หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

" นารีนครา " พระราชนิพนธ์แปลนวนิยายจีน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รูปภาพของ วี่ฟัด

" ไหง่ได้ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้หลายวันแล้วจึงใครขอแนะนำแด่บรรดาหนอนฮากกาทั้งหลายได้อ่านกันนะครับไท้กา ไหง่จึงได้ทำสำเนารายงานข่าวการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้มานำเสนอกับบรรดาไท้กาด้วยนะครับ..."

เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้จัดงานแนะนำหนังสือ ''นารีนครา'' ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์แปลนวนิยายจีน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่แสดงถึงพระปรีชาญาณด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน และด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในภาษาจีนและจีนวิทยา แม้จะทรงมีพระราชกิจมากมาย แต่ก็ทรงพระวิริยะแปลเรื่อง ''นารีนครา'' ในระหว่างปี 2555 และได้พิมพ์เผยแพร่ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556เพื่อให้นักอ่านชาวไทยได้อ่านกันในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

"นารีนครา"หรือชื่อภาษาจีนว่า "ทา-เตอ-เฉิง" เป็นผลงานเขียนโดย "ฉื่อลี่" นักเขียนหญิงผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมมาอย่างต่อเนื่องทั้งนวนิยายและร้อยแก้ว ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมหลายรางวัล อีกทั้งผลงานหลายเรื่องได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครชุดทางโทรทัศน์ ละครเวที ละครวิทยุ อุปรากรปักกิ่ง รวมทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม งานเขียนหลากหลายของฉื่อลี่ที่มีนครอู่ฮั่นเป็นฉากหลัง รวมทั้งเรื่อง "นารีนครา" ทุกคำพูดเสมือนดั่งตัวแทนทางจิตวิญญาณของวัฒนธรรมอู่ฮั่น

สำหรับบรรยากาศภายในงานแนะนำหนังสือ "นารีนครา" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณา เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงาน และพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำหนังสือ "นารีนครา" ณ ห้องบอลรูม หลังจากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน "Hubei Cuisine Festival" ณ ห้องอาหาร Shang Palace Chinese ชั้น 2 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชดำรัสแนะนำหนังสือ "นารีนครา" พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ ความตอนหนึ่งว่า

"นารีนครา"...สาเหตุที่เลือกแปลเรื่องนี้ เพราะวันหนึ่งเดินทางไปประเทศจีนก็ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาวางอยู่บนเครื่องบิน ในหน้าศิลปะวัฒนธรรมพูดถึงเรื่องประวัติและผลงานของคุณฉือลี่ แต่ขณะนั้นยังไม่มีหนังสือเรื่องนี้ (นารีนครา) แล้วก็ได้คุยกับครูสอนภาษาจีนคนเก่า ที่กลับไปทำงานที่ประเทศจีนแล้ว ชื่อครูจู ได้พูดถึงนักเขียนท่านนี้ ที่มักจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของสตรีจีน ซึ่งเป็นเรื่องอีกด้านหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่น่าสนใจ

การที่ชอบแปลหนังสือจีนนั้น เป็นประโยชน์ คือประการแรก คือได้รู้จักศัพท์ต่าง ๆ สำนวนต่าง ๆ ทำให้เข้าใจภาษาจีนได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนภาษาจีน และเมื่อแปลแล้ว แทนที่จะทิ้งไว้เฉยๆก็นำมาพิมพ์ และให้ผู้รู้หลายๆ ท่านช่วยขัดเกลา ซึ่งคิดว่าการอ่านวรรณคดีไม่ว่าจะเป็นของชาติใด มีส่วนทำให้ผู้อ่านได้นอกจากความรู้ คือความรู้จากหนังสือตำราจีน หนังสือประวัติศาสตร์จีนก็ได้อ่านกันมาหลายเล่ม ครูอาจารย์สอนประวัติศาสตร์จีน แต่เรื่องของชาติต่างๆ เช่น เรื่องของชาติจีนนั้นก็ไม่ใช่มีแต่เรื่องของบุคคลสำคัญที่ประวัติศาสตร์จดไว้ แต่การที่เราจะเข้าใจชนชาตินั้นให้ดี ก็เป็นเรื่งอที่เราจะต้องเข้าใจ ความเป็นอยู่ ความนึกคิด ชีวิตของคนตธรรมดาๆ ในแง่มุมต่างๆ คนในสังคมต่างๆ ก็ตั้งแต่ได้อ่านวรรณกรรมจีน โดยเฉพาะวรรณกรรมจีนรุ่นใหม่ๆ ก็ทำให้เข้าใจจิตใจของคนจีนในสมัยต่างๆ ว่าทำไมเค้าถึงคิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น ซึ่งอาจจะมองในแง่มุมของเราแล้วรู้สึกว่าไม่ถูกใจ แต่เมื่อได้อ่านสิ่งที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดออกมาก็ทำให้รู้สึกเข้าถึงจิตใจและเห็นใจบุคคลที่มีบทบาท หรือว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่นั้น ขณะที่เรียนก็มีความรู้สึกแบบนั้น และรู้สึกว่าถ้าเอามาถ่ายทอดให้ผู้อ่านคนไทยที่ไม่มีโอกาสอ่านเรื่องพวกนี้ เพราะถ้าเค้าอ่านแล้วก็ทำให้เข้าใจดีขึ้น เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนและคนไทยในแง่ประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

หลังจากกลับมาประเทศไทยแล้วสักพักนึง คุณครูจูก็ได้นำนิตยสารเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นของจีน จริงๆ เค้าไม่ได้เรียกเรื่องสั้น แต่เป็นนวนิยายขนาดสั้น ก็นำมาให้ และเลือกเรื่องของฉือลี่ เป็นเรื่องในนิตยสารเล่มนั้น เอามาแปล ซึ่งเรื่องนี้ (นารีนครา) เป็นเรื่องที่ใหม่ ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาอื่นให้มาเปรียบเทียบได้บางครั้งเป็นเรื่องที่พิมพ์มานานแล้วก็ได้อาศัยแนวจากภาษาต่างประเทศ แต่เรื่องนี้ยังไม่มี เท่ากับได้แปลเองจริงๆ

 

เรื่องนี้บรรยายถึงเมืองอู่ฮั่น ที่จริงแล้ว เคยแปลหนังสือของคุณกังฟาง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีฉากอยู่ในอู่ฮั่น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และเป็นสมัยก่อนเรื่องนี้ ซึ่งทำให้เห็นบรรยากาศในมหาวิทยาลัยเป็นอีกแบบนึง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนธรรมดา คนค้าขาย มีชีวิตและบรรพบุรุษอยู่ในเมืองอู่ฮั่นมานาน ได้สร้างคุณูปการต่อเมืองอู่ฮั่น ก็มีอธิบายถึงบ้านเมืองอู่ฮั่นในแง่มุมที่ไม่เคยเห็นไม่เคยไป เพราะส่วนใหญเวลาไปจีนส่วนใหญจะไปมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษา สถานีวิจัย เป็นส่วนมาก

ในเรื่องนี้ก็มีการกล่าวถึงเรื่องประวัติวรรณกรรมจีนในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง คือในบางถนนในเมืองอู่ฮั่นถือเป็นถนนสายวรรณกรรม เป็นทั้งสำนักพิมพ์ ร้านขายหนังสือที่ขายทั้งหนังสือ และนิตยสาร ที่ลงบทความของนักเขียนที่ มีอุดมการณ์ทางการเมือง นักเขียนเหล่านี้ที่เค้ากล่าวนำมาในหนังสือเล่มนี้ ก็ได้ลองค้นอินเทอร์เน็ตดู ก็พบว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง และมีบทบาทในการสร้างสรรค์จีนใหม่ก่อนหน้าที่จะมีการปลดปล่อย พวกท่านนักเขียนเหล่านี้น่าจะมีส่วนทำให้เมืองจีนเป็นจีนในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นคนที่เราควรจะสนใจเหมือนกัน หนังสือไม่ได้กล่าวว่าท่านเหล่านี้เป็นอย่างไร เขียนเรื่องอะไร แต่ถ้าเราค้นคว้าดูต่อมาจากชื่อที่ให้ไว้ในหนังสือ ก็จะทำให้ทราบว่า เมืองจีนกว่าจะมาเป็นจีนในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเกิดจากความเสียสละและความคิดของคนที่อาจจะเป็นคนเล็กคนน้อยแล้วก็มารวมกัน ก็เป็นเรื่องที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง กับอีกส่วนนึงก็จะเห็นว่าอู่ฮั่นในสมัยก่อนเป็นสถานที่ที่มีการลงทุนพาณิชย์ ชาวต่างประเทศได้มาลงทุน แต่ว่าบางชื่อที่เขียนไว้เป็นภาษาจีนนั้น ก็ไม่ทราบว่า ภาษาอังกฤษ หรือภาษาฝรั่งเศส ที่เป็นชื่อบริษัทนั้นก็ไม่ทราบว่าเป็นชื่อบริษัทอะไร ก็ค้นคว้าไปไม่ถึง ในเรื่องนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ"

ขณะที่คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ได้กล่าวเปิดเผยในภายหลังว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชานุญาตให้ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดพิมพ์เผยแพร่พระราชนิพนธ์แปลอีกครั้ง หลังจากที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์แปล เรื่อง หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า ในปี 2555 ที่ผ่านมา ครั้งนี้ถือเป็นมงคลวารอีกครั้งหนึ่ง ที่นักอ่านชาวไทยจักได้ชื่นชมพระปรีชาญาณด้านจีนวิทยา ในพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง "นารีนครา" นวนิยายที่สื่อถึงใจหญิงแท้จริงแกร่งดังเหล็กกล้า และวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปตามกระแสการพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัย บริษัทนานมีบุ๊คส์ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณพ้นพรรณนา เป็นเกียรติประวัติและสิริพิพัฒนมงคลยิ่งที่สำนักพิมพ์จักเทิดทูนรำลึกไว้มิรู้ลืม"

 

"นารีนครา" ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครสำคัญ 3 ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนหญิงรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ซึ่งได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในมิติต่างๆ และได้ถ่ายทอดเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในกระแสสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ตัวละครหญิงทั้งสามนี้ ได้เรียนรู้จากกันและกัน ได้สร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพอันจริงใจเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งเป็นการสร้างความสุขอันแข็งแกร่งและคุณค่าอันมั่นคงแก่ชีวิต

และขณะนี้นักอ่านชาวไทยทุกคนสามารถร่วมเป็นเจ้าของหนังสือพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แล้วเพราะจัดพิมพ์และวางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ


รูปภาพของ วี่ฟัด

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จฯ “นารีนครา” ( 10 เม.ย. 56 )

( ตามที่ไหง่ได้นำเสนอแนะนำหนังสือ " นารีนครา " พระราชนิพนธ์แปลในสมเก็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ตามที่ไท้กาทราบดีอยู่แล้วนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 นี้ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองอู่ฮั้น มณฑลหูเป่ย เพื่อเยือนถนนในตัวเมืองซึ่งเป็นฉากในนวนิยายเรื่อง " นารีนครา " ที่พระองค์ทรงแปล ไหง่จึงทำสำเนาไว้จากเว๊ปหน้าจีนผู้จัดการ ขอขอบคุณเว๊ปหน้่าจีนผู้จัดการไว้ ณ. ที่นี้ด้วยครับ )

http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9560000044038

 

ภาพจากสื่อจีน บรรยายภาพว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.เจ้าหญิงแห่งประเทศไทย “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมถนนเจียงฮั่น ถนนคนเดินแห่งนครอู่ฮั่น ทรงภาพกับรูปปั้นแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นอู่ฮั่น นับเป็นวันที่พระองค์ทรงเสด็จมาถึง “เมืองของเธอ” 《她的城》ของนักเขียนชาวอู่ฮั่น ที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นฉบับภาษาไทย และถนนเจียงฮั่นแห่งนี้ก็ฉากหนึ่งในนิยาย “เมืองของเธอ” (ภาพ เฟิ่งหวง)

ASTVผู้จัดการออนไลน์--กลุ่มสื่อจีนรายงานและนำเสนอชุดภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถนนคนเดินนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลาสองวัน โดยเสด็จฯมาถึงนครอู่ฮั่นในวันอังคารที่ 9 เม.ย.2556

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระชนมายุ 58 พรรษา ทรงศึกษาภาษาจีนกว่า 30 ปี ทรงพระปรีชาสามารถด้านภาษาและวัฒนธรรมตลอดจนวรรณกรรมจีนยุคปัจจุบัน สื่อจีนกล่าวขวัญถึงพระองค์ “เจ้าหญิง 'ผู้ทรงรอบรู้เรื่องจีน' (中国通)” ทั้งได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมจีนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยหนังสือพระราชนิพนธ์แปลเล่มใหม่ล่าสุด คือ “เมืองของเธอ” 《她的城》(เสียงอ่านจีนกลางคือ ทา เตอ เฉิง) ประพันธ์โดยนักเขียนชาวหูเป่ย ฉือลี่ (池莉/Chili) 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงอ่าน “เมืองของเธอ” เมื่อปี 2555 ทรงโปรดปรานจนวางไม่ลง ทั้งทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นฉบับภาษาไทย ในชื่อหนังสือ “นารีนครา” และได้รับการตีพิมพ์และวางจำหน่ายแล้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา

“นารีนครา” พระราชนิพนธ์แปลเล่มใหม่ล่าสุดโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชนิพนธ์แปลจาก “เมืองของเธอ” 《她的城》ประพันธ์โดยนักเขียนจีน ฉือลี่(池莉)

“เมืองของเธอ” เผยแพร่ในจีนเมื่อปี 2554 นิยายเรื่องนี้บรรยายชีวิตผู้คนในเมืองฮั่นโข่วแห่งนครอู่ฮั่น(武汉汉口)ผ่านตัวละครสำคัญได้แก่ หญิงสามคนสามวัยที่เป็นตัวแทนหญิงรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ชีวิตและสถานะของสาวอู่ฮั่นที่ต้องเผชิญหลังจากที่แต่งงาน ชะตากรรมของคนแต่ละรุ่นในสายธารชีวิตอันยาวนาน ที่สะท้อนถึง “ใจหญิงแท้จริงแกร่งดั่งเหล็กกล้า” “เมืองของเธอ” ยังอุดมด้วยวัฒนธรรมอาหารหูเป่ยรสเลิศ

ระหว่าง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จฯถนนเจียงฮั่น (江汉路)ในวันที่ 10 เม.ย. เมื่อป้ายชุมชน “เหลียนเป่าหลี่เซ่อฉีว์” (联保里社区)ปรากฏต่อพระเนตร ก็ทรงชี้บอกผู้คนข้างๆว่า ตัวเอกใน “เมืองของเธอ” อาศัยอยู่ที่นี่ นางเอกในนิยายเป็นเจ้าของร้านขัดรองเท้า และยังทรงถามไม่หยุด “ร้านขัดรองเท้าอยู่ที่ไหน ร้านขัดรองเท้าในนิยายยังอยู่ไหม” เมื่อเสด็จฯมาถึงร้านขัดรองเท้าในตรอกไห่โซ่ว(海寿街) ก็เสด็จเข้าไป สัมผัสบรรยากาศในร้านขัดรองเท้า ที่เป็นฉากในนิยาย

ต่อมา เมื่อขบวนเสด็จมาถึงสะพานลอยถนนเจียงฮั่น(江汉路天桥) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงทอดพระเนตรไปรอบทิศ ทรงทอดพระเนตร ป้าย “ถนนเจียงฮั่น” (江汉路) และ “จงซันต้าเต้า” (中山大道)ก็ทรงหยิบหนังสือนิยาย “เมืองของเธอ” ฉบับภาษาไทย ที่ทรงติดมาด้วย ทรงพลิกไปหน้าสุดท้าย ทรงวาดแผนที่สถานที่ต่างๆบนถนนที่นิยายได้นำมาเป็นฉาก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯตรัสว่า นี่เป็นครั้งที่สี่ที่เสด็จฯอู่ฮั่น เปรียบเทียบกับการเยือนสามครั้งก่อนหน้า ครั้งนี้ทรงได้ประสบการณ์ที่ลึกซึ้งมากกว่า ทั้งทรงแสดงความหวังว่า “นารีนครา” จะทำให้ชาวไทยเข้าใจประเทศจีน เข้าใจอู่ฮั่น.

ชุดภาพ: สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมถนนเจียงฮั่น ถนนคนเดินแห่งนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2556 (ภาพ สื่อจีน เฟิ่งหวง)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงเสด็จมายัง “ร้านขายหนังสือระบบอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง” (24小时自助图书馆)ซึ่งตั้งอยู่ในย่านฮั่นโข่วเจียงทาน นครอู่ฮั่น(武汉汉口江滩) ผู้จัดการร้านหนังสือฯได้แนะนำวิธีนำหนังสือที่น่าสนใจมาพลิกอ่านดูแด่พระองค์ หลังจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงมอบหนังสือแก่ผู้จัดการร้านฯ(ภาพ เฟิ่งหวง)

รูปภาพของ เฉินซิ่วเชง

เยี่ยมมากเจ้า

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ..ยิ่งยืนนานเพค่ะ 

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal