมาตุภูมิ แต่ก็ใช้ได้ดีในไต้หวัน ความจริงอีกข้อ อนุสาวรีย์ ดร.ซุนนี้ ในจีนสร้างไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่บ้านเกิด ใช้หยกขาวทั้งแทง สลักเป็นรูปเหมือนเท่าตัวจริง ท่านเป็นแบบฉบับของขักกาหงิ่นที่ " ไว้ทั้งลาย(ลัทธิไตรราษำร์ ) และไว้ชื่อเสียงเกียรติยศ " ลือลั่นสะท้านฟ้าจริงๆ แต่เรื่องที่เกี่ยวกับขักกาหงิ่นในไถจงยังน่าติดตามต่อในตอน 2...


รูปภาพของ ฉินเทียน

ดร ซุนจงซาน คือ ขักหงิ่น ที่สมควรได้รับการยกย่อง

ไต้หวัน มีสภาพ เป็นมณฑล แห่งหนึ่งของจีน ตามความเข้าใจของ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการปกครองในรูปแบบพิเศษ อีกรูปแบบหนึ่งตามแนวคิดหนึ่งประเทศสองระบบ

แต่ชื่ออย่างเป็นทางการของไต้หวัน คือ สาธารณรัฐจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ให้เสรีภาพในทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม   ประชาชนมีสิทธิเลือกว่าจะอยู่แบบรวย หรือ แบบจน ตามแต่ที่ตนจะชอบ และ ได้รักษาวัฒนธรรมของชาติจีนไว้หลายอย่าง เช่น ตรุษจีน เทศกาลโคมไฟ เชงเม้ง การแข่งเรือมังกร เทศกาลบะจ่าง สารทจีน ไหว้พระจันทร์ เทศกาลขนมบัวลอย  ฯลฯ  ซึ่งในปัจจุบัน ประชาชนในแผ่นดินใหญ่บางท่าน ยังต้องไปศึกษาดูงาน เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน ในไต้หวัน ซึ่งที่ไต้หวันยังคงรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา และทราบอารยธรรม ซึ่งมีมาแต่อดีต

หมายเหตุ ในยุคสมัยอันเลวร้าย บนแผ่นดินใหญ่ ทำให้สมบัติของชาติต้องถูกทำลายไปอย่างมากมาย แต่ปัจจุบันมีการขุดค้นพบมากขึ้น  ไหง ขอให้อย่าถูกพวกแก๊ง อันตพาลสี่สหาย หวนกลับมาทำลายอีก 

ต้นแบบของ " ขักหงิ่น " เต็ม 100 (2)

           ขอบคุณท่านฉินเทียน และผู้ที่จะเข้ามาให้ความเห็นล่วงหน้า อันเป็นการเจาะลึกเพิ่มเติมเต็มในส่วนที่ขาด ไหง่ไปเที่ยวในฐานะผู้สังเกตการณ์แค่ 10 วัน คงได้เห็นแต่กายภาพภายนอกของเกาะไต้หวัน

            จากประเทศไทยบินไปเกาะไต้หวัน ใช้เวลาประมาณ 3.30 ชม. ในระดับความสูง 12 กม. ความเร็ว 980 กม.ต่อ ชม. ตอนนั่งอยู่ในเครื่องฯ ได้ยินเสียงเครื่องไอพ่นและแรงเสียดทานของอากาศกับตัวเครื่องบิน ตลอดการเดินทาง 3 ชม.ครึ่ง จนถึงสนามบินเถาหยวนในกรุงไถเปยหรือไทเป 

          การโดยสารทางเครื่องบิน มีผู้นําบางคน โดยเฉพาะผู้นําของเกาหลีเหนือคนก่อน ไม่นั่งเครื่องบินไปต่างประเทศตลอดชีวิตการเป็นผู้นําของเขา เพราะหากเกิดอะไรขึ้นกับเครื่อง โอกาสรอดแทบเป็น 0 ท่านจึงเลือกใช้ทางบกหรือทางนํา เพราะมีโอกาสรอดมากกว่าเครื่องบินหลายเท่า!

           ช่วงบินเข้าเกาะไต้หวันทางเหนือ จะเห็นสนามกอร์ฟขนาดใหญ่มากหลายสนาม มองลงไปทางหน้าต่างเครื่องฯ นับเป็นสนามกอร์ฟที่จัดได้สวยงาม เหมือนล่อตาล่อใจบรรดาเศรษฐีให้นําลายหก ก่อนลงจากเครื่องฯมาที่สนามจริง นับเป็นกลยุทธที่ชาญฉลาดในการหาเงินเข้าประเทศ

          สถานที่ไหง่เข้าพัก พูดแล้วออกจะแปลกๆ คือแทนที่จะเป็นโรงแรม แต่เป็นภัตตาคารขายอาหารเจเท่านั้น แต่ความแปลกในสิ่งดีในแบบที่จะไม่พบในเมืองไทย คือภัตตาคารแห่งนี้ ชั้น 2 เป็นที่อบรมคุณธรรมสําหรับเด็ก 10-15 ปี ส่วนชั้น 3 ใช้อบรมอนุตตรธรรมเทียนเต๋า สําหรับผู้อาวุโส 30 ปีขึ้นไป ซึ่งต่างกว่าประเทศไทยอย่างหน้ามือเป็นหลังเท้าทีเดียว เพราะเรามีภัตตาคารที่เรียกว่าคอมเพล็ก มีห้องอาหาร บาร์เต้นรํา และอบอาบนวด เรียกว่าสร้างกระแสทรามทางโลกีย์ให้สุดลิ่มทิ่มประตู ส่วนบนชั้น 4 ใช้เป็นที่พักของคนในภัตตาคาร ชั้น 5 ใช้เป็นที่พักแขกต่างเมือง

             ภัตตาคารอาหารเจที่ตั้งอยู่กลางเมืองไทเปนี้ ยังแปลกกว่าภัตตาคารที่เห็นในเมืองไทย คือ ดูภายนอกก็เป็นตึกธรรมดาเรียบๆ ไม่มีอาหารอะไรโชว์เลย แถมห้องอาหารยังอยู่ชั้นใต้ดิน ผู้เข้ามาใช้บริการแทบเรียกได้ว่า เป็นขาประจํา ขาจรน้อยมากๆ การค้าแบบนี้ เท่าที่เห็นมีแต่ฮากกาเท่านั้น อย่างเช่นที่วงเวียนใหญ่(ฝั่งธนฯ) เขาขายแบบคนที่รู้กัน คนที่ไม่รู้ก็แทบหมดสิทธิ์เข้ามากิน เพราะไม่มีตู้โชว์อะไรเลย และที่นี่มีแต่อาหารฮากกาเท่านั้น(เดี๋ยวนี้คนทําคงตายแล้ว จึงเลิกกิจการไป)

          เราวกเข้ามาที่ภัตตาคารเจในไทเป ที่นี่เน้นขายเฉพาะช่วงเที่ยง กับช่วงเย็นเท่านั้น อาหารเจมีเป็นร้อยอย่าง ตักแบบบุฟเฟ เขาคิดราคาเป็นขีดๆตามเครื่องชั่ง มาตรฐานเดียว คิดเป็นเงินไทย 20 บาทเศษต่อ 1 ขีด(100 กรัม) คนที่เข้ามากินอาหารแบบช่วยตัวเองในภัตตาคารนี้ ถือว่าซื่อตรง เพราะคนเป็นร้อย พนักงานของภัตตาคารมีไม่กี่คน ซึ่งคอยเก็บจาน เขาไม่ใส่ใจคนตักอาหารเลย แต่คนที่นี่ก็ไม่โกง ตักแล้วเรียงคิวกันไปชั่งเพื่อจ่ายเงิน การที่คนไต้หวันไม่โกง เพราะรัฐบาลและเอกชนช่วยกันอบรมคนให้มีคุณธรรมและทําให้ทุกคนมีงานมีเงินกันถ้วนหน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐฯและเอกชน ที่ต้องทําให้ " หมิ่นซาง ประชาชีพ " กินดีอยู่ดีมีมาตรฐาน ไม่ใช่นายดี-บ่าวแย่ เรียกว่าเขาพัฒนาความคิดของ ดร.ซุน อย่างเป็นรูปธรรม 

         ถ้าถามว่า ดร.ซุน ได้ความคิดแบบนี้มาจากไหน ดูจากประวัติท่านแล้ว มันเป็นมาแต่เด็กทีเดียว คือได้เห็นเรือสินค้าของฝรั่งลําใหญ่โตสร้างด้วยเหล็ก แต่เรือสําเภาของจีนสร้างด้วยไม้ ยังไม่ได้ 1ใน3ของเรือเหล็ก นั่นหมายความว่าจีนล้าหลัง ท่านเคยตั้งคําถามกับเด็กวัยเดียวกันว่า " เราเป็นชาวจีนใช่ไหม? " เพื่อนพยักหน้า " แล้วภาษาในเหรียญเงินนี้ ใช่ภาษาจีนหรือไม่ " เพื่อนส่ายหน้าก่อนตอบ " มันเป็นภาษาแมนจู ไม่ใช่จีน " เด็กชายซุนพยักหน้า แล้วพูดกับเพื่อน " ถ้าอย่างนั้น แมนจูมันก็ทําให้จีนล้าหลัง "

        และสิ่งที่ทําให้แนวความคิดเด็กชายซุนก้าวไกล คือการได้ศึกษาภาษาอังกฤษกับบาทหลวงชาวคริสต์โดยตรง ต่างจากหงซิ่วชวนที่ได้เพียงหนังสือเผยแผ่คริสต์ศาสนา ยิ่งได้ครอบครัวส่งเสียให้เรียนแพทย์ในฮาวาย ความคิดเขาเหมือนเสือติดปีก ดีกรี ดร.ทางแพทย์ ทําให้คําพูดและทฤษฏีของเขามีนําหนัก เขาพูดจากประสบการณ์จริงว่า ทําไมประเทศจีนที่กว้างใหญ่ไพศาล เต็มไปด้วยทรัพพยากรธรรมชาติ แต่ทําไมคนจีนยังยากจน ต้องขายไร่-นา เสี่ยงชีวิตตากหน้าไปทํามาหากินต่างประเทศ แต่คนต่างประเทศกลับเข้ามาเสพสุข หาความรํารวยจากทรัพพยากรของจีนได้ อย่างนี้ถ้าไม่หมายความว่าแมนจูปกครองจีนไม่ดี จะปล่อยอย่างนี้ต่อไป จีนก็คงเป็นขี้โรคแห่งเอเซีย ให้เขาหยามหยันไปชั่วลูกหลานหรือ?

          นั่นหมายความว่า สิ่งที่ ดร.ซุนคิดเห็นมาแต่เด็ก ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนานี้ มีหลักอยู่ 3 ประการ ที่ทําให้ฉลาดปราดเปรื่อง คือ 1.พัฒนาให้มีร่างกายแข็งแรง 2.เมื่อร่างกายแข็งแรง ก็พัฒนาสมองให้มีความคิดความจําดี 3.เมื่อความคิดความจําดี ก็พัฒนาจิตใจให้แข็งแกร่ง เพื่ออดทนต่อการทํางานใหญ่ให้บรรลุเป้าหมาย พลังทั้ง 3 ประการนี้ สอดประสานเกี่ยวเนื่องกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ อาจมีคนแย้งว่า คนสมองดีแต่ร่างกายไม่แข็งแรงมีถมไป นั่นส่วนใหผญ่เมื่อเลยวัยกลางคนไปแล้ว แต่เขาใช้พลังจิตพอทดแทนได้ แต่หากบกพร่องเรื่องความคิดหรือจิตใจ ก็ถือว่าหมดสิทธิ์ทํางานใหญ่ได้ เพราะกําลังร่างกายไม่อาจทดแทนความคิดได้นั่นเอง!

           ถ้าจะถือว่า ดร.ซุน มีแรงบรรดาลใจจากสิ่งแวดล้อมก็ไม่ผิด ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ แม้แม่ของปราชญ์เมิ้งจื้อ ยังให้ความสําคัญอย่างยิ่ง คือยอมย้ายบ้านที่อยู่ใกล้สุสาน เพราะเห็นเมิ้งจื้อเล่นฝังศพกับเพื่อน แต่พอย้ายมาที่ตลาด เห็นลูกเล่นขายของพูดจาเลียนแบบแม่ค้า จึงย้ายบ้านอีกครั้ง คราวนี้มาอยู่ใกล้โรงเรียน เมิ้งจื้อก็เลียนแบบครูอาจารย์ แม่เขาเห็นแล้วพอใจ จึงปักหลักอยู่ถาวร เพื่อให้เมิ้งจื้อได้ซึมซับความรู้ความเป็นปราชญ์ ซึ่งต่อมาก็สมใจ และเป็นที่มาของคําว่า " ย้ายบ้าน 3 หนเพื่อลูก "

           อาเม้ไหง่กื๋อไม่ได้เรียนหนังสือ แต่กื๋อบอกเสมอว่า " หงิ่นยิวหวุ่นหมิ่น ไท้กาโว้ยจุงกิ้น " คนมีวิชาความรู้ทางอักษรศาสตร์ จึงเป็นที่เคารพนับถือ เรื่องนี้อาจไม่จริงในสังคมไทย แต่อย่างน้อยเขาก็ไม่กล้าดูถูก และไม่ถูกใครหลอกง่ายๆ

          ว่ากันตามจริง การอบรมลูกของขักหงิ่นหรือคนจีน มักใช้สิ่งแวดล้อมในครอบครัวอันเป็นของจริง มาสอนกันให้เห็นๆ อย่างเช่น หลู่ซินซึ่งเป็นนักปรัชญา ได้ใหข้อคิดสําหรับคนเป็นพ่อแม่ว่า " แม่เสือยังรู้จักรักลูกเสือ วีรชนไม่ว่ายิ่งใหญ่เกรียงไกรแค่ไหน ก็รักลูกของตนเช่นกัน...ต้องยอมเหนื่อยยันประตูแห่งความมืดมิดไว้ แล้วให้เยาวชนเดินสู่โลกกว้างที่สว่างไสว ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในวันคืนแห่งความสุข ....เยี่ยงมนุษย์อย่างเต็มภาคภูมิ...และหลุดจากความโหดร้ายทั้งปวง ทั้งก้าวสู่ความรุ่งโรจน์มิรู้สิ้น...." 

รูปภาพของ ฉินเทียน

น่านับถือ อาเม้ ของ Xjungrai

Xjungrai เขียนได้น่าติดตาม และประทับใจ สอดแทรกคุณธรรม ไหง ขอนับถือ

ต้นแบบของ " ขักหงิ่น " เต็ม 100 (3)

           ที่ไต้หวันรถยนต์ใช้พวงมาลัยซ้าย กลับตรงข้ามบ้านเราพวงมาลัยขวา รถยนต์ที่วิ่งในกรุงไทเป 90% เป็นรถยนต์เก๋งส่วนบุคคล รถแท๊กซี่มีน้อยถึงน้อยมาก แม้มีรถวิ่งบนถนนมากมาย แต่รถไม่ติดเลย เพราะถนนในไทเปกว้างแบบถนนราชดําเนิน ยาวตลอดรอบกรุงไทเป ปัญหารถติดไหง่จึงไม่เห็น ทั้งที่รถราเขามากกว่าเรา

          ในวันที่ 2 ของการเที่ยวไทเปหรือภาคเหนือของไต้หวัน เขาพาไปเที่ยวภูเขาไฟ ขอบอกเป็นเกร็ดความรู้นิดหนึ่ง สาธารณรัฐจีนไต้หวัน พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ 60% เป็นภูเขา ไทเปเมืองหลวงจึงอยู่ท่ามกลางภูเขา ภูเขาไฟที่เขาพาไปเที่ยว ห่างจากไทเปประมาณ 50-60 กม. เป็นภูเขาไฟแบบเปียก คือ ไม่มีไฟหรือลาวาร้อนระอุแบบที่เห็นในหนัง มีแต่ไอนําพวยพุ่งจากปล่องเล็กเป็นระยะๆ ขณะไอพวยพุ่งจะมีเสียงฟืดฟาดได้ยินชัด เหมือนกับว่าเป็นลมหายใจของภูเขาก็ว่าได้

         ที่นี่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ไม่น้อยเหมือนกัน ที่สําคัญเป็นขักกาหงิ่นที่พูดกันรู้เรื่อง สาเหตุที่รู้ เพราะคนในคณะไหง่อยากถ่ายรูปชาวคณะ โดยมีแบล๊คกราวข้างหลังเป็นภูเขาไฟ ไหง่ได้ยินนักท่องเที่ยวจีนพูดขักฟ้ากัน จึงขอให้เขาเปิดทาง โดยพูดขักฟ้า "ไท้กาตุ้ยอื่มชู้ ซ่ามชุดหล่อยยี่ติด ไหง่เต้นหงิ่นโอ้ยย่างโซว้ง " ท่านทั้งหลายขอโทษ ขอทางให้เราได้ถ่ายภาพหน่อย นักท่องเที่ยวนั้นเปิดทางสะดวกให้ทันที ทั้งมองอย่างสงสัย ใจคงคิดว่า " เอ ไม่ใช่คณะทัวร์เรา แต่มันพูดขักฟ้าได้แฮะ! "

        ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทําไมไหง่ไม่เอาภาพมาลงบ้าง ข้อแรกลงไม่เป็น ข้อสองไหง่เลิกเล่นกล้องมานานนับสิบปี กล้องเก่ามีหลายอัน ไม่ว่าแคนนอน ยัวชิก้า ล้วนใช้ฟิล์ม ติดไปก็อายเขา จึงไม่มีภาพมาลงให้เห็น ซึ่งนับว่าล้าสมัยมาก ข้อนี้ต้องยอมรับ แต่ในเรื่องข้อความ รับรองได้เต็มๆ

         ขากลับช่วงเที่ยง แวะร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีอยู่เต็มสองข้างทาง เป็นร้านค้าของชาวบ้านย่านใกล้ที่ท่องเที่ยวทั้งนั้น ไม่มีร้านเซเว่นที่ดกดื่นอยู่ในบ้านเราเลย ที่สําคัญเจ้าของร้านก็เป็นขักหงิ่น พอรู้ว่าคณะของเราเป็นศิษย์อาจารย์จี้กงที่มาจากเมืองไทย กื๋อไม่คิดเงินข้าวกล่องเจ 8 กล่องฟรีๆ ไหง่พยายามยัดเยียดให้ก็ไม่เอา กื๋อบอกเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน และอยากร่วมบุญบ้าง เออ นับว่าแปลกอีกเรื่อง เราเป็นฆาราวาสไม่ใช่พระซักกะหน่อย มาร่วมบุญกะเราได้ได้แฮะ?

           แต่เมื่อนึกไปถึงอาจี้ " ฉิ่นซู้คยุก " หรือ เฉินซู้จวี้ แม่ค้าผักนักบุญ ที่วี่ฟัดโกนําเสนอ ไม่น่าเชื่อว่าแม่ค้าขายผัก จะเอาเงินขายผักมาบริจาคเป็น 10 ล้าน จนดังกระหึ่มไปทั่วโลก มาเจอเข้ากับตัวเอง ก็ต้องเชื่อเหมือนกัน เพราะคนเมื่อมีคุณธรรม มีเศรษฐกิจส่วนเกิน ก็ย่อมแบ่งปันให้กัน โดยเฉพาะคนในไต้หวัน กินเจกันเกือบค่อนประเทศ พืชผักอุดมสมบูรณ์ ทั้งขายได้ราคาดี มีเงินเหลือใช้ก็คืนให้สังคม มันต่างกว่าสังคมบ้านเรา ที่แม่ค้าขายผัก มีรายได้ไม่ดีเท่าเขา แถมอยู่ในแวดล้อมสังคมทราม ต้องขอยืนยันอีกครั้งว่า สังคมทราม เพราะในตลาดมีแต่หวยปิงปอง จับยี่กี มาคอยดูดเงิน หากมีใครคิดอยากต้านกระแสทราม อาจมีอันตราย จึงพากันนิ่งแล้วพูดว่า " กรรมใครกรรมมัน! " ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

         แต่สําหรับไหง่ ในการได้มาเที่ยวที่ไต้หวันนี้ ต้องพึ่งคนอื่นตลอด และการที่เขาให้พึ่ง ว่าไปแล้ว เกิดจากคําสอนของอาเม้แท้ๆ คือ ต้องเรียนรู้ศึกษาหนังสือ จนได้อาศัยความรู้จากสิ่งที่ศึกษา มาประพฤติปฎิบัติแบบมีคุณธรรม จนคนเขาเห็นความดีบ้างเลยยอมให้พึ่งทั้งที่ไหง่ไม่ร้องขอ...ตอนหน้าไปไถตงหรือภาคกลาง

ต้นแบบของ " ขักหงิ่น " เต็ม 100 (4)

                ที่ไทเปเมืองหลวงเกาะไต้หวันนี่ ไหง่แทบไม่ได้ลงเดินในเมืองใหญ่ที่ทันสมัย เต็มไปด้วยตึกระฟ้า บ่งบอกถึงลักษณะธุรกรรมว่า ต้องเป็นวิสาหกิจใหญ่ระดับชาติ เราได้แต่นั่งรถผ่าน เพื่อไปสถานท่องเที่ยวนอกเมือง เพราะในเมืองหากเข้าห้าง อย่างตึก 101 ที่ใหญ่โตสูงตระหง่านฟ้า แค่เดินเที่ยวดูการตบแต่งในสไตลฺจีน ก็แทบคุ้มค่าเครื่องบินแล้ว ส่วนการจะช๊อปปิ้งซื้อของ ต้องกระเป๋าหนักจริง เพราะข้าวของที่นี่แพงเอาเรื่อง

             คืนวันที่ 3 ก่อนออกจากกรุงไทเป เขาได้พาเที่ยว " เหล่าเจีย " ซึ่งคล้ายตลาดเก่าหรือสําเพ็ง มีข้าวของมากมาย ทั้งอุปโภค-บริโภคให้เลือกซื้อเลือกชม ในระดับราคาชาวบ้าน เหล่าเจียนี้น่าจะเป็นแหล่งการค้าเมืองเก่า ที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองใหม่เขาเปิดเหมือนถนนคนเดิน มีถนนขนาด 3 เลนซ์ สองข้างเป็นตึกแถวพาณิชย์ 4 ชั้น ดูสะอาดตา แผงลอยหน้าร้านคล้ายบ้านเรา เขาเปิดให้คนเดิน-คนซื้อของถึง 4-5 ทุ่ม ภาษาที่ใช้ในไทเป คือผูทงฮว่าหรือจีนกลาง ไม่ค่อยได้ยินพูดฮกเกี้ยนกันเลย!

            ที่เหล่าเจียนี้ คนไต้หวันเดินกันขวักไขว่แบบสบายๆ พ่อค้า-แม่ขายส่วนใหญ่อยู่ในวัยทํางาน คอยให้บริการลูกค้าอย่างเอาใจใส่ และให้ลูกค้าได้ต่อรองราคากันได้เพลิดเพลิน ไม่ติดป้ายขายตายตัว ทําเอาคนซื้อจ่ายเงินเพลินจนตัวเบา

           ความรู้สึกของไหง่และคนไทยสายจีนที่ไปด้วยกัน เราเหมือนเที่ยวอยู่ในหมู่พี่น้องร่วมสายเลือด ไม่รู้สึกว่าเรามาเที่ยวต่างบ้าน-ต่างเมืองเลย คงเพราะคนที่นี่ก็เป็นคนจีนเช่นเดียวกับเรากระมัง ทั้งไม่เห็นเราเป็น " หมูสยาม " แบบที่เคยได้ยิน สําหรับคนที่เคยไปเที่ยวฮ่องกงในรุ่นก่อนๆ

          รุ่งเช้าของวันที่ 4 ทุกเช้าของภัตตาคารเจ อันเป็นที่พักของเรา ทุกเช้า 6 โมง ต้องทําพิธีไหว้พระในแบบ " เทียนเต๋า " พร้อมกับคนในภัตตาคาร ล้วนเป็น สว.สูงวัย 50-80 ปี แต่ยังดูกระฉับกระเฉง คงเพราะบารมีจากสิ่งศักดิ์และบรรพชนจีนที่ปกแผ่นั่นเอง คนในภัตตาคารเจนี้ ดูเหมือนนักบวช แต่ก็ทํางานทําอาหารกันทุกคน แถมวันอาทิตย์ยังต้องเป็นวิทยากรอบรมเรื่องคุณธรรมแบบปรัชญาเต๋าและพุทธอีก เขาเป็นคนไม่ธรรมดาจริงๆ

          ช่วงสาย รถของภัตตาคารเจ มาส่งเราที่ท่ารถบัสโดยไปไถตง เราต้องซื้อตั๋วแล้วนั่งรอให้พนักงานเรียกให้ขึ้นรถ ไม่ใช่แบบบ้านเราที่ต้องช่วยตัวเอง  รถบัสปรับอากาศที่นี่ ตรงที่นั่งมีที่ปรับเสียงเวลาดูโทรทัศน์ที่ติดตั้งในรถ เสียงดัง-เสียงค่อยได้ตามใจ คล้ายที่นั่งในเครื่องบินเลย รถบัสในบ้านเราไหง่ยังไม่เห็นมีเท่าที่นั่งมา!

          จากไทเปไปไถตงใช้เวลาประมาณ 3 ชม.ทางหลวงที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับแบบทางด่วนบ้านเรา เพียงแต่สูงกว่า เพราะตัดตรงผ่านป่าเขา และรูปทรงของสะพานที่นี่มีหลายแบบ ทั้งสะพานแขวนและไม่แขวน ดูแปลกตาระหว่างการเดินทางแบบสบายๆ ถนนเรียบปริบไม่มีขรุขระตลอดเส้นทางถึงไถตง

          ที่เมืองไถตงเทียบได้กับสีลม คือมีตึกขนากลางอยู่มาก ตึกสูงแบบไทเปแทบไม่มีแต่ถนนกว้าง 6 เลนซ์ ทั้งรถส่วนตัวโดยเฉพาะรถมอร์เตอร์ไซค์ที่นี่มากกว่าไทเป สภาพเมืองไถตงนี้ คล้ายย่านเยาราชมาก คือร้านค้าเต็มไปด้วยป้ายภาษาจีนเต็มไปหมด แต่ร้านสะดวกซื้อแบบ เซเวนฯแทบไม่มี คงเพราะเขาเน้นส่งเสริมให้คนพื้นที่ค้าขายกันเอง ไม่ให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาแย่งอาชีพพลเมืองของเขา และที่เมืองนี้เอง มีร้านขายอาหารเจอยู่ทุกหัวระแหง ที่สําคัญเจ้าของร้านเจบางร้าน ออกไปตั้งสถานธรรมในเมืองไทย เขมรและเวียตนาม ตลอดถึงมาเลฯและสิงคโปร์ ใช้เงินที่กําไรจากการขายอาหารเจล้วนๆ เรียกว่าบุญต่อบุญต่อกุศลไม่สิ้น ที่รู้เพราะไกดฺอาวุโสพาไปกินอาหารเจและได้พบเจ้าของร้าน ซึ่งอายุถึง 80 เศษ แต่ยังบินไปบินมาเพื่อเผยแพร่อนุตตรธรรมไม่หยุด อายุเป็นเพียงตัวเลขของท่านเหล่านี้จริงๆ

          หลังกินอาหารเย็น ซึ่งเป็นอาหารเจแบบชั่งกิโล ซึ่งคนหนึ่งตกประมาณ 8-90 บ.ซึ่งอร่อยและมีคุณค่าทางอาหารเต็มร้อย ดูได้จากตลอดการท่องเที่ยว คณะของเราไม่มีใครอ่อนเพลียเลย อยู่บนรถถ้าไม่คุยก็ดูวิวทิวทัศน์ หลายครั้งที่ชี้ให้ดูรูปปั้น " กวนอู " ใหญ่ขนาดน้องพระที่พุทธมณฑล คือเด่นเป็นสง่าเห็นแต่ไกล อยู่ในท่านั่ง ถ้ายืนคงไม่แพ้พระที่พุทธมณฑลแน่ๆ

         ช่วงคําอาวุโสไต้หวันพาไปพักที่ตําหนักกวนอู ซึ่งอยู่บนเขา เป็นตึกเก๋งทรงจีนมี 4 ชั้น สามารถเห็นตัวเมืองไถจงยามคําคืนได้รอบทิศทาง เพราะตัวเมืองตั้งอยู่ในแอ่งกะทะ ที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ตลอดทางที่รถวิ่งขึ้นเขานี้ มีบ้านเรือนตั้งอยู่ตามสันเขา แต่มองจากภายนอกไม่ค่อยเห็น เพราะกลมกลืนไปกับป่าไม้ เขาไม่ได้ตัดถางให้บ้านมีพื้นที่โล่งแบบบ้านบนเขาในเมืองไทยเลย

          สิ่งแรกเมื่อขึ้นบนหน้าตําหนัก เราเห็นรูป " เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ " หรือ " กวนอู " ขนาด 5 เท่าของคนจริง นั่งเด่นเป็นสง่า หันหน้ามองออกไปทางเมืองไถจง ดูแล้วคล้ายๆกับศาล " เจ้าพ่อกวนอู " ที่สมาคมฮากกา ที่ตั้งอยู่ชั้นบนสุดของตึกสมาคม เพียงแต่เล็กกว่านับสิบเท่า

         การที่ชาวเมืองไถจง กราบไหว้สักการะเจ้าพ่อกวนอูไปทุกหัวระแหง แบบเดียวกับชาวฮากการุ่นก่อนๆ มีนัยสําคัญเรื่อง " คุณธรรม " และ " ความซื่อสัตย์ " อันเป็นวิถีแห่งความเจริญและมั่นคงของสังคม โดยมี " ยอดคนกวนอู " เป็นต้นแบบ ที่เราจะกล่าวถึงในตอนหน้า...!

         

ต้นแบบของ " ขักหงิ่น " เต็ม 100 (5)

               ที่ไถจงค่อนไปทางไถหนาน มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อ  " ยื่อเยี่ยถาน " ที่คนไต้หวันและทั่วโลกนิยมไปกันมาก ที่นี่มีเขื่อนเก็บนําสร้างบนเขาที่เต็มไปด้วยทิวทัศน์ธรรมชาติงดงาม และอากาศสะอาดบริสุทธิ์

                 แต่สิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวไม่น้อย คือกระเช้าลอยฟ้า คอยบริการคนนับพันนับหมื่นในแต่ละวัน เพราะกระเช้านั่งได้ 6 คน มันหมุนเคลื่อนตลอดเวลาไม่มีหยุด จากฐานเคลื่อนลอยสูงจากพื้นดินหลายร้อยเมตร คล้ายนั่งอยู่บน ฮ. แต่เงียบ มองทิวทัศน์เห็นนําในทะเลสาบสีครามและสีเทาขุ่น

                 ระหว่างเคลื่อนผ่านป่าและหุบเหว เห็นแต่ต้นไม้เขียวขจี ระยะทางผ่านยอดเขา 2 ลูก ประมาณ  1.5 กม. ใช้เวลา 10 นาทีเศษ หากใช้เดินปีเขา 2 ลูก สําหรับคนร่างกายแข็งแรงปกติ คงไม่น้อยกว่า 2 ชม. ขากลับคงใช้เวลามากกว่า เพราะเหนื่อยล้า

                การท่องเที่ยวชมทัศนีภาพของยื่อเยี่ยถานระดับสุดยอด โดยการนั่งกระเช้าลอยฟ้า ประหยัดเวลาได้หลายเท่า อีกทั้งปลอดภัยที่สุด เพราะเวลาฝนตก พายุลมแรงเขาจะหยุดไม่ให้บริการ

                หลังนั่งกระเช้าลอยฟ้าแล้ว ได้มาเที่ยวอีกที่หนึ่งของยื่อเยี่ยถาน เป็นเจดีย์จีน 12 ชั้น ที่นี่ถือได้ว่าสุดยอดอีกเหมือนกัน คือ เมื่อขึ้นถึงยอดเจดีย์นี้ จะได้เห็นทิวทัศน์ของที่นี่แทบทั้งหมด เพราะเจดีย์ตั้งอยู่บนยอดเขาอีกที ตอนที่ยังไม่สร้างกระเช้าลอยฟ้า ที่นี่จะมีนักท่องเที่ยวคับคั่ง เห็นได้จากอาคารร้านค้าที่อยู่ด้านขวาของเจดีย์ มีหลายสิบคูหา ทั้งมีห้องนําสะอาดหลายห้องคอยให้บริการฟรี!

                เป็นธรรมดา เมื่อมีสิ่งใหม่ทันสมัยที่ให้บริการแบบไม่ต้องออกแรงให้เหนื่อย คนจึงแห่ไปใช้กระเช้าอย่างที่ว่า แต่จริงๆแล้ว ตรงจุดชมวิวบนเจดีย์นี้ดีกว่า แถมยังไม่ต้องเสียเงิน เพียงเสียแรงบ้างในการขึ้นเขา และการขึ้นยอดเจดีย์

               ช่วงขึ้นกระเช้าฯเป็นจุดที่ 2 ขึ้นเจดีย์บนยอดเขาเป็นจุดที่ 3 ส่วนจุดแรกจุดที่1 ของยื่อเยี่ยถานนี้ เป็นตําหนักหรือศาล " เจ้าพ่อกวนอู " ซึ่งมีขนาดใหญ่และสง่างามมาก ยิ่งองค์เจ้าพ่อกวนอูในชุดสีทองก็ยิ่งงดงาม แต่ชาวจีนไต้หวันได้เลื่อนระดับให้ท่านเป็น " เหวิน อู่ ตี้ " (เทพเจ้าแห่งปราชญ์+สงคราม) มีนักท่องเที่ยวจํานวนมากรวมทั้งไหง่และคณะ เข้ามาเที่ยวชมและกราบไหว้ โดยเฉพาะไหง่ขักกา กราบไหว้ท่านมาตั้งแต่เดินได้ เพราะทุกวันสําคัญของจีน อาเม้จะพาไหง่มาที่สมาคมจีนแคะ(ตอนนั้นยังไม่เปลี่ยน) ขึ้นไปชั้นบนสุดไหว้ " กวนกุง " หรือกวนอูนี่แหละ

              เคยคิดอยู่เหมือนกันว่า ทําไมขักกาหงิ่นรุ่นเก่าๆ ถึงกราบไหว้ให้กวนกุงเป็นที่ยึดเหนี่ยวใจ ทําไมไม่ให้ความสําคัญกับ " ฉ่อยเสิ่นหย่า " (ใช้ซิ้งเอี้ย)หรือฟุกหลุกโซ่ว ที่ล้วนให้โชคลาภและความสุขสบาย แบบจีนเฉ่าจูที่เน้นไหว้เทพเหล่านี้ แต่ขักกาหงิ่นกลับไม่ให้ความสําคัญมากนัก โดยเฉพาะที่ไต้หวันนี้ เขาไม่นิยมไหว้กันสักเท่าไหร่ สาเหตุน่าจะมาจากความจริงทางประวัติศาสตร์ เทพที่เฉ่าจูนิยม เป็นการบอกเล่า มีประวัติไม่แน่นอน ส่วนกวนอูมีหลักฐานชัดเจนทางประวัติศาสตร์ และขักกาหงิ่นซึ่งเป็นนักต่อสู้ ยอมถือเป็นต้นแบบเพื่อสังคมเป็นสุข ดังไหง่จะเกริ่นกล่าวโดยย่อดังนี้...

            1.รักความยุติ ท่านอายุ 19 ปี ได้สังหารนายอําเภอและเจ้าเมืองผูโจวจอมกังฉิน กินโกงไม่พอยังฉุดคร่าลูกสาวชาวบ้านเป็นนางบําเรอ

            2.ซื่อสัตย์ต่อพี่น้องร่วมสาบาน ยอมยืนยามเฝ้าพี่สะใภ้เมียเล่าปี่ทั้ง 2 คน ตากอากาศหนาวอยู่นอกเต้นท์ ไม่ยอมเข้าข้างในเลย ทั้งเมื่อรู้ว่าพี่เล่าปี่อยู่ที่ใด ก็ออกตามหาโดยไม่สนใจทรัพย์สินเงินทอง ที่โจโฉซื้อใจประเคนให้ไม่อั้น ยอมกระทั่งฝ่า5ด่าน สังหาร 1 ขุนพล เพื่อไปหาเล่าปี่

           3.กตัญญูรู้ตอบแทนคุณ เมื่อโจโฉเลี้ยงดูให้เกียรติ ก็ยอมตอบแทนคุณโดยใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน  เข้าดวลง้าวกับงันเหลียงและบุนทิว ก็สามารถสังหาร 2 นายทัพของอ้วนเสี้ยวเพื่อแทนคุณโจโฉ และครั้งสุดท้ายยังได้ไว้ชีวิตโจโฉคราวแตกทัพเรือ ทั้งที่รู้ว่าการไม่ฆ่าโจโฉตนเองอาจตายได้

          4.รักศักดิ์ศรียิ่งชีวิต กล้าปฏิเสธเมื่อซุนกวนผู้ยิ่งใหญ่แห่งกังตั๋ง ส่งคนมาขอลูกสาวให้ไปเป็นลูกสะใภ้ และยอมตายไม่ยอมทรยศต่อเล่าปี่

          5.ทรงอิทธิฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ แม้เมื่อถูกประหารตัดคอตายแล้ว แต่วิญญาณกวนอูยังสามารถเอาชีวิตลิบองคนที่ใช้เล่ห์เหลี่ยวกับตนได้ ทั้งหัวที่ถูกตัดส่งไปให้โจโฉ ยังสามารถแสดงฤทธิ์ให้โจโฉตกใจกลัวได้ กระทั่งสุสานที่ฝังร่างไร้ศีรษะของกวนอู มีการปลูกต้นสนใหญ่ไว้เหนือสุสาน ยังถูกฟ้าฝ่ายอดด้วน ดุจฟ้าดินยังให้การเคารพ ซึ่งในปัจจุบันยังมีหลักฐานยืนยันให้เห็นอยู่

          ยอดนักรบจากไก่เหลียงนาม " กวนอู " มีฝีมือ มีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม หาคนในยุคหลังมาเสมอท่านยากยิ่งแล้ว

          ในบรรดายอดนักรบผู้เรืองเกียรติศักดิ์ชั้นเยี่ยม ต่างยกให้เป็นประภาคารเด่นลํายิ่งกว่า

          เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ สง่างามน่าพรั่นพรึงเมื่อยามศึก ถ่อมตนยึดประเพณีมั่นเมื่อยามปกติ

           นามกวนอูรุ่งโรจน์เหนือกาลเวลา ส่องประกายเจิดจรัสให้ความสว่างแก่ผู้ยึดมั่นคุณธรรมความกล้าหาญ

           เมื่อขักหงิ่นยึดท่านเป็นต้นแบบ ก็ย่อมสามารถถ่ายทอดความศักดิ์สิทธิ์จากกวนอูได้ เช่น หงซิ่วฉวนผู้ได้ชื่อว่ากบฎ แต่ก็ได้รับการยกย่องและมีภาพวาดรวมทั้งรูปปั้นให้ดูเป็นอนุสรณ์ ซึ่งกบฎอื่นไม่มี รูปประธานเหมาเพียงถูกพวกนักศึกษานิยมตะวันตก เอาสีป้ายสาดจนเลอะเปื้อน แสดงความเหยียดหยาม เพียงไม่กี่นาที ท้องฟ้าที่สดใสกลับดําทมึนพร้อมพายุใหญ่ พัดกระหนําพวกนิยมตะวันตกจนขวัญเสีย และถูกปราบปรามจนราบคาบในเวลาต่อมา อีกคนที่ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ คือ ปธ.ดร.ซุนจงซานเซียนเซิน ก็เป็นอย่างที่เกริ่นกล่าวมาแล้ว แต่ยังไม่หมด....

ต้นแบบของ " ขักหงิ่น " เต็ม 100 (6)

         ต้องขอโทษเฉี่ยนงี้กา ที่บางครั้งเขียนเรื่องออกจะหนักไปบ้าง ทั้งที่อยากจะเขียนให้อ่านอย่างเบาๆสบายๆ ก็กลัวจืดจนท่านผู้อ่านเสียเวลาไม่ได้ประโยฃน์ จึงสอดแทรกสาระทางความคิดและปร้ชญาปนๆแบบชับโช้ย(จับฉ่าย) ซึ่งบางเรื่องท่านผู้อ่านอาจคิดว่าเผยแพร่ศาสนา!

          อย่างเช่นเรื่อง " อนุตรธรรม " (เทียนเต้า) ที่คนไทยเข้าใจกันว่าเป็นความเชื่อที่แพร่จากไต้หวันเข้ามาเมืองไทย ความจริงสายธรรมนี้ เป็นรากเง้ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่ 100% เริ่มนับจาก เหยาตี้ผู้เป็นธรรมิกราชาองค์แรกของจีน สืบย้อนหลังได้ 5000 ปี แต่มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นรากปร้ชญาที่มีชีวิต งอกเป็นเต๋าของเล่าจื้อ งอกปรัชญาของขงจื้อ-เมิ้งจื้อ

          ปรัชญาดังว่านั้น มิใช่เพียงให้อ่านท่องเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นแนวปฏิบัติในวิถีชีวิตของคนจีน ซึ่งผ่านสงครามชุนชิวจั้นกั๋วมาโชกโชนหลายร้อยปี แทนที่ปรัชญาเหล่านี้จะเสื่อมสลาย มีแต่ยิ่งเจิดจรัส เพราะเป็นปรัชญาที่มีชีวิต มีความศักดิ์สิทธิ์แบบครบเครื่องสมกับที่มันมีอายุยาวนาน เช่น กราบไหว้ " เทียนฟู้-ถี้มู " (ฟ้า-ดินหรือธรรมชาติ) กตัญญูพ่อ-แม่ มีคุณธรรมเมตตาเพื่อนมนุษย์ มีมนุษย์ธรรมสร้างกุศล ไม่เบียดเบียนทําลายล้างกัน หลักปรัชญานี้ทําให้ราชวงศ์ฮั้น(จีนแท้) อยู่ยืนยงกว่า 450 ปี

         ต่อมาหลักปรัชญานี้ ได้สืบสานเข้ากับสังฆปรินายกสายเซ็น นับจากหงเยิ่นสังฆปรินายกองค์ที่ 5 (ข้กหงิ่น ยุคต้นราชวงศ์ถัง) แล้วมาแพร่หลายจากฮุ่ยนึ๋งหรือเว่ยหลางสังฆปรินายกองค์ที่ 6 (ฟุกเกี้ยนหงิ่น) สายธรรมนี้ต่อเนื่องมาถึง รุ่นที่ 18 จวบเกิดสงครามกลางเมืองในศึก 2 จีน คอมมูนิสต์ชนะ ทําให้ปรัชญาเทียนเต๋าท่เติบโตที่ไต้หวันก่อนที่จะเผยแผ่ไปทั่วโลก

         ดังได้กล่าวแล้วว่า " ปรัชญาเทียนเต๋า " มีชีวิตมีวิวัฒนาการ หลังจากได้ส่องประกายเจิดจรัสไปทั่วโลกแล้ว ปรัชญานี้ยังได้ค่อยๆหวนคืนสู่จีน อันเป็นรากเง้าต้นกําเนิดอย่างสง่างาม

           ว่าที่จริง เริ่มแรกเมื่ออนุตตรธรรมเทียนเต๋านี้เข้ามาในเมืองไทย ก็เริ่มเป็นที่รับรู้โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นพยาน ในพิธีที่พุทธมณฑล ท่านหันเหล่าเฉียนเหรินหรือธรรมอธิการ ทูลปณิธานแนวทางของปรัชญานี้ชัดเจน ว่าเน้นในเรื่องคุณธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ที่กตัญญู(ต่อชาติ-ศาสน์-กษัตริย์และบรรพชน) เคารพบูชาฟ้า-ดินและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายของทุกศาสนาหลัก

          เราจึงเห็นได้ว่า อนุตรธรรมเทียนเต๋าปรัชญาของจีนนี้ มิได้เข้ามาอย่างเลื่อนลอย แท้จริงเข้าตามตรอกตามประตูอย่างเปิดเผย ที่สําคัญบุคคลชั้นนําของไทยมากมายให้การเคารพนับถือ ทั้งยอมรับปรัชญาจีนนี้

           ความวิเศษแยบยลชองปรัชญาจีน ที่ถือว่าเบ็ดเสร็จในเรื่องคุณธรรมของมนุษย์นี้ไม่มีอะไรขัดแย้งกับทุกศาสนา ใครเคยทําบุญอย่างไรในศาสนาของตน ก็คงทําได้ไม่มีข้อห้าม เพียงแต่จุดดีของธรรมสายนี้ คือ การเปิดประตูจิตญาณทวารสู่การหลุดพ้น สู่ทางรอดได้จริง ทั้งเน้นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มิใช่พียงศรัทธาแต่ไม่ปฏิบัติ

          ในไถจงมีสถานธรรมเช่นนี้ทุกมุมเมือง และเปิดอบรมอย่างไม่หยุดหย่อนตามกําหนดอาทืตย์ละครั้งหรือสองครั้งทุกสถานธรรม

          จากคุณความดีของปรัชญาอนุตรธรรมเทียนเต๋านี้ กระทั่งประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วของไต้หวัน(ขักกาหงิ่น) ถึงกับประกาศว่า แนวทางของไต้หวันคือปรัชญาอนุตรธรรมเทียนเต๋านี้ การประกาศของ ปธ.ที่เป็นขักกาหงิ่น จึงเท่ากับยึดปรัชญานี้เป็นต้นแบบ

          ตลอด 10 วันที่ไหง่อยู่ไต้หวัน กินเจตลอด ทั้งคนนําเที่ยวหรือไกด์ เขาเป็นผู้จัดการธนาคาร ก็กินเจ แม้อายุเกือบ 60 ปีแล้ว แต่ยังเดินขึ้นเขาได้คล่องแคล่วเหมือนคนหนุ่ม ไหง่ซึ่งแก่กว่าพลอยได้รับอนิสงส์จากเจไปด้วย เหมือนได้ฟื้นฟูสุขภาพ แต่เราต้องยอมรับว่า เมืองเขาอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารเจ แต่เมืองเราอีกแบบหนึ่ง ไหง่จึงยึดทางสายกลาง ไม่เน้นตายตัว!

ตึก 101

ความจริง..?

       ความจริงภาพอาคารระฟ้า 101 นี้ มี 2 ภาพ แบบหยิน-หยาง คือกลางวันอยู่ฝั่งตรงข้ามภาพกลางคืน ที่เขาถ่ายให้ไหง่เป็นหยินหรือกลางคืน ส่วนภาพกลางวันจะสว่างกว่าและมีพระอาทิตย์ อย่างนี้เรียกว่า ไม่ทิ้งรากเง้าวัฒนธรรมจีนแท้ไปได้

อนุสรณ์ Dr. Sun

สวนอนุตตรธรรม - ไต้หวัน

วงจรชีวิต+ประเพณี....

ที่เขียนนี่ก็ล่วงเข้าวันสารทจีน คือ ศุกร์ที่ 28 ส.ค 58 ซึ่งไหง่มีภาระต้องไหว้อย่างน้อย 3 แห่ง ด้วยของเซ่นไหว้ที่ซื้อเองทําด้วยตัวเองล้วนๆ จนเหมือนพลิกชีวิตยามวัยชราทีเดียว ชนิดไม่น่าเป็นไปได้ แต่ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะ...

ช่วงวัยหนุ่มไม่เคยสนใจไหว้เจ้าอะไรเลย จะมีบ้างก็เรื่องการปฏิบัติธรรมนั่งสมถวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น จนล่วงเข้าวัยกลางคนนั่นแล้ว จึงเริ่มไหว้เจ้าไหว้บรรพชนไหว้ฟ้าไหว้ดิน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ถามว่าทําไม?...

คงตอบได้เพียงว่าจิตสํานึกและพี่ชายที่เมืองจีน บอกว่าวัฒนธรรมประเพณีที่ดีเช่นความกตัญญู ต้องมีประจําใจ ถ้าไร้วัฒนธรรมไม่ถือประเพณีเสียแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นคนป่าเถื่อน ตัวเองก็ไม่ดี ลูกหลานก็ไม่ดีเพราะไม่มีสิ่งดีๆเป็นแบบอย่างให้ยึดเหนี่ยว...

ตอนนี้ไหง่ก็เลยเหมือนคนงมงาย แต่ก็เอาเถอะงมงายก็งมงายในสิ่งดีๆ และมีเงินให้งมงายมันก็ไม่เลว ทั้งวงจรชีวิตเราก็ไม่ตกตํ่า ไม่ว่าคนภาษาไหนเห็นเราเป็นคนมีหลักมีเกณฑ์ในเรื่องประเพณี ถ้าเป็นคนดีก็ดูดี ถ้าเป็นคนไม่ดีก็ไม่อยากมาตอแย เพราะกลัวซวยกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นที่เราเซ่นไหว้ แต่จะเอานิยายอะไรมากมายกับไหง่ไม่ได้ เนื่องจาก...

ไหง่เป็นคนตามความเหมาะสม มีเงินมีเวลาก็ไหว้ตามเรื่องตามราว แต่ถ้าเงินไม่มีเวลาไม่ให้ ก็จุดธูปสักดอกหรือสักกํา บอกฝากไปกับสายลมว่า...ขอระลึกทุกสิ่งที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่เรา ขอให้มีความสุขถ้วนทั่วกัน.

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal