หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

ไม่ง่ายที่ "เงินหยวน" จะได้ใจคนไทย

WM.ขออนุญาตนำข่าวสาร เกี่ยวกับสังคมโลกไทย-จีน ที่เขียนโดยพี่น้องชาวฮากกาผู้มีความสามารถ มาเผยแพร่กัน (และได้โอนชื่อเจ้าของบล๊อกนี้ให้ ดร.อักษรศรี เพื่อให้ท่านได้สิทธิในฐานะเจ้าของบล๊อกและสมาชิกชาวฮากกาด้วยแล้ว)

ไม่ง่ายที่ "เงินหยวน" จะได้ใจคนไทย

โดย ดร.อักษรศรี (อติสุธาโภชน์) พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คอลัมน์ “มองจีนมองไทย” กรุงเทพธุรกิจ 16สิงหาคม 2555

 

ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยมีการซื้อ-ขายเงินหยวนกับลูกค้า เพื่อชำระค่าสินค้าในรูปของเงินหยวน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.53 ของการชำระเงินไทย-จีนทั้งหมด

 

อีกประเด็นใหญ่เกี่ยวกับจีนและอยู่ในกระแสความสนใจของพี่น้องชาวไทย คงจะหนีไม่พ้นเรื่องเงินหยวน หรือ เหรินหมินปี้ (Renminbi) นักธุรกิจหลายท่านที่ดิฉันได้ไปพบเจอพูดคุยด้วยในหลายโอกาสก็มักจะยิงคำถามยอดฮิตทำนองว่า “เงินหยวนจีนกลายมาเป็นเงินสกุลหลักของโลกหรือยังค่ะ (ครับ) ”

จากปัจจัยเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนทำให้ดูเสมือนว่า น่าจะมีความเป็นไปได้สูงที่เงินหยวนจีนจะกลายเป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาคและของโลกตามไปด้วย โดยเฉพาะภาพลักษณ์ “จีนผงาด” ด้วยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดในโลก จีนมีขนาด GDP ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศผู้ส่งออกมากอันดับ 1 ของโลก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สภาพความเป็นจริงในขณะนี้ก็คือ เงินหยวนจีนยังมิได้ถูกนำมาใช้มากจนถึงขั้นได้รับการยอมรับให้เป็นเงินสกุลหลักของโลก แม้ว่าเริ่มจะมีสัดส่วนการใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นบ้างแล้วก็ตาม

นับตั้งแต่ปี 2008 รัฐบาลจีนได้ “เข็น”สารพัดมาตรการและนโยบายเพื่อผลักดันให้มีการหันมาใช้เงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศมากขึ้น โดยมีความใฝ่ฝันที่จะให้เงินหยวนของตนได้ผงาดกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลก แต่ภารกิจนี้ก็ไม่ง่ายดั่งใจมังกรจีนนะคะ

จากรายงานของธนาคารกลางจีน ในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ มีการใช้เงินหยวนเพื่อชำระค่าสินค้าคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.7 ของมูลค่าการค้าของจีน ซึ่งถือว่า ยังต่ำมาก แม้จะมีอัตราขยายตัวของการใช้เงินหยวนเพิ่มขึ้น

ลองมาดูกรณีการใช้เงินหยวนระหว่างไทย-จีนกันบ้าง พบว่า ในขณะนี้ นักธุรกิจไทยก็มิได้หันมาทำธุรกรรมการค้ากับจีนโดยใช้เงินหยวนมากนัก ทั้งๆ ที่ได้มีการส่งเสริมและผลักดันการใช้เงินหยวนในประเทศไทยทั้งในระดับรัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางของจีนได้ทำความตกลง Bilateral Currency Swap Agreement ในการแลกเปลี่ยนเงินสกุลหยวนและเงินบาท หรือเรียกย่อๆ ว่า การทำสวอปหยวน-บาท เป็นวงเงินถึง 70,000 ล้านหยวน ซึ่งมีการลงนามและมีผลตั้งแต่ครั้งที่ท่านสีจิ้นผิง ว่าที่ผู้นำจีนคนใหม่ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ด้วยความคาดหวังว่า การทำสวอปหยวน-บาทจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการใช้สกุลท้องถิ่นของกันและกันในการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งก็ได้หันมาเปิดให้บริการทางการเงินในรูปของเงินหยวนมากขึ้น ดังแสดงในรูป

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ การทำธุรกรรมด้วยเงินหยวนในประเทศไทยยังคงมีไม่มากเท่าที่ควร โดยดูได้จากตารางแสดงข้อมูลการซื้อ-ขายเงินหยวนของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2012) โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าในรูปของเงินหยวนมีมูลค่าเพียง 868 ล้านหยวน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.53 ของการชำระเงินไทย-จีนทั้งหมด

ในทัศนะของดิฉัน อุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นทำให้ยากที่เงินหยวนจีนจะเป็นที่นิยมหรือขยับขึ้นเป็นเงินสกุลหลักของโลก ก็คือ ข้อจำกัดในการควบคุมบัญชีทุน (Capital Account Control) ของรัฐบาลจีน เนื่องจากหน่วยงานจีนยังคงควบคุมการเคลื่อนย้ายของเงินทุนในระบบปริวรรตเงินตราของตนอย่างเข้มงวด

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลจีนไม่มีท่าทีที่จะขยับฐานะจากการเป็นสมาชิกไอเอ็มเอฟตามมาตรา 8 มาเป็นสมาชิกตามมาตรา 14 เนื่องจากตระหนักดีว่า หากจีนปรับสถานะมาเป็นสมาชิกไอเอ็มเอฟตามมาตรา 14 แล้ว ก็จะถูกกำหนดให้ต้องเปิดตลาดเสรีโดยการลดการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเงินทุน เราต้องไม่ลืมว่า ประเทศยักษ์ใหญ่รายนี้เขาให้ความสำคัญกับการเน้น“รักษาเสถียรภาพ” เป็นอย่างมาก และลึกๆ แล้วรัฐบาลจีนคงจะกังวลว่า หากเปิดเสรีในด้านนี้อาจจะเกิดปัญหาฯ ตามมาเหมือนกับที่เคยเกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในภูมิภาคก็เป็นได้

ดังนั้น ตราบเท่าที่ยังคงมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายบัญชีทุน ก็จะไม่ง่ายเลยที่จะนำเงินทุนไหลเข้า-ไหลออกจากแดนมังกร เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขหลายประการ ส่งผลต่อเนื่องทำให้ตลาดเงินหยวนยังคงค่อนข้างแคบและจำกัด และเงินหยวนไม่อาจจะแลกเป็นเงินสกุลอื่นได้อย่างสะดวก (not fully convertible) สภาพคล่องเงินหยวนต่ำ ทำให้ในขณะนี้ ต้นทุนการทำธุรกรรมเงินหยวนยังคงสูงอยู่

นอกจากนี้ แม้ว่าทางการจีนจะเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการค้าการลงทุนในรูปของเงินหยวนมากขึ้นก็ตาม แต่เครื่องมือทางการเงินในรูปเงินหยวนในตลาดยังไม่เพียงพอ ยังคงมีปัญหาในการบริหารสภาพคล่องของสถาบันการเงินต่างประเทศที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารพาณิชย์จีน เป็นต้น

ในกรณีของไทยก็เช่นกัน เนื่องด้วยปัญหาสภาพคล่องเงินหยวนต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยังคงมีต้นทุน bid-ask spread สูงในการถือเงินหยวน รวมทั้งมีอุปสรรคอื่นๆ ในการใช้เงินหยวนสำหรับคนไทย จากรายงานผลการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับบทบาทเงินหยวนต่อการค้าไทย โดยคุณพัฒนพงษ์ ภู่สุวรรณ เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้ากับหลายประเทศมักจะนิยมใช้บัญชีในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐมากกว่า และธุรกิจบางด้าน เช่น การขนส่งโลจิสติกส์ (ทางอากาศ และทางทะเล) หรือการส่งสินค้าให้กับบริษัทในเครือเดียวกันก็มักจะกำหนดราคาในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก

รวมทั้งเหตุผลอื่นๆ เช่น การกำหนดราคาเป็นเงินสกุลหยวนจะทำให้พ่อค้าจีนได้รับประโยชน์มากกว่าไทย เป็นต้น การค้าไทย-จีนส่วนใหญ่จึงยังคงใช้เงินสกุลดอลลาร์เป็นหลักมากกว่าจะใช้เงินหยวน นอกจากนี้ หากจะใช้เงินหยวนในการชำระเงินค่าสินค้าระหว่างไทย-จีนก็มักจะกระทำผ่าน “ตลาดนอกระบบ” หรือที่เรียกกันว่า “โพยก๊วน” เนื่องจากมีความคล่องตัวสูงและมีต้นทุนต่ำกว่าในระบบ

โดยสรุป ในขณะนี้ เงินหยวนจีนยังคงไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักธุรกิจไทย ที่สำคัญ ภารกิจของรัฐบาลจีนในการผลักดันเงินหยวนให้เป็นเงินสกุลหลักของโลกก็ไม่ง่ายดาย เปรียบเสมือนเป็นการ “เข็นหยวนขึ้นภูเขา” เพราะถ้าจะให้เงินหยวนของตนได้มีการใช้อย่างแพร่หลายและยกระดับเป็นเงินสกุลสากล ก็ย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทางการจีนจะต้องผ่อนคลายหรือยกเลิก “การควบคุมบัญชีทุน” อย่างแท้จริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสกุลเงินหยวนว่า จะสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นได้อย่างสะดวก (fully convertible) ซึ่งเป็นคุณลักษณะจำเป็นและสำคัญของการเป็นเงินสกุลหลักของโลกนั่นเอง

ตารางแสดงการใช้เงินหยวนในประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ซื้อ-ขายกับลูกค้า

เป้าหมายในการใช้เงินหยวน

มค-ธค.2011

ม.ค.-พ.ค.2012

ค่าสินค้า 639.36 868.55
เงินทุน 32,002.35 32,750.65
เงินลงทุนในหลักทรัพย์ 22,363.61 19,319.55
ลงทุนในธุรกิจในเครือ/สาขา 237.17 25.85
เงินกู้ยืม 259.83 252.00
เงินทุนอื่นๆ 9,141.75 13,153.25
บริการ รายได้ และเงินโอนและบริจาค 61.18 41.32
บุคคลรับอนุญาต 22.71 10.20
บริการ รายได้และเงินโอนและบริจาคอื่นๆ 38.47 31.12
อื่นๆ 149.38 160.77
รวมทั้งหมด 32,852.26 33,821.29

หน่วย : ล้านหยวน   ที่มาธนาคารแห่งประเทศไทย, มิถุนายน 2012


รูปภาพของ วี่ฟัด

ไหง่ติดตามผลงานของอาจารย์มานานแล้วครับ

เห็นใหมครับในแวดวงสังคมไทยมีคนฮากกาเก่งๆที่มีบทบาทในแวดวงการต่างๆอยู่มากมาย อาจารย์ดอกเตอร์อักษรศรี (อติสุธาโภชน์) พานิชสาส์น เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ร้อนแรงสุดๆ อาจารย์จึงมีงานเขียนบทความ เขียนหนังสือ งานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนอยู่มากมาย 

ไหง่ติดตามอ่านงานเขียนของอาจารย์ในกรุงเทพธุรกิจมานาน และยังซื้อหนังสือเรื่องการลงทุนทำธุรกิจในประเทศจีนของอาจารย์ เพราะไหง่สนใจเรื่องจีนเป็นพิเศษ เพิ่งทราบว่าอาจารย์ก็เป็นคนฮากกาด้วย ทำให้ไหง่ปราบปลื้มมากเข้าไปอีก น่านับถือครับ คนฮากกาเก่งๆอย่างนี้ครับ

ได้ทราบมาว่าอาจารย์เป็นคนจังหวัดพังงา บ้านเดียวกับอาโกวีรพนธ์ด้วยครับ 

รูปภาพของ YupSinFa

ค่าของเงินหยวน

 

อ่านบทความนี้แล้ว มีความรู้สึกดีใจขึ้นมา เมื่อได้รู้ว่าหนึ่งในบรรดานักวิชาการที่มีคุณภาพระดับประเทศ อย่างด๊อกเตอร์อักษรศรี พานิชสาส์น เป็นชาวไทยเชื้อสายฮากกา

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ไหง่ได้ไปบรรยายรับใช้สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงรย ได้รู้จักกับ รองศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไหง่ได้มอบชาผูเอ่อร์ให้ท่านเป็นที่ระลึก จากผูเอ่อร์ 8 ปีเพียงก้อนเดียว กลับกลายเป็นว่าไหงได้รับของขวัญจากด๊อกเตอร์สุจิตราเป็นของที่ระลึกจากสถาบันไทยศึกษา และหนังสือที่มีคุณค่าอีกตั้้งใหญ่ ๆ อันนี้เป็นผลโดยตรงทางด้านเชื้อชาติ-เ้ผ่าพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกัน อย่างแท้จริง

           เมื่อท่านอาจารย์สุจิตรา ทราบว่าไหงเป็นชาวฮากกา เธอดีใจมาก จากความที่รู้สึกเกรงใจกัน เปลี่ยนมาเป็นความสนิทสนมคุ้นเคยกัน อย่างประหลาด

          
ด๊อกเตอร์สุจิตรา เธอบอกกับไหง่ว่า ภายในรั้งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ นั้น มีคณาจารย์มากมายหลายท่านที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกา 

อย่างนี้จึีงเป็นเครื่องตอกย้ำว่า ชาวฮากกาเรานั้นนิยมที่จะเป็นนักวิชาการ อย่างไม่ต้องสงสัย

          
กลับมาที่บทความของท่านอาจารย์ด๊อกเตอร์อักษรศรี ท่านรายงานถึงภาวะการณ์ของเงินหยวนในตลาดการค้าระหว่างประเทศ ที่อาจารย์บอกว่านักธุรกิจการค้าระหว่างไทย-จีน นั้น นิยมการชำระเงินในสกุลเงินหยวน ในรูปแบบของ "โพยก้วน" นั้น ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง

          
ไหงคลุกคลีตีโมงอยู่กับเพื่อนนักธุรกิจชาวจีนในเชียงใหม่-เชียงราย รู้ดีว่าพวกเราล้วนใช้เงินหยวนผ่านการโอนแบบโพยก้วน หรือไม่ก็เรานิยมแลกเงินกันแบบ "ตัวต่อตัว" ด้วยเงินบาท-หยวน หยวน-บาท มาอย่างนี้นานมาแล้ว

           
พวกเราไม่่ค่อยนิยมแลกผ่านธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากจะเสียเปรียบในด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเงินสดต่อเงินสด และถึงแม้จะแลกด้วยการผ่านบัญชี ซึ่งจะได้ค่าเงินบาทที่สูงขึ้นมาอีกหน่อย แต่ก็ยังไม่คุ้มที่พวกเราจะแลกเงินต่อเงิน ด้วยกันเอง อยู่ดี

           
ที่แย่กว่านี้อีกนิด ก็คือเราจะแลกที่เคาน์เตอร์ของเอกชนที่จดทะเบียนขออนุญาตเปิดธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งที่เชียงใหม่มีกิจการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เปิดมาอย่างยาวนานและเป็นที่นิยมของนักธุรกิจ-พ่อค้าและนักท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ในวงกว้าง นั้น เจ้าของกิจการนี้เป็นชาวฮากกาเช่นกัน

           
บางทีเราเอาเงินกับเงินมาแลกกันเอง กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในราคาดุลยภาพ คือ เป็นความพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือเขาก็พอใจ เราก็พอใจ

           
เราไม่นิยมเอาเงินบาทไปซื้อดอลล่าร์สหรัฐแล้วต้องเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐเป็นเงินหยวน หรือเอาเงินหยวนไปซื้อเป็นดอลล่าร์แล้วเอาดอลล่าร์มาขายเป็นเงินบาท อย่างนี้นักธุรกิจหรือพ่อค้ากับพ่อค้า ไม่นิยมทำกันเลยครับ

           
ด้านนโยบายที่จีนจะให้เงินหยวนของตนเองเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกนั้น ท่านอาจารย์ด๊อกเตอร์อักษรศรี เธอพูดถูกครับ ว่าจีนนั้น เขาสงวนท่าทีและรักษาเสถียรภาพให้ค่าเงินหยวนมีความมั่นคง อันนี้เป็นเรื่องจริง และที่ผ่านมาจีนถูกสหรัฐทั้งบีบ ทั้งอ้อนวอนให้จีนลดค่าเงินหยวนเพื่อที่จะให้ค่าเงินดอลล่าร์มีความแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากประเทศจีนมีเงินทุนสำรองเป็นดอลล่าร์สหรัฐมากที่สุดในโลก

          
ในเวลานี้ สหรัฐอเมริกา เป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ได้อย่างไม่จำกัดโดยที่เงินธนบัตรจะไม่กลายเป็นแบงก์กงเต๊ก อันนี้เนื่องจากเงินดอลล่าร์สหรัฐเป็นเงินสกุลกลางของโลกนั่นเอง

          
เงินหยวนคงไม่ได้ใจคนไทยอย่างที่ด๊อกเตอร์อักษรศรีเธอว่าจริง ๆ ครับ แต่ในระดับพื้นล่างด้านการค้าขายชายแดน หรือในระหว่างพ่อค้าไทย-จีน นั้น เราชอบเงินหยวนมากกว่าดอลล่าร์ ครับ นี้คือประสบการณ์จริง ของคนกลางที่สัมผัสกับนักธุรกิจไทย-จีน ในระดับเมือง(เชียงใหม่-เชียงราย)กับมณฑลหยุนหนาน และประเทศจีน 

           
ในประเทศลาวก็เช่นกัน ถึุงแม้ว่าในประเทศลาวเราจะสามารถใช้เงินบาท และเงินหยวนได้ แต่ในท้องตลาดทั่วไป หากเราเอาเงินบาทชำระค่าสินค้าหรือบริการ จะรู้ว่ามูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เราจ่ายไปนั้น สูงกว่า มูลค่าที่เราจะชำระเป็นเงินกีบ ทั้งนี้ เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลลาวที่ปลูกฝังให้ประชาชนของเขาใช้เงินกีบโดยที่ไม่หันไปใช้เงินหยวน หรือเงินบาท เป็นหลัก ซึ่งก็ได้ผลครับ คือถ้าเราแลกเงินบาทหรือเงินหยวนเป็นเงินกีบ การจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ จะเป็นราคามาตรฐาน ถ้าเราจ่ายเงินบาท จะรู้สึีกว่ามูลค่ามันสูงขึ้นเกินจริง ราว ๆ ยี่สิบเปอร์เซ็นต์

           
แต่ถ้าเราเอาเงินหยวนจ่าย จะพบว่า มูลค่าสินค้าหรือบริการนั้น ถูกลงกว่ามาตรฐาน ราวสิบเปอร์เซ็นต์ โดยประมาณ แต่ก็อย่างที่ได้เคยใช้ครับ เรามักจะรู้สึกรำคาญหรือไม่คุ้นชินกับการคิดอัตราแลกเปลี่ยนในใจ ระหว่้างเงินบาทกับเงินกีบ เพราะว่าประเทศลาวนั้นพิมพ์ธนบัตรเป็นมูลค่า หนึ่งพันกีบ ขึ้นไปราคาสินค้า หรือบริการ จึงคิดเป็น สิบพันกีบ สิบหมื่นกีบ สิบแสนกีบ ฯลฯ คนไทยเจอเข้าไปอย่้างนี้ก็มึนเหมือนกัน ดังนั้นถ้าเราจ่ายเงินบาทพี่น้องในลาวจึงปัดเศษขึ้นเพื่อให้เกิดความสะดวกในการบอกมูลค่าเป็นเงินบาท ประมาณนี้ครับ

           
กลับมาถึงเรื่องเงินหยวนต่อนะครับ ตามความคิดเห็น(ส่วนตัวนะครับ-กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงเพราะว่ามันอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้) ของไหง่ ไหง่ว่า รัฐบาลจีนเขาฉลาดนะครับ นโยบายด้านการเงินต่างประเทศ เขาไม่สร้างให้เงินหยวนเป็นเงินตราสกุลหลักของโลก หรอกครับ เพราะถ้าทำอย่างนั้น ก็เท่ากับเป็นการเข็นหยวนขึ้นภูเขาจริง ๆ เขาอยากทำให้เสถียรภาพของบัญชีทุน อย่างที่ท่านอาจารย์อักษรศรีว่าไว้ จีนเขาอยากให้บัญชีทุนของตนมีความเสถียรภาพมากกว่า 

           
เป็นอย่างนี้ อีกไม่เกินสิบปีครับ พี่น้อง ไหงว่า เราจะเห็นจีน เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การค้า เงินทุน และทางการเงิน อย่างแน่นอน เพราะถนนทุกสายมุ่งไปที่จีน เราจึงจำเป็นที่จะต้องใช้เงินหยวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชากรเขามีมากที่สุดในโลก คน 1,350 ล้านคน เขาไม่รับเงินตราสกุลอื่น นอกจากเงินหยวนของเขาเอง

           
อันนี้แหละครับ เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า อเมริกากำลังกระเสือกกระสนดิ้นรนที่จะต้องเข้ามามีอำนาจถ่วงดุลกับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน โดยมีญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เป็นลูกกระต๊อก พ่วงด้วยฟิลิบปินส์ โดยมีเวียตนามแอบเชียร์อยู่ในใจ(เพราะเป็นประเทศคู่กรณีในปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์) 

          
ออกความเห็นเรื่องการเงินกลายเป็นจบด้วยการเมืองระหว่างประเทศไปได้ อย่าถือสานะครับเป็นความเห็นส่วนต้วที่ไม่สามารถเชื่อถือไ้ด้เท่านั้นเอง

 

 

 

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal