หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

ความเป็นมาภาษาจีน ในยุคสมัยของเรา

รูปภาพของ วรศักดิ์

ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา

 กถาเปิด
ยุคสมัยของเราเป็นยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงเต็มไปด้วยแรงเหวี่ยงที่ทั้งแรงและเร็ว จนกระทั่งเชื่อกันว่า ใครที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจจะตกยุคตกสมัย หรืออาจแม้แต่ตกเป็นเหยื่อเอาเลยก็ว่าได้ ในบรรดาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่แรงและเร็ว มักจะมีภาษาจีนอยู่เป็นส่วนหนึ่งเสมอ ทุกวันนี้เรื่องของภาษาจีน มักจะเป็นหัวข้อที่ขาดไม่ได้ สำหรับวงอภิปรายหรือสนทนาของหลายวงการ แต่ละวงก็มีตั้งแต่หน่วยสังคมที่เล็กที่ในระดับครอบครัว จนถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุดคือระดับชาติ

ทำไมภาษาจีนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย? คำถามนี้แทบจะไม่ต้องตอบกันก็ว่าได้ เพราะลำพังปรากฏการณ์การดำรงอยู่ของชาวจีนโพ้นทะเลในสังคมไทย เพียงเรื่องเดียว ก็สามารถตอบคำถามที่ว่าได้อย่างยาวเหยียด แต่ถ้าถามใหม่ว่า ฐานะของภาษาจีนในสังคมไทยเป็นอย่างไร จากอดีตจนถึงยุคสมัยของเราแล้ว คำตอบอาจแตกประเด็นไปได้มากมาย ที่แน่ๆ คือ ไม่มีใครที่มองไม่เห็นความสำคัญของภาษาจีนอีกต่อไป

ดังนั้น หากจะกล่าวถึงภาษาจีนในยุคสมัยของเราแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องชี้ให้เห็นถึงฐานะของภาษาจีนในสังคมไทยอย่างเป็นด้านหลัก เพราะนั่นคือวิธีหนึ่ง (จากหลายๆ วิธี) ที่จะเข้าใจสภาพการดำรงอยู่ของภาษาจีนในสังคมไทยได้ดีขึ้น หรือเป็นระบบขึ้น ความเข้าใจนี้บางทีอาจช่วยให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และทิศทางที่พึงประสงค์ของภาษาจีนได้ชัดขึ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยของเรา

ภาษาจีนในยุคสมัยแรก
ไทยกับจีนมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาช้านานแล้ว มีหลักฐานที่ค้นพบใหม่ๆ ในหลายที่ซึ่งสามารถย้อนกลับไปได้นับพันปี แต่กระนั้น หากกล่าวในแง่ของความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว มีหลักฐานชัดเจนว่า มีมาตั้งแต่สมัยที่รัฐสุโขทัยเรืองอำนาจเรื่อยมา จนถึงสมัยรัฐอยุธยา และรัฐกรุงเทพฯ เรืองอำนาจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ย่อมมีการติดต่อกันไปมาระหว่างจีนและไทย โดยเฉพาะการเข้ามายังไทยของชาวจีนที่มีตั้งแต่ตัวแทนทางการทูต เจ้าหน้าที่ประจำเรือสำเภา ที่มีตำแหน่งแตกต่างกันไปนับสิบตำแหน่ง รวมทั้งผู้ที่เป็นลูกเรือระดับล่าง ฯลฯ แม้เราจะไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง แต่ก็มีหลักฐานว่า ชาวจีนเหล่านี้มีจำนวนมาก ขนาดที่สามารถตั้งชุมชนอยู่กันในหมู่ตนเอง โดยเฉพาะที่อยุธยา

การเข้ามาของชาวจีนดังกล่าว ย่อมมีการนำภาษาจีนเข้ามาใช้ด้วยเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่น่าไปไกลถึงขั้นมีการสอนภาษาจีนกันขึ้น (อย่างน้อยก็ไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นเช่นนั้น) อิทธิพลของภาษา จีนในขณะนั้น จึงไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่ไทยเรา จำต้องทับศัพท์คำจีนบางคำ มาใช้ในชีวิตประจำ วันไปด้วย อย่างเช่นคำว่า “อับเฉา” (ของที่มีน้ำหนักมากสำหรับไว้ในท้องเรือสำเภา เพื่อถ่วงไม่ให้เรือโคลงเวลาแล่น ส่วนใหญ่มักเป็นตุ๊กตาหินจีน) หรือชื่อตำแหน่งต่างๆ ของเจ้าหน้าที่เรือสำเภาอย่างเช่น ไต้ก๋ง เป็นต้น คำจีนทำนองนี้มีอยู่หลายคำ จนบางคำชาวไทยเราเองอาจไม่รู้ว่ามีที่มาจากคำจีน เพราะฟังดูแล้วเหมือนเป็นภาษาไทย อย่างเช่นคำว่า “จันอับ” อันเป็นขนมประเภทหนึ่งของจีน ที่นิยมใส่กล่องให้เป็นของกำนัล เป็นต้น

การปรากฏและดำรงอยู่ของภาษาจีนดังกล่าว คงไม่ได้เป็นไปอย่างเป็นทางการมากนัก ที่สำคัญก็คือว่า คำจีนเหล่านี้ไม่ได้ออกเสียงด้วยภาษาจีนกลาง แต่ออกเสียงโดยขึ้นอยู่กับชาวจีนที่นำภาษาจีนเข้ามาใช้ในไทย ว่าจะใช้ภาษาจีนสำเนียงไหน หรือท้องถิ่นไหน การที่ภาษาจีนไม่ได้ถูกใช้เป็นภาษาจีนกลางนี้ ต่อมาจะส่งผลต่อการใช้ภาษาจีนในไทยอยู่พอสมควร (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

อย่างไรก็ตาม ภาษาจีนได้ถูกนำมาสอนในสังคมไทยก็ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือในสมัยกรุงเทพฯ โดยหลักฐานระบุแต่เพียงว่า มีการสอนกันที่ “เกาะเรียน” จังหวัดอยุธยา ซึ่งก็ไม่มีใครทราบว่าตั้งอยู่ที่ไหนในอยุธยา และสอนกันอย่างไร หรือสอนด้วยภาษาจีนกลางหรือภาษาจีนท้องถิ่น หรือใครคือผู้เรียน แต่การที่เกิดการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นมานี้ สามารถชี้ให้เห็นในระดับหนึ่งว่า ชาวจีน (ไม่น่าจะมีชาวไทยรวมอยู่ด้วย) เริ่มคิดแล้วว่า ภาษาจีนมีความจำเป็นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารในหมู่ชาวจีนด้วยกันเอง หรือไม่ก็ให้ลูกหลานจีน สามารถสืบทอดวัฒนธรรมจีนต่อไปได้ เพราะภาษาเป็นหัวใจในการสืบทอดที่สำคัญ ไม่ว่าจะในสังคมไหนก็ตาม

การที่เกิดการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นในสังคมไทยดังกล่าว น่าเชื่อว่า เป้าหมายหลักคงอยู่ที่คนที่เป็นลูกหลานจีนเสียมากกว่า ด้วยว่าในสมัยต่อๆ มา คือ สมัยรัชกาลที่ 3 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 นั้น ชาวจีนเริ่มที่จะลงหลักปักฐานอยู่ในไทยแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ลูกหลานจีนจึงเกิดตามมา ถึงตอนนี้หากชาวจีนต้องการที่จะให้ลูกหลานของตน สืบทอดวัฒนธรรมจีนต่อไป ชาวจีนก็มีทางเลือกให้แก่ตนอยู่ 2-3 ทางต่อไปนี้

หนึ่ง ส่งลูกหลานของตนกลับไปเรียนภาษาจีนที่เมืองจีน ในกรณีนี้ชาวจีนผู้นั้นคงต้องมีฐานะดีพอสมควร หรือไม่ก็ต้องเก็บหอมรอมริบนานไม่น้อย จึงจะทำได้ สอง ส่งเสียให้ลูกหลานของตนเรียนภาษาจีนในเมืองไทย ในกรณีนี้หมายความว่า จะต้องมีการเปิดสถานศึกษาขึ้นมาในเมืองไทย รูปแบบของสถานศึกษาจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และสาม ปล่อยลูกหลานของตนไปตามบุญตามกรรม หรือตามฐานะที่เป็นจริง ในกรณีนี้ปรากฏว่า มีลูกหลานจีนจำนวนไม่น้อยที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แน่นอนว่า ประเด็นของเราอยู่ตรงทางเลือกที่สอง นั่นคือ ในที่สุดสถานศึกษาที่สอนภาษาจีนก็มีขึ้นมาในเมืองไทย

กล่าวกันว่า แรกเริ่มที่มีสถานศึกษาสอนภาษาจีนนั้น รูปแบบโดยมากมักเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ คือชาวจีนร่วมกันจ้างครูจีนมาสอน และที่ว่าร่วมกันนั้นคือ ร่วมกันโดยกระจายออกไปตามกลุ่มสำเนียงพูดของภาษาถิ่นเสียมากกว่า สำเนียงพูดที่ว่าคือ สำเนียงจีนแต้จิ๋ว (เฉาโจว) จีนกวางตุ้ง (กว่างตง) จีนฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) จีนฮากกาหรือจีนแคะ (เค่อเจีย) และจีนไหหลำ (ไห่หนาน) ทั้งนี้จีนแต้จิ๋วเป็นสำเนียงพูดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนที่จะมีการสอนด้วยสำเนียงจีนกลางนั้นหาน้อยมาก

สถานศึกษาในรูปแบบที่เป็นทางการนี้ ต่อมาได้ขยายตัวเติบใหญ่ขึ้น จนสามารถตั้งเป็นโรงเรียนที่รับนักเรียนได้เป็นจำนวนมากๆ ที่น่าสนใจก็คือว่า โรงเรียนเหล่านี้ต่างก็สอนวิชาต่างๆ ด้วยภาษาจีนทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้หากกล่าวเฉพาะคุณภาพของภาษาแล้ว ก็ย่อมจัดอยู่ในระดับที่น่าพอใจไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ หากเราเข้าใจว่าโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบัน คือโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาต่างชาติ (โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ) แล้ว โรงเรียนจีนเหล่านี้ ก็น่าจะถูกจัดเป็นโรงเรียนนานาชาติกลุ่มแรกในไทยก็ว่าได้

โรงเรียนจีนเหล่านี้คงเปิดสอนเป็นปกติเรื่อยมา ตราบจนสมัยรัชกาลที่ 6 สัญญาณการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น โดยในรัชสมัยนี้รัฐบาลไทย ได้ให้โรงเรียนจีนไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายแก่การควบคุม แน่นอนว่า แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วสิ่งที่รัฐบาลไทยทำนั้น เป็นการจัดระเบียบ ซึ่งที่ไหนๆ ก็ทำกันโดยทั่วไป แต่ในกรณีโรงเรียนจีนนี้ มีเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงเข้ามาพัวพันอยู่ด้วย เพราะเวลานั้นชาวจีนในไทยกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปมีบทบาททางการเมือง ด้วยการสนับสนุนการปฏิวัติสาธารณรัฐในจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่า การเมืองในลักษณะที่ว่านี้มีอุดมการณ์ต่างกับอุดมการณ์ของรัฐไทย ที่ในขณะนั้น ยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ดังนั้น จึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้นำรัฐบาล (ไม่ว่าชาติไหน) ย่อมหาทางควบคุมหรือไม่ก็ปราบปราม

ควรกล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ดี หรือการขยายตัวของชาวจีนก็ดี รัฐบาลในขณะนั้นพยายามหาหนทางในการจัดการหลายทางด้วยกัน มีทางหนึ่งที่เสนอโดยกรมหลวง เทววงศ์วโรปการ (พระยศในขณะนั้น) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งว่า หากจะจัดการกับชาวจีนให้ได้ผลแล้ว หนทางที่ดีที่สุดก็คือ การทำให้ชาวจีนถูกตัดขาดจากภาษาจีน จะเห็นได้ว่า หนทางนี้เป็นหนทางที่มองว่า ภาษาคือพลังสำคัญที่จะทำให้วัฒนธรรมจีน (หรือวัฒนธรรมอื่นใดก็ตาม) สามารถสืบทอดต่อไปได้ แต่กระนั้น หนทางนี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้อยู่ดี และกว่าจะมีการนำมาใช้เวลาก็ล่วงเลยอีกนับสิบปีต่อมา

ด้วยเหตุนี้ แม้จะถูกจัดระเบียบแล้วก็ตาม โรงเรียนจีนเหล่านี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบในด้านหลักสูตรที่ใช้สอนอยู่แต่อย่างใด ที่เคยสอนกันมาอย่างไร ก็ยังคงเป็นไปตามนั้น ตราบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นใน ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ฐานะของภาษาจีน จึงถูกสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ภาษาจีนในยุคสมัยแห่งความยุ่งยาก
ยุคสมัยแห่งความยุ่งยากนี้ เป็นผลจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกโดยแท้ กล่าวคือ เป็นผลจากการที่ได้เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา อุดมการณ์เหล่านี้ในด้านหนึ่งเกิดขึ้น เพราะต้องการจะตอบโจทย์การพัฒนาของแต่ละประเทศ อุดมการณ์ที่เด่นๆ เหล่านี้ก็เช่น อุดมการณ์เผด็จการหรือฟาสซิสต์ อุดมการณ์ประชาธิปไตย และอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์เหล่านี้มีผลในการท้าทายอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตยโดยตรง

ไทยเราเองก็หนีไม่พ้นการท้าทายดังกล่าว และผลก็เป็นดังที่เรารู้กัน นั่นคือ สังคมไทยถูกเลือกให้ใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ผ่านการปฏิวัติในปี ค.ศ.1932 แต่ก็เช่นเดียวกับการปฏิวัติในที่อื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น การแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจ ระหว่างผู้นำในระบอบเก่ากับระบอบใหม่ หรือระหว่างผู้นำในระบอบใหม่ด้วยกันเอง เป็นสิ่งที่ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ดูจะพิเศษไปกว่าในที่อื่นๆ ก็ตรงที่ว่า กรณีของไทยนั้นยังได้พ่วงเอาบทบาทของชาวจีนเข้ามาด้วย

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ในที่นี้จะขอแบ่งอธิบายความยุ่งยากในยุคสมัยนี้ ผ่านสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ดังนี้

- หนึ่ง สังคมไทยต้องเผชิญกับการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์จีนในไทย ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม โดยเนื้อหาทางอุดมการณ์แล้วย่อมไปด้วยกันไม่ได้กับสังคมไทยโดยพื้นฐาน การเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นนับแต่ที่จีน ได้มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นใน ค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) ดังนั้น รัฐบาลไทยทั้งก่อนและหลัง การปฏิวัติ ค.ศ.1932 จึงย่อมถือเป็นปฏิปักษ์ไปโดยอัตโนมัติ

- สอง โดยเฉพาะช่วงกลางทศวรรษ 1920 เรื่อยมา ญี่ปุ่นได้กระทำการคุกคามจีนรุนแรงขึ้น ในกรณีนี้ได้ส่งผลให้ชาวจีนในไทย เกิดความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมาด้วย และผลก็คือ ชาวจีนในไทยได้รวมตัวกันจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมา การต่อต้านนี้ แสดงออกหลายด้านด้วยกัน เช่น ให้พ่อค้าจีนในไทยยุติการทำการค้ากับญี่ปุ่น ต่อต้านหรือทำร้ายชาวญี่ปุ่นในไทย ทำร้ายหรือเข่นฆ่าพ่อค้าที่เป็นชาวจีนด้วยกันเอง ที่ยังคงทำการค้ากับญี่ปุ่นโดยไม่ฟังคำเตือนของขบวนการ ฯลฯ การต่อต้านญี่ปุ่นยังคงเป็นไปตามนี้ แม้หลังการปฏิวัติ ค.ศ.1932 ไปแล้ว เพราะก่อนหน้านั้น 1 ปีคือ ค.ศ.1931 ญี่ปุ่นได้บุกยึดแมนจูเรีย ทำให้ชาวจีนทั้งในและนอกประเทศต่างไม่พอใจ และเมื่อสงครามจีนกับญี่ปุ่นปะทุขึ้นใน ค.ศ.1937 การต่อต้านญี่ปุ่นในไทยก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

จากความยุ่งยาก (ทางการเมือง) ดังกล่าว นับว่าได้ส่งผลกระทบต่อชาวจีนในไทยอย่างมาก แต่กล่าวเฉพาะการปราบปรามเพื่อยุติการเคลื่อนไหวแล้ว โรงเรียนจีนในขณะนั้นนับเป็น “จำเลย” ที่เป็นรูปธรรมซึ่งชัดเจนที่สุด กล่าวคือ โรงเรียนจีนได้กลายเป็น 1 ในแหล่งซ่องสุมทางการเมือง ของขบวนการทางการเมืองของชาวจีนในไทย การซ่องสุมนี้มีทั้งของขบวนการคอมมิวนิสต์จีนในไทย (เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์) มีทั้งของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น หรือไม่ก็ของทั้งสองขบวนการรวมๆ กันไป

ผลก็คือ มีครูจีนจำนวนมากที่ถูกจับกุมและลงโทษ (ส่วนใหญ่คือเนรเทศ) ทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1932 ครูเหล่านี้โดยมากแล้ว อยู่ในขบวนการคอมมิวนิสต์จีนแทบทั้งสิ้น

แต่ที่กระทบต่อการเรียนการสอนภาษาจีนมากที่สุดนั้น เห็นจะไม่มีเหตุการณ์ใดจะหนักเท่าที่เกิดหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นอีกแล้ว นั่นคือ ด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น โดยขบวนการชาตินิยมจีนในไทย ซึ่งมีทั้งที่มาจากฝ่ายขบวนการคอมมิวนิสต์จีน และฝ่ายกว๋อหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) รัฐบาลไทยได้ทำการกวาดล้างครั้งใหญ่ใน ค.ศ.1938 (หลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นเกิดแล้วประมาณ 1 ปี) ผลของการ กวาดล้างไม่เพียงทำให้ครูจำนวนมาก ถูกจับกุมเท่านั้น หากที่สำคัญโรงเรียนจีนที่มีอยู่กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ต่างก็ถูกสั่งปิดไปด้วย

ครั้นพอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แกนนำชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนจีน ก็ได้ร้องขอต่อรัฐบาล ให้อนุญาตให้เปิดโรงเรียนจีนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลก็ตอบสนองอย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ แม้จะอนุญาตให้เปิดก็จริง แต่ก็บังคับไม่ให้มีการใช้ภาษาจีนในการเรียนการสอน เกินไปกว่าร้อยละ 20 และที่ไม่เกินตามสัดส่วนที่ว่านี้ ในเวลาต่อมา ยังหมายถึงการจำกัดให้เรียนได้ไม่เกินชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หรือชั้นประถมศึกษาตอนต้นเท่านั้นอีกด้วย

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เงื่อนไขดังกล่าวได้ทำให้ข้อเสนอของ กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 ถูกทำให้เป็นจริงขึ้นมาเป็นครั้งแรก และกลายเป็นปฐมบทของการทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในไทย เกิดข้อจำกัดทางด้านคุณภาพในเวลาต่อมา แต่หากกล่าวในมิติที่ลึกซึ้งลงไปแล้วเราก็จะพบว่า เงื่อนไขที่ว่านี้ นับว่ามีส่วนอย่างมากในการแยกการเรียนการสอนภาษาจีน ให้ออกจากความเป็นจีน (Chineseness) ที่สำคัญคือ เป็นการแยกที่ติดข้างจะได้ผลอยู่ไม่น้อยเสียด้วย

กล่าวคือว่า ภายหลังจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นสิ้นสุดลง และตามติดมาด้วยการที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ในจีน ได้รับชัยชนะเหนือกว๋อหมินตั่งในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) แล้ว ก็ตรงกับช่วงที่รัฐไทย ได้เข้าสู่ยุคสมัยของการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ อย่างจริงจังและรุนแรง การใช้ภาษาจีนไม่ว่าในกาละเทศะไหน หรือดีหรือเลวมากน้อยเพียงใด ได้กลายเป็นเรื่องที่ค่อยๆ ห่างไกลลูกหลานจีนออกไป จะมียกเว้นก็แต่ครอบครัวจีน ที่มีฐานะดีหรือช่องทางดีเท่านั้น ที่อาจหาวิธีส่งเสียลูกหลานของตน ให้ได้เรียนภาษาจีนในต่างประเทศ เช่นที่ฮ่องกง มาเลเซียหรือปีนัง ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ เป็นต้น แต่มีบ้างเหมือนกันที่เสี่ยงส่งลูกหลานเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ (โดยผ่านทางฮ่องกง) ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า กำลังปกครองด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ 1 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่น้อย

ส่วนครอบครัวจีนที่ไม่อาจทำเช่นนั้นได้ แต่ยังคงต้องการให้ลูกหลานของตนมีความรู้ภาษาจีนดีกว่าชั้นประถมสี่นั้น หนทางที่เหลือก็คือ การให้ลูกหลานไปเรียนพิเศษภาษาจีนหลังเลิกเรียนจากโรงเรียน (ไทย) ซึ่งโดยทั่วไปมักเรียนกันวันละ 1 ชั่วโมง ซ้ำยังเป็นการเรียนที่ถือเป็นภาระของผู้เรียนโดยแท้ เพราะถ้าหากใจรักที่จะเรียนก็ไม่สู้ลำบากมากนัก แต่ถ้าใจไม่รักแล้ว การเรียนนั้น ก็เท่ากับเป็นการฝืนใจตนเอง ซึ่งไม่เกิดผลดีแต่อย่างไร

สถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่นานหลายสิบปี ดำรงอยู่แม้ภายหลังจากที่จีนกับไทยได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นใน ค.ศ.1975 เรื่อยมา และกว่าที่ภาษาจีนจะถูกปลดปล่อยให้มีอิสระในการเรียนการสอนมากขึ้น เวลาก็ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ไปแล้ว จนถึงเวลานั้นสังคมไทยก็ตระหนักว่า ยุคสมัยแห่งความยุ่งยากได้ทำให้ภาษาจีน ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ใหม่เสียแล้ว กล่าวคือ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่พบว่า มีลูกหลานจีน หรือที่เรียกกันใหม่ว่า “ชาวไทยเชื้อสายจีน” ที่รู้ภาษาจีนนั้นมีน้อยมาก และที่รู้ดีก็มักคุ้นชินกับภาษาจีนท้องถิ่น และอักษรจีนแบบเก่า ในขณะที่การใช้ภาษาจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ มานานนับสิบปีก่อนหน้านั้นแล้ว

โดยสรุปก็คือว่า พอภาษาจีนในไทยหลุดออกจากยุคสมัยแห่งความยุ่งยากมาได้เท่านั้น ก็ต้องมาตกอยู่ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง ที่ทั้งเร็วและแรงในแทบทุกด้าน ซึ่งก็คือ ภาษาจีนในยุคสมัยของเรานี้เอง

ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา
จะว่าไปแล้ว ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา เป็นภาษาจีนที่เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงภายในจีนโดยแท้ โดยเฉพาะตั้งแต่ที่เริ่มใช้นโยบายปฏิรูป และเปิดประเทศใน ค.ศ.1979 เป็นต้นมา นโยบายนี้ทำให้จีนต้องเป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยไม่ถือเอาความแตกต่างทางอุดมการณ์ มาเป็นอุปสรรคอีกต่อไป และต่อนโยบายพัฒนาภายใน จีนก็เปิดที่ทางให้กับกลไกแบบทุนนิยม (ที่จีนเคยต่อต้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู) ให้ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการอีกด้วย สถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นปฏิปักษ์หรือระแวงสงสัยจีน คลายความกังวลไปได้ไม่น้อย โดยหลังจากนั้นไม่นาน ความกังวลที่หายไป ก็ถูกแทนที่ด้วยการเปิดต้อนรับจีนในฐานะมิตรประเทศ และเลิกต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า “จีนคอมมิวนิสต์” ไปในที่สุด

แต่ก็ด้วยนโยบายที่ว่า ซึ่งทำให้จีนเติบโตอย่างเต็มกำลังไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม ผลเช่นนี้เองที่ทำให้ภาษาจีนได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกกระตุ้นเตือน ให้เห็นถึงความสำคัญขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ จนกล่าวได้ว่า ทุกวันนี้แทบไม่มีหน่วยงานใด ไม่ว่าจะในภาครัฐหรือเอกชน ที่มองไม่เห็นความสำคัญของภาษาจีนอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ การเรียนการสอนภาษาจีนที่ถูกกักขังอยู่ในห้องเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น (ป.4) มานานหลายสิบปี ก็ถูกปลดปล่อยออกมาในทศวรรษ 1990 เมื่อภาครัฐอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนกว้างไกลกว่านั้น และในระดับที่สูงกว่านั้น คือเปิดได้ทั้งในโรงเรียนภาครัฐและเอกชน และเปิดได้ถึงระดับอุดมศึกษากันเลยทีเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนที่เคยทำการเรียนการสอน “พิเศษ” แบบลักปิดลักเปิดตามบ้านยามสนธยาราตรี มาบัดนี้ก็ไม่ต้องทำเช่นนั้นอีกต่อไป ตรงกันข้าม รัฐกลับอนุญาตให้เปิดอย่างเป็นกิจลักษณะและอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะมีกี่หลักสูตร กี่ชั้นเรียน หรือจำนวนผู้เรียนกี่มากน้อย ขอเพียงทำให้ถูกต้องตามระเบียบหรือกฎหมาย และมีกระทรวงศึกษาธิการ รับรองวิทยฐานะเท่านั้น ก็สามารถทำได้ในฐานะโรงเรียนนอกระบบ อันเป็นภาคที่เคยมีบทบาทสำคัญในการอบรมบ่มเพาะภาษาจีน แก่ผู้เรียนที่จบแค่ชั้น ป.4 ให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น และโดยไม่มีการประสาทวุฒิบัตรให้แก่ใครได้แม้แต่ใบเดียว ถึงแม้ผู้เรียนคนนั้นจะสามารถใช้ความรู้ภาษาจีนของตนจากการเรียน “พิเศษ” จนมีฐานะดีและมั่นคงไปตามๆ กันก็ตาม

การปลดปล่อยในทศวรรษที่ว่าน่าจะดูดีอยู่ไม่น้อย แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะด้วยวิบากกรรม ความยุ่งยากในหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลให้ภาษาจีนภายหลังถูกปลดปล่อย ต้องตกอยู่ในอาการงงงวย และง่อนแง่นอยู่ไม่น้อย และด้วยอาการที่ว่านี้ จึงทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนโดยภาพรวมเป็นไปใน 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะหนึ่ง เป็นการเรียนการสอนที่ยังคงสืบทอดแนวทางที่เป็นมาแต่อดีต อีกลักษณะหนึ่ง เป็นการเรียนการสอนที่มุ่งแสวงหาแนวทางใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

ในลักษณะแรกนั้น เราอาจเห็นได้จากการที่สถานศึกษาบางแห่ง ยังคงสอนการออกเสียงภาษาจีนผ่านระบบจู้อินฝูเฮ่า สอนผ่านตำราเรียนที่ไม่ได้ผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนหลักสูตรที่ใช้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง สุดแท้แต่ว่าสถานศึกษาแห่งไหนจะเห็นว่าเหมาะสมแก่ผู้เรียน ฯลฯ ในลักษณะนี้สะท้อนให้ว่า ต่างคนต่างดำเนินการไปด้วยตนเองอย่างอิสระ

ส่วนในลักษณะหลังนั้น อาจเห็นได้จากการที่สถานศึกษาหลายแห่ง เลือกที่จะสอนการออกเสียงผ่านระบบพินอิน (pin-in) มีน้อยแห่งที่สอนทั้งสองระบบหรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาบางแห่ง รวมเอาระบบจู้อินฝูเฮ่า เยล และเวดใจล์ส เข้าไปด้วย ถึงแม้ในชั้นปลายจะเน้นที่ระบบพินอินก็ตาม ส่วนตำราที่ใช้ก็เป็นตำราที่ผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ เกี่ยวกับตำรานี้ยังพบอีกว่า สถานศึกษาหลายแห่งใช้ตำราที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสถานศึกษาแห่งนั้นๆ เลือกที่จะใช้ตำราจาก “มณฑล” ไหนของจีน ฉะนั้น เมื่อมองในแง่ของหลักสูตรแล้ว หลักสูตรจึงย่อมขึ้นอยู่กับตัวตำราไปด้วย ซึ่งโดยสรุปแล้วก็คือ หลักสูตรก็แตกต่างกันไป ฯลฯ

นอกจากสองลักษณะดังกล่าวที่เป็นเรื่องของการเรียนการสอนโดยตรงแล้ว การใช้ภาษาจีนในหมู่ผู้รู้ภาษาจีน (ไม่ว่าจะมากหรือน้อย) หรือผู้ที่จะต้องสัมผัสกับภาษาจีน (โดยที่ไม่รู้ภาษาจีน) ในชีวิตประจำวัน ก็ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า การใช้ภาษาจีนในไทยนั้นเป็นการใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ และใช้ภาษาจีนกลางเป็นส่วนน้อย ฉะนั้น ภายหลังจากที่ภาษาจีนถูกปลดปล่อยในทศวรรษ 1990 ไปแล้ว ภาษาจีนกลางที่เข้ามามีบทบาทในการใช้มากขึ้น จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงการใช้แบบเดิมไปได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ยังไม่นับการใช้อักษรจีนตัวเต็ม (ฝานถี่จื้อ) ที่ยังคงปรากฏว่ามีการใช้มากกว่าอักษรตัวย่อ (เจี๋ยนถี่จื้อ) ที่ทางจีนแผ่นดินใหญ่ได้ทำการ “ปฏิรูป” ไปแล้วมากกว่า 2,000 ตัวอักษร โดยเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาจีนนั้นจะเห็นได้ชัด นัยสำคัญของประเด็นนี้ก็คือว่า อักษรตัวย่อที่จีนปฏิรูปนั้น จีนเลือกเอาตัวอักษรที่มักใช้กันในชีวิตประจำวันเป็นลำดับแรก ด้วยเหตุนั้น การไม่รู้จักอักษรตัวย่อ จึงไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ผู้ใช้ภาษาจีนมากนัก (อย่างน้อยก็ในระยะยาว) ในทางตรงข้าม หากผู้ใช้คนใดที่รู้ทั้งตัวย่อและตัวเต็ม ก็ต้องนับว่าได้เปรียบผู้ใช้ที่รู้แต่เพียงแบบใดแบบหนึ่ง 3

ผลที่เกิดจากอาการงงงวยและง่อนแง่นจากที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ยังมีรายละเอียดที่สลับซับซ้อนมากกว่าที่กล่าวมาอีกไม่น้อย แต่ก็ด้วยผลที่ว่านี้เอง ที่นำมาซึ่งเสียงบ่นของผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากภาษาจีนโดยตรง ว่าคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในไทย ยังไม่อาจสนองตอบได้อย่างที่ต้องการ เสียงบ่นเหล่านี้มีให้ได้ยินเป็นรูปธรรมอยู่เสมอ เช่น บ้างก็บ่นว่าความรู้ภาษาจีนของผู้เรียน ยังไม่สูงพอที่จะนำมาใช้งาน บ้างก็บ่นว่าผู้เรียนสู้อุตส่าห์เรียนจบระดับปริญญาจนสามารถ “อ่าน” ภาษาจีนได้ดีนั้น แต่กลับไม่รู้เรื่องราวความเป็นไปในจีน บ้างก็บ่นว่าผู้เรียนแม้จะเรียนสูง แต่ความรู้นั้น กลับไม่สามารถสนองตอบต่องานของตน ที่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะด้าน ฯลฯ

ในที่สุด ผลที่ว่าก็นำมาซึ่งความวิตกกังวลของผู้ที่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากภาษาจีน ว่ายังคงสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็อาจกระทบต่อการแข่งขัน ในการพัฒนาทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งก็คือผลกระทบที่มีต่อส่วนรวมของสังคมไทยเราเอง

เกี่ยวกับประเด็นคุณภาพภาษาจีนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีเรื่องที่พึงทำความเข้าใจด้วยว่า แม้จะเป็นความจริงที่ภาษาจีนในไทย มีคุณภาพสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ก็ตาม แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ผลจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านโดยแท้ พัฒนาการของไทยก็คือ ประเด็นปัญหาต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ในขณะที่พัฒนาการของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ จนดูว่าไร้อิสรภาพนั้น เอาเข้าจริงแล้วชาติอาณานิคม ก็หาได้ห้ามหรือจำกัดการเรียนการสอนภาษาจีน ของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ไปด้วยไม่ ด้วยเหตุนี้ ผลทางคุณภาพจึงเป็นดังที่เราเห็น

จะอย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาให้รอบคอบแล้วก็จะพบว่า ปัญหาภาษาจีนในไทยหลังจากที่ถูกปลดปล่อยในทศวรรษ 1990 นั้น แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลย หากคือ การที่เราพึงยอมรับร่วมกันว่าภาษาจีน จำเป็นต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง และจะเริ่มต้นใหม่ได้ดี เราก็ต้องสลัดอาการงงงวยและง่อนแง่นที่เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน และการที่จะสลัดได้นั้น ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่า อาการงงงวยได้บอกอะไรแก่เรา?

จะว่าไปแล้วอาการงงงวยและง่อนแง่นดังกล่าวได้บอกให้เรารู้ว่า ภาษาจีนในยุคสมัยของเรานั้น ได้ห่างออกจากความเป็นจีน จากที่เคยมีเคยเป็นมาแต่เดิมแล้วนั่นเอง

กล่าวคือ ภาษาจีนนับแต่ยุคสมัยแรกเริ่มจนถึงยุคสมัยแห่งความยุ่งยากนั้น เป็นภาษาจีนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่จะให้ลูกหลานจีน (ในสมัยนั้น) สามารถสืบทอดและดำรงความเป็นจีนเอาไว้ แต่ภายหลังจากที่ผ่านวิบากกรรมมามากมาย จนได้รับการปลดปล่อยในทศวรรษ 1990 แล้ว เราก็พบว่า หลายสิบปีของวิบากกรรมนั้น ลูกหลานจีนได้ถูกกลืนกลายจนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้วไม่น้อย คือหากไม่เปลี่ยนจากการเป็นลูกหลานจีนมาเป็น “ชาวไทยเชื้อสายจีน” ก็เป็น “ชาวไทย” ไปจนกู่ไม่กลับ

สิ่งที่ต่างกันระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีนกับชาวไทยก็คือว่า กลุ่มแรกอาจมีความเป็นจีนหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที โดยเฉพาะความรู้ภาษาจีน (ถึงจะใช้ภาษาจีนท้องถิ่นก็ตาม) ในขณะที่กลุ่มหลังนั้นอาจจะมีเชื้อจีนหรือไม่มีก็ได้ แต่แทบไม่หลงเหลือความเป็นจีนอยู่เลย ส่วนที่คล้ายกันก็คือ ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตกมาพอๆ กัน

ผลก็คือ เมื่อ “ชาวไทย” กลุ่มนี้ต้องมาเป็นผู้เรียนภาษาจีน (หรือผู้สอนในบางกรณี) การเรียนของคนกลุ่มนี้จึงไม่มีโจทย์เกี่ยวกับความเป็นจีนเป็นตัวตั้ง หากแต่เรียนไปภายใต้โจทย์ใหม่ๆ มากมายหลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วก็คือ เพื่อสนองตอบต่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทั้งเพื่อตัวเองหรือเพื่อหน่วยงานที่ค่อนข้างแน่นอน

ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ที่เลือกศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้เรียนภาษาจีนในสถานศึกษานอกระบบที่พบว่า ผู้เรียนต่างมาเรียนด้วยวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กระจายกันออกไปอย่างหลากหลายมากมาย เช่นมาเรียนเพื่ออยากจะดูหนังหรือละครจีนด้วยภาษาจีน เพื่ออ่านวรรณกรรมจีนได้โดยตรง เพื่อร้องเพลงจีน เพื่อสนทนากับเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนจีน เพื่อติดต่องานกับคนจีนทั้งในเมืองไทยและในเมืองจีน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางวิชาชีพให้แก่ตนเอง เพื่อสนองตอบต่อนโยบายใหม่ๆ ของหน่วยงาน ที่เริ่มมีธุรกิจหรืองานราชการที่ต้องติดต่อกับจีน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของพ่อแม่หรือบุพการี ตลอดจนเพื่อใช้สนทนากับคนรักที่เป็นชาวจีน หรือ “จีบ” ชาวจีนที่ตนหมายปอง ฯลฯ ส่วนที่เรียนเพื่อรักษาหรือสืบทอดความเป็นจีนนั้นมีเช่นกัน แต่เป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก

ผลการศึกษานี้แม้จะเป็นเฉพาะกลุ่มโรงเรียนนอกระบบก็ตาม แต่ก็น่าเชื่อว่า กลุ่มที่อยู่ในระบบก็คงไม่ต่างกัน ในแง่วัตถุประสงค์มากนัก ซึ่งนับว่าต่างก็ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจีนที่ห่างไกลออกไปในหมู่ผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราเริ่มห่างจากความเป็นจีนออกไปนั้น มิได้หมายความว่า ความเป็นจีนที่เคยมีอยู่แต่เดิมจะสลายหายตามไปด้วยไม่ ตรงกันข้าม ความเป็นจีนเท่าที่ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน กลับเป็นต้นทุนที่มีค่าไม่น้อย หากผู้เรียนและผู้สอนภาษาจีนรู้จักที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ ดังการรู้อักษรจีนทั้งแบบตัวเต็มและแบบตัวย่อ ย่อมมีประโยชน์มากกว่าการรู้แบบเดียวดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

การห่างไกลจากความเป็นจีนจากที่กล่าวมานี้เอง เมื่อภาษาจีนถูกปลดปล่อยอีกครั้งหนึ่ง ภาษาจีนในยุคสมัยของเราจึงส่งผลดังที่ได้กล่าวมาในที่สุด และทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนการสอนภาษาจีน จะต้องเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสนองตอบต่อสถานการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมากมาย และการเริ่มต้นที่ดีทางหนึ่งก็คือ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยอย่างจริงจัง

ประเด็นสำคัญที่ขอย้ำในที่นี้ก็คือว่า ผลจากอาการงงงวยและง่อนแง่นที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างยิ่ง สำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะหากเราเข้าใจถึงวิบากกรรมของภาษาจีนจากที่กล่าวมา เหตุฉะนั้น อาการที่เกิดขึ้นแก่ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา จึงเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าไม่ดี อย่างน้อยอาการที่ว่าก็ทำให้เราต้องมาฉุกคิดได้ว่า เราจะแก้อาการนี้อย่างไร และเมื่อเราพบว่า การแก้ที่ดีประการหนึ่งก็คือ การเริ่มจากการวิจัย การวิจัยนี้เองที่จะโน้มนำให้ปัญหาต่างๆ ของการเรียนการสอนภาษาจีน ถูกร้อยเรียงให้เห็นภาพอย่างเป็นระบบ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะพบได้เองว่า ปัญหาที่เป็นจริง (หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับความเป็นจริง) นั้นคืออะไร จากนั้นข้อแก้ไขก็จะทยอยออกมา

อย่างไรก็ตาม ข้อดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่เหลียวไปมองข้อดีที่สำคัญอีกประการหนึ่งนั่นก็คือ การที่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราได้เริ่มต้นใหม่ด้วยความอิสระ และโดยไม่จำเป็นต้องติดยึดกับความเป็นจีนดังเช่นอดีตอีกต่อไป เพราะข้อดีจากความอิสระนี้จะทำให้เราสามารถเลือกที่จะเริ่มต้นอย่างไรก็ได้ บนความอิสระดังกล่าว ในที่นี้มีประเด็นที่ขอเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้

1. ความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ
ปัจจุบันนี้การเรียนการสอนภาษาจีนในไทยได้มีความร่วมมือกับหลายๆ ฝ่าย บางแห่งก็ร่วมมือกับหน่วยงานของทางการจีน บางแห่งก็ร่วมมือกับไต้หวันหรือประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่บางแห่งก็ร่วมมือมากกว่าหนึ่งฝ่าย หรือไม่ก็ร่วมมือกับประเทศตะวันตก แต่โดยมากแล้ว จีนมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับไทยมากกว่าทุกๆ ฝ่าย ความร่วมมือเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประสบการณ์ในการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน ประโยชน์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนกันย่อมมีอยู่ในตัว

ประเด็นก็คือ แม้ความร่วมมือจะเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่เราก็จะควรตระหนักอยู่เสมอว่า แต่ละประเทศแม้จะมีประสบการณ์หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีเลิศอย่างไร ข้อดีนั้นอาจชัดเจนในเรื่องทางเทคนิค และเป็นข้อดีที่เกิดบนประสบการณ์ที่มีพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกันไป ที่จะให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าใจพื้นฐานความเป็นไปของสังคมไทยโดยสมบูรณ์นั้น คงเป็นไปได้ยาก และคงไม่ดีไปกว่าคนไทย

เหตุดังนั้น ภายใต้ประโยชน์ที่เกิดจากความร่วมมือดังกล่าว ถึงที่สุดแล้วเราต่างหากที่พึงพิจารณาได้เองว่า การเรียนการสอนในแนวทางใดที่เหมาะสมกับสังคมไทยมากที่สุด การที่จะเป็นเช่นนี้ได้ก็มีแต่หนทางเดียวคือ ไทยเราควรที่จะเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อถึงเวลาหนึ่งของความร่วมมือ เราก็ควรที่จะมีหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนตำราที่เป็นของเราเอง หากทำเช่นนี้ได้ไม่เพียงประโยชน์จะตกแก่ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ใช้ภาษาจีนโดยตรงเท่านั้น แต่ที่สำคัญยังหมายถึงความอิสระในการกำหนดการใช้ภาษาจีน โดยปราศจากการครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

2.การใช้ประโยชน์จากความเป็นจีน

แม้ชาวไทยส่วนใหญ่ในทุกวันนี้จะห่างเหินจากความเป็นจีนไกลออกไปทุกที ความห่างเหินนั้น ก็เป็นไปแต่โดยการสืบทอดในเชิงสายเลือดและวัฒนธรรมเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความเป็นจีนยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ไม่น้อยในชีวิตประจำวัน ความเป็นจีนในหลายๆ ส่วน นับว่าเป็นต้นทุนที่มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ต้นทุนนั้นให้เกิดประโยชน์หรือไม่ อย่างไร

ต้นทุนจากความเป็นจีนที่ว่าก็เช่น การที่ไทยเราได้มีงานแปลวรรณกรรมหรือพงศาวดารจีน ไม่ว่าจะเป็นสามก๊ก เลียดก๊ก ไซฮั่น ตงฮั่น ซ้องกั๋ง ไซอิ๋ว ฯลฯ หรือการที่ชาวไทยเรายังมีโอกาสได้สัมผัสกับประเพณีจีน ผ่านเทศกาลต่างๆ ได้โดยตรง (ซึ่งในบางประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของภาษาจีน ไม่ต่างกับไทยจะไม่มีปรากฏการณ์นี้ดำรงอยู่ หรือไม่ก็มีแต่น้อย) ต่างก็มีประโยชน์ในแง่ที่เป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวเรื่องจีน ได้เป็นอย่างดี และเมื่อไปอ่านฉบับภาษาจีน หรือไปสัมผัสกับประเพณีจีนในปัจจุบันก็จะเข้าใจมากขึ้น หรือไม่ก็พบความแตกต่างมากขึ้น

ประโยชน์โดยตรงในแง่นี้มีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่ง การทำความเข้าใจความคิดความเชื่อของสังคมจีนได้ง่ายขึ้น และสอง การเพิ่มทักษะในการใช้ภาษาจีนให้แก่ผู้เรียนและผู้สอน ถึงแม้ความเป็นจีนที่ยกตัวอย่างมา จะมีปัญหาตรงที่เป็นภาษาจีนท้องถิ่นก็ตาม ในประเด็นนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนโดยตรง อาจพิจารณาได้เองในแง่ของความเหมาะสม

3.ภาษาจีนกับภาษาไทย
แม้ทุกวันนี้การเรียนการสอนภาษาจีนจะสอนการออกเสียงผ่านระบบพินอินหรือระบบอื่นก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้ว ในเวลาที่ใช้จริงก็คงหลีกเลี่ยงการออกเสียงผ่านอักขระไทยไปไม่ได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ภาษาไทยมีข้อดีอยู่เรื่องหนึ่งคือ ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์พอที่จะใช้กับภาษาจีนได้ โดยไม่ขัดกัน (ไทยมี 5 เสียง จีนมี 4 เสียง) ตรงนี้นับเป็นประโยชน์ของภาษาไทยโดยแท้

ปัญหาที่ปรากฏอยู่ก็คือ การออกเสียงผ่านสระบางเสียงที่สัมพันธ์กับการออกเสียงควบกล้ำ เช่น การออกเสียงผ่านสระในตัวโรมันว่า uan ที่ยังมีความลักลั่นระหว่างการเป็นเสียงในตัวไทยว่า อวน กับ เอวียน (อว ควบกล้ำ) ดังจะเห็นได้จากคำว่า หยวน หากใช้เรียกชื่อสกุลเงินจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ก็มักจะใช้เช่นนั้น แต่ในหลายกรณีก็พบว่า หากเป็นชื่อบุคคลหรืออื่นๆ ที่ชาวไทยไม่คุ้นเคยแล้ว ผู้ใช้จะเขียนให้ออกเป็นว่า เยวี๋ยน ซึ่งเป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงจีนกลางมากกว่าเสียงแรก แต่ปัญหาคือ วิธีการเขียนอาจผิดหลักภาษาไทย

อย่างไรก็ตาม ในชั้นหลังมานี้ได้มีการนำเครื่องหมาย “ยมการ” กลับมาใช้ใหม่ โดยเครื่องหมายนี้ จะถูกกำกับไว้หลังคำที่ออกเสียงกึ่งหนึ่ง ดังนั้น เวลาเขียนจึงไม่ผิดหลักภาษาไทย อย่างเช่น ชื่อของอดีตจักรพรรดิจีนพระองค์หนึ่งคือ กวางซี่ว์ นั้น ตัว ซี่ว์ หากมีเครื่องหมาย “ยมการ” กำกับ ก็จะเขียนได้โดยไม่ผิดหลักภาษา ปัญหาก็คือ ขณะนี้ซึ่งเป็นปี 2007 เครื่องหมายนี้ยังมีในโปรแกรมคอมพิวเตอร์น้อยมาก (ในที่นี้จึงขอแทนด้วยเครื่องหมายการันต์) เชื่อว่า ในอนาคตหากเครื่องหมายนี้ถูกใช้แพร่หลายแล้ว ความลักลั่นในการออกเสียงดังกล่าวน่าจะแก้ได้

แต่กระนั้น ปัญหาการทับศัพท์ไม่ได้มีเพียงที่ยกมา ในความเป็นจริงแล้วยังมีรายละเอียดมากกว่านั้นอีกมาก และด้วยเหตุที่ปัญหานี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน และการใช้ภาษาจีนอยู่ไม่น้อย การอภิปรายถกเถียงหรือศึกษาวิจัย จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ที่ผ่านมายังเห็นได้ว่า ต่างฝ่ายต่างทำไปอย่างอิสระ ฉะนั้น ถ้าทำได้อย่างเป็นเอกภาพโดยละมายาคติลงได้แล้ว อิสระที่ว่าก็จะเพิ่มพลังให้แก่คุณภาพภาษาจีนในไทยได้ไม่น้อย

4. ภาษาจีนกับความรู้เรื่องจีน
ปัญหาข้อหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาจีนในทุกวันนี้คือ การที่ความรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดี ไม่ได้หมายรวมว่าจะต้องมีความรู้เรื่องจีนไปด้วย ซึ่งผิดไปจากความคาดหวังของผู้ที่ต้องการใช้ผู้รู้ภาษาจีน มาช่วยในกิจการงานของตน ปัญหานี้มาจากการเรียนการสอนภาษาจีน ที่ยังขาดเอกภาพระหว่างความรู้ในทางภาษาศาสตร์ กับความรู้ในทางจีนศึกษา (Chinese Studies) หรือจีนวิทยา (Sinology)

ความรู้ในเชิงภาษาศาสตร์ยังไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะแทบทุกสถานศึกษามักจะต้องให้ความรู้ด้านนี้เป็นปกติอยู่แล้ว เหตุฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยู่ตรงคำถามที่ว่า ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากอะไร เช่น เป็นเพราะตัวผู้เรียน ไม่ใส่ใจต่อความรู้ทางด้านจีนศึกษา หรือจีนวิทยา หรือเป็นเพราะตัวหลักสูตรไม่เอื้อ หรือไม่เปิดพื้นที่ให้กับความรู้ทางด้านที่ว่า การพบสาเหตุของปัญหา น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไม่น้อย

อนึ่ง ความคาดหวังเกี่ยวกับความรู้ในทางจีนศึกษาหรือจีนวิทยาที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหานั้น มิใช่ความคาดหวังที่เล็งผลเลิศแต่อย่างใด แต่เป็นความคาดหวังในระดับพื้นๆ ที่ต่างก็เชื่อว่า ผู้ที่มีความรู้ภาษาจีนดี น่าที่จะมีความรู้พื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องจีนพอสมควร เช่น รู้ว่าผู้นำจีนคนปัจจุบันชื่ออะไร หรือคนชื่อ ซุนยัตเซ็น เหมาเจ๋อตง หรือ เติ้งเสี่ยวผิง คือใคร มีความสำคัญต่อจีนอย่างไร หรือนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นอย่างไร และส่งผลเช่นใด เป็นต้น แต่ความจริงก็คือว่า ความคาดหวังในระดับพื้นๆ เช่นนั้นกลับไม่ปรากฏ

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของประเด็นนี้กลับไม่ได้อยู่ตรงความคาดหวังว่าพึงมีสูงหรือต่ำ มากหรือน้อยแค่ไหน หากอยู่ตรงที่ทำอย่างไร จึงจะให้ผู้รู้ภาษาจีน มีความรู้เรื่องจีนในลักษณะที่เป็นองค์รวม (holistic) อย่างแท้จริง คือไม่จำเป็นต้องรู้ไปหมดทุกเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบหรือเข้าใจโจทย์เรื่องจีนอย่างเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่รู้เรื่องจีนแต่เฉพาะที่จะทำให้ตนมั่งคั่งร่ำรวยเท่านั้น

แท้ที่จริงแล้ว ความรู้ในเรื่องจีนหรือเรื่องของเพื่อนบ้านประเทศอื่นใดก็ตาม เรารู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจที่ดีต่อกัน ด้วยผลประโยชน์ที่พึงได้ร่วมกัน และด้วยสันติสุขร่วมกัน

กถาปิด
ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา เป็นภาษาจีนที่มีพัฒนาการที่แตกต่างไปจากในที่อื่นๆ ภายใต้เงื่อนปัจจัยภายในที่ไม่เหมือนกันในแต่ละที่แต่ละแห่ง แต่พัฒนาการเฉพาะของไทยนั้น มีส่วนไม่มากก็น้อยในการทำให้ภาษาจีนในยุคสมัยของเราเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งหากกล่าวสำหรับการเรียนการสอนแล้วก็คือ ยังไม่อาจเล็งผลเลิศได้อย่างที่หวังที่ต้องการ

ประเด็นที่นำเสนอในที่นี้ก็คือว่า การที่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจุดเริ่มแรกของภาษาจีนเมื่ออดีตนั้น มีเหตุผลมาจากความต้องการสืบทอดความเป็นจีนเอาไว้ และเมื่อความเป็นจีนกลายเป็นอุปสรรคในสายตาของผู้นำไทยในยุคหนึ่ง ภาษาจีนจึงถูกจำกัดขอบเขตลง ตราบจนเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี เมื่อภาษาจีนถูกปลดปล่อยอีกครั้งหนึ่ง ภาษาจีนก็ตกอยู่ในสภาพที่จำต้องเริ่มต้นกันใหม่

หากเราเชื่อว่า ไม่มีการเริ่มต้นในเรื่องใดที่ไม่มีปัญหาแล้ว เราก็ควรเชื่อด้วยว่า การเริ่มต้นอย่างมีอิสระที่แท้จริงนั้น ย่อมนำไปสู่การค้นพบสิ่งที่ดีๆ ได้ด้วยเช่นกัน

กล่าวสำหรับยุคสมัยของเราแล้ว ภาษาจีนได้พ้นห้วงแห่งวิบากกรรมมาอย่างแสนสาหัส (อย่างน้อยก็ทำให ้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ภาษาจีนในการดำเนินชีวิต เกิดปัญหาในระดับหนึ่ง) ไปแล้วก็จริง แต่เราก็มาพบว่า จุดเริ่มแรกในอดีตเกี่ยวกับความเป็นจีน ไม่ใช่โจทย์สำคัญอีกต่อไป และโจทย์สำคัญในปัจจุบันก็คือ ทำอย่างไรภาษาจีนที่ต้องเริ่มต้นใหม่นี้ สามารถดำเนินไปได้โดยอิสระอย่างแท้จริง

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ภาษาจีนในยุคสมัยของเราก็คือ ภาษาจีนที่ก้าวจากความเป็นจีนสู่ความเป็นไทนั่นเอง มีแต่การใช้ประโยชน์จากความเป็นไทที่ว่านี้อย่างเหมาะสม และเป็นธรรมเท่านั้น ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา จึงจะมีคุณภาพและสง่างามอย่างแท้จริง


เขียนโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล
อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 7 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 0-2218-7464, 0-2218-7466 โทรสาร 0-2255-1124

Thai World Affairs Center, Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
7th Floor, Prajadhipok-Rambhai Barni Building, Phyathai Road, Bangkok 10330 Thailand
Tel: +66 (0) 2218-7464, 2218-7466 Fax: +66 (0) 2255-1124


เอกสารที่ใช้ประกอบการเขียน

จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548.

เซี่ยกวง. กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย (ค.ศ.1906-1939). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.

ถาวร สิกขโกศล. ภาษาจีน: เส้นทางสร้างชาติและวัฒนธรรม. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2549): 81-107.
เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์. การควบคุมโรงเรียนจีนของรัฐไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองถึงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2475 ถึง 2487). วารสารประวัติศาสตร์ 2550. หน้า 100-118.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. อยุธยายศยิ่งฟ้า. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม, 2544.

เออิจิ มูราซิมา. การเมืองจีนสยาม. แปลโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล และ เออิจิ มูราซิมา. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.

 


เชิงอรรถ
1 ทั้งนี้จากการบอกเล่าของนักธุรกิจเชื้อสายจีนท่านหนึ่ง ที่ให้ข้อมูลว่า ตัวท่านได้เข้าเรียนในจีนแผ่นดินใหญ่ในสมัยที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) ด้วยซ้ำไป อันเป็นช่วงที่จีนกำลังดำเนินนโยบายสังคมนิยมอย่างสุดโต่ง ซึ่งถือว่าเสี่ยงไม่น้อยสำหรับคนที่มาจากสังคมที่ติดข้างจะเสรีอย่างท่าน (หมายถึงไปจากประเทศไทย) ท่านยังเล่าอีกว่า นอกจากท่านแล้ว ก่อนหน้าท่านก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งอีกด้วย.

2 จนถึง ค.ศ.1986 จีนได้ปฏิรูปอักษรตัวเขียนจากตัวเต็มมาเป็นตัวย่อไปแล้วรวม 2,235 ตัว แต่หลังจากนั้นก็ยังมีการปฏิรูปเรื่อยมา โดยมีการเพิ่มจำนวนออกมาเป็นระยะๆ จนทุกวันนี้จึงน่ามีมากกว่าจำนวนที่ระบุเอาไว้.

3 เป็นที่รู้กันว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นใหม่ที่เรียนภาษาจีน (ซึ่งเป็นภาษาแม่ของตน) แบบตัวย่อนั้น ไม่ค่อยรู้จักตัวเต็มกันแล้ว หรือถ้ารู้ก็รู้เพียงไม่มากเท่าที่ทางการได้ปฏิรูปไป ปัญหานี้นับว่าน่าคิดและน่าศึกษามาก.

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้แก้ไขเพิ่มเติมบทปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 เรื่อง “การเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียนนอกระบบ” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ณ ห้องมาลัย หุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การสัมมนาฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย” อันอยู่ภายใต้การดำเนินการของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ .

 


Keywords : ภาษาจีน, ยุคสมัยของเรา, จีนศึกษา, จีนวิทยา, วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

 


รูปภาพของ YupSinFa

ขอแสดงความขอบคุณ ในบทความ

เรียน อาจารย์วรศักดิ์ ไหงได้อ่านบทความของหงีแล้วมีความรู้สึกสะเทีอนและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งจึงขออนุญาตบันทึกเก็บไว้อ้างอิงเพื่อใช้ในโอกาสต่าง ๆ และถ่ายทอดให้ลูกได้เรียนรู้ ไหงอยู่ที่เชียงใหม่และเชียงราย 2 จังหวัดนี้นอกจากชาวจีนที่มาทางโพ้นทะเลแล้ว ยังมีชาวจีนหยุนหนานอพยพและอดีตทหารกองพล 93 ของกว๋อหมินตั่งเป็นจำนวนมาก การถ่ายทอดการสอนภาษาจีนที่ผ่านมา จึงต้องแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่เป็นหัวเฉียวหรือสมาคมจีนต่าง ๆ ได้ยอมรับและสอนในระบบจีนใหม่หรือพินยิน แต่ฝ่ายหยุนหนานซึ่งโปรไต้หวันยังคงสอนแบบจีนเก่าอยู่ แต่ความคิดเห็นส่วนตัวไหงเท่าที่ทราบ กระแสของอำนาจของประเทศจีนใหญ่ในปัจจุบันแรงเหลือเกิน ดังนี้ ตามโรงเรียนของชาวหยุนหนานจึงได้เริ่มสอนอักษรจีนใหม่ควบคู่ไปด้วย ขณะนี้ การตื่นตัวของชาวไทยเชื้อสายจีนทางเหนือและชาวไทยภูเขารวมทั้งชาวไทยแท้ ๆ ต่างนิยมเรียนภาษาจีนกลางกันมากมาย เห็นได้ว่า สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งของที่นี่ มีภาควิชาภาษาจีนทั้งนั้น บางแห่งก็ใช้ตำราของปักกิ่ง บางแห่งก็ใช้ของมณฑลหยุนหนาน

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าต่อไปในอนาคต ประเทศไทยเราจะมีบุคลากรรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ในด้านภาษาจีนกลางมากยิ่งขึ้น

ไหงเห็นด้วยกับบทความของหงีที่เขียนมาทุกบรรทัด และข้อเขียนของไหงในเว็บไซด์นี้ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่สามารถอ้างอิงได้ทางวิชาการ ในฐานะที่หงีเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยด้านจีนศึกษา และมีเชื้อสายฮากกา ไหงจึงขอความกรุณาหงี แทนสมาชิกทุก ๆ ท่านให้หงีช่วยเขียนบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับจีน และฮากกา เพื่อที่พวกเราทุกคน จะได้มีความรู้แลกเปลี่ยนกันได้มากยิ่งขึ้น เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า "ความรู้สามารถเรียนกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด"

ผม ยับสินฝ่า ขอเรียนให้หงีและสมาชิกทุกท่านทราบ ณ ที่นี้เลยนะครับว่า ผมขออนุญาตใช้สรรพนามในข้อเขียน (ที่ไม่เป็นทางการ) ในเว็บไซด์ของเรานี้ ว่า "ไหง" กับ "หงี" เหตุผลมีนิดเดียวเอง เพราะความเป็นชาตินิยมยังไงละครับ

HI

Blogs are always a main source of good inforamtion.your website contains impressive information regariding to neculaer elements. i am marry Davidson i am in the field of IT now a days i am doing peparation of mcsa exams.i love your website it's good.i also spend my extra time in surfing internet and listening music and playing games. after my exams i would like to join your group.

regards

Marry Davidson

รูปภาพของ YupSinFa

ช่วยกันแปลหน่อยจ้า

          มีผู้มาเยือนเว็บเราแสดงความเห็นมาตามข้างต้น เป็นภาษาอังกฤษ พอจับใจความได้ว่ารู้สึกชื่นชมเว็บไซด์ของเรา และชมเว็บมาสเตอร์ของเราคือคุณอาฉี บุคคลท่านนี้ซึ่งไม่ได้ให้รายลละเอียดส่วนตัว อาจจะเป็นชาวเชื้อสายฮากกาที่หนึ่งที่ใดในโลกนี้

          ขอความกรุณาสมาชิกท่านใดที่เก่งภาษาอังกฤษ ช่วยแปลให้พวกเราอ่านและโพสต์ตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษหน่อย เขาจะได้รู้สึกว่าพวกเราเอาใจใส่ซึ่งกันและกันในมวลหมู่สมาชิก

          เอ้า?ช่วยกันหน่อย.

รูปภาพของ เฉินซิ่วเชง

เรียน อาจารย์วรศักดิ์

จากบทความ ที่อ.บอกให้แก้ด้วย..การเริ่มจากการวิจัย การวิจัยนี้เองที่จะโน้มนำให้ปัญหาต่างๆ ของการเรียนการสอนภาษาจีน ถูกร้อยเรียงให้เห็นภาพอย่างเป็นระบบ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะพบได้เองว่า ปัญหาที่เป็นจริง (หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับความเป็นจริง) นั้นคืออะไร จากนั้นข้อแก้ไขก็จะทยอยออกมา  ไหงว่าอ.และทีมงานมาถูกทางแล้วเจ้า... เพียงแต่ให้อ. เป็นผู้ทำบุกเบิกวิจัย...เรื่องนี้น่าจะดีที่สุด  ระบบการวางแผน กลไกอยู่ที่นีแล้ว แต่ขาดคนนำทางไปให้ตรงทิศ  ไหงว่าอ.มีพลังที่สุด นำพาพวกเราไปสุ่การวิจัยที่มีพี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยของอ. เป็นแกนนำ  ดีไหมเจ้า..

ไม่จุใจเลยอาจารย์

มีอีกมั๊ยครับอาจารย์วรศักดิ์

อยากอ่านอีก

 

คราวนี้ไม่ต้องอ่านหนังสือ แต่อ่านคนในสังคม?

          ลูกหลานจีนยุคใหม่ แค่เรียนเปลือกนอก เพราะระบบเรียบร้อยโรงเรียนจีนเข้ามาจัดการตั้งแต่ปี 2475 แล้ว การเรียนภาษาจีนให้เข้าใจลึกซึ้งไม่มีทางเป็นไปได้ ในระบบการสอนของร.ร.จีน(ในไทยยุค 2550)

           เพราะการเรียนภาษาจีนต้องจริงจัง ท่องหนังสือเป็นเล่มๆ ไม่ว่าเกว็ดงี่ (อ่านจีน)

ชักธุก(วิชาจดหมาย) ฉั่งซึด(ความรู้ทั่วไป) กงหมิ่น(ศีลธรรม) และอื่นๆอีกหลายเล่ม ซึ่งล้วนบ่มเพาะความเป็นพลเมืองดีมีคุณภาพ ทั้งครูผู้สอนก็เอาจริง เวลาปิดเทอมก็ให้คัดลายมือและพู่กันจีนเป็นเล่มๆ นี่คือการเรียนภาษาจีนที่ได้ทั้งความรู้และความเป็นจีน

            ปัจจุบันนี้ เรียนเพื่อติดต่อทางธุรกิจ เมื่อเป้าหมายอยู่แค่นี้จะไปเอาอะไรได้หนักหนา ลูกหลานจีนที่ไม่ได้ทําธุรกิจกับจีนนอก แต่บ่งบอกความเป็นจีนก็อย่างวันตรุษสารทที่มีการเซ่นไหว้ อิ่มท้องสบายแฮ...

                                              ...อาหงิ่ว...

รูปภาพของ วี่ฟัด

บัณฑิตแค่ผู้รู้หนังสือ ปราชญ์คือผู้พลิกแผ่นดิน

         ใช่เลยอาหงิวดังที่ท่านจูกัดเหลียงนามขงเบ้งได้ว่าเอาไว้ว่า " บัณฑิตคือผู้รู้หนังสือ ปราชญ์คือผู้พลิกแผ่นดิน " ถ้านำนิยามอันนี้มาใช้เราจะเห็นว่ามีบัณฑิตอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง แต่นักปราชญ์หายากมาก ในประวัติศาสตร์ชาติไทยจะมีสักกี่คนเชียว

         แต่ถ้าจะให้ไหง่นึกออกว่าจะอยู่ในนิยามนี้ได้ว่าเป็นปราชญ์ คนแรกไหง่ว่า น่าจะเป็น " พระพุทธเจ้า " อันนี้ไม่ต้องถกเถียงกันว่าพระพุทธเจ้าคือผู้พลิกแผ่นดินขนาดใหน

          ถ้าจะเอาในแวดวงเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดินที่เห็นๆจะมีสองท่านคือ อดัม สมิท ซึ่งอดัม สมิท อาจถือได้ว่าเป็นผู้ก่อกำเนิดคำว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ขึ้นทีเดียว และอีกท่านหนึ่งคือนักเศรษฐศาสตรที่เป็นไอดอลของไหง่เลยที่เดียว ไหง่ติดตามศึกษางานของท่านมากว่าสามสิบปี จนตอนแรกว่าจะเปลี่ยนไปเรียนเศรษฐศาสตร์แล้ว คือ" จอห์น เมนาร์ด เคนส์ " จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ยังถูกจัดอันดับให้เป็นบุคคลสำคัญอันดับที่ 1 ของบุคคลในศตวรรษที่ 20 คือช่วงปีตั้งแต่ ค.ศ.1901 - 2000 ( ไอส์ไตร์ อันดับที่ 2 ) ซึ่งระบบเศรษฐกิจการเงินที่ใช้ในปัจจุบันล้วนมาจากความคิดของท่านทั้งนั้น ซึ่งท่านได้เขียนทฤษฎีใว้เมื่อกว่า 80 ปีก่อน

             หรือถ้าจะเอาเมื่อไม่นานมานี้อาจจะเรียกว่าปราชญ์ได้ก็คือ " ศาสดาสตีฟ จอบส์ " ผู้นำคอมพิวเตอร์ที่เดิมมีขนาดใหญ่โตเท่าห้องให้มาอยู่ในแบบเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีแบบปัจจุบันได้ ซึ่งพวกสาวก ไอโฟน ไอแผด เขาต่างยกย่องให้สตีฟ จอบส์ เป็นศาสดา ไปแล้ว และที่น่าทึ่งคือ ยอดขายไอโฟน ไอแผด ในปัจจุบันมากกว่างบประมาณเมืองไทยไปแล้ว

           ใหนใครลองยกตัวอย่างมาดูซิว่ามีใครอีกที่มีความเหมาะสมกับที่จะสามารถเรียกได้ว่า " นักปราชญ์ " ในนิยามว่า "ผู้พลิกแผ่นดิน " นี้

พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เข้าถึงก็เป็นเช่นนั้นเอง?

          พระพุทธเจ้า เล่าจื้อ ขงจื้อ พระเยซู ลอซุลโมฮัมหมัด จวบถึงคัมภีร์ฮินดู(ไม่มีชื่อใครเป็นศาสดา) ผู้สร้างอภิปรัชญาเหล่านี้ ล้วนเป็นศาสดาที่ยั่งยืน ไม่ว่าแผ่นดินจะพลิกไปทางไหน? ก็หนีไม่พ้นหลักการของ ศาสดาทั้ง 5 แน่นอน

           ส่วน 2 นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ไม่ว่าอดัม สมิท หรือ เมนาร์ด เคนส์ ไหง่ไม่ค่อยรู้ทฤษฎีหรือหลักวิชาของเขามากนัก เพราะไม่เคยเรียนในระบบการศึกษา รู้เพียงคร่าวๆว่า " เป็นทุนนิยม " และ " ตลาดการค้าเสรี " ซึ่งทั้งสองแบบ ล้วนเป็นเครื่องมือถนัดใช้ของสหรัฐเท่านั้น มันไม่ถือเป็นหลักตายตัว คือได้เอา เสียไม่เอาแบบดื้อๆ เช่นกรณีการประกาศขายกิจการท่าเรือของบริษัทอเมริกัน รัฐอาหรับขอเข้าซื้อ แต่รัฐสภาอเมริกันปฏิเสธโดยอ้างความมั่นคง อีกกรณีการประกาศขายกิจการเจาะขุดผลิตนํามัน จีนขอเข้าเทคโอเว่อร์ ก็ถูกปฏิเสธโดยอ้างความมั่นคงเช่นกัน " ไหนว่าการค้าเสรีไง? "

           นอกจากไม่เสรีจริงแล้ว ยังใช้ระบบเศรษฐกิจนี้เป็นอาวุธ ทําให้ญี่ปุ่นยอมสยบ โซเวียตรัสเซียล่มสลาย และไทยเจอวิกฤติต้มยํากุ้ง จากฝีมือนายจอร์จ โซรอจ ทําเอาคนไทยโดดตึกฆ่าตัวตายเป็นว่าเล่นในปี ๒๕๔๐ การกระทํานี้มีนัยแอบแฝง

           ส่วนนายสตีฟ จอบส์ หรือบิลล์ เกด เป็นเรื่องของการค้าทางเทคโนโลยี่ ที่หมุนเวียนไปตามยุคสมัย อย่างเช่นนายเฮนรี่ ฟอร์ด ที่ประดิษฐ์รถฟอร์ดเมื่อ 100 ปีก่อน ก็ทําให้เศรษฐกิจสหรัฐเฟื่องฟู เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็มีนวตกรรมใหม่ๆให้คนใช้หลงไหล ควักเงินซื้ออย่างไม่เสียดาย ทั้งที่ของเหล่านั้นราคาตกง่ายมาก และมีอายุใช้งานไม่ยาวนัก เพราะมันถูกกําหนดมาในเครื่อง ซึ่งทั้งนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องการตลาด

           อย่างไหง่เป็นชาวบ้าน หาเงินได้ยากกว่าเขา ก็ขอเพียงท้วมๆพอไม่ตกยุค และก็มองออกว่า เทคโนโลยี่ไอที. ทําให้สื่อสิ่งพิมพ์ตกกระป๋อง ต่อไปที่เรียกว่าโทรทัศน์ช่องกระแสหลักจะไม่มี ข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับ จะถูกเปิดเผยอย่างรวดเร็ว

            เราซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ ต้องมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ทําอะไรก็ได้ คิดอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ และไม่เดือดร้อนภายหลัง  ไหง่คิดแบบนี้ครับ " วี่ฟัดโก "

                                                                    ...อาหงิ่ว...

รูปภาพของ วี่ฟัด

รู้อะไร ตื่นทำใม เบิกบานอย่างไร

       ตามที่หงี่บอกว่าพุทธในความหมายก็คือ " ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน " นั้นไช่เลยหละอาหงิ่วเอ๋ย แต่ไหง่จะขอกล่าวเพิ่มเติมเสริมในรายละเอียดที่หงี่ได้กล่าวเอาไว้ ดังที่ไหง่ได้ตั้งหัวข้อเรื่องไว้ว่า " รู้อะไร ตื่นทำใม เบิกบานอย่างไร " จึงขอวิสัจนาด้วยประการฉนี้

        " รู้อะไร " แหมถ้าเราอยู่ในบริบทของพระพุทธศาสนาแล้วเราคงไม่ต้องไปถามนะว่าต้องรู้อะไร จะรู้ช้าง รู้ม้า รู้ปลา รู้ปู ( อันหลังนี้เห็นรับตำแหน่งแล้วตัวเองก็ยังงงๆอยู่เลย ) ก็ใช่ที่ โถก็ต้องรู้ " ธรรม " ซิตัวเอง ธรรมก็คือกฎธรรมชาติที่พระพุทธองค์ไปค้นพบเข้า เพื่อให้ชาวพุทธดำรงค์ตนอยู่ในหลักธรรม ธรรมก็คือความเป็นจริงตามธรรมชาติ เพื่อตนจะได้ไม่หลงเป็นเหยื่ออันโอชะของกิเลศตัณหา อุปาทาน

           " ตื่นทำใม " ลองดูซิว่าถ้าคนเราลองหลับอยู่หรือแบบสลึมสลือหลับๆตื่นๆสภาพมันจะเป็นอย่างไร ดังนั้นคนเราต้องมีสติ และสิ่งที่ควบคู่มากับสติอย่างกลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือปัญญา หรือที่เราชอบเรียกว่า " สติปัญญา " พอมีสติกำกับอยู่ตลอดทั้งการนั่งกินเดินนอนหรือในอริยาบทต่างๆแล้วมีหลักธรรมคอยกำกับด้วยแล้ว นั้นแหละเขาถึงเรียกว่าพอจะเป็นผู้เป็นคนกับเขาหน่อยหรือจะเรียกแบบไฮโซแบบพุทธๆเขาก็เรียกว่า " เป็นมนุษย์ "คนเราพอมีสติกำกับการทำชั่วทำเลวก็คงจะน้อยกว่าแบบมีแต่กิเลสตัณหาคอยครอบงำกำกับ ดังนั้นการมีสติอยู่ตลอดนี่แหละคือการเป็นผู้ตื่นแหละตัวเอง

           " เบิกบานอย่างไร " พอพูดถึงคำว่าเบิกบานหรือใจเบิกบานนี่ทุกๆคนต้องเข้าใจได้เลยว่าต้องเป็นอารมณ์แห่งความสุขแน่ๆ คงไม่ใช่อารมณ์ของความเศร้าหมอง แล้วแนวทางความสุขในทางพุทธศาสนาคืออะไรหละ คงจะต้องร่ายยาวเรื่องทฤษฎีแห่งความสุขอีกยาวแน่ๆ แต่ไหง่จะขออธิบายเพียงสั้นๆว่า ความสุขในทางพุทธศาสนาเขาแบ่งเป็นสองอย่างคือ

              1. ความสุขภายนอก คือความสุขที่ได้จากการเสพท์บริโภค หรือความสุขที่เกิดจากต้องมีสิ่งเร้าภายนอกมาทำให้เรามีความสุขเช่นการได้เห็นรูปสวยๆ การได้ยินเสียงเพราะๆ การได้รับการสัมผัสอันอ่อนละมุน การได้กลิ่นหอมๆ ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากการพึ่งพาจากวัตถุย์มาเสพเพื่อให้เกิดความสุข ซึ่งความสุขแบบนี้พระพุทธองค์ไม่สนับสนุนส่งเสริม เป็นความสุขที่เป็นทาสของวัตถุอย่างไม่ได้ผุดได้เกิดเลย

               2. ความสุขภายใน คือความสุขที่เกิดในใจของตนแท้ๆด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งพาวัตถุในการเสพหรือบริโภคเพื่อให้เกิดความสุข แต่ความสุขแบบนี้ทำยากหน่อยแต่ก็สามารถทำได้โดยการฝึกใจในการทำใจให้เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา และเมื่อทำให้ใจเป็นสุขเบิกบานได้ตลอดเวลาแล้วนี้แหละญาติโยมเอ๋ย " พระอรหันต์ " อยู่ไม่ไกลแล้ว ความสุขแบบนี้จึงเป็นความสุขที่เป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาวัตถุมาเสพบริโภคหรือเป็นความสุขแบบพระอรหันต์แท้ๆ

           ดังนั้นหากญาติโยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณโยมซิ่วเช็ง ผู้มุ่งหวังเอาพระอรหันต์เป็นธงชัยด้วยแล้วนั้น ต้องเข้าสู่ความเป็นพุทธผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานเป็นปฐมบทก่อนนะญาติโยม สาธุ สาธุ สาธุ ( เวลาไปพม่าเวลาเราเอาเงินไปใส่ตู้บริจาค แหมพวกเจ้าหน้าที่ทายกทายิกา เขา สาธุ กันลั่นเลย )

รูปภาพของ วี่ฟัด

ฉันมีความสุขเล็กๆในใจฉัน

 

             สร้างความสุขภายในให้เบิกบานใจอยู่ตลอดเวลาเถอะ " พระนิพพาน " นั้นอยู่ไม่ไกลแล้วคุณโยม สาธุ.......

รูปภาพของ แกว้น

“ก้างปลา หรือ อื่งก้าง 鱼鲠“ “เขย่า หรือ เหย่า 摇“

ผมเห็นพ้องกับอ.
อย่างมาก
...จนบางคำชาวไทยเราเองอาจไม่รู้ว่ามีที่มาจากคำจีน
เพราะฟังดูแล้วเหมือนเป็นภาษาไทย
และในภาษาไทยมีภาษาฮากกาใช้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
แต่ไม่ได้รวบรวมจดบันทึกไว้ เมื่อไม่กี่วันนี้เพิ่งจะฉุกคิดได้อีกคำหนึ่งคือคำว่า
ก้างปลาภาษาฮากกาใช้ อื่งก้าง
鱼鲠 หรือ

 อับเฉา” (ของที่มีน้ำหนักมากสำหรับไว้ในท้องเรือสำเภา
เพื่อถ่วงไม่ให้เรือโคลงเวลาแล่น ส่วนใหญ่มักเป็นตุ๊กตาหินจีน)

เมื่อพิจารณาความหมายในวงเล็บแล้ว
อับ
ก็น่าจะเป็นภาษาฮากกา อับ
ซึ่งแปลว่า กด ทับ ส่วนเฉาผมไม่มีความรู้ส่วนประกอบของเรือ แต่ถ้ายึดความหมาย โคลงภาษาฮากกาใช้ เหย่า ซึ่งมีความหมายตรงกับ
เขย่าในภาษาไทย

รูปภาพของ ฉินเทียน

正體字 + 简体字

รวมการศึกษา ภาษาจีน และ Dictionary
http://hakkapeople.com/node/172/

อยากเห็นห

อยากเห็นหนังสือจีนรุ่นเก่า  ประมาณ 39 ปีที่แล้ว  อักษรเต็ม

 

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal