หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

นิทานก่อนนอน

รูปภาพของ จ๊องหยิ่นฮยุ๋ง
จำได้ว่าตอนเด็กๆ คุณครูเคยเล่านิทานเรื่องต่อไปนี้ให้ฟัง.
 
 
"ความสามัคคี"
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง ซึ่งล้อมรอบไปด้วยเรือกสวนไร่นาอันร่มรื่น ในบ้านหลังนั้น มีชายแก่คนหนึ่ง ซึ่งใครๆ ก็เรียกแกว่า "ลุงมี" ลุงมีกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการพรวนดิน ภายในไร่ของแกเพื่อเตรียมปลูกพืชผัก เหมือนที่แกเคยทำมา ลุงมีเป็นชายแก่ที่ใจดี แกชอบให้พืชผักที่แกปลูกนั้นแก่ชาวบ้านที่ยากจน หรือคนที่เดินผ่านไปมา เพราะแกคิดว่าถึงเก็บไว้ก็คงจะเน่าทิ้งเสียเปล่าๆ 
"ขอบใจมากเลยนะตามี แกช่างมีน้ำใจดีจริงๆ" ชาวบ้านพูด "ไม่เป็นไรหรอกน่า ถึงฉันเก็บเอาไว้ มันก็จะเน่าเสียซะเปล่าๆ" ลุงมีบอก 
ชาวบ้านทุกคนต่างรู้ว่าลุงมีเป็นคนมีน้ำใจและเป็นคนดี แต่เสียที่ว่า แกมีลูกชายที่ไม่ค่อยจะเอาการเอางานเท่าไหร่นัก ไม่ช่วยกันทำมาหากิน ปล่อยให้ลุงมีผู้เป็นบิดาทำงานลำบากอยู่เพียงคนเดียว และในบางครั้ง ลูกๆ ของแกก็ไม่ค่อยที่จะมีความรัก มีความสามัคคีให้กันเลย มักจะหาเรื่องชกต่อยหรือทำร้ายกันอยู่เสมอ ทำให้ลุงมีเองนึกเสียใจอยู่ไม่น้อยที่ตัวเองมีลูกชายไม่เอาไหนแบบนี้ 
"ทำไมเจ้าทั้งสองคนถึงไม่รักกัน ไม่สามัคคีกันเลย พ่อละเหนื่อยใจกับพวกเจ้าจริงๆ มีลูกชายกับเค้าแท้ๆ แต่กลับไม่เคยช่วยแบ่งเบาภาระพ่อได้เลย" ลุงมีพูดอย่างเศร้าใจ 
วันหนึ่ง ในขณะที่ลุงมีกำลังนั่งพักเหนื่อย อยู่ที่บ้านนั้นเอง แกก็มีความคิดว่า แกต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อที่จะให้ลูกๆ ของแกนั้นได้เกิดความรักความสามัคคีกัน ในขณะที่ลุงมีกำลังคิดหาหนทางอยู่นั้นเอง แกก็เหลือบไปเห็นกอไผ่ใหญ่กอหนึ่ง ซึ่งอยู่หลังบ้าน มันทำให้แกคิดหาอุบายที่จะทำให้ลูกๆ กลับมารักกันได้ 
วันต่อมา ก่อนที่จะออกไปทำงานในไร่ ลุงมีก็ได้เรียกลูกๆ ทั้งสองออกมานั่งคุยกัน 
"เจ้าทั้งสองรู้มั้ยว่าพ่อเรียกเจ้ามาคุยเรื่องอะไร" ลุงมีพูด 
"ไม่รู้หรอกพ่อ มีอะไรก็ว่ามาเถอะ" ลูกคนแรกพูดขึ้น 
"นั่นสิพ่อ มีอะไรก็รีบๆ พูดมาเถอะ" ลูกคนที่สองพูดเสริม 
ลุงมีหยิบท่อนไม้ไผ่ออกมาแล้ว ยื่นให้ลูกทั้งสองคน "เอ้านี่ ลองหักดูสิ " ลุงมีพูด ลูกชายทั้งสองคน ก็รับไม้ไผ่มา แล้วหักออกได้อย่างง่ายดาย "ทำไมเหรอพ่อ พ่อให้พวกเรามานั่งหักท่อนไม้อยู่ทำไมเนี่ย " ลูกคนที่หนึ่งพูด 
ลุงมีเห็นดังนั้น จึงหยิบไม้ไผ่ออกมาหนึ่งกำใหญ่ แล้วยื่นให้ลูกชายทั้งสองอีก "ทีนี้เจ้าทั้งสองคน ลองหักท่อนไม้ไผ่กำนี้ดูสิ" ลุงมีพูด 
ทั้งสองคนรับท่อนไม้ไผ่มาคนละกำ แล้วออกแรงหักอย่างแรง แต่ทำอย่างไรไม้ไผ่กำนั้นก็ไม่ยอมหักหรือขยับเขยื้อนแม้แต่น้อย ลุงมียืนมองลูกชายด้วยสีหน้าพอใจ แล้วพูดขึ้น..."ทีนี้เจ้าทั้งสองก็จะเข้าใจว่า ทำไมพ่อถึงให้เจ้ามาหักไม้ไผ่ให้พ่อดู" 
"เจ้าทั้งสองคนเห็นมั้ยว่า ไม้ไผ่ท่อนเดียว ก็เหมือนกับคนๆ เดียวที่อาจโดนทำร้ายหรือรังแกได้ง่ายๆ แต่ไม้ไผ่กำนั้นก็เหมือนกับคนหลายๆ คนที่รวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ต่อให้มีคนมาทำร้าย ก็ไม่อาจจะเอาชนะเราได้ ถ้าหากเรามีความรักความสามัคคีกัน" 
ลูกชายทั้งสองคนของลุงมี ฟังบิดาของตนอธิบายอย่างตั้งใจ และในที่สุดก็เข้าใจว่า สิ่งที่บิดาของตนต้องการบอกนั้น คือให้ทั้งสองคนมีความรักความสามัคคีกันนั่นเอง 
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ลูกชายของลุงมีทั้งสองคนก็มีความรักความสามัคคีให้กัน ช่วยกันทำมาหากินอย่างขะมักเขม้น และไม่เคยทะเลาะชกต่อยกันอีกเลย.
ที่มา: http://www.horhook.com

รูปภาพของ มะไฟ

ดีครับ

ดีครับ เปลี่ยนสาระดี ๆ บ้าง เพื่อผ่อนคลาย ได้รับเมลล์ธรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ จะไปร่วมสัมมนามั๊ยครับ ที่เดิมมีสองงาน 

รูปภาพของ จ๊องหยิ่นฮยุ๋ง

มะไฟฮยุ้งถี่

ได้รับครับ น่าสนใจเหมือนกัน.

รูปภาพของ จ๊องหยิ่นฮยุ๋ง

3 x 8 = ?????

เอี๋ยนหุยใฝ่ศึกษา มีคุณธรรมงดงาม เป็นศิษย์รักของขงจื้อ  มีอยู่วันหนึ่ง เอี๋ยนหุยออกไปทำธุระที่ตลาด เห็นผู้คนจำนวนมากห้อมล้อมอยู่ที่หน้าร้านขายผ้า เข้าไปสอบถามดู จึงรู้ว่าเกิดการพิพาทระหว่างคนขายผ้ากับลูกค้า
 
ได้ยินลุกค้าตะโกนเสียงดังโหวกเหวกว่า “3 x 8 ได้ 23 ทำไมท่านถึงให้ข้าจ่าย 24 เหรียญล่ะ!” 
เอี๋ยนหุยจึงเดินเข้าไปที่ร้าน หลังจากทำความเคารพแล้ว ก็กล่าวว่า “พี่ชาย 3 x 8 ได้ 24 จะเป็น 23 ได้ยังไง? พี่ชายคิดผิดแล้ว ไม่ต้องทะเลาะกันหรอก”
 
คนซื้อผ้าไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ชี้หน้าเอี๋ยนหุยและกล่าวว่า 
“ใครให้เจ้าเข้ามายุ่ง! เจ้าอายุเท่าไหร่กัน! จะตัดสินก็มีเพียงท่านขงจื้อเท่านั้น ผิดหรือถูกมีท่านผู้เดียวที่ข้าจะยอมรับ ไป ไปหาท่านขงจื้อกัน ”
 
เอี่ยนหุยกล่าวว่า “ก็ดี หากท่านขงจื้อบอกว่าท่านผิด ท่านจะทำอย่างไร?” 
คนซื้อผ้ากล่าวว่า“หากท่านวินิจฉัยว่าข้าผิด ข้ายอมให้หัวหลุดจากบ่า! แล้วหากเจ้าผิดล่ะ?” 
เอี๋ยนหุยกล่าวว่า “หากท่านวินิจฉัยว่าข้าผิด ข้ายอมถูกปลดหมวก (ตำแหน่ง)” 
ทั้งสองจึงเกิดการเดิมพันขึ้น
 
เมื่อขงจื้อสอบถามจนเกิดความกระจ่าง ก็ยิ้มให้กับเอี๋ยนหุยและกล่าวว่า “3 x 8ได้ 23 ถูกต้องแล้วเอี๋ยนหุย เธอแพ้แล้ว ถอดหมวกของเธอให้พี่ชายท่านนี้เสีย” 
เอี๋ยนหุย ไม่โต้แย้ง ยอมรับในการวินิจฉัยของท่านอาจารย์ จึงถอดหมวกที่สวมให้แก่ชายคนนั้น 
ชายผู้นั้นเมื่อได้รับหมวกก็ยิ้มสมหวังกลับไป 
 
ต่อคำวินิจฉัยของขงจื้อ ต่อหน้าแม้เอี๋ยนหุยจะยอมรับ แต่ในใจกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น เอี๋ยนหุยคิดว่าท่านอาจารย์ชรามากแล้ว ความคิดคงเลอะเลือน จึงไม่อยากอยู่ศึกษากับขงจื้ออีกต่อไป
 
พอรุ่งขึ้น เอี๋ยนหุยจึงเข้าไปขอลาอาจารย์กลับบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่าที่บ้านเกิดเรื่องราว ต้องรีบกลับไปจัดการ ขงจื้อรู้ว่าเอี๋ยนหุยคิดอะไรอยู่ ก็ไม่ได้สอบถามมากความ อนุญาตให้เอี๋ยนหุยกลับบ้านได้ 
 
ก่อนที่เอี๋ยนหุยจะออกเดินทาง ได้เข้าไปกราบลาขงจื้อ ขงจื้อกล่าวอวยพรและให้รีบกลับมาหากเสร็จกิจธุระแล้ว
พร้อมกันนั้นก็ได้กำชับว่า “อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง”
เอี๋ยนหุยคำนับพร้อมกล่าวว่า “ศิษย์จะจำใส่ใจ” แล้วลาอาจารย์ออกเดินทาง
 
เมื่อออกเดินทางไปได้ระยะหนึ่ง เกิดพายุลมแรงสายฟ้าแลบแปลบ เอี๋ยนหุยคิดว่าต้องเกิดพายุลมฝนเป็นแน่ จึงเร่งฝีเท้าเพื่อจะเข้าไปอาศัยอยู่ไต้ต้นไม้ใหญ่ แต่ก็ฉุกคิดถึงคำกำชับของท่านอาจารย์ที่ว่า “อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง” 
เราเองก็ติดตามท่านอาจารย์มาเป็นเวลานาน ลองเชื่ออาจารย์ดูอีกสักครั้ง คิดได้ดังนั้น จึงเดินออกจากต้นไม้ใหญ่ 
ในขณะที่เอี๋ยนหุยเดินไปได้ไม่ไกลนัก บัดดล สายฟ้าก็ผ่าต้นไม้ใหญ่นั้นล้มลงมาให้เห็นต่อหน้าต่อตา เอี๋ยนหุยตะลึงพรึงเพริด
คำกล่าวของพระอาจารย์ประโยคแรกเป็นจริงแล้ว หรือตัวเราจะฆ่าใครโดยไม่รู้สาเหตุ?
 
เอี๋ยนหุยจึงรีบเดินทางกลับ กว่าจะถึงบ้านก็ดึกแล้ว แต่ไม่กล้าปลุกคนในบ้าน เลยใช้ดาบที่นำติดตัวมาค่อยๆ เดาะดาลประตูห้องของภรรยา 
เมื่อเอี๋ยนหุยคลำไปที่เตียงนอน ก็ต้องตกใจ ทำไมมีคนนอนอยู่บนเตียงสองคน!
 
เอี๋ยนหุยโมโหเป็นอย่างยิ่ง จึงหยิบดาบขึ้นมาหมายปลิดชีพผู้ที่นอนอยู่บนเตียง
เสียงกำชับของอาจารย์ก็ดังขึ้นมา “อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง”
เมื่อเขาจุดตะเกียง จึงได้เห็นว่า คนหนึ่งคือภรรยา อีกคนหนึ่งคือน้องสาวของเขาเอง 
พอฟ้าสาง เอี๋ยนหุยก็รีบกลับสำนัก
 
เมื่อพบหน้าขงจื้อจึงรีบคุกเข่ากราบอาจารย์และกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ คำกำชับของท่านได้ช่วยชีวิตของศิษย์ ภรรยาและน้องสาวไว้
ทำไมท่านจึงรู้เหมือนตาเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับศิษย์บ้าง?” 
 
ขงจื้อพยุงเอี๋ยนหุยให้ลุกขึ้น และกล่าวว่า “เมื่อวานอากาศไม่ค่อยสู้ดีนัก น่าจะมีฟ้าร้องฟ้าแลบเป็นแน่
จึงเตือนเธอว่า อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่
และเมื่อวาน เธอจากไปด้วยโทสะ แถมยังพกดาบติดตัวไปด้วย
อาจารย์จึ้งเตือนเธอว่า อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง ”
เอี๋ยนหุยโค้งคำนับ “ท่านอาจารย์คาดการณ์ดังเทวดา ศิษย์รู้สึกเคารพเลื่อมใสท่านเหลือเกิน”
 
ขงจื้อจึงตักเดือนเอี๋ยนหุยว่า “อาจารย์ว่าที่เธอขอลากลับบ้านนั้นเป็นการโกหก ที่จริงแล้วเธอคิดว่าอาจารย์แก่แล้ว ความคิดเลอะเลือน
ไม่อยากศึกษากับอาจารย์อีกแล้ว เธอลองคิดดูสิ อาจารย์บอกว่า 3 x 8ได้ 23 เธอแพ้ ก็เพียงแค่ถอดหมวก หากอาจารย์บอกว่า 3 x 8ได้ 24 เขาแพ้ นั่นหมายถึงชีวิตของคนๆ หนึ่ง เธอคิดว่าหมวกหรือชีวิตสำคัญล่ะ? ”
 
เอี๋ยนหุยกระจ่างในฉับพลัน คุกเข่าต่อหน้าขงจื้อ แล้วกล่าวว่า “ท่านอาจารย์เห็นคุณธรรมเป็นสำคัญ โดยไม่เห็นแก่เรื่องถูกผิดเล็กๆ น้อยๆ
ศิษย์คิดว่าอาจารย์แก่ชราจึงเลอะเลือน ศิษย์เสียใจเป็นที่สุด”
 
จากนั้นเป็นต้นไป ไม่ว่าขงจื้อจะเดินทางไปยังแห่งหนตำบลใด เอี๋ยนหุยติดตามไม่เคยห่างกาย. 
รูปภาพของ อาฉี

ขอคารวะ ท่านขงจื้ออีกเสียง

มีข้อคิดเหมาะกับสถานการณ์ดี

ข้าน้อยขอคารวะ

รูปภาพของ อาคม

ขอคารวะด้วยคนครับ

เห็นด้วยกับอาฉีอย่างยิ่ง

รูปภาพของ เฉินซิ่วเชง

ร่วมคาราวะ ขงจื๊อ : ด้วย มหากาพย์ภาพยนตร์ยิ่งใหญ่

ไหงคารวะ ขงจื้อ และรวบรวม ขงจื้อด้านต่างๆ ให้ทุกคนได้เอนเทอร์เทนที่นี่ http://hakkapeople.com/node/1087 ดูตย.หนังและร่วมกันรงบรวมและเผยแพร่ด้วยกัน

 

"ขงจื๊อ"– Confucius : มหากาพย์ภาพยนตร์ 2010 มุมสะท้อนนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่

 

ภาพยนตร์แนวมหากาพย์เรื่องแรกในปี 2010 ของจีน เป็นภาพยนตร์เรื่อง "ขงจื๊อ" เพิ่งออกฉายเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ขงจื๊อเป็นนักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน คำสอนของขงจื๊อนั้นมีอิทธิพลฝังรากลึกลงไปไม่เฉพาะในสังคมจีนเท่านั้น หากยังหยั่งรากในประเทศเอเชียตะวันออกมาเป็นเวลาถึง 20 ศตวรรษ

 

หลักปรัชญาของขงจื๊อเน้นเกี่ยวกับศีลธรรมส่วนบุคคล และศีลธรรมในการปกครอง ความถูกต้องเหมาะสมของความสัมพันธ์ในสังคมความยุติธรรมและบริสุทธิ์ใจ ลัทธิขงจื๊อมุ่งแก้ไขปัญหาการเมืองและสังคมจีนในสมัยชุนชิว ซึ่งเป็นยุคที่เกิดจลาจล โดยเน้นให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบเรียบร้อย

 

ทั้งนี้จะถือหลักมนุษยธรรมและจารีตประเพณี ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานแห่งสัมพันธภาพ 5 ประการ ได้แก่ เมตตาธรรม มโนธรรม จริยธรรม สัตยธรรม ปัญญาธรรม ขงจื๊อสั่งสอนลูกศิษย์โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ลูกศิษย์ของขงจื๊อจึงมีทุกชนชั้น ทำให้เกิดชนชั้นปัญญาชนขึ้นในสังคมจีน ปัญญาชนเหล่านี้มีเป้าหมายอยู่ที่การเข้ารับราชการ โดยหวังว่าปัญญาความรู้ความสามารถที่ได้รับการอบรมมาจะเป็นประโยชน์ต่อการปกครองบ้านเมือง แถมยังเป็นการสร้างชื่อเสียงและฐานะให้กับตนเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูลอีกด้วย

 

ภาพยนตร์เรื่องขงจื๊อใช้เงินลงทุนสร้าง 150 ล้านหยวน หรือประมาณ 750 ล้านบาท ผู้ร่วมสร้างภาพยนตร์นี้มีหูเหมย ผู้กำกับหญิงระดับแนวหน้าคนหนึ่งของจีน เปาเต๋อซี นักถ่ายทำภาพยนตร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในเอเชีย คงจำกันได้ ผลงานถ่ายภาพยนตร์เรื่องพยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก (Crouching Tiger, Hidden Dragon) ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์ สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม เฉินฮั่น ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องสามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ ส่วนนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นที่รู้จักกันดีคือ โจว เหวินฟะ โจวซุ่น และเฉินเจี้ยนปินเป็นต้น

 

 

Confucius เป็นหนังจีนฟอร์มยักษ์อีกหนึ่งเรื่อง ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง 60 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นเกียรติให้กับการครบรอบวันเกิดของขงจื๊อ ปีที่ 2,560 นอกจากจะมีความเป็นไปได้สูงว่าหนังจะทำเงินถล่มทลาย หลังเปิดฉายในช่วงวันชาติจีนปีนี้แล้ว ยังได้รับการคาดหมายว่า หนังเรื่องนี้จะเป็นตัวแทนภาพยนตร์จีน เข้าประกวดบนเวทีออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของปี 2011 อีกด้วย

 

โดยทั่วไปภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะงั้นไม่ว่าผู้กำกับเก่งขนาดไหนก็ยากที่จะสะท้อนอัตชีวประวัติขงจื๊อออกมาให้ครวบถ้วนในช่วงเวลาเท่านั้น การนำเสนอแก่นแท้ของภาพลักษณ์ขงจื๊อภายในเวลาสั้น ๆ เพียง 2 ชั่วโมงจึงเป็นเรื่องสำคัญและยากยิ่ง คณะผู้สร้างหนังเรื่องนี้จึงตกลงนำเสนออัตชีวประวัติขงจื๊อตั้งแต่เป็นนายอำเภอเหวินซั่นในรัฐหลู่เมื่ออายุ 51 ปี เพราะเป็นการเริ่มต้นชีวิตการเมืองของท่าน จนถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 73 ปี ครึ่งแรกของภาพยนตร์สะท้อนชีวิตการเมืองของขงจื๊อ ครึ่งหลังได้เล่าถึงการเดินทางไปรัฐต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่หลักการปกครองที่เน้นคุณธรรมแก่อ๋องรัฐต่าง ๆ

 

เมื่อกล่าวถึงแรงบันดันใจในการถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ หูเหมย ซึ่งเป็นผู้กำกับเล่าว่า เมื่อ 5 ปีก่อน เธอคิดจะทำเรื่องขงจื๊อเป็นละครทีวี 60 ตอน โดยจะเล่าประวัติขงจื๊อตั้งแต่เกิดจนถึงแก่กรรม แต่ท้ายสุดเธอตัดสินใจทำเป็นภาพยนตร์ เพราะคิดว่ามีอิทธิพลสูงกว่า แต่ก็หนักใจว่าจะถ่ายทำออกมายังไง อย่างไรก็ตามเมื่อตัดสินใจแล้วยอกยังไง หูเหมยก็ยินดีที่จะสู้ ดังนั้นในภาพยนตร์เรื่องนี้หูเหมยจึงเลือกแง่มุมใหม่ ๆ ในการสะท้อนภาพลักษณ์ขงจื๊อ

 

หูเหมยบอกว่า "ในสายตาคนทั่วไป ขงจื๊อเป็นนักปราชญ์ และนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ แต่น้อยคนที่จะสังเกตว่าท่านยังเป็นนักการเมืองผู้เฉลียวฉลาดด้วย

เพราะฉะนั้น ภาพยนตร์เรื่ิองนี้จึงเลือกที่จะนำเสนอแง่มุมในการเป็นนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ของขงจื๊อ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประสบการณ์ที่สำคัญยิ่งในชีวิตขงจื๊อ ซึ่งก็คือเดินทางไปรัฐต่าง ๆ เผยแพร่หลักการปกครองด้วยคุณธรรมของตน"

ลัทธิขงจื๊อ (Confucianism) เป็นศาสนาหรือลัทธิ ที่มีขงจื๊อ (551 - 479 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นผู้วางรากฐานให้กับลัทธิขงจื๊อที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเมืองและสังคมของจีนในสมัยจลาจล โดยเน้นให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบสุขเรียบร้อย ทั้งนี้จะถือหลักการเรื่องมนุษยธรรมและจารีตประเพณี ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักแห่งสัมพันธภาพ 5 ประการ ได้แก่ เมตตาธรรม มโนธรรม จริยธรรม สัตยธรรม ปัญญาธรรม (สอดคล้องกับหลักศีล 5 ของพุทธศาสนา)มีบุคคลบางคนกล่าวว่า ศาสนาขงจื๊อเป็นระบบศีลธรรมหรือหน้าที่พลเมืองดีมากกว่าศาสนา เพราะขงจื๊อมิได้ส่งเสริมให้มีความเชื่อถือในพระเจ้าที่เป็นตัวตน หรือการสวดอ้อนวอน ตลอดจนการบูชาพระผู้เป็นใหญ่ แม้ขงจื๊อจะสอนหนักไปทางจริยธรรมและหน้าที่พลเมืองดี แต่หนังสือบางเล่มที่ขงจื้อแต่งไว้ก็ได้กล่าวถึงเทพเจ้า และอำนาจของเทพเจ้าที่มีอยู่เหนือโลก เช่นคัมภีร์อี้จิง หรือคัมภีร์ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงได้กล่าวถึง ซ่างตี้ หรือเซี่ยงตี่ ซึ่งเป็นผู้สร้างโลก เป็นที่น่าสังเกตว่า ขงจื๊อ เขียนคัมภีร์อี้จิง อันว่าด้วยจักรวาลและการสร้างโลกนั้น เป็นเพียงการรวบรวมความเชื่อของเก่าที่มีมาดั้งเดิมเกี่ยวกับการสร้างโลก ตามความเห็นและความเชื่อถือของคนโบราณ

ขงจื๊อสั่งสอนลูกศิษย์โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ลูกศิษย์ของขงจื๊อจึงมีทุกชนชั้น ทำให้เกิดชนชั้นปัญญาชนขึ้นในสังคมจีน ปัญญาชนเหล่านี้มีเป้าหมายอยู่ที่การเข้ารับราชการ โดยหวังว่าปัญญาความรู้ความสามารถที่ได้รับการอบรมมาจะเป็นประโยชน์ต่อการปกครองบ้านเมือง และยังเป็นการสร้างชื่อเสียงและฐานะให้กับตนเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูลอีกด้วย ลัทธิขงจื๊อ เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า แนวคิดหยู ซึ่งหมายถึงแนวคิดของปัญญาชน ผู้ที่ศึกษาแนวคิดของขงจื๊อและนักคิดคนอื่นๆ ในกลุ่มนี้เรียกกันในสมัยโบราณว่า ปัญญาชนหยู หรือชาวหยู ปัจจุบันลัทธิขงจื๊อแม้จะหมดบทบาทในด้านการเมือง แต่ในด้านวัฒนธรรม ลัทธิขงจื๊อยังฝังลึกอยู่ในสังคมจีนนานนับเป็นศตวรรษจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีน

รูปภาพของ เฉินซิ่วเชง

ชม ขงจื้อ หนังดีที่สุด!

ชม ขงจื้อ1 มหากาพย์ภาพยนตร์ที่นี่

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

      กระแสหวนกลับมายึดถือคำสอน"ขงจื้อ"ไม่ได้อยู่แค่ในจีนครับ
เมื่อ 2 ปีก่อน หนังสือของ “หยีตาน” (Yu Dan) อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรื่อง “บันทึกการอ่านคำสอนขงจื้อ” ทำลายสถิติยอดขายเกิน 3 ล้านเล่มในช่วง 4 เดือนแรกของการวางแผง
แม้แต่วงการหนังสือของจีนก็"งง" เพราะเนื้อหาของหนังสือ เป็นเพียงการนำ"คำสอน"แบบพื้นๆของ"ขงจื้อ" ที่เน้นเรื่องคุณธรรมและความขยันขันแข็ง, ความเอื้ออารีและความกตัญญูรู้คุณคน ซึ่ง"สวนทาง"กับจีนในยุค"เศรษฐีใหม่"เดินสวนกันเกลื่อนถนนจากความร่ำรวยด้วยหุ้นและอินเตอร์เน็ท
ฝรั่งเองก็"คลั่ง"ตามไปด้วย..

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

      ทุกวันนี้...คำสอนของ"ขงจื้อ"กลับมาแพร่หลายในจีน
ล้วนแต่เป็นคำสอนง่ายๆที่เรา"รู้" แต่ไม่เคย"ทำตาม" เพราะเป็นเรื่องธรรมดานั่นแหละ..เช่น ..
ถ้าคุณคิดจะเป็นใหญ่ คุณก็จะได้เป็นใหญ่
ถ้าคุณคิดอยากเป็นอะไร คุณก็จะได้เป็นสิ่งนั้น
เพราะแสวงหา มิใช่เพราะรอคอย
เพราะเชี่ยวชาญ มิใช่เพราะโอกาส
เพราะสามารถ มิใช่เพราะโชคช่วย
ดังนี้แล้ว "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน"
นกทำรังให้ดูไม้ ข้าเลือกนายให้ดูน้ำใจ
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด 
ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด
ที่มีเกียรติ คือ ผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น 
สติไม่มา ปัญญาก็ไม่มี
ไม้คดใช้ทำขอ เหล็กงอใช้ทำเคียว แต่ คนคดเคี้ยวใช้ทำอะไรไม่ได้เลย
เล่นหมากรุก อย่าเอาแต่บุกอย่างเดียว
เดินหมากรุกยังต้อง " คิด "
เดินหมากชีวิต จะไม่คิดได้อย่างไร 

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต


 เมื่อใครสักคนหนึ่ง ทำผิด ท่านอย่าเพิ่งตำหนิหรือต่อว่าเขา 
เพราะถ้าท่านเป็นเขาและตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับเขา 
ท่านอาจจะตัดสินใจทำเช่นเดียวกับเขาก็ได้

      ปกครองระดับธรรมดา ใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่
ปกครองระดับกลาง ใช้กำลังของคนอื่นอย่างเต็มที่
ปกครองระดับสูง ใช้ปัญญาของคนอื่นอย่างเต็มที่

คิดทำการใหญ่ อย่าสนใจเรื่องเล็กน้อย
ตาสามารถมองเห็นสิ่งที่ไกลได้ แต่ไม่สามารถ มองเห็นคิ้วของตน
คนส่วนใหญ่ใส่ใจกับผลได้ระยะสั้นเท่านั้น แต่คนฉลาดอย่างแท้จริงจะมองไปยังอนาคต

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

      ขงจื้อเป็นใคร???
คำตอบก็คือ ขงจื้อ (ก่อนค.ศ. 551-479) มีชื่อตัวว่า ชิว เป็นคนรัฐหลู่ (คำว่า”จื้อ ” เป็นคำยกย่องผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็น“อาจารย์”) เป็นนักคิดและนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ในปลายสมัยชุนชิวและเป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญา“หยูเจีย”หรือสำนักปรัชญาขงจื้อนั่นเอง ได้รับการยกย่องว่า เป็นปรมาจารย์แห่งจริยธรรมผู้ยิ่งใหญ่
ขงจื้อ สูญเสียบิดาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ มารดาจึงเลี้ยงดูขงจื้อด้วยตนเอง พร้อมเข้มงวดกวดขันให้ลูกผู้มีความรู้และมีคุณธรรม
ขงจื้อตั้งตนเป็นอาจารย์เมื่ออายุ 30 และเริ่มถ่ายทอดความรู้แก่ลูกศิษย์ โดยวิธีการถ่ายทอดความรู้ของขงจื้อ พลิกโฉมการศึกษาในสมัยนั้นซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะแต่ในราชสำนัก จึงมีประชาชนทั่วไปตื่นตัวทางการศึกษา และวัฒนธรรมมากขึ้น ขงจื้อรับศิษย์โดยไม่มองชนชั้น จนเล่าลือกันว่าท่านมีลูกศิษย์มากถึง 3,000 คน
ขงจื้อเน้นหนักในการบ่มเพาะเรื่องเมตตาธรรม ความชอบธรรม และจารีตประเพณี คำสอนของท่านเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและงดงาม ทำให้ความคิดของขงจื้อเป็นแกนหลักสำคัญในวัฒนธรรมจีน และมีอิทธิพลสำคัญต่อความคิดของชนชาติจีนที่เน้นคุณธรรมมาเป็นอันดับแรก โดยขงจื้อสอนสั่งศิษย์ไว้ว่า”เหริน”หรือเมตตาธรรมสำคัญที่สุด
ขงจื้อถึงแก่กรรมปี 479 ก่อนคริสต์ศักราช ร่างถูกฝังไว้ที่ซื่อสุ่ยทางเหนือของรัฐหลู่(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซานตง)

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

รูปภาพของ นายวีรพนธ์

" ขงจื๊อ "


" ขงจื๊อ "

(1)

                          ขงจื๊อ มีชื่อแบบสามัญว่า ข่งชิว บรรพบุรุษของ ขงจื๊อ เดิมเป็นชนชั้นสูงใน ประเทศซ่ง ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดเหอหนาน ภายหลังพวกเขาได้อพยพไปอยู่ในประเทศหลู่ (ปัจจุบันคือซานตง) ภายหลังที่พ่อของขงจื๊อ ถึงแก่กรรม แม่ผู้ยังเยาว์วัยได้หอบหิ้วขงจื๊อเข้าไปอยู่ในเมือง ชวีฝู่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศหลู่ ผู้เป็นแม่เป็นห่วงเรื่องการศึกษาของขงจื๊อเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการจะมีชีวิตที่มีอนาคตนั้น ขงจื๊อต้องเป็นขุนนาง และมีวิธีเดียวที่จะบรรลุได้ คือการเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นหนทางของการมีความรู้นั่นเอง ขงจื๊อเป็นเด็กที่เชื่อฟังคำของมารดาเป็นอย่างยิ่ง ตั้งใจเรียนหนังสืออย่างจริงจังและขยันขันแข็ง อ่านหนังสือจนลืมพักผ่อนบ่อยๆ แต่ละวันๆ มารดาต้องเตือนให้พักผ่อน เขาจึงจะหยุดพักผ่อน ซึ่งก็เป็นการพักผ่อนเพียงชั่วครู่ เขามักจะพูดว่า เรียนหนังสือต้องเรียนให้ดี การทำอะไรทั้งมวลต้องไม่หยุดกลางคัน
                          ตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม ขงจื๊อมีความรู้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็เป็นผู้มีชื่อเสียงของประเทศหลู่คนหนึ่งแล้ว เมื่ออายุ 20 ปีเศษ มีบุตรชายหนึ่งคน ฮ่องเต้ของประเทศหลู่ ได้ส่งปลา หลี่-ยวี๋ มาแสดงความยินดี ลูกชายของขงจื๊อจึงมีชื่อว่า หลี่ ( ขง หลี่ )
                          แม้ว่าขงจื๊อจะมีชื่อเสียง แต่ก็เป็นผู้เปิดกว้าง ถ่อมตน มักจะพูดว่า เรื่องที่ตัวรู้นั้นยังมีไม่มาก ดังนั้นเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านต่างชอบเขาโดยทั่วกัน


(2)

                          ขงจื๊อเป็นผู้ที่มีความชาญฉลาดเป็นเลิศ เขามีดำริที่จะทำอะไรให้แก่ประเทศชาติเพื่อให้ประเทศหลู่เป็นประเทศที่เข้มแข็งประเทศหนึ่ง แต่เหล่าขุนนางที่เสนอหน้าต่อฮ่องเต้พูดถึงขงจื๊อ แต่เรื่องไม่สร้างสรรค์ ดังนั้นเขาจึงได้เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยอยู่ 2 ครั้ง ระหว่างอายุ 20 - 27 ปี จนกระทั่งในปี 501 ก่อน ค.ศ. อายุได้ 51 ปี ขงจื๊อจึงได้รับโองการจากฮ่องเต้ให้ดูแลกิจการภายในเมืองหลวง และภายหลังฮ่องเต้ทรงเห็นผลงานที่สำเร็จเรียบร้อยทั้งหลาย ยิ่งมอบงานสำคัญให้ขงจื๊อมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศหลู่เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว
                          ประเทศฉี ซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศหลู่ เป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง ฮ่องเต้ประเทศฉี มีความกังวลต่อความเจริญของประเทศหลู่ จึงเกิดความคิดที่จะเชิญฮ่องเต้ประเทศหลู่มาพบปะสนทนาเจรจาความเมือง แล้วลักพาตัวฮ่องเต้ประเทศหลู่ เพื่อจะทำให้ประเทศฉีปกครองประเทศหลู่ได้
                          ก่อนที่ฮ่องเต้หลู่จะไปร่วมประชุมสนทนา ขงจื๊อได้กราบทูลว่าเคยได้ยินผู้อื่นพูดว่า การแลกเปลี่ยนใด ๆ กับต่างประเทศต้องเตรียมกำลังทหารให้พร้อม การเจรจาจึงบรรลุจุดประสงค์ ดังนั้น เห็นควรนำกองทหารติดตามฮ่องเต้ไปด้วย ฮ่องเต้หลู่เห็นชอบกับขงจื๊อ
                          วันนัดพบมาถึง ระหว่างที่ฮ่องเต้ 2 แผ่นดินกำลังเจรจากัน คนของฮ่องเต้ฉีได้เข้ามารายงานว่าได้เตรียมคณะเต้นรำไว้พร้อมแล้ว จะขอเริ่มการแสดงให้ชม ฮ่องเต้ฉี อนุญาตโดยไม่ลังเล บรรดานักแสดงทุกคนมีอาวุธ อีกทั้งการปรากฎตัวก็ดูไม่เหมือนคณะเต้นรำ ขงจื๊อเห็นสถานการณ์ไม่ดี ก็ตะโกนด้วยเสียงอันดังขึ้นว่า "ฮ่องเต้ของ 2 ประเทศกำลังสนทนากันอยู่ในเรื่องสำคัญ ทำไมจึงอนุญาตให้ผู้คนเหล่านี้เข้ามาเต้นรำ ขอให้สั่งให้พวกเขาออกไปเดี๋ยวนี้" ฮ่องเต้ฉี เห็นอาวุธมีดที่ตัวขงจื๊อ ซึ่งยืนประชิดอยู่ ก็รู้ว่าต้องให้นักแสดงเหล่านั้นออกไป และฮ่องเต้ฉี ทราบว่ากองทหารของประเทศหลู่ ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล แผนการณ์จับตัวฮ่องเต้หลู่ไม่ประสบผลสำเร็จแน่นอน จึงประกาศจบการสนทนา
                          ระหว่างที่ขงจื๊อเป็นขุนนางประเทศหลู่ ประเทศนี้มีความเข้มแข็งมาก คุณภาพของชีวิตของประชาชนยิ่งดีวันดีคืน ฮ่องเต้และประชาชนล้วนเคารพนับถือขงจื๊อ


(3)

                          ขงจื๊อขณะอายุได้ 30 ปี ได้ตั้งโรงเรียนขึ้น 1 แห่ง นับเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศจีน ในสมัยนั้นคนรู้หนังสือ จะมีอยู่เฉพาะในหมู่ขุนนางเท่านั้น คนธรรมดาอ่านหนังสือไม่ออก แต่นักเรียนของขงจื๊อสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง ในตอนเริ่มต้นพวกขุนนางต่างดูถูกขงจื๊อ ต่างคิดว่าคนอายุน้อยคงจะไม่สามารถสอนนักเรียนให้ดีได้ ต่อมาจึงเป็นที่ประจักษ์ว่านักเรียนที่ขงจื๊อสอนนั้นไม่เลว จึงได้นำบุตรหลานส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนของขงจื๊อ
                          ขงจื๊อปฏิบัติต่อนักเรียนด้วยความเข้มงวด วันหนึ่งท่านวิพากย์นักเรียนชื่อ เหยียนหุย ว่า "ฉันพูดอะไร เธอพูดอย่างนั้น ตัวเองไม่มีความริเริ่ม ไม่มีการพัฒนา แล้วจะก้าวหน้าได้อย่างไร" เหยียนหุย ถามว่า "ทำอย่างไรจึงจะพัฒนา"
                          "ต้องคิดอยากพัฒนา ต้องหมั่นเล่าเรียน พินิจพิจารณามากๆ เอาแต่เรียนโดยไม่ได้พิจารณา ย่อมไม่สามารถได้รับความรู้อย่างสูง อย่างเช่น ฉันบอกเธอว่า มุมหนึ่งของโต๊ะเป็นมุมฉาก เธอควรจะพิจารณาว่าอีก 3 มุม ก็เป็นมุมฉาก และสรุปว่าโต๊ะนี้เป็นโต๊ะ 4 เหลี่ยม ไม่ใช่โต๊ะกลม"
                          นักเรียนอีกคนหนึ่งถามว่า "ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไร จึงจะทำให้ตัวเองมีความรู้มาก ๆ "
                          "เรื่องนี้ต้องเรียนให้มากขึ้น พบเหตุปัญหาอะไรล้วนต้องถามว่าทำไม เมื่อไม่เข้าใจ อย่าทำเป็นเข้าใจ ทำอย่างฉันนี่ เมื่อมีคนถามปัญหาฉัน มีบ่อยๆ ที่ฉันตอบไม่ได้ ฉันก็นำปัญหานั้นไปถามคนอื่น อย่างนี้ เวลานานไปความรู้ย่อมมากขึ้นตามมา"
                          "อาจารย์พูดถูก" เหยียนหุยเห็นด้วย แต่ถามต่ออีกว่า "หากไม่มีท่านอาจารย์ พวกเราจะเรียนจบได้ความรู้ได้อย่างไร"
                          "ที่เธอพูดนั้นไม่ถูก เธอต้องรู้ว่า บนพื้นโลกนี้มีครูอยู่มากมาย หากมีคน 3 คนเดินมาในนั้นอย่างน้อย ต้องมี 1 คนเป็นครูของเรา แน่นอน เขาทำอะไรถูกต้องพวกเราก็ทำตามที่เขาทำ หากเขาทำอะไรไม่ดีงามพวกเรารู้ก็อย่างทำตามนั้น"
                          นักเรียนให้ความเคารพขงจื๊ออย่างมาก มีบางคนเรียนกับขงจื๊อถึง 12 ปี ยังไม่อยากจบ ขงจื๊อสอนลูกศิษย์ได้ประมาณ 3,000 คน มีอยู่ 72 คนบรรลุถึงความเป็นผู้มีชื่อเสียง บางคนยังได้เป็นขุนนางของประเทศด้วย


(4)

                          เมื่อขงจื๊ออายุมากขึ้น ได้ทำเรื่องสำคัญคือการเขียนหนังสือเรื่อง ชุนชิว เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เน้นเรื่องไปที่บุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญของประเทศหลู่ ระหว่างปี 722 ก่อน ค.ศ. ถึง ปี 481 ก่อน ค.ศ. รวมประมาณ 240 ปี ในสมัยนั้นยังไม่มีกระดาษ ต้องเขียนตัวหนังสือบนแผ่นไม้ไผ่ ตอนเริ่มเขียนเรื่องนี้ ขงจื๊อจะไม่ออกมาข้างนอกบ้านเป็นวันๆ มือข้างหนึ่งถือแผ่นไม้ไผ่ มืออีกข้างหนึ่งถือพู่กัน เขียนเรื่องอย่างตั้งอกตั้งใจ นักเรียนของท่านเห็นการทำงานที่จริงจัง และเหน็ดเหนื่อย ต่างเสนอตัวเขียนแทนท่าน ท่านบอกว่า "ไม่ได้ เรื่องที่ฉันเขียนเป็นเรื่องของคนที่ตายแล้ว และฉันต้องการนำทัศนะของฉันบรรจุลงไปด้วย ฉันคิดว่าคนรุ่นหลังจะได้เข้าใจฉัน หรือไม่ก็ประณามฉันได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ฉันได้เขียนบทอย่างนี้ของชุนชิว
                          ขงจื๊อเมื่อตอนปลายอายุ 71 ปี จึงได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มนี้สำเร็จ เป็นเพราะการที่ขงจื๊อตั้งอกตั้งใจเขียนเป็นพิเศษ ดังนั้นทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญเหล่านั้นจึงถูกบันทึกไว้อย่างถูกต้องอย่างยิ่ง
                          ขณะที่ขงจื๊อเขียนหนังสือชุนชิวนั้น ได้เขียนบทกวีร่วมสมัยขึ้นด้วย ขงจื๊อชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนที่ท่านไปอยู่ที่ประเทศฉี เคยได้ยินการบรรเลงเพลงที่ไพเราะยิ่ง ฟังแล้วครั้งหนึ่ง ใน 3 เดือน ต่อมา จะไม่มีความรู้สึกอยากลิ้มรสเนื้อ ตัวท่านเองชอบร้องเพลงและเล่นขิม ไม่เพียงแต่บรรเลงเพลงด้วยตัวเอง แต่ยังสอนนักเรียนให้ฝึกหัดดนตรี ท่านได้แต่งบทกวีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโรงเรียนของท่าน จัดกลุ่มนักเรียนให้ศึกษาวิจัยทางดนตรี ทำให้นักเรียนบางคนมีความสามารถทั้งการบรรเลงดนตรี และการขับร้อง
                          ในเวลานั้นบทกวีที่มีชื่อเสียงในสังคมมีมากกว่า 3,000 บท ขงจื๊อ ได้คัดเลือกออกมา 305 บท รวบรวมเป็นหนังสือบทกวีเล่มแรกของประเทศจีนชื่อว่า ซือจิง


(5)

                          ในปีที่ขงจื๊ออายุ 69 ปี ลูกชายของท่าน (ขงหลี่) ได้ถึงแก่กรรม เมื่ออายุได้ 71 ปี นักเรียนที่ท่านรักที่สุดคือ เหยียนหุย ก็ถึงแก่กรรม อีก 2 ปี ถัดมา ท่านก็ได้สูญเสียศิษย์ที่ท่านรักที่สุดอีกคนหนึ่งคือ จื่อลู่ ขงจื๊อเสียใจมาก ได้เร่งรัดงานเขียนหนังสือหนักขึ้น แต่ในฤดูใบไม้ผลิของปี 479 ก่อน ค.ศ. ท่านได้ล้มป่วยลง แม้จะได้รับการเอาใจใส่อย่างดียิ่งจากบรรดาลูกศิษย์ แต่ท่านมีความรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่ต่อไปก็ไม่มีความหมายใดๆ แล้ว
                          วันหนึ่ง ลูกศิษย์ชื่อ จื่อก้ง ได้เข้ามาเยี่ยม ขงจื๊อพูดกับจื่อก้งว่า "นับจากวันนี้ฉันไม่สามารถพูดได้อีกต่อไป"
                          จื่อก้งรีบถามว่า "หากท่านไม่พูด แล้วพวกเราจะทำอย่างไรเล่า"
                          ท่านตอบว่า " สวรรค์ก็ไม่พูดอะไรเลย แต่ละปีก็ยังคงมี 4 ฤดู ไม่ใช่หรือ "
                          ในที่สุดนับจากวันนั้น ขงจื๊อก็ไม่พูดอะไรอีกเลย เจ็ดวันเจ็ดคืนไม่กินอาหารไม่ดื่มน้ำ และในที่สุดก็จากลูกศิษย์ของท่านไป


แปลจากแบบเรียนภาษาจีนของมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งปักกิ่ง
โดย พันเอก ชูเกียรติ มุ่งมิตร E-mail : Chukiati@rta.mi.th
เมื่อ 18 มี.ค. 2545
รูปภาพของ นายวีรพนธ์

คุณธรรมของขงจื้อ 8 ประการ

คุณธรรมของขงจื้อ 8 ประการ

คุณธรรมขงจื้อ 8 ประการ

วันพฤหัสบดีที่ 06 สิงหาคม 2009 เวลา 18:54 น. Pong Dhamma Book -

ภาพประกอบ

ขงจื้อ เป็นนักปรัชญาเมธีที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน เกิดเมื่อ 551 ปีก่อนคริสตกาล ในแคว้นหลู่ มณฑลชานตุง ขงจื้อกำพร้าบิดามาตั้งแต่วัยเยาว์ และมีชีวิตอยู่ด้วยความยากจน แต่ด้วยความที่เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จึงได้พยายามศึกษาหาความรู้ในวิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และการดนตรีจนได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ จากนั้นได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนจรรยามารยาท และการปกครองให้แก่กุลบุตรในตระกูลผู้ดี เคยเข้ารับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมของแค้วนฉี ภายหลังได้ลาออกจากตำแหน่งแล้วท่องเที่ยวไปตามแค้วนต่าง ๆ เพื่อให้คำปรึกษาและข้อคิดในกิจการเกี่ยวกับการปกครองแก่บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นและเสนาบดีที่เลื่อมใสศรัทธาในความคงแก่เรียนของเขา ในบั้นปลายของชีวิต ขงจื๊อได้กลับสู่แคว้นหลู่บ้านเกิดเมืองนอนของตน สั่งสอนสานุศิษย์จนถึงแก่กรรมเมื่อ 479 ปีก่อนคริตกาล

ท่านขงจื้อจะสอนให้มนุษย์ทุกคนเป็นคนโดยสมบูรณ์ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นต้องปฏิบัติตาม คุณธรรม 8 ประการ ท่านขงจื้อได้สอนเกี่ยวกับ คุณธรรม 8 ประการ ไว้ดังนี้

๑.กตัญญู

กตัญญู (กตัญญ อักษรจีนอ่านว่า เซี่ยว ครึ่งบนเป็นตัวชรา ครึ่งล่างเป็นตัวลูก ประกอบกัน) ความหมายในตัวอักษร แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่นั้นแก่เฒ่า ลูกอยู่เบื้องล่าง เหมือนมือเท้าเฝ้ารับใช้

กตัญญูเป็นคุณธรรมอันดับแรก เป็นต้นกำเนิดของความดีงาม เป็นคุณธรรมสำนึกที่ควรปฏิบัติรักษาเป็นสำคัญ ซึ่งคนจะขาดเสียมิได้ ขาดความกตัญญ เหมือนต้นไม้ไม่มีราก เหมือนน้ำไม่มีต้นน้ำ พ่อแม่เลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ บุญคุณลึกล้ำกว่ามหาสมุทร คุณธรรมท่านสูงกว่าขุน เขาไท่ซัน ทุกค่ำทุกเช้า ทุกสิ่งทุกอย่าง พ่อแม่ให้ความรักดูแลเอาใจใส่ลูก จนสุดที่จะ บรรยายได้ ไม่ว่าจะลำบากฝ่าฟันอันตรายอย่างไร ก็ไม่เหนื่อยหน่ายท้อถอย ความรักลูกนั้น ไม่เปลี่ยนผันจนวันตาย

ปราชญ์ท่านกล่าวไว้ว่า

หมื่นพันตำลึงทองมากมาย ยากจะซื้อชีพกายพ่อแม่

ท่านยังอยู่ไม่เคารพดูแล ท่านนิ่งแน่ร้องไห้ให้ป่วยการ

พระคุณพ่อนั้นเพียงพสุธา คุณมารดาดังมหาสมุทรใหญ่

รักลูกผูกถวิลจนสิ้นใจ จะหมายใครดั่งพ่อแม่แท้ไม่มี

 

ความกตัญญูตามปกติที่ทุกคนพึงปฏิบัติในจุดหมายแห่งการอบรมนี้ คือ

1. ไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่พ่อแม่ เรียกว่า อัน หมายถึง ให้ความสงบสุขใจ

2. ช่วยรับภาระความทุกข์กังวลของท่าน เรียกว่า อุ้ย หมายถึง ปลอบใจช่วยให้คลายทุกข์

3. ให้เสื้อผ้าอาหารด้วยกิริยาที่ยินดี เรียกว่า จิ้ง หมายถึง เคารพ

4. พ่อแม่โกรธว่า ไม่ขัดเคืองโกรธตอบ เรียกว่า ซุ่น หมายถึง โอนอ่อนไม่ขัดใจ

 

ศาสดาจารย์ขงจื๊อ สอนธรรมะในข้อกตัญญแก่ศิษย์ไว้ว่า ลูกกตัญญู พึงปฏิบัติต่อมารดาบิดา คือ เมื่ออยู่กับท่านให้เคารพ เมื่อเลี้ยง ดูท่านให้ได้รับความสุข เมื่อท่านป่วยไข้ให้ห่วงกังวล เมื่อท่านสิ้นไปให้อาลัยโศก เศร้า เมื่อบูชาเซ่นไหว้ให้ยำเกรงเต็มใจ ทั้งห้าประการนี้ดีพร้อม จึงได้ชื่อว่าปฏิบัติ กตัญญู
ความอีกตอนหนึ่งว่า ร่างกายตลอตจนปลายเท้าและเส้นผม ได้จากมารดาบิดา มิกล้าทำลาย นี่ คือ กตัญญูในเบื้องต้น สำรวมตนบำเพ็ญธรรม สร้างคุณงามไว้ในโลก เกียรติ ปรากฏแก่มารดาบิดา นี่คือ กตัญญูในเบื้องปลาย ฉะนั้น ชายหญิงที่ได้รับธรรมะแล้ว อย่าลืมรากฐานชีวิตที่ได้มา จงกตัญญูต่อพ่อ แม่ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้บำเพ็ญธรรม

๒.พี่น้องปรองดอง

พี่น้องปรองดอง (อักษรจีน อ่านว่า ที่ จุดแรกเป็นพี่ จุดทีหลังเป็นน้อง โค้งตัวเคารพ ครบมือครบเท้าในร่างเดียวกัน คือพ่อแม่เดียวกัน) สายเลือดที่สนิทชิดเชื้อที่สุด คือ พี่น้อง เหมือนกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ต้นเดียวกัน ให้สำนึกว่าเกิดมาจากแม่เดียวกัน ดื่มนมจากแม่เดียวกัน พี่จึงควรรู้ให้อภัย น้องให้รู้อดทน ไม่ตัดมือตัดเท้า ความเจริญของครอบครัวเกิดได้เพราะพี่น้องปรองดองกัน

๓.ซื่อสัตย์ จงรักภักดี

ซื่อสัตย์ จงรักภักดี (อักษรจีน อ่านว่า จง คือวางใจไว้ให้ตรง) จะทำการใดๆให้ถูกต้องยุติธรรม ไม่โป้ปดหลอกลวง ไม่ทำสิ่งน่าละอายต่อตนเองและผู้อื่น ถูกต้องตรงต่อฟ้าดิน ตรงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตรงต่อบ้านเมือง ตรงต่อสังคม ตรงต่อพ่อแม่ ตรงต่อพี่น้อง บุตร และภรรยา ทุกสิ่งที่ทำไปโดยไม่ผิดต่อมโนธรรม เรียกว่า จง

๔.ความสัตย์จริง

ความสัตย์จริง (อักษรจีน อ่านว่า ซิ่น ประกอบด้วยตัวคน และวาจาหมายความว่า คนควรมีวาจาสัตย์) วาจาสัตย์ เป็นบรรทัดฐานแห่งมนุษยธรรมอันล้ำค่า กิจการใดจะรุ่งเรืองล้มเหลวอย่างไร เริ่มต้นได้ที่วาจาสัตย์ ดังคำที่กล่าวว่า กัลยาณชนเอ่ยวาจาใด ต่อให้ม้าฝีเท้าไวก็ไม่อาจตามคืนมากัลยาณชน เมื่อลั่นวาจาว่าจะบำเพ็ญธรรม คำไหนเป็นคำนั้น เชื่อในวิถีธรรม เชื่อในมหันตภัย เชื่อในกฏแห่งกรรม การใดที่ได้พูดจานัดหมายกับใคร จะเป็นซื้อขาย หรือการงานก็ตาม หากคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์แห่งตนแล้วผิดสัญญาคำสัตย์ หลอกลวงเหลวไหลล้วนถือเป็นขาดความสัตย์จริง ฉะนั้น เมื่อพูดให้คิดถึงการกระทำ เมื่อจะกระทำให้คิดถึงที่พูด ปากกับใจเป็นอัน หนึ่งอันเดียวกัน ซื่อสัตย์ต่อการกระทำตามสัจวาจา

๕.จริยธรรม

จริยธรรม (อักษรซี อ่านว่า หลี่ หมายถึงการปฏิบัติที่ถูกแบบแผนอันดีงามตามหลักธรรม) คนประเสริฐกว่าสรรพสัตว์ใดๆ หากไม่มีจริยธรรมก็จะไม่ต่างอะไรกับเดรัจฉานและจะไม่ได้รับการยกย่อง จริยธรรมแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของตน ด้วยอาการที่อ่อนน้อมถอมตน ท่าทีสุภาพสง่างาม อยู่ในระเบียบแบบแผนอันดีงาม มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่มีความกรุณาปรานีต่อผู้น้อยทั่วไป เรามีจริยธรรมต่อเขา เขาย่อมตอบสนองต่อเราด้วยจริยธรรม

ฉะนั้น การบำเพ็ญธรรม จึงให้เห็นความสำคัญของแบบแผนจริยธรรม รักตัวสงวน ตัว รักผู้อื่นเคารพให้เกียรติผู้อื่น เช่นนี้ จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติสูงส่ง ไม่ละอายต่อจริยธรรม

๖.มโนธรรม

มโนธรรม (อักษรจีน อ่านว่า อี้ หมายถืงการกระทำที่ถูกต้องตามหลักธรรม ) เป็นคนไม่ควรทำทุจริต ทรัพย์สินเงินทองแม้เป็นของน่ายินดี แต่ควรให้ได้มาอย่าง เป็นธรรม หากแข็งขืนช่วงชิงมา ทำให้ผู้อื่นเสียหายเพื่อตนจะได้ประโยชน์ เช่นนี้ ภายหลัง ย่อมได้รับภัยพิบัติเสียหาย

ฉะนั้น กัลยาณชนผู้มีมโนธรรม ไม่เพียงแต่ไม่โลภในทุกขลาภ ยังจะต้องสละทรัพย์ เพื่อมนุษยธรรม ช่วยเหลือผู้คน และงานธรรมต่างๆ เป็นที่ชื่นชมต่อเทพยดา เป็นที่เคารพ ของคนทั้งหลาย ไว้ชื่อเสียงเกียรติคุณแก่ลูกหลาน และบรรพบุรุษคงอยู่ชั่วกาลนาน

๗.สุจริตธรรม

สุจริตธรรม (อักษรจีน อ่านว่า เหลียน หมายถึงใจซื่อมือสะอาด ไม่โลภ มากอยากได้ ไม่ทุจริตคิดมิชอบ) ผู้มีสุจริตธรรมจะต้องปฏิบัติตนด้วยความจริงใจ ทำการใดๆให้เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ฉวยโอกาสเมื่อใกล้เงิน ไม่หลงไหลเมื่อใกล้อิสตรี มีจิตใจสงบเยือกเย็น ละกิเลสความ อยาก คุณค่าเหล่านี้อยู่ที่ใจกาย มิได้อยู่ที่เสื้อผ้าที่สวมใส่ ใจกายที่มีความบริสุทธิ์ชัดเจน 3 สถาน คือ

๑. บริสุทธิ์งานทางโลก งานทางธรรม
๒. บริสุทธิ์ทางการเงิน
๓. บริสุทธิ์สำรวมมารยาทระหว่างหญิงชาย
และ ความเที่ยงตรง ๔ อย่าง คือ
๑.กายเที่ยงตรง
๒.ใจเที่ยงตรง
๓.วาจาเที่ยงตรง
๔.ความประพฤติเที่ยงตรง

เหล่านี้เป็นเครื่องประดับกายให้ขาวสะอาด จิตใจที่สุจริต แม้ฐานะจะยากจนก็ไม่ โลภอยากได้แต่ผลประโยชน์อันไม่ควรได้ เจียมตัวรักษาตน รักษาหน้าที่การงานด้วยความ สุจริต ไม่เปลี่ยนแปลง

๘.ละอายต่อความชั่ว

ละอายต่อความชั่ว (อักษรจีน อ่านว่า ฉื่อ หมายถึงเนื้อแท้ของจิตเดิม จิตเดิมของคนเรามีแต่ความดีไม่มีความชั่ว ซึ่งหมายถึงมโนธรรมหรือน้ำใจอันดีงามนั่นเอง)
ความรู้สึกละอายตอความชั่ว มีอยู่ในใจของทุกคน เมื่อรู้ละอาย จึงรู้การอันควรกระทำที่ถูกต้อง ชัดเจน ตรงกันข้ามหากมิรู้ละอาย ใจกายจะไม่สำรวม สวมใส่เสื้อผ้าไม่สุภาพ เป็นชายก็ ไม่ใช่ เป็นหญิงก็ไม่เชิง ไม่ระวังความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ก่อให้เกิดข้อครหาน่าอับ อายต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดจากไม่รู้ละอายต่อความชั่วทั้งสิ้น

อ้างอิงจาก http://guru.sanook.com/search/คุณธรรม_8_ประการ

รูปภาพของ นายวีรพนธ์

อักษรมงคล ๘ ประการ

 

อักษรมงคล ๘ ประการ

 

忠   zhong1
孝   xiao4
仁   ren2
爱   ai4
礼   li3
义   yi4
廉   lian2
耻   chi3

8 คำนี้ เป็นคำที่ชาวจีนสมัยก่อนได้รับการสั่งสอนให้ยึดมั่นปฏิบัติ เพื่อเป็นหลักธรรมสำคัญประจำใจตลอดชีวิต        
ซึ่งแต่ละคำก็มีหลักธรรมที่สมควรจดจำ และนำ ไปปฏิบัติตาม ดังนี้       
忠 zhong1         หมายถึง ความจงรักภักดีต่อพระราชาหรือเจ้านายของตน ความซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง
หลายคนคงรู้จักคำว่า "ตงฉิน" ตงฉิน คือขุนนาง ผู้มี ความจงรักภักดีต่อเจ้านายของตน
孝 xiao4        หมายถึง ความกตัญญู
仁 ren2        คุณธรรม  จีนที่ขงจื้อ ยกย่องว่าเป็นคุณธรรมที่เป็นรากฐานของ คุณธรรมทั้งปวง
เป็นความใจดี ใจกว้าง ความหวังดี ความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
爱 ai4        ความรัก
礼 li3        ขนบธรรมเนียมและพิธีกรรมอันเป็นที่นิยมว่าถูกต้อง และงดงาม ในสังคมที่ตกทอดมาแต่โบราณ
义 yi4        สัจจะ ซึ่งเป็น 1 ในคุณธรรม 8 ข้อของชาวจีน ที่แสดงออก ด้วยความยึดมั่น ไม่ทิ้งเพื่อนในยามยากหรือในยาม มีภัย ต่อสู้เพื่อความถูก ต้องอย่างเด็ดเดี่ยว
廉 lian2        ความสันโดษมักน้อย ความไม่โลภ ซึ่งเป็นคุณธรรมของขุนนาง จีนสมัยโบราณ และเป็นคุณธรรมที่หล่อเลี้ยงความซื่อสัตย์สุจริตของชาวจีน
耻 chi3        หิริโอตัปปะ

ที่มา http://www.thaichinese.net/tcforum/frame.php?frameon=yes&referer=http%3A//www.thaichinese.net/tcforum/viewthread.php%3Ftid%3D1169

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal