หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

ปฐมบทการเดินทางในจีน ของคุณ candy perfume girl

ปฐมบทการเดินทางในจีน ของคุณ candy perfume girl

คัดลอกมาจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=candyperfumegirl

(สำเนาข้อความมาทั้งหมด แต่ย่อขนาดภาพลง)

ฉันเดินทางมายังเมืองหนานหนิง (Nanning) เมืองเอกแห่งมณฑลกวางสี่ และเป็นเมืองหน้าด่านเมืองแรกของจีน หลังเดินทางข้ามแดนมาจากเวียดนาม หนานหนิงเป็นเมืองใหญ่มากกว่าในความนึกคิด จนอดทึ่งไม่ได้ถึงความรวดเร็วของการพัฒนาประเทศของจีน กระทั่งเมืองแห่งนี้ ที่มีระยะขจัดห่างไกลเป็นพันกิโลเมตร จากเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง แต่สภาพบ้านเมืองยังเต็มไปด้วยตึกระฟ้ามากมาย จินตนาการอย่างไร ก็ไม่มีทางเห็นภาพของเมืองแห่งนี้ ที่อดีตเป็นเพียงเมืองท้องถิ่นเล็กๆ เท่านั้น

ยิ่งย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของจีน ยิ่งทำให้เชื่อได้ยากว่า จีนจะสามารถพลิกโฉมศัลยกรรมตัวเอง จนมีรูปร่างหน้าตาอินเตอร์ได้ถึงเพียงนี้ ไม่ใช่หน้าตาทรงผมเชยๆ ที่เรามักจะติดภาพเมื่อพูดถึง "จีน" และต่อท้ายว่า "แดง" มาโดยตลอด

เพียงในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา จีนได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปจากประวัติศาสตร์หน้าเก่าๆ มากมายเหลือคณานับ ภาพของประเทศจีนในปัจจุบันคงทำให้จินตนาการได้ลำบากว่า ครั้งหนึ่งในอดีตจีนเคยมี "องค์จักรพรรดิ" ซึ่งเปรียบได้กับ “อาณัติแห่งสวรรค์” เหนือเหล่าประชาราษฎร์ทั้งปวง ความยิ่งใหญ่เยี่ยงนั้นเคยดำเนินมายาวนานหลายสหัสวรรษบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกล้วนไม่จีรัง เหนือฟ้าใช่ค้ำฟ้า สูงสุดสู่เสื่อมสุด สุดท้ายโอรสแห่งสวรรค์ กลายเป็นเพียงชื่อ และตำนานที่ได้ครอบครองเนื้อที่ส่วนใหญ่ บนหน้าประวัติศาสตร์จีนเท่านั้น

ฉันมีโอกาสได้เห็นภาพถ่ายเก่าเก็บในหนังสือของ National Geographic ที่ถ่ายมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สมัยที่แผ่นดินจีนยังปกครองโดยราชวงศ์ชิงหรือราชวงศ์แมนจู ภาพที่ฉันเห็นล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า หาดูไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาพประตูเมืองเก่า เครื่องแต่งกายของสตรีชาวแมนจู ผู้ชายไว้เปียยาว รถลาก เกี้ยว โคมไฟกระดาษ เรือสำเภาจีน ฯลฯ นับตั้งแต่จีนต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 เป็นต้นมา ภาพเก่าๆเหล่านี้ค่อยๆเลือนหายไปตามกาลเวลา เหลือเพียงแค่ร่องรอยที่ถูกบันทึกบนภาพขาวดำเก่าๆ

อย่างไรก็ตามแม้ฉันจะไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ประเทศจีนในยุคใหม่ที่ทันสมัยเป็นสากล แต่ฉันยังคงสนใจฝักใฝ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของจีนชนิดถอนตัวไม่ขึ้น จนอดไม่ได้ที่จะต้องหยิบเป้ใบเก่งมาปัดฝุ่นเดินทางเพื่อเข้ามาสัมผัสกลิ่นอายของเรื่องราวต่างๆในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้

ก่อนเดินทางมาฉันหาข้อมูลจากหลายแหล่ง ลำพังข้อมูลจากไกด์บุ๊คยอดนิยมอย่าง “โลกใบเหงา” (Lonely Planet) คงไม่เพียงพอที่จะสามารถเข้าถึงประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาลเช่นนี้ได้ในแบบที่ฉันอยากสัมผัส ช่องทางอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต และการสอบถามจากเพื่อนชาวจีนที่ฉันได้รู้จักจากการเดินทางก่อนหน้านี้ ล้วนแล้วแต่ช่วยขยายของเขตโลกทัศน์ของฉัน ที่มีต่อประเทศแห่งนี้ให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ฉันเลือกที่จะวางแผนการเดินทางไปยังบางเมือง ที่ยังไม่ได้เป็นที่กล่าวขาญถึงในไกด์บุ๊คยอดนิยมเล่มนั้นมากนัก และนั่นคือข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายๆเมืองเหล่านี้ ยังคงหลบเร้นจากการรับรู้ของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่

ฉันพบว่าการเดินทางในแต่ละที่ไม่ได้มีความแน่นอนเหมือนเอาไม้บรรทัดมาวัดระยะ เราอาจได้พบเจอกับสิ่งต่างๆที่อยู่เหนือความคาดหมายและความคาดหวังเสมอ ความไม่แน่นอนคือรสชาติของการเดินทางอย่างหนึ่ง อาจเป็นรสหวานยามได้พบกับความรู้สึกดีๆหรือมิตรภาพอันหอมหวลในระหว่างการเดินทาง อาจเป็นรสจืดยามโดดเดี่ยวเหี่ยวแห้งไร้มิตรข้างกาย หรืออาจเป็นรสขมจนถึงขื่นยามพบพานกับสิ่งที่ไม่ได้เตรียมหัวใจรองรับไว้

ฉันพยายามเลือกเส้นทางที่จะได้เห็นภาพเก่าๆและวิถีแบบเดิมๆของจีน ฉันพบว่าของเก่าๆเหล่านี้นับวันจะยิ่งสาบสูญไปเรื่อยๆอย่างน่าใจหาย

แต่ที่คาดไม่ถึงจะได้เจอ กลับได้เจอตั้งแต่ 2 เท้าของฉันเพิ่งจะก้าวข้ามเขตแดนของประเทศจีนด้วยซ้ำ ฉันขอนับว่านี่เป็นของเก่าดั้งเดิมของจีนอย่างหนึ่งที่มาต้อนรับฉันถึงหน้าประตูเมือง

ไม่ใช่ใครอื่น "เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง" นั่นเอง ฉันพบว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้เปรียบได้กับประชาสัมพันธ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือตัวแทนทางวัฒนธรรมของจีนอย่างหนึ่ง ฉันยื่นหนังสือเดินทางแนบใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มส่งไปให้ แต่กลับได้รับใบหน้าที่เย็นชาไร้ความรู้สึกกลับมา (แถมมุมปากตกอีกต่างหาก) ฉันขอถือว่านี่เป็นมรดกสืบทอดทางวัฒนธรรม จากยุคหนึ่งของจีน ที่ยังคงทิ้งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ไว้บนใบหน้าเหล่านั้น กลายเป็นว่าได้เจอของเก่า แบบไม่ทันตั้งตัวและตั้งใจซะด้วยซ้ำ

จากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพียงไม่กี่อึดใจ ก็ได้มาสัมผัสกับเจ้าหน้าที่จองตั๋วรถไฟของเมืองหนานหนิง สถานีรถไฟของเมืองนี้ และทุกเมืองจะจัดพื้นที่สำหรับซื้อและจองตั๋ว โดยจะแบ่งเป็นช่องๆ มีเจ้าหน้าที่ที่มักจะเป็นผู้หญิงนั่งประจำการอยู่ในแต่ละช่อง โดยมีกระจกใสกั้นกลาง และที่กระจกจะทำช่องรูไว้เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้ยินกัน แต่เจ้าหน้าที่จะพูดเสียงผ่านไมค์และดังออกทางลำโพง เพื่อให้ได้ยินกันแบบถ้วนทั่วถึงกัน

ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมต้องทำกระจกกั้นเช่นนั้น แต่แคลงใจอยู่ไม่นาน ก็เกิดเสียงตวาดของเจ้าหน้าที่ ผ่านลำโพงดังกระหึ่ม ระหว่างที่ฉันยืนต่อคิวรอซื้อตั๋วรถไฟ ประจักษ์ได้ในทันทีว่ากำลังเกิดสมรภูมิเดือด ระหว่างเจ้าหน้าที่กับลูกค้า เสียงปะทะคารมกันดุเดือด ชนิดถึงพริกถึงขิง ถึงจะฟังแมนดารินไม่เข้าใจ แต่ก็พอจะเดาเหตุการณ์ได้ว่าลูกค้าต้องการคืนตั๋วที่ซื้อไป และขอเงินคืนด้วย แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับคืน สุดท้ายดูเหมือนฝ่ายลูกค้าจำต้องยอมจำนน แต่ขอไว้ลายต่อหน้าจีนมุงกับไทยมุง ด้วยการบรรจงฉีกตั๋วรถไฟออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วโยนขึ้นกลางอากาศ ก่อนสะบัดหน้าเดินจากไป ทำเอาจีนมุงและไทยมุงอย่างฉันมองตามตาค้าง ฉันอดแย้มที่มุมปากไม่ได้ หลังเห็นซากตั๋วรถไฟเป็นชิ้นๆ กระจัดกระจายนองอยู่บนพื้นอย่างนั้น

ฉันจึงบรรลุถึงประโยชน์ของกระจกที่ใช้กั้น แต่ใช่จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ จำต้องระแวดระวังคู่อริที่อาจใช้วิชานิ้วพิฆาต เอานิ้วลอดรูมาจิ้มตาอีกฝ่ายได้ อันนี้ต้องพึงระวัง!

ฉันวางแผนจะเดินทางไปยังเมืองเฟงหวง (Fenghuang) ในมณฑลหูหนาน (Hunan) แต่ต้องนั่งรถไฟไปลงที่เมืองห้วยหัว (Huaihua) เมืองหน้าด่านก่อนที่จะต่อรถบัสไปยังเมืองเฟงหวงแห่งนี้ ฉันซื้อตั๋วรถไฟชั้น Hard Sleeper ได้แบบง่ายดายเกินคาด เป็นรถไฟรอบกลางคืน รถไฟขบวนนี้ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เล่นเอานอนกระสับกระส่ายทั้งคืนด้วยอากาศในเดือนกันยายนที่แสนจะร้อนจัด

รถมาถึงเมืองห้วยหัวแต่เช้าตรู่ ฉันถือโอกาสจองตั๋วรถไฟไปเมืองกวางเจาในอีก 2 วันข้างหน้าเพื่อความปลอดภัย การจองตั๋วรถไฟที่นี่ยังคงราบรื่นไม่มีอุปสรรคใดๆ จะมีก็แค่ผู้คนที่มายืนเข้าแถวยาวเพื่อซื้อตั๋วซึ่งต้องใช้เวลารอพอสมควร

ด้วยข้อมูลการเดินทางที่น้อยนิด แถมในไกด์บุ๊คยอดนิยมเขียนถึงเมืองเฟงหวงเพียง 2 บรรทัด แต่สันชาตญาณบอกฉันให้ไปตั้งต้นที่สถานีขนส่งของเมือง ฉันจึงว่าจ้างรถที่มีรูปร่างคล้ายตุ๊กตุ๊กไปส่ง เมื่อไปถึง เดินดุ่มหารถบัสที่มีอักษรจีนคำว่า “เฟงหวง” เขียนบอกหน้ารถ ฉันพยักหน้าขึ้นลงอยู่หลายคราเพื่อให้แน่ใจว่า ตัวอักษรจีนที่เขียนตวัดอยู่หน้ารถคันนี้ ตรงกับที่เขียนบอกในไกด์บุ๊คที่อยู่ในมือฉันนี้ จนแน่ใจว่าลายเส้นตรงกัน ฉันจึงขึ้นไปรอบนรถคันนี้ ถามคนขับถึงเวลารถออกโดยชี้ไปที่นาฬิกาข้อมือของฉัน และได้ยินเสียงตอบแว่วกลับมาเป็นภาษาจีนที่หมายถึงเลข 8 จากการท่องจำมาพอได้ เลยอนุมานไปว่า 8 โมง แต่เวลาจริงๆที่รถออกหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ด้วยต้องรอให้ผู้โดยสารเต็มคันรถ ขอเน้นว่า “เต็ม” จริงๆ ชนิดที่ถ้ามีเก้าอี้ที่ว่างเว้นจากก้นของใครสักคนแม้เพียงที่เดียว รถก็จะไม่ยอมออกอย่างเด็ดขาด ฉันต้องนั่งรอพร้อมกับสูดควันบุหรี่ ที่ได้รับแบ่งปันมาจากคนอื่นๆร่วมชั่วโมง ราว 9 โมงครึ่งล้อรถจึงได้เริ่มหมุนเคลื่อนตัวไปซะที

บนรถบัสฉันมีโอกาสได้คุยกับพ่อกับลูกสาวชาวมาเลย์คู่หนึ่ง พวกเขาสามารถพูดแมนดารินและอังกฤษได้ เห็นดังนั้นฉันเลยขอติดสอยห้อยตามไป กับพวกเค้าด้วย นับเป็นโชคดีของฉันประการหนึ่งที่มีล่ามเดินทางมาด้วย

รถใช้เวลา 2 ชั่วโมงบนถนนที่คดเคี้ยวไปตามไหล่เขาตลอดเส้นทาง ไปถึงเฟงหวงเอาตอนเกือบเที่ยง และก็เป็นไปตามสูตรของเมืองท่องเที่ยว ยังไม่ทันก้าวพ้นบันไดรถบรรดาญาติๆ ต่างพากันมากรูตรงหน้าฉันชนิดหัวกระไดรถไม่แห้ง ต่างฝ่ายต่างมาเสนอหน้าแย่งกันพูดแมนดารินใส่ฉันไฟแล่บ ชนิดไม่เว้นช่องไฟให้ฉันได้แนะนำตัวเอง ฉันได้แต่ส่งยิ้มสยามให้บอกเป็นนัยว่า เป็นคนไทยพูดจีนไม่ได้ แต่ดูเหมือนไม่ได้ผล พวกหล่อนยังจ้อแมนดารินกับฉันไม่มีทีท่าจะหยุด ฉันเหลือบไปมองพ่อลูกมาเลย์ที่กำลังคุยตกลงกับเจ๊คนหนึ่งอยู่ และกำลังจะเดินตามเจ๊คนนั้นไป เห็นดังนั้นจึงรีบเผ่นตามพ่อลูกคู่นั้นไป อย่างเลี่ยงไม่ได้

เจ๊คนนั้นพาพวกเรามาหยุดตรงที่พักแห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าดูดีเหมือนโรงแรม แถมอยู่ริมแม่น้ำ เห็นลำน้ำที่ไหลลัดเลาะไปตามหุบเขา ได้บรรยากาศดี ส่วนสนนราคาห้องพักคืนละ 60 หยวน ถือว่าแพงมากสำหรับฉัน แต่ด้วยไม่มีทางเลือก คิดซะว่านานๆจะได้พักห้องดีๆสักครั้ง

ที่เมืองแห่งนี้ถือว่ามีนักท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชาวจีนเจ้าของประเทศแทบทั้งสิ้น ไม่เห็นพวกแบกเป้ขาประจำอย่างชาวยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกัน ชาติเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี เลยตลอดที่อยู่ที่นี่ ชื่อเสียงเรียงนามของเมืองนี้ อาจไม่คุ้นหูสำหรับชาวต่างชาติ แต่ถือว่าดังมากในหมู่ชาวจีน


บ้านเก่าๆที่สร้างค้ำบนเสาไม้


ภาพแรกที่เห็นแม้ห่างไกลจากสิ่งที่วาดภาพไว้ในใจ แต่ก็ไม่ถึงกับผิดหวังซะทีเดียว ฉันไม่อยากยึดเอามุมมองระดับเพียงผิวเผินมาตัดสินในทันที ความงามที่แท้อาจอยู่หลบลึก รอการค้นหาอยู่ข้างหน้า

ฉันเดินทองน่องไปตามทางขนานกับแม่น้ำถัวเจียง (Tuojiang) ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเมือง สองฝั่งแม่น้ำเป็นบ้านเรือนแบบเก่าเรียงรายไปตลอดสายแม่น้ำ เป็นบ้านที่สร้างจากไม้และที่พิเศษคือสร้างอยู่บนเสาไม้ที่ตั้งค้ำอยู่บนพื้นใต้ผิวน้ำ ถือเป็นสัญลักษณที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของเมืองนี้ บ้านเก่าเหล่านี้บางหลังมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปีเลยทีเดียว


บรรยากาศเมืองเก่า


จากหลักฐานทางโบราณคดี เฟงหวงเคยเป็นเมืองที่ใช้เป็นค่ายทหาร สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ในช่วงเวลานั้นชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า “เหมียว” (Miao) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่แถบนี้ ได้ก่อความไม่สงบ ทำให้ทางการต้องส่งทหารมา เพื่อสู้รบขับไล่พวกเหมียวออกไป ในช่วงเวลานั้นผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองนี้ จึงมักจะเป็นทหารที่มาประจำการอยู่ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง ชนพื้นเมืองชาวเหมียวได้เคลื่อยย้ายถิ่นที่อยู่จากเดิมที่อาศัยอยู่ตามถ้ำ เข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองแห่งนี้ และตั้งถิ่นฐานสร้างที่อยู่อาศัยที่มีรูปแบบบ้านไม้ที่สร้างอยู่บนเสาค้ำดังที่ปรากฏอยู่


มุมเก่าๆเก๋ๆอีกมุม

 


ชนพื้นเมืองชาวเหมียว


ชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำถัวเจียงยังคงเคลื่อนไหวไปอย่างเงียบๆและเรียบๆ ชาวประมงที่กำลังถ่อเรือ ให้เคลื่อนคล้อยไปตามกระแสเอื่อยของแม่น้ำ บ้างก็ลุกขึ้นมาเหวี่ยงแหกระจายเป็นแพกลางน้ำเพื่อดักปลา บ้างก็นั่งนิ่งใจจดใจจ่อรอปลาที่กำลังจะมาติดเหยื่อ หรือจะเป็นแม่บ้านที่ออกมาซักผ้าอยู่ริมน้ำ ผู้คนที่นี่ยังซักผ้าด้วยวิธีการแบบเก่า ที่ใช้การโถมฟาดผ้ากับพื้นแทนการขยี้ ถัดไปไม่ไกลมีฝูงเป็ดขาวลอยเตลิดเลียดบนผิวน้ำ มีกังหันวิดน้ำแบบโบราณขนาดใหญ่ คอยดักสายตาผู้คน และทำนบกั้นน้ำแบบโบราณที่แสนจะขลัง เหล่านี้ล้วนเสริมภาพบรรยากาศเก่าๆ ริมน้ำได้อย่างมีเสน่ห์ ฉันสามารถอยู่นิ่งๆมองการเคลื่อนไหวช้าๆเหล่านี้ได้โดยมิรู้เบื่อ


ก้อนหินสำหรับกระโดดข้ามแม่น้ำ


ที่สะดุดตาฉันเป็นพิเศษอีกอย่างคือบาทวิถีข้ามแม่น้ำ ที่ทำเป็นก้อนหินบล๊อคทีละลูกๆ วางเรียงรายต่อเชื่อมไปถึงอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ ผู้คนจะต้องเดินกึ่งก้าวกึ่งกระโดดข้ามก้อนหินเหล่านี้ทีละลูกๆ เพื่อข้ามฝั่ง ในอดีตที่ยังไม่ได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านก็ต้องใช้ทางข้ามที่เป็นก้อนหินเหล่านี้เท่านั้น สำหรับข้ามแม่น้ำ เห็นดังนั้นมีหรือที่ฉันจะพลาดทดลองกระโดดข้ามก้อนหินพวกนี้ ออกจะสนุกอยู่ไม่น้อย ระหว่างกระโดดดันไพล่ไปนึกถึงรายการทีวีสมัยฉันยังเป็นเด็ก คือรายการ “โหด มัน ฮา” ซึ่งเป็นเกมส์โชว์ของญี่ปุ่น ที่ผู้แข่งขันต้องแข่งกันผ่านด่านด้วยการกระโดดข้ามก้อนหิน เพื่อข้ามแม้น้ำไปอีกฝั่ง ถ้าใครพลาดไปเหยียบก้อนหินที่จมน้ำ ก็จะทำให้เสียหลักตกลงไปในน้ำ เป็นที่ขำขันซะไม่มี ทำเอาฉันหวาดระแวงว่าจะมีใครอุตริ แกล้งเอาก้อนหินหลอกๆมาตั้งแบบในรายการ นี่ถ้าฉันต้องมาตกน้ำที่นี่คงขำไม่ออกเป็นแน่


กำแพงเมือง

 


แม่น้ำถัวเจียงมองจากกำแพง


เมืองแห่งนี้ยังมีกำแพงเมืองซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง ปรากฏสรีระเป็นกำแพงหินทรายสีแดงพาดผ่านตัวเมืองเป็นทางยาว ซึ่งสามารถเดินเหินไปมาบนกำแพง เบิ่งชมทัศนียภาพงามๆได้โดยรอบ ทั้งสองฟากฝั่งของกำแพง พร้อยไปด้วยบ้านเรือนเก่าๆ ยาวไปตลอดแนว และสามารถชะเง้อเห็นแม่น้ำถัวเจียงพาดผ่านขนานไปกับแนวกำแพงได้อย่างงดงาม

ยามเมื่อตะวันหมดหน้าที่ฉายแสงสุดท้ายไปแล้ว แสงสีจากโคมไฟตามบ้านต่างๆเริ่มลุกพรึ่บขึ้นมารับช่วงทำหน้าที่ต่อ เห็นเป็นแสงสลัวสีนวลไปทั่วทั้งเมือง บ้านเรือนตลอดแนวแม่น้ำมักจะเปิดเป็นร้านอาหาร ผับ สำหรับนั่งฟังเพลงบรรยากาศชิลๆ เห็นดังนั้นจึงเดินเลี่ยงไปอีกทาง จนไปเจอตลาดกลางคืน ซึ่งจะมีร้านอาหารพื้นเมืองนานาชนิด ดูแล้วน่ากินไปซะทุกอย่าง อาหารโปรดของฉันอย่างหนึ่งที่เห็นขายแทบทุกที่ในเมืองจีนคือ มันทอดคลุกพริกป่นที่ฉันมักจะซื้อมาขบเล่นรองท้องอยู่เสมอ ฉันเดินเลือกร้านอาหารอยู่ครู่ใหญ่ๆ จนมาตกปากตกท้องที่ร้านหนึ่ง ก่อนอื่นต้องไปเลือกของสดที่นำมาเสียบไม้โชว์อยู่หน้าร้าน อย่างพวกเนื้อหมู เนื้อไก่ เต้าหู้ เห็ดสารพัด หัวไชเท้า และผักนานาชนิด ในอัตราเพียงไม้ละ 1 หยวนสำหรับเนื้อสัตว์และ 0.5 หยวนสำหรับผัก ฉันเองก็เลือกโดยเอาแต่ชี้ๆไม่พูดซักคำ จนคนขายมองหน้าคงนึกว่าฉันหยิ่ง เลือกเสร็จก็ไปนั่งทำตัวกลมกลืนกับคนจีนคนอื่นๆ จากนั้นของที่เลือกจะถูกนำไปต้มจนสุก จากนั้นนำมาปรุงโดยการคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงนานาชนิด ที่ไม่รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง รู้แค่ว่ารสแซ่บถูกปากยิ่งนัก ที่ถูกใจฉันเป็นพิเศษคือหัวไชเท้าเป็นแผ่นใสๆ ยามเมื่อเคี้ยวในปากจะรู้สึกนุ่มลิ้นและรับสัมผัสรสของเครื่องปรุงชนิดถึงแก่นสุดๆ มื้อนั้นฉันฟาดไปรวมสิบกว่าไม้อิ่มจนพุงแปร้ แต่จ่ายไปไม่ถึง 10 หยวน นับว่าถูกมากแถมถูกใจอีกต่างหาก

ฉันอยู่เดินเที่ยวในเมืองเฟงหวง 2 วัน จากนั้นก็ต้องนั่งรถบัสกลับไปยังเมืองห้วยหัว เพื่อจับรถไฟต่อไปยังเมืองเสิ่นเจิ้นในตอนเย็น ฉันใช้เวลาช่วงบ่ายในเมืองห้วยหัวหมดไปกับร้านอินเตอร์เน็ต ที่อยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟ ด้วยไม่มีอะไรให้ทำมากนักกอปรกับอากาศร้อนจัด จนไม่อยากเดินไปไหนให้เหงื่อไคลไหลย้อย คืนนั้นฉันยังคงใช้รถไฟเป็นที่พักอีกคืน

.....

แผนการที่วางไว้แต่เดิมคือ จากเสิ่นเจิ้นฉันจะเดินทางต่อไปเมืองหยงติ้ง (Yongding) เมืองเล็กๆในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งจะเดินทางโดยรถไฟ ใช้เวลาราว 8 ชั่วโมงและจะอยู่เที่ยวที่นั่น 2 วัน จากนั้นจะกลับมายังเสิ่นเจิ้นอีกครั้งเพื่อจับรถไฟต่อไปปักกิ่ง ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงมายืนเข้าคิวที่ยาวเหยียด เพื่อจับจองซื้อตั๋วรถไฟไปปักกิ่งในอีก 2 วันข้างหน้า

และแล้วปัญหาในการซื้อตั๋วรถไฟที่ฉันหวั่นวิตกมาโดยตลอด ก็เริ่มมาฉายแววตรงหน้า ฉันยืนอยู่ตรงหน้าช่องขายตั๋วรถไฟ ด้วยอาการลังเลอยู่เกินสองนาน จนเจ้าหน้าที่ขายตั๋ว หรือ “เจ๊ตั๋ว” ปรายตามองค้อนควับจนฉันไม่กล้าสบตาด้วย ความรู้สึกในตอนนั้น เหมือนตัวเองกำลังยืนอยู่ตรงทางสักสิบแพร่ง ไม่รู้จะไปทางไหนดี ความสับสนพลุ่งพล่านอยู่ในสมองจนทำอะไรไม่ถูก

ด้วยก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่นาที ฉันพยายามออกเสียงดัดสำเนียงจีนให้ชัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ พูดกับเจ๊ตั๋วว่า

‘เป่ยจิง ” พร้อมยื่นกระดาษที่เขียนวันที่ในอีก 2 วันข้างหน้า
เจ๊ตั๋วได้ยินชื่อ “เป่ยจิง” ได้แต่สายหน้าหงึกๆ
“เมโย่ว !” แปลว่าไม่มี
“เป่ยจิง นะ” ฉันทวนคำกลับไป
“เมโย่ว !” คำตอบยังเหมือนเดิม

ฉันรู้ความหมายของคำว่า “เมโย่ว” จนขึ้นใจ ด้วยเป็นคำที่ไม่พึงประสงค์จะได้ยินเป็นอย่างยิ่งยามเมื่อจองตั๋วรถไฟ เพราะนั่นหมายถึงที่นั่งเต็มแล้ว แถมเจ๊ตั๋วเหล่านี้มักจะพูดตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงห้วนๆ ราวกับบอกเป็นนัยว่า ให้ยอมรับชะตากรรมของตัวเองซะ และครั้งนี้ก็เช่นกัน

“เป่ยจิง” พร้อมยื่นกระดาษที่เขียนวันที่ในอีก 3 วันข้างหน้า
“เมโย่ว !!” ยังไงก็ไม่มี น้ำเสียงเริ่มรำคาญขึ้น
เจ๊ตั๋วเห็นดังนั้นเลยเขียนวันที่เดินทางที่ยังมีที่นั่งเหลือยื่นให้ฉันดู
“หาอีก 1 อาทิตย์เชียวเหรอ !!!” ฉันเบิกตากว้างอุทานออกมาเป็นภาษาไทย เจ๊ตั๋วทำหน้างง
ทำยังไงดีล่ะ แล้วจะไปไหนดี จะให้ทำอะไรที่เสิ่นเจิ้นตั้ง 1 อาทิตย์ เอาไงดี สมองฉันพยายามเร่งหาทางออกอย่างสุดกำลัง แถมยังมีเสียงบ่นไล่หลังมาเป็นระลอกๆ จากคนต่อคิวยาวยืดจากฉันที่เริ่มแปลงร่างเป็นหมีกินผึ้ง ไม่ต้องเดาก็รู้ว่ากำลังด่าฉันอยู่

ในที่สุดฉันต้องยอมจำนน เดินออกจากสถานีรถไฟไปแบบมือเปล่า ฉันแทบต้องรื้อแผนการเดินทางใหม่หมด ตอนนี้สมองฉันยังไม่สามารถสั่งการให้คิดอ่านอะไรออกได้ทั้งนั้น

....

ฉันกำลังนั่งอยู่บนรถไฟที่เดินทางไปยังเมืองหยงติ้ง (Yongding) ฉันกำลังอยู่ในภาวะวิตกจริต! ทั้งจากเรื่องตั๋วรถไฟไปปักกิ่งที่ยังไม่สามารถจองได้ และเมืองแปลกหน้าปลายทางที่ฉันกำลังมุ่งหน้าไป ฉันมีข้อมูลเกี่ยวกับเมืองหยงติ้งเพียงหยิบมือ ในหัวล่วงรู้เพียงแค่ว่าเป็นเมืองหน้าด่านที่จะเดินทางต่อไปยังบ้านดินทรงกลม หรือที่เรียกว่า “ถู่โหลว” (Tolou) ซึ่งเป็นบ้านโบราณของชาวจีนแคะ และในไกด์บุ๊คยอดนิยมยังเขียนถึงเมืองนี้ไม่กี่บรรทัด ไม่มีแม้แต่แผนที่ เรียกว่าต้องไปหาข้อมูลเอาดาบหน้าอย่างเดียว

ก่อนเดินทางมาเมืองจีน ฉันไปสะดุดกับหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “คือ “ฮากกา” คือ “จีนแคะ” (“ฮากกา” เป็นภาษาจีนสำเนียงแคะ แปลว่าชาวจีนแคะ ส่วนภาษาแมนดารินอ่านว่า “เคอะเหยิน”) ด้วยตัวฉันมีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนแคะ เลยซื้อมาอ่านทีเล่นทีจริงเพื่อศึกษารากเหง้าของตัวเอง และยังไม่เคยเห็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับชาวจีนแคะมาก่อนหน้า พลิกไปดูข้างใน มีรูปภาพของสิ่งก่อสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยของจีนแคะสมัยโบราณ หรือที่เรียกว่า “ถู่โหลว” ฉันถึงกับอึ้งด้วยความฉงนในรูปทรงที่มีลักษณะเป็นหอสูงทรงกลมที่อยู่รวมกันเป็นวงล้อม ดูแล้วเหมือนเป็นป้อมปราการอะไรซักอย่าง ฉันไม่เคยนึกหรือจินตนาการมาก่อนว่าบรรพบุรุษตัวเองจะอาศัยอยู่ในบ้านลักษณะนี้ หลายเสียงโดยเฉพาะชาวตะวันตกวิจารณ์อย่างขบขันว่ารูปร่างเหมือนฐานปล่อยยานอวกาศ ฉันมองไปก็คลับคล้ายอยู่ เอ หรือบรรพบุรุษฉันจะเป็นนักบินอวกาศหนอ !?!

ดังนั้นเมื่อสบโอกาสมาถึงเมืองจีน และจะต้องผ่านมณฑลกวางตุ้ง และฝูเจี้ยนอันเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาวจีนแคะ ฉันจึงไม่พลาดที่จะขอทัวร์ “เยี่ยมญาติ” โดยเดินทางไปยังเมืองหยงติ้งในมณฑลฝูเจี้ยนนี้ ซึ่งเป็นเมืองของชุมชนชาวญาติๆ ของฉันที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านดินถู่โหลวนั่นเอง

เช้าตรู่วันต่อมา เมื่อรถไฟจอดนิ่งสนิท ฉันทอดสายตาออกไป และเห็นป้ายบอกสถานีเมือง “Yongding” เห็นแล้วแทบจะคว้าเป้ใส่หลัง เดินลงจากรถไฟไม่ทัน ฉันเดินดุ่มมายืนตรงหน้าสถานีรถไฟ พร้อมญาติๆ ฉันที่อุตส่าห์เตรียมรถแท๊กซี่มารับฉันถึงที่โดยไม่ได้นัดหมาย เราสื่อสารกันไม่เข้าใจตามปกติ พวกเขาได้แต่ชูแผ่นกระดาษรูปหอดินถู่โหลวที่ฉันกำลังจะไป เห็นเช่นนี้อย่างน้อยก็ใจชื้นขึ้นมาว่า “มาถูกที่” แต่ฉันเองอยากหาที่พักแถวๆนี้ก่อน แล้วค่อยคิดอ่านต่อว่าจะวางแผนการเดินทางท่าไหนดี เลยปฏิเสธญาติตัวเองไปแบบไร้เยื่อใย

ยืนเก้ๆกังๆ ด้วยไม่รู้จะเดินไปทางไหนดี สักพักมีเด็กหนุ่มจีนวัยรุ่น 2 คนเดินมาพูดแมนดารินกับฉัน ฉันออกตัวไปว่าเป็นคนไท่กว๋อ (แปลว่าคนไทย) หนุ่ม 2 คนนั้น (เผอิญฉันจำชื่อพวกเขาไม่ได้) พูดภาษาอังกฤษได้เล็กน้อย ได้ความว่าเป็นชาวเมืองกวางเจา พวกเขาทักว่าจำฉันได้ เพราะร่วมโดยสารมาในรถไฟขบวนเดียวกัน แต่แปลกที่ฉันกลับไม่คุ้นหน้าพวกเขาเลย คาดว่าคงกำลังมัวแต่อมทุกข์ เลยตาพร่ามองไม่เห็นใคร พวกเขาก็ตั้งใจจะไปเที่ยวชม “ถู่โหลว” เช่นเดียวกับฉัน

เขา 2 คนได้คุยทาบทามกับโชเฟอร์คนหนึ่งไว้แล้ว เขาเห็นฉันกำลังยืนด้อมๆ เลยมาชวนเพื่อร่วมแชร์รถไป อัตราค่ารถคนละ 70 หยวน ราคานี้ถือว่าแพงมากสำหรับฉัน ปกติฉันเป็นพวกนิยมรถบัส แต่ที่หาข้อมูลมาดูเหมือนจะมีแต่รถบัสที่ไปตามเมืองหลักๆ ถ้าจะไปดูหมู่บ้านถู่โหลว ซึ่งมักจะอยู่ในชนบทที่ห่างไกลออกไป จำเป็นต้องเหมารถแท๊กซี่ไปแบบไม่มีทางเลือก แม้จะมีเพื่อนร่วมแชร์รถแถมยังสื่อสารกับคนขับเข้าใจ แต่ราคานี้ก็แพงเกินงบไปมาก ใจอยากจะเผยตัวกับโชเฟอร์เพื่อนับญาติ เผื่อจะได้ส่วนลด แต่ญาติภาษาอะไรพูดภาษาจีนก็ไม่ได้ เลยได้ของแถมเป็นแห้วแทน ต้องยอมจำนนในราคานั้นไปแบบเสียไม่ได้

เรากำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านที่ชื่อว่า Chu Xi ระหว่างทางเป็นถนนที่เลี้ยวเลาะไปตามทิวเขาสูงชัน สองข้างทา เป็นไม้ต้นเขียวชอุ่มกลิ่นหญ้าสดๆ ฉันได้ยินมาก่อนหน้าว่าหมู่บ้านชาวจีนแคะ มักจะซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาที่ห่างไกลจากผู้คน จึงไม่แปลกใจที่เราจะต้องเดินทางข้ามคลื่นภูเขา ลูกแล้วลูกเล่าไป ระยะทางรวมมิใช่น้อยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งจึงจะถึง

จากจุดที่ยืนอยู่บนถนนเลียบขอบเขา เพียงแค่เห็นภาพของหมู่บ้าน เป็นบ้านวงล้อมหลายวง ที่ซ่อนตัวอย่างสงบเสงี่ยม บนพื้นที่ปูพรมสีเขียวสดของท้องทุ่งกลางภูเขา แต้มด้วยสีขาวนวลของไอหมอกสดๆ ลอยละเลี่ยลิ้มไปทั่วหมู่บ้าน ทำเอาฉันตะลึงพรึงเพริดในความงาม และความมหัศจรรย์ตรงหน้า ที่มนุษย์ได้สรรค์สร้างขึ้นโดยมีธรรมชาติช่วยปรุงแต่งบรรยากาศ และภาพดังกล่าวถูกถ่ายทอดได้งามยิ่งขึ้นไปอีกในมุมสูงบนเชิงเขาที่เราต้องเดินต้านแรงโน้มถ่วงขึ้นไป


หมู่บ้าน Chu Xi จากมุมสูง


หมู่บ้านแห่งนี้แม้จะอยู่ลึกเข้าไปในหุบเขา แต่ก็ยังอุตส่าห์มีด่านมาตั้งดักเก็บค่าเข้าหมู่บ้านคนละ 50 หยวน ตามประสาหมู่บ้าน ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว อดที่จะคิด (ประชด) ไม่ได้ว่า ถ้าฉันจะมาเยี่ยมญาติที่นี่มิใยต้องมาจ่ายค่าเยี่ยมญาติในอัตรานี้ด้วยหรือ แม้แต่อีก 2 คนที่แม้จะเป็นพลเมืองชาวจีนด้วยกัน ก็ยังต้องจ่ายในอัตรานี้ แต่พวกเขามีบัตรนักศึกษาเลยได้ลดครึ่งราคา หมู่บ้านอื่นๆ ที่เป็นบ้านแบบถู่โหลวต้องเสียค่าเข้า 50 หยวนเช่นกัน


ภาพที่เห็นก่อนเข้าไปในตัวถู่โหลว


เราเดินเข้าไปในหมู่บ้านที่มีอายุเก่าแก่กว่าไม่ต่ำกว่า 500 ปี เมื่อมองจากภายนอกของบ้านถู่โหลวแห่งนี้ ดูใหญ่โตมากกว่าที่คิดไว้มาก ผนังโดยรอบสร้างจากดินผสมหินที่ดูคงทนแข็งแรง ในหมู่บ้านแห่งนี้มีถู่โหลวรวมกันนับสิบๆหลัง ซึ่งแต่ละหลังตั้งกระจัดกระจาย อยู่ท่ามกลางภูมิประเทศที่สวยงาม ในหมู่บ้านมีถู่โหลว 1 หลัง ที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดง ไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีการบูรณะซ่อมแซมเป็นอย่างดี ทำให้สภาพของบ้านดูดีกว่าถู่โหลวอื่นๆ ที่ยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยจริง ที่สภาพค่อนข้างทรุดโทรม

เมื่อเดินผ่านประตูบ้านเข้าไปในถู่โหลวที่มีความสูง 4-5 ชั้น เมื่อเดินไปยืนอยู่ภายในกลางลานบ้าน อดไม่ได้ที่จะนึกไปถึง รูปทรงของโรงละครยุคโรมันโบราณ ด้วยลักษณะวงล้อมเป็นชั้นๆสูงขึ้นไปที่คล้ายคลึงกัน แต่ละชั้นจะแบ่งออกเป็นห้องย่อยๆ รายรอบระเบียงวงล้อม คะเนจากสายตา ภายในถู่โหลว 1 หลัง คาดว่ามีห้องหับรวมไม่ต่ำกว่า 50 ห้อง สมาชิกร่วมภายในถู่โหลวเดียวกัน น่าจะเป็นหลักร้อยคน ค่อนข้างอยู่รวมกันอย่างแออัด มีศาลบรรพชนตั้งเด่นอยู่กลางลานบ้าน ซึ่งชาวจีนแคะยังคงยึดถือคติการบูชากราบไหว้บรรพบุรุษอยู่

ผู้คนที่นี่ยังชีพด้วยการทำนาทำไร่ วิถีชีวิตยังคงความเป็นชนบทอยู่มาก เมื่อมองไปโดยรอบ จะเห็นผักนำมาแขวนเพื่อตากแห้ง ใช้ทำผักเค็มที่เป็นอาหารจีนแคะชนิดหนึ่ง ซึ่งจะวางตากไว้ตามจุดต่างๆที่แสงแดดสาดส่องถึง บรรดาเป็ดและไก่ ต่างวิ่งควั่กคุ้ยเขี่ยเกลี่ยดินไปมา และยังมีบ่อน้ำอยู่ตรงกลางลานบ้านที่ยังใช้สำหรับดื่มกินและใช้สอยเพื่อการอื่น

สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรมในแบบดั้งเดิมของชาวจีนแคะที่ยังสัมผัสได้อยู่ ซึ่งนับว่าหาดูได้ยากเต็มทีในปัจจุบัน


ภายในตัวถู่โหลว

 


ศาลบรรพชนกลางลานบ้าน


ชาวจีนแคะหรือ ฮากกา (Hakka) ถือเป็นชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมในแบบจีนฮั่นเอาไว้ได้ ชาวจีนแคะ ถือเป็นชนกลุ่มที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน อยู่อย่างหนาแน่นในมณฑลกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน และเจียงซี มีกลุ่มเพื่อนบ้านเป็นชาวกวางตุ้ง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ แต่มีสำเนียงภาษาพูดที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่กลุ่มชาวจีนแคะหรือ ฮากกา ดูจะเป็นกลุ่ม ที่ต่างออกไปจากกลุ่มอื่นๆ ในแง่ของรากเหง้าความเป็นมาของชาวจีนแคะโบราณที่ยังคลุมเครือและหาข้อสรุปไม่ได้

แม้แต่นักประวัติศาสตร์ก็ยังถกเถียงกันถึงเรื่องที่มาที่ไปของพวกฮากกาโดยไม่มีข้อยุติ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้ทราบแต่เพียงว่า เดิมทีพวกฮากกาไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน แต่มีถิ่นกำเนิดที่แท้จริง มาจากพื้นที่ทางตอนเหนือของจีน

ขอย้อนกลับไปพูดถึงที่มาของคำว่า “ฮากกา” เกิดขึ้นในสมัยตงจิ้นหรือจิ้นตะวันออก ในช่วงต้นศตวรรษที่ 4 ในขณะนั้น ได้มีผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากจากทางตอนเหนือในแถบลุ่มแม่น้ำหวงโห ได้เดินทางลงมาทางตอนใต้ของจีน เพื่อหนีภัยจากสงคราม และภัยธรรมชาติ เนื่องจากผู้อพยพมีจำนวนมาก จึงต้องทำการจดทะเบียนแยกประเภทให้ต่างกันกับพวกที่อยู่มาก่อน ผู้ที่อพยพมาทีหลัง ที่เป็นชนชั้นแรงงานมักจะเข้ามาพึ่งพิงตระกูลที่ร่ำรวย ในฐานะข้าทาสบริวาร และเกิดศัพท์ที่ใช้เรียกคนกลุ่มเหล่านี้ว่า “ฮากกา” หรือ “เคอะ” ที่หมายถึงแขกหรืออาคันตุกะ ในกลุ่มพวกฮากกาจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ส่วนหนึ่งไปเป็นคนรับใช้ตามคฤหาสน์ของเจ้าที่ดิน และอีกส่วนหนึ่งไปตั้งรกรากอยู่ในบริเวณพื้นที่แถบภูเขา

คำถามคือทำไมพวกฮากกากลับต้องถูกแยกตัวออกไปจากกลุ่มคนจีนฮั่น ? แล้วฮากกาคือคนจีนฮั่นหรือเปล่า ?

ข้อสงสัยเหล่านี้ ทำให้เกิด “ข้อสันนิษฐาน” กันไปต่างๆนานา ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่น่าสนใจคือ พวกฮากกา อาจมีบรรพบุรุษเป็นหนึ่งในพวก “อู่หู” แปลว่าคนเถื่อนทั้งห้า หมายถึงชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีนทางตอนเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของอาณาจักรจีน ซึ่งได้แก่ ซ่วงหนู เจี๋ย (เติร์ก) เซียนเป่ย ตีและเชียง (ทิเบตทั้ง 2 เผ่า) คนเถื่อนทั้งห้านี้จัดเป็นกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนที่อาศัยอยู่ทางที่ราบกว้างทางตอนเหนือของจีน ในอดีตพวกนี้มักจะรุกล้ำข้ามแดนเข้ามา ทำสงครามกับชาวจีนอยู่เป็นนิจ ต่อมาได้อพยพเข้ามาลงหลักปักฐานอยู่ทางด้านภาคเหนือของจีน พวกนี้เมื่ออพยพเข้ามา ก็เป็นเพียงพลเมืองชั้นสอง ทำอาชีพเป็นชาวนายากจน หรือไม่ก็เป็นข้าทาสรับใช้คนจีน พวกอู่หูยังรับวัฒนธรรมแบบจีนฮั่น มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ตลอดจนเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวจีน กระทั่งแต่งงานกันมีลูกมีหลาน และต่อมาก็ถูกกลืนกลายไปเป็นชาวจีนอย่างสมบูรณ์แบบ

ต่อมาเมื่อมีกระแสชาวจีนทางตอนเหนืออพยพไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ จึงเป็นไปได้ที่กลุ่มผู้อพยพเหล่านี้ อาจจะมีเชื้อสายของพวกอู่หูปะปนรวมอยู่ด้วย ต่อมาเมื่อต้องกลายมาเป็นพวกฮากกา จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในฐานะจีนฮั่น ของพวกฮากกาเหล่านี้

กระนั้นพวกฮากกาเองก็มีวัฒนธรรมในแบบจีนฮั่นเฉกเช่นกลุ่มอื่น และวัฒนธรรมแบบฮากกา ยังได้รับการยอมรับว่า เป็นวัฒนธรรมจีนฮั่นดั้งเดิม ที่สืบทอดมายาวนานนับพันปี ถึงขนาดมีผู้สันทัดในเรื่องนี้กล่าวว่า ถ้าต้องการเรียนรู้ว่า รากเหง้าของวัฒนธรรมจีนฮั่นในสมัยโบราณเป็นเช่นไร ให้ไปศึกษาได้จากวัฒนธรรมของพวกฮากกา

แต่วัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของพวกฮากกา คือรูปแบบของที่อยู่อาศัยที่เรียกว่า “ถู่โหลว” นั่นเอง จะเห็นได้ว่ารูปแบบดังกล่าว สะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างพวกฮากกา กับพวกที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมที่ไม่สู้ดีนัก มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ถึงขั้นเผาไล่ที่ก็มี จนพวกฮากกาต้องถอยร่นไปสร้างบ้านอยู่ตามภูเขาที่ห่างไกล พร้อมพัฒนารูปทรงของบ้านจนมีหน้าตาเป็นวงล้อมที่สูงถึง 5-6 ชั้น คล้ายป้อมปราการและมีหน้าต่างโดยรอบเพื่อสามารถจับตามองคนที่อยู่ข้างนอกได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัยของพวกฮากกาส่วนหนึ่ง เกิดจากสภาวะที่ต้องการการป้องกันภยันตรายจากศัตรูนั่นเอง

ไม่เพียงแค่นั้น พวกฮากกายังสร้างบ้านพักอาศัยที่มีขนาดใหญ่โตสำหรับสมาชิกในครอบครัวขนาดใหญ่ สามารถอยู่รวมกัน ภายในชายคาบ้านเดียวกันได้ สิ่งเหล่านี้เหมือนบ่งบอกถึงอัตลักษณ์อย่างหนึ่ง ของความเป็นฮากกา นั่นคือความเป็นคนเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร และชอบรวมตัวกันอยู่เฉพาะในครอบครัวเดียวกัน

จนได้เวลาสมควร เราจึงเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านถู่โหลวอีกแห่ง ฉันจำชื่อไม่ได้ เมื่อไปถึง ต้องจ่าย 50 หยวนสำหรับค่าเข้าเหมือนเคย จริงๆไม่อยากเรียกว่าหมู่บ้าน เพราะมีบ้านถู่โหลวเพียง 1 หลังตั้งอยู่อย่างปลีกวิเวก และสภาพก็ดูไม่ต่างไปจากหมู่บ้านแรกที่ไปมา ทำให้เราลงมติที่จะไม่เข้าไป ตกลงเดินทางต่อไปยังเมืองหูเกง (Hukeng) ซึ่งที่เมืองนี้จะมีหมู่บ้านถู่โหลวอีกแห่งที่ชื่อว่า Zheng Cheng Lou ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากที่สุด

เราแวะทานข้าวเที่ยงกันที่ร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเกสต์เฮาส์ในตัวด้วย เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวจีนแคะ ฉันยกผลประโยชน์ให้พ่อหนุ่มอีก 2 คน ทำหน้าที่สั่งอาหาร ด้วยสื่อสารกับเจ๊เจ้าของร้านไม่ได้แม้แต่น้อย อาหารที่สั่ง เป็นอาหารจีนทั่วไป แต่มีอยู่จานหนึ่งที่ฉันสะดุดเป็นพิเศษนั่นคือหมั่นโถวแกล้มกับหมูสามชั้นผัดผักเค็มแห้ง หรือที่เรียกว่า “ห่ามช้อยกอน” ซึ่งเป็นอาหารจีนแคะที่ขึ้นชื่อที่สุด ฉันเองได้กินจนเฝือเมื่อครั้งยังเป็นเด็กๆ ซึ่งอาโผ่ไท้ (สำเนียงจีนแคะที่เรียก “ทวด”) เป็นคนทำอาหารชนิดนี้ให้ฉันกินจนคุ้นเคย คุณทวดฉันเคยเป็นแม่ครัวเก่า ฉันจึงมักจะได้กินอาหารจีนแคะฝีมือล้ำ ที่ฉันยังคงจำจดรสสัมผัสจากปลายลิ้นได้ จวบจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นหมูสามชั้นผัดผักเค็มแห้ง เนื้อตากแห้ง เต้าหู้ยัดไส้ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะ บะจ่าง เป็นต้น แต่คุณทวดจากไปตั้งแต่ฉันยังเด็ก ตั้งแต่นั้นมา ฉันได้กินเพียงบะจ่างอย่างเดียวจากฝีมือคุณแม่ ซึ่งเป็นอาหารแคะชนิดเดียวที่ได้รับตกทอดมาจากคุณทวดผ่านทางคุณแม่ฉันเอง นานเท่าไหร่แล้วหนอ ที่ฉันไม่ได้กินหมูสามชั้นผัดผักเค็มแห้งฝีมือคุณทวด

ฉันมารับทราบภายหลังจาก 2 หนุ่มว่าคนขับแท็กซี่ได้บอกลาหน้าที่โชเฟอร์ประจำตัวของพวกเราไปซะแล้ว ด้วยคนขับเป็นคนเมืองนี้ ถ้าจะให้ขับกลับไปหยงติ้ง ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม กระนั้น 2 หนุ่มไม่ได้ประสงค์จะกลับไปหยงติ้ง แต่จะเดินทางต่อไป ยังเมืองเซี๊ยะเหมินในเย็นวันนี้เลย พวกเขาถามฉันว่าฉันจะเดินทางไปไหนต่อ ฉันตอบไปว่า “ปักกิ่ง” พวกเขาทำหน้าตกใจ ถามฉันว่าจองตั๋วรถไฟหรือยัง ฉันบอกว่ายัง พวกเขาบอกว่ารถไฟที่นี่ต้องจองตั๋วล่วงหน้า มิฉะนั้นที่นั่งมักจะเต็ม ยิ่งถ้าไปเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง ยิ่งต้องจองล่วงหน้ากันเป็นอาทิตย์ๆ ฉันพยักหน้ารับทราบ เพราะบรรลุแล้วจากเมืองเสิ่นเจิ้น ถึงความยากในการจองตั๋วไปปักกิ่ง ฉันคิดในใจหรือฉันจะตามพวกเขาไปเซี๊ยะเหมิน เผื่อที่นั่นจะมีตั๋วรถไฟไปปักกิ่ง

พวกเขาหันไปคุยแมนดารินกับเจ๊เจ้าของร้านเรื่องไปปักกิ่ง ได้ความมาว่าเธอสามารถหาตั๋วรถไฟไปปักกิ่งให้ฉันได้ แต่ต้องไปขึ้นรถไฟ ที่เมืองหลงหยาน (Longyan) ซึ่งต้องนั่งรถบัสจากนี่ไปอีก 2 ชั่วโมง

ตอนนั้นฉันแทบจะพลิกตำราไม่ทัน จากข้อมูลตารางการเดินรถไฟที่ฉันค้นหามาจากอินเตอร์เน็ต ฉันไม่พบว่ามีรถไฟ จากเมืองหลงหยานไปปักกิ่งนี่นา ฉันเกิดอาการงงและลังเล แต่เธอยืนยันว่าเคยนั่งรถไฟไปปักกิ่งจากเมืองนี้มาแล้ว แถมบอกเวลาเดินทางคือ 10:30 น. ในตอนเช้าอีกด้วย เธอย้ำถามฉันว่าตกลงจะให้เธอจองตั๋วให้มั้ย ด้วยไม่มีทางเลือก ในเมื่อเธอยืนยันขนาดนี้ ฉันเลยเชื่อเธอ พ่วงด้วยที่พักสำหรับคืนนี้ที่ฉันตกลงใจจะพักด้วย ก่อนที่เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น จะนั่งรถบัสไปที่เมืองหลงหยาน เพื่อจับรถไฟไปปักกิ่งตอน 10 โมงครึ่ง

บ่ายคล้อย เรา 3 คนเดินเท้าไปยังหมู่บ้าน Zheng Cheng Lou กัน ระยะไม่ไกลแค่ 5 นาทีจากร้านอาหาร ค่าเข้าชม 50 หยวนเช่นเคย เมื่อผ่านประตูเข้าไปในหมู่บ้าน จะเห็นถู่โหลวขนาดใหญ่ ที่มีป้ายอักษรจีนที่เป็นชื่อเดียวกับหมู่บ้านติดอยู่ข้างหน้า ดูใหญ่โต โอ่อ่า มีขนาดใหญ่กว่าถู่โหลวที่หมู่บ้าน Chu Xi อย่างชัดเจน คาดว่าคงเป็นบ้านของตระกูลที่ร่ำรวย ภายในยังคงใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่อยู่ในสภาพดี บรรยากาศภายในบ้านยังคงวิถี ของการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกับบ้านที่หมู่บ้าน Chu Xi ยังคงมีศาลบรรพบุรุษ ที่ตั้งอยู่กลางลานบ้าน แต่ศาลของที่นี่มีผนังกั้นเป็นสัดส่วน มีขนาดใหญ่โตใกล้เคียงกับศาลเจ้าขนาดย่อมๆเลยทีเดียว


ถู่โหลวอีกมุม


ถู่โหลวที่นี่เหมือนมีไว้เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ฉันสามารถเดินเข้าไปชมภายในได้ทุกพื้น ที่ยกเว้นห้องพักแต่ละห้องที่ลงกุญแจไว้ ฉันรู้สึกเหมือนกำลังเดินชมของจัดโชว์ในพิพิธภัณฑ์มากกว่าเดินอยู่ในบ้าน ฉันมักจะเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมาก เดินไปมาและพูดคุยกับเจ้าบ้านอย่างเป็นกันเอง หรือกับญาติฉันอีกคนหนึ่ง ที่กำลังนำผักเค็มแห้งที่ตากไว้ มาตัดซอยเป็นชิ้นเล็กๆเพื่อนำไปประกอบอาหาร ก็รายล้อมไปด้วยจีนมุงที่มาชมด้วยความสนใจ ดูแล้วเหมือนเป็นการสาธิตให้ชมมากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน

ฉันอดแปลกใจอยู่ไม่น้อย ที่เห็นผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ ต้องเดินปะปนไปกับคนต่างถิ่นที่เป็นนักท่องเที่ยว เช่นนี้พวกเขาจะไปหาความเป็นส่วนตัว จากซอกหลืบมุมไหนของบ้านกัน หรืออาจเป็นไปได้ที่ความเป็นส่วนตัวของผู้คนที่นี่ ไม่ได้สำคัญเท่ากับการได้พูดคุย และต้อนรับอาคันตุกะต่างถิ่น ต่างสำเนียงพูดและต่างภาษาเช่นฉัน ด้วยไมตรีจิตก็เป็นได้

 


ผักเค็มตากแห้ง อร่อยล้ำ


ภายในหมู่บ้านแห่งนี้ค่อนข้างมีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง และมีถู่โหลวจำนวนมากมาย แยกย่อยไปอีกหลายครัวเรือน แต่ถู่โหลวอื่นๆ จะมีขนาดเล็กกว่า ตามฐานะของแต่ละครอบครัวที่ต่างกัน ทั้งหมดอยู่รวมกันเป็นชุมชน ที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตในแบบของชาวจีนแคะดั้งเดิม นับเป็นการเดินทางผ่านยุคสมัยต่างๆ โดยไม่ได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าทึ่ง

ฉันบอกลากับ 2 หนุ่มในหมู่บ้านแห่งนี้ ด้วยทั้งคู่ต้องรีบไปขึ้นรถบัสเพื่อเดินทางไปเซี๊ยะเหมิน ส่วนฉันยังคงเดินเตร่ๆไปเรื่อยๆ กระทั่งอาทิตย์กำลังจะลับพ้นขอบฟ้า จึงได้เวลาอันสมควรกลับไปยังที่พัก คืนนั้นฉันหลับไม่สนิท นอนตัวโก่งลุ้นชะตากรรมของตัวเอง ว่าจะได้กำตั๋วรถไฟไปปักกิ่งในวันพรุ่งนี้หรือไม่

ต่อตอนปักกิ่ง
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=candyperfumegirl&month=04-2007&date=13&group=3&gblog=10


รูปภาพของ อาฉี

ขอเพิ่มข้อมูล เกี่ยวกับที่มา

จากบทความที่เขียนมา ดีมากๆ น่าชื่นชม แต่ขอสันนิฐานว่า "อาจมีบรรพบุรุษเป็นหนึ่งในพวกอู่หู" ดูเหมือนจะไม่ชัดแจ้ง แม้แต่ผู้ให้ข้อมูล ยังบอกไม่ได้ว่าอู่หู เป็นชาติใด

แต่ที่บรรพบุรุษเรา บอกมาว่า "จงจำไว้นะ เราเป็นฮั่นแท้ๆ" เราได้พยามปกป้องผืนแผ่นดินจากแมนจู ไม่ยอมก้มหัวรับใช้แมนจู เพื่อหวังได้ลาภยศตำแหน่ง แต่ด้วยราชวงค์อ่อนแอเราจำต้องล่าถอย ปกปิดที่มาตนเอง เพื่อความอยู่รอด พวกหนีมาก่อน และชนพื้นเมือง ย่อมสามารถเลือกได้ทำแลอยู่อาศัยที่ดีกว่า ส่วนผู้ต่อสู้จนถึงที่สุดก็มาหลังสุด จึงเหลือแต่ขุนเขาหิน ถิ่นกันดาน ที่ยังไม่มีใครจับจองเท่านั้นที่อยู่ได้โดยสันติ ไม่ต้องเบียดเบียนชนพื้นเมืองที่มาอยู่ก่อน

จึงเห็นได้ว่า ในหลายถิ่น หลายประเทศที่แยกตัวออกจากจีนในยุคนั้น มีชาวฮากกาที่ยังคงไว้ซึ่งภาษาและวัฒนธรรม ที่เก็บร่องรอย อารยธรรมของชาวฮัน และศิลปศาสตร์แขนงต่างๆ ที่มีในราชสำนักจีนไม่เฉพาะชาวบ้านทั่วไป แม้จะแตกแขนงไปตามสภาพภูมิศาสตร์ และกาลเวลาไปบ้างก็ตามที จึงคิดว่าข้อสันนิฐานนั้น น่าจะอ่อนมาก ที่เข้าใจว่าไม่ใช่ฮั่นแต่ทำไมถึงคงคงไว้ซึ่งอารยธรรมฮั่น ได้ถึงชั่วลูกชั่วหลาน แม้อยู่ในเขตปกครองตนเองก็ตามที

 


อ้างอิง:
http://hakkapeople.com/node/26
http://hakkapeople.com/node/93
http://hakkapeople.com/node/21

 


 

Hakka House

สวยงามมากถ้ามีโอกาสต้องไปให้ได้สักครั้งในชีวิต

เก่งมาก

เก่งจริงๆ เก่งทุกอย่าง ขอชื่นชมและชมเชยจากใจจริงครับ

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal