หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในแต่ละช่วงเวลา

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ในแต่ละช่วงเวลา

โดยผู้เขียน MR.MA GUITONG 作者:马贵通 (中国广西南宁人,泰国南方在读博士)

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่นั้น สามารถแบ่งช่วงการเปลี่ยนแปลงได้เป็น 3 ช่วงที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1.2.1 ก่อนการขยายอำนาจรัฐ (ก่อน พ.ศ. 2475)

เมืองหาดใหญ่มีพื้นที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทยและอยู่ติดกับทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ตามประวัติที่มีมาเริ่มจากขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) และชีกิมหยง ท่านทั้งสองเป็นชาวจีนฮากกาที่มาจากอำเภอเหมยเซี่ยน และเป็นผู้มองการณ์ไกลได้บุกเบิกพื้นที่เมืองหาดใหญ่ขึ้นมาจนกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ส่งผลให้เมืองหาดใหญ่มีการคมนาคมที่สะดวกสบาย อีกทั้งยังดึงดูดชาวจีนฮากกาเป็นจำนวนมาก รวมถึงชาวจีนกลุ่มต่างๆ ได้หลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้นนับตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2542 ที่มีการสร้างทางรถไฟสายใต้ตัดผ่านเมืองหาดใหญ่ ดังนั้นสภาพสังคมและวัฒนธรรมของเมืองหาดใหญ่ในช่วงเวลานั้น จะมีลักษณะเป็นแบบจีน เพราะผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและได้สร้างชุมชนแบบจีนขึ้น จึงกล่าวได้ว่าในระยะเริ่มแรกสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของเมืองหาดใหญ่เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบชุมชนจีน

ในช่วงระยะแรกเป็นเวลาที่กลุ่มชาวจีนฮากกาอพยพหรือชาวจีนฮากกาโพ้นทะเลที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นจีนฮากกาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาจีนฮากกาตามสำเนียงเดิมของตน การพบปะติดต่อสังสรรค์เฉพาะกลุ่มพวกพ้องของตน การแต่งกาย อาหารการกิน รวมถึงขนบธรรมเนียมความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวจีนฮากกา ในทางด้านสังคมและวัฒนธรรม

การอยู่ร่วมกันของชาวจีนฮากกาในยุคนี้ มีผู้นำหลักที่ประกอบไปด้วยผู้นำ 2 ส่วน ซึ่งเป็นโครงสร้างของผู้นำสมาคมฮากกาได้แก่ ผู้อาวุโส ซึ่งเป็นผู้นำที่ไม่เป็นทางการ คือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มชาวจีนฮากกา และผู้นำสมาคม ซึ่งเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นในการเริ่มก่อตั้งสมาคม ผู้นำทั้ง 2 ส่วนนี้ถือเป็นเสาหลักค้ำยันชมรมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษดังที่ผู้อาวุโสของสมาคมได้ให้ข้อมูลแก่ผู้วิจัยในขณะสัมภาษณ์ว่า ถ้าสมาคมของชาวจีนฮากกาขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปสมาคมก็จะไม่เป็นสมาคมอีก

ชาวจีนฮากกามีความเชื่อความเคารพต่อเทพเจ้ากวนอูและบรรพบุรุษ ประเพณีและพิธีกรรมเพื่อแสดงความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อบรรพบุรุษ ด้วยความเคารพและความอ่อนน้อมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และต่อบรรพบุรุษ ความเชื่อความเคารพและสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ จึงเป็นการยืนยันถึงความสำนึกอันดีงามของชาวจีนฮากกาที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษได้อย่างแท้จริง การปฏิบัติตนเพื่อการดำรงวิถีชีวิตด้วยจิตสำนึกที่ดีงามต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และต่อบรรพบุรุษของชาวจีนฮากกาได้รับการถ่ายทอดโดยผู้อาวุโสของชุมชนได้สืบทอดให้กับลูกหลานของชาวจีนฮากกามารุ่นต่อรุ่นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีผลทำให้ชาวจีนฮากกามีความเคารพนับถือในความดีงามเคารพดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ เคารพผู้อาวุโส และให้ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของตน ดังนั้น วิถีการดำเนินชีวิตแทบทุกย่างก้าวจึงถูกเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดเวลาซึ่งผู้อาวุโส หรือผู้นำทั้ง 2 ส่วนของชุมชนในยุคสมัยนั้น จึงเป็นผู้มีบทบาทเป็นอย่างมากในถ่ายทอดความเชื่อและความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ในการดำเนินวิถีชีวิตท่ามกลางภยันตรายทั้งจากธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทั้งปวง

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในยุคนี้ ชาวจีนฮากกาก็จะอยู่กันเป็นพี่เป็นน้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นชุมชนที่ขนาดเล็กซึ่งมีประมาณ100 หลังคาเรือน ซึ่งมีการนับถือความเชื่อตามบรรพบุรุษ มีพิธีกรรมตามความเชื่อที่ยึดถือและสืบทอดปฏิบัติกันมาอย่างเคร่งครัดดังเช่น กลุ่มผู้นำและกลุ่มผู้อาวุโสของชุมชนได้ให้ข้อมูลแก่ผู้วิจัยว่า ในช่วงเทศกาลหยวนเซียว (เป็นเทศกาลแรกหลังวันตรุษจีน) ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาวจีนฮากกา เป็นงานประเพณีที่สำคัญมีการให้คำอวยพรให้ผู้อาวุโสและผู้ใหญ่ ในเทศกาลนี้พิธีกรจะใช้ภาษาจีนฮากกาและภาษาไทยเป็นสื่อกลาง มีการเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน มีการทำบุญ มีการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนเก่งและนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการจับรางวัล การร้องเพลงพื้นเมืองของชาวจีนฮากกาและกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ทำให้เทศกาลนี้เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน

ในยุคของการตั้งถิ่นฐานนี้ การขยายอำนาจและการเข้ามาควบคุมจากภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ยังไม่เข้ามามีอิทธิพลต่อชาวจีนในเมืองหาดใหญ่มากสภาพการดำรงวิถีชีวิตจึงเป็นแบบดั้งเดิมที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงยังมีความเป็นพี่เป็นน้องกัน มีความเป็นเครือญาติอยู่มาก มีการพึ่งพาแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ลักษณะของการประกอบอาชีพการทำมาหากินยังใช้วิธีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ในด้านความเชื่อ ชาวจีนฮากกามีความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษมีความเชื่อและความเคารพต่อศาสนาพุทธมหายาน ศาสนาเต๋า ศาสนาขงจื๊อ เช่น มีความศรัทธาต่อเทพเจ้ากวนอูและเจ้าแม่กวนอิมเนี้ยได้ผูกพันและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตรวมถึงมีการถ่ายทอด สืบทอดความเชื่อในด้านประเพณีและพิธีกรรม โดยมีผู้นำผู้อาวุโสของสมาคมหรือชุมชน เป็นผู้ถ่ายทอดให้กับลูกหลานในรุ่นต่อๆไป แม้ว่าจะถูกกดดันจากรัฐบาลไทยเป็นบางครั้ง ผู้นำและผู้อาวุโสยังคงมีบทบาทต่อการดำรงรักษา ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตอันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของชาวจีนฮากกาไว้ได้อย่างมั่นคง

ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่ 1 ก่อนการขยายอำนาจจากภาครัฐ อัตลักษณ์ของชาวจีนฮากกาในช่วงนี้เป็นอัตลักษณ์แบบดั้งเดิม กล่าวคือเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงออกทางความเชื่อ ภาษาพูด ระบบคุณค่า และวิถีชีวิตต่างๆ เช่น ผู้หญิงชาวจีนฮากกามีความขยันขันแข็ง และมีความอดทนไม่แพ้กับผู้ชาย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของชาวจีนฮากกา และนิยมกินเหล้าเหลืองหรือทำอาหารจีนฮากกาในเทศกาลต่างๆ การประกอบประเพณีและพิธีกรรมทุกครั้งจะมี “แม่ชี” ซึ่งภาษาจีนฮากกาเรียกว่า “จายกู๊” เป็นพิธีกรในการทำพิธีสวดมนต์ ส่วนอัตลักษณ์ที่อยู่ภายในที่เป็นนามธรรมคือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นพี่เป็นน้องกัน (ชาวจีนฮากกาทุกคนเป็นพี่น้องกัน)สถาบันครอบครัวยังคงเป็นครอบครัวขยาย วิถีชีวิตครอบครัวยังคงยึดถือระบบผู้ปกครองแบบดั้งเดิม ภายในชุมชนยังคงแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันมีความเชื่อและศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และให้ความเคารพนับถือบรรพบุรุษให้คุณค่าต่อระบบอาวุโส และให้ความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ยังคงแสดงออกได้อย่างเต็มที่

กล่าวโดยสรุปว่า สังคมของชาวจีนฮากกาในเมืองหาดใหญ่ในยุคแรก มีสภาพไม่แตกต่างไปจากชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในที่อื่นๆ โดยถิ่นฐานที่ชาวจีนฮากกาเข้าไปอยู่อาศัยมิได้เป็นอุปสรรคต่อการนำวิถีชีวิต ค่านิยม ประเพณีและความเป็นจีนฮากกาเข้ามาตาอย่างใด ในทางกลับกัน การอยู่ต่างบ้านต่างเมืองได้กลายเป็นตัวผลักดันให้ชาวจีนฮากกาที่อพยพเกิดการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายของตนเองขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือและติดต่อประสานงานภายในพวกพ้องของตนเอง รวมทั้งติดต่อเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มชาวจีนอื่น รวมทั้งคนไทยและทางการไทย ผลที่ตามมาก็คือ การคงไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ตามแบบฉบับของความเป็นจีนฮากกา ซึ่งประกอบด้วยระบบพวกพ้อง ระบบอาวุโส ความเชื่อ ประเพณี และวิถีชีวิต แต่สิ่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญอย่างมากและแตกต่างไปจากสังคมของชาวจีนฮากกาในเมืองแม่ ก็คือ การปรับตัวให้เข้ากับสังคมวัฒนธรรมใหม่และประเพณีท้องถิ่น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันมาก รวมทั้งความพยายามที่จะทำความรู้จักและเรียนรู้คนท้องถิ่นในทุกๆ เรื่อง โดยมิได้ขัดแย้งหรือแปลกแยกไปจากความเป็นจีนฮากกาที่นำติดตัวเข้ามา สภาพสังคมของชาวจีนฮากกาในเมืองหาดใหญ่ อาจจะคงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ตลอดช่วงอายุของชาวจีนฮากกาอพยพจนกระทั่งเกิดการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นไทยมากขึ้นในกลุ่มสังคมจีนฮากการุ่นที่2 หรือชาวจีนฮากกาที่เกิดในเมืองไทยหรืออาจเรียกเพื่อให้เกิดความแตกต่างกันในหมู่ชาวไทยและกลุ่มชาวจีนอื่นว่าชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกานั้นเอง

1.2.2 ช่วงที่ 2 การขยายอำนาจและการเข้ามาควบคุมจากรัฐ (พ.ศ. 2475 – 2504)

เนื่องจากมีชาวจีนฮากกาหลายกลุ่ม หลายตระกูล หลายแซ่ อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก ชาวจีนฮากกาได้มีการรวมตัวกันเป็นสมาคมและมูลนิธิ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการสืบหาคนแซ่เดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน หรือมาจากพื้นที่เดียวกัน เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้สืบสกุลได้ถูกต้องและทราบที่มาของแต่ละคนว่ามาจากตำบลใด อำเภอใด และเมืองใดของประเทศจีน ซึ่งเป็นการง่ายต่อการทำความรู้จักและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อจิตใจด้านความเอื้ออาทร การขจัดความกลัว และการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมบางประการของความเป็นจีนฮากกาให้คงอยู่สืบต่อไป การรวมกลุ่มทางสังคมของชาวจีนฮากกาในเมืองหาดใหญ่ในยุดบุกเบิกดังกล่าว ได้เกิดปรากฏการณ์การจัดตั้งสมาคมและมูนิธิต่างๆ ได้แก่ สมาคมฮากกาหาดใหญ่ตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2490 สมาคมปั้นซันขักตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2521 สำหรับมูลเหตุของการก่อตั้งสมาคมนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการรวมกลุ่มกันในหมู่ของชาวจีนฮากกาและชาวจีนปั้นซันขัก และเพื่อที่จะช่วยเหลือระหว่างในคนกลุ่มภาษาเดียวกัน

แต่เมื่อการขยายอำนาจการปกครองจากรัฐเพื่อควบคุมคนจีนได้เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เนื่องจากเหตุผลการเมืองของประเทศจีน ในช่วงเวลานี้ คนจีนในประเทศไทยถูกเพ่งเล็งและจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายของราชสำนักไทยที่มองว่าคนจีนเป็นกลุ่มคนที่เอารัดเอาเปรียบ และที่สำคัญคือ คนจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงประเทศชาติ เมืองหาดใหญ่ในฐานะที่เป็นเมืองของคนจีนอพยพและมีชาวจีนอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และเป็นผู้บุกเบิกเมืองหาดใหญ่อีกด้วย ซึ่งมีการรวมตัวเป็นกลุ่มในลักษณะของสมาคม มีวัฒนธรรมและประเพณีเป็นแบบจีน รวมทั้งใช้ภาษาจีนในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ มีโรงเรียนจีนยุคแรก คือ โรงเรียนจงฮวายิฉวิน ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2467 แต่ก็ถูกทางการไทยใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฏร์ฉบับพ.ศ. 2464 เข้ามาควบคุม ซึ่งเน้นการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนเช่นกัน การเข้ามาควบคุมโรงเรียนจีนในหาดใหญ่นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจของชนชั้นปกครองที่ระแวงความเป็นคนจีน ชาวจีนฮากกาก็มีสภาพเหมือนกับคนจีนทั่วไปในประเทศไทย คือ ต้องตกอยู่ในสภาพจำยอม ต้องทำตามกรอบ ขอบเขตการดำเนินวิถีชีวิต ตามที่อำนาจการปกครองจากรัฐกำหนด ซึ่งกลุ่มผู้อาวุโสของสมาคมบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกอึดอัดรู้สึกสับสนกับวิถีชีวิตเดิม ๆเป็นอย่างมาก

ประธานกิติมศักดิ์ถาวรของสมาคมฮากกาหาดใหญ่ เสรี ลีลาสำราญ[1] ได้กล่าวถึงท่าทีที่สมาคมฮากกาหาดใหญ่มีต่อนโยบายรัฐบาลไทยในยุคนี้ สรุปได้ว่า ในสมาคมเราได้มีการพูดคุยปรึกษาถึงข้อคับข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะในวงสนทนาของกลุ่มผู้อาวุโส โดยที่ความเห็นได้แตกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งเห็นว่าถ้าไม่มีการสอนภาษาจีนดำเนินการอยู่เพื่อรักษารากเหง้าของตนไว้ คิดว่าถ้าไม่เรียนภาษาจีน จะสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมได้ไม่เต็มที่แต่เนื่องจากไม่สามารถฝ่าฝืนข้อบังคับของรัฐบาลได้ จึงแอบไปจัดการสอนภาษาจีนอย่างลับ ๆ หรือส่งลูกหลานไปเรียนภาษาจีนนอกประเทศ เช่น สิงคโปร์ ปีนัง หรือประเทศจีน เป็นต้น และมีผู้ใหญ่บางคนไปจัดสถานที่ใต้ดินเพื่อเรียนภาษาจีนให้กับคุณครูที่มาจากประเทศจีนหรือคุณครูที่มาจากประเทศมาเลเซีย เพื่อเรียนรู้ภาษาจีน และอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาส ที่เคยไปพบไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของสมาคมอื่น ๆหรือเคยไปที่ในเขตพื้นที่อื่นๆ เห็นว่าการที่สมาคมใดที่ปฏิบัติตามกรอบ ตามกฎเกณฑ์ของรัฐบาลไทย สมาคมนั้นจะมีโอกาสได้รับการพัฒนา และได้รับการยอมรับและความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากรัฐบาลและสังคมไทย ดังนั้นชาวจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ควรปรับตัวและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ราชการที่เข้ามาควบคุม เพื่อให้สมาคมฮากกาหาดใหญ่ได้รับการยอมรับ และมีสิทธิความเป็นคนไทย ซึ่งจะส่งผลให้สมาคมมีความมั่นคงและได้รับความเป็นอิสระต่างๆจากรัฐบาลไทย โดยข้อสรุปความเห็นของชาวจีนฮากกาในสมาคมและชมรมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว

ศุภการ สิริไพศาล, อภิเชษฐ กาญจนดิฐ, พรชัย นาคสีทอง และสุมาลี ทองดี[2] ได้กล่าวถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่างปีพ.ศ. 2475 ถึงปีพ.ศ. 2500 ของรัฐบาลไทยสรุปได้ว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2475 ถึงปี พ.ศ. 2500 อำนาจการปกครองประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มเจ้านายตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจการปกครองที่แท้จริงได้ผูกขาดอยู่กับบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่ม อาทิ กลุ่มคณะราษฏร์ และกลุ่มทหาร อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลที่มีต่อชาวจีนในประเทศไทยในช่วงสมัยนี้ ได้มีผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวจีนอย่างมากจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและปรับตัวครั้งใหญ่ในหมู่ชาวจีนทั่วในประเทศ รวมทั้งชาวจีนในเมืองหาดใหญ่ ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคณะราษฏร์ของรัฐไทย ตั้งแต่พ.ศ. 2475-2481 ต่างก็ดำเนินการนโยบายอย่างเข้มงวดต่อชาวจีนทั้งในการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 สมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นต้นมา ทั้งชาวไทย ชาวจีนและกลุ่มเชื้อชาติอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่างตกอยู่ในยุค “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” ตามแผนการสร้างชาติที่รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะคำสั่ง “รัฐนิยม” นโยบายรัฐนิยมที่ได้ทำให้ชาวไทยพื้นเมืองเกิดความชิงชังต่อชาวจีนในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน นโยบายนี้มิเพียงได้ส่งผลกระทบในเฉพาะกลุ่มชาวจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชาวไทย และกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ อาทิ ชาวไทยพื้นเมืองภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และชาวไทยมุสลิมต่างก็ได้รับผลกระทบและต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยกันทั้งหมด ชาวจีนฮากกาก็หนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวเพื่อเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

จำเริญ ชูชาติพงษ์[3] ซึ่งเป็นอุปนายกสมาคมฮากกาหาดใหญ่ ได้กล่าวถึงการขยายอำนาจและการควบคุมคนจีนจากรัฐในยุคนี้ไว้ว่า รัฐบาลไทยได้เข้ามาสร้างอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่ชุมชนชาวจีนเพิ่มขึ้นโดยผ่านมาทางระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และระบบการศึกษา และบริบทต่างๆ ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวจีนในหาดใหญ่ ไม่ต่างไปจากที่อื่น ๆ ซึ่งสมัยนี้จะถูกเพ่งเล็งทางการเมือง มีการกวาดล้างเป็นระยะ บางคนต้องหนีภัยทางการเมืองหรือภัยสงครามญี่ปุ่นและจีน อย่างเช่น กลุ่มของครูสอนภาษาจีนในโรงเรียนศรีนครหลายคนที่ถูกตำรวจจับกุมไปต่างก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้การถูกปราบปราม การรังแกจากภาครัฐไทยและทหารญี่ปุ่นมีเป็นระยะ ลักษณะอย่างหนึ่งของคนจีนในสมัยนี้ มีการเว้นระยะห่างทางการเมืองพอสมควร ไม่มีการพูดเรื่องการเมืองในสมาคมจีน ชาวจีนฮากกากับคนกลุ่มจีนอื่นๆ ต่างพากันตื่นตระหนก แม้จะมีชาวจีนบางกลุ่มได้พยายามคัดค้านต่อสู้ และพากันวางเฉยต่อการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลไทย นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ในกิจกรรมด้านอื่น ๆ ทั้งทางการเมืองและสังคมแต่รัฐบาลสมัย “ชาตินิยม” ได้พยายามเข้มงวดในการตรวจสอบ เฝ้าระแวง และจับกุม เช่น การกวาดล้างและจับกุมกลุ่มชาวจีนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้ความรุนแรง การตรวจค้นสมาคมจีนซึ่งเป็นที่ต้องสงสัย การสั่งกวดขันเข้มงวดและสั่งปิดหนังสือพิมพ์และโรงเรียนจีน การเก็บเงินภาษี ค่าทะเบียนคนต่างด้าว ซึ่งใครถ้าฝ่าฝืนไม่ยอมจ่ายก็จะต้องเสี่ยงต่อการถูกจับ ตลอดจนการใช้ตำรวจในการคุกคามโรงพยาบาล สมาคม และธนาคารของชาวจีน สมาคมฮากกาหาดใหญ่ในสมัยนี้ มีการสร้างระเบียบห้ามสมาชิกคุยหรือยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งถ้ามีหลักฐานหรือเห็นว่าใครฝ่าฝืนก็จะโดนไล่ออกจากสมาคมทันที

ในช่วงระยะเวลานี้ ชาวจีนฮากกาในเมืองหาดใหญ่ได้ถูกระบบจากภายนอกเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้ขึ้นต่ออำนาจรัฐบาลไทยและกลายเป็นการยอมรับจากการถูกปกครองไปโดยปริยายหากมองในระบบการปกครองของรัฐบาลไทย ถือว่าเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในสังคมไทยที่ทำให้เทศบาลนครหาดใหญ่ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมและประเพณีของกลุ่มชาวจีนเข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับระบบดังกล่าวโดยพบว่าแม้มีผู้นำ เดิมทีเป็นผู้นำธรรมชาติเมื่อระบบการปกครองจากรัฐเข้ามามีบทบาทในหมู่ชาวจีนผู้นำดังกล่าวก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นผู้นำที่เป็นทางการ ซึ่งต้องทำหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับนโยบายของรัฐผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และกำนันในตำบล ถึงแม้ผู้ใหญ่ในสมาคมและมูลนิธิต่างๆ จะอยู่ในฐานะผู้นำที่เป็นทางการ แต่ก็ยอมรับต่อบทบาทหน้าที่ของตนเอง ซึ่งอยู่ภายใต้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี และกฎเกณฑ์เดิม คือ มิได้แบ่งแยกเป็นผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองเหมือนระบบที่คิดมาจากภายนอกที่ผู้ปกครองต้องมีสิทธิและมีอำนาจเหนือคนอื่นตลอดเวลา ดังนั้นผู้ใหญ่ของสมาคมและมูลนิธิ จึงดำรงอยู่ใน 2 สถานภาพในขณะเดียวกัน คือ ในฐานะของผู้รับนโยบายของรัฐจากภายนอกที่ต้องปฏิบัติการกิจกรรมการพัฒนาในสมาคมให้เป็นไปตามนโยบายด้านการปกครองและการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายบ้านเมืองและอีกสถานภาพหนึ่ง คือ มีการดำรงตน ประพฤติตนมีบทบาทและอำนาจที่เท่าเทียมกับผู้นำอีก2 ส่วน คือ ผู้อาวุโสและบุคคลที่มีบทบาทต่อการพัฒนาสมาคมที่มิได้มีอำนาจ บทบาทเหนือกว่าผู้นำทั้ง 2 ส่วน ซึ่งเป็นจารีตประเพณีและการปกครองของในสมาคมฮากกาหาดใหญ่ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

จากการสัมภาษณ์ เจริญชัย ชีวะศรีรุ่งเรือง[4] ซึ่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ถาวรสมาคมฮากกาหาดใหญ่ ทราบว่า เมื่อมีการเลือกตั้งนายกสมาคมใหม่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาคม ยังคงให้ความเคารพและความสำคัญกับผู้อาวุโสของสมาคม ผู้นำตามโครงสร้างดั้งเดิมในการปรึกษาหารือ และรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากผู้อาวุโส ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของสมาชิกในสมาคมทั้งนี้เพื่อให้การทำหน้าที่ของผู้นำที่เป็นทางการเป็นไปอย่างสอดคล้องกับวัฒนธรรมความเชื่อ และข้อปฏิบัติของสมาคมฮากกา ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัว การอยู่ร่วมกันจัดกิจกรรมของคนในสมาคม การประกอบประเพณีพิธีกรรมของสมาคม ตลอดจนการอบรมสั่งสอน การถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ให้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของชนเผ่าจีนฮากกาที่ดำรงไว้อย่างเหนียวแน่น ตรงนี้สมาคมฮากกาหาดใหญ่ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพในการปรับตัว เพื่อให้เกิดความผสมกลมกลืนระหว่างโครงสร้างต่างๆ ภายในสมาคมให้เข้ากับระบบการปกครองของรัฐ ในขณะนั้น ยังคงดำรงรักษาความเป็นอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของชนเผ่าจีนฮากกาได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการพลศึกษาขึ้นมา และได้สร้างสนามบาสเก็ตบอล และได้จัดทีมชาย ชื่อว่า “เหวยเซิง” ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ ภายในประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์จิตวิญญาณแห่งพลศึกษาของจีนฮากกาไว้เพื่อได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มจีนอื่นๆ และชุมชนจีนฮากกาในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาความสามัคคี และพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านจิตใจของชาวจีนฮากกา ปี พ.ศ. 2497 คุณเลี่ยว ย่วนจาว ซึ่งเป็นอดีตนายกสมาคมฮากกาหาดใหญ่ ได้เริ่มเสนอความคิดในการก่อสร้างศาลเทพเจ้ากวนอู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระบบคุณค่าของวัฒนธรรม ความเชื่อประเพณีอันดีงามของชาวจีนฮากกาไว้ และแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินประเทศไทย เพื่อสอดคล้องกับความต้องการในยุคสมัยนั้น ซึ่งได้สร้างแล้วเสร็จและเปิดพิธีตามประเพณีชาวจีนฮากกาในปีพ.ศ. 2508 เมื่อปีพ.ศ. 2498 ยังได้ก่อตั้งคณะสตรีขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์จิตวิญญาณผู้หญิงจีนฮากกาไว้ และแสดงบทบาทผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยได้จัดการกิจกรรมต่างๆ ในสมาคม นอกจากนี้ ผู้หญิงชาวจีนฮากกายังได้มีการจัดทีมบาสเก็ตบอลขึ้นมาในปีเดียวกันโดยตั้งชื่อว่า “เหวยเต๋อ”(รักษาสันติภาพ) เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ และในวันที่ 20 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2502 ไปเข้าร่วมการแข่งขันที่เมืองหลวงประเทศเวียดนาม และได้ชัยชนะอย่างใหญ่หลวงกลับมา ในปีต่อมาทีมสตรีเหวยเหอของชาวจีนฮากกาได้เป็นตัวแทนของเขตภาคใต้เข้าร่วมการแข่งขันบาสเก็ตบอลระดับชาติ และได้รับรางวัลชนะเลิศ และปี พ.ศ. 2501 ได้ก่อตั้งทีมสิงห์โตทอง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของคณะพลศึกษา และได้เป็นตัวแทนสมาคมฮากกาเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ ทั้งภายในประเทศไทยและภายนอกประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลและสร้างชื่อเสียงให้กับสมาคมอีกมากมาย ในปีพ.ศ. 2507 ได้ก่อตั้งคณะการศึกษาและได้เปิดพิธีที่ศาลเจ้ากวนอู โดยมีคุณชี หัวซิง เป็นหัวหน้าคนแรก ในวันที่ 29 มีนาคม ปี พ.ศ. 2510 ได้ก่อตั้งคณะบันเทิงขึ้นโดยมีคุณหยาง เต๋อเซิ่ง เป็นหัวหน้าคนแรก

ในยุคนี้มีหน่วยงานและคณะต่างๆ ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาส่งเสริมความเป็นอยู่ของชาวจีนฮากกาในสมาคมฮากกาหาดใหญ่โดยมีหน่วยงานและคณะต่างๆ คือ

1.สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2444 คุณอวี๋ ชื่อเผิง สมาชิกเชื้อสายจีนฮากกาของสมาคมสันนิบาตประเทศจีนได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และได้พบเห็นชาวจีนฮากกาต่างก่อตั้งองค์กรของตัวเองนั้น เป็นการบั่นทอนกำลัง รวมทั้งไม่เป็นผลดีต่อชาวจีนฮากกาจึงได้ดำเนินการไกล่เกลี่ย ขอร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายยกเลิกชื่อของชมรม จากนั้นได้มีการรวบรวมคณะบุคคลก่อตั้ง “สมาคมจีนแคะ” ขึ้น จนถึงปี พ.ศ. 2452 ได้จัดตั้งที่ทำการสมาคม ปี พ.ศ. 2497 ได้มีการกำหนดระเบียบข้อบังคับของสำนักงานประจำต่างจังหวัดหรือสาขาสมาคมขึ้นเป็นครั้งแรกซึ่งสมาคมฮากกาหาดใหญ่เป็นสาขาแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมฮากกาจีนแคะในสมัยนั้น และเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งสาขาสมาคมชื่อของสมาคมจีนแคะได้เปลี่ยนเป็น “สมาคมหัวเฉียวจีนแคะแห่งประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2510 เพื่ออำนวยสะดวกต่อการพัฒนากิจการสาขาสมาคมจีนแคะที่กรุงเทพฯ จึงได้มีการจดทะเบียนและเปลี่ยนชื่อทุกสาขาเป็นสมาคมฮากกาในจังหวัดนั้นๆ วันที่ 17 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2515 ที่ประชุมสมาชิกประจำปีได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อ “สมาคมหัวเฉียวจีนแคะแห่งประเทศไทย” เป็น “สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย” ซึ่งสมาคมฮากกาหาดใหญ่ก็ได้เปลี่ยนชื่อจากสมาคมจีนแคะหาดใหญ่เป็นสมาคมฮากกาหาดใหญ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในระยะเวลาหกสิบกว่าปีที่ผ่านมา สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในการดำเนินการกิจกรรมต่างๆของสมาคมฮากกาหาดใหญ่มาตลอด และได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกันตลอดไป

2. คณะสวัสดิการ โดยได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 โดยมีคุณเลี่ยวยี่ฉวิน เป็นหัวหน้าคณะสวัสดิการ มีวัตถุประสงค์สร้างความผาสุขแก่สมาชิกในสมาคม มีสวัสดิการการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ช่วยเหลือผู้อาวุโสที่ไร้ที่อยู่อาศัยนอกจากนั้นยังได้ทำหน้าที่ดูแลและให้ความช่วยเหลือในเวลาที่สมาชิกในสมาคมที่มีงานแต่งงานหรืองานศพ จนกระทั่งจัดกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละเทศกาล

3. คณะพลศึกษา ได้ก่อตั้งขึ้นใน ปีพ.ศ. 2493 สังกัดสมาคมฮากกาหาดใหญ่ บทบาทของคณะพลศึกษาจะมุ่งเน้นการพัฒนาส่งเสริมพลศึกษาของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในสมาคมหรือชมรมในหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกา และสร้างความสัมพันธไมตรีกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ โดยผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ และจัดทีมปิงปอง ทีมบาสเก็ตบอล ทีมกังฟูมวยไท้เก๊กไปเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ ทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับชาติ ในนั้น ทีมบาสเก็ตบอล ทีมหญิง “เหวยเต๋อ” เคยได้เป็นชนะเลิศ และทีมชาย “เหวยเซิง” ได้เป็นชนะเลิศหรือรองชนะเลิศระดับชาติหลายครั้ง

4. คณะศาลเจ้า ปี พ.ศ. 2497 คุณเลี่ยว ย่วนจาว ซึ่งเป็นอดีตนายกสมาคมฮากกาหาดใหญ่ ได้เป็นผู้เริ่มเสนอความคิดในการก่อสร้างศาลเจ้ากวนอู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนับถือบูชาเซ่นไหว้เทพเจ้ากวนอู แสดงเคารพนับถือต่อเทพเจ้ากวนอู ซึ่งเป็นความเชื่อที่ยึดเหนี่ยวมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นพลังทางด้านความเชื่อที่ทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความสามัคคีกัน และเป็นการสืบทอดความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญสำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

5. คณะสตรี ได้ก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2498 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการงานของสตรี และแสดงบทบาทในด้านพลศึกษา ด้านบันเทิง ด้านประชาสัมพันธ์ ด้านสวัสดิการ ด้านประเพณีและพิธีกรรม ฯลฯ โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ สามารถมองเห็นจิตวิญญาณและบทบาทของผู้หญิงชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาอย่างเต็มที่ เช่น ความขยันขันแข็งในการทำงานทั้งในครอบครัวและสังคม ความอดทนและประหยัดต่อการใช้ชีวิต ความกล้าหาญในการบุกเบิก ความทุ่มเทที่มีต่อครอบครัว เป็นต้น

6. คณะการศึกษา ได้ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2507 โดยมีคุณชี หัวซิง เป็นหัวหน้าคนแรกการก่อตั้งคณะการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดภาษาจีนเพื่อรักษาความเป็นชาติพันธุ์จีนไว้ และเพื่อเป็นประโยชน์ในการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามไว้ นอกจากนี้แล้ว ยังมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนและมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนดีเด่น ได้แสดงบทบาทถึงการสืบทอดระบบคุณค่าที่ชาวจีนฮากกาให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวจีนฮากกามีการยึดถือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

7. ศาลบรรพบุรุษ “ซือหย่วน” ได้สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ. 2509 สังกัดคณะศาลเจ้า อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสมาคมฮากกาหาดใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งจะประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ในฤดูใบไม้ผลิต และฤดูใบไม้ร่วง ตามปฏิทินจันทรคติจีน นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นที่ประทับของป้ายวิญญาณบรรพบุรุษสำหรับชาวจีนฮากกาหรือกลุ่มชาวจีนอื่นๆ โดยไม่มีข้อจำกัด ทำให้ชาวจีนฮากกาที่ล่วงลับไปแล้ว สามารถมีที่ประทับอย่างสมเกียรติตามประเพณีและความเชื่อของชาวจีนฮากกา ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาจะมีพิธีกรรมเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษในโอกาสปกติและโอกาสพิเศษ ดังที่ หัวหน้าฝ่ายศาลเจ้า จิ้นเชียง แซ่ชี[5] ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนฮากกานั้น การปฏิบัติการไหว้ในโอกาสปกติ คือ เป็นการปฏิบัติการไหว้ในชีวิติประจำวันของชาวจีน เป็นเพียงการปฏิบัติการไหว้ธรรมดาเท่านั้น ซึ่งมักจะมีการกำหนดให้มีขึ้นทุกวันขึ้น 1 ค่ำกับวันขึ้น15 ค่ำตามระบบจันทรคติของจีน นอกจากนี้ ยังมีการไหว้ในบางกรณี เช่น การปฏิบัติการไหว้ในกรณีลูกหลานในครอบครัวมีการแต่งงานหรือเรื่องที่เป็นสิริมงคล และการปฏิบัติการไหว้ในกรณีมีแขกมีญาติมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน เป็นต้น การปฏิบัติการพิธีกรรมเมื่อถึงวันสำคัญในรอบปี เช่น การปฏิบัติในเทศกาลตรุษจีน เทศกาลหยวนเซียว เทศกาลเช็งเม้ง เทศกาลสารทจีน เป็นต้น การปฏิบัติพิธีกรรมในโอกาสพิเศษนั้นจะมีการแตกต่างกันมากกับการปฏิบัติพิธีกรรมในโอกาสปกติ ซึ่งแบ่งตามสถานที่การปฏิบัติพิธีกรรมได้ 2 แบบ คือ การปฏิบัติพิธีกรรมที่บ้านกับการปฏิบัติพิธีกรรมที่สุสาน หรือศาลบรรพบุรุษตามความเชื่อดั้งเดิม การปฏิบัติพิธีกรรมที่บ้าน มักจะมีการปฏิบัติในช่วงเวลาหลายช่วง เช่น วันครบรอบปี และวันไหว้พระจันทร์ เทศกาลสารทจีน เป็นต้น แต่เนื่องจากความไม่แน่ชัดเกี่ยวกับวันครบรอบปีของบรรพบุรุษหรือบรรพบุรุษมีจำนวนมาก และวันครบรอบปีไม่ได้เป็นวันเดียวกันด้วย ก็จะมีการปฏิบัติพิธีกรรมรวมกันในวันตรุษจีน ซึ่งเป็นทั้งประเพณีสำคัญ และมีการกำหนดการปฏิบัติพิธีกรรมการไหว้วิญญาณบรรพบุรุษแล้วด้วย ส่วนการปฏิบัติที่สุสาน จะมีเพียงเฉพาะในเทศกาลเช็งเม้ง ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ส่วนใหญ่จำเป็นต้องปฏิบัติ เพราะเป็นวันสำคัญสำหรับการปฏิบัติพิธีกรรมการนับถือบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษเป็นพิเศษ

8. คณะบันเทิง ได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม ปี พ.ศ. 2510 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการสอนอีเลคโทนและเครื่องดนตรีอื่นๆ ให้กับบุตรสมาคมที่สนใจเรียนและจัดการแสดงในยามที่มีกิจกรรมต่างๆ นับได้ว่าคณะบันเทิงเป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจ เป็นที่พักผ่อนทางจิตใจ เป็นที่สร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในสมาคมและชาวจีนฮากกาในชมรม

9. ศูนย์การวิจัยไท้เก๊ก สังกัดคณะบันเทิงสมาคมฮากกาหาดใหญ่ ได้ก่อตั้งขึ้นมาในวันที่ 31 พฤษภาคม ปีพ.ศ. 2513 โดยมีคุณดึ้ง ซิ่วหมิน เป็นหัวหน้าคนแรก และมีคุณเลี่ยวจินซุ้ย เป็นรองหัวหน้าคนแรก โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนามวยจีนไท้เก๊ก และเพื่อสมาชิกในสมาคมมีสุขภาพที่แข็งแรง และจัดเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งสำหรับผู้อาวุโสในสมาคมฮากกาหาดใหญ่

10. มูลนิธิชาวฮากกาจังหวัดสงขลา ได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 9 เมษายน ปี พ.ศ. 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารดูแลคณะศาลเจ้าและสวัสดการต่างๆ ของสมาคมฮากกาหาดใหญ่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจหรือเป็นที่พบปะสังสรรค์ของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกา ทั้งที่เป็นสมาชิกในสมาคมฮากกาหาดใหญ่หรือชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาทั่วไปโดยไม่มีจำกัด

นอกจากนี้แล้ว ผู้นำผู้อาวุโสของสมาคมได้นำเอาระบบโครงสร้าง ระบบคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีที่สมาคมใช้ปฏิบัติอยู่มาผสมผสาน ประยุกต์ใช้ เช่น มีการร่วมเทศกาลถือศีลกินเจกับกลุ่มจีนอื่นๆ และร่วมประเพณีกุศล งานบุญต่างๆ ในเทศกาลนครหาดใหญ่ จนทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยจากภายนอกมีความรู้สึกว่า ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาให้ความร่วมมือกับทางการอย่างดีมาก และชาวไทยเชื้อสายฮากกาในสมาคมก็มีความรู้สึกว่า พื้นที่ที่มีการแบ่งการใช้ประโยชน์ได้ ถูกจัดแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน เป็นของสมาคมที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา จนถึงปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาหรือสมาชิกในสมาคม และองค์กรใกล้เคียงก็ยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้กำหนดร่วมกันมาเป็นอย่างดี

จะสังเกตเห็นได้ว่า ในยุคนี้หน่วยงานและคณะต่างๆ ของสมาคมฮากกาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแสดงบทบาทของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมในช่วงระยะนี้ ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อสอดคล้องกับการพัฒนาของยุคสมัย ทำให้วิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในสมาคมหรือชมรมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมการเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่างๆ ของสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพลังสำคัญจากภายนอก ในระยะแรกของการก่อตั้งสมาคมฮากกาหาดใหญ่ ส่วนใหญ่แล้ว การเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนจะอยู่บนฐานความคิดที่ว่า ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในประเทศไทยนั้นเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน ควรมีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และคิดว่าชาวจีนฮากกาในจังหวัดอื่นๆ เป็นพลังที่มีศักยภาพในการพัฒนาและมีความรู้ความสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้ดังนั้นต้องให้มีการสงเคราะห์ ความช่วยเหลือ และชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในแต่ละพื้นที่มีหน้าที่ต้องเข้าร่วม รับการพัฒนาและการส่งเสริมจากสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย โดยที่สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทยได้วางตัวเป็นที่ปรึกษาและผู้สนับสนุนในการสร้างเครือข่ายของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาทั่วประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในประเทศไทย และเพื่อสอดคล้องกับความต้องการในยุคสมัย คณะต่าง ๆ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาจากสมาคมฮากกาหาดใหญ่นั้น ได้แสดงบทบาทด้านเศรษฐกิจ พลศึกษา สังคมและวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเทศบาลนครหาดใหญ่ และได้สืบทอดวัฒนธรรมชาวจีนฮากกาอย่างต่อเนื่อง รักษาความเป็นจีนฮากกาไว้ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยไปมาก ทำให้มีการผสมผสานทางด้านสังคมและวัฒนธรรมจีนฮากกากับไทยและกลุ่มจีนอื่นๆ ในเมืองหาดใหญ่ด้วย

ดังที่ผู้อาวุโสของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกา วิธาน ศรีกิติกุล[6] ได้เล่าให้ฟังว่า ชาวจีนฮากกาหาดใหญ่ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงไว้ ซึ่งเอกลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นแบบจีนฮากกายังคงมากกว่าแบบไทย และมีการรวมกลุ่มกันเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆโดยมีวิธีการรวมกลุ่มด้วยคนที่ใช้แซ่เดียวกัน หรือมาจากหมู่บ้านเดียวกัน อำเภอเดียวกัน หรือพูดภาษาเดียวสำเนียงเดียวกัน เหตุผลในการรวมกลุ่มนอกจากปัจจัยวัฒนธรรมชาวจีนฮากกาที่ติดตัวมาแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความเชื่อเหลือพึ่งพาอาศัยกัน และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมตามแบบจีนฮากกาที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะชาวจีนฮากการุ่นแรกต่างก็ถือว่า ตนเองเป็นชาวจีนฮากกา มีความภาคภูมิใจในความเป็นจีนฮากกาของตน และนิยมส่งบุตรหลานของตนเรียนหนังสือด้วยภาษาจีน ตามค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้ และนิยมพูดคุยภาษาจีนฮากกาในครอบครัวเป็นหลัก เพื่อมิให้ลืมว่าตนเองเป็นลูกหลานชาวจีนฮากกา และถ่ายทอดความภาคภูมิใจนี้สืบต่อไปยังคนรุ่นใหม่

สันติ บุญฑริกพรพันธ์[7] ซึ่งเป็นที่ปรึกษาสมาคมฮากกาหาดใหญ่และเป็นนายกกิตติมศักดิ์ถาวรสมาคมปั้นซันขักได้เล่าให้ฟังว่า ชาวจีนฮากกาในสมัยนี้ เริ่มมีการปรับตัวในสมัสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเฉพาะยุคชาตินิยมจอมพลป. พิบูล และสมัยการยึดเมืองครองของญี่ปุ่นที่มีผลกระทบต่อชาวจีนฮากกาเป็นอย่างมาก ชาวจีนฮากกาได้รวมกลุ่มกันตามวิธีการต่างๆ และปรับตัวทำตามข้อบังคับทางการไทย แต่ในด้านปฏิบัติจริง ๆแล้ว ก็มีการประยุกต์ใช้ระบบคุณค่า ประเพณี ความเชื่อ และวัฒนธรรมของชาวจีนฮากกา เช่น การสร้างศาลเจ้ากวนอูเป็นที่บูชาเทพเจ้ากวนอู และได้ร่วมทุนกับกลุ่มจีนอื่นๆ สร้างวัดเจ้าแม่กวนอิมกิ้วซื่ออัมเป็นที่ประดิษฐานของพระโพธิสัตว์กวนอิมเนี้ย เพื่อระดมพลังและเป็นที่พึ่งพาด้านจิตใจของชาวจีนฮากกาแล้ว ยังได้สอดคล้องกับการแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว และเข้ากับประเพณีทำบุญกุศลคล้ายคลึงกับชาวไทยทั่วไป เพราะว่าเทพเจ้ากวนอูเป็นเทพแห่งคุณธรรมและมีความซื่อสัตย์สูง มีอำนาจบริวาร เป็นเทพแห่งความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว องอาจไม่หวั่นต่อศัตรู และพระโพธิสัตว์กวนอิมเนี้ยเป็นเทพแห่งความเมตตากรุณาซึ่งเทพทั้งสององค์สามารถแสดงออกถึงระบบคุณค่าของชาวจีนฮากกาที่ยังคงยึดถือปฏิบัติไว้

หลังจากทางการไทยได้ใช้นโยบายอย่างเข้มงวดต่อชาวจีนในเมืองหาดใหญ่ ซึ่งคิดว่าชาวจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของการปกครองประเทศไทย นอกจากใช้นโยบาย “ชาตินิยม” โดยผ่านระบบการศึกษา ระบบการเมือง ระบบวัฒนธรรม และระบบต่างๆ เข้ามาในการควบคุมคนจีนแล้ว ยังได้ใช้มาตรการจูงใจชาวจีนกลายเป็นคนไทย เช่น มีการอนุญาตให้ชาวจีนที่มีคุณสมบัติพร้อมสามารถเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย โดยต้องเปลี่ยนชื่อ-แซ่แบบจีนเป็นชื่อ-นามสกุลแบบไทยหรือการสนับสนุนให้ลูกหลานชาวจีนที่เกิดในประเทศไทยถือสัญชาติไทย ชาวจีนฮากกาเหมือนกับกลุ่มจีนอื่น ๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต และคิดถึงอนาคตของลูกหลานในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้รับสัญชาติไทยโดยไม่มีการปฏิเสธ แต่ถ้ามีก็ในกรณีหรือนโยบายใด ๆ ที่ขัดต่อวัฒนธรรมประเพณีและพิธีกรรมของชาวจีนฮากกา ผู้นำสมาคมก็ทำหน้าที่ไปเจรจาต่อรองจะไม่มีกรณีที่ปฎิเสธไม่ให้ความร่วมมือโดยสิ้นเชิงแต่การนำไปปฏิบัติเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องปรับประยุกต์ ที่ไม่ส่งผลกระทบกับจารีตประเพณี วัฒนธรรม และพิธีกรรมของชุมชนจีนฮากกาที่บรรพบุรุษสะสมไว้ และปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคการขยายอำนาจการปกครองจากรัฐบาลไทย และการเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบนพื้นที่สูงของโครงการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมตะวันตก มีจุดเริ่มต้นที่มีการกำหนดให้ชุมชนตั้งเป็นหลักแหล่งและมีการประกาศเป็นชุมชนทางการตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 พร้อมทั้งมีการออกบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อควบคุม แผ่ขยายอำนาจของรัฐไทย ให้ความเป็นรัฐไทยแผ่เต็มผืนแผ่นดินไทยที่ให้มีความหมายจริงๆ ของความเป็นรัฐชาติ และเป็นไปเพื่อการสถาปนาอำนาจแห่งรัฐให้ครอบคลุมทั้งประเทศให้อำนาจรัฐมีผลจริงต่อการปกครองประเทศ ขณะเดียวกัน เป็นช่วงที่รัฐมีนโยบายและโครงการเพื่อการปราบปรามชาตินิยมของชาวจีน และการใช้มาตรการพัฒนาแบบบนลงล่าง แบบสั่งการ แบบควบคุม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทางรัฐเข้ามาจัดการค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นมาตรการด้านความมั่นคงที่รัฐบาลไทยมีความระแวงต่อชาวจีนมาก

การเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลานี้ถือว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อชุมชนและสมาคมจีนฮากกามีการเลือกตั้งนายกสมาคมแทนผู้นำธรรมชาติเดิมที่ชาวจีนฮากกานับถือ มีคณะต่าง ๆ ได้สร้างขึ้นมาแสดงบทบามมากขึ้น ช่วงระยะเวลานี้ถือว่าเป็นช่วงที่ชาวจีนฮากกาถูกกระทำ ถูกรุมเร้าจากภายนอกมากที่สุด ทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น ในด้านความเชื่อ จิตวิญญาณ วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมและระบบคุณค่าต่างๆ ของชุมชนฮากกามีการเปลี่ยนแปลงกลมกลืนไปตามสภาพแวดล้อม

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากเดิมของชุมชนชาวจีนฮากกาที่ไม่มีบุคคลหน่วยงานภาครัฐจากภายนอกเข้าไปยุ่งเกี่ยว ระยะต่อมามีบุคคล องค์กร หน่วยงานจากภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ชายแดนอยู่ในภาวะตึงเครียดทั้งถูกข่มเหงรังแกจากทางการไทยและถูกมองว่าเป็นพรรคเป็นพวกที่มีความคุกคามต่อการปกครองประเทศไทย ชาวจีนฮากกาจึงตกอยู่ในสภาพหวานอมขมกลืน แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ ชาวจีนฮากกาต้องอยู่รอดให้ได้ท่ามกลางของสถานการณ์ดังกล่าวอัตลักษณ์ของชาวจีนฮากกาที่แสดงออกในช่วงเวลานี้ จึงเป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากช่วงระยะที่1 คือ เป็นอัตลักษณ์ที่แสดงตัวตนในลักษณะที่ประนีประนอมเป็นมิตรได้กับทุกฝ่าย และสามารถคบหากับทุกฝ่ายได้ เพื่อรักษาตัวตนของตัวเอง การแสดงตัวตนที่ไม่เป็นพวกใคร สามารถเป็นมิตรเข้าได้กับทุกฝ่าย ร่วมมือกับทุกฝ่าย จึงเป็นอัตลักษณ์เป็นการแสดงตัวตนของชุมชนจีนฮากกาที่อยู่บนบรรดาอำนาจที่รัฐไทย ดังนั้นการแสดงถึงอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ด้วยกันเองภายใน จึงเป็นอัตลักษณ์แบบดั้งเดิมที่แสดงออกทางผ่านทางวัฒนธรรมการประกอบประเพณีและพิธีกรรม เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชนส่วนการแสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนกับภายนอกจึงแสดงออกในลักษณะที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายเป็นการแสดงอัตลักษณ์ในทางประนีประนอม ที่ไม่สร้างความระแวงให้กับรัฐบาลไทยเพื่อความอยู่รอดของชุมชน

จากดังกล่าวสรุปได้ว่า พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวจีนฮากกาในเมืองหาดใหญ่สมัยใหม่ คือ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและกาลเวลา ความเป็นไทยในด้านเชื้อชาติ ความสำนึกคิด สังคม วัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อ ได้ถูกแทนที่เข้ามาพร้อมๆ กับการลดบทบาทของความเป็นสังคมจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งสร้างความแปลกแยกในสังคมไทย ก็ได้ส่งผลกระทบต่อชาวจีนฮากกาในเมืองหาดใหญ่ และความเป็นจีนฮากกาก็ได้ค่อย ๆ ลดบทบาทลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา นอกเหนือจากความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทยที่ผสมผสานเข้ามาแล้ว ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสังคมที่มุ่งเน้นความทันสมัย ความเป็นตะวันตก และเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตะวันตกได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมแบบชาวจีนฮากกาจืดจางลงและสูญหายไป ความเป็นจีนฮากกาสำหรับชาวจีนฮากกาหาดใหญ่สมัยใหม่ จึงหลงเหลืออยู่เพียงนามธรรม เพราะสังคมและวัฒนธรรมแบบชาวจีนฮากกาได้ถูกหล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน

1.2.3 ช่วงที่ 3 ยุคกระแสบริโภควัตถุของระบบทุนนิยม(พ.ศ. 2504 – ปัจจุบัน)

เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนจีนฮากกาในช่วงนี้เป็นช่วงที่ชุมชนจีนฮากกาได้รับอิทธิพลจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอก ที่เรียกว่ากระแสของระบบทุนนิยมหรือกระแสบริโภควัตถุ ที่ทำให้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนฮากกาแบบดั้งเดิมอยู่มาก

ศุภการ สิริไพศาล, อภิเชษฐ กาญจนดิฐ, พรชัย นาคสีทองและสุมาลี ทองดี[8] ได้กล่าวถึงสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบัน สรุปได้ว่า ภายหลังการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2504 หาดใหญ่ได้กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศภายใต้ระบบทุนนิยม โดยรัฐบาลไทยใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514 เศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่ได้ขยายตัวขึ้นอย่างมากจากการเป็นเมืองศูนย์การค้า และเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางธุรกิจข้ามชาติที่สำคัญนั่น คือ ยางพารา โรงแรมขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัยได้ถูกสร้างขึ้นรองเพื่อรับกับการขยายตัวของเมืองหาดใหญ่ ได้แก่ โรงแรมโฆษิต โนรา เอเซี่ยน อินทรา ลีการ์เดน แอมบาสเดอร์ สกาล่า รีเจนท์ คิงส์ เมโทร แหลมทอง ยงดี เพรสสิเดนท์ หาดใหญ่โฮเต็ล จนกระทั่งถึงปัจจุบันหาดใหญ่ได้กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ โดยมีโรงแรมขนาดใหญ่และศูนย์การค้าต่างๆ เกิดขึ้นรองรับ เช่น โรงแรมเจบี ไดมอนด์พลาซ่า เซ็นทรัลสุคนธา โรงแรมและห้างสรรพสินค้า ลีการ์เดนท์พลาซ่า ห้างสรรพสินค้าโอเดียน โรบินสัน ไดอาน่า ฯลฯ ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดชนชั้นกลาง พ่อค้า นายทุนและผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นคนหาดใหญ่และคนจากต่างถิ่นอย่างกว้างขวาง ธุรกิจหลากหลายประเภทได้เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐ โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการ สถาบันบันเทิงต่างๆ ได้เกิดขึ้น พร้อมกับธุรกิจโรงแรมและศูนย์การค้า ความเจริญเติบโตและขยายตัวของเมืองหาดใหญ่ ยังส่งผลให้อำเภอเมืองหาดใหญ่ ได้เป็นพื้นที่จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ตามนโยบายการขยายโอกาสทางการศึกษาของรัฐบาล กระแสหลักแห่งการพัฒนาที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม จนกระทั่งวิถีชีวิตของกลุ่มชาวจีนในหาดใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้กระบวนการหล่อหลอมความเป็นจีนสู่ความเป็นไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นจีนได้เจือจางลงอย่างมากจากรุ่นที่ 2 ถึงรุ่นที่ 3 ประกอบกับสภาวะแวดล้อมของเมืองหาดใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้กระแสเห่งความเจริญและทุนนิยม ค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวจีนฮากกาดั้งเดิมได้ถูกผสมผสานด้วยความเชื่อแบบไทย

เกรียงไกร นุกูลวุฒิโอภาส[9]ซึ่งเป็นที่ปรึกษาสมาคมฮากกาหาดใหญ่ได้กล่าวถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวจีนฮากกาในยุคนี้ สรุปได้ว่า ในสมัยนี้ ความเป็นจีนฮากกาและความเป็นไทยได้เกิดการผสมผสานขึ้นผ่านการแต่งงานกับคนไทย ระบบการศึกษาและบริบทต่างๆ มีผลให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมและสังคมระหว่างกัน ชาวจีนฮากกาเพื่อแสดงความจงรักภักดีที่ไม่แตกต่างไปจากคนไทยที่มีต่อรัฐไทย บรรดาลูกจีนฮากกาที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในเมืองหาดใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนจากความเป็นจีนฮากกาสู่ความเป็นไทยอย่างมาก ลูกจีนฮากกาเหมือนกับลูกจีนกลุ่มอื่น ๆ ต่างซึมซับและเรียนรู้ในวัฒนธรรมทั้งแบบจีนและแบบไทยผสมผสานควบคู่กันไปภายในครอบครัว ลูกจีนฮากกาต่างได้รับการเลี้ยงดูและเรียนรู้ในวัฒนธรรมประเพณีและธรรมเนียมแบบจีนฮากการวมทั้งการมีโอกาสติดตามไปเข้ารวมสังคมกับสมาคม และกลุ่มชาวจีนต่าง ๆ ในเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำปี ในขณะเดียวกัน วิถีชีวิตแบบชาวจีนฮากกาได้ดำเนินไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมแบบไทย เนื่องจากหาดใหญ่ได้เป็นเมืองที่มีการพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศภายใต้ระบบทุนนิยม โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง ชาวจีนฮากกาก็ได้เริ่มแสดงบทบาทด้านเศรษฐกิจการค้ามากขึ้น สังเกตได้จากค่านิยมการบริโภค ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นของชาวจีนฮากกา และเริ่มที่จะไปทำการค้าขายในตลาดกิมหยง ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญในเมืองหาดใหญ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะขายของต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ประเทศจีนและสิงคโปร์ ในช่วงระยะเวลาแรก พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮากกา เนื่องจากเจ้าของตลาด นายชีกิมหยง เป็นชาวจีนฮากกามาจากอำเภอเจียวหลิ่ง มณฑลกวางตุ้งด้วยกัน ดังนั้นได้ดึงดูดพวกพ้องที่เป็นชาวจีนฮากกาด้วยกันเข้ามาค้าขายในตลาดกิมหยง นอกจากนั้นแล้ว ชาวจีนฮากกายังได้สร้างโรงแรม ทำไร่ทำสวนยางพารา เปิดร้านอาหาร เปิดร้านตัดผ้า ทำธุรกิจต่าง ๆ อีกมากมาย

สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนชาวจีนส่วนที่เป็นผลกระทบจากอิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐบาล กลุ่มผู้นำและผู้อาวุโสในสมาคมหรือชุมชน จึงได้มีการประชุมหารือ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อร่วมกันคิดวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงจนมีความเห็นสรุปร่วมกันว่า ต้องมีการรื้อฟื้นถึงประวัติศาสตร์ ประเพณี พิธีกรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวจีนฮากกาไว้ คำนึงถึงความยากลำบากของคนรุ่นก่อนที่ต่อสู้ให้สมาคมยังคงเป็นสมาคมฮากกาหาดใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้โดยให้ผู้อาวุโสและผู้ใหญ่ของสมาคมได้ถ่ายทอดความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี ผ่านการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และให้ทุกครอบครัวที่ประกอบประเพณี พิธีกรรมต้องให้ลูกหลานเยาวชนคนหนุ่มคนสาวเข้าร่วมและปฏิบัติการประกอบพิธีกรรมทุกครั้งช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ชุมชนจีนฮากกาได้มีโอกาสกลับมาทบทวนตัวเองโดยได้มีการนำประสบการณ์เดิมความคิด ความเชื่อ และความรู้ภูมิปัญญาที่เป็นทุนเดิมของชุมชนจีนฮากกามาพูดคุยบนสถานการณ์ของกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่รวดเร็วและรุนแรงจากภายนอกสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นตัวเร่งของกระบวนการสร้างการเรียนรู้ การทบทวน เพื่อการปรับตัวของชุมชนเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงพลังของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาที่ยืนอยู่ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่ถูกรุมเร้าและต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกา

พลังที่มีและเกิดขึ้นมาจากฐานความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกายึดถือและปฏิบัติกันมาและเห็นพลังเหล่านี้ได้มีการสืบทอด เรียนรู้ ปฏิบัติการถ่ายทอดสู่ลูกสู่หลาน ซึ่งในสมาคมหรือชุมชนมีการประกอบประเพณีและพิธีกรรมตามความเชื่อต่างๆ ที่ปฏิบัติกันมารุ่นต่อรุ่นถึงแม้ว่าชุมชนจะอยู่ห่างไกลจากความเจริญทางด้านวัตถุขนาดไหนความเจริญจากภายนอกก็เข้าไปถึงทุกด้านของวิถีชีวิตแต่ถึงแม้ว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่เข้ามาจะมีผลกระทบกับชุมชนแต่ชาวจีนฮากกาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะมีกระบวนการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง มีการปรึกษาหารือ พูดคุยการตั้งรับสถานการณ์ เช่น ทุกครั้งที่มีการจัดประชุมสมาชิกสมาคมจะมีการพูดคุยกัน หรือมีการพูดคุยเมื่อทำพิธีกรรมต่างๆ เนื่องจากทุกคนจะไม่ไปทำงานต้องช่วยกันและเข้าร่วมทั้งชุมชนหรือเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องพึ่งพาผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ ผู้รู้ ผู้นำ สมาชิก และชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกามาร่วมกันพูดคุยหารือกันเป็นหลัก ส่วนการที่จะออกไปติดต่อประสานงานกับภายนอกนั้น มีการให้ผู้นำทางการและแกนนำที่พูดคุยเก่ง และได้รับการยอมรับในชุมชนออกไปติดต่อประสานงาน แต่ก่อนจะออกไปต้องมีการพูดคุยและสรุปร่วมกันก่อน รวมทั้งสมาคมฮากกาหาดใหญ่เองได้ร่วมกับพี่น้องสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทยและสมาคมฮากกาที่อยู่ข้างเคียงที่เป็นเผ่าเดียวกันรวมตัวกันเป็นเครือข่ายฯ และได้การพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอดจนร่วมกันคิดโดยที่ผู้นำสมาคม จะเป็นแกนหลักในการที่จะชวนพูดชวนคุยเพื่อฟื้นฟูความเชื่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาวจีนฮากกาในช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวจีนฮากกาในเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในช่วงที่ 3 จะเห็นได้ว่า สมาคมฮากกาหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่เป็นสมาคมที่มีทุนเดิมอยู่สูงมาก เช่น การมีกลุ่มผู้นำที่ยังคงอิงอยู่กับวัฒนธรรมเดิมของชนเผ่าที่ถือเป็นเสาหลักค้ำยันหลักในสมาคมและมีกลุ่มผู้อาวุโสของสมาคมที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเมืองหาดใหญ่ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงจะเข้ามาอย่างรวดเร็วและหลากหลายและมีผลกระทบต่อสมาคมทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งทางบวกและทางลบ สมาคมก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ในสมาคมได้มีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ การวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดกับสมาคมภายใต้ศักยภาพที่มีอยู่ ด้วยกระบวนการจัดการตนเองเพื่อการรักษาอัตลักษณ์ของผู้นำทั้ง 2 ส่วนที่มีความพยายามต่อสู้กับภายนอกในรูปการสร้างความภูมิใจโดยการฟื้นฟูประวัติศาสตร์การต่อสู้การประกอบประเพณีและพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวจีนฮากกา และมีการถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานเพื่อทำหน้าที่สืบทอดต่อนั้น สมาคมเน้นที่การทำความเข้าใจกันภายในสมาคม การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีผู้อาวุโสคอยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาตลอดเวลา

ดังนั้น อัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ในช่วงเวลานี้ จึงเป็นอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนกันสองยุคสองสมัย กล่าวคือ ประการแรก อัตลักษณ์แบบดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกา อันเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงออกทางวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมยังคงมีการสืบทอดกันอยู่ โดยมีการประกอบประเพณีพิธีกรรมตามความเชื่อ การนับถือเคารพและความสำคัญต่อผู้อาวุโสของชุมชนหรือสมาคมที่พยายามฟื้นฟูปลูกฝังระบบคุณค่า วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมให้กับลูกกับหลานให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญที่เป็นชาวจีนฮากกาประการที่สอง ในขณะที่ชุมชนถูกแรงกระแสทุนนิยมและวัตถุนิยมถาโถมอย่างรุนแรงลูกหลานต้องได้รับการศึกษาตามระบบการศึกษาสมัยใหม่อัตลักษณ์ที่แสดงออกจึงเป็นอัตลักษณ์สมัยนิยมทั้งนี้เพื่อให้ลูกหลานมีความรู้สึกความเป็นพวกเดียวกับสังคมใหม่ที่ทันสมัยเช่น ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในชุมชนหรือสมาคม นิยมหันมาฟังเพลงสตริงหรือร้องคาราโอเกะ และมีการแสดงรำโนราห์ของภาคใต้ในเทศกาลและกิจกรรมต่างๆ การมีบุคลิกแบบคนสมัยใหม่ การแต่งตัวเหมือนกับคนสมัยใหม่ ซึ่งในยุคนี้สมาคมฮากกาหาดใหญ่เปิดประตูรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกทุกสิ่งทุกอย่างที่ไหล่บ่าเข้าไปแบบไม่มีอะไรขวางกั้น

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในแต่ละช่วงเวลาที่เกิดขึ้นกับสมาคมหรือชุมชนจีนฮากกานั้นจะสังเกตเห็นได้ว่าพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงนั้น อัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนของชาวจีนฮากกาจะแตกต่างกันโดยช่วงที่ 1 วิถีชีวิตความเป็นอยู่จะเป็นแบบดั้งเดิม เป็นแบบวิถีชนเผ่าจีนฮากกาแบบบริสุทธิ์ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่ 1 ก่อนมีการขยายอำนาจจากรัฐ อัตลักษณ์ของชาวจีนฮากกาในช่วงนี้ จะแสดงออกในรูปของการช่วยเหลือแบ่งปันความเป็นเครือญาติ การเคารพผู้อาวุโสของชุมชนและครอบครัว การพูดคุยภาษาจีนฮากกาภายในสมาคมและครอบครัว การมีโลกทัศน์ที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้ากวนอูและเจ้าแม่กวนอิมเนี้ยซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ยังคงแสดงออกผ่านวัฒนธรรมประเพณีและพิธีกรรมได้อย่างเต็มที่ ในช่วงเวลาที่2 เป็นช่วงการขยายอำนาจการปกครองจากรัฐยุคนี้เป็นยุคที่ชุมชนจีนฮากกาถูกครอบงำทางความคิด ศักยภาพหรือจุดแข็งที่เป็นความรู้ และภูมิปัญญาของชุมชนไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมการพัฒนาที่หน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชนเข้ามาส่งเสริมและควบคุม ประกอบกับช่วงเวลานี้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ชาวจีนถูกระแวง รังแก และชิงชังจากรัฐบาลไทย และการอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งด้านความมั่นคงระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนอัตลักษณ์ของชุมชนจีนฮากกาในเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในช่วงเวลานี้จึงเป็นอัตลักษณ์ที่ประนีประนอมสามารถเพื่อให้เข้าได้กับทุกฝ่ายและเป็นอัตลักษณ์ที่ยังคงแสดงถึงความเป็นตัวตนของชาวจีนฮากกา โดยผ่านการแสดงออกด้าน วัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมเพื่อความเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน เพื่อให้ชุมชนอยู่รอดจากแรงกดดันจากภายนอก ช่วงเวลาที่ 3 เป็นช่วงที่ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกามีการปรับตัวและมีต่อสู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกในด้านการปรับตัว มีการรองรับวัฒนธรรมจีนพัฒนาควบคู่กับวัฒนธรรมไทย วิถีชีวิตมีทั้งแบบไทยและแบบจีนผสมผสานกัน มีกระบวนการสร้างอัตลักษณ์เพื่อสอดคล้องกันการพัฒนาและสภาพแวดล้อม ในด้านการต่อสู้ มีความพยายามต่อสู้ในรูปการสร้างความภูมิใจในความเป็นจีนฮากกา และฟื้นฟูประวัติศาสตร์การต่อสู้ การถ่ายทอดความเชื่อวัฒนธรรม ประเพณี และการประกอบพิธีกรรมให้แก่ลูก ๆ หลาน ๆ เพื่อสืบทอดอัตลักษณ์ชาวจีนฮากกา ในช่วงเวลานี้ถูกกระแสโลกาภิวัฒน์โหมกระหน่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนฮากกาได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและได้ลดบทบาทของสมาคม มูลนิธิและองกรค์จีนฮากกาต่าง ๆ ปัจจุบันมีเพียงแต่ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาผู้สูงอายุ ผู้นำและผู้ใหญ่ได้มีการส่วนร่วมในกิจกรรมหรือประเพณีพิธีกรรมต่างๆ สำหรับลูกหลานที่เป็นรุ่น 2 และรุ่นที่ 3 ของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกามีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือเกี่ยวข้องกับองค์กรและสมาคมฮากกาน้อยมากดังนั้นการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน และปกป้องดูแลซึ่งกันและกันตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมฮากกา โดยชาวจีนฮากการุ่นโพ้นทะเลในอดีตต่างหมดความจำเป็นสำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาปัจจุบัน เพราะชาวไทยเชื้อสายจีนฮากการุ่นปัจจุบันไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างหรือโดยเดี่ยวอ้างว้างเหมือนกับคนจีนรุ่นบรรพบุรุษที่ต้องพลัดบ้านเมืองมายังต่างแดน บทบาทและหน้าที่ของสมาคม มูลนิธิ และองค์กรของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาต่างๆ ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นกิจกรรมเพื่อมุ่งช่วยเหลือทางสังคม เช่น การให้ทุนการศึกษา การบริจาคเงินเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน การเข้าร่วมกิจกรรมตามเทศกาลและประเพณีกับคนไทย สมาคม องค์กรจีนต่างๆ และราชการไทย เป็นต้น ถึงแม้ว่าผู้นำสมาคมและองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาต่างๆ ได้มีชักชวนชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาให้มีการทบทวนตั้งสติด้วยการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ และถ่ายทอดสืบทอด ความเชื่อ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีและพิธีกรรมที่เป็นคุณค่า เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่งามของชนเผ่าจีนฮากกาให้แก่ลูกหลาน ในขณะเดียวกัน ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในรุ่นปัจจุบันต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่อัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในช่วงเวลานี้ จึงเป็นอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนระหว่างอัตลักษณ์แบบดั้งเดิมและแบบใหม่ คือ การแสดงออกโดยผ่านวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมของชาวจีนฮากกาที่ได้ดำเนินการตั้งแต่อดีตและมีการสร้างอัตลักษณ์แบบสมัยนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันกับสังคมสมัยใหม่ ทำให้อัตลักษณ์ในช่วงเวลานี้มีลักษณะที่ผสมผสานกัน

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในแต่ละช่วงเวลานั้นจะมีปัจจัยภายนอกเข้ามามีอิทธิพลต่อระบบความคิด และระบบโครงสร้างของชุมชนจีนฮากกาเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาที่เกิดจากกลไกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกลไกของรัฐ กลไกทางเศรษฐกิจ หรือกลไกทางอุดมการณ์ก็ตาม เมื่อเข้ามากระทบกับความเป็นชุมชนแล้ว จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้การดำรงชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาไม่เป็นปกติสุขผิดจากวิถีเดิม ๆ ที่สงบและเรียบง่ายให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างญาติมิตร ถ้าชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไม่มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา แน่นอนว่า ความเสื่อมสลายทางความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีก็ต้องเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเหลี่ยงได้ แต่ในกรณีของการปรับตัวของระบบภายในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาสามารถทำได้อย่างสอดคล้องและยืดหยุ่นกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างแนบเนียนถึงแม้ว่าบางกรณีบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะฝืนต่อความรู้สึกของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาเป็นอย่างมากไปบ้างก็ตาม แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาก็สามารถแสดงอัตลักษณ์ เผยให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของตนในแต่ละช่วงเวลา เพื่อที่จะแสดงศักยภาพในเรื่องสิทธิและอำนาจในการจัดการตนเองของชุมชนได้อย่างสอดคล้อง และสัมพันธ์กับการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนจีนฮากกาได้เป็นอย่างดี

[1] เสรี ลีลาสำราญ. (ผู้ให้สัมภาษณ์). หม่า กุ้ยทง. (Ma GuiTong) (ผู้สัมภาษณ์). ที่สมาคมฮากกาหาดใหญ่ 43 ถ.ชีอุทิศ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

[2] ศุภการ สิริไพศาล, อภิเชษฐ กาญจนดิฐ, พรชัย นาคสีทอง และสุมาลี ทองดี. (2548). ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชาวจีนเมืองหาดใหญ่จากอดีตถึงปัจจุบัน.หน้า 93-104.

[3] จำเริญ ชูชาติพงษ์. (ผู้ให้สัมภาษณ์). หม่า กุ้ย ทง. (Ma Gui Tong). (ผู้สัมภาษณ์).ที่บ้านเลขที่ 62 ถ.เสน่หานุสรณ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2552.

[4] เจริญชัย ชีวะศรีรุ่งเรือง. (ผู้ให้สัมภาษณ์). หม่า กุ้ย ทง. (MaGui Tong) (ผู้สัมภาษณ์).ที่บ้านเลขที่ 240/1 ถ.รัถการ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา . เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552.

[5] จิ้นเชียง แซ่ชี. (ผู้ให้สัมภาษณ์). หม่า กุ้ย ทง. (Ma GuiTong). (ผู้สัมภาษณ์).

ที่บ้านเลขที่19 ซ. 1 ถ.ฉัยยากุลอุทิศ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552.

[6] วิธาน ศรีกิติกุล. (ผู้ให้สัมภาษณ์). หม่า กุ้ย ทง. (Ma Gui Tong) (ผู้สัมภาษณ์),ที่บ้านเลขที่22/2 ถ.ละม้ายสงเคราะห์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552.

[7] สันติ บุญฑริกพรพันธ์. (ผู้ให้สัมภาษณ์). หม่า กุ้ย ทง. (MaGui Tong). (ผู้สัมภาษณ์).ที่บ้านเลขที่8-10 ถ.เชื่อมรัฐ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552.

[8] ศุภการ สิริไพศาล, อภิเชษฐ กาญจนดิฐ, พรชัย นาคสีทองและสุมาลี ทองดี. (2548). ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชาวจีนเมืองหาดใหญ่จากอดีตถึงปัจจุบัน.หน้า 93-104.

[9] เกรียงไกร นุกูลวุฒิโอภาส. (ผู้ให้สัมภาษณ์). หม่า กุ้ย ทง. (MaGui Tong) (ผู้สัมภาษณ์).ที่บ้านเลขที่ 108 ทุ่งเสา 1 อ.หาดใหญ่จ.สงขลา. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553.


 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal