หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

( คนฮากกาไม่ได้บ้าอยู่กลุ่มเดียวหรอก ) เซี่ยงไฮ้หวั่น 'ภาษาถิ่น' เลือนหาย กระตุ้นเด็กรุ่นใหม่ฟัง-พูดมากขึ้น

รูปภาพของ วี่ฟัด
ซั่งไห่ เดลี่ - เซี่ยงไฮ้กังวล “ภาษาถิ่น” จางหาย หลังเด็กรุ่นใหม่ฟัง-พูดได้น้อยลงเรื่อยๆ ด้านผู้เชี่ยวชาญแนะใช้คนรุ่นเก่ามาช่วยส่งต่อความรู้ก่อนสายเกิน

       

       สำนักงานสถิติแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ เปิดเผย (8 ก.พ.) ผลการสำรวจ “การใช้ภาษาถิ่น” ของชาวจีนในท้องถิ่น อายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 คน พบว่าส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาจีนแมนดาริน (Mandarin) หรือภาษาจีนกลางได้มากกว่าภาษาถิ่นเซี่ยงไฮ้ โดยภาษาจีนกลางกินสัดส่วน 97 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาษาถิ่นอยู่ที่ 81.4 เปอร์เซ็นต์

       

       นอกจากนั้นพบอีกว่าทักษะการฟังและพูดภาษาถิ่นของคนเซี่ยงไฮ้รุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น อยู่ในระดับย่ำแย่กว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กอายุระหว่าง 13-20 ปี ที่เกิดและเติบโตในเซี่ยงไฮ้ ทำคะแนนการฟังได้เพียง 3.9 จากคะแนนเต็ม 5 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกช่วงอายุอยู่ 0.4 คะแนน ด้านการพูดก็ทำคะแนนได้เพียง 3.1 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 4.1 แต่เกือบครึ่งหนึ่งสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ และราว 30 เปอร์เซ็นต์ สามารถพูดภาษาถิ่นอื่นๆ ได้ด้วย

       

       อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสำรวจ 86.7 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนให้อนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นและภาษาชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในจีนไว้ โดยร้อยละ 35.5 เต็มใจจะเรียนรู้และพัฒนาทักษะภาษาถิ่นของตนเอง ด้านกลุ่มที่อยากพัฒนาภาษาจีนกลางอยู่ที่ร้อยละ 28.9 และกลุ่มที่อยากพัฒนาภาษาอังกฤษอยู่ที่ร้อยละ 39.5

       

       ที่ผ่านมาทางการเซี่ยงไฮ้ได้ดำเนินมาตรการขยายการใช้งานภาษาถิ่นในหน่วยงานต่างๆ อาทิ จัดหาหนังสือเรียน เกมส์ เพลงที่เป็นภาษาถิ่นให้กับโรงเรียนอนุบาลและประถม ออกอากาศรายการโทรทัศน์และวิทยุ ตลอดจนประกาศเสียงตามสายบนรถโดยสารประจำทาง รถไฟใต้ดิน และโรงพยาบาลบางแห่งด้วยภาษาถิ่น

       

       ขณะที่คณะกรรมการการศึกษาแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ได้ยืนยันอีกเสียงว่าจะส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาท้องถิ่นในโรงเรียน โดยจัดให้เป็นภารกิจหลักประจำปี 2557 นี้

       

       “รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ควรจัดสอนวิชาภาษาถิ่นในโรงเรียนแห่งต่างๆ เพื่อเยียวยาสถานการณ์ปัจจุบันไม่ให้เลวร้ายกว่าเดิม” หลิว เหม่ย อาจารย์สอนภาษาถิ่นเซี่ยงไฮ้ประจำมหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) กล่าว

       

       “เนื่องจากคุณครูในเซี่ยงไฮ้ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนท้องถิ่น จึงบีบบังคับให้เด็กๆ ใช้ภาษาจีนกลางสื่อสารแทน ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าภาษาถิ่นเป็นเรื่องยากและไกลตัว … หากเด็กเล็กๆ พูดภาษาจีนกลางจนเคยชิน พวกเขาก็ไม่เต็มใจจะพูดภาษาถิ่นกับพ่อแม่อีก ส่วนพ่อแม่ที่มักใช้ภาษาจีนกลางในที่ทำงาน ก็มีแนวโน้มพูดภาษาจีนกลางกับที่บ้านมากกว่าด้วยเช่นกัน”

       

       ทั้งนี้หลิวมองว่า ทางการต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะคนใช้ภาษาถิ่นส่วนใหญ่อายุย่างเข้า 50-60 ปีแล้ว ซึ่งโรงเรียนอาจเลือกใช้คนกลุ่มนี้มาช่วยส่งต่อภาษาให้กับเด็กๆ

       

       “เมื่อคนรุ่นเก่าล้มหายตายจากไปหมด ก็จะไม่มีใครมาถ่ายทอดภาษาถิ่นให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป”

  From  http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9570000015877


รูปภาพของ วี่ฟัด

ภาษาเจ้อเจียง

            ภาษาเซี่ยงไฮ้อยู่ในกลุ่มสำเนียงภาษาเจ้อเจียงหรือที่เขาเรียกว่า " เจ้อเจียงฟางเหยียน " เป็นหนึ่งในเจ็ดของสำเนียงภาษาของกลุ่มชาวฮั่นซึ่งภาษาฮากกาของหง่อหมุ่น ( พวกเรา ) ก็เป็นหนึ่งในเจ็ดของฟางเหยียนกับเขาด้วยเหมือนกันเจ้าข้าเอ้ย จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกที่ในแต่ละฟางเหยียน ( สำเนียงภาษา ) ของตนของตนจะต้องลุกขึ้นมาเป่านกหวีด.......เอ้ย ลุกขึ้นมารักษาปกป้องฟางเหยียนของตนของตนนั้นแล

            ไหง่เคยไปเซี่ยงไฮ้มาครั้งหนึ่งเมื่อสักเจ็ดแปดปีมาแล้วโดยไม่ได้ไปทัวร์ ( ซื้อตั๋วเครื่องบินไปเอง ) จึงได้มีโอกาศคลุกคลีกับวิถีชีวิตของคนเซี่ยงไฮ้( ถ้าไปทัวร์จะไม่มีโอกาศแบบนี้ ) กล่าวคือต้องขึ้นรถเมล์รถไฟใต้ดินเอง จึงเคยได้ยินสำเนียงภาษาเจ้อเจียง สำเนียงภาษาเซี่ยงไฮ้ พอได้ยินครั้งแรกๆรู้สึกว่าสำเนียงภาษามันแปลกๆดี ฟังๆไปมันคล้ายๆภาษาญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน เช่นคำว่าฉัน หว่อ ภาษาเจ้อเจียงเขาพูดว่า อาลา

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal